ผู้เขียน หัวข้อ: สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา ฯ "สติมีประโยชน์ในที่ทั้งปวง"  (อ่าน 2663 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 4 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

                 

สติ  สพฺพตฺถ  ปัตถิยา ฯ / พุทธศาสนสุภาษิต
"สติมีประโยชน์ในที่ทั้งปวง"

            @ หากจะกล่าวว่า " คนเราทุกข์เพราะความคิดที่ชักนำด้วยอำนาจของอวิชชา/ตัณหา/กิเลส ฯลฯ หรือ อกุศลธรรม " ก็คงไม่ผิด เพราะเมื่อพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้ว พบว่าแท้จริงแล้ว คนส่วนใหญ่สร้างความทุกข์ให้กับตนเองจากการคิดของตนทั้งสิ้น...อยู่ในความคิด คิดซ้อนคิด ออกจากความคิดที่ก่อให้เกิดทุกข์แก่ตนไม่เป็น... การนึกคิดหรือความคิดเป็นพฤติกรรมอย่างหนึ่งของจิต... บุคคลที่ฝึกฝนหรือเจริญ "สติ" ซึ่งเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง(เจตสิก)ที่มีอยู่พร้อมแล้วในจิตของคนทุกคน เสมอกัน ไม่ยกเว้น การเจริญสติธรรมดาให้พัฒนาเป็นสติที่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะทำงานด้านจิตได้หรือเรียกว่ามหาสติ สามารถจัดการกับความคิดที่เป็นอกุศลธรรมเหล่านี้ได้ ตามทัศนของหลวงพ่อ เทียน จิตฺตสุโภ(พันธ์ อินทผิว)ได้อธิบายว่า ความสามารถของสติที่พัฒนาดีแล้วจัดการกับความคิดที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ได้ ดังต่อไปนี้ ;

๑. "การเห็นความคิด" = 'สติเมื่อได้รับการฝึกฝนดีเป็นมหาสติแล้ว ย่อมมีความว่องไว รวดเร็ว ยิ่งกว่าความคิด รวดเร็วและว่องไวจนสามารถเห็นความคิดทุกประเภท โดยเริ่มตั้งแต่ การตั้งเค้า การก่อตัว และการเริ่มต้นคิดปรุงแต่ง'... การเห็นความคิดต่างจากการรู้ความคิด..การเห็นความคิด  หมายถึง สติเห็นการเกิดขึ้นของความคิด(นามรูป)ซึ่งเป็นพฤติกรรมอย่างหนึ่งของจิต อย่างน้อยก็ในทันทีที่จิตเริ่มต้นคิด เมื่อเห็นแล้ว สติไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับความคิดนั้น เพียงแค่เห็น แล้วปล่อยผ่านไป... ส่วน การรู้ความคิด หมายถึง การรู้ว่าตัวเองกำลังคิด แต่ผู้คิดแยกตนเองออกจากความคิดนั้นไม่ได้ กล่าวคือ พลัดหลงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความคิดนั้น โดยไม่รู้ตัว ทำให้ตนเองเป็นทุกขเวทนา... "ความคิด" เป็นนามธรรม เป็นนามรูป(รูปของความคิด)ไม่มีตัวตน เป็นสิ่งที่เห็นได้ยากมาก ต้องใช้มหาสติเป็นตัวเข้าไปรู้... ดังคำกล่าวของผู้รู้ท่านว่า "ผู้ใดเห็นความคิดของตนเอง เป็นผู้เริ่มได้กระแสพระนิพพาน" คนทั่วไปแค่รู้คิด แต่ยังไม่เห็นความคิด  การเห็นความคิดต้องเกิดจากพลังของสิ่งที่เรียกว่า "มหาสติ"

๒. "การรู้เท่า" = 'มหาสติรู้เท่ากันเล่ห์เพทุบายของความคิดที่นำหน้าด้วยอกุศลธรรมซึ่งซ้อนตัวมาในความคิดรูปแบบต่างๆ รวมทั้งความคิดที่เป็นกุศลธรรม และ อัพยากฤตธรรม

๓. "การรู้ทัน" = 'มหาสติรู้ในทันทีที่ความคิดเกิด ไม่ว่าจะเป็นการแอบคิดที่เจือหรือนำด้วยอกุศลธรรม...ไม่ใช่ปล่อยให้ความคิดปรุงแต่งเหล่านั้นย่ำยีหัวใจจนงอมพระรามแล้ว จึงรู้สึกตัวในภายหลัง ซึ่งบางครั้งก็สายเกินไปแล้ว หรือการตั้งใจคิด อีกทั้งการรู้ทันว่า ความคิดนี้เป็นกุศลธรรมควรเจริญให้ยิ่ง และความคิดนี้เป็นอัพยากฤตธรรม

๔. "การรู้กัน" = 'มหาสติรู้ป้องกันไม่ให้ผู้คิดพลัดหลงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับความคิดที่เป็นอกุศลธรรม เพียงแค่สติที่พัฒนาแล้วได้เห็นความคิดที่กอปรด้วยอกุศลธรรมเท่านั้น ความคิดดังกล่าวก็จะหยุดการปรุงแต่งในทันที อย่างน่าอัศจรรย์ มันจึงไม่สามารถทำอันตรายเราได้ มันจะหลบซ้อนตัวในทันทีหรือหายไป...รอโอกาสที่จะมาหลอกลวงเราใหม่

๕. "การรู้แก้" = 'มหาสติรู้การแก้ไข(ขัดขวาง)ไม่ให้ความคิดที่เป็นอกุศลธรรม กำเริบ ทำร้ายตนเองและผู้อื่นให้เป็นทุกข์ได้(แค่เห็นซื่อๆ แล้วก็ปล่อยไป ไม่ต้องเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์ หรือข้องแวะ ไม่ไปบีบ ไปบังคับให้มันหยุด และกดดันใดๆทั้งสิ้น) และรู้ที่จะพัฒนาความคิดที่เป็นกุศลธรรมให้เจริญงอกงามได้เต็มที่ จนกลายเป็นอุปนิสัยที่เอื้อต่อการพัฒนาตนเองและยกระดับจิตของตนเองไปในกุศลธรรม...

     เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า..  "สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา ฯ"--"สติมีประโยชน์ในที่ทั้งปวง" หมายความว่า "สติเป็นสภาวธรรมเครื่องรักษา รักษาให้เป็นไปในกุศลธรรม กั้นกระแสอกุศลธรรม ไม่ว่าอยู่ในที่ไหน เวลาใด สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง ย่อมเกิดรักษาจิตให้เป็นไปในกุศลธรรม และกั้นกระแสอกุศลธรรมในขณะนั้น ในที่ทุกสถาน แต่ปัญญาไมได้เกิดขึ้นเสมอไป เพราะฉะนั้น  "สติจึงจำปรารถนาในที่ทั้งปวง"

อ้างอิง :๑. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสยามรัฐ. อัคคิสูตร ส.ม. เล่มที่ ๑๙.
๒. พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ. ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์.
พิมพ์ครั้งที่ ๑๑/๒. (กรุงเทพมหานคร : เอส. อาร์. พริ้นติ้ง แมสโปรดักส์, ๒๕๕๑)   
๓. หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโพ. แด่เธอ...ผู้รู้สึกตัว. (แปลโดย ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์).
พิมพ์ครั้งที่ ๑๐.(: กลุ่มมูลนิธิสู่ธรรมชาติ, ๒๕๔๖)


facebook.com/notes/เพื่อนชาวพุทธ/-สติ-จำเป็นในที่ทั้งปวง-/500914433289974