ผู้เขียน หัวข้อ: "แบงก์เก๊" ระบาดไม่เลิก โปรดอย่าชะล่าใจแบงก์ 20!  (อ่าน 1208 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
"แบงก์เก๊" ระบาดไม่เลิก โปรดอย่าชะล่าใจแบงก์ 20!
-http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9560000010920-
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน    27 มกราคม 2556 19:08 น.





เปรียบเทียบระหว่างแบงก์ 20 จริงกับแบงก์ 20 ปลอม (ไม่มีลายน้ำพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างชัดเจนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง)


แบงก์ 500 ปลอม


ธนบัตรชนิดราคา ๒๐ บาท แบบ ๑๕


ธนบัตรชนิดราคา ๑๐๐ บาท แบบ ๑๕


ธนบัตรชนิดราคา ๕๐๐ บาท แบบ ๑๕


ธนบัตรชนิดราคา ๑๐๐๐ บาท แบบ ๑๕ (ไม่มีแถบฟอยล์)


ธนบัตรชนิดราคา ๑๐๐๐ บาท แบบ ๑๕ ปรับปรุง (มีแถบฟอยล์)

มีข่าวไปพักใหญ่แล้วกับกรณีข่าวปลอมแปลงธนบัตรที่ระบาดไปทั่วบ้านทั่วเมือง แต่ก็ใช่ว่าจะหายไปจากสังคมไทย เมื่อกระแสแบงก์ปลอมระลอกใหม่กำลังโถมกระหน่ำใส่พ่อค้าแม่ค้าในย่านตลาดสด คนขับแท็กซี่ หรือแม้แต่เด็กปั๊มที่ถูกต้มตุ๋นกันเป็นว่าเล่น ที่น่าตกใจไปกว่านั้น ธนบัตรราคาสูง ๆ เริ่มไม่ค่อยมีให้เห็น แต่กลับพบแบงก์ 500 แบงก์ 100 หรือแม้แต่แบงก์ 20 ปลอมออกมาแทนมากขึ้น
       
       "แบงก์เก๊" ระบาดไม่เลิก
       
       ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคม แต่มันมีมานานแล้ว หากนึกย้อนกลับไปในอดีต ธนบัตรที่นิยมปลอมแปลงกันมักจะเป็นธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท และมักจะทำขึ้นด้วยฝีมือของกลุ่มคนที่มีความชำนาญ และใช้เทคโนโลยีทันสมัยก้าวหน้ามาก แต่ในช่วงหลังๆ ธนบัตรราคาสูง ๆ อย่างแบงก์ 1,000 กลับไม่ค่อยระบาดเหมือนที่ผ่าน ๆ มา เพราะคนไทยมีวิธีสังเกตธนบัตรปลอมกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ก็ใช่ว่าจะหมดไป ปัจจุบันมีการปลอมแปลงได้เหมือนจริงมาก แถมยังทำออกมาอย่างมีคุณภาพ และยากที่จะตรวจตราแยกแยะได้อีกด้วย
       
       เห็นได้จาก กรณีแบงก์ปลอมที่ทำขึ้นมาจากแบงก์จริง โดยก่อนหน้านี้เคยมีผู้รู้ออกมาแฉจนกลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์อยู่พักใหญ่ ซึ่งเป็นการตัดต่อกันระหว่างแบงก์ 1,000 จริงๆ กับแบงก์ 20 ที่ถูกฟอกและพิมพ์ใหม่ให้เป็นแบงก์ 1,000 โดยจะเอาแค่แถบฟอยล์สีรุ้งของแบงก์ 1,000 มาเท่านั้น นอกนั้นเป็นแบงก์ 20 หมด
       
       อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ต้องใช้ความชำนาญที่สูงมาก ส่วนใหญ่แก๊งมิจฉาชีพจะทำขึ้นเองจากเครื่องพรินเตอร์ หรือวิธีถ่ายเอกสารสีมากกว่า
       
       แบงก์ใหญ่หลบไป แบงก์เล็กมาแล้ว
       
       ไม่ได้โหมกระแสให้ตื่นกลัว แต่เมื่อลงไปสอบถามพ่อค้าแม่ค้าตามย่านต่าง ๆ พบว่า แบงก์เล็ก ๆ อย่าง แบงก์ 500 แบงก์ 100 หรือแม้แต่แบงก์ 20 ถูกแก๊งมิจฉาชีพปลอมแปลง และตระเวนซื้อสินค้ากันมากขึ้น โดยเฉพาะในย่านตลาดสดตามต่างจังหวัด หรือสถานที่ที่คนซื้อขายกันพลุกพล่าน โดยส่วนใหญ่ผู้ตกเป็นเหยื่อจะเป็นพ่อค้าแม่ค้าที่ไม่ได้ตรวจสอบเงินที่รับมาให้ดีเสียก่อน
       
       ยกกรณีอุทธาหรณ์จากข่าวผู้ประกอบการร้านค้ารายหนึ่งในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ถูกกลุ่มมิจฉาชีพนำเงินธนบัตรแบงก์ 20 ปลอมมาหลอกซื้อสินค้าตามร้านค้า แต่ไม่ทันได้ตรวจสอบก่อน มาทราบอีกทีถึงรู้ว่าเป็นแบงก์ปลอม เนื่องจากมีตำหนิชัดเจน กระดาษ สีซีด อ่อนกว่าของจริง มีหมายเลขเดียวทุกฉบับ
       
       เช่นเดียวกับแม่ค้าขายไข่ในตลาดสดย่านอ.บางปลา จ.สมุทรปราการ เหยื่อแบงก์ปลอมอีกหนึ่งราย เล่าว่า วันหนึ่งหลังจากขายของเสร็จดันเผลอหยิบเงินขึ้นมานับขณะที่มือเปียก ปรากฎว่า แบงก์ยุ่ย และสีหลุดลอกออกมา จึงนำไปเปรียบเทียบกับแม่ค้าแผงข้าง ๆ จึงรู้ว่าเป็นแบงก์ปลอม เนื่องจากมีลักษณะเล็กกว่าธนบัตรจริง และสิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ไม่มีลายน้ำพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างชัดเจนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
       
       "มีเยอะ หายไปแล้วก็กลับมาอีก โดนกันเป็นแถบ ๆ เลย ส่วนใหญ่จะเป็นแบงก์ 20 และแบงก์ 100 ซึ่งปกติเวลารับเงินจะไม่ค่อยได้ดู เพราะลูกค้าเยอะด้วย ฝากให้รอบคอบกันด้วยค่ะ เพราะการจะไปติดตามผู้ที่ให้แบงก์ปลอมมาคงเป็นเรื่องยาก ทางที่ดีเช็กสักนิดก่อนจะตกเป็นเหยื่อ" แม่ค้ารายนี้ฝากผ่านทีมข่าว Live
       
       อย่างไรก็ดี จากการสืบทราบยังพบด้วยว่า แก๊งมิจฉาชีพมักจะใช้วิธีนำธนบัตรปลอมซื้อสิ่งของในช่วงเวลาเร่งด่วน หรือในช่วงที่คนพลุกพล่าน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่าง ๆ
       
       คนขับแท็กซี่ ผู้โดยสาร เด็กปั๊มก็ไม่รอด
       
       ไม่เพียงแต่พ่อค้าแม่ค้าทั้งในตลาดสด และร้านโชห่วยเท่านั้น ปัจจุบันยังมีข้อมูลพบด้วยว่า คนขับแท็กซี่ ผู้โดยสาร รวมไปถึงเด็กปั๊มก็ถูกต้มตุ๋นไปตาม ๆ กัน ซึ่งมีทั้งธนบัตรราคา 20, 50, 100 และ 1,000 บาท ส่วนใหญ่จะถูกแก๊งมิจฉาชีพนำมาแพร่ด้วยการจ่าย-ทอนโดยเน้นช่วงกลางคืนเพื่อตบตาเหยื่อ
       
       เรื่องนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เคยเปิดเผยถึงข้อมูลสถิติการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาแบงก์ปลอมที่กำลังแพร่ระบาดในกลุ่มผู้ขับขี่รถแท็กซี่ กับผู้ใช้บริการหรือผู้โดยสาร ระหว่างวันที่ 1 ส.ค. 52 - 31 ม.ค. 53 พบว่า มีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อได้รับธนบัตรปลอม หรือแบงก์ปลอม เป็นค่าโดยสารหรือเงินทอน โทรศัพท์เข้ามายังหมายเลข 1644 "โทร.ฟรี" 0-2562-0033-4 และ 0-2941-0847-50 ของทางสถานีจำนวนทั้งสิ้น 57 ราย แยกเป็นกลุ่มผู้ขับขี่รถแท็กซี่ที่โทรศัพท์เข้ามาร้องเรียนจำนวน 50 คน กลุ่มผู้ให้บริการสถานีบริการเชื้อเพลิง 4 ราย และผู้ใช้บริการรถแท็กซี่ หรือผู้โดยสาร 3 คน
       
       จากข้อมูล สถิติ และการร้องเรียนทั้งหมด ยังพบต่อว่า ผู้เสียหายที่ได้รับธนบัตรปลอม ทั้ง 57 รายนี้ ต่างก็ระบุช่วงเวลาที่ให้และใช้บริการรถแท็กซี่เกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งกลุ่มมิจฉาชีพที่นำธนบัตรปลอมออกมาใช้จ่ายนั้น อาศัยความมืดและความไม่ค่อยสังเกตของเหยื่อแลกเปลี่ยนเอาธนบัตรจริงกลับไป โดยธนบัตรปลอมที่ระบาดมีทั้งธนบัตรฉบับละ 20 บาท 50 บาท 100 บาท และ 1,000 บาท ในส่วนของผู้ขับขี่รถแท็กซี่ที่ตกเป็นเหยื่อได้รับธนบัตรปลอมเป็นกลุ่มที่ได้รับความเสียหายค่อนข้างมากที่สุด
       
       แบงก์ปลอม ไม่ปลอมดูอย่างไร?
       
       ปฏิเสธไม่ได้ว่า หัวใจของการป้องกันธนบัตรปลอมที่ให้ผลดีที่สุดก็คือ ความสนใจและหมั่นสังเกตธนบัตรของตัวเองทั้งขณะรับและจ่ายเงินทุกครั้ง โดยเฉพาะธนบัตรฉบับเล็ก ๆ ที่ไม่ควรชะล่าใจเหมือนกัน สอดรับกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติได้ให้ข้อมูลไว้ในเว็บไซต์ www.bot.or.th ถึงวิธีการสังเกตธนบัตรปลอมที่ครอบคลุมถึงธนบัตรใบละ 1,000 500 100 และ 20 บาท ซึ่งสามารถสังเกตจดจำได้ดี และแยกแยะความแตกต่าง ด้วยวิธีสังเกตง่าย ๆ 3 วิธี ได้แก่ สัมผัส ยกส่อง และพลิกเอียง
       
       การสัมผัส
       
       ลูบตรงคำว่า รัฐบาลไทยและตัวเลขที่แสดงราคาธนบัตรชนิดนั้นๆ ซึ่งพิมพ์เป็นตัวนูน เมื่อใช้ปลายนิ้วมือลูบสัมผัสบริเวณดังกล่าว จะรู้สึกถึงการนูนของหมึกพิมพ์มากกว่าบริเวณอื่น
       
       ยกส่อง
       
       เมื่อยกธนบัตรรัฐบาลขึ้นส่องดูกับแสงสว่าง จะเห็นลายน้ำพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างชัดเจนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ไม่ใช่ภาพแบนราบเหมือนธนบัตรปลอมที่เลียนแบบด้วยการพิมพ์ภาพลงบนผิวกระดาษ นอกจากลายน้ำพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วยังมี ลายน้ำรูปลายไทยที่มีความโปร่งแสงเป็นพิเศษประดับควบคู่ไว้อีกด้วย
       
       นอกจากนั้น ตัวเลขแจ้งชนิดราคาธนบัตร จะพิมพ์แยกไว้ทั้งด้านหน้า และด้านหลัง เมื่อยกส่องกับแสงสว่าง จะซ้อนทับกันเป็นตัวเลขที่สมบูรณ์
       
       พลิกเอียง
       
       ที่ตัวเลขแจ้งราคามุมขวาบนของธนบัตรชนิดราคา 500 บาท และ 1,000 บาท พิมพ์ด้วยหมึกชนิดพิเศษ เมื่อพลิกธนบัตรไปมาสีของตัวเลข 500 จะเปลี่ยนสลับจากสีเขียวเป็นสีม่วง ส่วนสีของตัวเลข 1000 ด้านบนจะเปลี่ยนสลับจากสีทองเป็นสีเขียว ถ้าไม่เปลี่ยนสีแสดงว่าเป็นของปลอม นอกจากนั้น ยังสังเกตได้จากผนึกที่อยู่บนด้านหน้าเบื้องซ้ายของธนบัตรชนิดราคา 100 บาท 500 บาท และ 1,000 บาท โดยจะมองเห็นเป็นหลายมิติแตกต่างกันตามชนิดราคา และจะเปลี่ยนสีสะท้อนแสงวาววับ เมื่อพลิกเอียงธนบัตรไปมา
       
       ส่วนธนบัตรชนิดราคา 20 บาท เมื่อพลิกเอียงธนบัตรเข้าหาแสงสว่าง และมองจากมุมล่างซ้ายเข้าหากึ่งกลางธนบัตร จะเห็นตัวเลขอารบิก 20
       
       อย่างไรก็ดี สถานที่ที่เจ้าที่ตำรวจเตือนให้ระวังเป็นพิเศษ คือ แหล่งชุมชนและย่านธุรกิจ ที่มีคนเบียดเสียดแย่งซื้อของรวมทั้งสถานที่ที่มีแสงสว่างน้อย เพราะจะทำให้การยกธนบัตรส่องดูว่าเป็นของจริงหรือปลอมทำได้ลำบาก หรือหากจำเป็นต้องการแลกเงินควรใช้บริการของร้านแลกเงินที่เป็นหลักเป็นฐาน แทนที่จะไปแลกกับพวกที่เตร็ดเตร่อยู่ข้างทาง เพราะเสี่ยงต่อการได้รับธนบัตรปลอมได้
       
       เตือนภัย "มุกใหม่" ระวังถูกหลอก
       
       เป็นเรื่องที่ถูกโพสต์ต่อ ๆ กันในโลกออนไลน์ จริงเท็จอย่างไรก็ลองพิจารณากันดู เรื่องมีอยู่ว่า แม่ค้ารายหนึ่งอาศัยจังหวะเนียน ๆ ขณะทอนเงินลูกค้าแล้วทำท่าว่าตัวเองถูกหลอกด้วยแบงก์ปลอม แต่จริง ๆ แล้วแอบเปลี่ยนแบงก์จริงเก็บเอาไว้ ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นขณะที่ลูกค้ารายหนึ่งจ่ายเงินค่าอาหารและรอเงินทองจากแม่ค้า แต่แล้วกลับถูกแม่ค้าเดินกลับมาโวยวายแถมใส่ความหน้าด้าน ๆ ว่า เงินที่ให้มาเป็นแบงก์ 1,000 ปลอม เป็นเหตุให้เกิดการถกเถียงกันอย่างหนัก โชคดีมีสายตรวจมาซื้อของร้านข้าง ๆ พอดี จึงเรียกให้มาช่วยเคลียร์ แต่แม่ค้าไม่ยอมให้ค้น ดันพลิกเกมแล้วรีบเดินไปหยิบเงินทอนมาให้อย่างหน้าตาเฉย สุดท้ายก็ยอม ๆ ความกันไป
       
       ทางที่ดีก่อนจ่ายเงิน โดยเฉพาะธนบัตรราคาสูง ๆ ออกไป ควรจำหมายเลขในแบงก์ไว้บ้าง เพื่อความปลอดภัย
       
       ทุกวันนี้ ธนบัตรปลอมปะปนอยู่ในระบบเงินตรา ย่อมสร้างปัญหาให้กับผู้รับเงิน เพราะนอกจากจะทำให้เงินตราที่ได้รับขาดจำนวนแล้ว ยังส่งผลให้ประชาชนเกิดความไม่ไว้วางใจในธนบัตรของรัฐบาล ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ ธนบัตรปลอมจึงถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงเสมอมา
       
       ทำให้ธนบัตรปลอมเป็นเรื่องบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ ผู้ที่ทำปลอมซึ่งทั้งเงินตรา เหรียญกษาปณ์และธนบัตร มีความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 240 โทษสูงถึงจำคุกตลอดชีวิต และนำเข้ามาในราชอาณาจักรก็จำคุกตลอดชีวิต ผู้ใดนำออกใช้จำคุก 1-15 ปี ถ้าพบเห็นให้รีบแจ้งตำรวจทันที หรือถ้าสงสัยเกี่ยวกับธนบัตรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่แผนกตรวจพิสูจน์ธนบัตร ฝ่ายจัดการธนบัตรสายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร.02-356 8737
       
       ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้ชวนให้แตกตื่น เพียงแต่นำเสนอความจริงเพื่อให้ระมัดระวัง และรอบคอบกันมากขึ้นก็เท่านั้น เพราะแก๊งมิจฉาชีพทุกวันนี้ เล่ห์เหลี่ยมแพรวพราวกว่าที่คุณคิด เห็นได้จากกรณีแบงก์ปลอมที่มีการพลิกเกมจากแบงก์ใหญ่เป็นแบงก์เล็ก นับเป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้
       
       ขอบคุณรูปภาพ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากธนาคารแห่งประเทศไทย
       
       ข้อมูลประกอบข่าว
       
       วิธีตรวจสอบธนบัตรชนิดต่าง ๆ
-http://www.bot.or.th/Thai/Banknotes/Pages/howtocheck.aspx-
       
       วิธีตรวจสอบธนบัตรทุกฉบับราคา (ชมวีดีทัศน์)
-http://www.bot.or.th/Thai/Banknotes/doc_download/DocLib/Movie3.wmv-
       
       ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live
คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)