"มีตัวตน มีมูลค่า แต่ไม่มีความหมาย" ภาพสะท้อนตัวตนของคนในโลกทุนนิยมจาก Spirited Away
สิ่งที่ผู้เขียนอยากชวนมองในเรื่อง Spirited Away ก็คือเรื่องทุนนิยมในญี่ปุ่น หลายท่านอาจจะสงสัยว่ามันเกี่ยวกันได้ยังไง แต่อยากให้เริ่มจากการตั้งคำถามว่าทำไมทุนนิยมที่ญี่ปุ่นมันถึงโตเอ้าโตเอาเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านชาวเอเชียด้วยกัน หากมองว่าคนในโรงอาบน้ำจะขยันขันแข็ง แม้แต่หนูน้อยอิจิโรที่แรก ๆ อาจจะมองว่าเป็นเด็กที่ไม่ค่อยเอาการเอางาน (เอ๊ะ... มิยาซากิเขาแอบจิกเด็กญี่ปุ่นเจนเนอเรชันนี้ว่ากว่าญี่ปุ่นจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและมีชีวิตที่สะดวกสบายก็เกิดจากการทำงานหนักหรือเปล่านี่ หุหุหุ) ก็มาจากการมองชีวิตของคนญี่ปุ่นจากฐานความคิดในพุทธศาสนานิกายมหายานลัทธิหนึ่ง (จริง ๆ แล้วที่นู่นมีลัทธิเยอะมาก ๆ ผู้เขียนจำชื่อไม่ได้ ขอติดเอาไว้ก่อนละกันนะคะ) ว่าชีวิตที่มีคุณค่าคือชีวิตที่ทำงาน คล้ายกับประเทศทางตะวันตกที่คุณลุง แมกซ์ เวเบอร์ นักสังคมวิทยาชาวเยอรมันที่เขาศึกษาแนวคิดทางศาสนาที่มีผลต่อการเป็นประเทศทุนนิยมในหนังสือ "Protestant Ethic and the Spirit of Capitalism" ว่าแนวคิดทางศาสนามีผลต่อการกลายเป็นสังคมที่รับเอาระบบทุนนิยมมามากน้อยเพียงใด ตอนแรกลุงแกไปศึกษาศาสนาที่อินเดียพบว่าคงไม่มีทางเป็นทุนนิยมได้เพราะความคิดในศาสนาของเขาสอนให้ "ละโลก" เสียมากกว่า เช่น ความคิดเรื่องนิพาน (ศาสนาพุทธ) กลับไปเป็นหนึ่งกับพรหมมัน (ฮินดู) และการให้ทานหรือสอนเรื่องการเสียสละทรัพย์สิน จากนั้นลุงแกก็ไปศึกษาลัทธิขงจื๊อในจีนก็พบว่าพอมีหวังอยู่บ้าง แต่ติดตรงที่จีนยังเน้นเรื่องระบบเครือญาติและลำดับความอาวุโส ส่วนทางตะวันตก โดยเฉพาะประเทศที่เป็น Protestant จะมีฐานความเชื่อทางศาสนาที่สามารถทำให้ทุนนิยมเติบโตได้ นั่นก็คือความเชื่อที่ว่าการทำงานหนัก ขยันขันแข็ง ผ่านอุปสรรคอันเป็นบททดสอบจากพระเจ้า เมื่อประสบความสำเร็จแล้วอาณาจักรของพระเจ้าก็จะเปิดรอรับคนเช่นนี้เข้าไปอยู่กับพระองค์ (แต่ความสำเร็จต้องไม่คดโกงนะขอรับ)
ดังนั้นที่ญี่ปุ่นจึงมีฐานความคิดเรื่องการทำงานที่ทำให้รับแนวคิดของทุนนิยมได้ ส่วนความคิดแบบสังคมนิยมหรือแบบคอมมิวนิสต์ของคุณลุง คาร์ล มาร์ซเขาจะไม่ค่อยรับกัน (อาจจะมองว่าเป็นแนวคิดที่ส่งเสริมให้คนขี้เกียจด้วยซ้ำ) อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นจะมีความคิดแบบสังคมนิยมไปในทางสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวมมากกว่าเรื่องการกระจายผลผลิตส่วนเกิน เช่น หากพบว่าตัวเองทำให้บริษัทเจ๊ง นักการเมืองถูกจับได้ว่าคดโกงเขาจะแสดงความรับผิดชอบหรือแสดงการสำนึกในความผิดด้วยการฆ่าตัวตาย ไม่ใช่เพราะหนีความผิด แต่เขามีความรู้สึกว่าหากอยู่อย่างไร้เกียรติก็สู้ตายเสียดีกว่า (ไม่เหมือนบางระเทศเนอะ ที่หลักฐานว่าโกงการเลือกตั้งเห็นอยู่ตำตาแต่ก็ปฏิเสธว่าไม่ได้ทำ อิอิอิ แต่ที่น่าเจ็บใจกว่าก็คือคนในประเทศนั้นกลับปล่อยให้โกงกันได้ซะงั้นอ่ะ)
ด้วยเหตุนี้ หากใครไปญี่ปุ่นแล้วจะแปลกใจว่าทำไมคนญี่ปุ่นถึงเอาจริงเอาจังกับการทำงาน แม้แต่ในที่ทำงานก็ไม่ยิ้มแย้มแจ่มใสหรือหัวเราะแบบพี่ไทย เพื่อนรักชาวญี่ปุ่นของผู้เขียนเองก็มีปัญหาเรื่องนี้เช่นกัน เนื่องจากเจ้านายจะดุเธอบ่อย ๆ เพราะเป็นคนยิ้มและหัวเราะง่าย (มักจะบ่นให้ผู้เขียนฟังบ่อย ๆ ว่าอยากทำงานที่เชียงใหม่ ไม่อยากกลับไปญี่ปุ่น) แต่ก็ใช่ว่าจะดีไปเสียหมดนะคะท่านผู้อ่าน เรื่องความเครียด เรื่องความแปลกแยก คนคงพูดถึงผลกระทบในด้านเหล่านี้เยอะละ ผู้เขียนจะชวนท่านผู้อ่านคุยถึงการมองโลกมองชีวิตที่เปลี่ยนไปจากความคิดแบบทุนนิยมที่สะท้อนผ่านเรื่อง Spirited Away
การมีตัวตนในสังคมสังคมหนึ่งปัจเจกบุคคลนั้นอาจจะต้องเสียสละตัวตนหรือความเคยชินอะไรบางอย่างเพื่อให้เกิดการยอมรับถึงความมีอยู่ของคน ๆ นั้น ท่านผู้อ่านเคยสงสัยไหมว่ากว่าที่มนุษย์จะมาอยู่รวมกันเป็นสังคมทุกวันนี้ แรกเริ่มเดิมทีมันจะมีที่มาอย่างไรหนอ ไม่ต้องย้อนไปถึงสมัยชุมชนบุพกาลหรอกเจ้าค่ะ เอาง่าย ๆ ก็คือ ตอนที่เราเข้าเรียนในโรงเรียนใหม่ มหาวิทยาลัยใหม่ หรือไปเจอคนที่เราไม่คุ้นเคยหรือรู้จักใครเลย เราไม่สามารถรู้ได้ว่าเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เราจะเข้าไปพูดคุยกับเขาหรืองทางสังคมวิทยาเรียกว่า "เกิดการปฏิสัมพันธ์" การปฏิสัมพันธ์นั้นไม่ใช่แค่คุยกันอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการแสดงสีหน้า การส่งสายตา หรือแสดงท่าทางหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม หากอีกฝ่ายรับสารนั้นไปตีความและรู้ความหมายก็แสดงว่าการปฏิสัมพันธ์นั้นเกิดขึ้นแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปเราก็จะลองผิดลองถูกในการปฏิสัมพันธ์แต่ละครั้งจนรู้ว่าเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร คาดหวังหรือให้สถานะของเราเป็นอะไรสำหรับเขาแล้ว กระบวนการเหล่านี้จะสร้างกฎเกณฑ์ของการอยู่ร่วมกันเองโดยปริยาย เช่น รูมเมทไม่ชอบเสียงดัง เราก็จะไม่ส่งเสียงดัง แต่เราไม่ชอบทุเรียน เขาอาจจะไม่เอามากินในห้อง เป็นต้น บางครั้งเราอาจจะไปเป็นสมาชิกใหม่ของสังคมหนึ่ง กระบวนการนี้ก็จะเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน อย่างเช่นสุภาษิตที่ว่า "เข้าเมืองตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตาม"
เพราะหนูอิจิโรหลงเข้าไปในเมืองตาหลิ่ว เธอจึงต้องหลิ่วตาตาม หากเธอไม่ยอมหลิ่วตาแล้วละก็ นอกจากเธอจะไม่มีตัวตนแล้วอาจจะไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมนั้นได้ การปรับตัวให้มีตัวตนจะพบสัญญะในเรื่องนี้ในช่วงต้นเรื่องเยอะทีเดียว เช่น ร่างกายของอิจิโรโปรงแสง ไม่มีใครมองเห็น ฮากุจึงต้องให้กินยาเม็ดสีแดง ๆ เสมือนสัญญะแห่งการเปลี่ยนผ่านจากมนุษย์ไปเป็นคนในโลกวิญญาณ การที่เธอต้องข้ามสะพานโดยการกลั้นหายใจก็เป็นพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านสถานะเช่นเดียวกัน หากเธอทำไม่สำเร็จการมีตัวตนในสังคมนั้นก็จะเกิดปัญหาขึ้น อย่างเช่นที่เธอตกใจกับเจ้ากบที่กระโดดใส่เธอตรงสะพานจนเธอเผลอหายใจ เหล่าวิญญาณก็ตามล่าเพราะรู้ว่ามีมนุษย์เข้ามายังดินแดนนี้ ก็เหมือนกับพิธีกรรมรับน้องที่จะถึงอีกไม่กี่เดือน บรรดาน้อง ๆ เฟรชชี่ทั้งหลายก็จะเหมือนอิจิโรที่ต้องเข้าสู่พิธีกรรมเปลี่ยนผ่านสถานะและบรรดารุ่นพี่ก็จะขัดเกลาให้น้อง ๆ เหล่านั้น "หลิ่วตา" ตาม หากมีน้องคนไหนไม่หลิ่วตาด้วยก็จะถูกลงโทษด้วยรูปแบบต่าง ๆ ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะพิธีกรรมมันดีงามหรือมันศักดิ์สิทธิ์อย่างที่พวกรุ่นพี่อ้างไว้ แต่เป็นความการรักษาระบบโครงสร้างความสัมพันธ์ของสังคมนั้นยังคงรูปแบบเดิมอยู่เท่านั้นเอง (แน่นอนว่าคนที่สร้างและใช้กฎนี้ย่อมจะคงไว้ซึ่งผลประโยชน์ของกลุ่ม จะจะเอื้อให้ฝ่ายใดมาก ฝ่ายใดน้อยนั้น ท่านผู้อ่านคงมีความคิดอยู่ในใจที่แตกต่างกันไปแน่นอน)
การที่อิจิโรต้องการมีตัวตนเพื่อช่วยเหลือพ่อแม่ที่ถูกสาปเป็นหมูเธอจึงได้รับการขัดเกลาจากสังคมในโรงอาบน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน ป้ายูยาบะ ฮากุ และคุณลุงขาแมงมุมที่เธอเจอเขาเป็นคนแรกในโรงอาบน้ำ จึงเปลี่ยนจากเด็กงอแงมาเป็นเด็กที่เอาการเอางาน แต่เธอก็หาได้ถูกระบบกลืนไปเสียจนหมด เพราะสิ่งที่เธอต้องการจากการทำงานและการยอมรับนั่นก็คือการช่วยหลือพ่อแม่ต่างไปจากคนอื่น ๆ ในโรงอาบน้ำที่ต้องการรายได้จากการทำงาน ฉากที่เจ้าผีไม่มีหน้าแจกเงินให้กับทุกคนในโรงอาบน้ำ บรรดาวิญญาณลูกจ้างเหล่านั้นจึงยอมก้มหัวรับใช้ทุกประการเพียงเห็นแก่เศษเงินเศษทองที่ผีไม่มีหน้าแจกให้เท่านั้น ผีไม่มีหน้าตอนแรกเป็นวิญญาณที่ไม่มีใครสนใจเลย จนมันแสดงความสามรถพิเศษออกมาคือการเสกทองออกมาได้คนในโลกวิญญาณจึงยอมรบในการมีอยู่ของมัน สะท้อนภาพคนในโลกทุนนิยม (ในที่นี้คิดว่ามิยาซากิคงหมายถึงคนญี่ปุ่นมากกว่า) ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตว่ายอมทำได้ทุกอย่างเพื่อแลกกับเศษเงินที่นายทุน (หรือประเทศมหาอำนาจ ที่เมื่อก่อนไม่เคยเห็นว่ามีความสำคัญจนถึงวันที่มันมาเป็นนายจ้างเรา) เอาให้ จึงเป็นการตั้งคำถามถึงคุณค่าของตัวเองว่าเป็นเพียงแรงงานที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเท่านั้นเองหรือ (ลุงมิยาซากิแกแอบเป็นมาร์ซิสต์ด้วยหรือเปล่านี่ อิอิอิ) เป็นตอนหนึ่งในเรื่องที่ทำให้คนที่เคยอายุ 10 ขวบสะอึกได้บ้าง
ผู้เขียนไม่ได้ชี้นำว่าคนที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อเงินไม่มีคุณค่าหรอกนะคะ แต่บางครั้งการที่เราบริโภคสิ่งที่เกินอรรถประโยชน์กันจนไม่ลืมหูลืมตาและรู้ไม่เท่าทันว่าเป็นสิ่งที่สมมุติขึ้นเท่านั้นมันได้ลดทอนความเป็นมนุษย์ของตัวเองและลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นด้วย อย่างเช่น นักศึกษาสาวบางคนขายบริการทางเพศเพื่อให้ได้มาซึ่งกระเป๋าหลุยฯ สักใบ (โหย...ตัวอย่างสุดคลาสิกเลยเนอะ) ผู้เขียนไม่ได้ประณามว่าเธอเลวทราม แต่กลับเห็นใจเธอที่อยู่ท่ามกลางสังคมที่มองกันแค่เปลือกนอกจนเธอลดทอนความเป็นมนุษย์ของตัวเอง ส่วนผู้ซื้อบริการเธอก็ลดทอนความเป็นมนุษย์ของเธอด้วยการบริโภคความหมายของค่านิยมการมีเพศสัมพันธ์กับสาวมหาวิทยาลัยว่าเป็นเรื่องโก้เก๋ ดังนั้น การมีตัวตนของทั้งสองฝ่ายก็ล้วนเกิดจากการมองคนไม่เป็นคน เนื่องจากคนในสังคมนั้นไปยึดติดกับสิ่งสมมุติที่สังคมสมมุติขึ้นและเชื่อว่ามันเป็นจริงอย่างเข้มข้น จนจิตวิญญาณของเธอหลงหายไปกับกระแสการบริโภค (เหมือนชื่อเรื่อง Spirited Away มั้ยละคะท่านผู้อ่าน)
เมื่อกี้พูดถึงผีไม่มีหน้าก็ถือโอกาสนี้คุยเกี่ยวกับตัวละครตัวนี้ด้วย ตัวละครตัวนี้ผู้เขียนชอบมันเอามาก ๆ ทั้งบุคลิกที่แปลก ๆ ดูเหมือนเสีย Self อยู่ตลอดเวลา ทั้งเรื่องจะพูดได้แค่เพียง "อะ...อะ..." เจ้าตัวนี้ในโลกวิญญาณไม่มีใครสนใจมันเลย จนอิจิโรคุยด้วยแล้วชวนให้มันเข้ามาหลบฝนในโรงอาบน้ำ เจ้าผีตัวนี้ก็ติดตามอิจิโรไปทุกที่ ตอนแรกก็เริ่มจากช่วยอิจิโรแก้ปัญหาจนหลัง ๆ มากลับเป็นตัวปัญหาให้เธอไปเสียอย่างนั้น เจ้าผีไม่มีหน้าเริ่มก่อปัญหาจากการที่อิจิโรปฏิเสธเงินทองที่มันเสกให้ ทั้งที่วิญญาณในโรงอาบน้ำที่ไม่เคยรับรู้การมีอยู่ของมันกลับเทิดทูลราวกับเป็นพระเจ้า ด้วยที่มันเป็นผีเสีย Self เมื่ออิจิโรที่มันชื่นชมปฏิเสธ มันจึงทำทุกอย่างเพื่อให้อิจิโรยอมรับด้วยการกินบรรดาวิญญาณที่มีคุณสมบัติอย่างที่มันต้องการ อย่างเริ่มจากกินเจ้ากบพูดได้ให้มันพูดได้มากกว่า "อะ...อะ..." กินไปเรื่อย ๆ จนมันกลายเป็นสัตว์ประหลาดแล้ววิ่งไล่หาอิจิโร จนมันชนกับกำแพงแล้วสำรอกเอาสิ่งที่มันกินออกมาหมด ตัวตนของมันจึงว่างเปล่า เป็นผีไม่มีหน้าที่เสีย Self ตลอดเวลาเหมือนเดิม (ส่วนที่มันพูดได้แค่นั้นก็เพราะเมื่อตัวตนนั้นไม่ได้รับการยอมรับหรือไม่มีความหมายสำหรับตัวเอง ถึงพูดได้เป็นเรื่องเป็นภาษาก็เสียงไม่ดังพอที่ใครจะสนใจ ไม่ต่างอะไรที่พูดได้แค่ "อะ...อะ...")
ไม่ทราบว่ามิยาซากิศึกษาปรัชญาของ Jean Paul Sartre มาหรือเปล่า (เอาอีกละ ชาวบ้านเขารู้หมดแล้วว่าแกคลั่งไคล้ซาร์ตร์ ... เสียงข้าง ๆ ลอยมาต่อว่าผู้เขียนอีกแล้วเจ้าค่ะ) แต่ผู้เขียนรู้สึกว่าเจ้าผีไม่มีหน้านี่ใช่เลยที่ซาร์ตร์บอกว่า มนุษย์นั้นแท้จริงแล้วเกิดมาด้วยความว่างเปล่าแล้วความหมายว่าเราเป็นนั่นเป็นนี่จะตามมาทีหลัง เจ้าผีไม่มีหน้าได้แสดงให้เห็นถึงการสร้างตัวตนของคนในโลกสมัยใหม่ที่หาได้เกิดจากภายในจิตใจของตัวเองไม่ แต่เกิดจากการบริโภค การกินสิ่งต่าง ๆ เพื่อจะเป็นอย่างอิจิโรหรือให้อิจิโรยอมรับมันมีความหมายตรงไปตรงมาเลยทีเดียว ผู้เขียนมองว่ามันไม่แปลกหรอกที่ผีไม่มีหน้าจะยึดเอาอิจิโรเป็นไอดอลเพราะคนเราทุกคนย่อมมี "บุคคลอ้างอิง" หรือ Reference Group เพื่อให้เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตทั้งสิ้น คนที่เราเอาเป็นแบบอย่างเป็นกระบวนการขัดเกลาทางสังคมอย่างหนึ่งที่เราทำการขัดเกลาตัวเองเพื่อให้เป็นที่ยอมรับหากสักวันหนึ่งเราได้เป็นอย่างนั้นจริง ๆ จะได้ปรับตัวได้ไม่ยากนัก เช่น ใครที่อยากเป็นนักร้องก็จะมีบุคคลอ้างอิงเป็นนักร้อง ผู้เขียนเองก็มาสังเกตตัวเองพักหลัง ๆ ว่าแนวคิดนี้น่าจะใช้ได้ เพราะบุคคลอ้างอิงแต่ละคนเป็นนักวิชาการ น้อยมากที่จะเป็นคนในวงการบันเทิง ไม่ว่าจะเป็น ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ อ.ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ ท่าน ว.วชิรเมธี ก็เพราะผู้เขียนอยากเป็นนักวิชาการที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคม ไอดอลของผู้เขียนจึงหนีไม่พ้นบุคคลเหล่านี้
แต่คนอื่นล่ะ...โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่น ทั้งวัยรุ่นตอนปลายขึ้นไป (อย่างผู้เขียน ... อ้าว ฉันนึกว่าแกอายุ 35 ซะอีก ... ) และน้อง ๆ วัยกำลังจะรุ่น หรือที่มิยาซากิหมายถึงคนที่อายุ 10 ขวบเรามีบุคคลอ้างอิงเป็นใครกันเสียส่วนใหญ่ คงหนีไม่พ้นดารานักแสดงในวงการบันเทิง สิ่งที่เรารับมาขัดเกลานั้นคงแตกต่างหลากหลาย แต่ลึก ๆ ที่คงไม่อยากยอมรับกันอย่างตรงไปตรงมาเท่าไรก็คือ ความมีชื่อเสียง มีหน้าตารูปร่างที่ดี มีเงินทองจากการทำงานที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป (ไม่เช่นนั้นหากจะชื่นชมว่าเขาสู้ชีวิต ไปชื่นชมป้าขายกล้วยแขกหน้าปากซอยดีกว่า จริงมั้ย) และตัวตนของดาราบ้านเรากว่าจะปรากฏให้เห็นก็ผ่านการปรุงแต่งทั้งจากโปรดิวเซอร์ เจ้าของค่ายหรือสังกัดกองถ่าย เจ้าของผลิตภัณฑ์ที่จ้างให้เป็นพรีเซนเตอร์ เมื่ออยากเป็นอย่างกับดาราที่เราชื่นชอบก็คือเลียบแบบสิ่งที่เขาเป็น เมื่อสิ่งที่เขาเป็นปรุงแต่งจากการหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เด็ก ๆ ก็เลียบแบบจากสิ่งที่ดาราขวัญใจใช้เพื่อมีภาพลักษณ์เช่นเดียวกับคน ๆ นั้น ตั้งแต่ทรงผม เสื้อผ้า เครื่องประดับ รองเท้า อาหารที่กิน กระเป๋าที่ถือ รถที่ใช้ เครื่องสำอาง แนวดนตรี หนังสือที่อ่าน ฯลฯ วัยรุ่นหลายคนเลือกรับเลือกปฏิเสธได้อย่างชาญฉลาด แต่อีกหลายคนที่เหลือก็ตกเป็นเหยื่อของการบริโภคภาพลักษณ์อย่างเบ็ดเสร็จ (ผู้เขียนเองไม่ได้ปฏิเสธว่าตัวเองไม่เป็นคนที่ตามแฟชันกระแสหลัก แต่ก็ตามแฟชันกระแสรองหรือเฉพาะกลุ่มนั่นก็คือการแต่งคอสเพลย์เป็น Mana มือกีตาร์วง Malice Mizer หรือแฟชันแนว Visual Rock ก็อยู่ในวังวนเดียวกันกับคนรุ่นเดียวกันอีกหลาย ๆ คนนั่นแหละค่ะ)