บาทแข็ง-ดอกสูง ใครพุงปลิ้น-ใครท้องกิ่ว คำถามถึงแบงก์ชาติ
-http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1363839426&grpid=&catid=12&subcatid=1200-
จากเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ซื้อขายเงินบาทไทยกับเงินดอลลาร์ สหรัฐ เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2556 อยู่ที่ 30.6212
มาถึงวันที่ 19 มี.ค. 2556 อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยระหว่างเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐที่ธุรกิจและคนธรรมดาซื้อขายอยู่ที่ 29.5128
ถ้าเป็นอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคาร 29.371 บาท/1 ดอลลาร์สหรัฐ
แข็งตัวขึ้นในชั่ว 2 เดือนครึ่ง 1.1 บาท หรือประมาณร้อยละ 3.6
และยังครองสถิติประเทศที่สกุลเงินแข็งขึ้นสูงสุดเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน
สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ ที่เพิ่มจาก 1,391.93 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2556
มาเป็น 1,591.65 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2556
เพิ่มขึ้น 200 จุด หรือร้อยละ 14.37 ในช่วงเวลา 2 เดือนครึ่ง
ทั้ง ค่าเงินบาทที่แข็งตัวอย่างรวดเร็ว และดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่พุ่งทะยาน เป็น "อาการ" ที่เห็นชัดเจนที่สุดของเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ
จาก ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ตามตารางประกอบ) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาหนี้สินต่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นกว่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 1,500,000 ล้านบาท
แต่ในจำนวนนี้เป็นการเพิ่มขึ้นของหนี้สินในภาคธุรกิจที่กู้มาเพื่อลงทุน หรือขยายงานเพียงประมาณ 12,000 ล้านเหรียญ
ที่เหลืออีกเกือบ 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เกิดจากธนาคารพาณิชย์และนักค้าเงินต่างประเทศกู้ยืมหรือนำเข้ามา
เพื่อกินส่วนต่างทั้งจากอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย และราคาทรัพย์สิน อาทิ หุ้นหรือที่ดิน
ตาม ตารางจะเห็นว่าหนี้สินในภาครัฐ คือทั้งของรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่มขึ้นรวมกันถึงประมาณ 20,000 ล้านเหรียญ หรือ 600,000 ล้านบาท
ทั้งที่รัฐบาลหรือธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้ออกไปกู้เงินจากต่างประเทศ
แต่เป็นเพราะเมื่อมีนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาซื้อพันธบัตร ตามบัญชีจะบันทึกว่าเป็น "หนี้สินต่างประเทศ"
หนี้สินต่างประเทศที่มาในรูปพันธบัตรนี้เพิ่มขึ้นในส่วนของรัฐบาลเกือบ 12,000 ล้านเหรียญ
และเพิ่มขึ้นในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทยเกือบ 8,000 ล้านเหรียญ
ขณะที่หนี้สินต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้นประมาณ 18,000 ล้านเหรียญ
เป็นหนี้ระยะยาวที่เพิ่มขึ้น 8,000 ล้านเหรียญ และหนี้ระยะสั้น 10,000 ล้านเหรียญ
วัตถุประสงค์ก็ไม่ได้แตกต่างจากนักลงทุนต่างประเทศแต่อย่างใด
คือนำเงินต้นทุนต่ำจากต่างประเทศเข้ามากินกำไรส่วนต่างในเมืองไทย
จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมกำไรธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา
ในรายงานผลประกอบการในปี 2555 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ธนาคารกรุงเทพ กำไรสุทธิ 33,021 ล้านบาท เทียบกับปี 2554 ที่กำไร 27,337 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,684 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.79
ธนาคารกสิกรไทย กำไรสุทธิ 35,260 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่กำไร 24,225 ล้านบาท หรือร้อยละ 45.55
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กำไร 14,625 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.87
ธนาคารทหารไทย กำไร 1,605 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 59.97% จากการตั้งสำรองพิเศษเพิ่มขึ้นอีก 5 พันล้านบาท
ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กำไร 1,580 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.06
ธนาคารทิสโก้ กำไร 3,705 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.44
ธนาคารไทยพาณิชย์ กำไรสุทธิ 40,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.9
ขณะที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์มีกำไรเพิ่มขึ้นรวมกันหลายหมื่นล้านบาท
นักลงทุนต่างประเทศซึ่ง "เข้าฮอสสองต่อ" คือกำไรทั้งค่าเงิน และกำไรจากราคาหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้น
จะกินส่วนต่างจากความเอื้ออารีของธนาคารแห่งประเทศไทยไปแล้วเท่าไหร่
การปล่อยให้เงินทุนระยะสั้นไหลเข้าอย่างเสรีโดยไม่จัดการอะไร หรือไม่มีมาตรการรองรับสกัดกั้น
ในอีกด้านก็คือการส่งเสริมให้เกิดการเก็งกำไรในภาคที่ไม่ได้ก่อให้เกิดการผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ทุกนาทีที่ผ่านไป คือกำไรของธนาคารและนักค้าเงินต่างประเทศ
นี่คือความต้องการของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือ?