ผู้เขียน หัวข้อ: “ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง”  (อ่าน 2453 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
“ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง”
« เมื่อ: กรกฎาคม 09, 2013, 01:23:09 am »




คัดลอกบางตอนจาก หนังสือ “ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง”
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
วันที่ ๘-๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๓๕

ก) ดูที่กุศลธรรมที่เพิ่มขึ้น
โดยทั่วไปมีการวัดด้วยคุณธรรมต่างๆ ที่งอกงามขึ้นมาแทนอกุศลธรรม
คือจะต้องดูว่า กุศลธรรมเจริญขึ้นมาแทนที่อกุศลธรรมแค่ไหน
หลักการวัดความเจริญในการเดินตามมรรค หมวดหนึ่งมี ๕ อย่าง

ประการที่ ๑ ดูว่ามีความมั่นใจ มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่เป็นกุศล
สิ่งที่เป็นความดีงามมากขึ้นหรือไม่ มีความมั่นใจแม้แต่ในโพธิสัทธา
เชื่อในศักยภาพของตนเองที่จะพัฒนาขึ้นไปหรือไม่
เมื่อมีความเชื่อมั่นมากขึ้นก็เรียกว่า มี ศรัทธา มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เป็นกุศลธรรมที่เจริญเพิ่มขึ้น
โดยสรุป คือดูว่ามีศรัทธามีความเชื่อมีความมั่นใจในกุศลธรรมในความดีงามต่างๆ มากขึ้นหรือไม่

ประการที่ ๒ เมื่อปฏิบัติเดินตามมรรคไป
มีระเบียบในการดำเนินชีวิตดีขึ้นไหม มีการประพฤติตนอยู่ในสุจริตดีขึ้นไหม
อันนี้เป็นส่วนที่แสดงออกภายนอกในการดำเนินชีวิต
เพราะฉะนั้นต้องเอามาวัดดูด้วยว่าเราดำเนินชีวิตดีขึ้นไหม มั่นคงในสุจริตมากขึ้นไหม
มีระเบียบวินัยราบรื่นดีไหม มีความสัมพันธ์กับโลกกับมนุษย์กับสังคมดีขึ้นไหม
เรียกสั้นๆ ว่า มี ศีล ดีขึ้นไหม

ประการที่ ๓ ดูว่าเรามีความรู้จากการที่ได้สดับ
ได้ค้นคว้าอะไรต่างๆ มากขึ้นไหม ได้เรียนรู้มากขึ้นและกว้างขวางเพียงพอไหมในธรรม
ที่จะปฏิบัติต่อๆ ไป หรือในสิ่งที่จะนำมาใช้แก้ปัญหา หรือในการพัฒนาตน
ได้ประสบการณ์ต่างๆ มาเป็นข้อมูลของความรู้มากขึ้นหรือไม่
เรียกสั้นๆ ว่ามี สุตะ มากขึ้นไหม

ประการที่ ๔ มีความลดละกิเลสได้มากขึ้นไหม
กิเลสต่างๆ โดยเฉพาะความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเห็นแก่ตัวนี่ละไ
ด้ มีความเห็นแต่ตัวน้อยลงบ้างไหม มีความเสียสละมากขึ้นไหม
มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นแก่เพื่อนมนุษย์เห็นแก่ผู้อื่นมากขึ้นไหม
มีจิตกว้างขวางโปร่งเบามากขึ้นไหม เรียกสั้นๆ ว่ามี จาคะ มากขึ้นไหม

ประการสุดท้าย คือ ปัญญา คือ ความรู้ความเข้าใจ
ในความจริงของสิ่งทั้งหลาย ตรวจสอบว่า เรามีความเข้าใจในสิ่งที่ได้เรียนรู้ไหม
เรารู้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงมากเพียงใด
เรามองเห็นเหตุปัจจัยและความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลายชัดเจนดี
สามารถนำความรู้มาเชื่อมโยงใช้ในการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์พัฒนาให้เป็นผลดีหรือไม่
อันนี้เป็นตัวแกนแท้ที่ต้องการ เป็นตัวคุมทั้งหมด

ตกลงว่า หัวข้อนี้ก็เป็นหลักหนึ่งในการตรวจสอบความเจริญ
คือดูว่ามีศรัทธามากขึ้นไหม มีศีลมากขึ้นไหม มีสุตะมากขึ้นไหม
มีจาคะมากขึ้นไหม และมีปัญญามากขึ้นหรือไม่

หลักนี้เรียกว่า “อริยวัฒิ” แปลว่า ความเจริญของอริยชน
ความเจริญแบบอารยะ ได้แก่ หลักวัดความเจริญหรือพัฒนาการของอารยชน

ถ้ามีความเจริญเพียงว่ามีทรัพย์สินเงินทองมากขึ้นอย่างเดียว
แต่มีความเห็นแก่ตัวมากขึ้น อย่างนั้นไม่ถือว่ามีความเจริญในการศึกษา
หรือในการพัฒนาชีวิตที่แท้จริง หรือมีโทสะมีความเกลียดชังมีกิเลสต่างๆ มากขึ้นก็เช่นเดียวกัน

ข) ดูการทำหน้าที่ต่อธรรมต่างๆ
ที่จริงหลักตรวจสอบมีหลายอย่าง หลักอย่างหนึ่งเป็นการดำเนินตามอริยสัจ ๔
กล่าวคือ การปฏิบัติธรรมนั้นได้แก่การดำเนินตามหลักการแก้ปัญหาด้วยวิธีการของอริยสัจ ๔
ในการปฏิบัติจึงต้องดูว่าเราปฏิบัติหน้าที่ต่ออริยสัจ ๔ ถูกต้องหรือไม่

อริยสัจ ๔ มีหน้าที่ประจำแต่ละข้อ ถ้าปฏิบัติต่ออริยสัจ ๔ แต่ละข้อผิด
ก็ถือว่าเราได้เดินทางผิดแล้ว

อริยสัจข้อที่หนึ่ง ทุกข์ คือตัวปัญหา
เรามีหน้าที่ต่อมันอย่างไร หน้าที่ต่อปัญหาหรือความทุกข์
ก็คือหน้าที่ที่เรียกว่าทำความรู้จัก ท่านเรียกว่า กำหนดรู้ รู้จักว่ามันคืออะไร อยู่ตรงไหน
มีขอบเขตเพียงใด เราจะแก้ปัญหา เราจะแก้ความทุกข์ เราต้องรู้ว่าทุกข์คืออะไร
ปัญหาของเราคืออะไร ขอบเขตของมันอยู่ที่ไหน อะไรเป็นที่ตั้งของปัญหา
ถ้าจับไม่ถูกแล้วก็เดินหน้าไปไม่ได้ จับตัวปัญหาให้ได้เสียก่อน
แล้วก็เรียนรู้สิ่งที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับปัญหานั้นทั้งหมด

เราไม่มีหน้าที่ที่จะไปสร้างปัญหา เราไม่มีหน้าที่ไปเอาปัญหามาวุ่นวายใจ
มาเก็บมากังวลใจมาทำให้เกิดความทุกข์ ไม่ใช่อย่างนั้น เราไม่มีหน้าที่ทุกข์
แต่เรามีหน้าที่รู้จักทุกข์ นี้เป็นประการที่หนึ่งคือรู้จักปัญหา ตามที่เป็นจริง

อริยสัจข้อที่สอง สมุทัย คือเหตุของทุกข์
เรามีหน้าที่อย่างไร หน้าที่ที่จะต้องทำต่อสมุทัย ก็คือสืบสาวค้นหามันให้พบ
ให้รู้ว่ากระบวนการที่มันเกิดขึ้นเป็นอย่างไร แล้วละมันให้ได้
แก้ไขกระบวนการให้สำเร็จ คือกำจัดสาเหตุของปัญหา หรือสาเหตุของความทุกข์
ไม่ใช่กำจัดปัญหา ปัญหานั้นเรากำจัดมันไม่ได้ เราแก้ปัญหาด้วยการกำจัดเหตุของมัน

อริยสัจข้อที่สาม นิโรธ คือความดับทุกข์
การแก้ปัญหาสำเร็จ หรือภาวะปราศจากปัญหา เป็นความมุ่งหมายการแก้ปัญหาสำเร็จคืออะไร
จุดหมายที่ต้องการคืออะไร เป็นสิ่งที่เห็นไปได้หรือไม่
กระบวนการแก้เป็นอย่างไร เมื่อรู้ว่ามันคืออะไร และเป็นไปได้แล้ว
เราก็มีหน้าที่ต่อมันคือ บรรลุถึง หรือ เข้าถึง แต่การที่จะเข้าถึงมัน
คือจะเข้าถึงจุดหมายก็ดี จะกำจัดสาเหตุของปัญหาก็ดี แก้ปัญหาได้ก็ดี
จะต้องไปสู่ข้อสุดท้ายคือ มรรค

อริยสัจข้อที่สี่ มรรค มรรคเป็นทางเดินก็คือ ข้อปฏิบัติ
ซึ่งเรามีหน้าที่คือ ลงมือทำ เป็นข้อสุดท้าย
ต้องลงมือทำตั้งแต่บุพนิมิตของมรรคเป็นต้นไปทีเดียว

ธรรมทั้งหมด จัดเข้าในอริยสัจ ๔ ได้ทั้งสิ้น
- สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ตามที่สัมพันธ์กับมนุษย์
หรือที่มนุษย์ต้องเกี่ยวข้องประเภทหนึ่งนั้น จัดเข้าในจำพวกที่เรียกว่าทุกข์
เป็นปัญหาและสิ่งที่ต้องเผชิญ
- สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ประเภทที่สองจัดเข้าในจำพวก
ที่เป็นสาเหตุของปัญหา
- สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ประเภทที่สามจัดเข้าในจำพวก จุดหมาย
หรือสิ่งที่พึงประสงค์ และ
- สิ่งทั้งหลายประเภทที่สี่ จัดเข้าในจำพวก ที่เป็นวิธีปฏิบัติ
และเรามีหน้าที่ปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง อย่างที่หนึ่งทำความรู้จักกำหนดให้ถูก
อย่างที่สองกำจัดสาเหตุ อย่างที่สามคือเข้าถึงจุดหมาย แล้วอย่างที่สี่
ก็ลงมือทำหรือลงมือเดินทาง


หลักการนี้ก็ใช้ในการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน คือ
ในเวลาที่ไปเกี่ยวข้องกับธรรม ก็ควรจะจัดให้ถูกต้องด้วยว่าธรรมนั้นอยู่ในประเภทไหนใน ๔ ข้อนี้
เมื่อจัดเข้าถูกต้องแล้ว เราก็จะปฏิบัติถูกหน้าที่ว่าหน้าที่ต่อข้อนั้นคืออะไร

ธรรม ๔ ประเภทนั้น หรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้น
มีชื่อเรียกเฉพาะตามหน้าที่ที่เราพึงปฏิบัติต่อมัน คือ

๑. สิ่งทั้งหลายที่เป็นทุกข์เป็นปัญหาเป็นที่ตั้งของปัญหา
หรือเป็นจุดเกิดปัญหา เมื่อมนุษย์ปฏิบัติต่อมันไม่ถูกต้อง เรียกว่า ปริญไญยธรรม
คือสิ่งที่จะต้องกำหนดรู้ หรือ ทำความรู้จัก

ตัวอย่าง เช่น ร่างกาย จิตใจ ชีวิต โลก ความผันผวนปรวนแปร
โศกเศร้า ผิดหวัง ความรู้สึกสุข หรือ ทุกข์ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความคิด ความจำ
ความเปลี่ยนแปลง ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ฯลฯ
(ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ไตรลักษณ์ และธรรมอื่นทำนองนี้)

๒. สิ่งทั้งหลายที่เป็นจำพวกเหตุก่อทุกข์ หรือ สาเหตุของปัญหา
เรียกว่า ปหาตัพพธรรม คือ สิ่งที่จะต้องละเลิก แก้ไข กำจัด

ตัวอย่าง เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเห็นแก่ตัว
ความถือตัว ความเย่อหยิ่ง ความเกียจคร้าน ความเกลียดชัง ความริษยา ความเบื่อหน่าย
ความท้อแท้ ความเฉื่อยชา ความฟุ้งซ่าน ความระแวง ความประมาท ความโง่เขลา ฯลฯ
(อกุศลมูล กิเลส ตัณหา มานะ ทิฎฐิ อวิชชา อุปาทาน สังโยชน์ นิวรณ์ และธรรมอื่นทำนองนี้)

๓. สิ่งทั้งหลายที่พึงประสงค์ เป็นจุดหมายที่ควรทำให้สำเร็จ
หรือควรได้ควรถึง เรียกว่า สัจฉิกาตัพพธรรม คือ สิ่งที่จะต้องเข้าถึง หรือ ประจักษ์แจ้ง

ตัวอย่าง เช่น ความสงบ ความร่มเย็น ความบริสุทธิ์
ความปลอดโปร่งโล่งเบา ความผ่องใส ความเบิกบาน ความไร้ทุกข์ ความสุขที่แท้
สุขภาพ ภาวะปลอดพ้นปัญหา ความเป็นอิสระ หรืออิสรภาพ ฯลฯ
(วิชชา วิมุตติ วิสุทธิ สันติ นิพพาน และธรรมอื่นทำนองนี้)

๔. สิ่งทั้งหลายที่เป็นข้อปฏิบัติ เป็นวิธีการ เป็นสิ่งที่ต้องทำต้องบำเพ็ญ
เพื่อก้าวไปให้ถึงจุดหมาย เรียกว่า ภาเวตัพพธรรม คือ สิ่งที่จะต้องทำให้มีให้เป็นขึ้น
ให้เจริญงอกงามเพิ่มพูนขึ้น หรือต้องลงมือทำ ลงมือปฏิบัติ

ยกตัวอย่าง เช่น เมตตา ไมตรี หรือ มิตรภาพ กรุณา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
ความเสียสละ ความขยันหมั่นเพียร ความมีกำลังใจ ฉันทะ ศรัทธา สติ สมาธิ ปัญญา
สัมปชัญญะ ฯลฯ (มรรค ไตรสิกขา สมถะ วิปัสสนา และ ธรรมอื่นทำนองนี้)

รายละเอียดของธรรม ๔ ประเภท
หรือการจัดประเภทสิ่งทั้งหลายในโลกมีอย่างไร
จะไม่กล่าวในที่นี้ แต่พูดง่ายๆ ว่า
หลักนี้ท่านให้ใช้ในการตรวจวัดผลสำเร็จในการศึกษาหรือการปฏิบัติธรรมว่า

- สิ่งที่ควรกำหนดรู้ เราได้กำหนดรู้หรือรู้จักแล้วหรือไม่
- สิ่งที่ควรแก้ไขกำจัด เราได้แก้ไขกำจัดแล้วหรือยัง
- สิ่งที่ควรประจักษ์แจ้ง เราได้ประจักษ์แจ้งแล้วแค่ไหน และ
- สิ่งที่ควรปฏิบัติจัดทำให้เกิดให้มีขึ้นจนบริบูรณ์ เราได้ปฏิบัติจัดทำแล้วเพียงใด


ค) ดูสภาพจิตที่เดินถูกระหว่างทาง
ในการปฏิบัติธรรม คือ ดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง หรือ
ฝึกฝนพัฒนาตนไปนั้น ระหว่างการปฏิบัติ พัฒนา หรือ ศึกษาไปเรื่อยๆ
ควรจะสังเกตดูสภาพจิตใจของตนไปด้วยว่าเป็นอย่างไร

ในกรณีทั่วไป ถ้าไม่มีเหตุพิเศษ เพื่อปฏิบัติถูกต้องจิตเดินถูกทางก้าวหน้าดี
ก็จะเกิดมีสภาพจิตที่ดีงามสอดคล้องกัน ซึ่งเป็นทั้งคุณสมบัติของจิตนั้น และ
เป็นลักษณะของการปฏิบัติที่ได้ผล

ลักษณะของจิตที่เดินถูกทางนั้น ที่ควรสังเกตมี ๕ อย่าง
ซึ่งเป็นปัจจัยส่งทอดต่อกันตามลำดับ คือ


๑. ปราโมทย์ ได้แก่ ความแช่มชื่น ร่าเริง เบิกบานใจ
๒. ปีติ ได้แก่ ความอิ่มใจ ความปลาบปลื้มใจ ใจฟูขึ้น
๓. ปัสสัทธิ ได้แก่ ความรู้สึกผ่อนคลายกายใจ ใจเรียบรื่นระงับลง เย็นสบาย
๔. สุข ได้แก่ ความสุข ความคล่องใจ โปร่งใจ ไม่มีความติดขัด บีบคั้น
๕. สมาธิ ได้แก่ ความมีใจตั้งมั่น สงบ อยู่ตัว
อยู่กับงานที่ทำหรือเรื่องที่เกี่ยวข้อง ไม่วอกแวก ไม่ฟุ้งซ่าน


พอสมาธิเกิดขึ้น จิตใจก็มีสภาพเหมาะสมแก่งาน ที่ท่านเรียกว่าเป็น กัมมนีย์
พร้อมที่จะเอาไปใช้สร้างสรรค์พัฒนา คิดการ และเป็นที่ทำงานของปัญญา อย่างได้ผลดี
และสมาธิก็อาศัยองค์ธรรม ๔ อย่างแรกนั่นแหละช่วยเกื้อหนุนและทำให้เกิดขึ้น
สภาพจิต ๕ อย่างนี้ เป็นทั้งคุณสมบัติที่ดีงามโดยตัวของมันเอง
และเป็นเครื่องหมายของความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม
จึงควรพยายามทำให้เกิดขึ้น และการทำสภาพจิตเหล่านี้ให้เกิดขึ้น
ก็เป็นการปฏิบัติธรรมอยู่ในตัว

เพียงแค่ข้อที่ ๑ มีปราโมทย์ ทำใจให้แช่มชื่นเบิกบานไว้มากๆ
เมื่อปราโมทย์นั้นเกิดจากการปฏิบัติที่ถูกต้อง จิตเดินดีแล้ว
ท่าให้ความมั่นใจว่าจะลุถึงสันติบรมธรรมที่เป็นจุดหมาย
(ดู คาถาธรรมบท ที่ ๓๗๖, ๓๘๑)


G+ ชาตรี กองนอก