ผู้เขียน หัวข้อ: ขันธ์5 (อย่างละเอียด) – ท่านพุทธทาส  (อ่าน 1506 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


                     

ขันธ์5 (อย่างละเอียด) – ท่านพุทธทาส อินทปัญโญ

อาตมาได้บรรยายหลักของพระพุทธศาสนามาโดยลำดับ นับตั้งแต่ว่า พุทธศาสนา คือวิชาหรือหลักปฏิบัติให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร; และที่ว่าอะไรเป็นอะไรนั้น ก็คือสังขารทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ว่าอะไรทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนัตตา สัตว์หรือคนทั่ว ๆ ไป ก็ยังหลงยึดถือผูกพันในสิ่งเหล่านั้น, นั่นเป็นเพราะอำนาจของอุปาทานทั้ง ๔; ปัญหาก็เกิดขึ้น คือความทุกข์เนื่องมาจากอุปาทานที่เข้าไปยึดถือในสิ่งทั้งปวง เราจึงต้องมีวิธีปฏิบัติ เพื่อจะตัดอุปาทาน ซึ่งเป็นเครื่องผูกล่ามสัตว์ให้ติดกับความทุกข์. อุบายวิธีนั้นก็ได้แก่สิ่งที่เรียกว่าไตรสิกขา ซึ่งมีอยู่ ๓ ชั้น ได้แก่ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลเป็นเครื่องปรับปรุงในเบื้องต้นให้มีความเป็นอยู่ที่ผาสุกและเหมาะที่จะมีจิตเป็นสมาธิ. จิตเป็นสมาธิหมายถึงมีกำลัง มีสมรรถภาพเพียงพอในการที่จะทำงานทางจิต ซึ่งได้แก่ปัญญา ทำการรู้แจ้งแทงตลอดในสิ่งที่จะต้องรู้แจ้ง โดยเฉพาะคือความทุกข์หรือสิ่งที่ผูกพันมนุษย์ให้ติดอยู่กับทุกข์ อันได้แก่อุปาทาน. แต่ว่ายังมีเรื่องที่เราจะต้องเข้าใจ อย่างมีความสำคัญเท่ากันอีกเรื่องหนึ่ง คือว่า อะไรเล่าที่เป็นที่ตั้งที่ยึดถือ หรือที่เกาะเกี่ยวของจิตด้วยอำนาจของอุปาทานนั้น ? เพราะฉะนั้นเราจึงต้องรู้เรื่องนั้น หรือรู้เรื่องราวต่าง ๆ ของสิ่งนั้น :

สำหรับเรื่องของสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งของอุปาทานนั้น ถ้าจะชี้กันง่าย ๆ ตรง ๆ ก็คือสิ่งที่เราเรียกกันว่าโลกนี้เอง. คำว่า โลก ๆ นี้ ในทางธรรมมีความหมายอีกอย่างหนึ่งซึ่งกว้างกว่าความหมายตามธรรมดา. เมื่อพูดว่าโลกทางธรรมะ หมายถึงสิ่งทั้งปวงทั้งหมดทั้งสิ้นกันทีเดียว ไม่ว่าจะเกี่ยวกับโลกมนุษย์นี้หรือโลกอื่น เช่นเทวโลก พรหมโลก หรือโลกที่เลวทราม เช่นโลกสัตว์เดรัจฉาน โลกนรก โลกปีศาจ เปรต อสุรกาย อะไรก็สุดแท้แต่จะมี, รวมแล้วก็เรียกว่าโลก. แต่การรู้จักโลกนี้ มีความยากลำบากอยู่บางอย่าง ตรงที่ว่ามันมีความลึกลับเป็นชั้น ๆ . ที่เรารู้จักกันโดยมากนั้น มักจะรู้จักกันแต่ชั้นนอก ๆ หรือที่เรียกว่า “ชั้นสมมติ”. เราไม่อาจจะรู้จักให้ลึกไปกว่าชั้นสมมติ; นี้หมายถึงตามลำพังสติปัญญาของคนทั่ว ๆ ไป หรือตามที่ปรกติวิสัยของคนทั่ว ๆ ไปจะรู้ได้. โดยเหตุนี้ ในทางพุทธศาสนาจึงมีการสอนให้ดูโลกกันหลาย ๆ ชั้น.

ท่านแนะวิธีให้ดู ด้วยการจำแนกโลกออกเป็น ๒ ฝ่าย คือที่เป็นฝ่ายวัตถุ เรียกว่า รูป อย่างหนึ่ง.ฝ่ายที่ไม่ใช่วัตถุ ได้แก่ฝ่ายที่เป็นจิตใจ เรียกว่า นามธรรม อีกอย่างหนึ่ง. ถ้าเราฟังคนโบราณพูด หรืออ่านข้อความในหนังสือโบราณ ๆ เราจะได้ยินคำว่า “รูปธรรม นามธรรม” นี้บ่อย ๆ . นั่นแหละ ขอให้เข้าใจว่า การใช้คำว่า รูปธรรม นามธรรม นั้น ก็คือการที่ท่านแบ่งโลกออกเป็น ๒ ฝ่าย; หรือแบ่งสิ่งทั้งหมดที่มีอยู่ในโลก ออกเป็น ๒ ประเภท คือประเภทที่เป็นรูปธรรมได้แก่วัตถุ, หรือส่วนที่ไม่ใช่จิตใจ ส่วนอีกพวกหนึ่งเป็นส่วนที่เป็นจิตใจ หรือรู้สึกได้ทางใจ ท่านรวมเรียกว่า นามธรรม. แต่เพื่อให้ละเอียดยิ่งไปกว่านั้นอีก ท่านได้แบ่งส่วนที่เป็นนามธรรมหรือจิตใจนี้ออกเป็น ๔ ส่วน เรียกว่า เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ. คำว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นคำที่ใช้กันดื่นในวงพุทธบริษัท เชื่อว่าคงได้ยินได้ฟังกันอยู่มากแล้ว. เมื่อเอาส่วนที่เรียกว่า “รูป” อีกหนึ่ง ซึ่งเป็นประเภทรูปธรรม มารวมเข้ากับ ๔ ส่วนที่เป็นนามธรรม หรือเป็นจิตใจ ก็ได้เป็น ๕ ส่วน; ท่านเลยนิยมเรียกว่า “ส่วน ๕ ส่วน”. ถ้าเรียกเป็นภาษาบาลีก็เรียกว่า เบญจขันธ์ หรือ ขันธ์ห้า แปลว่า ส่วน ๕ ส่วนที่ประกอบกันขึ้นเป็นโลก โดยเฉพาะก็คือเป็นสัตว์เป็นคนเรานี้เอง.

การที่จะดูโลก ก็หมายถึงการที่จะดูสัตว์โลกมากกว่าอย่างอื่น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือคน เพราะว่าปัญหานั้นอยู่ที่เรื่องของคน. โลกมีปัญหาที่ต้องรู้มากมาย ปัญหาสำคัญอยู่ตรงที่คน. การศึกษาเรื่องที่เกี่ยวกับคน นับว่าเป็นเรื่องที่เพียงพอ. ถ้าพูดให้ละเอียด เราจะไม่พูดเป็น คน จะพูดเป็น ส่วน ๕ ส่วน ก็ได้ เพราะว่าส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ประกอบเป็นโลกนี้ จะไม่มีอะไรมากไปกว่าส่วน ๕ ส่วนนี้ แล้วเผอิญส่วน ๕ ส่วนนี้ มีพร้อมอยู่ในคน; มันประกอบกันเข้าเป็นคน พร้อมกันอยู่ในคน ๆ หนึ่งแล้ว.

ในคนคนหนึ่ง ๆ นั้น มีการจำแนกเป็น ๕ ส่วน ส่วนที่เป็นร่างกาย เป็นวัตถุ เรียกว่า รูป หรือ รูปขันธ์ -ส่วนที่เป็นรูป. ส่วนที่เป็นจิตใจอีก ๔ ส่วนนั้น อาจจำแนกออกไปได้ คือ :-

ส่วน ๑ เรียกว่า “เวทนา” นั้น หมายถึงความรู้สึกที่เป็นความสุข หรือเป็นความทุกข์ หรือรู้สึกที่ยังไม่อาจจะเรียกว่าสุขหรือทุกข์. ความรู้สึกที่คนเราจะรู้สึกกันได้โดยทั่ว ๆ ไป ที่จะทำให้เป็นผล หรือที่เป็นเหตุให้เกิดผลต่าง ๆ ขึ้นนั้น ย่อมมีเพียง ๓ ประการนี้ คือสุขหรือพอใจอย่างหนึ่ง, ทุกข์หรือไม่พอใจอย่างหนึ่ง, อีกอย่างหนึ่งอยู่ในลักษณะที่ไม่อาจจะเรียกได้ว่าสุขหรือทุกข์ คือเป็นเรื่องที่ยังเฉย ๆ อยู่ แต่ก็เป็นความรู้สึกเหมือนกัน. ความรู้สึกทั้งหมดนี้ ย่อมมีประจำอยู่ในคนเราเป็นปรกติ. วันหนึ่ง ๆ ย่อมเต็มไปด้วยความรู้สึกสุข หรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ อย่างนี้เท่านั้น. ทุกคนมีเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เป็นปรกติ เช่นว่าเรามานั่งที่นี่ เกิดเมื่อย นี่ก็เรียกว่าเป็น ทุกขเวทนา. ที่ไม่เป็นทุกข์เช่นเราได้รู้สึกพอใจ เพราะได้ยินได้เห็นบางสิ่งบางอย่างในที่นี้ เรียกว่ากำลังมี สุขเวทนา หรือความรู้สึกที่เป็นสุข. ส่วนความรู้สึกเฉย ๆ นั้น เรามีในขณะที่รู้หรือสัมผัสสิ่งบางสิ่ง แต่อยู่ในลักษณะที่เรากำลังสงสัยว่าอะไรเป็นอะไรกันแน่ แล้วก็ตัดสินใจไม่ถูก ว่าจะชอบหรือจะชัง จะรักหรือจะเกลียด จะพอใจหรือไม่พอใจ ยังเป็นปัญหาอยู่ อย่างนี้เกิดเป็นความรู้สึกอันใดขึ้นมา เราก็นิยมเรียกว่า อทุก-ขมสุขเวทนา คือเวทนาที่ยังไม่กล่าวว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ชัดลงไป; เราจึงได้ประมวลแห่งความรู้สึกทั้งหมดเป็น ๓ พวก คือ สุข ทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์. ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นประจำในจิตใจของคนเรา เป็นความรู้สึกของใจที่มีประจำใจอยู่นี้ ท่านถือว่าเป็นส่วน ๆ หนึ่ง ที่ประกอบกันเป็นคนเราด้วยกัน และเรียกส่วนนี้ว่าเวทนา, หรือเวทนาขันธ์ นับเป็นส่วนที่ ๑ หรือส่วนแรกของฝ่ายจิต; แต่ก็เป็นส่วนที่ ๒ ของทั้งหมด.

ส่วนที่ ๒ ถัดไป เรียกว่า “สัญญา” คำว่า สัญญา นี้ ตามตัวหนังสือแปลว่า รู้พร้อม; เป็นความรู้สึกเหมือนกัน แต่ไม่ใช่รู้สึกอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น. รู้สึกอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น รู้ไปในทางที่ว่าเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์, ส่วนสัญญานี้ เป็นความรู้สึกตัวอยู่ เหมือนอย่างว่าเรากำลังรู้สึกตื่นอยู่ คือไม่หลับ ไม่สลบ ไม่ตาย หรือเรียกว่ามีสมปฤดี มีสติสมปฤดี. เราจะรู้จักตัวสติสมปฤดีหรือสัญญานี้ได้ โดยเปรียบเทียบดูว่าขณะที่เราไม่หลับ ไม่สลบ ไม่ตาย หรือไม่เมาจนเสียสติ อย่างนี้เป็นต้น สัญญาในที่นี้ยังมี คือยังกำหนัดสิ่งต่าง ๆ ได้ว่าอะไรเป็นอะไร อย่างเราทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ไม่เมา ไม่สลบ ไม่หลับ ไม่ตาย ก็กำหนดได้ว่าอะไรเป็นอะไร. ความมีสมปฤดี หรือความมีสัญญาอยู่ ทำให้เราไม่เมา ไม่สลบ ไม่หลับ ไม่ตาย. ขอให้พยายามคำนึงถึงตัวจริงของมัน ดีกว่าที่จะไปกำหนดเอาแต่ตัวหนังสือ หรือเสียงที่เรียกว่า สัญญา. คำว่า สัญญา ที่แท้ หมายถึงสิ่งที่กล่าวมาแล้ว; แต่โดยมากทั่ว ๆ ไป ท่านมักจะชอบพูดอธิบายกันว่าเป็นความจำ หรือความจำได้หมายรู้. นั้นก็ถูกเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าไม่ถูก ที่จะแปลสัญญา ว่าความจำได้หมายรู้. เพราะว่าถ้าเราจำได้หมายรู้อยู่ ก็คือเรายังไม่เมา ไม่สลบ ไม่หลับ ไม่ตาย ดังที่กล่าวแล้ว. ความที่เมื่อกระทบอะไรทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็รู้สึกหรือจำได้ ว่าเป็นอะไร เช่นรู้ว่าขาว ว่าเขียว ว่าแดง ว่าสั้น ว่ายาว ว่าสูง ว่าต่ำ ว่าคน ว่าสัตว์ ตามแต่จะจำได้ นั่นแหละเป็นความรู้สึกของสมปฤดีหรือสัญญาในที่นี้. ความรู้สึกส่วนที่ทำให้เรายังคงเป็นอย่างนี้อยู่นั่นแหละเรียกว่าสัญญา จัดเป็นส่วนประกอบส่วนที่ ๒ ของพวกที่เรียกว่า นามธรรม หรือจิต.

ส่วนที่ถัดไป ส่วนที่ ๓ เรียกว่า “สังขาร”. คำว่าสังขารนี้ มีความหมายมากที่สุด จนมันปนเปกันยุ่งไปหมด. คำว่า สังขาร ๆ นั้น มีอยู่หลายคำด้วยกัน ฉะนั้นอย่าเพ่อไปพูดไปนึกกันถึงคำว่าสังขารในพวกอื่น หรือหมู่อื่น. เราพูด สังขาร ในที่นี้กันก่อน. สังขารในส่วนที่เป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งของพวกนามธรรมในที่นี้ ได้แก่ตัวความคิด, คำว่า สังขาร ๆ นี้แปลว่าปรุง. คำว่า ปรุง ท่านทั้งหลายคงจะเข้าใจได้ว่า มันต้องหลาย ๆ อย่างมารวมกันเข้าด้วยกัน แล้วเกิดเป็นผลอันใดอันหนึ่งขึ้น จึงเรียกว่าปรุง. คำว่าสังขารนี้ ตัวหนังสือแปลว่า ปรุง แต่กิริยาอาการของมัน ที่เป็นอยู่หรือเป็นไปในคน ๆ หนึ่งนั้น ได้แก่การคิดหรือความคิด. ความรู้สึกส่วนที่เป็นความคิด เช่นคิดจะทำนั่น คิดจะพูดนี่ คิดอย่างนั้นคิดอย่างนี้ซึ่งจัดแบ่งเป็นคิดดี คิดเลว คิดชั่วร้าย คิดในทางไหนก็ตาม เหล่านี้จัดเป็นความคิดทั้งนั้น. ความรู้สึกที่เป็นความคิดพลุ่งขึ้นมาจากการปรุงแต่งในภายใน นี้เราเรียกว่าสังขาร, จำกัดความลงไปว่าเป็นความคิด. คำว่าสังขารในที่อื่นนั้น หมายถึงบุญกุศลที่ปรุงแต่งคนให้เกิดก็มี, ในที่อื่นอีก หมายถึงร่างกายหรือโครงร่างโครงสร้างสิ่งทั้งปวง ที่มีจิตใจครอง ไม่มีจิตใจครอง ดังนี้ก็มี. คำว่าสังขารนี้มีความหมายหลาย ๆ ชนิด หลายทาง แต่ว่ามันตรงกันทั้งนั้น โดยเหตุที่มันมีความหมายทางตัวหนังสือที่แปลว่าปรุงนั่นเอง. อะไรที่มีการปรุง ก็เรียกว่ามีสังขารได้, แต่ในองค์ประกอบของการประกอบ ๕ ส่วน ที่ประกอบกันเป็นคนนี้ หมายถึงความคิด. นี่จัดเป็นส่วนที่ ๓ ของนามธรรม, ถ้านับรวมทั้งหมดก็เป็นส่วนที่ ๔ เพราะนับมาแต่รูป.

ทีนี้ ส่วนที่ ๔ ซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายของฝ่ายนามธรรม เรียกว่า “วิญญาณ”. วิญญาณในที่นี้หมายถึงตัวจิตที่ทำหน้าที่รู้สึก ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กายทั่ว ๆ ไป และตลอดถึงที่มโนทวาร คือที่ใจเองด้วย. ศัพท์ว่า วิญญาณ นี้ แปลว่า รู้แจ้ง ก็จริง แต่ในที่นี้หมายถึงเท่าที่รู้ตามธรรมชาติ ไม่ได้หมายความว่ารู้ถูกต้องก็หามิได้. เพียงแต่รู้ชนิดที่เมื่อมีอะไรมากระทบทางตา ก็มารับอารมณ์ทางตา จนรู้สึกว่ามันเป็นรูปนั้นรูปนี้. เมื่ออะไรกระทบทางหู จะรู้สึกว่าเป็นเสียงนั้นเสียงนี้ขึ้นมา, ถ้ากระทบทางจมูก ก็รู้สึกว่าเป็นกลิ่นขึ้นมาดังนี้เป็นต้น, จิตที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ตลอดจนถึงทางใจ นี้เอง เรียกว่า วิญญาณ.

ในที่สุดเราก็ได้ส่วนประกอบทางจิตเป็น ๔ ส่วน คือ เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์, สัญญา คือ สมปฤดี ที่ทำให้ยังคงรู้สึกตัวหรือจำอะไรได้, สังขาร คือความคิด, วิญญาณ คือความรู้แจ้ง; ๔ ส่วนนี้เรียกว่า นามธรรม; คู่กันกับร่างกายล้วน ๆ ที่เรียกว่า รูปธรรม จึงเป็นอันว่าถ้าจำแนกละเอียดออกไปก็เป็น ๕. ถ้าจำแนกย่อ ๆ ก็เป็น ๒ ที่เป็นนามธรรมมี ๔, รวมกันกับรูปธรรม ๑ จึงจะเป็น ๕.

ขอให้จำไว้เป็นพิเศษ ว่า คำว่า “โลก” ในพระพุทธศาสนาท่านจำแนกกันอย่างนี้, เพราะว่าไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ ในการที่จะเป็นโลกหรือเป็นที่ตั้งของความทุกข์ก็ตาม. เราอย่าไปดูหมิ่นในคำที่เราไม่เข้าใจ เช่นคำว่า ขันธ์ห้า เป็นต้น แล้วจะไม่สนใจเสียเลย. การทำเช่นนี้ มันจะทำให้เราไม่อาจจะเข้าใจพุทธศาสนาได้. ถ้าเรายังมีความประสงค์จะเข้าใจพุทธศาสนาขอให้สนใจคำเหล่านี้ไว้ก่อน, อย่าเห็นเป็นคำนอกเรื่องนอกราว หรือเป็นคำที่มีไว้สำหรับพระ หรือคนแก่คนเฒ่าพ้นสมัย เพราะว่าต่อเมื่อไปศึกษาสิ่งเหล่านี้ให้เข้าใจชัดเจนว่าอะไรเป็นอะไรแล้วเท่านั้น เราจึงจะเข้าใจตัวความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ และวิธีจะดับทุกข์เสียได้ ซึ่งเป็นตัวพุทธศาสนาจริง ๆ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องสนใจในสิ่งที่เรียกว่ารูปธรรม นามธรรมนี้ หรือขันธ์ห้านี้ให้มากตามสมควร.

ขันธ์ห้า หรือส่วน ๕ ส่วนนี่แหละ เป็นที่เกาะยึดของอุปาทานทั้ง ๔ ที่ได้อธิบายแล้ววันก่อน. ขอให้ย้อนไปนำมาคิดให้เข้าใจกันให้ดีเสียใหม่ ให้รู้ว่าอุปาทานนั้น เป็นสิ่งที่ผูกพันหรือเกาะจับอยู่กับส่วน ๕ ส่วนหรือเบญจขันธ์ล้วน ๆ นี้ มันจึงจะเกิดมีเบญจขันธ์หรือส่วน ๕ ส่วน ที่เต็มแน่นอยู่ด้วยอุปาทาน โดยเฉพาะก็ได้แก่คนเราคนหนึ่ง ๆ นั่นเอง. ความเข้าใจผิดหรืออุปาทานที่กล่าวนี้ อาจยึดถือเอาทุก ๆ ส่วน หรือแต่ละส่วน ว่าเป็นตัวเป็นตนก็ได้ แล้วแต่ความโง่ของเรา การที่ยึดเอาส่วนรูปร่างกายล้วน ๆ เป็นตัวตน นั้นก็มีได้ เหมือนอย่างเด็กเล็ก ๆ ที่เซไปโดนประตูเจ็บ ได้เตะประตูเข้าให้ทีหนึ่ง แล้วก็หายโกรธและหายเจ็บ อย่างนี้หมายความว่ายึดเอารูปล้วน ๆ ไม่เกี่ยวกับจิตใจ คือประตู ซึ่งเป็นไม้แท้ ๆ ว่าเป็นตัวเป็นตน อย่างนี้ก็มีได้; และพึงเข้าใจว่า นั้นเป็นอุปาทานในขั้นต่ำที่สุด. สำหรับคนโต ๆ เช่นพวกเรา ถ้าหากไปเข้าใจผิดมีอุปาทานในร่างกาย เช่น โกรธร่างกายจนถึงกับไปทุบตีร่างกาย หรือโขกศีรษะตัวเอง เหล่านี้ ถ้าใครเคยมีบ้าง ก็ไปคิดดูเอาเอง ว่าเป็นเพราะอะไร. ที่แท้ก็เพราะเหตุอย่างเดียวกันกับเด็กที่กล่าวแล้ว คือไปยึดถือเอาส่วนที่เป็นรูปธรรมนั้น ว่าเป็นตัวตน แล้วจะให้ได้อย่างใจ. ถ้าหากว่าฉลาดขึ้นไปกว่านั้นก็จะไปยึดถือที่เวทนา หรือสัญญา หรือสังขาร หรือวิญญาณ ส่วนใดส่วนหนึ่ง ว่าเป็นตัวตน. ถ้าไม่อาจจะแยกออกได้ ก็ยึดถือทั้งกลุ่ม เป็นตัวตน คือเอาทั้ง ๕ ส่วน รวมกลุ่มเป็นตัวตนอย่างนี้ก็ได้ มันเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมและสติปัญญาความรู้ของแต่ละคน ๆ ไป. แต่เรื่องที่ยึดถือเอารูปหรือวัตถุเป็นตัวเป็นตน แล้วโกรธได้ รักได้นั้น เป็นเรื่องขั้นต้นหรือขั้นต่ำที่สุด.

มีต่อค่ะ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ขันธ์5 (อย่างละเอียด) – ท่านพุทธทาส
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: เมษายน 23, 2013, 12:53:31 am »
ต่อค่ะ

ถัดมาจากรูป ก็คือเวทนา. เวทนาความรู้สึกว่า สุข หรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ อย่างที่กล่าวแล้วนั้น มีทางที่จะถูกยึดเป็นตัวเป็นตนได้มากที่สุดเหมือนกัน. เราจะมองดูตัวอย่างในเรื่องนี้ ตรงที่เราหลงใหลในกามสุข โดยเฉพาะก็คือความเอร็ดอร่อย ความถูกอกถูกใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่าง ๆ ที่ได้รับอยู่. ตัวเวทนาในที่นี้ หมายถึงความรู้สึกเอร็ดอร่อยโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นความสุขชนิดที่ชาวโลกสมมติเอาเอง และเรียกว่าความสุข. ในที่นี้จึงเป็นอันว่า การติดในเวทนาก็คือเราติดในความรู้สึกที่เป็นความสุขหรือความอร่อยนั่นเอง. อาตมาต้องขออภัย ถ้าใช้คำ ๆ นี้มันไม่ตรงกับความหมายที่ท่านเข้าใจ หรือจะรู้สึกว่าเป็นคำที่หยาบโลนโสกโดกไปบ้าง แต่ไม่ทราบว่าจะใช้คำอะไรดี. ถ้าจะใช้คำบาลี ก็มีอยู่คำหนึ่ง ซึ่งคงจะแปลกหูท่านทั้งหลายมาก คือคำว่า “อัสสาทะ” เชื่อว่าท่านทั้งหลายคงจะไม่เคยได้ยิน. คำว่า อัสสาทะ เป็นคำบาลี ซึ่งหมายถึงความเอร็ดอร่อย ติดอกติดใจของ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส; ตรงกันข้ามจาก นิพพิทา คือความเบื่อหน่าย ดังที่เราเบื่อหน่ายไม่รู้สึกเพลิดเพลินในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง. เรากำลังเอร็ดอร่อยติดใจแน่นแฟ้นอยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เรียกว่ากำลังมี อัสสาทะ ในสิ่งนั้น. ความเอร็ดอร่อยนี้ก็คือ เวทนา นั่นเอง. โดยส่วนใหญ่ คนยึดถือเวทนาตัวนี้ เป็นตัวเป็นตนกันอยู่มาก หรือว่าแทบทั้งหมด เพราะว่าไม่มีใครที่จะไม่ชอบความเอร็ดอร่อย โดยเฉพาะทาง โผฏฐัพพะ คือการสัมผัสทางกาย หรือทางผิวหนัง. อำนาจของอวิชชาหรืออุปาทาน ทำให้มองไม่เห็นสิ่งอื่นใด, มองเห็นแต่ความเอร็ดอร่อยแล้วก็ยึดถือเป็นตัวเป็นตน ในลักษณะที่จะเอาเป็นของของตน.

คำที่ว่ายึดถือเอาเป็นตัวเป็นตนนี้ มีอยู่ ๒ อย่าง คือยึดถือว่าเป็นตัวตนที่เป็นฝ่ายจะเอา หรือผู้เอา นี้ฝ่ายหนึ่ง, และยึดถือเป็นตัวเป็นตนในฝ่ายที่จะถูกเอา หรือแม้ถูกรังเกียจ เกลียดชัง ก็ตาม นี้อีกฝ่ายหนึ่ง; มีอยู่ ๒ ฝ่ายเท่านั้น สิ่งที่เรียกว่าเวทนานั้น จะถูกยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตนในทางที่จะเอา หรือในทางที่จะไม่เอาก็ตาม เรียกได้ว่า เป็นความรู้สึกที่เป็นความยึดถือ หรือเป็นที่ตั้งของความทุกข์ได้ทั้งนั้น. ถ้ามันตรงกับความต้องการหรือเอร็ดอร่อย มันก็ยึดถือเป็นตัวเป็นตนที่มันจะเอา คือว่ารวบรัดดึงเข้ามาหาตัว. นี้เป็นการกอดรัดเอาไว้ด้วยอุปาทาน, ถ้ามันไม่ถูกไม่ตรงกับความต้องการ กลายเป็นความโกรธความชังอย่างนี้ ก็เป็นเวทนาเหมือนกัน แต่เป็นทุกขเวทนา; มันมีลักษณะที่จะถูกผลักถูกดันออกไปให้ห่าง ตรงกันข้ามจากที่จะดึงเข้ามา, แต่ก็เป็นการผลักออกไปด้วยอำนาจอุปาทานอีกนั่นเอง. เป็นอันว่า ถ้ารัก ก็รักด้วยอุปาทาน, ถ้าเกลียด ก็เกลียดด้วยอุปาทานโดยเท่ากัน. ทั้ง ๒ ฝ่ายนี้ เป็นที่ตั้งของความทุกข์เท่ากัน.

ความรู้สึกชอบ กับความรู้สึกชังนี้ ตามความหมายอันแท้จริงของทางธรรมแล้ว ท่านถือว่าเป็นความทุกข์เท่ากัน. แต่ความหมายอย่างโลก ๆ ที่คนธรรมดารู้สึกนั้น กลับเห็นว่าฝ่ายที่ชอบที่รักนั้นเป็นความสุข ไม่ใช่ความทุกข์, ฝ่ายที่ไม่ชอบ จึงเป็นความทุกข์. นี่เรียกว่ามองกันอย่างโลก ๆ หรืออย่างติดสมมติ ซึ่งจะอธิบายทีหลัง. ทางธรรมนั้น หมายความว่ามันทำให้เกิดการทรมานเท่ากัน : ความชอบหรือความรัก ก็ทำให้เกิดความฟูขึ้นในทางจิตใจ; ความไม่ชอบไม่รัก ก็ทำให้แฟบลงในทางจิตใจ. การได้กับการเสีย การดีใจกับการเสียใจ เหล่านี้เป็นการทำให้จิตเหน็ดเหนื่อยเท่ากัน; ทำให้เกิดความอยาก ทำให้เกิดการวนเวียนในความทุกข์เท่ากัน. นี่เป็นการมองดูในลักษณะของธรรมะ ตามวิถีทางธรรม. แต่ถ้ามองดูในวิถีทางของโลกียะ ก้เป็นอย่างที่ว่ามาแล้ว คือถ้าเป็นสุขก็มัวแต่รัก ถ้าเป็นทุกข์ก็มัวแต่ชัง ถ้าเป็นอุเบกขาก็มัวรำคาญสงสัยต่าง ๆ นานา อยู่ไม่เว้นแต่ละวัน. ทั้งหมดนั้น เรียกว่าเป็นความยึดถือเวทนานั้น ๆว่าเป็นตัวตน. ขอให้ทุกคนพิจารณาให้เห็นการยึดถือเวทนาเป็นตัวตนของตัวเอง ให้เข้าใจเสียให้ถูกต้อง จะเป็นหนทางที่จะทำจิตให้เป็นอิสระจากเวทนา. เวทนานี่แหละ จะเป็นสิ่งที่ครอบงำใจ แล้วดึงจูงเราไปสู่สภาพที่เราจะต้องเสียใจทีหลัง. ในทางปฏิบัติเพื่อบรรลุพระอรหันต์ที่มีปรากฏอยู่ในพระสูตรทั้งหลาย ที่สอนให้พิจารณาเรื่องเวทนาโดยเฉพาะก็มีอยู่มาก; มีผู้ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ เพราะกำหนดเวทนาเป็นวัตถุสำหรับการพิจารณา นี้ก็มีมาก.

เวทนานี้ เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือได้ง่ายกว่าสิ่งใด ๆ ทั้งหมด เพราะมันเป็นตัวผลสุดท้ายของสิ่งที่เราพากเพียรทำ หรือเข้าไปเกี่ยวข้องและยึดถือกันอยู่เป็นประจำ. ขอให้คิดดูว่าเราอุตส่าห์ศึกษาเล่าเรียน อุตส่าห์ประกอบการงานอาชีพต่าง ๆ ก็เพื่อให้ได้เงินมา แล้วก็ไปซื้อหาสิ่งต่าง ๆ มา นับตั้งแต่สิ่งของเครื่องใช้ เครื่องกิน เครื่องบำรุงบำเรอ; ตลอดจนถึงรสจากเพศตรงกันข้าม หรืออะไรทำนองนี้ ก็หามาได้ด้วยเงินที่เราหามาได้ แล้วก็ทำการบริโภคของเหล่านั้นเพื่อผลอย่างเดียวคือสุขเวทนา อย่างวิสัยโลก ดังที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง. เรื่องมันไปจบไปสุดอยู่ตรงสุขเวทนา คือความเอร็ดอร่อย ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ซึ่งได้มาจากสิ่งที่เราลงทุนลงแรงทำงาน แล้วซื้อหามา. เราลงทุนด้วยกำลังทรัพย์ กำลังกาย กำลังใจ ทั้งหมดจัดหามา แล้วก็เพื่อผลคือเวทนาอันเดียว เป็นสุขเวทนาทางลิ้นบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางตาบ้าง ซึ่งทราบกันดีแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องจาระไนให้เป็นรายละเอียด แต่ความสำคัญมีอยู่ตรงที่ว่า ถ้าไม่เพราะอำนาจสุขเวทนานี้แล้ว ท่านทั้งหลายก็คงจะไม่ลงทุนเรียน ลงทุนทำงาน ลงเรี่ยวลงแรงหาเงิน นี่เป็นส่วนใหญ่, ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า เรื่องของเวทนานั้นไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเสียแล้ว. ถ้ามีความรู้ความเข้าใจแล้ว จะสามารถควบคุมมันได้ จะทำให้เรามีจิตใจสูงอยู่เหนือความรู้สึกชนิดนั้น, จะทำให้เราสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้สูง หรือดีกว่าที่เราจะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมดา ฉะนั้นเราจึงควรเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าเวทนานี้กันให้ถูกต้อง.

อาตมาอยากจะชี้ต่อไปถึงข้อที่ว่า แม้เรื่องในระหว่างสังคมที่ไม่เป็นความเรียบร้อย ได้แต่ยุ่งยากต่าง ๆ ก็มีมูลมาจากสุขเวทนานี้เหมือนกัน แม้การกระทบกระทั่งระหว่างประเทศชาติ หรือระหว่างครึ่งโลกกับครึ่งโลกที่จะต้องรบกัน ก็ขอให้คิดดูเถอะ ว่าเมื่อไล่เบี้ยไปให้ถึงที่สุดแล้ว จะไปสุดตรงความจริงที่ว่า ทุกคนตกเป็นทาสของเวทนา โดยเฉพาะก็คือสุขเวทนาอย่างที่กล่าวมาแล้ว ในทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย. การทำสงครามกันนั้น ไม่ใช่ว่ามีมูลมาจากความยึดถือเกี่ยวกับลัทธิ หรือเกี่ยวกับอุดมคติอะไรโดยแท้จริงก็หามิได้ โดยที่แท้แล้ว มันก็เนื่องมาจากประโยชน์; ต่างฝ่ายต่างมุ่งจะได้ประโยชน์ จะกอบโกยเอาประโยชน์; ส่วนตัวลัทธินั้นเป็นเครื่องบังหน้า หรือเป็นเครื่องมือประกอบรอง ๆ ลงไปเท่านั้นเอง ส่วนลึกที่สุดอยู่ที่การตกเป็นทาสของเวทนา. ฉะนั้นการรู้จักเวทนา ก็หมายถึงการรู้จักมูลเหตุอันสำคัญ ที่ทำให้คนเราตกเป็นทาสของกิเลสหรือความทุกข์.

เมื่อมนุษย์โลกเป็นอย่างไร ในโลกที่สูงไปกว่า เช่น เทวโลก พรหมโลก ก็มีลักษณะอย่างนั้น คือตกอยู่ภายใต้อำนาจเวทนาอย่างเดียวกัน. อย่างชนิดที่เรียกว่าสวรรค์หรือเทวโลก ก็เพ่งถึงสุขเวทนาอย่างเดียวกันกับในมนุษย์โลก เพียงแต่เขาบัญญัติให้เป็นเรื่องที่ดีกว่า ประณีตกว่า สูงกว่า ได้อย่างถึงอกถึงใจกว่า เท่านั้นเอง. แต่ความหมายก็ยังไม่พ้นไปจากเรื่องอร่อยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อยู่นั่นเอง. ถ้าสูงไปกว่าสวรรค์ ถึงพรหมโลก. นี่ในชั้นนี้ต้องยกเวทนาที่เป็นความอร่อยในทางกามารมณ์ออกเสีย แต่ก็ไม่พ้นจากความเอร็ดอร่อยทางจิตอีกชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า ฌาน. เมื่ออยู่ในฌานหรือสมาธิ เกิดความสุขใจเป็นรสอร่อยขึ้น ก็ติดใจในรสอร่อยนั้นเหมือนกัน แม้ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ ก็เป็นเวทนาอยู่นั่นเอง ดังนี้เป็นต้น. และข้อนี้ไม่ต้องกล่าวถึงสัตว์ที่ต่ำลงไปกว่ามนุษย์ มันย่อมตกอยู่ภายใต้อำนาจของเวทนาอย่างไม่เป็นระเบียบยิ่งกว่ามนุษย์เรา. ฉะนั้น การรู้เรื่องเวทนาว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะรู้เรื่องเวทนาไม่เป็นตัวตน ไม่ควรจะยึดถือ จึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์.

ส่วนที่ถัดไปคือ สัญญาขันธ์ หรือสมปฤดีนั้น มีทางที่จะยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตนได้ง่ายเหมือนกัน. เรื่องอย่างที่ชาวบ้านทั่ว ๆ ไป เขาพูดว่า ถ้าเราหลับ มีอะไรบางอย่างออกไปจากตัวเรา จะเรียกว่าเจตภูตหรือเป็นอะไรก็สุดแท้ ในขณะนั้นเราก็เหมือนกับท่อนไม้ไม่มีความรู้สึกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย. พอมีสิ่งนั้นกลับมาสู่เราอีกตามเดิม จึงรู้สึกมีสมปฤดีตามเดิม มีสติสตังขึ้นมาตามเดิม, เขาสอนและเชื่อกันอย่างนั้น; เขายิ่งมีทางที่จะยึดถือสัญญาหรือสมปฤดีนี้ ว่าเป็นตัวตนมากขึ้น. แต่ถ้าว่าตามทางพุทธศาสนาแล้วสัญญาไม่ใช่เป็นตัวตนอย่างนั้น สัญญาเป็นเพียงสติสมปฤดีหรือความรู้สึกจำได้หมายรู้ที่ยังคงดีอยู่ เพราะว่ายังมีการปรุงแต่งที่เป็นระเบียบในร่างกายนี้ดีอยู่. พอเกิดการไม่เป็นระเบียบในการปรุงแต่งในร่างกายนี้เท่านั้น สิ่งที่เรียกว่าสัญญา หรือเจตสิกธรรมส่วนนี้ ก็จะกลายเป็นใช้ไม่ได้ไปทันที ในพุทธศาสนาไม่ยอมรับว่าสัญญาเป็นตัวตนเพราะเหตุนี้. แต่คนทั่วไปก็ชอบเดา หรือชอบสันนิษฐาน หรือชอบใช้เหตุผลไปในทางที่จะยึดถือเอาสิ่งที่ทำให้เราตามปรกติ ผิดกับคนสลบหรือคนบ้านั่นแหละว่าเป็นตัวตน. การศึกษาทางพุทธศาสนากลับได้ความรู้ที่ตรงกันข้าม ว่านั่นไม่ใช่ตัวตน, นั้นเป็นเพียงผลของการปรุงแต่งที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติในคนเรา คนหนึ่ง ๆ .

ส่วนหรือขันธ์ ที่ถัดไปคือ สังขาร ได้แก่ความคิด. ความรู้สึกคิด จะทำนั่นจะทำนี่ จะได้นั่น จะได้นี่ จะเป็นความคิดดีก็ตาม ความคิดชั่วก็ตาม นี่ก็ยิ่งจะยึดถือว่าเป็นตัวตนหนักขึ้นไปอีก. ใคร ๆ ก็พอจะรู้สึกได้ว่า ถ้าจะเป็นตัวตนกันบ้างละก็ ตัวผู้คิดนี่น่าจะเป็นตัวตนมากกว่าอย่างอื่น อย่างนักปรัชญาคนหนึ่งของยุคปัจจุบัน ดูเหมือนจะชื่อว่า Bergsgan หรืออะไรทำนองนี้ถ้าอาตมาจำไม่ผิด,[๑] ซึ่งเขามีปรัชญาส่วนของเขาง่าย ๆ ว่า “ข้าพเจ้าคิด ข้าพเจ้าจึงมีอยู่” ซึ่งเป็นคำแปลของภาษาละติน แปลแล้วได้อย่างนั้น. นี่เป็นเพราะถือเอาโดยเหตุผลที่ว่า เพราะว่ามีการคิดได้อยู่ จึงมีผู้คิด คือตัวข้าพเจ้า. ในที่นี้เราจะเห็นว่า แม้นักปรัชญาสมัยปัจจุบัน ซึ่งเราเรียกว่าสมัยวิทยาศาสตร์แล้วอย่างนี้ ก็ยังมีผู้ยึดถือตัวตนอย่างเดียวกับในสมัยเมื่อสองสามพันกว่าปีมาแล้ว โดยยึดถือเอาตัวความคิดว่าเป็นตัวตน ยึดถือเอาสิ่งที่ตนเข้าใจว่าเป็น “ผู้คิด” ว่าเป็นตัวตน.
————————-
[๑] ในวันแสดงจริง จำผิด, ที่ถูกเป็น Descartes ไม่ใช่ Bergsgan. แต่การพิมพ์ในที่นี้คงไว้ตามที่แสดงจริง, เพราะเรื่องคาบเกี่ยวกันกับการบรรยายครั้งถัดไป.

แต่พุทธศาสนาก็ยังคงเหมือนกันกับข้ออื่น ในการที่ได้ปฏิเสธเวทนาและสัญญา ว่าไม่ใช่ตัวตนมาแล้ว ได้ปฏิเสธความคิด หรือตัวจิตที่เป็นตัวคิด ทำหน้าที่คิดในขณะนั้นก็ตาม ว่าไม่ใช่ตัวตนไปตามเดิม; เพราะกิริยาที่คิดขึ้นมาได้นั้น เป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นผลของการปรุงแต่งของสิ่งหลาย ๆ สิ่ง ไม่ใช่ตัวตน สำเร็จรูปเป็นความคิดขึ้นมาได้ในกลุ่มของส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็นคนขึ้นมา โดยไม่ต้องมีตัว “ข้าพเจ้า” ที่เป็นตัวเป็นตนอย่างที่ว่า. สังขารหรือความคิดนี้ จึงถูกบัญญัติว่าเป็นอนัตตา คือไม่เป็นตัวเป็นตน อย่างเดียวกันกับขันธ์อื่น ๆ ที่กล่าวมาแล้ว. โดยเฉพาะคำพูดในพุทธศาสนา ก็ระบุชัดอยู่แล้วว่า “สังขาร ๆ” คำว่าสังขาร แปลว่า ของปรุง, คือของหลาย ๆ อย่างมาปรุงกันเข้า จึงยิ่งไม่ใช่ตัวตน. ความลำบากหรือความเข้าใจยากอยู่ตรงที่ว่า เราไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของนามธรรม หรือนามธาตุ อย่างเพียงพอ. เรารู้จักแต่เรื่องของรูปธาตุ ธาตุนั่นธาตุนี่ ที่เป็นวัตถุ. แต่ ธาตุอีกประเภทหนึ่ง ที่เป็นนามธรรม ไม่ใช่วัตถุ นี่เราแทบจะไม่เข้าใจกันเสียเลย เราจึงเข้าใจยากในเรื่องการปรุงของธาตุที่เป็นนามธาตุ; ฉะนั้นเราต้องศึกษากันต่อไป ในที่นี้บอกได้แต่เพียงหลักตามทางพุทธ-ศาสนา ว่าเป็นการปรุงของธาตุหลาย ๆ ธาตุ รวมทั้งวัตถุและนามธาตุ สิ่งที่เรียกว่าความคิดหรือ “สังขาร” ในที่นี้ จึงเกิดขึ้นในใจ ในสิ่งที่เราเรียกกันว่าตัวเราหรือคนเรานี้ได้ ในลักษณะที่ทำให้เข้าใจไปว่ามีผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้คิด หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นผู้คิด จึงทำให้มีทางเชื่อไปในทำนองว่า เป็น เจตภูต เป็นวิญญาณ เป็นตัวตน เป็นตัวเจ้าของร่าง หรืออะไรในทำนองนี้. พุทธศาสนาปฏิเสธสิ่งเหล่านี้อย่างสิ้นเชิง. เมื่อได้แยกออกเป็นส่วน ๆ ไม่มีอะไรเหลือแล้ว ก็พิสูจน์แต่ละส่วน ๆ ว่าไม่มีส่วนไหนที่เป็นตัวตน, ตลอดถึงส่วนที่เป็นความคิด ก็ไม่ใช่ตัวตนอย่างที่ว่านี้.

ส่วนถัดไปอีก และเป็นส่วนสุดท้ายที่เรียกว่า “วิญญาณ” ซึ่งทำหน้าที่รู้แจ้ง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นั่นก็เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนเหมือนกัน. เพราะเหตุว่า อวัยวะนั้น ๆ , ซึ่งตามภาษาธรรมะเรียกว่า อายตนะ, คือตาพร้อมทั้งประสาทตา หูพร้อมทั้งประสาทหู จมูกพร้อมทั้งประสาทที่จมูก ลิ้นพร้อมทั้งประสาทที่ลิ้น ผิวกายทั่ว ๆ ไป พร้อมทั้งเส้นประสาทที่นั่น ล้วนแต่มีสมรรถภาพ ที่จะทำการรับอารมณ์ภายนอก ที่เรียกว่าอายตนะภายนอก ได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อยู่ตลอดเวลา เมื่อมากระทบกันเข้าพร้อมกันทั้งสองฝ่าย นามธรรมส่วนที่เรียกวิญญาณในที่นี้ ก็เกิดขึ้นในขณะนั้น เป็นสามฝ่ายด้วยกัน และจะมีความรู้แจ้งเกิดขึ้นที่ตรงนั้น เช่นที่ตา ก็มีความรู้แจ้งเกิดขึ้นที่ตา ว่ารูปนั้นมีสัณฐานอย่างไร เป็นรูปคนหรือสัตว์ สั้นหรือยาว ขาวหรือดำ สูงหรือต่ำ อย่างนี้เป็นต้น. ความรู้แจ้งที่เกิดขึ้นทำนองนี้ เป็นเหมือนกับแมคานิคของธรรมชาติ. นี่เป็นการพูดตามหลักของพุทธศาสนา ถือว่ามันเป็นแมคานิคอันหนึ่ง เป็นกลไกอันหนึ่ง ซึ่งเป็นไปเองตามธรรมชาติอย่างอัตโนมัติ ซึ่งมันจะต้องเกิดขึ้นอย่างนั้นในขณะนั้น สำเร็จเป็นการรู้แจ้ง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย. ทีนี้คนบางพวกยึดถือว่า นั่นเป็นตัวเจตภูต เป็นตัววิญญาณ แล่นออกมาจากใจ มารับอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น อย่างนี้ก็มี, แล้วก็ยึดถือเอาเป็นตัวเป็นตน. แต่ตามหลักพุทธศาสนาถือว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง, มันเป็นธรรมชาติอย่างนั้น. ถ้ารูปและตา พร้อมทั้งประสาท ได้มีการกระทบกัน ก็จะมีการรู้แจ้งเกิดขึ้น สำเร็จเป็นความรู้แจ้ง ที่เรียกว่าจักษุวิญญาณ โสตวิญญาณ เป็นต้น ตามชื่อของที่ตั้งแห่งการกระทบ, โดยไม่ต้องมีตัวตนอะไรที่ไหนอีก.
เมื่อได้แยกดูทีละส่วน ๆ ทั้ง ๕ ส่วน ว่าไม่มีส่วนไหนที่เป็นตัวตน

-http://www.facebook.com/pages/อสุภะกรรมฐาน-กรณ์-มีดี/313871158714717