ท่ามกลางสายฝนหลังเข้าพรรษาผู้เขียนก็ได้มีโอกาสมาชวนคุยนั่นเล่านี้กับท่านผู้อ่าน (ที่หลวมตัวมาอ่าน) อีกครั้ง อย่างไรเสียผู้เขียนก็รู้สึกปลาบปลื้มใจมากที่ท่านได้เข้ามาเยี่ยมกันในบล็อกนี้ ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนมีความสุขเหลือเกินที่ได้เขียนอะไรออกมา และล่าสุดนี้ความฝันของผู้เขียนก็ใกล้จะเป็นจริงแล้ว นั่นก็คือจะมีการจัดฉายภาพยนตร์และเสวนาไปยังมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วภูมิภาค และแน่นอนว่าเรื่องที่จะฉายนี้ก็คงหนีไม่พ้นภาพยนตร์การ์ตูน (ค่าย) โปรดของผู้เขียน นั่นก็คือ "Studio Ghibli"
ในซีรี่ย์ที่แล้วผู้เขียนชวนคุยเรื่องภาพสะท้อนตัวตนของคนในโลกสมัยใหม่จากภาพยนตร์ Spirited Away แล้วเว้นว่างจากการเขียนไปนานมาก ทั้งลังเลว่าจะเอาหนังในค่ายนี้เรื่องอะไรมาชวนคุยดีทั้งความเอาแน่เอานอนไม่ได้กับตัวเองหลังจากเรียนจบแล้ว แต่เนื่องจากวันที่ 6 สิงหาคมนี้ จะครบรอบ 63 ปีที่ระเบิดปรมาณูลูกแรกปล่อยลงที่เมืองฮิโรชิมาและครบรอบ 20 ขวบ การ์ตูนเรื่อง "สุสานหิ่งห้อย" ที่หลายคนอาจจะนึกไม่ออกว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรหว่า หากเล่าว่าเป็นเรื่องของพี่ชายและน้องสาวที่ใช้ชีวิตในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (อย่างแร้งแค้น) แล้วละก็ หลายท่านคงร้อง "อ๋อ" แล้วใช่มั้ยคะ เรื่องนี้สร้างจากหนังสืออัตชีวประวัติของ Akiyuki Nosaka ผู้สูญเสียน้องสาวตัวเล็ก ๆ ด้วยสาเหตุจากการขาดอาหารระหว่างสงคราม สุสานหิ่งห้อยออกฉายในปี ค.ศ. 1988 กำกับโดย Isao Takahata ด้วยปีนี้ครบรอบทั้งเหตุการณ์และหนัง ทางสถานีโทศัทน์เอ็นทีวีของญี่ปุ่นก็สร้างละครเรื่องเดียวกันออกแพร่ในปีนี้ด้วย แต่เนื้อหาแตกต่างไปจากการ์ตูนอย่างมากเลยทีเดียว
ส่วนอักษรคันจิที่เขียนชื่อเรื่องเป็นการเลือกใช้ตัวอักษรที่มีสัญญะแสดงถึงชีวิตอันแสนสั้น เหมือนกับตัวละครในเรื่องที่เสียชีวิตตั้งแต่เยาว์วัย คำว่า "หิ่งห้อย" ปกติเขียนว่า 蛍 (Hotaru) แต่เลือกใช้ 火 (hi - ไฟ) 垂 (tareru - ร่วงหล่น หยดย้อย) รวมกันจะทำให้เห็นภาพแสงไฟจากหิ่งห้อยที่ร่วงหล่นในฉากที่เซตสึโกะเพลิดเพลินกับความงามของแสงหิ่งหอยแต่ก็โศกเศร้าในยามเช้าที่พวกมันต้องตาย ด้วยความสงสารเศษซากของหิ่งห้อยบนพื้นเหล่านั้น เธอจึงขุดหลุดฝังศพให้มัน (แฟน ๆ จิบลิหลายคนคงร้องไห้กับฉากนี้แน่ ๆ เลย อิอิ)
สงครามกับความรุนแรงที่มองไม่เห็น
เมื่อพูดถึง "สงคราม" ภาพแรกที่ผุดจากสามัญสำนึกของทุก ๆ ท่านคงหนีไม่พ้นเรื่องของการรบราฆ่าฟัน ซากปรักหักพังของบ้านเมือง อาวุธหลากหลายชนิดที่มนุษย์นำมาประหัตประหารกัน เสียงร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวด หรือซากศพ เศษอวัยวะ ไปจนถึงกองเลือดที่สาดท่วม เจิ่งนอง เต็มทัศนียภาพทางความคิด แต่วันนี้ที่ผู้เขียนอยากชวนท่านผู้อ่านคุยก็คือ "ความบาดเจ็บทางสังคม" ในขณะหรือหลังสงคราม ถ้าท่านผู้อ่านคิดเห็นอย่างไร ผู้เขียนจะรู้สึกเป็นเกีรยติอย่างมากที่ท่านผู้อ่นจะคอมเม้นต์บทความชิ้นนี้ จะเห็นด้วย เห็นแย้ง เห็นต่าง ผู้เขียนขอน้อมรับด้วยใจจริง
จากสามัญสำนึกเกี่ยวกับสงครามที่กล่าวไปแลัวข้างต้นเป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึง "ความรุนแรง" ที่ทุกคนเข้าใจได้ไม่อยากและเห็นได้อย่างประจักษ์ชัดแจ้ง หากแต่ความรุนแรงสำหรับผู้เขียนแล้วมันยังมีอีกมุมหนึ่งซึ่งน่ากลัวไม่แพ้กัน นั่นก็คือ "ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง"
"ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง" หมายถึงการที่โครงสร้างทางสังคมหรือระบบความสัมพันธ์ของคนในสังคมเอื้อหรือสามารถทำให้เกิดความรุนแรงทางกายภาพ บางครั้งหมายถึงการที่คนในเอารัดเอาเปรียบกันด้วยกลไกทางสังคม บางครั้งก็อาจมองลงไปถึงระบบความคิดของคนหรือระบบสังคมที่มองคนอื่นไม่เป็นคน หรือการลดทอนความเป็นมนุษย์
เรื่องสุสานหิ่งห้อยมิได้นำเสนอความรุนแรงจากสงครามในเชิงกายภาพเท่านั้น แต่ยังนำเสนอความรุนแรงเชิงโครงสร้างด้วย ท่านที่เคยชมจะทราบดีว่า มีเพียงฉากเริ่มต้นของเรื่องที่เครื่องบินทิ้งระเบิดลงที่โกเบแล้วมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต (ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือแม่ของเซตะและเซตสึโกะ-ตัวเอกของเรื่อง) นอกจากนั้นเป็นการนำเสนอวิถีชีวติของสองพี่น้องที่มีญาติก็เหมือนไม่มี จนต้องหนีออกมาอยู่ในอุโมงค์หลบภัยกันสองคน
ฉากที่สองพี่น้องขออาศัยอยู่บ้านญาติของแม่เป็นจุดเริ่มแรกที่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงที่มองไม่เห็น จะเห็นได้ชัดเจนในฉากที่ทานอาหาร (ท่านที่เคยไปทานอาหารญี่ปุ่นคงเคยเห็นชุดอาหาร ที่เขาจะแยกกับข้าวแต่ละอย่างให้แต่ละคน ไม่เหมือนบ้านเราที่ต้องตักในจานหรือถ้วยกับข้าว) ทั้ง ๆ ที่เงินส่วนหนึ่งที่ใช้จ่ายภายในบ้านก็มาจากการขายสมบัติของแม่ แต่เด็กทั้งสองคนได้กินแต่ซุปวิญญาณเนื้อ ส่วนลูก ๆ ของป้ากลับได้กินอาหารอย่างดี ถึงแม้จะไม่อยู่ในช่วงสงคราม ลักษณะเช่นนี้ก็อาจจะเกิดได้กับครัวเรือนต่าง ๆ เป็นความรุนแรงที่แฝงอยู่ในความสัมพันธ์เครือญาติที่อาจพบได้ทั่วไป
แต่สิ่งที่สะกิดใจผู้เขียนนั่นก็คือฉากที่ป้าดุด่าว่ากล่าวเซตะว่ามัวแต่เล่นไม่ตั้งใจเรียนเหมือนลูก ๆ ของเขาที่จะเป็น "กำลังในการพัฒนาชาติ" เป็นจุดที่อยากชวนท่านผู้อ่านตีความจากเรื่องนี้ว่าคล้ายกับสโลแกนของหน่วยงานหนึ่งที่ว่า "พัมนาคน พัฒนาชาติ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" จะเป็นการสร้างมายาคติว่าทางออกของทุกปัญหามีอยู่ทางเดียวและทางนั้นจะเกิดผลกระทบที่ไม่ได้ตั้งใจอย่างที่สังคมไทยให้ความสำคัญกับการศึกษาวิทยาศาสตร์จนละเลยการศึกษาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ละเลยมิติทางจิตวิญญาณ แม้เราจะโหยหาสังคมในอดีตด้วยการอ้าง "วัฒนธรรมของชาติอันดีงาม" แล้วกล่าวหาว่าเด็กสมัยนี้ใช่ไม่ได้อย่างนั้นอย่างนี้ คำถามก็คือแล้วใครกันเล่าที่ทำให้พวกเขาเป็นเช่นนั้น ใครกันที่สร้างสถานบันเทิงรอบแนวถนนทั้งสามเส้นของมหาวิทยาลัย(เชียงใหม่) ใครกันที่สร้างภาพลักษณ์ให้นักร้องแล้วหลอกขายเพลงกลวก ๆ เข้ากระเป๋าจนเกือบจะซื้อหุ้นมติชนได้ ใครเล่าที่กระตุ้นให้เด็กคิดแต่จะสนใจแต่เรื่องของตัวเองด้วยน้ำยาทาจั๊กกะแร้ขาว แชมพูให้ผมนุ่มสลวย น้ำหอมกลิ่นตัวหอมโชย ฯลฯ เพื่อแสวงหาความรักจากภาพลักษณ์เหล่านั้น แล้ววิทยาศาสตร์ (ในเชิงศาสตร์ที่สามารถทำเงินได้) และองค์ความรู้ที่มีไว้เพื่อหลอกให้คนบริโภคอย่างไม่ลืมหูลืมตาตอบสนองจิตใจที่โหยหาสิ่งที่ก็ไม่รู้ว่าคืออะไรของคนในยุคสมัยนี้ได้หรือไม่
ผู้เขียนชวนท่านผู้อ่านคิดต่อว่า จากการคิดถึงตัวเองที่สังคมแห่งการบริโภคสร้างให้คนคิดถึงแต่เรื่องของตัวเอง แล้วการที่ผู้หญิงที่ไปทำศัลยกรรมเสริมดั้ง อัพขนาดหน้าอก ลดความอ้วนด้วยวิธีเสี่ยง ๆ ต่าง ๆ นานา จนเป็นข่าวเรื่องแล้วเรื่องเล่า หลายคนเกิดโรคแทรกซ้อน หลายคนพิการ และบางคนก็เสียชีวิต ท่านคิดว่ากระแสความงามเช่นนี้เป็นความรุนแรงหรือไม่ ซึ่งปกติแล้วไม่มีใครเอามีดมาผ่าเนื้อเฉือนหนังหรือเอาสารเคมีประหลาด ๆ มาใส่ตัวเองอยู่แล้ว แต่คนเหล่านั้นกลับสมัครใจที่จะ "เจ็บตัว" และอดทนที่จะรับ "ความทรมาน" เพื่อตอบสนองภาพลักษณ์มายาที่ถูกสร้างขึ้นโดยที่พวกเธอยอมจำนนเพราะอาจนึกว่ามันคือหนทางเดียวที่จะได้มาซึ่งความรัก (ที่ก็ไม่รู้ว่าความรักที่ได้มาจะทำให้เธอเป็นอย่างไรต่อไป หรือก็ยังไม่แน่ใจว่าความรักคืออะไร) หากใครสักคนจะรักเราเพราะเงื่อนไขความงามตามกระแสนิยม เพื่อแลกกับความต้องการของมนุษย์ที่จะเป็นที่ยอมรับของสังคมและตอบสนองความต้องการมีครอบครัว (ในลำดับ 5 ขั้นของมาสโลว์ - นักจิตวิทยา) คุ้มแล้วหรือที่จะยอมให้ลดทอนความเป็นมนุษย์เพียงแค่อวัยวะบางส่วนในร่างกายเท่านั้น
การล่มสลายของชุมชนกับความรุนแรง
ฉากที่ทำให้ผู้เขียนสะเทือนใจฉากหนึ่งคือฉากที่พี่ชายถูกซ้อมเนื่องจากไปขโมยอาหารให้น้องสาวทาน แต่สุดท้ายเซตสึโกะก็เสียชีวิตเนื่องจากร่างกายขาดสารอาหาร เรื่องนี้ได้นำเสนอด้านที่สงครามทำให้ความสัมพันธ์ของคนในสังคมอยู่ในขั้นที่ไว้เนื้อเชื่อใจกันไม่ได้ ต้องปากกัดตีนทีบเพื่อที่ให้ตัวเองอยู่รอด หากตัวเองใจดีเกินไปก็กลัวว่าจะถูกเอารัดเอาเปรียบ ฉากนี้เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนฉากหนึ่ง ที่มนุษย์อยู่ในสภาพที่พร้อมจะใช้ความรุนแรงเข้าใส่กัน ในช่วงสงครามอาจจะเกิดด้วยเงื่อนไขที่ต้องทำเพื่อปากท้อง แล้วตอนนี้ล่ะ... ถึงไม่เกิดสงครามคนก็ยังคงหิวโหยไม่ต่างกัน เพราะการเข้าถึงทรัพยากรที่เหลื่อนล้ำกันราวฟ้ากับเหว ทั้งที่เกิดจากการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม การเอารัดเอาเปรียบแรงงานอันเกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจต้องยอมง้อนายทุนต่างชาติ และเกิดจากปัจจัยต่างอีกมากมาย ๆ จนเกิดภาพสะท้อนถึงความหิวโหยของคนในสังคมจากการสำรวจความคิดเห็นที่มีต่อนักการเมืองที่ทุจริตว่ายอมให้คอร์รัปชั่นได้ถ้าเอื้อผลประโยชน์แก่ตนบ้าง จนผู้เขียนตั้งคำถามกับตัวเองว่า "ตกลงสงครามมันจบไปแล้วหรือยัง"
เป็นที่น่าสังเกตว่าอาหารเสริม อาหารปลอดสารพิษ กลับมีอยู่ในตอนนี้แถมยังมีราคาแพงกว่าอาหารในท้องตลาด ถ้าคิดตามตรรกะแล้ว ผลผลิตทางการเกษตรที่ใช้สารเคมีน่าจะมีต้นทุนที่สูงกว่าแต่กลายเป็นว่าคารากลับถูกกว่ากัน (ซ้ำเกษตรกรยังเป็นหนี้เพราะเมื่อหักลบกับค่าปุ๋ยและยาฆ่าแมลงแล้วก็ยังไม่มีกำไรกับเขาสักที) ทั้งเกษตรกร ทั้งพ่อค้า-แม่ค้าคนกลาง ทั้งผู้บริโภคก้ต่างโยนกันไปโยนกันมาว่าต้นเหตุที่ต้องใช้สารเคมีเกิดจากใคร แต่ชนชั้นกลางผู้มีอันจะกินขึ้นไปจนถึงชนชั้นสูงคงมีทางเลือกในการบริโภคที่มากกว่า แร่ธาตุอัดเม็ด วิตามินสำเร็จรูป ชุดดีท็อกซ์เพื่อสุขภาพมีกลาดเกลื่อนทั่วท้องตลาด แล้วลุงแก้วป้าคำที่แค่มีรายได้พอประทังชีวิตให้อยู่ไปวัน ๆ ด้วยค่าแรงขั้นต่ำ (กับราคาน้ำมันที่สูงเอ้า...สูงเอา) จะเอาเงินที่ไหนมาบำรุงร่างกายเช่นนั้น ในเมื่อสภาพที่ "ไม่มีผักสวนครัวและรั้วทำด้วยคอนกรีตที่กินไม่ได้" จึงต้องบริโภคอาหารราคาถูกที่แน่นอนว่าวัตถุดิบก็ได้ตามนั้น แม้ สสส.จะรณรงค์ให้คนไทยมีสุขภาพดีแต่ไม่มีส่วนในการแก้ไขโครงสร้างทางเศรษฐกิจแล้ว ความพยายามขององค์กรก็อาจจะเป็นการแก้ปัญหาแบบตบยุงเท่านั้น
การมองคนไม่ใช่คนที่สลับซับซ้อนมากขึ้นในยุคสมัยที่พยายามให้คนเป็นปัจเจกได้ทำลายความเป็นชุมชน ในทางกลับกันชุมชนในจินตนาการที่เรียกว่ารัฐชาติเองก็ไปทำลายชุมชนด้วยเช่นกัน ท่านผู้อ่านอาจจะสับสนว่าอะไรคือชุมชน ในความเข้าใจของผู้เขียน ชุมชนคือการสำนึกร่วมของคนที่มาอยู่รวมกันว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อาจเกิดจากตำนานเล่าขานว่ามีบรรพบุรุษร่วมกัน เกิดจากการสืบสายเลือด ที่สำคัญก็คือคนในชุมชนนั้นปฏิบัติต่อกันเสมือนว่าเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน หรืออาจกล่าวว่ามองคนในชุมชนเป็นคนเหมือนกัน อย่างเช่นชุมชนต่าง ๆ ในล้านนามีความเชื่อว่าเกิดจากบรรพบุรุษคนเดียวกัน บางตำนานเชื่อกันว่าแต่ละชาติพันธุ์เกิดจากน้ำเต้าเดียวกัน หมู่บ้านที่มีความเข้มแข็งจะพบว่ามีการรักษาสมบัติ "หน้าหมู่" หรือพื้นที่สาธารณะที่คนในชุมชนนั้นมีสิทธิ์จะใช้ประโยชน์และมีการดูแลรักษาร่วมกัน อย่างกรณีป่าชุมชนของหมู่บ้านทุ่งยาว จ.ลำพูน ป่าชายเลนของหมู่บ้านอ่าวกรูด จ.ตราด แต่การช่วยเหลือกันก็มิได้เกิดจากความรู้สึกร่วมที่สร้างขึ้นจากความเชื่อเท่านั้นแต่ยังมีกลไกทางสังคมที่จัดการความสัมพันธ์ของคนในชุมชนด้วย เช่น การติฉินนินทาคนมีฐานนะที่ขี้เหนียว ไม่ค่อยช่วยเหลือคนยากจนว่าเป็น "ผีกะ" หรือการยกย่องให้เป็นพ่อพระ-แม่พระในชุมชน การลงโทษและการให้รางวัลเป็นกลไกทางจิตวิทยาและผลประโยชน์จากการช่วยเหลือก็ยังเอื้อให้เกิดผลประโยชน์จากระบบคุณค่าการกตัญญูรู้คุณจนเกิดระบบอุปถัมภ์ (แต่ปัจจุบันระบบอุปถัมภ์ถูกเข้าใจว่าเป็นด้านลบที่ไม่ดี๊ ไม่ดีเอาเสียเลย โดยที่พูดขึ้นมาลอย ๆ อย่างไม่ดูบริบทว่าปัญหามันเกิดจากอะไรกันแน่ ซึ่งการโทษระบบมันง่ายดีเหมือนการตอบแบบกำปั้นทุบดินนั่นแหละขอรับท่านผู้ชม)
รัฐชาติก็มีการสร้างขึ้นในลักษณะที่คล้ายกัน แต่ไม่ว่าจะชุมชนขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่หากมองคนที่ต่างจากเราว่าไม่ใช่คนก็พร้อมที่จะใช้ความรุนแรงเข้าใส่กัน
ไม่กี่วันที่ผ่านมา ผู้เขียนนั่งฟังรุ่นน้องเล่าเรื่องการประกวดดาว เดือน และดาวเทียมของมหาวิทยาลัย คำถามหนึ่งถามว่า ถ้าคุณหากคุณสามารถบอกอะไรแก่ผู่ก่อการร้ายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คุณจะขอให้เขาทำอะไร ทีแรกผู้เขียนนึกในใจว่าคงเป็นคำตอบแอ๊บแบ้วว่า "ขอให้สามัคคีกันเพราะเราก็เป็นคนไทยเหมือนกัน" (ทั้ง ๆ ที่รัฐไทยที่เมื่อก่อนคือสยามไปทำเขาเจ็บแสบไม่น้อย ซ้ำยังบอกว่าให้ลืม ๆ ไปซะ โดยที่ปล่อยให้เขาด้อยโอกาสและยัดเยียดความแปลกประหลาด ซึ่งเรื่องนี้ยาวเกินกว่าจะอธิบายในหน้านี้ได้ รวมทั้งความห่างไกลทั้งพื้นที่ทางกายภาพและความห่างไกลทางภูมิปัญญาที่จะอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้แจ่มแจ้ง คงต้องขอให้ท่านผู้อ่านศึกษาประวัติศาสตร์จากนักวิชาการท่านอื่นจะดีกว่าขอรับ)
แต่คำตอบที่ทำให้ผู้เขียนเกือบกระอักข้าวก็คือ "ขอให้ผู้ก่อการร้ายร่วมมือร่วมใจกันบุกชิงเขาพระวิหารกลับคืนมา"
แม้จะเป็นการตอบเล่น ๆ แต่มันก็สะท้อนอะไรหลาย ๆ อย่าง ผู้เขียนได้แต่ตั้งคำถามว่า...
ประวัติศาสตร์ชาตินิยมที่ชาติไทยสร้างจากการไปเป็นศัตรูกับเพื่อบ้าน จนเรามองเขาเป็นคนน้อยกว่าเรา ?
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม (ที่เห็นแก่ตัว) ตั้งแต่กำเนิด จึงรบราฆ่าพันมาตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ?
มนุษย์เป็นอาวุธที่มีชีวิต ?
แต่จากการได้ศึกษาความเชื่อของวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั้งที่อยู่นิยายปรัมปรา อยู่ในรูปของศาสนา ไปจนถึงความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ กลับคล้ายกันอย่างไม่น่าเชื่อ
ในศาสนาพราหมณ์ เชื่อว่าสรรพสิ่งเกิดจากพรหมแตกออกเป็นสิ่งต่าง ๆ สุดท้ายก็จะกลับมารวมกัน คล้ายกับทฤษฎีกำเนิดจักรวาล "บิ๊กแบง"
อ.ประมวลเคยเล่าเรื่อง ๆ หนึ่ง ที่มีลูกศิษย์มาถามว่าจะทำให้น้ำในแก้วอยู่ไปตราบนานเท่านานได้อย่างไร เขาตอบไปว่าจงนำน้ำแก้วนั้นไปรวมกับน้ำในมหาสมุทร
หากเราล้วนเกิดมาจากสิ่งเดียวกัน การดำรงอยู่ของเราเกิดขึ้นจากการสัมพันธ์กับสรรพสิ่งต่าง ๆ จนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในตัวเราแล้ว มนุษย์ใยจึงแบ่งแยกจากธรรมชาติ แบ่งแยกจากมนุษย์ด้วยกัน
.........และขอให้สันติภาพบังเกิดในหัวใจของท่านผู้อ่านทุกท่านด้วยนะคะ.......... (^ - ^)
http://www.oknation.net/blog/philosoanthro/2008/07/27/entry-1