เรื่อง "ลาว" ของพระพุทธรูปและผู้คน
-http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1357869425&grpid=03&catid=&subcatid=-
โดย วิภา จิรภาไพศาล wipha_chi@yahoo.com
การอัญเชิญพระออกจากพระบรมมหาราชวัง เมืองหลวงพระบาง ให้ประชาชนสรงน้ำในเทศกาลงานบุญปีใหม่ (ภาพจาก htpp://www.go-lao.com)
ในโลกนี้คงไม่มีประเทศไหนที่คล้ายคลึงไทยไปกว่าลาว ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีประเทศใดละม้ายลาวไปกว่าไทย หากประเทศที่มีความเหมือนกันอยู่ระดับหนึ่ง ก็มีความต่างอยู่ระดับหนึ่งเช่นกัน ลาวกับไทยจึงมีเรื่องผิดพ้องหมองใจกันเป็นระยะเรื่อยมา
บทความ 2 เรื่องในนิตยสาร "ศิลปวัฒนธรรม" ฉบับเดือนมกราคม เขียนเรื่องเกี่ยวกับ "ลาว" ไว้อย่างน่าสนใจ เรื่องแรกชื่อ "พระบาง"สัญญะแห่งอำนาจเหนือล้านช้าง" จากลาวสู่ไทย เหตุใดจึงกลับไปสู่ลาว?" ของ ปฐมพงษ์ สุขเล็ก เรื่องที่สองชื่อ "การรับรู้และทัศนคติของไทยต่อคำว่า "ลาว" ของ เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว
บทความแรก ปฐมพงษ์เริ่มเรื่องให้เห็นภาพทางประวัติศาสตร์การศึกสงครามที่ผู้ชนะจะเก็บกวาดผู้คน สิ่งของ เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีอำนาจเหนือกว่า และยึดพระพุทธรูปเพื่อทำลายขวัญของเมืองที่แพ้
โดยสงครามระหว่างไทย (หรือสยามในเวลานั้น) กับลาวในสมัยกรุงธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีการนำ "พระบาง" กลับมาสยามสองครั้งด้วยกัน เพื่อแสดงอำนาจเหนือล้านช้าง หากก็ต้องอัญเชิญพระบางกลับแผ่นดินลาวสองครั้งเช่นกัน
ครั้งแรก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ขณะดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก นำทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ ขากลับนำพระแก้วและพระบางกลับมาถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
จิตรกรรมโครงการพระราชพงศาวดาร ตอน "แห่พระแก้วมรกตและพระบางลงมากรุงธนบุรี"
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกปราบดาภิเษก พระองค์ทรงคืนพระบางให้กับลาว ตามคำกล่าวทูลขอคืนของเจ้านันทเสนราชบุตรลาว และความเชื่อเรื่อง "ผีรักษาพระบาง" ที่กราบทูลว่า
"พระแก้วกับพระบางมีปิศาจที่รักษาพระพุทธรูปไม่ชอบกัน ถ้าอยู่ด้วยกันเมืองใดก็ไม่มีความสบายที่เมืองนั้น การเห็นเป็นตัวอย่างมา 3 ครั้ง แล้วคือ
แต่เมื่อครั้งพระแก้วมรกตอยู่เมืองเชียงใหม่ กรุงศรีสุตนาคนหุตก็อยู่เย็นเป็นสุข ครั้งพระเจ้าไชยเชษฐาเชิญพระแก้วมรกตจากเมืองเชียงใหม่ไปไว้ด้วยกับพระบางที่เมืองหลวงพระบาง เมืองเชียงใหม่ก็เป็นกบฏต่อกรุงศรีสุตนาคนหุต แล้วพม่ามาเบียดเบียน จนต้องย้ายราชธานีลงมาตั้งอยู่ ณ นครเวียงจันทน์
ครั้นอัญเชิญพระบางลงมาไว้นครเวียงจันทน์กับพระแก้วมรกตด้วยกันอีก ก็เกิดเหตุจลาจลต่างๆ บ้านเมืองไม่ปกติ จนเสียนครเวียงจันทน์ให้กับกรุงธนบุรี ครั้งอัญเชิญพระแก้วมรกตกับพระบางลงมาไว้ด้วยกันในกรุงธนบุรี ไม่ช้าก็เกิดเหตุจลาจล ขออย่าให้ทรงประดิษฐานพระบางกับพระแก้วมรกตไว้ด้วยกัน..."
ครั้งที่สอง พระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) ยกทัพไปปราบเจ้าอนุวงศ์ เมื่อชนะศึกนำพระบางพร้อมพระพุทธรูปอื่นมาถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ก็ต้องส่งพระบางคืนอีกครั้ง
หญิงและเด็กชาวบ้านอีสานสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
บทความที่สอง เนื้ออ่อนนำเสนอเรื่องความเป็น "ลาว" ในแต่ละสมัยที่คำๆ นี้เขียนเหมือนเดิม แต่ความหมายเปลี่ยนไปตามการรับรู้และทัศนคติ
เริ่มจากสมัยสุโขทัย คำว่า "ลาว" จะหมายถึงอาณาจักรที่อยู่เหนือสุโขทัยขึ้นไป เป็นลาวล้านนา ขณะที่ล้านช้าง (บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง, แม่น้ำอู) ยังไม่เรียกว่า "ลาว" ทรรศนะของคนสุโขทัยต่อคนลาวล้านนาเป็นการรับรู้ว่าเป็นคนอีกพวกหนึ่งที่มีฐานะทางการเมืองเท่าเทียมกัน
สมัยอยุธยา "ลาว" ใช้เรียกคน 2 กลุ่ม 1.ลาวล้านนา-คนที่อาศัยอยู่เหนือเมืองพิษณุโลกขึ้นไป ทรรศนะของคนอยุธยาต่อคนลาวล้านนารับรู้ว่าเป็นคนอีกพวกหนึ่ง และเกลียดชังเพราะมีสงครามแย่งชิงอาณาจักรสุโขทัยที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง 2.ลาวล้านช้าง-คนที่อาศัยอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง กับคนอยุธยาเป็นไปด้วยดี มีการสร้างสายสัมพันธ์ทางเครือญาติในระดับผู้ปกครอง ส่วนคนที่อยู่อีสานตอนล่างยังไม่ได้เรียกว่าลาว แต่เรียกว่า "เขมรป่าดง"
สมัยธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์ คนสยามได้บทเรียนว่าพม่าใช้ล้านนาเป็นฐานสะสมกำลังทัพเพื่อตีอยุธยา ชนชั้นปกครองจึงเปลี่ยนท่าทีเป็นร่วมมือกับล้านนาขับไล่พม่า และแต่งตั้งเจ้าเมืองล้านนาเป็นเจ้าประเทศราชให้เป็นเมืองหน้าด่านป้องกันศึกพม่า
ขณะที่อาณาจักรล้านช้างเริ่มแบ่งแยกภายในเป็น 3 อาณาจักร เกิดสงครามขึ้นกับกลุ่มคนในลาวล้านช้าง สยามใช้กำลังเข้าปราบและกวาดต้อนผู้คนมาเป็นกำลังในสยาม ทั้งในภาคกลางของสยามและหัวเมืองอื่นๆ จัดให้เป็นประเทศราชของสยาม
ความสัมพันธ์ที่ดีอันสืบเนื่องจากการสร้างสายสัมพันธ์ทางเครือญาติของราชสำนัก เริ่มเปลี่ยนไปหลังเกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ในรัชกาลที่ 3 และกลายเป็นการดูหมิ่นดูแคลนอย่างเด่นชัด
ตอนจบของบทความทั้งสองเรื่องเป็นอย่างไร
ขุนนางผู้ใหญ่ของสยามจะทราบเรื่องผีรักษาพระบางหรือไม่ จึงอัญเชิญพระบางลงมากรุงเทพฯอีกและจัดการอัญเชิญพระบางกลับอย่างไรไม่ให้เสียหน้า ทรรศนะและการรับรู้ต่อคนลาวในยุคต่อๆ มาเปลี่ยนไปในทิศทางใด ขอท่านผู้อ่านได้โปรดติดตามรายละเอียดในศิลปวัฒนธรรม
แต่บอกได้ว่าทั้งสองบทความผู้เขียนทั้งสองค้นคว้าข้อมูลจากเอกสารและหลักฐานเก่ามาอธิบายอย่างนักวิชาการ ไม่ได้ปั้นน้ำเป็นทุน
หน้า 21 มติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 11 มกราคม 2556