วิถีธรรม > จิตภาวนา-ปัญญาบารมี

นิกายเซน หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน โดยครูสอนเซน พระอาจารย์ราเชนทร์ อานนฺโท

<< < (8/8)

นิกายเซน:
บทความจากหนังสือใจต่อใจในการฝึกตน (The core of Zen)
เขียนโดย..พระอาจารย์ราเชนทร์ อานนฺโท


ปีศาจแห่งความเปลี่ยนแปลง 
 
               ถึงแม้เราจะรู้ว่าสิ่งๆนี้คือสิ่งที่    “เกิดขึ้น”    จากการเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในเวทนาทั้งหลายด้วยอวิชชาความไม่รู้จนก่อให้เกิดตัณหาอุปาทานเป็นอัตตาตัวตนขึ้นมา และเรียกสิ่งนี้ว่า “ทุกข์”   นี่ก็เป็นความรู้ที่ถูกต้อง
             และถึงแม้เราจะรู้เพิ่มเติมอีกว่าสิ่งที่   “เกิดขึ้น”   นั้น โดยธรรมชาติแล้วมันมีความแปรปรวนตั้งอยู่ได้ไม่นานและมันต้องดับไปเป็นธรรมดาตามสภาพธรรมชาติของมัน โดยที่เราไม่ต้องเข้าไปริเริ่มปฏิบัติเองแบบผิดๆเพื่อเข้าไปบังคับจับกุมให้มันไม่เที่ยงไปตามความต้องการของเราซึ่งมันเป็นการปรุงแต่งซ้อนเข้ามาปิดบังธรรมชาติแห่งความดับไปเป็นธรรมดา    นี่ก็เป็นความรู้ที่ถูกต้อง
             แต่ถึงกระนั้น       กระบวนการทั้งหมดทั้งปวงในการรู้เห็นความเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดาตามสภาพธรรมชาติแห่งความแปรปรวนนั้น          มันก็ยังเป็นเพียงแค่ความรู้ถูกต้องในระดับหนึ่งเท่านั้น   มันเป็นความถูกต้องบนพื้นฐานในความคิดเห็นว่า  “ ยังมี ”  ซึ่งมันกลับเป็นความถูกต้องในความผิดพลาดอันใหญ่หลวง   เพราะแท้จริงตามธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้นมันว่างเปล่าไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเลย  มันว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้นโดยสภาพมันเอง ถึงแม้จะเห็นว่ามี   “ความเปลี่ยนแปลง”  เกิดขึ้นดับไปเป็นธรรมดา แต่มันก็ยังเป็นการเห็นบนความเข้าใจในธรรมว่ายัง “มี”    สิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่เพื่อให้เราเข้าไปรับรู้ถึง  “ความเปลี่ยนแปลง”   ในการเกิดขึ้นดับไปของมัน     ถึงจะรู้เห็นตามธรรมชาติว่ามันมีความเปลี่ยนแปลง    แต่โดยความเป็นจริงมันก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม
          ถึงแม้ว่าความ “มี” อยู่   มันจะคลายออกไปมากๆแล้วก็ตามด้วยการเข้าไปปฏิบัติแบบต่อเนื่อง    แต่เมื่อยังคิดว่า “มี” มันจึงเกิดการเข้าไปตามรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงแห่งความ “มี” ที่เรายังคิดเป็นพื้นฐานแบบนี้อยู่ตลอดเวลาไม่มีวันจบสิ้น          หากเราเข้าใจและ
ตระหนักชัดในเนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้ว่า   แท้จริงมันย่อมไม่มีสิ่งใดๆเกิดขึ้นเลย  มันคือเนื้อหาแห่งความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้น ก็ในเมื่อเข้าใจว่าไม่มีสิ่งใดเลยสักสิ่ง          พฤติกรรมในการปฏิบัติแห่งการเข้าไประลึกรู้ตามธรรมชาติว่ามัน “มี”          และมันมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นดับไป ก็จะไม่เกิดขึ้น
          “ความเปลี่ยนแปลง” จึงเปรียบเสมือนเป็นปีศาจที่มาหลอกให้เราคอยใช้ “ความพยายามแห่งปัญญาอันโง่เขลา” เข้าไปวิ่งไล่ตามจับมัน
          มันจึงเป็นการเสียเวลาเปล่าๆที่จะต้องใช้ความพยายามไล่จับ “ปีศาจแห่งความเปลี่ยนแปลง” ตลอดชีวิต เป็นการไล่จับบนพื้นฐานความคิดของเราที่ยังเห็นว่า “มี” อยู่ตลอดชีวิตเช่นกัน

                         










นิกายเซน:
บทความจากหนังสือใจต่อใจในการฝึกตน (The core of Zen)
เขียนโดย..พระอาจารย์ราเชนทร์ อานนฺโท


ความไม่มุ่งเน้น

          ความที่มันคงคุณลักษณะของมันอยู่อย่างนั้นโดยปราศจากการตั้งต้นและไม่มีวันดับไปจบสิ้น มันแสดงเนื้อหาอันเป็นคุณสมบัติของมันอยู่อย่างนั้นโดยสภาพมันเอง    มันเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น  โดยไม่มีใครหรือสิ่งใดแม้กระทั้ง“ธรรมอันละเอียดประณีตแห่งสัมมาทิฐิ”    จะมาเป็นเหตุปัจจัยทำให้มันเกิดขึ้นได้เลย    ไม่มีภาวะแห่งการเกิดขึ้นดับไป        ตรงนี้เรียกว่า       ธรรมชาติอันคือ  ธรรมชาติดั้งเดิมแท้
          ธรรมชาติ   มันทำหน้าที่มันเองตามปรกติ   แต่ด้วยความไม่เข้าใจของเราก็เลยเอาความเป็น “เรา” เข้าไป “มุ่งเน้น”          เพื่อเสริมสร้างก่อรูปในสภาวะธรรมต่างๆขึ้นมา   โดยมีความเข้าใจอย่างผิดๆว่า   ธรรมต่างๆเหล่านี้จะช่วยให้ลักษณะธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันเกิดขึ้นและจะเข้าไปช่วยให้ธรรมชาติมันทำหน้าที่ในเนื้อหาความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนตลอดไปอย่างมั่นคงถาวร         เช่น    การเข้าไป “มุ่งเน้น” อินทรีย์แห่งสติ  หรือ   “ ตัวรู้ ”       โดยเข้าใจว่าตัวรู้นี้คือ สัมมาสติ และสัมมาสติแห่งตัวรู้นี้เองที่เข้าใจว่า   มันจะช่วยให้ความความว่างเปล่าไร้ตัวตนนี้ทำหน้าที่ของมันได้ตลอดแบบประติดประต่อกันไปจนไม่ขาดสาย   แต่โดยความเป็นจริง    “ความมุ่งเน้น” มันคือพฤติกรรมการปรุงแต่งของจิตชนิดหนึ่งที่  “ เกิดขึ้น ” ซึ่งเป็นลักษณะแห่ง สังขตธาตุ       ซึ่งมันขัดและฝืนต่อเนื้อหาแห่งธรรมชาติที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน แห่งอสังขตธาตุ  โดยธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้นมันทำหน้าที่แสดงเนื้อหาของมันอยู่อย่างนั้นตลอดเวลาแบบประติดประต่อตลอดสายคงคุณลักษณะแห่งเนื้อหาความว่างเปล่าอันคือธรรมชาติอยู่แล้ว    มันเป็นคุณสมบัติโดยตัวมันเองอยู่แล้วไม่ต้องเข้าไปทำให้มัน     การคิดที่จะเข้าไปทำคุณสมบัติให้ธรรมชาติมันครบถ้วนบริบูรณ์ตามความเข้าใจผิดของตนมันกลับเป็นการปรุงแต่งทางจิตขึ้นมาแบบไม่รู้ตัวเหมือนเส้นผมบังภูเขา   ซึ่งมันกลับทำให้ความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้นหายไปเสียสิ้น
        แต่ถึงกระนั้น    เมื่อตระหนักชัดเข้าใจเนื้อหาธรรมชาติข้างต้นแล้วก็ยังอดที่จะเข้าไป “มุ่งเน้น”       โดยการเข้าไปประคับประคองความเป็นธรรมชาติ   เข้าไปประคับประคองให้ธรรมชาติมันคงความเป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้น     เข้าไปประคับประคองโดยกลัวว่าความเป็นธรรมชาติมันจะเสียรูปทรงและหายไปต้องเข้าไปประคับประคองโดยตลอด ซึ่งความเข้าไป  “มุ่งเน้น” ในภาวะธรรมชาติเช่นนี้มันเป็นการปรุงแต่งจิตขึ้นมาด้วยเหตุแห่งความมุ่งเน้นนั้นมันปรุงแต่งซ้อนเข้ามาบังความเป็นธรรมชาติที่แท้จริง          ก็โดยเนื้อหาธรรมชาติ “ดั้งเดิมแท้” นั้นมันเป็นเนื้อหาความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้นมานานแสนนานแล้ว   เป็นความ “ดั้งเดิม”    โดยความเป็นธรรมชาติที่แท้จริงของมันแบบนี้มาช้านานแล้ว       เป็นธรรมชาติที่ปราศจากการตั้งต้นและจะเป็นธรรมชาติไปแบบนี้อยู่อย่างนั้นไม่มีวันสิ้นสุดจบสิ้นแห่งความเป็นธรรมชาติอีกด้วย        เพราะฉะนั้นจงทำความเข้าใจในเนื้อหาธรรมชาติอันคือความดั้งเดิมแท้ของมันว่า  มันสามารถดำเนินเนื้อหาหรือแสดงเนื้อหาแห่งธรรมชาติอันไม่มีไม่เป็นของมันอยู่อย่างนั้นแบบ “ไม่ผิดเพี้ยน”   มันสามารถทำหน้าที่แสดงคุณสมบัติของมันได้ในทุกที่   ทุกเวลา   ทุกโอกาส     โดยที่มันไม่ต้องการความสามารถจากใครๆหรือผู้ใดเข้าไปประคับประคองในคุณสมบัติแห่งมันเลย เพราะว่ามันคือธรรมชาติ  “ อยู่แล้ว ”   มันคือธรรมชาติดั้งเดิมแท้ “อยู่แล้ว”   เป็นความ “อยู่แล้ว”    แบบบริบูรณ์ในเนื้อหาอยู่อย่างนั้นโดยไม่มีส่วนบกพร่อง







นิกายเซน:
บทความจากหนังสือใจต่อใจในการฝึกตน (The core of Zen)
เขียนโดย..พระอาจารย์ราเชนทร์ อานนฺโท

นิพพานในฝั่งเถรวาท

 วิชชา    แปลว่า   ความรู้แจ้งทั้งปวงในธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้น  โดยไม่มีเนื้อหาแห่งธรรมอันเกิดขึ้นดับไป 
      วิมุตติ   แปลว่า   ความหลุดพ้น    เป็นความหลุดพ้นจากสภาพปรุงแต่งแห่งการเกิดขึ้นดับไป         เป็นความหลุดพ้นที่เป็นเนื้อหาเดียวกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้อยู่อย่างนั้น
      วิชชาและวิมุตติจึงเป็นความหมายของคำว่า “นิพพาน” นั่นเอง
      แต่วิชชาและวิมุตติจะบริบูรณ์เกิดขึ้นได้เพราะเกิดจากโพชฌงค์ธรรมบริบูรณ์
      และโพชฌงค์ธรรมจะบริบูรณ์ได้ เพราะเกิดจากการเจริญสติปัฏฐาน4 นั่นเอง (เป็นข้อความที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในกุณฑลิยสูตร)
      สรุปได้ว่า   เมื่อบุคคลได้เจริญซึ่งสติปัฏฐาน 4  เมื่อสติปัฏฐานบริบูรณ์  ย่อมยังให้โพชฌงค์บริบูรณ์และวิชชาวิมุติย่อมบริบูรณ์ตามไปด้วย   ซึ่งเท่ากับว่าเมื่อสติปัฏฐานบริบูรณ์ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์   ย่อมทำพระนิพพานให้แจ้งได้
      โดยลักษณะธรรมธาตุแห่งธรรมมีอยู่เพียง 2 ลักษณะเท่านั้น คือ
1. สังขตธาตุ คือ ธรรมธาตุ อันมีลักษณะปรุงแต่ง
2. อสังขตธาตุ คือ ธรรมธาตุ อันมีลักษณะไม่ปรุงแต่ง
   สังขตธาตุ นั้น   คือธรรมอันมีลักษณะปรุงแต่ง     ซึ่งเกิดจากอวิชชาความไม่รู้      โดยไม่รู้ว่า  ทุกสรรพสิ่งย่อมไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน(อนัตตา) อยู่แล้วโดยธรรมชาติของมัน   เมื่อไม่รู้ก็เลยเข้าไปยึดมั่นถือมั่นก่อให้เกิดเป็นตัณหาอุปทานจนกลายเป็นตัวตน    มีเรา  มีเขา ขึ้นมา (อัตตา)   ซึ่งสังขตธาตุนี้เป็นธรรมซึ่งผิดไปจากความเป็นจริง  เนื้อหาแห่งสังขตธาตุไม่ตรงต่อสัจธรรม   ไม่ตรงต่อ   “ธรรมชาติดั้งเดมแท้”
          อสังขตธาตุ นั้น คือธรรมอันมีลักษณะไม่ปรุงแต่ง     ซึ่งเกิดจากความรู้เห็นตามความเป็นจริงที่ว่า       ทุกสรรพสิ่งย่อมไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน (อนัตตา) อยู่แล้วโดยธรรมชาติของมัน  อสังขตธาตุนี้เป็นธรรมซึ่งตรงต่อความเป็นจริง    เนื้อหาแห่งอสังขตธาตุนี้เป็นเนื้อหาซึ่งตรงต่อสัจธรรมตรงต่อธรรมชาติโดยสภาพมันเองอยู่แล้ว
          การเข้าไปเจริญซึ่งสติปัฏฐาน 4 เป็นการรู้เท่าทันว่า เมื่อเกิดการปรุงแต่ง(สังขตธาตุ) ตามลักษณะของหมวดธรรมทั้ง 4    ในสติปัฏฐานแล้ว    การปรุงแต่งนั้นก็ย่อมไม่เที่ยงดับไปเองโดยสภาพมันเองโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว
           เพราะฉะนั้นการเข้าไปเจริญซึ่งสติปัฏฐาน 4      จึงเป็นการตกผลึกและตระหนักชัดในธรรม  คือ   กาย  เวทนา  จิต  ธรรม  อันเกิดขึ้นตั้งอยู่แปรปรวนและดับไปเป็นธรรมดาตามสภาพธรรมชาติ           สติปัฎฐานจะบริบูรณ์ได้ย่อมเกิดจาก “การตัดได้โดยเด็ดขาด”  จากอาการปรุงแต่งทั้งปวง(สมุทเฉจ)    จนกลายเป็นสภาพแห่งธรรมอันไม่ปรุงแต่งล้วนๆ จนกลายเป็นสภาพ    “ธรรมชาติล้วนๆอันปรุงแต่งไม่ได้แล้ว”  สมุทเฉจหรือการตัดได้โดยเด็ดขาดจากการปรุงแต่งทั้งปวงนั้นเป็นอุบายอันแยบยลอันเกิดจากการพิจารณาว่า  โดยแท้จริงแล้ว สติปัฏฐานธรรมนั้นโดยสภาพมันเองก็เป็นสังขตธาตุอันคือธาตุแห่งการปรุงแต่งที่ต้องสลัดออก  เป็น “การสลัดออก”     ด้วยความเข้าใจว่าความเป็นจริงแห่งธรรมชาติอันคือลักษณะแห่งอสังขตธาตุ  มันไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเลยไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งตั้งอยู่  และไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งแปรปรวนดับไป    แท้จริงแล้วมันคือธรรมชาติอันปรุงแต่งไม่ได้ มันคือธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าอยู่อย่างนั้น           มันคือธรรมชาติแห่งความเป็นเช่นนั้นเองอยู่อย่างนั้น  เมื่อเข้าใจว่าแท้จริง “สติปัฏฐานธรรม” ก็ไม่มี        มันคือความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้นซึ่งเป็นเนื้อหา “ธรรมชาติดั้งเดิมแท้”     มันจึงเป็นการตัดได้โดยเด็ดขาด     โดยที่สัมมาสติมันบริบูรณ์ มันทำหน้าที่เป็นปกติไม่ขาดตกบกพร่องในความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น
          เมื่อเข้าใจว่า ตัวสติปัฏฐานธรรม  มันคือสังขตธาตุหรือธรรมธาตุแห่งการปรุงแต่ง   ซึ่งเป็นการเกิดขึ้นแห่งธรรมอันคือสติปัฏฐาน  เป็นการตั้งอยู่แห่งธรรมอันคือสติปัฏฐาน    และธรรมชาตินั้นมีความแปรปรวนตั้งอยู่ได้ไม่นานเป็นการดับไปแห่งธรรมอันคือสติปัฏฐาน มันจึงต้อง “สลัดออก”      และส่งผลทำให้สติปัฏฐานบริบูรณ์ตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในกุณฑลิยสูตรนั้น แท้จริงแล้วมันไม่ใช่ที่ตัวสติปัฏฐานบริบูรณ์    เพราะตัวสติปัฏฐานแท้จริงไม่มี   แต่มันเป็นความบริบูรณ์ในอสังขตธรรมคือธรรมธาตุแห่ง      “ธรรมชาติอันว่างเปล่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น”  เพราะฉะนั้น การที่พระพุทธองค์ตรัสว่า เมื่อสติปัฏฐานบริบูรณ์  ย่อมทำให้โพชฌงค์บริบูรณ์    และวิชชาวิมุติย่อมบริบูรณ์ตามไปด้วยนั้น     เป็นการตรัสด้วยเหตุและผลแห่งการทำหน้าที่ของอินทรีย์แห่งธรรมเท่านั้น











นิกายเซน:
บทความจากหนังสือใจต่อใจในการฝึกตน (The core of Zen)
เขียนโดย..พระอาจารย์ราเชนทร์ อานนฺโท

อรหันตมรรค   อรหันตผล

               โดยเนื้อหาแห่งธรรมชาติดั้งเดิมแท้ตามแนวคำสอนแห่งเซนซึ่งเป็นเรื่องความไร้ตัวตนนี้     ตัวธรรมชาติดั้งเดิมแท้เองนั้นมันเป็นสัจธรรมซึ่งมีเนื้อหาที่สมบูรณ์แบบโดยตัวมันเองอยู่แล้ว     และมันเป็นเนื้อหาที่ที่ไม่ต้องการสิ่งใดๆมาเพิ่มเติมหรือมายุ่งเกี่ยวกับมันอีกในทุกๆด้าน         เพราะแท้จริงมันย่อมไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งในทุกๆลักษณะในทุกๆทางที่จะเกิดขึ้นในเนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้ได้เลย ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นและดับไป       เพราะฉะนั้นธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันจึงเป็นเรื่องสมบูรณ์แบบอยู่แล้ว มันไม่ต้องการอะไรกับอะไร      ไม่ต้องการให้ใครมาบรรลุธรรมอะไรเพื่อให้เกิดอะไร       มันไม่ใช่เป็นเรื่องใครต้องมาบรรลุอะไรแล้วธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันถึงจะเกิดขึ้น
          แต่ในพระไตรปิฏกในส่วนของสังขตธาตุนั้น    พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงเรื่อง ธรรมอันเกิดขึ้นว่าด้วยสมุทเฉทปหาน   ซึ่งเป็นการตัดได้โดยเด็ดขาดจากอาสวะกิเลสทั้งปวง         เป็นการตัดได้โดยเด็ดขาดจากพฤติกรรมการปรุงแต่งทางจิตทั้งปวงไปสู่ความดับสนิทไม่มีเหลือ   เป็นความดับสนิทจากเหตุแห่งการชักจูงเข้าไปปรุงแต่งทุกๆกรณี       ธรรมแห่งสมุทเฉทปหานที่พระพุทธองค์ตรัสถึงนี้เป็นธรรมอันว่าด้วย     การมีเหตุปัจจัยให้ได้พิจารณาและตกผลึกซึ่งมัน “เป็นอุบายอันแยบยล”   ที่จะทำให้เราไม่เข้าไปปรุงแต่งได้อีกอย่างเด็ดขาด ซึ่งเราเรียกว่า  ธรรมอันเกิดขึ้นว่าด้วย  อรหันตมรรค   และ อรหันตผล
          ธรรมอันเกิดขึ้น ซึ่งคือเนื้อหาแห่งอรหันตมรรคนั้น   เป็นการหยิบยกธรรมขึ้นมาพิจารณาถึงเรื่องคุณลักษณะแห่งธรรมทั้งปวงว่า อะไรคือธรรมทั้งหมดซึ่งมีลักษณะแห่งการปรุงแต่งหรือสังขตธาตุ และ      อะไรคือธรรมอันมีลักษณะธรรมชาติแห่งการปรุงแต่งไม่ได้หรืออสังขตธาตุ   เมื่อเราสามารถแยกแยะออกมาได้ทั้งหมดแล้วว่าธรรมเหล่าใดมีคุณลักษณะแห่งสังขตธาตุคือธรรมธาตุแห่งการปรุงแต่ง      พระพุทธองค์ได้ทรงชี้แนะให้ “สลัดออก”    ในธรรมอันคือสังขตธาตุ ซึ่งคือธรรมธาตุแห่งการปรุงแต่งนี้ทิ้งเสีย   และให้ดำเนินไปสู่เนื้อหาธรรมอันคือธรรมชาติอันปรุงแต่งไม่ได้หรืออสังขตธาตุนั่นเอง
          ในส่วนเนื้อหาธรรมอันคือ “สังขตธาตุ”  ทั้งหมดนั้น     ก็คือเนื้อหาธรรมอันว่าด้วยการเกิดขึ้นแห่งทุกข์      ว่าด้วยการดับไปเป็นธรรมดาแห่งทุกข์    ซึ่งประกอบไปด้วย ธรรมอันคือ   ทุกข์   สมุทัย นิโรธ มรรค สุจริต 3 สติปัฏฐาน 4 โพชฌงค์ธรรม     และธรรมทุกๆหมวดที่พระพุทธองค์ได้ทรงกล่าวถึงซึ่งมีเนื้อหาอันเกี่ยวกับสภาพธรรมที่มีลักษณะปรุงแต่งเกิดขึ้นและดับไป
          และก็เป็นเรื่องแปลกประหลาดใจ     แต่มันคือความเป็นจริงกล่าวคือ  ธรรมอันคืออรหันตมรรคนั้น    เป็นการที่ต้องหยิบยกเรื่อง “มรรคมีองค์ 8” ซึ่งเป็นหนทางหลุดพ้นนั้นขึ้นมาพิจารณาถึงความที่มันเป็นธาตุแห่งการปรุงแต่งหรือสังขตธาตุด้วย       ก็เพราะว่ามรรคมีองค์ 8   มันคืออินทรีย์แห่งธรรมที่เกิดจากการตระหนักชัดและการที่ได้ซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับการเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดาตามสภาพธรรมชาติ     มันจึงเป็นธรรมที่เกี่ยวข้องกับสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป    และมรรคมีองค์ 8 เองก็โดยคุณลักษณะของมัน           “มันก็คือํธรรมชนิดหนึ่งที่มีสภาพเกิดขึ้นและดับไป”   เช่นกัน     มันจึงเป็นเรื่องประหลาดใจสำหรับนักปฏิบัติธรรมที่พึ่งจะเข้าใจว่า    แท้จริงแล้วอรหันตมรรค คือ    ความที่ไม่ต้องมีธรรมอันว่าด้วยมรรคเกิดขึ้น  คือความที่ต้องสลัดมรรคมีองค์ 8   ออกไปตามพุทธประสงค์ที่ให้สลัดออกซึ่งสังขตธาตุ        เพราะถ้าเราคิดว่ามันจะต้องเดินไปบนเส้นทางมรรคมีองค์ 8  อยู่   มันก็ยังเป็นสังขตธาตุคือธรรมธาตุอันปรุงแต่งอยู่นั่นเอง   ซึ่งมันเป็นเรื่องแห่งการปรุงแต่งที่เกิดขึ้นดับไปเกี่ยวกับมรรค      มันทำให้บดบังและไม่ให้เกิดความเข้าใจใน “ธรรมชาติดั้งเดิมแท้”  ที่แท้จริง
          และก็ยิ่งเป็นที่ประหลาดใจไปมากกว่านั้นก็คือ  การหยิบยกธรรมอันว่าด้วย อรหันตมรรค อรหันตผล  ขึ้นมาพิจารณาเพื่อให้เกิดความเข้าใจในเนื้อหาธรรมนั้นว่าอะไรเป็นอะไร                ด้วยการพิจารณาเช่นนี้มันก็เป็นการเกิดขึ้นและดับไปแห่งธรรมอันว่าด้วย        อรหันตมรรค อรหันตผล  นี้ด้วย   ซึ่งเป็นคุณลักษณะแห่งสังขตธาตุที่เป็นการปรุงแต่งมีสภาพเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดาด้วยเช่นกัน    เป็นสังขตธาตุแห่ง อรหันตมรรค อรหันตผล     ที่ต้องสลัดออกสลัดทิ้งไปเพื่อไปสู่ความตระหนักชัดในเนื้อหา “ธรรมชาติดั้งเดิมแท้”     อย่างแท้จริงเช่นกัน
          ในส่วนเนื้อหาธรรมอันคือ “อสังขตธาตุ”นั้น      ก็คือเนื้อหาธรรมอันว่าด้วยธรรมชาติที่ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว เนื้อหามันคือความว่างเปล่าอยู่อย่างนั้น มันปราศจากการพิจารณาธรรมทั้งปวง      มันเป็นเนื้อหาธรรมชาติที่ “ไม่ยุ่งเกี่ยว” กับ “กระบวนการพิจารณาแยกแยะธรรมแบบเด็ดขาดว่า  อะไรคือการปรุงแต่ง   อะไรคือธรรมชาติแห่งการไม่ปรุงแต่ง”       มันเป็นเนื้อหาธรรมชาติที่  “ไม่ยุ่งเกี่ยว”    กับ “กระบวนการการสลัดออกแห่งสังขตธาตุได้อย่างสิ้นเชิง”    มันเป็นธรรมชาติที่มันเป็นอิสระโดยตัวมันเองในความว่างเปล่าอยู่อย่างนั้น

มันแสดงเนื้อหามันอยู่อย่างนั้นโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการใดๆทั้งสิ้น
          เมื่อสามารถตระหนักชัดว่า อะไรคือธรรมชาติดั้งเดิมแท้ที่มันปรุงแต่งไม่ได้แล้ว ซึ่งมันคือความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนโดยสภาพมันเองตามธรรมชาติอยู่อย่างนั้นตามธรรมอันว่าด้วย    “อรหันตมรรค” นั้นแล้ว       และการที่ได้ซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกันแบบกลมกลืนกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้นได้ มันก็คือ “อรหันตผล” นั่นเอง  อรหันตผล เป็นเนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้ที่มันเผยตัวมันเองออกมา       แสดงเนื้อหามันออกมาซึ่งมันคือความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น   ไม่มีธรรมสิ่งใดเลยในคุณลักษณะแห่งการปรุงแต่งคือสังขตธาตุเกิดขึ้นและดับไปในเนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้นี้ได้  ไม่มีแม้กระทั้งการปรุงแต่งด้วยว่า   “นี่คือธรรมอันว่าด้วย อรหันตผล”             
         สรุปโดยหลักแล้ว   ธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันมิได้เกิดขึ้นจากสิ่งใดหรือใครต้องมากระทำให้เกิดขึ้น มันแสดงเนื้อหาอันคือ ความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้น      และในเนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันก็ไม่ได้มีกระบวนการ “การทำความเข้าใจและพิจารณาธรรม”   อันว่าด้วยธรรมอันคือ อรหันตมรรค อรหันตผล แต่อย่างใด     เพราะโดยสภาพแห่งธรรมอันว่าด้วย อรหันตมรรค อรหันตผล นี้    มันคือธรรมอันมีสภาพปรุงแต่งซึ่งมันมิใช่เนื้อหาของธรรมชาติดั้งเดิมแท้อยู่แล้ว  มันจึงต้องสลัดออกซึ่งธรรมอันคือ อรหันตมรรค อรหันตผล  ซึ่งเป็นสังขตธาตุ ธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันถึงจะเผยตัวมันเองออกมา  ซึ่งมันเป็นเนื้อหาตามธรรมชาติอยู่แล้ว
         การพิจารณาธรรมอันเป็นเหตุให้เราตระหนักชัดถึง"ธรรมชาติดั้งเดิมแท้"    มันเป็นเรื่องต่างหากจากเนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้ที่มันเผยตัวมันเองออกมา          การพิจารณาธรรมอันเป็นเหตุให้เราตระหนักชัดถึง"ธรรมชาติดั้งเดิมแท้ " มันคือเนื้อหาแห่งการปรุงแต่งด้วยชนิดหนึ่งที่ต้องสลัดออกไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว  เมื่อพิจารณาจนเกิดความเข้าใจแล้ว      ก็ต้องสลัดการพิจารณาออกอันคือธาตุแห่งการปรุงแต่งด้วย           แล้วเราจะได้ซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกันแบบกลมกลืนกับ  "ธรรมชาติดั้งเดิมแท้"     ที่มันว่างอยู่อย่างนั้นมานานแสนนานอันหาจุดเริ่มต้นไม่ได้



               




นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version