ผู้เขียน หัวข้อ: การรู้ธรรมเห็นธรรม  (อ่าน 2587 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
การรู้ธรรมเห็นธรรม
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 11, 2014, 02:19:07 pm »



#การรู้ธรรมเห็นธรรม
ส่วนมากเรามักจะเข้าใจกันว่า การรู้ธรรมเห็นธรรมคือต้องเห็น
สังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
เห็นโครงกระดูกแล้วรู้ว่า เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ
เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราไปหมายเอา
      หมวดใหญ่ที่ท่านเขียนเอาไว้ในคัมภีร์

การตีความหมายอย่างนั้นก็ไม่ผิด เป็นการถูกต้องกับการรู้ธรรมเห็นธรรมโดยธรรมชาติที่จิตมันจะรู้เองด้วยพลังของสติสัมปชัญญะ แต่เราจะไปรู้ในกฎเกณฑ์ที่ท่านวางไว้เป็นแบบฉบับเท่านั้นไม่ได้ การรู้ธรรมเห็นธรรมโดยธรรมชาติมันจะต้องรู้ขึ้นมาเอง เป็นกระท่อนกระแท่น ไม่ติดต่อสืบเนื่องกันเป็นเรื่องยืดยาว การรู้ธรรมเห็นธรรมขอกำหนดหมายอย่างนี้
๑. คือการรู้ว่าจิตของเราคืออะไร เห็นว่าจิตของเราคืออะไร เป็นเบื้องต้น
๒. เมื่อจิตสัมผัสรู้อารมณ์ก็รู้ว่าจิตสัมผัสรู้อารมณ์
๓. เมื่อจิตสัมผัสรู้อารมณ์แล้วมีอะไรเกิดขึ้น จิตของเรายินดีไหม จิตของเรายินร้ายไหม จิตของเราพอใจไหม หรือเกลียดในอารมณ์นั้น ในเมื่อรู้ว่ายินดีหรือยินร้ายเกลียดหรือชอบ ก็ดูต่อไปว่าความเกลียดและความชอบบังเกิดขึ้นภายในจิตเป็นอย่างไร ทำให้จิตร้อนหรือเย็น ทำให้จิตสุขหรือทุกข์ ถ้าหากว่าจิตรู้สึกสุขก็ผ่านไป แต่ถ้าจิตของเรารู้สึกทุกข์ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นมานั้นเป็นความร้อนภายในจิต เรารู้ความร้อนของจิตในเมื่อเรารู้ความร้อนของจิตแล้ว ความร้อนเป็นทุกข์ เราจะต้องถามหาเหตุว่าทุกข์นั้นเกิดมาจากอะไร

ในเมื่อจิตรู้ว่าความทุกข์นั้นเกิดขึ้นมาจากอำนาจของโลภะ เกิดมาจากอำนาจของโทสะ เกิดมาจากอำนาจของโมหะ จิตมันก็จะยอมรับว่าไฟ คือ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นอันว่าจิตรู้ธรรมเห็นธรรม คือเห็นทุกข์ในจิต เห็นสุขในจิต

ในเมื่อจิตเห็นทุกข์คือจิตร้อน เพราะไฟโลภะ โทสะ โมหะ ผู้ปฏิบัติควรจะทำอย่างไร เราจะไล่ความร้อนของไฟโลภะ โทสะ โมหะ ให้หายไปอย่างนั้นหรือ เราไม่มีทางจะไปตั้งใจไล่ เพราะจิตของเราเกิดความชินชาต่อการปรุงกิเลส ให้เกิดไฟโลภะ โมหะ โทสะ แล้วถ้าไม่มีทางที่จะขับไล่ ไม่มีทางที่จะละ เราจะทำอย่างไร เราก็ทำสติกำหนดรู้ คือรู้ว่ามันเป็นไฟโลภะ โทสะ โมหะ รู้ว่าฤทธิ์ของโลภะ โทสะ โมหะ มันทำจิตให้ร้อน ให้ดูความร้อนที่มีอยู่ในจิต ดูความเย็นที่มีอยู่ในจิต จนกระทั่งจิตรู้ซึ้งเห็นจริงลงไป แล้วจิตยอมรับความเป็นจริงว่า ฤทธิ์ของโลภะ โทสะ โมหะนี้เป็นไฟเผาให้ร้อน มันร้อนอย่างนี้หนอ เมื่อจิตยอมรับความจริงแล้วก็เกิดความเข็ดหลาบในตัวของมันเอง ภายหลังมันก็จะไม่สร้างเหตุเดือดร้อนให้เกิดขึ้นมาอีก เปรียบเหมือนคนเรา ที่เราว่าถ่านไฟมันร้อน เมื่อมีใครนำถ่านไฟร้อนมาวางไว้ตรงหน้าเรา แล้วบอกกับเราว่า ดูซิ ถ่านไฟนี้มันสวย ดูซิมันเย็น แต่เรารู้แล้วว่าถ่านไฟนี้มันร้อน เราก็จะไม่ไปจับถ่านไฟนั้น ในทำนองเดียวกัน ในเมื่อจิตมันรู้ฤทธิ์ของโลภะ โทสะ โมหะ อย่างแท้จริงแล้ว ยอมรับสภาพความเป็นจริงแล้ว มันก็จะไม่ก่อเรื่องให้เกิด โลภะ โทสะ โมหะ ขึ้นมาอีก มีแต่ค่อยพิจารณาปลดเปลื้องโลภะ โทสะ โมหะ ของเก่าที่มีอยู่ให้ลดน้อยลง เบาบางลงไป

การปฏิบัติธรรมสำคัญอยู่ที่การทำจิตให้มีสิ่งรู้ ทำสติให้มีสิ่งระลึก การภาวนาพุทโธก็ทำพุทโธให้เป็นสิ่งรู้ของจิต เป็นสิ่งระลึกของสติ การภาวนายุบหนอ-พองหนอ ก็ทำยุบหนอ-พองหนอให้เป็นสิ่งรู้ของจิต สิ่งระลึกของสติ การภาวนาสัมมาอรหัง ก็ทำสัมมาอรหังเป็นสิ่งรู้ของจิต สิ่งระลึกของสติ ทั้งหลายเหล่านี้ หรืออย่างอื่นๆก็ตาม ใครภาวนาแล้ว เมื่อจิตเป็นสมาธิ ก็ต้องทำจิตให้เป็นวิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตาเหมือนกัน

สมาธิเป็นสัจธรรม เป็นของจริง ในเมื่อสัจธรรมของจริงคือสมาธิมีอยู่ ใครจะรู้แตกต่างกัน ไม่เหมือนกัน เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายอย่าไปยึดมั่นอยู่เพียงวิธีการเท่านั้น ขอให้ทุกท่านพิจารณาดูความจริงที่จะเกิดขึ้นภายในจิตใจของเรา ในขณะที่เราภาวนา สมาธินี้เป็นของจริง ใครจะภาวนาแบบไหน อย่างไร จะเกิดมีแนวโน้มเป็นอย่างเดียวกันทั้งหมด และขอเตือนไว้อีกอย่างหนึ่งว่า การรู้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ก็ดี สิ่งที่เราเห็นในระหว่างจิตมีสมาธิ สงบ สว่าง เราเห็นนิมิตต่างๆ เกิดอุทานธรรมขึ้นมาก็ดี สิ่งนั้นเป็นเพียงสิ่งรู้ของจิต สิ่งระลึกของสติ เมื่อเหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นแล้วให้เราทำสติไว้ให้ดี



@ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
>>> F/B Jeng Dhammajaree
9 กุมภาพันธ์ 2557