คนที่เราคิดว่าสวยสดงดงามตามที่นิยมกัน ก็เต็มไปด้วยความโสโครกที่น่ารังเกียจเหมือนกัน เอาอะไร มาเป็นของน่ารักน่าปรารถนา เรารักคนก็มีสภาพเท่ารักศพ ศพนี้น่าเกลียดน่าชังเพียงใด คนรักที่เรารักก็มีสภาพอย่างนั้น พยายามพิจารณาใคร่ครวญให้เห็นติดอกติดใจจนกระทั่งเห็นสภาพของผู้ใดก็ตามที่เขานิยมกันว่า น่ารัก น่าชมนั้น เห็นแล้วมีความรู้สึกว่าเป็นซากศพทันที มีความรังเกียจสะอิดสะเอียนขึ้นมาทันทีทันใด เห็นคนหรือสัตว์มีสภาพเป็นซากศพไปหมด เต็มไปด้วยความรังเกียจที่จะสัมผัสถูกต้อง รังเกียจที่จะคิดว่าน่ารักน่าเอ็นดู เพราะความสวยสดงดงามเห็นผิวภายนอกก็มองเห็นภายใน คือเห็นเป็นสภาพถุงน้ำเลือด น้ำหนอง ถุงอุจจาระปัสสาวะที่เคลื่อนที่ได้พูดด้วยสนทนาด้วย ก็เห็นสภาพผู้ที่พูดจาสนทนาด้วย เป็นถุงอุจจาระปัสสาวะ และถุงน้ำเลือดน้ำหนองมาพูดคุยด้วย คิดว่าขณะนี้มีสภาพเป็นถุงน้ำเลือดน้ำหนอง มาสนทนาปราศรัยกับเราต่อไปเขาก็จะกลายเป็นซากศพที่มีร่างกายอืดพอง น้ำเหลืองไหล ต่อไปกายก็จะขาดจากกันเป็นท่อนน้อยและท่อนใหญ่ สัตว์จะกัดกิน และในที่สุด ก็จะเหลือแต่กระดูกกระจัดกระจายไป
เขานี่เป็นผีตายชัดๆ เราก็เช่นเดียวกัน เขามีสภาพเช่นไร เราก็มีสภาพเช่นนั้น กายนี้ล้วนแต่เป็นอนิจจัง หาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้เลย แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่สะสมของโสโครกแล้ว แต่ถ้าจะยังยืนคู่ฟ้าคู่ดินก็พอที่จะทนรักทนชอบได้บ้าง แต่นี่เปล่าเลยท่านหลงว่าสวยสดงดงามนั้นก็เป็นสิ่งหลอกลวง เต็มไปด้วยความโสโครกเท่านั้นยังไม่พอ กลับหาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้อีก ดิ้นรนกลับกลอกทรุดโทรมลงทุกวันทุกเวลาเคลื่อนเข้าไปหาความแก่ทุกวันทุกนาที ยิ่งมากวันความเสื่อมโทรมของร่างกายก็ทวีมากขึ้น จากความเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ มาเป็นคนหนุ่มคนสาว จากความเป็นคนหนุ่มคนสาวมาเป็นคนแก่ การเคลื่อนไปนั้นมิใช่เคลื่อนเปล่า ยังนำเอาโรคภัยไข้เจ็บมาทับถมให้ไม่เว้นแต่ละวัน ปวดที่โน่น ปวดที่นี่ โรคแน่น โรคจุกเสียด ปวดร้าวมีตลอดเวลา อวัยวะที่เคยใช้คล่องแคล่วสมบูรณ์บริบูรณ์ด้วยกำลัง ก็ง่อนแง่นคลอนแคลน กำลังวังชาหมดไป ทำอะไรไม่ได้สะดวก หูก็หนัก ตาก็ฟาง ได้ยินเห็นอะไรไม่ถนัดเต็มไปด้วยความทุกข์
จะห้ามปรามรักษาด้วยหมอวิเศษ ท่านใดก็ไม่สามารถจะยับยั้งความเคลื่อนความทรุดโทรมนี้ได้ ในที่สุดก็พังทลายกลายเป็นซากศพที่ชาวโลกรังเกียจอย่างนี้ อัตภาพนี้เป็นสภาพโสโครกอย่างนี้ เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงอย่างนี้ เป็นทุกขัง ความทุกข์อันเกิดแต่ความเคลื่อนไหวไปหาความเสื่อมอย่างนี้ เป็นอนัตตา เพราะเราจะบังคับบัญชาควบคุมไม่ให้เคลื่อนไปไม่ได้ ต้องเป็นไปตามกฎธรรมดา พิจารณาเห็นโทษเห็นทุกข์อันเกิดแต่ร่างกาย เกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในร่างกายของตนเองและร่างกายของผู้อื่น เห็นสภาพร่างกายของตนเองและของผู้อื่นเป็นซากศพ หมดความพิสมัยรักใคร่ โดยเห็นว่าไม่มีอะไรสวยงาม เห็นเมื่อไรเบื่อหน่ายหมดความพอใจเมื่อนั้นเห็นคนมีสภาพเป็นศพทุกขณะที่เห็นอย่างนี้ท่านเรียกว่าได้อสุภกรรมฐานในส่วนของสมถภาวนา เห็นร่างกายเป็นซากศพ เบื่อหน่ายในร่างกาย และเห็นว่าร่างกายนี้เต็มไปด้วยความไม่เที่ยง สกปรกโสมมแล้วยังหาความแน่นอนไม่ได้อีก เคลื่อนไปหาความแก่ตายทุกวันเวลา
ขณะที่เคลื่อนไปก็เต็มไปด้วยความทุกข์ เพราะต้องได้รับทุกข์จากโรค รับทุกข์จากการบริหารร่างกาย มีการประกอบการงานเป็นต้น ทุกข์เพราะมีลาภแล้วลาภหมดไป มียศแล้ว ยศสิ้นไปมีสุขแล้วก็มีทุกข์มาทับถม เดี๋ยวมีคำสรรเสริญมาป้อยอ แต่ก็ไม่นานก็ถูกนินทา เป็นเหตุให้ใจเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะความเสื่อมโทรมของร่างกายมีอวัยวะทุพพลภาพ หูหนัก ตาฟาง ฟันหัก ร่างกายร่วงโรย ความจำเสื่อม ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนของความทุกข์ทั้งสิ้น เห็นร่างกายเป็นทุกข์แล้ว ก็เห็นความดื้อด้านของสังขารร่างกายที่บังคับบัญชาไม่ได้ คือเห็นว่าความเสื่อมโทรมอย่างนี้เราไม่ต้องการ ก็บังคับไม่ได้ ไม่ต้องการให้ปวดเจ็บเมื่อยล้าแต่มันก็จะเป็น ไม่มีใครห้ามได้ ไม่ต้องการให้ระบบประสาทเสื่อมมันก็จะเสื่อม ใครก็ห้ามไม่ได้ไม่ต้องการตาย มันก็ต้องตาย ไม่มีใครห้ามได้ สิ่งที่ห้ามไม่ได้นี้ ท่านเรียกว่า อนัตตา แปลว่าเป็นสิ่งเหลือวิสัยที่จะบังคับ ที่ท่านแปล อนัตตาว่า ไม่ใช่ตัวตนนั่นเอง
เพราะถ้าเป็นตัวตนของเราจริงแล้ว เราก็บังคับได้ ถ้าบังคับไม่ได้ก็ไม่ใช่ตัวตนของเราแน่ อารมณ์ที่เห็นว่า ร่างกายนอกจากจะโสโครกน่าสะอิดสะเอียนเป็นซากศพแล้ว ยังไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดความเบื่อหน่ายในการทรงสังขารร่างกาย เบื่อที่จะเกิดต่อไป เพราะถ้าเกิดมีร่างกายในภพใด ร่างกายก็จะมีสภาพโสโครกสกปรกเป็นซากศพและไม่เที่ยง เป็นทุกข์ บังคับบัญชาไม่ได้อย่างนี้อีก ความเบื่อหน่ายในร่างกาย เบื่อในการเกิด เป็นนิพพิทาญาณในวิปัสสนาญาณ ถ้าท่านคิดใคร่ครวญในรูปสมถะให้เห็นซากศพอยู่เสมอ และใคร่ ครวญหากฎธรรมดาควบคู่กันไป คือ เมื่อเกิดความทุกข์อันเกิดแต่การป่วยไข้ หรืออารมณ์ที่ ไม่พอใจหรือความแก่เฒ่าเข้ารบกวน ท่านก็วางใจเฉยเสียไม่ดิ้นรนกระเสือกกระสน โดยคิดว่านี่เป็นเรื่องของธรรมดาเกิดมามันก็ต้องเจ็บไข้ไม่สบาย มีลาภแล้วลาภมันก็เสื่อมได้ มียศแล้วยศมันก็สิ้นได้ มีสุขแล้วทุกข์มันก็มีได้ มีคนสรรเสริญแล้วคนนินทาก็มีได้ เกิดแล้วก็ต้องตายได้ทุกอย่างมันธรรมดาแท้ๆ
จนจิตชินต่ออารมณ์ มีอะไรที่เป็นทุกข์เกิดขึ้นก็รู้สึกว่าเป็นปกติ ไม่ดิ้นรนหวั่นไหวอย่างนี้ ท่านเรียกว่าได้สังขารุเปกขาญาณในวิปัสสนาญาณ เป็นคุณธรรมที่ใกล้ความเป็นผู้บรรลุพระโสดาบันแล้ว หมั่นคิดนึกไปเสมอ ๆ ถึงร่างกายที่มี สภาพเป็นซากศพร่างกายที่ไม่มีอะไรแน่นอนจนจิตคิดเป็นปกติว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา ไม่หวั่นไหวต่อมรณภัย มีจิตใจศรัทธาเชื่อมั่นในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จิตว่างจากกรรมชั่วครู่ คือรักษาศีล ๕ ได้เป็นปกติ มีอารมณ์รักพระนิพพานเป็นปกติ คือ ใคร่ครวญปรารถนาแต่พระนิพพานไม่ต้องการความเกิดต่อไปอีก อย่างนี้ท่านว่าทรงคุณได้ในระดับพระโสดาบัน ฉะนั้น ขอให้นักปฏิบัติที่ปฏิบัติในอสุภกรรมฐาน จงอุตส่าห์พยายามกำหนดพิจารณาให้ขึ้นใจจนได้ปฏิภาคนิมิตในที่สุด แล้วรักษานิมิตนั้นไว้อย่าให้เสื่อม ต่อไปก็ยกเอานิมิตนั้นขึ้นสู่อารมณ์วิปัสสนาญาณ ท่านจะเข้าถึงมรรคผลนิพพานได้ภายในไม่ช้าเลย การพิจารณาอย่างนี้ เรียกว่า พิจารณากำหนดรู้
นิมิตในอสุภกรรมฐาน อสุภกรรมฐานก็มีนิมิตเป็นเครื่องกำหนดในการเข้าถึงเหมือนกสิณ แต่ต่างจากกสิณตรงที่เอารูปซากศพเป็นนิมิต ไม่ยกเอาธาตุหรือสีภายนอกเป็นนิมิต นิมิตในอสุภนี้ก็มีเป็นสองระดับเหมือนกัน คือ
๑. อุคคหนิมิต ได้แก่ นิมิตติดตา คือ รูปเดิมที่กำหนดจดจำไว้ และ
๒. ปฏิภาคนิมิตได้แก่ นิมิตที่เป็นอัปปนาสมาธิ คือ รูปต่างจากภาพเดิมดังจะได้ยกมาเขียนไว้ดังต่อไปนี้
๑. อุทธุมาตกอสุภ
อสุภที่มีร่างกายขึ้นอืดพอง อสุภนี้เมื่อเริ่มปฏิบัติ เมื่อเห็นภาพอสุภที่เป็นนิมิต ท่านให้กำหนดรูปแล้วภาวนา " อุทธุมาตะกัง ปะฏิกูลัง " ภาวนาอย่างนี้ตลอดไป เมื่อเพ่งพิจารณา จนจำรูปได้ชัดเจนแล้ว ให้หลับตาภาวนาพร้อมด้วยกำหนดจดจำรูปไปด้วยตามที่กล่าวไว้แล้วใน กสิณ จนรูปอสุภนั้นติดตาติดใจ จะนึกเมื่อไรก็เห็นภาพนั้นได้ทันที ภาพนั้นเกิดขึ้นแก่จิต คือ อยู่ในความทรงจำ ไม่ใช่ภาพลอยมาให้เห็นเหมือนภาพที่ลอยในอากาศ เกิดจากการกำหนดรู้โดยเฉพาะ เมื่อภาพนั้นติดใจจนชินตามที่กำหนดจดจำไว้ได้แล้ว ท่านเรียกว่า " อุคคหนิมิต " แปลว่านิมิตติดตา
สำหรับปฏิภาคนิมิตนี้ รูปที่ปรากฏนั้นผิดไปจากเดิม คือรูปเปลี่ยนไปเสมือนคนอ้วนพีผ่องใสผิวสดสวย อารมณ์จิตใจเป็นสมาธิตั้งมั่นไม่หวั่นไหว อย่างนี้ท่านเรียกว่าเข้าถึง อัปปนาสมาธิ ได้ปฐมฌาน
ปฏิภาคนิมิตกำจัดนิวรณ์ ๕
นิวรณ์ ๕ ก็คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธิ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ตามที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง เมื่อท่านนักปฏิบัติทรงสมาธิได้ถึง อัปปนาสมาธิ มีนิมิตเข้าถึงปฏิภาค คือเข้าถึงปฐมฌานแล้ว นิวรณ์ทั้ง ๕ ประการก็ระงับไปเอง ตามที่กล่าวมาแล้วในตอนว่าด้วยฌาน
๒. วินีลกอสุภ
อสุภนี้ ปกติพิจารณาสี มีสีแดง สีเขียว สีขาวปนกัน เมื่อขณะกำหนดภาวนาว่า "วินีละกัง ปะฏิกูลัง" จนภาพนิมิตที่มีสี แดง ขาว เขียว เกิดติดตาติดใจคละกันอย่างนี้ท่านเรียกว่า อุคคหนิมิต ต่อไปถ้าปรากฏว่าในจำนวนสีสามสีนั้น สีใดสีหนึ่งแผ่ปกคลุมสีอีกสองสีนั้นจนหนาทึบปิดบังสีอื่นหมดแล้วทรงสภาพอยู่ได้นาน ท่านเรียกนิมิตอย่างนี้ว่า ปฏิภาคนิมิต ทางสมาธิเรียกว่า อัปปนาสมาธิ ทางฌานเรียกว่า ปฐมฌาน
๓. วิปุพพกอสุภ
อสุภนี้ ท่านให้พิจารณาน้ำเหลืองน้ำหนองเป็นอารมณ์ ภาวนาว่า" วิปุพพะกัง ปะฏิกูลัง"จนเกิดอุคคหนิมิต อุคคหนิมิตของอสุภนี้มีลักษณะดังนี้ ปรากฏเห็นเป็นน้ำหนองไหลอยู่เป็นปกติสำหรับปฏิภาคนิมิตนั้นมีสภาพเป็นนิมิตตั้งอยู่เป็นปกติ ไม่มีอาการไหลออกเหมือนอุคคหนิมิต
๔. วิฉิททกอสุภ
อสุภนี้ ท่านให้พิจารณาซากศพที่ถูกสับฟันเป็นท่อนน้อยและท่อนใหญ่ ขณะพิจารณา ให้ท่านภาวนาว่า " วิฉิททะกัง ปะฏิกูลัง " สำหรับอุคคหนิมิตในอสุภนี้ท่านว่ามีรูปซากศพขาดเป็นท่อนน้อยและท่อนใหญ่ ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้นมีรูปเป็นบริบูรณ์ เสมือนมีอวัยวะครบถ้วนบริบูรณ์
๕. วิกขายิตกอสุภ
อสุภนี้ ท่านให้พิจารณาอสุภที่ถูกสัตว์กัดกินเป็นซากศพที่แหว่งเว้าทั้งด้านหน้าหลัง และในฐานต่างๆ ขณะพิจารณา ท่านให้ภาวนาว่า " วิกขายิตตะกัง ปะฏิกูลัง " สำหรับอุคคหนิมิตในอสุภนี้ ปรากฏเป็นรูปซากศพที่ถูกสัตว์กัดกิน ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น ปรากฏเป็นรูปซากศพที่มีร่างกายบริบูรณ์
๖. วิกขิตตกอสุภ
วิกขิตตกอสุภนี้ ท่านให้รวบรวมเอาซากศพที่กระจัดกระจายพลัดพรากกันในป่าช้า มาวางรวมเข้าแล้วพิจารณา ขณะพิจารณา ท่านให้ภาวนาว่าดังนี้ " วิกขิตตะกัง ปะฏิกูลัง "สำหรับอุคคหนิมิตในอสุภนี้ มีรูปเป็นอสุภนั้นตามที่นำมาวางไว้ วางไว้มีรูปอย่างไร อุคคหนิมิตก็มีรูปร่างอย่างนั้น ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น เห็นเป็นรูปมีร่างกายบริบูรณ์ไม่บกพร่อง จะได้มีช่องว่างก็หามิได้
๗. หตวิกขิตตกอสุภ
ท่านให้พิจารณาซากศพที่ถูกสับฟันเป็นท่อนๆ แล้วเอามาวางห่างกันท่อนละ ๑ นิ้ว แล้วเพ่งพิจารณา ขณะพิจารณาท่านให้ภาวนาว่า " หะตะวิกขิตตะกัง ปะฏิกูลัง " สำหรับนิมิตคืออุคคหนิมิตในอสุภนี้ ปรากฏเป็นปากแผลที่ถูกสับฟัน ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น ปรากฏเป็นร่างบริบูรณ์ จะปรากฏริ้วรอยที่ถูกสับฟันนั้นหามิได้
๘. โลหิตกอสุภ
อสุภนี้ ท่านให้พิจารณาซากศพที่ถูกประหาร มีมือเท้าขาดเลือดไหล ขณะพิจารณา ท่านให้ภาวนาว่า "โลหิตะกัง ปะฏิกูลัง " สำหรับอุคคหนิมิตในอสุภนี้ ปรากฏเหมือนผ้าแดงที่ถูกลมปลิวไสวอยู่ ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น ปรากฏเป็นสีแดงนิ่งสงบไม่เคลื่อนไหว
๙. ปุฬุวกอสุภ
อสุภนี้ ท่านให้พิจารณาซากศพที่ตายมาแล้วสองสามวัน มีหนอนคลานอยู่บนซากศพนั้น ขณะพิจารณา ท่านให้ภาวนาว่า " ปุฬุวะกัง ปะฏิกูลัง " สำหรับอุคคหนิมิตใน อสุภนี้ ปรากฏเป็นรูปซากศพที่มีหนอนคลานอยู่บนซากศพ แต่สำหรับปฏิภาคนิมิตนั้นปรากฏเป็นภาพนิ่งคล้ายกองสำลีที่กองอยู่เป็นปกติ
๑๐. อัฏฐิกอสุภ
อัฏฐิกอสุภนี้ ท่านให้เอากระดูกของซากศพเท่าที่พึงหาได้ จะเป็นกระดูกที่มี เนื้อ เลือด เส้น เอ็น รัดรึงอยู่ก็ตาม หรือจะเป็นกระดูกล้วนก็ตาม หรือจะเป็นกระดูกบางส่วนของร่างกายมี เพียงส่วนน้อยหรือท่อนเดียวก็ตาม เอามาเป็นวัตถุพิจารณา เวลาพิจารณา ท่านให้ภาวนาว่าดังนี้ "อัฏฐิกัง ปะฏิกูลัง " สำหรับอุคคหนิมิตในอัฏฐิกอสุภนี้ จะมีรูปเป็นกระดูกเคลื่อนไหวไปมาสำหรับปฏิภาคนิมิตนั้น จะมีสภาพเป็นกระดูกวางเฉยเป็นปกติ
(จบนิมิตในอสุภ ๑๐ อย่างเพียงเท่านี้)