วิถีธรรม > จิตภาวนา-ปัญญาบารมี
นิกายเซน หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน โดยครูสอนเซน พระอาจารย์ราเชนทร์ อานนฺโท
นิกายเซน:
เซนบอกเราอยู่เสมอ
ให้ขจัดโลกแห่งการแบ่งแยกออกไป
และเปิดตาขึ้นรับรู้ต่อโลกแห่งความเป็นหนึ่งเดียวอันสูงสุด
ในขณะเดียวกัน
ก็ไม่ไปติดอยู่กับความหนึ่งเดียว
จนสูญสิ้นอิสรภาพแห่งตนไป
..
..
เซน แห่ง เซนไค ชิบายามะ(ดอกไม้ไม่จำนรรค์)
นิกายเซน:
บทความจากหนังสือใจต่อใจในการฝึกตน (The core of Zen)
เขียนโดย..พระอาจารย์ราเชนทร์ อานนฺโท
หน้าตาแห่งความบริสุทธิ์
ในการภาวนาแบบ “เซน” มันคือ ความตกผลึกในธรรมชาติ เพื่อให้เข้าถึงความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมแท้ซึ่งเป็นเนื้อหาแห่งความหลุดพ้นในพระพุทธศาสนานั้น มันเป็นเพียงแต่ทำความเข้าในความหมายเพื่อที่จะได้ตระหนักชัดและตกผลึกซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้แห่งความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้นเพียงเท่านั้น เพียงแค่ตระหนักชัดและมันไม่มีวิธีการเข้าไปทำ การตระหนักชัดและการที่ตกผลึกซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกันแบบกลมกลืนไม่แปลกแยกกับธรรมชาตินั้น มัน “ไม่ใช่วิธีการ” ตัวธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้นมันก็บริสุทธิ์อย่างแท้จริงอยู่แล้ว มันคือความบริสุทธิ์ที่เต็มไปด้วยเนื้อหาแห่งความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น มันบริสุทธิ์โดยตัวมันเองปราศจากความสกปรกแปดเปื้อนไปด้วยมลทินแห่งอวิชชาตัณหาอุปาทานในธรรมอันคือ “สังขตธาตุ” หรือธรรมธาตุอันว่าด้วยการเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดาแห่งสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นทั้งหลาย ธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันบริสุทธิ์ด้วยความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้นไม่มีความสกปรกมลทินแห่งความเกิดขึ้นและดับไปเลย นี่คือ “หน้าตาแห่งความบริสุทธิ์” ที่เป็นเนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้
แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีนักศึกษาทางฝั่งโน้นที่ไม่เข้าใจเนื้อหาธรรมอันคือธรรมชาติดั้งเดิมแท้ และไม่รู้จัก “หน้าตาแห่งความบริสุทธิ์” ที่แท้จริง นักศึกษาพวกนี้ก็เลยมีความกุลีกุจอเร่งรีบที่จะเข้าไปภาวนาโดยการ “กำหนดลงไปที่จิต” ว่ามีจิตชนิดนี้มีจิตชนิดนั้นเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดา และยังโง่เขลาต่อไปอีกว่าการกำหนดลงไปที่จิตต่างๆแบบนี้คือความบริสุทธิ์ และก็ได้กำหนดลงไปที่ความบริสุทธิ์แบบนี้อยู่ตลอดเวลา โดยเข้าใจว่ามันคือความบริสุทธิ์ที่แท้จริง สำหรับการกำหนดจดจ่อลงไปที่จิตนั้นไม่ควรทำเพราะจิตต่างๆนั้นมันเป็นของมืดมัวมาก่อนเสียแล้ว มันเป็นมลทินแห่งจิตชนิดต่างๆที่เจือปนไปด้วยธรรมธาตุแห่งการเกิดขึ้นและดับไป จึงเป็นการเสียเวลาเปล่าๆที่จะเข้าไปกำหนดดูจิตแบบนี้ การเข้าไปกำหนดเช่นนี้มันจึงเป็นความมัวหมองแห่งอวิชชาที่ซ้อนเข้ามาเพื่อปิดบังความบริสุทธิ์ที่แท้จริง และการที่เราตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับ “ความดับไปแห่งจิต” ซึ่งเกิดจากการเข้าไปกำหนดจดจ่อจิตประเภทต่างๆนั้นแล้วถือว่าตรงนี้เป็นความบริสุทธิ์ เป็นการกำหนดลงไปที่ตัวความบริสุทธิ์นั้น ก็ถือว่ามันยังไม่ใช่เป็นความบริสุทธิ์แต่มันคืออวิชชาตัวใหม่ที่เกิดขึ้นมาอันหนึ่งเท่านั้น มันคือ “อวิชชาแห่งความบริสุทธิ์” เพราะแท้จริงธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันคือความบริสุทธิ์โดยเนื้อหามันเองอยู่แล้ว คือความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของมันอยู่อย่างนั้น มันเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น ไม่มีใครสามารถสร้างความบริสุทธิ์ขึ้นมาซ้อนเข้ามาแทนมันซึ่งคือความบริสุทธิ์ดั้งเดิมแท้ได้
ตัวความบริสุทธิ์ตามธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้น มันไม่มีสัณฐาน ไม่มีรูปร่างลักษณะ ไม่มีขนาด ไม่มีปริมาณ ไม่มี “ความชัดเจนหรือไม่ชัดเจน” การที่จะสร้างความบริสุทธิ์ขึ้นมาตามความไม่เข้าใจของตน การสร้างความบริสุทธิ์แบบนี้คือ “การเข้าไปประดิษฐ์รูปร่างแห่งความบริสุทธิ์” ขึ้นมาเสียเอง และก็ยังหลงเข้าใจผิดต่อไปอีกว่าการภาวนาเพื่อกำหนดลงไปที่ความบริสุทธิ์แบบนี้มันคือปัญหาสำคัญแห่งความหลุดพ้นต้องกำหนดจดจ่อกับความบริสุทธิ์แบบนี้ไปเรื่อยๆจนกว่าจะมีภาวะหลุดพ้นเกิดขึ้น เมื่อถือหลักความคิดแบบนี้มันจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง นักศึกษาเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นผู้ขับไล่ไสส่งความบริสุทธ์เสียเองแล้ว ความคิดผิดเหล่านี้มันเป็นการปรุงแต่งซ้อนเข้ามาเพื่อมาปิดบังความบริสุทธิ์ที่แท้จริงแห่งธรรมชาติดั้งเดิมแท้ซึ่งมันคือเนื้อหาแห่งความหลุดพ้นอยู่แล้ว มันหลุดพ้นโดยตัวมันเองสภาพมันเอง
เพียงแค่ ละทิ้ง สลัดทิ้ง สลัดออก ซึ่งกระบวนการต่างๆแห่งความเข้าใจผิดในการกำหนดจดจ่อลงไปที่จิต ในการกำหนดจดจ่อลงไปที่ความบริสุทธิ์ซึ่งเป็นธรรมอันว่าด้วยการเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดา แล้วหันหน้ามาทำความเข้าใจในความหมายของความบริสุทธิ์ที่แท้จริงแห่งธรรมชาติดั้งเดิมแท้ แล้วตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกับมันเพียงเท่านี้ “หน้าตาแห่งความบรสุทธิ์” ที่แท้จริงก็จะปรากฏเผยโฉมหน้าของมันขึ้นมาเองตามธรรมชาติ
นิกายเซน:
เซนมีบางสิ่งบางอย่าง
ที่สงบล้ำและปราศจากการปรุงแต่งทั้งมวล
ในขณะเดียวกับที่ห่อหุ้มปรีชาญาณอันลึกซึ้งไว้ภายใน
และถ้าหากเราพยายามที่จะยึดมันไว้
เพื่อนำมาดูว่าสิ่งนั้นคืออะไรกันแน่
มันก็จะสูญหายไปจนไร้ร่องรอย
..
..
เซน แห่ง เซนไค ชิบายามะ(ดอกไม้ไม่จำนรรค์)
นิกายเซน:
เซนปฏิเสธการใช้สมองขบคิดใคร่ครวญ
เพราะกระทำดังนั้น
เท่ากับตกเป็นทาสของจิตใจแบบแบ่งแยก
..
..
เซน แห่ง เซนไค ชิบายามะ(ดอกไม้ไม่จำนรรค์)
นิกายเซน:
บทความจากหนังสือใจต่อใจในการฝึกตน (The core of Zen)
เขียนโดย..พระอาจารย์ราเชนทร์ อานนฺโท
ความสิ้นสุดแห่ง “การเกิดขึ้นและดับไป ”
ก็ในสมัยนั้น พระสังฆปรินายกองค์ที่ 6 (เว่ยหล่าง) ได้ดำรงตำแหน่งผู้นำทางด้านศาสนาแห่งนิกายเซน เพื่อทำหน้าที่เผยแพร่เนื้อหาธรรมอันหลุดพ้นจนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทางจีนตอนใต้ มีภิกษุในประเทศจีนทั่วสารทิศในยุคนั้นได้เข้ามาพำนักฝากตัวเป็นศิษย์อยู่กับท่านเพื่อศึกษาและปฏิบัติธรรมด้วยหลายร้อยรูป หนึ่งในนั้นก็คือ ภิกษุ ฉิต่าว ภิกษุรูปนี้ท่านได้อ่านมหาปรินิรวาณสูตรมานานเป็นสิบปี ท่านไม่เข้าใจในเนื้อหาแห่งพระสูตรที่กล่าวถึงเรื่องพระนิพพานที่ว่า “สิ่งทุกสิ่งไม่คงตัวอยู่อย่างถาวร ดังนั้น สิ่งทั้งปวงจึงตกอยู่ใต้อำนาจของธรรมที่เป็นความเกิดขึ้นและความแตกดับ(กล่าวคือสังขตธรรมหรือธรรมอันปรุงแต่ง) เมื่อความเกิดขึ้นและความแตกดับมาสิ้นสุดลงด้วยกัน ศานติสุขแห่งความหยุดได้โดยสมบูรณ์ และ ความสิ้นสุดของการเปลี่ยนแปลง (กล่าวคือนิพพาน) ย่อมปรากฏขึ้น”
พระสังฆปรินายกเว่ยหล่าง ได้อธิบายความหมายแห่งพระสูตรนี้ให้ ภิกษุ ฉิต่าว ฟังว่า “ ไม่ว่าในขณะใดทั้งหมด นิพพานย่อมไม่มีปรากฎการณ์แห่งการเปลี่ยนแปลง หรือแห่งการเกิดดับ ไม่มีแม้กระทั่งความสิ้นสุดของการทำหน้าที่ของความเกิดขึ้น และความแตกดับ นิพพานเป็นการแสดงออกของความหยุดได้โดยสมบูรณ์ และความสิ้นสุดของความเปลี่ยนแปลง ”
ก็ด้วยเนื้อหาพระนิพพานหรือธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้นมันคือ อสังขตธรรม กล่าวคือเป็นธรรมอันไม่ปรุงแต่ง มันคือความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น และความว่างเปล่านั้นมันคือคุณสมบัติดั้งเดิมแท้ของมันเองเป็นเนื้อหาเดิมๆของมันอย่างนั้นอยู่แล้ว มิใช่เป็นความว่างเปล่าที่เกิดจากการอาศัยเหตุปัจจัยจากสิ่งที่มันเกิดขึ้นและดับไปและไม่ได้อาศัยเหตุปัจจัยจากการสิ้นสุดลงแห่งความเกิดและแตกดับซึ่งเป็นความดับสนิทไม่มีเหลือ ที่เป็นเช่นนี้เพราะเหตุใดเล่า ก็เพราะว่าเนื้อหานิพพานหรือธรรมชาติดั้งเดิมแท้ มันคือความว่างเปล่าซึ่งมันว่างเปล่าเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น มันคืออสังขตธาตุ ธรรมธาตุแห่งความไม่มีการปรุงแต่ง เมื่อเป็นเช่นนี้มันจึงย่อมไม่มีปรากฎการณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงในการเกิดขึ้นดับไป ไม่มีแม้กระทั้งความสิ้นสุดของการทำหน้าที่แห่งความเกิดขึ้นและดับไปดังกล่าว เพราะเนื้อหาเหล่านี้มันคือความหมายแห่งสังขตธาตุ คือ ธรรมธาตุแห่งการปรุงแต่ง มันเป็นจิตปรุงแต่งขึ้นมา มันเป็นจิตที่ปรุงแต่งเพื่อคอยอาศัยการเกิดดับ มันเป็นจิตที่ปรุงแต่งเพื่อรอคอยความสิ้นสุดแห่งการเกิดดับ มันเป็นจิตที่ปรุงแต่งเข้ามาซ้อนเข้ามาปิดบังไม่ให้เห็นไม่ให้เข้าใจในความหมายที่แท้จริงแห่งพระนิพพาน เพียงแค่ตระหนักชัดและตกผลึกว่า เนื้อหานิพพานหรือธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้นมันคือความว่างเปล่าแบบถ้วนทั่วซึ่งเป็นคุณสมบัติของมันอยู่แล้ว เพียงแค่ซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับมันด้วยความกลมกลืนในความว่างเปล่าแบบถ้วนทั่วทุกอนูธรรมธาตุซึ่งมันเป็นความบริบูรณ์แห่งความว่างเปล่าอยู่แล้ว ไม่มีสิ่งใดอันเป็นตัวตนที่จะแทรกเข้ามาทำหน้าที่เกิดดับได้เลย
นิพพานหรือธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้น เป็นการสลัดออกจากธรรมอันคือการปรุงแต่งซึ่งคือการเกิดขึ้นดับไปโดยสิ้นเชิง เป็นการสลัดออกโดยเด็ดขาด เป็นความเด็ดขาดที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยเหตุปัจจัยจากการทำหน้าที่แห่งความสิ้นสุดของการเกิดดับด้วยซ้ำไป เป็นความเด็ดขาดซึ่งคือความหมายแห่งความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว ไม่มีอะไรกับอะไรอยู่แล้ว ไม่มีเกิดขึ้นและดับไปอยู่แล้ว ไม่มีอะไรที่ต้องสิ้นสุดในหน้าที่อะไรอยู่แล้ว เป็นความเด็ดขาดที่คือความหมายแห่งความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้นซึ่งเป็นคุณสมบัติดั้งเดิมแท้ของมันเองอยู่แล้ว เป็นความเด็ดขาดที่เรียกมันว่า “ตถตา” คือ มันเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น เป็นความเด็ดขาดซึ่งคือการตกผลึกและเป็นเนื้อหาเดียวกันแบบกลมกลืนกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั่นเอง
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version