คลังธรรมปัญญา > หนังสือธรรมะ

พุทธธรรม หรือ กฎธรรมชาติและคุณค่าสำหรับชีวิต (ป. อ. ปยุตฺโต)

<< < (8/8)

ฐิตา:



หลักธรรมที่สืบเนื่องจากปฏิจจสมุปบาท
 ความจริง หลักธรรมต่างๆ ไม่ว่าจะมีชื่อใดๆ ล้วนสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งสิ้น เพราะแสดงถึงหรือสืบเนื่องมาจากหลักสัจธรรมเดียวกัน และเป็นไปเพื่อจุดหมายเดียวกัน แต่นำมาแสดงในชื่อต่างๆ กัน โดยชี้ความจริงเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งคนละส่วนกันบ้าง เป็นความจริงอันเดียวกัน แต่แสดงคนละรูปละแนว เพื่อวัตถุประสงค์คนละอย่างบ้าง

 ด้วยเหตุนี้ หลักธรรมบางข้อจึงเป็นเพียงส่วนย่อยของหลักใหญ่ บางข้อเป็นหลักใหญ่ด้วยกัน ครอบคลุมความหมายของกันและกัน แต่มีแนวหรือรูปแบบการแสดงและความมุ่งหมายจำเพาะในการแสดงต่างกัน

 ปฏิจจสมุปบาทนั้น ถือว่าเป็นหลักใหญ่ที่ครอบคลุมธรรมได้ทั้งหมด เมื่ออธิบายปฏิจจสมุปบาทแล้ว เห็นว่าควรกล่าวถึงหลักธรรมสำคัญชื่ออื่นๆ อันเป็นที่รู้จักทั่วไปไว้ด้วย เพื่อให้เห็นว่าสัมพันธ์กันอย่างไร และเพื่อเสริมความเข้าใจทั้งในหลักธรรมเหล่านั้น และในปฏิจจสมุปบาทเองด้วย

 หลักธรรมที่ควรกล่าวไว้ในที่นี้ มี ๒ อย่าง คือ กรรม และอริยสัจ ๔
๑. กรรม
ก. ตัวกฎ หรือตัวสภาวะ (กรรม)
ข. คุณค่าทางจริยธรรม

ก. ตัวกฎ หรือตัวสภาวะ (กรรม)
 กรรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งในกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเห็นได้ชัดเมื่อแยกส่วนในกระบวนการนั้นออกเป็น วัฏฏะ ๓ คือ กิเลส กรรม และวิบาก หลักปฏิจจสมุปบาทแสดงถึงกระบวนการทำกรรมและการให้ผลของกรรมทั้งหมด ตั้งต้นแต่กิเลสที่เป็นเหตุให้ทำกรรม จนถึงวิบากอันเป็นผลที่จะได้รับ เมื่อเข้าใจปฏิจจสมุปบาทดีแล้ว ก็เป็นอันเข้าใจหลักกรรมชัดเจนไปด้วย ดังนั้น ว่าโดยตัวกฎหรือสภาวะ จึงไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องชี้แจงเรื่องกรรมไว้ต่างหาก ณ ที่นี้อีก

 อย่างไรก็ดี มีจุดหรือแง่สำคัญบางประการที่ควรย้ำไว้ เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดที่ร้ายแรงในเรื่องกรรม ดังต่อไปนี้ :-
๑) กรรมในแง่กฎแห่งสภาวธรรม กับกรรมในแง่จริยธรรม
๒) ลัทธิหรือความเห็นผิด ที่ต้องแยกจากหลักกรรม
๓) แง่ละเอียดอ่อนที่ต้องเข้าใจ เกี่ยวกับการให้ผลของกรรมมีพุทธพจน์ว่า
๔) วิธีปฏิบัติต่อกรรม
๕) ทำกรรมเก่าให้เกิดประโยชน์
๖) อยู่เพื่อพัฒนากรรม ไม่ใช่อยู่เพื่อใช้กรรม
๗) กรรมระดับบุคคล-กรรมระดับสังคม

ฐิตา:



๑) กรรมในแง่กฎแห่งสภาวธรรม กับกรรมในแง่จริยธรรม
 ตามหลักพุทธพจน์ว่า
 “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย บุคคลจึงปรุงแต่งกายสังขาร ...วจีสังขาร...มโนสังขาร  ขึ้นเองบ้าง... เนื่องจากตัวการอื่นบ้าง... โดยรู้ตัวบ้าง... ไม่รู้ตัวบ้าง”

 และพุทธพจน์ซึ่งปฏิเสธทฤษฎีที่ว่า สุขทุกข์ตนทำเอง ของพวกอัตต-การวาท และทฤษฎีว่า สุขทุกข์ตัวการอื่นทำ ของพวกปรการวาท
 หลักตามพุทธพจน์นี้ เป็นการย้ำให้มองเห็นกรรมในฐานะกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ตนเองก็ดี ผู้อื่นก็ดี จะมีส่วนเกี่ยวข้องแค่ไหนเพียงใด ย่อมต้องพิจารณาความเป็นเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องและเป็นไปในกระบวนการ มิใช่พูดขาดลงไปง่ายๆ ในทันที

 ที่กล่าวมานี้ เป็นการป้องกันความเข้าใจผิดสุดโต่ง ที่มักเกิดขึ้นในเรื่องกรรมว่า อะไรๆ เป็นเพราะตนเองทำทั้งสิ้น ทำให้ไม่คำนึงถึงองค์ประกอบและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยเกี่ยวข้อง

 อย่างไรก็ดี ต้องแยกความเข้าใจอีกชั้นหนึ่ง ระหว่างหลักธรรมในแง่ตัวกฎหรือสภาวะ กับในแง่ของจริยธรรม
 ที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นการแสดงในแง่ตัวกฎหรือตัวสภาวะ ซึ่งเป็นเรื่องของกระบวนการตามธรรมชาติที่ครอบคลุมเหตุปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งหมด

 แต่ในแง่ของจริยธรรม อันเป็นคำสอนให้ปฏิบัติ ผู้ที่ถูกต้องการให้ปฏิบัติ ก็คือผู้ที่ถูกสอน ในกรณีนี้ คำสอนจึงมุ่งไปที่ตัวผู้รับคำสอน เมื่อพูดในแง่นี้ คือเจาะจงเอาเฉพาะตัวบุคคลนั้นเองเป็นหลัก ย่อมกล่าวได้ทีเดียวว่า เขาต้องเป็นผู้รับผิดชอบอย่างเต็มที่ ในการกระทำต่างๆ ที่เขาคิดหมายกระทำลงไป และที่จะให้ผลเกิดขึ้นตามที่มุ่งหมาย เช่น พุทธพจน์ว่า “ตนเป็นที่พึ่งของตน” นี้ เป็นการเพ่งความรับผิดชอบของบุคคล โดยมองจากตัวเองออกไป

 ในกรณีนี้ นอกจากจะมีความหมายว่าต้องช่วยเหลือตัวเอง ลงมือทำเองแล้ว ในแง่ที่สัมพันธ์กับการกระทำของผู้อื่น ยังหมายกว้างไปถึงการที่ความช่วยเหลือจากผู้อื่นจะเกิดขึ้น จะคงมีอยู่ และจะสำเร็จผล ต้องอาศัยการพึ่งตนของบุคคลนั้นเอง ในการที่จะชักจูง เร้าให้เกิดการกระทำจากผู้อื่น ในการที่จะรักษาการกระทำของผู้อื่นนั้นให้คงอยู่ต่อไป และในการที่จะยอมรับหรือสนองต่อการกระทำของผู้อื่นนั้นหรือไม่เพียงใดด้วย ดังนี้เป็นต้น

 โดยเหตุนี้ หลักกรรมในแง่ตัวสภาวะก็ดี ในแง่ของจริยธรรมก็ดี จึงไม่ขัดแย้งกัน แต่สนับสนุนซึ่งกันและกัน แต่ต้องทำความเข้าใจให้ถูก

มีต่อค่ะ

ฐิตา:



๒) ลัทธิหรือความเห็นผิด ที่ต้องแยกจากหลักกรรม
 มีลัทธิมิจฉาทิฏฐิ เกี่ยวกับสุขทุกข์และความเป็นไปในชีวิตของมนุษย์อยู่ ๓ ลัทธิ ซึ่งต้องระวังไม่ให้เข้าใจสับสนกับหลักกรรม คือ :-

 ๑. ปุพเพกตเหตุวาท การถือว่าสุขทุกข์ทั้งปวงเป็นเพราะกรรมเก่า
  (past-action determinism) เรียกสั้นๆ ว่า ปุพเพกตวาท
 ๒. อิสสรนิมมานเหตุวาท การถือว่าสุขทุกข์ทั้งปวงเป็นเพราะการ
  บันดาลของเทพผู้เป็นใหญ่ (theistic determinism) เรียกสั้นๆ
  ว่า อิศวรกรณวาท หรือ อิศวรนิรมิตวาท
 ๓. อเหตุอปัจจยวาท การถือว่าสุขทุกข์ทั้งปวง เป็นไปสุดแต่โชค
  ชะตาลอยๆ ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย (indeterminism หรือ
  accidentalism) เรียกสั้นๆ ว่า อเหตุวาท

 ทั้งนี้ตามพุทธพจน์ว่า
 ภิกษุทั้งหลาย ลัทธิเดียรถีย์ ๓ ลัทธิเหล่านี้ ถูกบัณฑิตไต่ถาม ซักไซ้ไล่เลียงเข้า ย่อมอ้างการถือสืบๆ กันมา ดำรงอยู่ในอกิริยา (การไม่กระทำ) คือ
 ๑. สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า  สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นเพราะกรรมที่กระทำไว้ในปางก่อน (ปุพฺเพกตเหตุ)
 ๒. สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า  สุขก็ดี ทุกข์ ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นเพราะการบันดาลของพระผู้เป็นเจ้า (อิสฺสรนิมฺมานเหตุ)
 ๓. สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า  สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดนั้น ล้วนหาเหตุหาปัจจัยมิได้ (อเหตุอปจฺจย)

 ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์ ๓ พวกนั้น เราเข้าไปหา (พวกที่ ๑) แล้วถามว่า ‘ทราบว่า ท่านทั้งหลายมีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ จริงหรือ?’ ถ้าสมณพราหมณ์เหล่านั้น ถูกเราถามอย่างนี้แล้ว รับว่าจริง เราก็กล่าวกะเขาว่า ‘ถ้าเช่นนั้น ท่านก็จักต้องเป็นผู้ทำปาณาติบาตเพราะกรรมที่ทำไว้ปางก่อนเป็นเหตุ จะต้องเป็นผู้ทำอทินนาทานเพราะกรรมที่ทำไว้ปางก่อนเป็นเหตุ จะต้องเป็นผู้ประพฤติอพรหมจรรย์...เป็นผู้กล่าวมุสาวาท... ฯลฯ  เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ  เพราะกรรมที่ทำไว้ปางก่อน    เป็นเหตุน่ะสิ’
 ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อบุคคลมายึดเอากรรมที่ทำไว้ในปางก่อนเป็นสาระ ฉันทะก็ดี ความพยายามก็ดี ว่า ‘สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ’ ก็ย่อมไม่มี เมื่อไม่กำหนดถือเอาสิ่งที่ควรทำและสิ่งที่ไม่ควรทำ โดยจริงจังมั่นคงดังนี้ สมณพราหมณ์พวกนี้ ก็เท่ากับอยู่อย่างหลงสติ ไร้เครื่องรักษา จะมีสมณวาทะที่ชอบธรรมเฉพาะตนไม่ได้ นี้แล เป็นนิคหะอันชอบธรรมอย่างแรกของเรา  ต่อสมณพราหมณ์ผู้มีวาทะ  มีทิฏฐิอย่างนี้

 ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์ ๓ พวกนั้น เราเข้าไปหา (พวกที่ ๒) กล่าวกะเขาว่า ‘ท่านจักเป็นผู้ทำปาณาติบาต ก็เพราะการบันดาลของพระผู้เป็นเจ้าเป็นเหตุ จักเป็นผู้ทำอทินนาทาน.. ประพฤติ อพรหมจรรย์... .กล่าวมุสาวาท...ฯลฯ เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ ก็เพราะการบันดาลของพระผู้เป็นเจ้าเป็นเหตุน่ะสิ’

 ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อบุคคลมายึดเอาการบันดาลของพระผู้เป็นเจ้า เป็นสาระ ฉันทะก็ดี ความพยายามก็ดี ว่า ‘สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ’ ก็ย่อมไม่มี ฯลฯ

 ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์ ๓ พวกนั้น เราเข้าไปหา (พวกที่ ๓) .กล่าวกะเขาว่า ‘ท่านก็จักเป็นผู้ทำปาณาติบาต โดยไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย จักเป็นผู้ทำอทินนาทาน... ประพฤติอพรหมจรรย์...กล่าวมุสาวาท...ฯลฯ เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ โดยไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยน่ะสิ’

 ภิกษุทั้งหลาย  ก็เมื่อบุคคลมายึดเอาความไม่มีเหตุเป็นสาระ  ฉันทะก็ดี ความพยายามก็ดี ว่า ‘สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ’ ก็ย่อมไม่มี ฯลฯ

 โดยเฉพาะลัทธิที่ ๑ คือ ปุพเพกตเหตุวาท นั้น เป็นลัทธิของนิครนถ์ ดังพุทธพจน์ว่า
 ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดที่บุคคลได้เสวย ทั้งหมดนั้น เป็นเพราะกรรมที่ตัวทำไว้ในปางก่อน โดยนัยดังนี้ เพราะกรรมเก่าหมดสิ้นไปด้วยตบะ ไม่ทำกรรมใหม่ ก็จะไม่ถูกบังคับต่อไป เพราะไม่ถูกบังคับต่อไป ก็สิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรม ก็สิ้นทุกข์ เพราะสิ้นทุกข์ ก็สิ้นเวทนา เพราะสิ้นเวทนา ก็จักเป็นอันสลัดทุกข์ได้หมดสิ้น ภิกษุทั้งหลาย พวกนิครนถ์มีวาทะอย่างนี้’

 นอกจากนี้ พุทธพจน์ที่เคยยกมาอ้างข้างต้น ซึ่งย้ำความอันเดียวกัน ก็มีว่า
  ดูกรสิวกะ เวทนาบางอย่างเกิดขึ้น มีดีเป็นสมุฏฐานก็มี ฯลฯ เกิด
 จากความแปรปรวนแห่งอุตุก็มี...เกิดจากการบริหารตนไม่สม่ำเสมอก็มี...
 เกิดจากถูกทำร้ายก็มี...เกิดจากผลกรรมก็มี  ฯลฯ  สมณพราหมณ์
 เหล่าใด มีวาทะ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ‘บุคคลได้เสวยเวทนาอย่างใด
 อย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี เวทนานั้นเป็นเพราะ
 กรรมที่ทำไว้ปางก่อน’ ฯลฯ เรากล่าวว่า เป็นความผิดของสมณพราหมณ์เหล่านั้นเอง
 
 พุทธพจน์เหล่านี้ ป้องกันความเห็นที่แล่นไปไกลเกินไป จนมองเห็นความหมายของกรรมแต่ในแง่กรรมเก่า กลายเป็นคนนั่งนอนรอคอยผลกรรมเก่า สุดแต่จะบันดาลให้เป็นไป ไม่คิดแก้ไขปรับปรุงตนเอง กลายเป็นความเห็นผิดอย่างร้ายแรง ตามนัยพุทธพจน์ที่กล่าวมาแล้ว

 นอกจากนั้น จะเห็นได้ชัดด้วยว่า ในพุทธพจน์นี้ พระพุทธเจ้าทรงถือความเพียรพยายามเป็นเกณฑ์ตัดสินคุณค่าทางจริยธรรมของหลักกรรมและคำสอนเหล่านี้ทั้งหมด

 พุทธพจน์เหล่านี้ มิได้ปฏิเสธกรรมเก่า เพราะกรรมเก่าก็ย่อมมีส่วนอยู่ในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย และย่อมมีผลต่อปัจจุบัน สมกับชื่อที่ว่าเป็นเหตุปัจจัยด้วยเหมือนกัน แต่มันก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยอยู่นั่นเอง ไม่ใช่อำนาจนอกเหนือธรรมชาติอะไรที่จะไปยึดไปหมายมั่นฝากโชคชะตาไว้ ผู้เข้าใจ ปฏิจจสมุปบาท รู้กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยดีแล้ว ย่อมไม่มีปัญหาในเรื่องนี้
 เหมือนกับการที่ใครคนหนึ่งเดินขึ้นตึก ๓ ชั้น ถึงชั้นที่สามแล้ว ก็แน่นอนว่า การขึ้นมาถึงของเขาต้องอาศัยการกระทำคือการเดินที่ผ่านมาแล้วนั้น จะปฏิเสธมิได้ และเมื่อขึ้นมาถึงที่นั่นแล้ว การที่เขาจะเหยียดมือไปแตะพื้นดินข้างล่างตึก หรือจะนั่งรถเก๋งวิ่งไปมาบนตึกชั้นสามเล็กๆ เหมือนอย่างบนถนนหลวง ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ และข้อนี้ก็เป็นเพราะการที่เขาขึ้นมาบนตึกเหมือนกัน ปฏิเสธมิได้ หรือเมื่อเขาขึ้นมาแล้ว จะเมื่อยหมดแรง เดินต่อขึ้นหรือลงไม่ไหว นั่นก็ต้องเกี่ยวกับการที่ได้เดินขึ้นมาแล้วด้วยเหมือนกัน ปฏิเสธไม่ได้

 การมาถึงที่นั่นก็ดี ทำอะไรได้ในวิสัยของที่นั่นก็ดี การที่อาจจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับอะไรต่ออะไรในที่นั้นอีก ในฐานะที่ขึ้นมาอยู่กับคนอื่นๆ ท่ามกลางสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ ณ ที่นั้นด้วยก็ดี ย่อมสืบเนื่องมาจากการที่ได้เดินมาด้วยนั้นแน่นอน แต่การที่เขาจะทำอะไรบ้าง ทำสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้องที่นั่นแค่ไหน เพียงไร ตลอดจนว่าจะพักเสียก่อนแล้วเดินต่อ หรือเดินกลับลงเสียจากตึกนั้น ย่อมเป็นเรื่องที่เขาจะคิดตกลงทำเอาใหม่ ทำได้ และได้ผลตามเรื่องที่ทำนั้นๆ แม้ว่าการเดินมาเดิมยังอาจมีส่วนให้ผลต่อเขาอยู่ เช่น แรงเขาอาจจะน้อยไป ทำอะไรใหม่ได้ไม่เต็มที่ เพราะเมื่อยเสียแล้ว ดังนี้เป็นต้น ถึงอย่างนี้ ก็เป็นเรื่องของเขาอีก ที่ว่าจะคิดยอมแพ้แก่ความเมื่อยหรือว่าจะคิดแก้ไขอย่างไร ทั้งหมดนี้ ก็เป็นเรื่องของกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยทั้งนั้น ดังนั้น จึงควรเข้าใจเรื่องกรรมเก่าเพียงเท่าที่มันเป็นตามกระบวนการของมัน

 ในทางจริยธรรม ผู้เข้าใจปฏิจจสมุปบาท ย่อมถือเอาประโยชน์จากกรรมเก่าได้ในแง่ เป็นบทเรียน เป็นความหนักแน่นในเหตุผล เป็นความเข้าใจตนเองและสถานการณ์ เป็นความรู้พื้นฐานปัจจุบันของตน เพื่อประกอบการวางแผนทำกรรมปัจจุบัน และหาทางแก้ไขปรับปรุงต่อไป

มีต่อค่ะ
:http://portal.in.th/i-dhamma/pages/8149/

กฎแห่งกรรม  http://www.electron.rmutphysics.com/news/index.php?option=com_content&task=view&id=246&Itemid=5&limit=1&limitstart=151

ฐิตา:

เสียงอ่าน พุทธธรรม บทนี้มี ๘ ตอน
พุทธธรรม
ภาค ๑ มัชเฌนธรรมเทศนา
หลักความจริงที่เป็นกลางตามธรรมชาติ
หรือ ธรรมที่เป็นกลาง

ตอนที่ ๓ ชีวิตเป็นไปอย่างไร
บทที่ ๕ กรรม  ในฐานะที่เนื่องอยู่ในปฏิจจสมุปบาท

- ความนำ
- กฏแห่งกรรม
- ความหมายและประเภทของกรรม

- ปัญหาเกี่ยวกับความดี - ความชั่ว
   ก. ความหมายของกุศลและอกุศล
   ข. ข้อควรทราบพิเศษเกี่ยวกับกุศลและอกุศล
     ๑) กุศลและอกุศลเป็นปัจจัยแก่กันได้
     ๒) บุญและบาป กับ กุศลและอกุศล
   ค. เกณฑ์วินิจฉัยกรรมดี-กรรมชั่ว

- ผลกรรมในช่วงกว้างไกล
- ข้อควรทราบพิเศษเพื่อป้องกันความเข้าใจผิด
   ๑) สุขทุกข์ ใครทำให้
   ๒) เชื่ออย่างไรผิดหลักกรรม ?
   ๓) กรรมชำระล้างได้อย่างไร ?
   ๔) กรรมกับอนัตตา ขัดกันหรือไม่ ?

- คุณค่าทางจริยธรรม
- บันทึกพิเศษท้ายบท
 
เสียงอ่านบทนี้มี ๘ ตอน
Download 1  หน้า 151-162
Download 2  หน้า 162-171
Download 3  หน้า 171-187
Download 4  หน้า 187-193
Download 5  หน้า 193-204
Download 6  หน้า 204-213
Download 7  หน้า 213-218
Download 8  หน้า 219-222

เพื่อฟังเสียงอ่านค่ะ : http://www.trisarana.org/talks/B/B-Voice_05.htm


พุทธธรรม
สารบัญเสียงอ่าน
ความนำ สิ่งที่ควรเข้าใจ
ภาคที่ ๑ มัชเฌนธรรมเทศนา

บทที่ ๑ ขันธ์ ๕ : ส่วนประกอบ ๕ อย่างของชีวิต
บทที่ ๒ อายตนะ ๖ : แดนรับรู้และเสพเสวยโลก
บทที่ ๓ ไตรลักษณ์ : ลักษณะโดยธรรมชาติ ๓ อย่างของสิ่งทั้งปวง
บทที่ ๔ ปฏิจจสมุปบาท : การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกัน ๆ จึงเกิดมี
บทที่ ๕ กรรม ในฐานะหลักธรรมที่เนื่องอยู่ในปฏิจจสมุปบาท
บทที่ ๖ วิชชา วิมุตติ วิสุทธิ สันติ นิพพาน : ประโยชน์สูงสุดที่ควรได้จากชีวิตนี้
บทที่ ๗ ประเภทและระดับแห่งนิพพานและผู้บรรลุนิพพาน
บทที่ ๘ ข้อควรทราบเพิ่มเติมเพื่อเสริมความเข้าใจ
บทที่ ๙ หลักการสำคัญของการบรรลุนิพพาน
บทที่ ๑๐ บทสรุปเรื่องเกี่ยวกับนิพพาน
บทที่ ๑๑ บทความประกอบที่ ๑ : ชีวิตและคุณธรรมพื้นฐานของอารยชน
บทที่ ๑๒ บทความประกอบที่ ๒ ศีลกับเจตนารมณ์ทางสังคม
บทที่ ๑๓ บทความประกอบที่ ๓ : อิทธิปาฏิหาริย์ และเทวดา
บทที่ ๑๔ บทความประกอบที่ ๔ : ปัญหาเกี่ยวกับแรงจูงใจ
บทที่ ๑๕ บทความประกอบที่ ๕ : ความสุข

ภาค ๒ มัชฌิมาปฏิปทา
บทที่ ๑๖ บทนำของมัชฌิมาปฏิปทา
บทที่ ๑๗ บุพภาคของการศึกษา : ปรโตโฆสะที่ดี
บทที่ ๑๘ บุพภาคของการศึกษา : โยนิโสมนสิการ
บทที่ ๑๙ องค์ประกอบของมัชฌิมาปฏิปทา ๑ : หมวดปัญญา
บทที่ ๒0 องค์ประกอบของมัชฌิมาปฏิปทา ๒ : หมวดศีล
บทที่ ๒๑ องค์ประกอบของมัชฌิมาปฏิปทา ๓ : หมวดสมาธิ
บทที่ ๒๒ อริยสัจ ๔ : บทสรุป

เพื่อฟังเสียงอ่านค่ะ : http://www.trisarana.org/talks/B/B-VMenu_00.htm

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version