คลังธรรมปัญญา > หนังสือธรรมะ

พุทธธรรม หรือ กฎธรรมชาติและคุณค่าสำหรับชีวิต (ป. อ. ปยุตฺโต)

<< < (4/8) > >>

ฐิตา:
ต่อค่ะ...  ๒. หลักทุกขตา
 ๔) ความสุขแยกโดยคุณค่า มี ๒ ประเภท คือ ความสุขในการได้สนองความต้องการทางประสาททั้งห้าและสนองความคิดอยากต่างๆ อย่างหนึ่ง ความสุขในภาวะจิตที่ปลอดโปร่งผ่องใส เอิบอิ่ม สดชื่น เบิกบานเป็นอิสระ ปราศจากสิ่งข้องขัด กีดกั้น จำกัดความนึกคิด เช่น ความวิตกกังวล ความรู้สึกคับแคบ และกิเลสต่างๆ ที่พัวพันจิตใจ อย่างหนึ่ง

 ความสุขประเภทแรก เป็นความสุขที่ต้องหา และเป็นแบบที่ขึ้นต่อปัจจัยภายนอก คือ วัตถุและอารมณ์สำหรับสนองความต้องการต่างๆ ลักษณะอาการของจิตในสภาพที่เกี่ยวข้องกับความสุขประเภทนี้ คือ การแส่หาดิ้นรนกระวนกระวายเป็นอาการนำหน้า อย่างหนึ่ง และความรู้สึกที่ยึดติด คับแคบ หวงแหน ผูกพันเฉพาะตัวอย่างหนึ่ง อาการเหล่านี้มีความสำคัญมากในทางจริยธรรม เพราะเป็นอาการของความยึดอยาก หรือความเห็นแก่ตัว และในเมื่อไม่จัดการควบคุมให้ดี ย่อมเป็นที่มาแห่งปัญหาต่างๆ

 การที่ต้องอาศัยอารมณ์อย่างอื่น ต้องขึ้นต่อปัจจัยภายนอกเช่นนี้ ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่ความสุขประเภทนี้ จะต้องทำให้ตัวบุคคลตกเป็นทาสของปัจจัยภายนอก ในรูปใดรูปหนึ่ง ไม่มากก็น้อย และความแปรปรวนของปัจจัยภายนอกนั้น ย่อมทำให้เกิดความกระทบกระเทือนแก่บุคคลนั้นด้วย ความสุขประเภทนี้ ทางธรรมเรียกว่า สามิสสุข เป็นสุขเนื่องด้วยหาสิ่งสำหรับมาเติมความรู้สึกบางอย่างที่ขาดไป หรือพร่องอยู่ คือต้องอาศัย หรือต้องขึ้นต่ออามิส

 ส่วนความสุขประเภทหลัง เป็นความสุขที่มีขึ้นได้เอง สร้างขึ้นได้ เป็นอิสระของตัว ไม่ขึ้นต่อสิ่งอื่น ไม่ต้องพึ่งพา ไม่ต้องอาศัยสิ่งหรืออารมณ์ภายนอกมาสนอง เป็นภาวะของจิตใจภายในที่เรียกได้ว่าเป็นตัวของตัวเอง ไม่มีสิ่งรบกวน หรือขุ่นระคาย

 ภาวะจิตที่มีความสุขอย่างนี้ อาจบรรยายลักษณะได้ว่า เป็นความ สะอาด เพราะไม่มีความรู้สึกที่เป็นกิเลสต่างๆ เข้าไปปะปนขุ่นมัว สว่าง เพราะประกอบด้วยปัญญา มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น เห็นกว้างขวางไม่มีขีดจำกัด มีความเข้าอกเข้าใจ และพร้อมที่จะรับรู้พิจารณาสิ่งทั้งหลายตามสภาววิสัย สงบ เพราะไม่มีความกระวนกระวาย ปลอดจากสิ่งกังวลใจ ไม่ว้าวุ่นหวั่นไหว ผ่อนคลาย ราบเรียบ เสรี เพราะเป็นอิสระ ไม่มีสิ่งที่จำกัดความนึกคิด ไม่มีความกีดกั้นข้องขัด โปร่งเบา ไม่ยึดติด ไม่คับแคบ เปิดกว้าง แผ่ความรู้สึกรักใคร่ปรารถนาดีด้วยเมตตาไปยังมนุษย์ สัตว์ ทั่วหน้า รับรู้ความทุกข์ของผู้อื่นด้วยกรุณา ร่วมบันเทิงใจด้วยมุทิตาในความสุขความรุ่งเรืองสำเร็จของคนทุกคน และ สมบูรณ์ เพราะไม่มีความรู้สึกขาดแคลน บกพร่อง ว้าเหว่ มีแต่ความแช่มชื่นเบิกบาน เปรียบในทางร่างกายเหมือนการมีสุขภาพดี ย่อมเป็นภาวะที่เต็มเปี่ยมสมบูรณ์อยู่ในตัว ในเมื่อไม่มีโรคเป็นข้อบกพร่อง
 
 ในภาวะจิตเช่นนี้ คุณธรรมที่เป็นส่วนประกอบสำคัญก็คือ ความเป็น อิสระ ไม่เกี่ยวเกาะผูกพันเป็นทาส และ ปัญญา ความรู้ความเข้าใจตามความเป็นจริง คุณธรรมสองอย่างนี้แสดงออกในภาวะของจิตที่เรียกว่า อุเบกขา คือ ภาวะที่จิตราบเรียบ เป็นกลาง พร้อมที่จะเข้าเกี่ยวข้องจัดการกับสิ่งทั้งหลายตามสภาววิสัย ตามที่ควรจะเป็นด้วยเหตุผลบริสุทธิ์

 ความสุขประเภทนี้ มีคุณค่าสูงสุดในทางจริยธรรม เรียกว่า นิรามิส- สุข คือความสุขที่ไม่ต้องอาศัยอามิส ไม่ต้องขึ้นต่อสิ่งภายนอก ไม่ก่อให้เกิดปัญหา เช่น ความห่วงกังวล ความเบื่อหน่าย ความหวาดหวั่น การแย่งชิงแต่เป็นภาวะที่ไม่มีปัญหาและช่วยขจัดปัญหา เป็นภาวะที่ประณีตลึกซึ้ง ซึ่งอาจพัฒนาไปจนถึงขั้นที่เกินกว่าจะเรียกว่าเป็นความสุข จึงเรียกง่ายๆ ว่า ความพ้นจากทุกข์ เพราะแสดงลักษณะเด่นว่าพ้นจากข้อบกพร่องและความแปรปรวน

 ในการดำรงชีวิตของชาวโลก ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับการแสวงหาความสุขประเภทที่หนึ่งอยู่ด้วยเป็นธรรมดานั้น เป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะได้รับสิ่งสนองความต้องการทุกอย่างได้ทันใจทุกครั้ง ตลอดทุกเวลา สมหวังเสมอไป และคงอยู่ตลอดไป เพราะเป็นเรื่องขึ้นต่อปัจจัยภายนอกและมีความแปรปรวนได้ตามกฎธรรมชาติ จึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องพยายามสร้างสภาพจิตอย่างที่เรียกว่าความสุขประเภทที่สองไว้ด้วย อย่างน้อยพอเป็นพื้นฐานของจิตใจ ให้มีสุขภาพจิตดีพอที่จะดำรงชีวิตอยู่ในโลกอย่างที่เรียกว่าสุขสบาย มีความทุกข์น้อยที่สุด รู้จักว่าควรจะปฏิบัติตนอย่างไรต่อความสุขประเภทที่หนึ่งนั้น เพื่อมิให้กลายเป็นปัญหา ก่อให้เกิดความเดือดร้อน ทั้งแก่ตนและบุคคลอื่น สภาพจิตเช่นนี้จะสร้างขึ้นได้ก็ด้วยการรู้จักมองสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น เพื่อความมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่าไม่ยึดติดถือมั่น ซึ่งอาศัยการรู้เท่าทันหลักความจริงของธรรมชาติ จนถึงขั้นอนัตตา

 ๕) ในการแสวงหาความสุขประเภทที่หนึ่ง ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยภายนอกนั้น จะต้องยอมรับความจริงว่า เป็นการเข้าไปสัมพันธ์กันของคู่สัมพันธ์อย่างน้อย ๒ ฝ่าย เช่น บุคคล ๒ คน หรือ บุคคล ๑ กับ วัตถุ ๑ เป็นต้น และแต่ละฝ่ายมีความทุกข์ มีความขัดแย้ง บกพร่อง ไม่สมบูรณ์ แฝงติดตัวมาด้วยกันอยู่แล้ว เมื่อสิ่งที่มีความขัดแย้งกับสิ่งที่มีความขัดแย้งมาสัมพันธ์กัน ก็ย่อมมีทางที่จะให้เกิดความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นทั้งในด้านปริมาณและระดับความรุนแรง ตามอัตราการปฏิบัติที่ผิด

 ตัวอย่างง่ายๆ ในกรณีการแสวงหาความสุขนี้ เพื่อความสะดวก ยกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เสวยความสุข และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ถูกเสวย ทั้งผู้เสวยและผู้ถูกเสวย มีความบกพร่องและขัดแย้งอยู่ในตัวด้วยกันอยู่แล้ว เช่น ตัวผู้เสวยเอง ไม่อยู่ในภาวะและอาการที่พร้อมอยู่ตลอดเวลาที่จะเสวยความสุขตามความต้องการของตน ฝ่ายผู้ถูกเสวยก็ไม่อยู่ในภาวะและอาการที่พร้อมอยู่ตลอดเวลาที่จะถูกเสวย ในภาวะเช่นนี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะได้ฝ่ายเดียว โดยไม่ยอมเสียบ้างเลย เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่าย ไม่ตระหนักหรือไม่ยอมรับความจริงนี้ ย่อมถือเอาความยึดอยากของตนเป็นประมาณ และย่อมเกิดอาการขัดแย้งระหว่างกันขึ้น เริ่มแต่ความขัดใจเป็นต้นไป

 อนึ่ง อาการที่ผู้เสวยยึดอยากต่อสิ่งที่ถูกเสวยนั้น ย่อมรวมไปถึงความคิดผูกหวงแหนไว้กับตนและความปรารถนาให้คงอยู่ในสภาพนั้นตลอดไปด้วย อาการเหล่านี้เป็นการขัดแย้งต่อกระบวนการของธรรมชาติที่เป็นไปตามกระแสแห่งเหตุปัจจัยต่างๆ จึงเป็นการนำตนเข้าไปขวางขืนความประสานกลมกลืนกันในกระบวนการของธรรมชาติ เมื่อดำรงชีวิตอยู่โดยไม่รู้เท่าทันความเป็นจริงเหล่านี้ ถือเอาแต่ความอยากความยึด คือ ตัณหาอุปาทานเป็นประมาณ ก็คือการเป็นอยู่อย่างฝืนทื่อๆ ซึ่งจะต้องเกิดความกระทบกระทั่งขัดแย้ง บีบคั้น และผลสะท้อนกลับที่เป็นความทุกข์ในรูปต่างๆ เกิดขึ้นเป็นอันมาก

 ยิ่งกว่านั้น ในฐานะที่คู่สัมพันธ์ทั้งสองฝ่าย เป็นส่วนประกอบอยู่ในธรรมชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างกันนอกจากจะเกี่ยวข้องไปถึงกระบวนการธรรมชาติทั้งหมดเป็นส่วนรวมแล้ว ยังมักมีส่วนประกอบอื่นบางส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างพิเศษ เป็นตัวการอย่างที่สามอีกด้วย เช่น บุคคลที่อยากได้ของสิ่งเดียวกัน เป็นต้น ความยึดอยากที่ถูกขัด ย่อมให้เกิดปฏิกิริยาแสดงความขัดแย้งออกมาระหว่างกัน เช่น การแข่งขัน ต่อสู้ แย่งชิง เป็นต้นเป็นอาการรูปต่างๆ ของความทุกข์ ยิ่งจัดการกับปัญหาด้วยความยึดอยากมากเท่าใด ความทุกข์ก็ยิ่งรุนแรงเท่านั้น แต่ถ้าจัดการด้วยปัญญามากเท่าใด ปัญหาก็หมดไปเท่านั้น

 โดยนัยนี้ จากอวิชชา หรือ โมหะ คือความไม่รู้สิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น จึงอยากได้อย่างเห็นแก่ตัวด้วยโลภะ เมื่อขัดข้องหรือถูกขัดขวาง และไม่มีปัญญารู้เท่าทัน ก็เกิดโทสะความขัดใจและความคิดทำลาย จากกิเลสรากเหง้า ๓ อย่างนี้ กิเลสรูปต่างๆ ก็ปรากฏขึ้นมากมาย เช่น ความหวงแหน ความตระหนี่ ความริษยา ความหวาดระแวง ความฟุ้งซ่าน ความวิตกกังวล ความหวาดกลัว ความพยาบาท ฯลฯ เป็นการระดมสร้างปัจจัยแห่งความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในตัวมากขึ้นๆ และกิเสสอันเป็นเครื่องหมายแห่งความขัดแย้งเหล่านี้ ย่อมกลายเป็นสิ่งสำหรับกีดกั้นจำกัด และแยกตนเองออกจากความประสานกลมกลืนของกระบวนการแห่งธรรมชาติ ความขัดแย้งต่อธรรมชาตินี้ ย่อมส่งผลร้ายสะท้อนกลับมาบีบคั้นกดดันบุคคลนั้นเอง เป็นการลงโทษโดยธรรมชาติ ทุกข์ในธรรมชาติ หรือสังขารทุกข์ จึงแสดงผลออกมาเป็นความทุกข์ที่รู้สึกได้ในตัวคน เช่น

 *เกิดความรู้สึกคับแคบ มืด ขุ่นมัว อึดอัด เร่าร้อน กระวนกระวาย กลัดกลุ้ม
 *เกิดผลร้ายต่อบุคลิกภาพ และก่ออาการทางร่างกาย เช่น โรคภัยไข้เจ็บ
 *ความทุกข์ที่เป็นอาการตามปกติทางร่างกายอันเป็นธรรมดาสังขาร เช่น ความเจ็บปวดในยามป่วยไข้ ทวีความรุนแรงเกินกว่า
 ที่ควรจะเป็นตามปกติของมัน เพราะความเข้าไปยึดด้วยตัณหา อุปาทาน เป็นการซ้ำเติมตนเองหนักยิ่งขึ้น
 *เป็นการก่อความทุกข์ความขัดแย้ง ความคับแคบ อึดอัด ขุ่นมัว  ให้เกิดแก่คนอื่นๆ ขยายวงกว้างออกไป
 *เมื่อคนส่วนใหญ่ในสังคม แต่ละคน ต่างระดมสร้างกิเลสขึ้นมาปิด กั้นแยกตนเองด้วยความเห็นแก่ตัว ความขัดแย้งต่างๆ ก็เกิดเพิ่มพูนมากขึ้น สังคมก็เสื่อมโทรมเดือดร้อน เพราะผลกรรมร่วมกัน ของคนในสังคม

 นี้คือกระบวนการทำให้สังขารทุกข์ เกิดกลายเป็นทุกขเวทนา หรือความทุกข์แท้ๆ (ทุกขทุกข์) ขึ้นมา เพราะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายด้วยอวิชชา มีชีวิตอย่างฝืนทื่อๆ ต่อกระบวนการธรรมชาติ และปล่อยตัวลงเป็นทาสในกระแสของมัน เรียกสั้นๆ ว่า เพราะความยึดมั่นถือมั่น

 วิถีที่ตรงข้ามจากนี้ ก็คือ การเป็นอยู่อย่างรู้เท่าทันความจริง คือรู้จักสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น แล้วเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยปัญญา รู้จักที่จะปฏิบัติโดยประการที่ว่า ทุกข์ในธรรมชาติที่เป็นไปตามสภาวะของมันเองตามธรรมดาสังขาร จะคงเป็นแต่เพียงสังขารทุกข์อยู่ตามเดิมของมันเท่านั้น ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งเป็นพิษเป็นภัยมากขึ้น ทั้งยังสามารถถือเอาประโยชน์จากสังขารทุกข์เหล่านั้นด้วย โดยเมื่อรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์ เพราะเข้าไปยึดถือด้วยตัณหาอุปาทาน ก็ไม่เข้าไปยึดถือมัน ไม่เป็นอยู่อย่างฝืนทื่อๆ ไม่สร้างกิเลสสำหรับมาขีดวงจำกัดตนเองให้กลายเป็นตัวการสร้างความขัดแย้งขึ้นมาบีบคั้นตนเองมากขึ้น

 พร้อมกันนั้น ก็รู้จักที่จะอยู่อย่างกลมกลืนประสานกับธรรมชาติ และเพื่อนมนุษย์ ด้วยการประพฤติคุณธรรมต่างๆ ซึ่งทำใจให้เปิดกว้าง และทำให้เกิดความประสานกลมกลืน เช่น เมตตา-ความรักความปรารถนาดีต่อกัน กรุณา-ความคิดช่วยเหลือ มุทิตา-ความบันเทิงใจในความสุขสำเร็จของผู้อื่น อุเบกขา-ความวางใจเป็นกลาง ตัดสินเหตุการณ์ตามเป็นจริงตามเหตุปัจจัย และราบเรียบไม่หวั่นไหวเพราะกระแสโลก ความสามัคคี ความร่วมมือ การช่วยเหลือบำเพ็ญประโยชน์แก่กัน ความเสียสละ ความสำรวมตน ความอดทน ความเคารพอ่อนน้อม ความมีวิจารณญาณไม่หลงใหลในเหตุการณ์ เป็นต้น อันเป็นคุณสมบัติตรงข้ามกับกิเลสที่สร้างความขัดแย้งและความคับแคบ เช่น ความเกลียดชัง ความพยาบาท ความริษยา ความกลัดกลุ้มวุ่นวายใจ ความหวงแหน ความแก่งแย่งแข่งดี การเห็นแก่ได้ การตามใจตนเอง ความหุนหัน ความดื้อรั้น ความเย่อหยิ่ง ความกลัว ความหวาดระแวง ความเกียจคร้าน ความเฉื่อยชา ความหดหู่ ความมัวเมา ความลืมตัว ความลุ่มหลงงมงาย เป็นต้น

 นี้คือวิถีแห่งความมีชีวิตที่ประสานกลมกลืนในธรรมชาติ การสามารถถือเอาประโยชน์จากกฎธรรมชาติ หรือใช้กฎธรรมชาติให้เป็นประโยชน์ได้ การอยู่อย่างไม่สูญเสียอิสรภาพ อย่างที่ว่า อยู่อย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ขึ้นต่อสิ่งใด หรือการมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา ซึ่งถือว่าเป็นการมีชีวิตอยู่อย่างประเสริฐสุด ตามพุทธภาษิตว่า “ปญฺญฺาชีวึ ชีวิตมาหุ เสฏฺฐํ”



ชีวิตเป็นไปอย่างไร ?
♥ ปฏิจจสมุปบาท  การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันๆ จึงเกิดมี
♥ ตัวกฎหรือตัวสภาวะ (ปฏิจจสมุปบาท)
- http://portal.in.th/i-dhamma/pages/8122/

ฐิตา:


           

ชีวิตเป็นไปอย่างไร ?
ปฏิจจสมุปบาท  การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันๆ จึงเกิดมี
ตัวกฎหรือตัวสภาวะ (ปฏิจจสมุปบาท)

๑. ฐานะและความสำคัญ (ปฏิจจสมุปบาท)
๒. ตัวบทและแบบความสัมพันธ์ ในหลักปฏิจจสมุปบาท
๓. การแปลความหมายหลักปฏิจจสมุปบาท
๔. ความหมายโดยสรุป เพื่อความเข้าใจเบื้องต้น

๕. คำอธิบายตามแบบ
๖. ความหมายในชีวิตประจำวัน
๗. ความหมายลึกซึ้งขององค์ธรรมบางข้อ
๘. ปฏิจจสมุปบาทในฐานะมัชเฌนธรรมเทศนา

"""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""
๑. ฐานะและความสำคัญ (ปฏิจจสมุปบาท)
"""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""
 ปฏิจจสมุปบาท แปลพอให้ได้ความหมายในเบื้องต้นว่า การเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลายโดยอาศัยกัน การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกัน ๆ จึงเกิดมีขึ้น หรือการที่ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันมา

 ปฏิจจสมุปบาท เป็นหลักธรรมอีกหมวดหนึ่ง  ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในรูปของกฎธรรมชาติ หรือหลักความจริงที่มีอยู่โดยธรรมดา ไม่เกี่ยวกับการอุบัติของพระศาสดาทั้งหลาย

 พุทธพจน์แสดงปฏิจจสมุปบาทในรูปของกฎธรรมชาติว่าดังนี้
 ตถาคตทั้งหลาย จะอุบัติหรือไม่ก็ตาม ธาตุ (หลัก) นั้น ก็ยังคงมีอยู่ เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยาม คือหลักอิทัปปัจจยตา๑

 ตถาคตตรัสรู้ เข้าถึงหลักนั้นแล้ว จึงบอก แสดง วางเป็นแบบ ตั้งเป็นหลัก เปิดเผย แจกแจง ทำให้เข้าใจง่าย และจึงตรัสว่า “จงดูสิ”
 “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร ฯลฯ”

 ภิกษุทั้งหลาย ตถตา (ภาวะที่เป็นอย่างนั้น) อวิตถตา (ภาวะไม่คลาดเคลื่อนไปได้) อนัญญถตา (ภาวะที่ไม่เป็นอย่างอื่น) คือหลักอิทัปปัจจยตา ดังกล่าวมานี้แล เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท

 ความสำคัญของปฏิจจสมุปบาท จะเห็นได้จากพุทธพจน์ว่า
 ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม  ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็น ปฏิจจสมุปบาท
 ภิกษุทั้งหลาย แท้จริง อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้ โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น ฯลฯ

เมื่อใด อริยสาวกรู้ทั่วถึงความเกิดและความดับของโลกตามที่มันเป็นอย่างนี้ อริยสาวกนี้ เรียกว่าเป็นผู้มีทิฏฐิสมบูรณ์ ก็ได้ ผู้มีทัศนะสมบูรณ์ ก็ได้ ผู้ลุถึงสัทธรรมนี้ ก็ได้ ผู้ประกอบด้วยเสขญาณ ก็ได้ ผู้ประกอบด้วยเสขวิชชา ก็ได้ ผู้บรรลุกระแสธรรมแล้ว ก็ได้ พระอริยะผู้มีปัญญาชำแรกกิเลส ก็ได้ ผู้อยู่ชิดประตูอมตะ ก็ได้

 สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้จักธรรมเหล่านี้ รู้จักเหตุเกิดแห่งธรรมเหล่านี้ รู้จักความดับแห่งธรรมเหล่านี้ รู้จักทางดำเนินถึงความดับแห่งธรรมเหล่านี้ ฯลฯ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นแล จึงยอมรับได้ว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ และยอมรับได้ว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์   และจึงได้ชื่อว่า  ได้บรรลุประโยชน์ของความเป็นสมณะ และประโยชน์ของความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน

 อย่างไรก็ดี มีพุทธพจน์ตรัสเตือนไว้ ไม่ให้ประมาทหลักปฏิจจสมุปบาทนี้ว่า เป็นหลักเหตุผลที่เข้าใจง่าย เพราะเคยมีเรื่องพระอานนท์เข้าไปกราบทูลพระองค์และได้ตรัสตอบดังนี้

 น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาเลย พระเจ้าข้า หลักปฏิจจสมุปบาทนี้ ถึงจะเป็นธรรมลึกซึ้ง และปรากฏเป็นของลึกซึ้ง ก็ยังปรากฏแก่ข้าพระองค์ เหมือนเป็นธรรมง่ายๆ

อย่ากล่าวอย่างนั้น อย่ากล่าวอย่างนั้น อานนท์ ปฏิจจสมุปบาทนี้ เป็นธรรมลึกซึ้ง และปรากฏเป็นของลึกซึ้ง เพราะไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่แทงตลอดหลักธรรมข้อนี้แหละ หมู่สัตว์นี้จึงวุ่นวายเหมือนเส้นด้ายที่ขอดกันยุ่ง จึงขมวดเหมือนกลุ่มเส้นด้ายที่เป็นปม จึงเป็นเหมือนหญ้ามุงกระต่าย และหญ้าปล้อง  จึงผ่านพ้น อบาย ทุคติ วินิบาต สังสารวัฏ  ไปไม่ได้

 ผู้ศึกษาพุทธประวัติแล้ว คงจำพุทธดำริเมื่อครั้งหลังตรัสรู้ใหม่ๆ ก่อนเสด็จออกประกาศพระศาสนาได้ว่า ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าทรงน้อมพระทัยไปในทางที่จะไม่ทรงประกาศธรรม ดังความในพระไตรปิฎกว่า

 ภิกษุทั้งหลาย เราได้มีความดำริเกิดขึ้นว่า: ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้ เป็นของลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบระงับ ประณีต ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรก ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้

 ก็แหละ หมู่ประชานี้ เป็นผู้เริงรมย์อยู่ด้วยอาลัย  ยินดีอยู่ในอาลัย ระเริงอยู่ในอาลัย   สำหรับหมู่ประชาผู้เริงรมย์  รื่นระเริงอยู่ในอาลัย (เช่นนี้) ฐานะอันนี้ย่อมเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก กล่าวคือ หลักอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท ถึงแม้ฐานะอันนี้ ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก กล่าวคือ ความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสลัดอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา วิราคะ นิโรธ  นิพพาน   ก็ถ้าเราพึงแสดงธรรม  และคนอื่นไม่เข้าใจซึ้งต่อเรา ข้อนั้นก็จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่าแก่เรา จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา

 พุทธดำริตอนนี้ กล่าวถึงหลักธรรม ๒ อย่าง คือ ปฏิจจสมุปบาท และนิพพาน เป็นการย้ำทั้งความยากของหลักธรรมข้อนี้ และความสำคัญของหลักธรรมนี้ ในฐานะเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และจะทรงนำมาสั่งสอนแก่หมู่ประชา


ฐิตา:


๒. ตัวบทและแบบความสัมพันธ์ ในหลักปฏิจจสมุปบาท
""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""
 พุทธพจน์ที่เป็นตัวบทแสดงหลักปฏิจจสมุปบาทนั้น แยกได้เป็น ๒ ประเภท คือที่แสดงเป็นกลางๆ ไม่ระบุชื่อหัวข้อปัจจัย กับที่แสดงเจาะจงระบุชื่อหัวข้อปัจจัยต่างๆ ซึ่งสืบทอดต่อกันโดยลำดับเป็นกระบวนการ อย่างแรก มักตรัสไว้นำหน้าอย่างหลัง เป็นทำนองหลักกลาง หรือ หลักทั่วไป ส่วนอย่างหลัง พบได้มากมาย และส่วนมากตรัสไว้ล้วนๆ โดยไม่มีอย่างแรกอยู่ด้วย อย่างหลังนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นหลักแจงหัวข้อ หรือขยายความ เพราะแสดงรายละเอียดให้เห็น หรือเป็นหลักประยุกต์ เพราะนำเอากระบวนการธรรมชาติมาแสดงให้เห็นความหมายตามหลักทั่วไปนั้น

 อนึ่ง หลักทั้ง ๒ อย่างนั้น แต่ละอย่างแบ่งออกได้เป็น ๒ ท่อน คือ ท่อนแรกแสดงกระบวนการเกิด ท่อนหลังแสดงกระบวนการดับ เป็นการแสดงให้เห็นแบบความสัมพันธ์ ๒ นัย
 ท่อนแรกที่แสดงกระบวนการเกิด เรียกว่า สมุทัยวาร และถือว่าเป็นการแสดงตามลำดับ จึงเรียกว่า อนุโลมปฏิจจสมุปบาท เทียบในหลักอริยสัจเป็นข้อที่ ๒ คือ ทุกขสมุทัย
 ท่อนหลังที่แสดงกระบวนการดับ เรียกว่า นิโรธวาร และถือว่าเป็นการแสดงย้อนลำดับ จึงเรียกว่า ปฏิโลมปฏิจจสมุปบาท เทียบในหลักอริยสัจเป็นข้อที่ ๓ คือ ทุกขนิโรธ

 แสดงตัวบททั้ง ๒ อย่าง ดังนี้
๑) หลักทั่วไป
ก. อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ  เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี
อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
ข. อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี
อิมสฺสนิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ  เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้ก็ดับ (ด้วย)
พิจารณาตามรูปพยัญชนะ หลักทั่วไปนี้ เข้ากับชื่อที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา

๒) หลักแจงหัวข้อ หรือ หลักประยุกต์
     ก.อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
 สงฺขารปจฺจยา วิญฺญฺาณํ    เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
 วิญฺญฺาณปจฺจยา นามรูปํ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
 นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
 สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
 ผสฺสปจฺจยา เวทนา  เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
 เวทนาปจฺจยา ตณฺหา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
 ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
 อุปาทานปจฺจยา ภโว เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
 ภวปจฺจยา ชาติ  เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
 ชาติปจฺจยา ชรามรณํ เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี
       .....…..........................................................................................

 โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา สมฺภวนฺติ
 ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ จึงมีพร้อม
 เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ
 ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมีได้ ด้วยประการฉะนี้

    ข. อวิชฺชาย ตฺเวว อเสสวิราคนิโรธา  เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ
 สงฺขารนิโรโธ  สังขารจึงดับ
 สงฺขารนิโรธา วิญฺญฺาณนิโรโธ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
 วิญฺญฺาณนิโรธา นามรูปนิโรโธ เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
 นามรูปนิโรธา สฬายตนนิโรโธ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
 สฬายตนนิโรธา ผสฺสนิโรโธ  เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
 ผสฺสนิโรธา เวทนานิโรโธ  เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
 เวทนานิโรธา ตณฺหานิโรโธ  เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
 ตณฺหานิโรธา อุปาทานนิโรโธ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
 อุปาทานนิโรธา ภวนิโรโธ  เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
 ภวนิโรธา ชาตินิโรโธ  เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
 ชาตินิโรธา ชรามรณํ  เพราะชาติดับ ชรามรณะ (จึงดับ)       
 ...................................................................................................

 โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา นิรุชฺฌนฺติ
 ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส ความคับแค้นใจ ก็ดับ
 เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส นิโรโธ โหติ
 ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้
 ขอให้สังเกตว่า คำสรุปปฏิจจสมุปบาทนี้ บ่งว่า เป็นกระบวนการเกิดขึ้นและดับไปแห่งความทุกข์ ข้อความเช่นนี้ เป็นคำสรุปส่วนมากของหลัก ปฏิจจสมุปบาท ที่ปรากฏในที่ทั่วไป

 แต่บางแห่งสรุปว่า เป็นการเกิดขึ้นและสลายหรือดับไปของโลกก็มี โดยใช้คำบาลีว่า
“อยํ โข ภิกฺขเว โลกสฺส สมุทโย-นี้แล ภิกษุทั้งหลาย คือความเกิดขึ้นแห่งโลก”
“อยํ โข ภิกฺขเว โลกสฺส อตฺถงฺคโม-นี้แล ภิกษุทั้งหลาย คือความสลายตัวแห่งโลก”  หรือว่า
“เอวมยํ โลโก สมุทยติ-โลกนี้ย่อมเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้”
“เอวมยํ โลโก นิรุชฺฌติ-โลกนี้ย่อมดับไปด้วยอาการอย่างนี้”

 อย่างไรก็ดี ว่าโดยความหมายที่แท้จริงแล้ว คำสรุปทั้งสองอย่างนี้ ได้ความตรงกันและเท่ากัน ปัญหาอยู่ที่ความหมายของศัพท์ ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจกันต่อไป

 ปฏิจจสมุปบาทนี้ ในคัมภีร์อภิธรรมและคัมภีร์รุ่นอรรถกถา มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ปัจจยาการ ซึ่งแปลว่า อาการที่สิ่งทั้งหลายเป็นปัจจัยแก่กัน

 ในหลักที่แสดงเต็มรูปอย่างในที่นี้ องค์ประกอบทั้งหมดมีจำนวน ๑๒ หัวข้อ องค์ประกอบเหล่านี้เป็นปัจจัยเนื่องอาศัยสืบต่อกันไปเป็นรูปวงเวียน ไม่มีต้น ไม่มีปลาย คือไม่มีตัวเหตุเริ่มแรกที่สุด (มูลการณ์ หรือ the First Cause) การยกเอาอวิชชาตั้งเป็นข้อที่หนึ่ง ไม่ได้หมายความว่า อวิชชาเป็นเหตุเริ่มแรกหรือมูลการณ์ของสิ่งทั้งหลาย แต่เป็นการตั้งหัวข้อเพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจ โดยตัดตอนยกเอาองค์ประกอบอันใดอันหนึ่ง ที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุดขึ้นมาตั้งเป็นลำดับที่ ๑ แล้วก็นับต่อไปตามลำดับ

 บางคราวท่านป้องกันมิให้มีการยึดเอาอวิชชาเป็นมูลการณ์ โดยแสดงความเกิดของอวิชชาว่า “อวิชชาเกิด เพราะอาสวะเกิด อวิชชาดับ เพราะอาสวะดับ-อาสวสมุทยา อวิชฺชาสมุทโย อาสวนิโรธา อวิชฺชานิโรโธ”

 องค์ประกอบ ๑๒ ข้อของปฏิจจสมุปบาทนั้น นับตั้งแต่อวิชชา ถึง ชรามรณะเท่านั้น (คือ อวิชชา - สังขาร - วิญญาณ - นามรูป - สฬายตนะ  - ผัสสะ - เวทนา - ตัณหา - อุปาทาน - ภพ - ชาติ - ชรามรณะ) ส่วน โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส (ความคับแค้นใจ) เป็นเพียงตัวพลอยผสม เกิดแก่ผู้มีอาสวกิเลสเมื่อมีชรา มรณะแล้ว เป็นตัวการหมักหมมอาสวะ ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชา หมุนวงจรต่อไปอีก

 ในการแสดงปฏิจจสมุปบาทแบบประยุกต์ พระพุทธเจ้ามิได้ตรัสตามลำดับ และเต็มรูปอย่างนี้ (คือชักต้นไปหาปลาย) เสมอไป การแสดงในลำดับและเต็มรูปเช่นนี้ มักตรัสในกรณีเป็นการแสดงตัวหลัก

 แต่ในทางปฏิบัติ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นด้วยเงื่อนปัญหา มักตรัสในรูปย้อนลำดับ (คือชักปลายมาหาต้น) เป็น
 ชรามรณะ - ชาติ - ภพ - อุปาทาน - ตัณหา - เวทนา - ผัสสะ - สฬายตนะ - นามรูป - วิญญาณ - สังขาร - อวิชชา
 ในทางปฏิบัติเช่นนี้ การแสดงอาจเริ่มต้นที่องค์ประกอบข้อหนึ่งข้อใดในระหว่างก็ได้ สุดแต่องค์ประกอบข้อไหนจะกลายเป็นปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา เช่น อาจจะเริ่มที่ชาติ  ที่เวทนา  ที่วิญญาณ  อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วเชื่อมโยงกันขึ้นมาตามลำดับจนถึงชรามรณะ (ชักกลางไปหาปลาย) หรือสืบสาวย้อนลำดับลงไปจนถึงอวิชชา (ชักกลางมาหาต้น) ก็ได้ หรืออาจเริ่มต้นด้วยเรื่องอื่นๆ ที่มิใช่ชื่อใดชื่อหนึ่งใน ๑๒ หัวข้อนี้ แล้วชักเข้ามาพิจารณาตามแนวปฏิจจสมุปบาทก็ได้ 
 โดยนัยนี้ การแสดงปฏิจจสมุปบาท จึงไม่จำเป็นต้องครบ ๑๒ หัวข้ออย่างข้างต้น และไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบที่ตายตัวเสมอไป

 ข้อควรทราบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ
 - ความเป็นปัจจัยแก่กันขององค์ประกอบเหล่านี้ มิใช่มีความหมายตรงกับคำว่า “เหตุ” ทีเดียว เช่น ปัจจัยให้ต้นไม้งอกขึ้น มิใช่หมายเพียงเมล็ดพืช แต่หมายถึง ดิน น้ำ ปุ๋ย อากาศ อุณหภูมิ เป็นต้น เป็นปัจจัยแต่ละอย่าง และ
 - การเป็นปัจจัยแก่กันนี้ เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่จำต้องเป็นไปตามลำดับก่อนหลังโดยกาละหรือเทศะ เช่น พื้นกระดาน เป็นปัจจัยแก่การตั้งอยู่ของโต๊ะ เป็นต้น

ฐิตา:


๓. การแปลความหมายหลักปฏิจจสมุปบาท
 หลักปฏิจจสมุปบาทนี้ ถูกนำมาแปลความหมายและอธิบายโดยนัยต่างๆ ซึ่งพอสรุปเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ดังนี้
 ๑. การอธิบายแบบแสดงวิวัฒนาการของโลกและชีวิต โดยการตีความพุทธพจน์บางแห่งตามตัวอักษร เช่น พุทธดำรัสว่าโลกสมุทัย  เป็นต้น

 ๒. การอธิบายแบบแสดงกระบวนการเกิด-ดับแห่งชีวิตและความทุกข์ของบุคคล ซึ่งแยกได้เป็น ๒ นัย
  ๑) แสดงกระบวนการช่วงกว้างระหว่างชีวิตต่อชีวิต คือ แบบข้าม
   ภพข้ามชาติ เป็นการแปลความหมายตามรูปศัพท์อีกแบบหนึ่ง
   และเป็นวิธีอธิบายที่พบทั่วไปในคัมภีร์รุ่นอรรถกถา ซึ่งขยาย
   ความหมายออกไปอย่างละเอียดพิสดาร ทำให้กระบวนการนี้มี
   ลักษณะเป็นแบบแผน มีขั้นตอนและคำบัญญัติเรียกต่างๆ จน
   ดูสลับซับซ้อนแก่ผู้เริ่มศึกษา

  ๒) แสดงกระบวนการที่หมุนเวียนอยู่ตลอดเวลาในทุกขณะของ
   การดำรงชีวิต เป็นการแปลความหมายที่แฝงอยู่ในคำอธิบาย
   นัยที่ ๑) นั่นเอง แต่เล็งเอานัยอันลึกซึ้งหรือนัยประยุกต์ของ
   ศัพท์ ตามที่เข้าใจว่าเป็นพุทธประสงค์ (หรือเจตนารมณ์ของ
   หลักธรรม) เฉพาะส่วนที่เป็นปัจจุบัน วิธีอธิบายนัยนี้ยืนยันตัว
   เองโดยอ้างพุทธพจน์ในพระสูตรได้หลายแห่ง เช่นใน เจตนาสูตร 
   ทุกขนิโรธสูตร  และโลกนิโรธสูตร  เป็นต้น

      ในพระอภิธรรม มีบาลีแสดงกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาททั้งหมด ที่เกิดครบถ้วนในขณะจิตเดียวไว้ด้วย จัดเป็นตอนหนึ่งในคัมภีร์ทีเดียว

 ในการอธิบายแบบที่ ๑ บางครั้งมีผู้พยายามตีความหมายหลักปฏิจจ-สมุปบาทให้เป็นทฤษฎีแสดงต้นกำเนิดของโลก โดยถือเอาอวิชชาเป็นมูลการณ์ (the First Cause)  แล้วจึงวิวัฒนาการต่อมาตามลำดับหัวข้อทั้ง ๑๒ นั้น การแปลความหมายอย่างนี้ ทำให้เห็นไปว่าคำสอนในพระพุทธศาสนามีส่วนคล้ายคลึงกับศาสนาและระบบปรัชญาอื่นๆ ที่สอนว่ามีตัวการอันเป็นต้นเดิมสุด เช่น พระผู้สร้าง เป็นต้น ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของสัตว์และสิ่งทั้งปวง ต่างกันเพียงว่า ลัทธิที่มีพระผู้สร้าง แสดงกำเนิดและความเป็นไปของโลกในรูปของการบันดาลโดยอำนาจเหนือธรรมชาติ ส่วนคำสอนในพระพุทธศาสนา (ที่ตีความหมายอย่างนี้) แสดงความเป็นไปในรูปวิวัฒนาการตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยในธรรมชาติเอง

 อย่างไรก็ดี การตีความหมายแบบนี้ย่อมถูกตัดสินได้แน่นอนว่า ผิดพลาดจากพุทธธรรม เพราะคำสอนหรือหลักลัทธิใดก็ตามที่แสดงว่า โลกมีมูลการณ์ (คือเกิดจากตัวการที่เป็นต้นเค้าเดิมที่สุด) ย่อมเป็นอันขัดต่อหลัก อิทัปปัจจยตา หรือหลักปฏิจจสมุปบาทนี้ หลักปฏิจจสมุปบาทแสดงเหตุผลเป็นกลางๆ ว่า สิ่งทั้งหลายเป็นปัจจัยเนื่องอาศัยกัน เกิดสืบต่อกันมาตาม กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยอย่างไม่มีที่สิ้นสุด มูลการณ์เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะในรูปพระผู้สร้างหรือสิ่งใดๆ

 ด้วยเหตุนี้ การแปลความหมายหลักปฏิจจสมุปบาทให้เป็นคำอธิบายวิวัฒนาการของโลกและชีวิต จึงเป็นที่ยอมรับได้เฉพาะในกรณีที่เป็นการอธิบายให้เห็นความคลี่คลายขยายตัวแห่งกระบวนการธรรมชาติในทางที่เจริญขึ้น และทรุดโทรมเสื่อมสลายลงตามเหตุปัจจัย หมุนเวียนกันเรื่อยไป ไม่มีเบื้องต้น ไม่มีเบื้องปลาย

 เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับประกอบการพิจารณาว่า การแปลความหมายอย่างใดถูกต้อง ควรยอมรับหรือไม่ ก็คือ พุทธประสงค์ในการแสดงพุทธธรรม ซึ่งต้องถือว่าเป็นความมุ่งหมายของการทรงแสดงหลัก ปฏิจจสมุปบาทด้วย

 ในการแสดงพุทธธรรมนั้น พระพุทธเจ้าทรงมุ่งหมายและสั่งสอนเฉพาะสิ่งที่จะนำมาใช้ปฏิบัติให้เป็นประโยชน์ในชีวิตจริงได้ เกี่ยวข้องกับชีวิต การแก้ไขปัญหาชีวิต และการลงมือทำจริงๆ ไม่ทรงสนับสนุนการพยายามเข้าถึงสัจธรรมด้วยวิธีครุ่นคิดและถกเถียงหาเหตุผลเกี่ยวกับปัญหาทางอภิปรัชญา ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ การกำหนดความเป็นพุทธธรรม จึงต้องอาศัยการพิจารณาคุณค่าทางจริยธรรมประกอบด้วย

 ในกรณีการแปลความหมายแบบวิวัฒนาการชนิดหมุนเวียนไม่มีต้นปลายนั้น แม้จะพึงยอมรับได้ ก็ยังจัดว่ามีคุณค่าทางจริยธรรม (คือคุณค่าในทางปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ชีวิตจริง)น้อย คือ ได้เพียงโลกทัศน์หรือชีวทัศน์อย่างกว้างๆ ว่า ความเป็นไปของโลกและชีวิตดำเนินไปตามกระแสแห่งเหตุผล ขึ้นต่อเหตุปัจจัยในกระบวนการของธรรมชาติเอง ไม่มีผู้สร้างผู้บันดาล และไม่เป็นไปลอยๆ โดยบังเอิญ

 ในความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักพุทธธรรม คุณค่าทางจริยธรรมอย่างสำคัญที่จะเกิดขึ้น คือ
๑. ความเชื่อหรือความรู้ตระหนักว่า ผลที่ต้องการ ไม่อาจให้สำเร็จด้วยความหวังความปรารถนา การอ้อนวอนต่อพระผู้สร้าง หรืออำนาจเหนือธรรมชาติใดๆ หรือด้วยการรอคอยโชคชะตาความบังเอิญ แต่ต้องสำเร็จด้วยการลงมือกระทำ คือ บุคคลจะต้องพึ่งตนด้วยการทำเหตุปัจจัยที่จะให้ผลสำเร็จที่ต้องการนั้นเกิดขึ้น
 ๒. การกระทำเหตุปัจจัยเพื่อให้ได้ผลที่ต้องการ จะเป็นไปได้ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในกระบวนการของธรรมชาตินั้นอย่างถูกต้อง ปัญญาจึงเป็นคุณธรรมสำคัญ คือ ต้องเกี่ยวข้องและจัดการกับสิ่งทั้งหลายด้วยปัญญา 
 ๓. การรู้เข้าใจในกระบวนการของธรรมชาติ ว่าเป็นไปตามกระแสแห่งเหตุปัจจัย ย่อมช่วยลดหรือทำลายความหลงผิดที่เป็นเหตุให้เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายว่าเป็นตัวตนของตนลงได้ ทำให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้องเป็นประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ โดยไม่กลับตกไปเป็นทาสของสิ่งที่เข้าไปเกี่ยวข้องนั้นเสีย ยังคงเป็นอิสระอยู่ได้

 โลกทัศน์และชีวทัศน์ที่กล่าวนี้ แม้จะถูกต้องและมีคุณค่าตรงตามความมุ่งหมายของพุทธธรรมทุกประการ ก็ยังนับว่าหยาบ ไม่หนักแน่น และกระชั้นชิดพอที่จะให้เกิดคุณค่าทั้ง ๓ ประการนั้น (โดยเฉพาะประการที่ ๓) อย่างครบถ้วนและแน่นอน

 เพื่อให้การแปลความหมายแบบนี้มีคุณค่าสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จะต้องพิจารณากระบวนการหมุนเวียนของธรรมชาติ ให้ชัดเจนถึงส่วนรายละเอียดยิ่งกว่านี้ คือจะต้องเข้าใจรู้เท่าทันสภาวะของกระบวนการนี้ ไม่ว่า ณ จุดใดก็ตามที่ปรากฏตัวให้พิจารณาเฉพาะหน้าในขณะนั้นๆ และมองเห็นกระแสความสืบต่อเนื่องอาศัยกันแห่งเหตุปัจจัยทั้งหลาย แม้ในช่วงสั้นๆ เช่นนั้นทุกช่วง เมื่อมองเห็นสภาวะแห่งสิ่งทั้งหลายต่อหน้าทุกขณะโดยชัดแจ้งเช่นนี้ คุณค่า ๓ ประการนั้นจึงจะเกิดขึ้นอย่างครบถ้วนแน่นอน และย่อมเป็นการครอบคลุมความหมายแบบวิวัฒนาการช่วงยาวเข้าไว้ในตัวไปด้วยพร้อมกัน

 ในการแปลความหมายแบบที่ ๑   ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นความหมายอย่างหยาบหรืออย่างละเอียดก็ตาม จะเห็นว่า การพิจารณาเพ่งไปที่โลกภายนอก คือเป็นการมองออกไปข้างนอก ส่วนการแปลความหมายแบบที่ ๒ เน้นหนักทางด้านชีวิตภายใน สิ่งที่พิจารณาได้แก่กระบวนการสืบต่อแห่งชีวิตและความทุกข์ของบุคคล เป็นการมองเข้าไปข้างใน

 การแปลความหมายแบบที่ ๒  นัยที่ ๑  เป็นแบบที่ยอมรับและนำไปอธิบายกันมากในคัมภีร์รุ่นอรรถกถาทั้งหลาย  มีรายละเอียดพิสดาร และมีคำบัญญัติต่างๆ เพิ่มอีกมากมาย เพื่อแสดงกระบวนการให้เห็นเป็นระบบที่มีขั้นตอนแบบแผนชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ในเวลาเดียวกัน ก็อาจทำให้เกิดความรู้สึกตายตัวจนกลายเป็นยึดถือแบบแผน ติดระบบขึ้นได้ พร้อมกับที่กลายเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อนสำหรับผู้เริ่มศึกษา ในที่นี้จึงจะได้แยกไปอธิบายไว้ต่างหากอีกตอนหนึ่ง ส่วนความหมายตามนัยที่ ๒  ก็มีลักษณะสัมพันธ์กับนัยที่ ๑ ด้วย จึงจะนำไปอธิบายไว้ในลำดับต่อกัน

ฐิตา:


               

๔. ความหมายโดยสรุป เพื่อความเข้าใจเบื้องต้น
 เพื่อความเข้าใจอย่างง่ายๆ กว้างๆ ในเบื้องต้น เห็นว่าควรแสดงความหมายของปฏิจจสมุปบาทไว้โดยสรุปครั้งหนึ่งก่อน
ความหมายของ “ทุกข์”
 คำสรุปของปฏิจจสมุปบาท แสดงให้เห็นว่า หลักปฏิจจสมุปบาททั้งหมด เป็นกระบวนการเกิด-ดับของทุกข์ หรือหลักปฏิจจสมุปบาททั้งหมด มีความมุ่งหมายเพื่อแสดงความเกิด-ดับของทุกข์

 คำว่า “ทุกข์” มีความสำคัญและมีบทบาทมากในพุทธธรรม แม้ในหลักธรรมสำคัญอื่นๆ เช่น ไตรลักษณ์ และอริยสัจ ก็มีคำว่าทุกข์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ จึงควรทำความเข้าใจในคำว่าทุกข์กันให้ชัดเจนก่อน

 ในตอนต้น เมื่อพูดถึงไตรลักษณ์ ได้แสดงความหมายของทุกข์ไว้สั้นๆ ครั้งหนึ่งแล้ว แต่ในที่นี้ ควรอธิบายเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง
 เมื่อทำความเข้าใจคำว่าทุกข์ในพุทธธรรม ให้สลัดความเข้าใจแคบๆ ในภาษาไทยทิ้งเสียก่อน และพิจารณาใหม่ตามความหมายกว้างๆ ของพุทธพจน์ที่แบ่ง ทุกขตา เป็น ๓ อย่าง  พร้อมด้วยคำอธิบายในอรรถกถา  ดังนี้

๑. ทุกขทุกขตา ทุกข์ที่เป็นความรู้สึกทุกข์ คือ ความทุกข์กายทุกข์ใจ
  อย่างที่เข้าใจกันโดยสามัญ ตรงตามชื่อ ตามสภาพ ที่เรียกกันว่า
  ทุกขเวทนา (ความทุกข์อย่างปกติ ที่เกิดขึ้น เมื่อประสบ
  อนิฏฐารมณ์ หรือสิ่งกระทบกระทั่งบีบคั้น)

 ๒. วิปริณามทุกขตา ทุกข์เนื่องด้วยความผันแปร หรือทุกข์ที่เนื่องใน
  ความผันแปรของสุข คือความสุขที่กลายเป็นความทุกข์ หรือทำ
  ให้เกิดทุกข์ เพราะความแปรปรวนกลับกลายของมันเอง (ภาวะที่
  ตามปกติ ก็สบายดีเฉยอยู่ ไม่รู้สึกทุกข์อย่างใดเลย แต่ครั้นได้
  เสวยความสุขบางอย่าง พอสุขนั้นจางลงหรือหายไป ภาวะเดิมที่
  เคยรู้สึกสบายเป็นปกตินั้น กลับกลายเป็นทุกข์ไป เสมือนเป็น
  ทุกข์แฝง ซึ่งจะแสดงตัวออกมาในทันทีที่ความสุขนั้นจืดจางหรือ
  เลือนลางไป ยิ่งสุขมากขึ้นเท่าใด ก็กลับกลายเป็นทุกข์รุนแรง
  มากขึ้นเท่านั้น เสมือนว่าทุกข์ที่แฝงขยายตัวตามขึ้นไป ถ้าความ
  สุขนั้นไม่เกิดขึ้น ทุกข์เพราะสุขนั้นก็ไม่มี แม้เมื่อยังเสวยความสุข
  อยู่ พอนึกว่าสุขนั้นอาจจะต้องสิ้นสุดไป ก็ทุกข์ด้วยหวาดกังวลใจ
  หายไหวหวั่น)

๓. สังขารทุกขตา ทุกข์ตามสภาพสังขาร คือ สภาวะของตัวสังขาร
  เอง หรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดจากเหตุปัจจัย ได้แก่ ขันธ์ ๕
  (รวมถึง มรรค ผล ซึ่งเป็นโลกุตตรธรรม) เป็นทุกข์ คือ เป็น
  สภาพที่ถูกบีบคั้นด้วยปัจจัยที่ขัดแย้ง มีการเกิดขึ้น และการ
  สลายหรือดับไป ไม่มีความสมบูรณ์ในตัวของมันเอง อยู่ในกระแส
  แห่งเหตุปัจจัย จึงเป็นสภาพซึ่งพร้อมที่จะก่อให้เกิดทุกข์ (ความรู้
  สึกทุกข์หรือทุกขเวทนา) แก่ผู้ไม่รู้เท่าทันต่อสภาพและกระแส
  ของมัน แล้วเข้าไปฝืนกระแสอย่างทื่อๆ ด้วยความอยากความยึด
  (ตัณหาอุปาทาน) อย่างโง่ๆ (อวิชชา) ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องและ  ปฏิบัติต่อมันด้วยปัญญา


 ทุกข์ข้อสำคัญคือข้อที่ ๓ แสดงถึงสภาพของสังขารทั้งหลายตามที่มันเป็นของมันเอง  แต่สภาพนี้จะก่อให้เกิดความหมายเป็นภาวะในทางจิตวิทยาขึ้นก็ได้ ในแง่ที่ว่า มันไม่อาจให้ความพึงพอใจโดยสมบูรณ์๒ และสามารถก่อให้เกิดทุกข์ได้เสมอ แก่ผู้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยอวิชชาตัณหาอุปาทาน

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version