ผู้เขียน หัวข้อ: ธาตุอีสาน สกุลช่างญวน  (อ่าน 2573 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
ธาตุอีสาน สกุลช่างญวน
« เมื่อ: มกราคม 19, 2013, 11:38:47 am »
ธาตุอีสาน สกุลช่างญวน
-http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1357992449&grpid=03&catid=&subcatid=-







ธาตุอีสาน สกุลช่างญวน  ติ๊ก แสนบุญ  เขียนรูปและเล่าเรื่อง  ศิลปวัฒนธรรม

 

 

 

งานช่างของใช้ที่เกี่ยวเนื่องในพิธีกรรมโดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับความตาย ถือเป็นงานช่างที่สนองรับใช้ทั้งเชิงสัญญะในมิติทางวัฒนธรรมแห่งลัทธิความเชื่อ และเรื่องประโยชน์การใช้สอย โดยทั้งหมดแสดงออกผ่านรูปรอยการออกแบบสร้างสรรค์ ด้วยรสนิยมตามสายสกุลช่างต่างๆ ซึ่งในดินแดนอีสานแห่งอดีตสมัย จักพบเห็นเจดีย์หรือที่ภาษาปากในวัฒนธรรมพื้นถิ่นไทยอีสานและ สปป.ลาวเรียกว่าธาตุ โดยมีรูปแบบในด้านเอกลักษณ์สำคัญที่มีชื่อเรียกแทนสมมุติอันหลากหลาย ตามคอกความเชื่อและความชอบในแต่ละสำนัก เช่น ในไทยเรียก ทรงบัวเหลี่ยม ทรงลุ้งคว่ำ บ้างก็เรียกทรงโกศ หรือที่นักวิชาการฝั่งลาวเรียกว่าทรงหัวน้ำเต้า หรือยอดดวงปลี ทรงหมากปลีก็เรียก และในส่วนจินตนาการของชาวตะวันตก ตีความและเรียกธาตุทรงลักษณะนี้ว่าทรงเหยือกน้ำ

 


โดยรูปทรงดังกล่าวนี้ถือเป็นบทสรุปแห่งภาพตัวแทนกระแสหลักด้านเอกลักษณ์เชิงช่างรูปแบบประเภทชนิดต่างๆ ของเจดีย์หรือธาตุ ในกลุ่มวัฒนธรรมลาวโดยเฉพาะล้านช้างและอีสาน ซึ่งกรอบแนวคิดดังกล่าวทำให้สาระศาสตร์อื่นๆ ที่เป็นชุดความรู้เรื่องธาตุในวัฒนธรรมนี้ ดูหยุดนิ่งตายตัว โดยในความเป็นจริง ธาตุยังมีรูปแบบและประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ อันจะเป็นภาพสะท้อนปรากฏการณ์ความเป็นไปทางรสนิยม ผ่านศิลปะกับสังคมการเมือง โดยในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะยุคที่ช่างญวนหรือช่างแกวได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์งานช่างในดินแดนแถบนี้ โดยเฉพาะพุทธศิลป์ประเภทธาตุ ซึ่งอาจจะไม่ได้รับการกล่าวถึงมากนักเมื่อเทียบกับศาสนาคารอื่นๆ

 

 

อย่างเช่น สิม หรือหอแจก ด้วยรูปแบบและเทคนิคด้านวัสดุรวมถึงคติสัญลักษณ์ในเชิงช่างของภาพรวมที่มีลักษณะแบบอย่างศิลปะจีนผสมตะวันตก ซึ่งในแง่ประวัติศาสตร์ กลุ่มช่างชาวญวนเข้ามาในอีสานตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๐-๒๕๐๐โดยเฉพาะในปี พ.ศ.๒๔๘๘-๘๙ ที่เป็นการอพยพครั้งใหญ่ของกลุ่มชาวญวนที่ได้อพยพมาอยู่ในภาคอีสานบริเวณแถบจังหวัดหนองคาย นครพนม มุกดาหาร (ขจัดภัย บุรุษพัฒน์. ญวนอพยพ. ๒๕๒๑, น. ๙.)

 

 

โดยในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เมื่อฝรั่งเศสเข้ายึดครองเวียดนาม ทำให้ชาวเวียดนามหนีภัยข้ามฝั่งมาอยู่ในอีสานจำนวนมากและอาชีพหนึ่งที่โดดเด่นของชาวเวียดนามในยุคนั้นคือช่างก่อสร้าง โดยได้สร้างสรรค์ผลงานกระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดที่อยู่ติดริมน้ำโขงทั้งสองฝั่ง แต่หลักฐานทางศิลปะภาคสนามที่ข้าพเจ้าพบเจอกับปรากฏผลงานสายสกุลช่างญวนในแถบอีสานใต้ตั้งแต่อุบลฯ ไปจนถึงโคราช ซึ่งเป็นกลุ่มวัฒนธรรมไทยเขมรก็ยังปรากฏศิลปะญวนอยู่ด้วยเป็นจำนวนไม่น้อย

 

 

ธาตุในเชิงช่างญวน ธาตุ อาจมีจำนวนปริมาณไม่มากนักเมื่อเทียบกับ ตึกแถว สิม หรือหอแจก ที่เป็นศาสนาคารสาธารณ์สำคัญของชุมชน รวมถึงพระธาตุขนาดใหญ่ โดยหลายแห่งในเมืองนครพนม (รวมถึงองค์พระธาตุพนม) ก็มีกลุ่มช่างญวนเข้าไปมีส่วนร่วม เช่น พระธาตุท่าอุเทนก็เป็นช่างญวนฝีมือชั้นครูที่ชื่อ องแมด โดยเฉพาะในส่วนประณีตศิลป์ที่เป็นลวดลายปูนปั้น แต่สำหรับธาตุที่ใส่อัฐิสามัญชน จักเป็นงานในลักษณะเฉพาะส่วนเชิงปัจเจกบุคคล ซึ่งมีตั้งแต่พระสงฆ์จนถึงชาวบ้าน (ลดหลั่นตามฐานานุศักดิ์ของความมีและความเป็น) โดยงานช่างญวน เป็นยุคสมัยที่เริ่มมีปูนซีเมนต์ใช้แล้ว ถือเป็นของใช้งานช่างในวัฒนธรรมการตายที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่มีพัฒนาการส่งต่อด้านรูปแบบมาจาก หลักเส ธาตุไม้ โดยช่างญวนจะใช้เทคนิคการก่อสร้างแบบก่ออิฐถือปูน

 

 

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า งานที่สร้างสรรค์ที่มีช่างญวนเป็นส่วนร่วม ส่วนใหญ่จะพบการใช้เทคนิคด้านวัสดุตกแต่งที่พื้นผิวด้วยลวดลายอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกระจก ปูนปั้นเขียนสี ทั้งแบบนูนต่ำ นูนสูง ไปจนถึงลอยตัว โดยช่างญวนขึ้นชื่อว่ามีทักษะฝีมือที่โดดเด่นในเรื่องเทคนิคงานปูน โดยเฉพาะที่ปรากฏอยู่เป็นเอกลักษณ์ในสิ่งปลูกสร้างหลากหลายประเภท เช่น การตกแต่งช่องเปิดที่มีระบบโครงสร้างเป็นรูปวงโค้ง (arch) หรือการทำประดับตกแต่งที่เรือนผนังอาคารเป็นรูปเสาติดผนัง (pilaster) แบบอย่างศิลปะตะวันตก

 

 

รูปทรงธาตุส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นทรงบัวเหลี่ยมอย่างสัดส่วนธาตุไม้อีสานโบราณแต่มีขนาดและลวดลายที่แตกต่างจากลักษณะงานปูนโดยเฉพาะในส่วนฐานไม่นิยมทำเอวขันโดยส่วนใหญ่จะทำเป็นฐานเขียงธรรมดา ในส่วนตัวเรือนทั้ง ๔ ด้าน นิยมทำช่องเปิดด้านใดด้านหนึ่งสำหรับเก็บบรรจุใส่อัฐิที่สามารถเปิดปิดได้ ส่วนยอดมีการตกแต่งในรูปทรงเส้นจอมแหซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นทรงระฆังและทรงบัวเหลี่ยมล้อส่วนตัวเรือน โดยความน่าสนใจของธาตุสกุลช่างญวนในอีสาน คือการทำธาตุร่วมบนโครงสร้างของถังเก็บน้ำ ซึ่งพบอยู่หลายแห่งโดยเฉพาะในเมืองกาฬสินธุ์

 

 

อย่างที่ วัดกลาง วัดเทวาประสิทธิ์ วัดกลางโคกค้อ วัดโพธิ์ชัยโคกใหญ่ หรือที่เป็นแบบใช้โอ่งน้ำขนาดใหญ่ประกอบร่วมกับธาตุปูน อย่างที่ วัดหนองบัว อำเภอกมลาไสย ส่วนเมืองมหาสารคาม ก็มีตัวอย่างอยู่ที่วัดอุดมวิทยา อำเภอเชียงยืน ซึ่งทั้งหมดเป็นคติการสร้างธาตุที่น่าสนใจในยุคที่โครงสร้างพื้นฐานยังไม่เจริญ ทำให้เห็นแนวคิดการสร้างสรรค์ศิลปะงานช่างที่คิดถึงเรื่องของประโยชน์ใช้สอยเช่นในการเก็บรักษาน้ำอันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีวิต กับศรัทธาความเชื่อแห่งการให้ทานที่ผูกโยงในประเพณีวัฒนธรรมความตายซึ่งบูรณาการร่วมกันของเจ้าศรัทธา ในการกำหนดสร้าง กลายเป็นสถาปัตยกรรมผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพระสงฆ์และชาวบ้าน

 

 

และหากเปรียบเทียบกับธาตุศิลปะสกุลช่างญวนในฝั่ง สปป.ลาวโดยเฉพาะในแถบแขวงสะหวันนะเขตและแขวงจำปาสักพบว่าจะไม่นิยมทำลวดลายอย่างคติจีนเท่าในอีสาน แต่จะนิยมปรับแต่งรูปทรงที่เป็นอิสระกว่าบ้างก็ใช้เทคนิคการย่อมุม หรือทำรูปแบบที่เป็นรูปเรือนย่อส่วนโดยมีช่องเปิดปิดขนาดใหญ่กว่า  อย่างเช่นของธาตุเสาเดียววัดท่าหินธรรมรังสียาราม เมืองปากเซ และอีกหลายแห่งของวัดต่างๆ ในแขวงจำปาสัก สปป.ลาว

 

 

รูปแบบลวดลายคติความเชื่อแห่งรูปสัญญะในเชิงช่างญวน มักแสดงออกผ่านรูปสัตว์สัญลักษณ์ไม่ว่าจะเป็นสรรพสัตว์ในลัทธิความเชื่อที่สืบเนื่องมาจากวัฒนธรรมจีนเป็นกระแสหลัก ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นคติเรื่องความเป็นมงคล  เช่น กิเลนคือสัญลักษณ์ของความดีความอุดมสมบูรณ์ หรือหมายถึงอำนาจวาสนาและความมั่นคง

 

 

คนจีนเรียกตัวกิเลนว่าม้ามังกร  สิงโต (ซือจื่อ) คือผู้ทำหน้าที่ปกป้องรักษาอย่างกรณี ธาตุปูน วัดเจ็กโพธิ์พฤกษ์ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ที่มีการทำรูปปั้นลิงทั้ง ๔ มุม ตามความเชื่อของจีนถือเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด หรือถ้าเป็นลวดลายตกแต่งธาตุที่อิงที่มาจากพืชพันธุ์ธรรมชาติ เช่น ลวดลายกลีบดอกเก๊กฮวยที่คล้ายกับกระจังฟันยักษ์ของไทยอันหมายถึงการมีอายุยืนนาน หรือลายหัวเมฆที่หมายถึงความเป็นสิริมงคลสมปรารถนา ลายอักษรหุยที่เป็นลายแห่งความเป็นสิริมงคลหมายถึงความต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด หรือลายแบบสวัสดิกะที่เป็นตัวหนังสือหว่าน ที่หมายถึงความโชคดี

 

 

รวมถึงรูปเครื่องมงคลบูชาอย่างจีน เช่น แจกัน กระถางดอกไม้ โดยในยุคสมัยหลังการตกแต่งลายต่างๆ บนเรือนธาตุ จะนิยมทำเป็นตราสัญลักษณ์ทางการเมืองเรื่องรัฐชาตินิยม อย่างเช่น รูปครุฑและรูปตราเสมาธรรมจักร

 

โดยทั้งหมดสะท้อนรสนิยมทางความเชื่อและความชอบแห่งศิลปะอย่างญวนอีสานในยุคสมัยหนึ่ง ที่บ่งบอกเรื่องราวทางสังคมการเมืองเรื่องรสนิยมทางศิลปะของผู้คนสองฝั่งโขง
คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)