ปู่แสะย่าแสะของคนลัวะ โดย องค์ บรรจุน ศิลปวัฒนธรรม มกราคม 56
-http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1357979866&grpid=03&catid=&subcatid=-
ภาพ จาก ทีมข่าว marandd.com นาย บอม ccmm และ รวิวรรณ อยู่จำนงค์
ภาพ จาก ทีมข่าว marandd.com นาย บอม ccmm และ รวิวรรณ อยู่จำนงค์
น่าแปลกที่พฤติกรรมการกินของคนเปลี่ยนได้ด้วยสื่อสังคมออนไลน์ เกิดปรากฏการณ์ “ถ่ายก่อนทาน” แบ่งปันออกสื่อ ยุคที่ใครต่างมีโทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์มือถือแทบทุกรุ่นก็ล้วนมีฟังก์ชั่นถ่ายภาพ เมื่อพบสิ่งสะดุดท้าทายสายตาก็ยกกล้องขึ้นส่องพรึบพรับ อำนาจของกล้องถ่ายภาพอยู่เหนือความขรึมขลังของพิธีกรรม ทุน แม้แต่ระบบราชการซึ่งเคยสะกดวิญญาณ (spirit) สามัญชนเอาไว้ช้านาน ไม่เว้นแม้แต่พิธีเลี้ยงผี “ปู่แสะย่าแสะ” ที่สืบทอดมาแต่ครั้งบรรพกาล ก็ถูกกำกับจากคนถือกล้องรายรอบลานพิธี รวมทั้งการปรับเปลี่ยนเนื้อหาพิธีกรรมให้สอดรับกับกระแสธารอนุรักษ์ธรรมชาติและท้องถิ่นนิยม
ต้นเดือนมิถุนายน ปี ๒๕๕๒ ผมมีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์พิธีกรรม “เลี้ยงดง” หรือ “เลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ” ที่บ้านแม่เหียะใต้ เชิงดอยคำ หลังสถานีวิจัยเกษตรแม่เหียะ อำเภอเมือง เชียงใหม่ ผมเคยได้ยินได้ฟังพิธีกรรมเก่าแก่นี้มาบ้างแล้วพอสมควร นั่นคือ แต่เดิมชาวบ้านพร้อมใจกันจัดพิธีกรรมนี้ขึ้นเพื่อเซ่นสังเวยปู่แสะย่าแสะบนลานโล่งใต้ร่มไม้หลายคนโอบสูงชะลูดครึ้มเขียวกลาง “ดง” ซึ่งแดดส่องไม่ถึงดิน แต่สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาก็คือ การเมืองท้องถิ่นได้เข้าไปยึดครองพื้นที่ อุปถัมภ์ค้ำชูปู่ย่าอย่างเป็นทางการ
ตำนานเชียงใหม่ปางเดิม ของสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บันทึกความเป็นมาของพิธีเลี้ยงดงเอาไว้ว่า ในอดีตย่านนี้เป็นบ้านเมืองของชาวลัวะ ชื่อว่า “บุรพนคร” ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำปิงและดอยอ้อยช้าง (อุจฉุคีรี) อยู่มาวันหนึ่งชาวเมืองได้รับความเดือดร้อนจากยักษ์พ่อแม่ลูก ๓ ตน ที่มาจับชาวเมืองไปกินทุกวัน จนชาวเมืองต้องพากันอพยพหลบหนีไปอยู่ที่อื่น
กล่าวถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรับรู้ด้วยพระสัมมาสัมโพธิญาณ เห็นความเดือดร้อนของชาวเมืองบุรพนคร พระองค์พร้อมด้วยเหล่าสาวกจึงเสด็จมาประทับที่ดอยใต้ ได้มีชาวลัวะ ๔ คน เข้าเฝ้าด้วยความเลื่อมใสถวายอาหารที่นำติดตัวมา พระองค์ทรงอนุโมทนาและแสดงธรรมโปรดจนชาวลัวะทั้งสี่เห็นธรรมและขอบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์
พระพุทธองค์ได้มีพุทธทำนายว่า ในภายภาคหน้า เมืองของชาวลัวะแห่งนี้จะได้ชื่อว่า “เมืองชีใหม่” (ต่อมาเพี้ยนเป็นเชียงใหม่) โดยเรียกตามเหตุการณ์ที่ชาวลัวะบวชใหม่ (ในอดีตเรียกพระว่าชี) จากนั้นพระพุทธเจ้าได้สนทนากับพระลัวะทั้ง ๔ รูป จนรับรู้ความเดือดร้อนของชาวเมืองโดยตลอด รับสั่งให้พระอานนท์ไปตามยักษ์ทั้ง ๓ ตนมาพบ ทรงแสดงอภินิหารให้เห็นและแสดงธรรมให้ฟังจนเกิดความเลื่อมใส ยักษ์ทั้งสามจึงได้สมาทานศีลห้าด้วยความปีติ
ต่อมายักษ์นึกขึ้นได้ว่า ตนเองเป็นยักษ์จำเป็นต้องกินเนื้อเป็นอาหาร จึงต่อรองขอกินสัตว์หูยาวแทนมนุษย์ ยักษ์ทูลขอกินควายวันละตัว พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต ยักษ์จึงทูลขอกินควายเดือนละตัว พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงอนุญาต ที่สุดยักษ์จึงทูลขอกินควายปีละตัว พระพุทธองค์ไม่ตอบ ยักษ์จึงขอกับเจ้าเมือง เจ้าเมืองตกลงให้กินปีละตัว โดยยักษ์ปู่แสะขอกินควายเผือกเขาคำ ส่วนยักษ์ย่าแสะขอกินควายดำกลีบเผิ้ง ลักษณะเป็นควายรุ่น เขาเสมอหู กีบเท้าสีน้ำผึ้ง ที่ยังไม่เคยลงไถคราดดิน นำมาชำแหละเอาเครื่องในออก ทั้งเนื้อ หนัง และหัวที่มีพร้อมเขาแผ่นอนไว้กลางลาน โดยตั้งข้อแม้ว่า ยักษ์ต้องรักษาพระพุทธศาสนาให้ครบ ๕,๐๐๐ ปี ตลอดจนปกปักรักษาชาวเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข
พระพุทธเจ้าได้มอบหมายให้ยักษ์สองผัวเมียดูแลรักษาดอยคำและดอยอ้อยช้าง ส่วนลูกยักษ์ได้บวชเป็นพระภิกษุ ต่อมาลาสิกขาออกมาถือเพศเป็นฤๅษี มีนามว่า “สุเทพฤๅษี” ส่วนดอยอ้อยช้าง หรือดอยเหนือ ต่อมาเรียกว่าดอยสุเทพ ตามชื่อฤๅษีสุเทพซึ่งบำเพ็ญพรตอยู่ที่ถ้ำฤๅษีหลังดอยสุเทพ (ปัจจุบันปรากฏร่องรอยของบ่อน้ำ ชาวบ้านเรียกกันว่า บ่อฤๅษี)
จากตำนานดังกล่าวข้างต้น ได้สืบทอดความเชื่อมาจวบจนปัจจุบัน ภายหลังปู่แสะย่าแสะเสียชีวิตแล้ว ชาวบ้านชาวเมืองยังคงเกรงกลัวอิทธิฤทธิ์ และต้องการให้วิญญาณปู่แสะย่าแสะช่วยรักษาพระศาสนาและปกป้องคุ้มครองชาวเมือง จึงจัดให้มีพิธีเซ่นสรวงเป็นประจำทุกปีในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ (เป็งเดือนเก้า)
ตำนานพื้นเมืองเชื่อกันว่า ปู่แสะย่าแสะเป็นบรรพชนของชาวลัวะ ซึ่งส่วนหนึ่งได้สืบเชื้อสายมาเป็นชาวเชียงใหม่ในปัจจุบัน มีหน้าที่ดูแลรักษาเมืองเชียงใหม่ ดังนั้น เจ้าเมือง เสนาอำมาตย์ และราษฎร จะต้องร่วมกันทำพิธีเลี้ยงปู่แสะย่าแสะ โดยเชื่อกันว่า หากไม่ทำพิธีเลี้ยงปู่แสะย่าแสะ บ้านเมืองจะเกิดภัยพิบัติ ดังในสมัยพระเจ้าเมกุฏิ เจ้าเมืองเชียงใหม่ บ้านเมืองเดือดร้อนทุกข์เข็ญอย่างสาหัส ชาวบ้านโจษจันว่า เป็นเพราะพระเจ้าเมกุฏิสั่งห้ามชาวบ้านชาวเมืองทำพิธีเซ่นสรวงปู่แสะย่าแสะ เป็นเหตุให้เมืองเชียงใหม่ต้องเสียเอกราช ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า (เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์นี้ถูกจับไปเป็นองค์ประกันที่พม่า ภายหลังสิ้นพระชนม์ได้กลายเป็นแนต [nat] ที่ชาวพม่าให้ความเคารพศรัทธามากตนหนึ่ง)
ต่อมาในสมัยของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์สุดท้าย ได้มีการฟื้นฟูพิธีกรรมเลี้ยงดงหรือพิธีบวงสรวงปู่แสะย่าแสะขึ้นอีกครั้ง และปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
พิธีเลี้ยงปู่แสะย่าแสะทำสืบต่อกันมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๐ ทางราชการได้สั่งห้ามจัดพิธี (กรณีนี้คล้ายกับที่ได้มีการห้ามจัดพิธีรำผีมอญที่พระประแดงในยุคหนึ่ง เพราะทางการเกรงว่าการทำนายทายทักในทางร้ายของร่างทรงหรือผู้อำนวยพิธีจะทำให้ชาวบ้านชาวเมืองตื่นกลัว) จนถึงสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา จึงได้รับการรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งแต่ให้ทำพิธีทางทิศตะวันออกบริเวณเชิงดอยคำ โดยมีชาวบ้านเชิงดอยสุเทพและบ้านแม่เหียะเป็นผู้ทำพิธี ซึ่งข้อกำหนดอย่างหนึ่งของการเป็นร่างทรง (ม้าขี่) ก็คือ บุคคลหนึ่งห้ามเป็นร่างทรงติดต่อกันเกิน ๓ ปี
โดยรอบบริเวณลานพิธีเลี้ยงดงเป็นป่าสมบูรณ์ ล้วนแต่ไม้ขนาดใหญ่ เช้านั้นฝนโปรยปรายลงมาแต่เช้า ยอดหญ้าฉ่ำน้ำ ผืนดินนุ่มไร้ฝุ่น ท้องฟ้าครึ้มด้วยเมฆขาวหม่น บรรยากาศขรึมขลังชวนศรัทธา สิ่งที่ดูจะขัดแย้งกับบรรยากาศก็คือ เสียงล้อรถเสียดสีกับถนนและแตรรถกลบเสียงวงฆ้องกลอง (ปี่พาทย์) รถนานาชนิดจอดเรียงรายยาวเหยียด รวมทั้งรถตู้นักท่องเที่ยวหลากสัญชาติ เมื่อถึงปากทางมองเห็นผาม (ปะรำพิธี) แต่ไกลกลางลานโล่ง สองรายทางเต็มไปด้วยร้านค้าแผงลอยอาหารเครื่องดื่ม (รวมทั้งเหล้าสี เหล้าขาว และเหล้าตอง แต่ปีหลังจากนี้คงจะไม่มี ภายหลังหน่วยงานส่งเสริมสุขภาพได้เข้าไปสนับสนุนกิจกรรมชาวบ้าน และอาจจะรวมไปถึงการนำควายมาต้มก่อนเซ่นสรวง) ด้านขวาเกือบสุดทางเดินก่อนถึงผาม เป็นอาสน์สงฆ์ ด้านซ้ายเป็นเต๊นท์กองอำนวยการ มีเสียงประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงและผลงานของนักการเมืองท้องถิ่น และโฆษณาขายผืนผ้าพระบฏจำลอง
ขณะที่ผมเดินทางไปถึงนั้น ผ้าพระบฏ (ภาพเขียนพระพุทธเจ้า) ถูกนำออกจากหีบพระบฏ ขึงโยงไว้กับยอดไม้สูงเหนือหัวแล้ว ต่อจากนั้นพิธีกรรมก็เริ่มขึ้น ร่างทรงปู่แสะย่าแสะขึ้นไปบนผาม เปลี่ยนชุดตามแบบโบราณ เน้นผ้านุ่งผ้าห่มสีแดง ทำพิธีเซ่นสรวงเชิญวิญญาณปู่แสะย่าแสะเข้าร่าง รับหมากใส่ปากเคี้ยว สูบบุหรี่มอญมวนใหญ่ กระโจนลงจากผาม มุ่งตรงไปยังซากควายกลางลานพิธี เกลือกร่างไปบนซากแล้วขึ้นขี่หลัง ฉีกเนื้อควายใส่ปาก มือวักเลือดในภาชนะขึ้นดื่ม หิ้วเนื้อควายติดตัวไปบางส่วน เดินตรวจตราศาลบูชาขนาดเล็กที่ตั้งอยู่โดยรอบลานพิธี ทั้ง ๑๒ ศาล ตามจำนวนปู่แสะย่าแสะ ลูก หลาน และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญของเมือง ภายในศาลวางกระทงใบตองตึงบรรจุเครื่องเซ่นนานาชนิด
หลังปู่แสะย่าแสะรับเครื่องเซ่นแล้วครู่ใหญ่ก็เกิดเหตุอัศจรรย์ ภาพพระบฏแกว่งไกว ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นปาฏิหาริย์ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกปี โดยไม่มีลมพัดต้องแม้แต่น้อย ภาพพระบฏที่แกว่งไปมาทำให้ร่างทรงปู่แสะย่าแสะต้องรีบกลับเข้าผาม เปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นชุดสีขาว เข้าไปไหว้สาพระบฏ อันเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของพระพุทธเจ้า จากนั้นปู่แสะย่าแสะก็จะเดินเยี่ยมเยียนชาวบ้าน มีการเข้าทรง “เจ้านาย” เพื่อพยากรณ์ความเป็นอยู่และความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง การบอกกล่าวฝากฝังนักการเมืองและผู้นำชุมชนให้บำรุงรักษาป่าไม้ ไม่ให้ใครบุกรุกทำลาย สาปแช่งคนบุกรุกให้มีอันเป็นไป (โชคดีที่ป่าผืนนั้นอยู่ในเขตทหาร คำสาปแช่งของปู่แสะย่าแสะจึงยังคงความศักดิ์สิทธิ์) ให้ชาวบ้านสามัคคีช่วยกันแก้ไขปัญหา
นอกจากตำนานจะกล่าวอ้างถึงชาวลัวะ ชนพื้นเมืองของเชียงใหม่แล้ว ยังเป็นการผสานความเชื่อเรื่องผีที่มีมาแต่เดิม ผนวกเข้ากับความเชื่อทางพุทธศาสนาที่เข้ามาภายหลัง ให้ดำเนินคู่กันไปอย่างกลมกลืน เท่ากับว่าตำนานและพิธีกรรมในอดีตมีส่วนสำคัญในการร้อยเรียงผู้คนต่างชาติพันธุ์ ต่างความเชื่อ และลัทธิทางศาสนา ด้วยกติกาที่ชุมชนร่วมกันสร้างขึ้นเป็นข้อตกลงในการอยู่ร่วมกัน ทว่าเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การเข้ามาของทุน สื่อสารเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งการเมือง นอกเหนือจากปัจจัยการดำรงชีวิต ผลประโยชน์และสถานภาพทางสังคมก็ได้เข้ามาเบียดบังพื้นที่ของผีและพรากศรัทธาไปจากชุมชน
อำนาจสื่อรุกล้ำพื้นที่อำนาจของผี เพื่อให้ได้ภาพที่สวยงาม ในยุค Digital โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพได้ราคาถูกหาซื้อง่าย ไม่นับรวมช่างภาพมืออาชีพ กล้องวิดีโอจากนักท่องเที่ยวหลายชาติ นักข่าวหลายสำนัก นับด้วยตาคร่าวๆ (นับรวมผู้เขียนด้วย) ไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ตัว รั้วไม้หยาบๆ กั้นได้แต่เพียงชาวบ้าน ไม่สามารถกั้นช่างภาพและนักการเมืองให้เข้าไปเกาะติดผีได้ คำนิยามพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และพื้นที่อำนาจของปู่แสะย่าแสะจึงถูกท้าทายอย่างรุนแรง น่าสนใจว่าพ่ออุ้ยแม่อุ้ยที่นั่งราบพนมมือแต้อยู่กับพื้นนอกรั้วรู้สึกอย่างไร ขณะที่ช่างภาพและนักการเมืองท้องถิ่นบอกกับร่างทรงปู่แสะย่าแสะอันเป็นจิตวิญญาณของพวกเขา
“อย่าเพิ่งลุกๆ นั่งต่อแป๊บนึง กัดเนื้อควายค้างไว้ ขอมุมสวยๆ อีกภาพ...”
หรือคำที่ผู้ร่วมพิธีคนหนึ่งกล่าวพร้อมหัวเราะ
“ปีก่อนๆ กว่าจะขึ้นต้นไม้ได้ต้องดันกันแล้วดันกันอีก ปีนี้นักท่องเที่ยวเยอะ กล้องทีวีก็เยอะ นายกเทศบาลมาเองด้วย ร่างทรงกระโดดปลิวขึ้นต้นไม้ไปเลย ปีนขึ้นไปสูงซะด้วย...”
ดูคล้ายกับว่านักการเมืองกับช่างภาพต่างอาศัยซึ่งกันและกัน นั่นคือ นักการเมืองเกาะกุมจูงมือร่างทรงอยู่ชิดใกล้ที่สุดเพื่อออกสื่อ นักข่าวช่างภาพก็ต้องการมุมภาพที่แปลกตากว่าใคร การช่วงชิงจังหวะทำให้พิธีกรรมชุลมุน แม้ไม่อาจบอกว่าผีมีจริงหรือไม่ แต่เท่าที่ผ่านมา มนุษย์ใช้งานผีด้วยความเคารพ ลำพังนักการเมืองไม่เข้ามาอิงแอบใช้ผีเป็นฐานเสียง ที่อยู่ที่ยืนของผีก็หดสั้นลงทุกทีเพราะความเชื่อถูกท้าทายทุกขณะ ภาพนักการเมืองชี้นิ้วฉุดลากผีไปมาตรงหน้า จึงน่าจะเป็นเรื่องยากในการประคับประคองศรัทธาของผู้คนให้คงอยู่
ขั้นตอนสำคัญของพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เริ่มต้นขึ้นเมื่อ ใครคนหนึ่งแอบดึงผ้าพระบฏให้กวัดแกว่งไปมา ขณะที่ปู่แสะย่าแสะกินเนื้อควายและเดินตรวจดูเครื่องเซ่นไปรอบๆ ด้วยท่าทีเกรี้ยวกราด หน้าตาเนื้อตัวเปรอะเปื้อนไปด้วยคราบเลือดและเศษเนื้อควาย ผ้าพระบฏรูปพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่กวัดแกว่ง (โดยไม่มีลม) ทำให้ปู่แสะย่าแสะหยุดนิ่งดังต้องมนต์ เป็นไปตามพระดำรัสของพระพุทธองค์ที่มีต่อยักษ์ปู่แสะย่าแสะว่า “ตราบใดที่เราตถาคตยังเคลื่อนไหว ห้ามยักษ์ทำร้ายและกินเนื้อมนุษย์” ปู่แสะย่าแสะจึงได้สติ รีบกลับขึ้นผาม ผลัดชุดใหม่ เน้นสีขาวบริสุทธิ์แล้วเข้าไปกราบกรานไหว้สาพระบฏ
ยุคสมัยไม่ได้ทำให้พิธีกรรมเลี้ยงดงถูกกำกับด้วยนักการเมืองและสื่อมวลชนเท่านั้น คำของปู่ย่ายังสะท้อนยุคสมัย ...
ก่อนที่พระบฏจะกวัดแกว่งขึ้น (โดยไม่มีลม) ปู่แสะย่าแสะในร่างทรงได้แผดเสียงคำเมืองก้อง ใจความว่า “มนุษย์พวกนั้น ที่มันอยู่ที่นี่ มันผู้เอาที่ดินของปู่ย่าตายายไปขายกิน มันผู้นั้นจงพินาศฉิบหาย กูจะไปกินมัน...พวกมึงจงประกอบแต่กรรมดี รู้จักรักและหวงแหนผืนป่า อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม...”