พระพุทธศาสนาในประเทศจีนพระอาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (โพธิ์แจ้ง) เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายสงฆ์จีนนิกาย
วัดมังกรกมลาวาส
แสดงเป็นภาษาจีน
เสถียร โพธินันทะ เลขานุการคณะสงฆ์จีนนิกาย
ถอดเป็นภาษาไทย
_________
ท่านพระมหาเถรานุเถระที่เคารพ และท่านสหธรรมมิกทั้งหลาย
ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้มอบโอกาศให้ ผมแสดงปาฐกถาในวันนี้ ความจริงสมณะฝ่ายลัทธิมหายานก็ดี ฝ่ายลัทธิสาวกยานก็ดีต่างก็เป็นสมณศากยบุตรมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นบิดาร่วมกัน แม้เราจะมีชาติตระกูลภาษาต่างกัน แต่เมื่อเราสละโลกิยสมบัติออกบรรพชาอุปสมบทอุทิศแด่พระบรมศาสดาแล้ว
ก็ย่อมมีสภาพอันเดียวกันหมด การบวชคือการเกิดใหม่กล่าวคือเกิดโดยพระธรรมวินัย หรือเกิดโดย
อริยชาตินั้นเอง สมด้วยพระพุทธพจน์ว่า "
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายพวกเธอแลมีชาติต่าง ๆ กัน มีโคตรต่าง ๆ กัน ออกบวชในพระธรรมวินัยนี้ประพฤติพรรมจรรย์อยู่ ย่อมมีชื่อว่าเป็นสมณศากยบุตรโดยฐานะเสมอกัน มีตถาคตเป็นบิดา ข้อนั้นเพราะเหตุไร ฯ ภิกษุทั้งหลายเปรียบเหมือนแม่น้ำอจิรวดี แม่น้ำสรภู แม่น้ำมหิ แม่น้ำจันทร์ภาคา แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา เมื่อไหลสู่มหาสมุทรแล้วย่อมเสมอกันหมด ไม่อาจแบ่งได้ว่า นั้นเป็นแม่น้ำนั้น พระพุทธศาสนาอันประเสริฐเริ่มมีการแบ่งแยกลัทธินิกายในราวพุทธศตวรรษที่ ๒ ดังปรากฏใน
ตำนาน สํสกฤต ว่าหลังรัชสมัยพระเจ้ากาฬาโศก สังฆมณฑลแบ่งนิกายออกถึง ๑๘ นิกาย สมัยนั้นยังไม่มีลัทธิมหายาน และการแบ่งนิกายก็คงแบ่งในลัทธิสาวกยาน
พิจารณาดูตามสาเหตุเนื่องด้วยความเห็นแตกต่างกันของบรรดาพระคณาจารย์เจ้าหมู่ เจ้าคณะ เกี่ยวกับพระธรรมวินัยบางข้อ และเนื่องด้วยสิ่งแวดล้อมกาละเทศะบางแห่งบังคับ นิกายที่มีอำนาจก็คือ
นิกายสถวีรวาท นิกายมหาสังฆิกะ นิกายสรวาสติวาท นิกายเสาตฺรนฺติกวาท เฉพาะนิกายมหาสังฆิกะได้เป็นบ่อเกิดลัทธิมหายานในภายหลัง ลัทธิมหายานเริ่มจะแพร่หลายก็ด้วยอาศัยความสามารถของ
พระนาคารชุนราวพุทธศตวรรษที่ ๖ มหายานเกิดขึ้นก็เพื่อมหาชน ทั้งนี้ก็ด้วยมีคณาจารย์หมู่หนึ่งตระหนักว่าการสั่งสอนธรรมแก่มหาชนทั่วไปยากที่จะให้เข้าถึง
พระปรมัตถธรรมโดยทันทีได้
จึงได้หาอุบายซักนำให้ชนส่วนใหญ่
เกิดสัทธาในพระศาสนาเสียก่อนภายหลังจึงสอนด้วยปรมัตถธรรม เกจิอาจารย์เหล่านั้นจึงได้บัญญัติลัทธิต่าง ๆ ให้แปลกจากลัทธิฝ่ายสาวกยานและย่อมให้ผ่อนผันวัตรปฏิบัติตามประเพณีความเชื่อถือของชนท้องถิ่น
ชนิดที่ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย จุดสำคัญของลัทธิมหายานคือ อุดมคติพระโพธิสัตว์ มหายานสอนให้ทุกคนปรารถนาพุทธภูมิเพื่อที่จะได้โปรดสัตว์โดยกว้างขวาง เพื่อที่จะให้ได้บรรลุพระพุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ต้องสร้าง
บารมี ๑๐ ประการคือ
ทานบารมี ศีลบารมี ขันติบารมี วิริยะบารมี ธยานบารมี อุปายบารมี ปณิธานบารมี ปัญญาบารมี พลบารมี ญาณบารมี ลัทธิมหายานเจริญในอินเดียนับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๖ ถึง ๑๖ กินเวลากว่า ๑๐๐๐ ปี มีสถาบันประกาศลัทธิคือ
มหาวิทยาลัยนาลันทา และมหาวิทยาลัยวิกรมศิลา แต่
สังขารธรรมย่อมมีความเจริญขึ้น และย่อมจักเสื่อมไปเป็นธรรมดา ปรากฏในประวัติศาสตร์ว่าในพุทธศตวรรษที่ ๑๖
กองทัพพวกมุสลิมยกมาราวีอินเดียและได้เผาผลาญวัดวาพระอารามของพระพุทธศาสนา ตลอดจนของพวกฮินดู ฆ่าฟันภิกษุสงฆ์ พระพุทธศาสนาจึงศูนย์ไปจากอินเดีย และลัทธิมหายานกลับมารุ่งโรจน์ขึ้นในประเทศจีน พระพุทธศาสนาแพร่สู่ประเทศจีนราวพุทธศตวรรษที่ ๖ แผ่นดินพระเจ้า "ฮั่นเม้งเต้" กษัตริย์แห่งราชวงศ์ (ตังฮั่น) โดยภิกษุธรรมทูตสองรูปชื่อ
ธรรมรักษ์ และกาศยปมาตังคะ แห่งอินเดีย ท่าน ๒ รูปจาริกไปจำพรรษา ณ นครลกเอี้ยง และเริ่มงานแปลพระสูตรเป็นครั้งแรก พระเจ้าฮั่นเม่งเต้ ทรงสร้างวัดชื่อ "แปะเบยี่" คือวัดม้าขาวเป็นปฐมสังฆารามขึ้นในประเทศจีน จำเดิมแต่นั้นมาก็มีธรรมทูตชาวอินเดียบ้าง ชาวเอเชียกลางบ้าง จาริกมาแปลคัมภีร์พุทธศาสตร์ ณ ประเทศจีนเรื่อยมาภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ของกษัตริย์จีน
ในประการเดียวกันก็มีพระสมณะจีนเดินทางข้ามเขาข้ามทะเลทราย และมหาสมุทรไปศึกษาพระธรรมวินัยในประเทศอินเดีย ยุคที่พระพุทธศาสนารุ่งโรจน์คือ
ยุคนำ่ ปัก, ยุค ซุย, ยุค ถัง ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๘ ถึง ๑๒ ในยุคดังกล่าวนี้
การปริยัติศึกษา และพุทธศิลปกรรมได้ก้าวหน้างอกเงยอย่างรวดเร็ว มีนักพุทธปรัชญาเอก ๆ อุบัติขึ้นหลายท่าน ท่านเหล่านี้ได้ก่อตั้งนิกายพุทธศาสนาแบบจีนแท้ขึ้นหลายนิกาย คือ
นิกายสุขาวดี (เจ่งโท้วจง) นิกายสัทธรรมปุณฑริก (ฮวบฮั่วจง) นิกายอวตํสก (ฮั่วเงียบจง) นิกายธฺยาน (เซี้ยงจง) นิกายวินัย (ลุกจง) นิกายธรรมลักษณะ (หวบเสียงจง) นิกายมนตรยาน (มิกจง) นิกายอภิธรรมโกศ (กู้เสี่ยจง) นิกายสัตยสิทธิ (เซ่งลิกจง) เป็น ๑๐ นิกาย ด้วยกัน
เฉพาะนิกายอภิธรรมโกศและนิกายสัตยสิทธิ เป็นนิกายของฝ่ายสาวกยาน ทั้ง ๑๐ นิกายได้เจริญอยู่ในประเทศจีนระยะกาลหนึ่ง
แต่ทุกนิกายก็ต้องมีวินัยเป็นรากฐาน บัดนี้จะได้นำหลักธรรมของบางนิกายที่ยังแพร่หลายอยู่จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๕ นี้ มาเล่าสู่กันฟังโดยสังเขปคือ
๑. นิกายสุขาวดี นิกายนี้อาศัยพระสูตร ๓ พระสูตร คือ
อมิตายุวสูตร (
ออนีทอเก็ง) เป็นปทัฏฐานในสูตรทั้ง ๓ นั้น สอนให้สวดมนต์ภาวนาถึงพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง มีพระนามว่า อมิตาภะ ซึ่งประทับแสดงพระธรรม ณ สุขาวดีโลกธาตุอยู่ทางตะวันตกจากโลกเรานี้ไปถึงแสนโกฏิพุทธเกษตร ผู้ที่จะไปเกิด ณ ที่นั้นจะได้รับความสุขสมบูรณ์ไม่มีทุกข์ใจ การไปเกิดต้องการกรณีกิจ ๓ ข้อคือ
ก. ต้องมีสัทธา ความเชื่อมั่นปสาทะในพระอมิตาภะพุทธ
ข. ต้องตั้งอฐิษฐาน ปณิธานจิตต์มุ่งไปเกิด ณ แดนสุขาวดี
ค. ต้องสวดภาวนา รำฤกถึงพระอมิตาภะเป็นนิตย์นิกายนี้มีอิทธิพลเหนือ มหายานทุกนิกาย และมีปริมาณผู้นับถือมากที่สุด
๒. นิกายธฺยาน นิกายนี้มีคติสอนหนักไปทางโลกุตตรปัญญา ไม่ให้ยึดถือมั่่นในทุกสิ่งไม่ว่าจะเป็นธรรม หรือ อธรรม นิกายนี้กล่าวว่ วิมุติภาพจักบังเกิดขึ้นต่อเมื่อชำระจิตต์ให้สะอาดหมดจดจากกิเลส วิธีปฏิบัติก็คือศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติภาพมิได้อยู่ในคัมภีร์ หรือตัวอักษร คำเทศนา แต่อยู่ที่วิปัสสนาญาณ รู้แจ้งเห็นจริงในจิตต์ของเราจึงมีคำกล่าวว่า "ปุกลิมบุ้งยี่ติกจี้นั่งซิม" แปลว่าไม่ต้องแสดงเป็นลายลักษณอักษร แต่ขึ้นตรงไปยังจิตมนุษย์" ๓. นิกายสัทธรรมปุณฑริกสูตร นิกายนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นิกายเทียนไท้ ซึ่งเป็นชื่อภูเขาที่ตั้งของสำนัก ส่วนชื่อ
สัทธรรมปุณฑริกสูตรนั่นคือ พระสูตรซึ่งนิกายนี้อาศัยเป็นปัฏฐาน นิกายสอนว่า
สรรพสัตว์มีพุทธภาวะอันเป็นแก่นของจิตด้วยกันทุกคน เปรียบเหมือนดวงอาทิตย์ แต่ปุถุชนถูกกิเลส อันเปรียบดุจเมฆหมอกมาบดบังความสว่างนั้น เมื่อใดเรามีปัญญาเห็นแจ้งว่าเราคือส่วนหรือภาคหนึ่งของพุทธะทั้งหลายก็จักพ้นวัฏฏสงสารไปได้ เอกภาพแห่งชีวิตในสากลอีกฝ่ายหนึ่งยังมีกิเลสเท่านั้นจึงมีคำว่า "
พระพุทธเจ้าคือสภาพพุทธะในจิตของปวงสัตว์"
๔. นิกายอวตํสก นิกายนี้มีพระสูตรชื่อ
อวตังสกะสูตร (
ฮั้วเงียบเก็ง) เป็นมูลฐานมีคติคล้ายคลึงกับนิกายสัทธรรมปุณฑริกสูตรคือสอนถึงเอกภาพแห่งชีวิต ว่าเป็น
อมฤตจิต ซึ่งเป็นธาตุแท้ของสากลจักรวาล และภาวะอันนี้มีอยู่ทั่วไปในสรรพสัตว์เรียกว่า "
เจ็กจิงฮวบก่าย" แปลว่า
เอกสัตว์ธรรมธาตุซึ่งเป็นแก่งแห่งโลก หรือสรรพชีวิต ๕. นิกายมนตรยาน นิกายนี้เกิดในอินเดีย และแพร่สู่ประเทศจีนยุคราชวงศ์ "ถัง" และแพร่เข้าสู่ธิเบตในสมัยเดียวกันแต่ในประเทศจีนรุ่งเรืองอยู่ระยะหนึ่ง แล้วก็ข้ามทะเลไปเจริญอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ชาวจีนเรียกนิกายมนตรยานของญี่ปุ่นว่า "ตังมิก" คือมนตรยานแบบตะวันออก และเรียกนิกายมนตรยานของธิเบตว่า "จั้งมิก" คือมนตรยานแบบธิเบต เฉพาะในธิเบตนิกายมนตรยานได้รับยกย่องเป็นศาสนประจำชาติ และแพร่สู่มองโกเลีย ส่วนในประเทศจีนมนตรยานแบบธิเบตได้แพร่หลายในสมัยราชวงศ์หงวน และราชวงศ์แมนจู และได้รับการยกย่องจากพระมหากษัตริย์
นิกายนี้มีคติทางสมถะภาวนา และกสิณ วิธีต่าง ๆ ต้องปรับปรุง วจีกรรม กายกรรม มโนกรรม ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในธรรมและมีพิธีโยคะธรรม มณฑล บูชาต่าง ๆ อย่างพิศดารมาก อิทธิพลของพุทธศาสนา แทรกซึมไปในจิตใจชาวจีนและแทรกซึมทัั่วไปในวรรณคดี ศิลป ปรัชญาของจีนนับพันปี อารยธรรมส่วนใหญ่ของจีนเป็นหนี้บุญคุณต่อพระพุทธศาสนา อย่างที่ใครจะเถียงไม่ได้ เช่นเดียวกับพระพุทธศาสนาซึ่งได้ให้กำเนิดอารยธรรมแก่ชาติไทยดุจกัน บัดนี้ได้เวลาพอสมควรแล้ว ผมจึงขอปาฐกถาสังเขปแต่เพียงนี้ หากว่ามีข้อผิดผลาดด้วยความไม่รู้เท่าถึงการอันใด ก็ขอโปรดกรุณาอภัยด้วย
ขอบคุณที่มา : หนังสืออนุสรณ์มหาจุฬาฯ ครบรอบ ๘ ปี ๑๘ กรกฏาคม ๒๔๙๘
หน้าที่ ๑๓๗ – ๑๔๑
ผู้จัดพิมพ์เผยแพร่ในอินเตอร์เนต : นายศุภโชค ตีรถะ 15/12/2556
-http://www.facebook.com/groups/415369928511940/