ผู้เขียน หัวข้อ: Daily Zen Buddhist Sutras :Koko-An Zendo [บทเพลงแห่งเซ็น]  (อ่าน 2377 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Daily Zen Buddhist Sutras :Koko-An Zendo [บทเพลงแห่งเซ็น]
« เมื่อ: มิถุนายน 30, 2013, 09:10:25 pm »



Pic By :Steffen Gliese



กรรมชั่วทั้งหมด
อันข้าพเจ้าได้กระทำจนถึงขณะนี้
ด้วยเหตุแห่งความโลภ โกรธ และหลง
อันไม่มีจุดตั้งต้นของข้าพเจ้า
ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
ข้าพเจ้าขอสารภาพ ณ บัดนี้
และขอชำระให้บริสุทธิ์ทั้งหมด
 
พระธรรมอันลึกซึ้งสุดจะเปรียบ
ละเอียดอ่อนสุดจะพรรณนา
ยากยิ่งที่จะได้พบ
แม้ด้วยเวลานับกัปกัลป์
บัดนี้เราสามารถเห็น
ได้ยินได้ฟัง รับรู้ และมีอยู่
ขอให้เราจงเห็นแจ้งโดยบริบูรณ์
ในความหมายอันแท้จริง
แห่ง ตถตา




Daily Zen Buddhist Sutras
:Koko-An Zendo
บทเพลงแห่งเซ็น :โคโค-อัน เซ็นโด

บทนำ
ว่าด้วย.. เรื่องของ เซ็น

“บทเพลงแห่งเซ็น” เล่มนี้แปลและเรียบเรียงจาก Daily Zen Buddhist Sutras ของ Koko-An Zendo เป็นพระสูตรที่นักศึกษาเซ็นใช้อ่านประกอบหลังการฝึก “ซาเซ็น” ทั้งในเวลาปกติประจำวันและในช่วงเวลา “เซสชิน” (เข้าเงียบ) เพื่อเป็นกำลังใจให้นักศึกษาได้มุมานะพยายามในหนทางแห่งเซ็นที่ตนเองกำลังดำเนินอยู่ พระสูตรเหล่านี้ได้รับการเลือกสรรให้ใช้อ่านกันเป็นประจำในวัดเซ็น ทำหน้าที่คล้ายกับหนังสือสวดมนต์ตามวัดต่าง ๆ ในเมืองไทย
 
ผู้แปลมีโอกาสได้ร่วมปฏิบัติ “ซาเซ็น” ที่สำนักโคโคอัน เซ็นโด ในมลรัฐฮาวาย ซึ่งมีท่านโรเบิร์ต เอทเคน โรชิ (Robert Aitken Roshi) อาจารย์เซ็นชาวอเมริกันเป็นเจ้าสำนัก  สำนักโคโคอัน เซ็นโด นี้สืบทอดธรรมในสายท่านยามาด้า โคอัน โรชิ (Yamada Koun Roshi) แห่งสำนักซานอัน เซ็นโด เมืองคามาคุระ ประเทศญี่ปุ่น อันเป็นสำนักที่ประสมประสานระหว่างรินไซเซ็นและโซโตะเซ็นเข้าด้วยกัน ผู้แปลได้เข้าร่วม “เซสชิน” หลายครั้ง และเกิดกำลังใจจากการอ่านหนังสือพระสูตรเล่มนี้ ต่อมาเมื่อมีโอกาสจึงได้ค่อย ๆ ทยอยแปลลงในนิตยสาร “ชาวพุทธ” จนครบทุกบท และได้เรียงลำดับพระสูตรเสียใหม่เพื่อความเหมาะสม อนึ่งคำสวดที่เป็นภาษาบาลีและภาษาญี่ปุ่น ผู้แปลไม่ได้คงไว้ เพราะส่วนหนึ่งตรงกับบทสวดมนต์ของไทย จึงคงไว้เฉพาะพระสูตรอันเป็นเนื้อหาสาระสำคัญ

เมื่อครั้งที่ “มูลนิธิอริยาภา” ดำริจะจัดการปฏิบัติธรรมแบบ
“เก็บอารมณ์” (Retreat) ขึ้น
โดยใช้รูปแบบทั้งหมดของเซ็น และเนื้อหาการปฏิบัติในแนว
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
จึงได้ทดลองใช้หนังสือพระสูตรเล่มนี้อ่านประกอบ ปรากฏว่าสมาชิกส่วนหนึ่งรู้สึกพอใจ
เพราะข้อความส่วนใหญ่กระตุ้นเตือนและให้กำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติ
 
ผู้แปลขอขอบพระคุณ “มูลนิธิอริยาภา
ที่สนใจจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้นในครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
คุณอนุสรณ์ ศิริโสภณ ที่ได้ช่วยจัดทำต้นฉบับ รูปเล่มและออกแบบปก 
คุณละเอียด ศิลาน้อย ที่ได้ช่วยวิจารณ์และตรวจแก้ต้นฉบับให้
และขอขอบพระคุณทุก ๆ ท่านที่มีส่วนทั้งทางตรงและทางอ้อม
ที่ช่วยให้หนังสือเล่มนี้สำเร็จเป็นรูปเล่มออกมา



ทวีวัฒน์  ปุณฑริกวิวัฒน์
29 เมษายน 2525


Pic By :Steffen Gliese
หนังสือเล่มนี้ ผู้แปลอุทิศแด่ คุณพูนสวัสดิ์ ทีปกร มิตรผู้จากไป

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 01, 2013, 12:02:46 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: Daily Zen Buddhist Sutras :Koko-An Zendo [บทเพลงแห่งเซ็น]
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มิถุนายน 30, 2013, 09:27:31 pm »




                           บทนำ

พุทธศาสนานิกายเซ็น เป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นจากพุทธศาสนาของอินเดียและปรัชญาเต๋าของจีนในพุทธศาสนานั้น สิ่งสำคัญก็คือการไม่มีตัวตนและการอยู่เหนือสิ่งที่เป็นคู่ทั้งหลาย  ส่วนปรัชญาเต๋านั้นมีความรักในธรรมชาติและวิถีชีวิตที่เป็นไปเอง  เมื่อกระแสธรรมทั้งสองสายมาบรรจบกันเข้า ก่อให้เกิดสิ่งที่ยิ่งใหญ่สิ่งหนึ่งขึ้นมา คือ พุทธศาสนานิกายเซ็น  จนเกิดคำกล่าวขึ้นมาคำหนึ่งว่า “เซ็นมีพ่อเป็นพุทธ แม่เป็นเต๋า”   พุทธศาสนานิกายเซ็นนั้นเน้นชีวิตในโลกนี้ และมีหลักสำคัญคือธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะอันเป็นสากลกับการตรัสรู้อย่างฉับพลัน
 
ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะเป็นสิ่งสากล  มีอยู่แล้วในชีวิตของคนทุกคน  เป็นธรรมชาติเดิมแท้ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย  “ความคิดปรุงแต่ง” เป็นสิ่งที่บดบังธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะนี้ไว้ ก่อให้เกิด “ตัวตน” และความยึดติดทั้งหลายขึ้นมา แบ่งแยกตัวเรากับสิ่งภายนอกให้ออกจากกัน เมื่อความคิดปรุงแต่งถูกขจัดออกไป ตัวตนและความยึดติดทั้งหลายก็สูญสิ้น ไม่มีสิ่งที่เป็นของตรงกันข้าม เช่น ตัวเรากับสิ่งภายนอก ดีกับชั่ว หญิงกับชาย ทุกข์กับสุข ฯลฯ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเอกภาพเดียวกับธรรมชาติ และทั้งหมดเป็นเรื่องของการตื่นขึ้นโดยตรง หรือการตรัสรู้โดยฉับพลัน
 
ในการขจัดความคิดปรุงแต่งนั้น “สติ” เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด สติเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับความคิดปรุงแต่ง เมื่อไม่มีสติ ความคิดปรุงแต่งก็เกิดขึ้น เมื่อมีสติความคิดปรุงแต่งก็หายไป การเจริญสติของเซ็นเรียกว่า “ซาเซ็น” เป็นการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อม เป็นการปลุกธาตุรู้ในตัวให้ตื่นขึ้น เพื่อที่จะช่วยให้นักศึกษาหลุดออกมาจากวิธีคิดแบบตรรกะและความคิดปรุงแต่งของตน อาจารย์เซ็นจะไห้ “โกอาน” หรือปริศนาธรรมแก่นักศึกษาในเวลานั่ง “ซาเซ็น”  “โกอาน” เป็นสิ่งที่ไม่อาจคิดได้ด้วยเหตุผลทางสมอง ด้วยการเจริญสติกระทั่งตัวเรากับ “โกอาน” จะเปิดเผยตัวเองออก ผู้ปฏิบัติธรรมของเซ็นจะขบปริศนาธรรม “โกอาน” ในเวลานั่ง “ซาเซ็น” และจิตใจจดจ่ออยู่ที่“โกอาน”นั้นตลอดเวลา ในชีวิตประจำวัน อาจารย์เซ็นจะช่วยเหลือนักศึกษาในอีกสองทาง คือ “โดกุซาน” การชี้แนะเป็นส่วนตัว และ “เตโช” การอธิบายธรรม อาจารย์เซ็นจะให้ข้อคิดต่าง ๆ แก่นักศึกษาเป็นส่วนรวมในขณะที่มี “เตโช” และจะแนะนำนักศึกษาเป็นรายบุคคลในขณะที่มี “โดกุซาน”  ถือกันว่า “ซาเซ็น โดกุซาน เตโช” เป็นสิ่งสำคัญสามสิ่งในการปฏิบัติธรรมของเซ็น
 
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของ “โกอาน” ที่ใช้ปฏิบัติกันจริงในเวลานี้
ภิกษุรูปหนึ่งถามท่านโจชู(เชา-โจว)ว่า “ในตัวสุนัขนั้นมีธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะอยู่ด้วยหรือไม่”  โจชูตอบว่า “มู”
 
เมื่อนักศึกษาได้รับ “โกอาน” นี้จากอาจารย์เซ็นแล้ว สิ่งที่เขาจะต้องกระทำก็คือสำรวมความรู้สึก ทั้งชีวิตจิตใจให้มาจดจ่ออยู่ที่ “มู” แต่เพียงอย่างเดียว คำว่า “มู” เป็นภาษาญี่ปุ่น มาจากภาษาจีนว่า “วู” แปลว่าความว่าง เขาต้องละลายความรู้สึกนึกคิดของตนเองทั้งหมดให้หายไปใน “มู”  จนกระทั่งภายในและภายนอกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โกอาน “มู” ก็จะแตกออก เขาจะเกิดความแจ่มแจ้งในพุทธธรรมข้อนี้ทันที เป็นญาณทัศนะที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับของท่านโจชู เมื่อท่านตอบว่า “มู” ต่อคำถามที่ภิกษุรูปนั้นถาม
 
ความเห็นของท่านมูมอน อีไค (วู-เหมิน ฮุย-ไค) ใน “มูมอนคาน” (วู-เหมิน-กวน) มีดังนี้
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เธอจะสำรวมความรู้สึกทั้งชีวิตจิตใจเพ่งพินิจอยู่แต่ “มู” ได้อย่างไร จงอุทิศกำลังกายกำลังใจที่มีอยู่ทั้งหมดไปกับการปฏิบัติ “มู” และถ้าเธอไม่ละความพยายามไปเสียก่อน เธอจะต้องได้รับความสว่างไสวแจ่มแจ้งในฉับพลัน ดุจคบที่จุดขึ้นในความมืดฉะนั้น ช่างน่ามหัศจรรย์เสียจริง ๆ !
และโศลกของท่านมูมอน อีไค มีว่า
สุนัข ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ ปรากฏการณ์อันสมบูรณ์ของสิ่งทั้งหมด ทันทีที่เธอเริ่มคิดว่า “มี” หรือ “ไม่มี” ชีวิตของเธอจะหลงออกจากทาง
 
ด้วยการปฏิบัติ “ซาเซ็น” และการดำเนินชีวิตประจำวันที่เป็นไปเองตามธรรมชาติ บุคคลก็จะเกิด “ปรัชญา” ปัญญารู้แจ้งในสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง และด้วยการเจริญสติแก้ปริศนาธรรม “โกอาน” ไปเป็นลำดับ ปัญญาที่เกิดขึ้นนั้นก็เพิ่มขึ้นทุกที จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมอย่างถึงที่สุดแล้ว บุคคลนั้นก็จะเกิด “ซาโตริ” การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
 
พุทธศาสนานิกายเซ็น มีหลักพื้นฐาน 5 ประการ ที่พอจะกล่าวถึงได้ ดังนี้
 
1.      “ความจริงสูงสุด หรือหลักการแรก เป็นสิ่งที่ไม่สามารถแสดงออกได้ด้วยคำพูด
ความจริงอันสูงสุดของเซ็นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแสดงออกได้ด้วยคำพูดหรือตัวหนังสือ ดังคำพูดของเซ็นที่ว่า “การส่งมอบพิเศษนอกคัมภีร์ ไม่ต้องอาศัยคำพูดหรือตัวหนังสือ” ซึ่งก็ตรงกับคำพูดในปรัชญาเต๋าที่ว่า “เต๋าเป็นสิ่งที่ไม่อาจเรียกได้ด้วยคำพูด เต๋าที่เรียกได้ด้วยคำพูดไม่ใช่เต๋าที่แท้จริง” และ “ผู้พูดไม่รู้ ผู้รู้ไม่พูด” พุทธะอันสูงสุดนั้นคือธรรมชาติอันแท้จริงที่มีอยู่ภายในชีวิตของเรานี้เอง เมื่อคำพูดและความคิดปรุงแต่งหยุดลง ธรรมชาติดั้งเดิมก็พลันปรากฏ
 
เซ็นจึงมุ่งที่ประสบการณ์ความตื่นของชีวิตมากกว่าคำพูด ประสบการณ์นี้จะเรียกว่า “ความว่าง” หรือ “ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ” หรือ “ธรรมชาติดั้งเดิม” หรือ “จิตหนึ่ง” ก็ได้ ตราบเท่าที่เรายังต้องเกี่ยวข้องกับภาษา แต่ภาษาเป็นเพียงนิ้วมือที่ชี้ไปยังดวงจันทร์ สิ่งสำคัญคือดวงจันทร์ หรือประสบการณ์ของความตื่น มิใช่มาติดอยู่กับเพียงนิ้วมือที่ชี้ ประสบการณ์ของความตื่นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยคำพูด นอกจากต้องประสบด้วยตนเองจึงจะรู้ เปรียบเหมือนคนดื่มน้ำ ร้อนหรือเย็นรู้ได้เองไม่ต้องบอก ครั้งหนึ่ง มีผู้ถามอาจารย์เวน-อี้ (มรณภาพ พ.ศ. 1501) ว่า “อะไรคือหลักการแรก” ท่านตอบว่า “ถ้าฉันบอกเธอด้วยคำพูด มันจะกลายเป็นหลักการที่สองไป”
 
2.      “การฝึกฝนในทางธรรม เป็นสิ่งที่ไม่อาจฝึกฝนกันได้ (ด้วยความพยายามที่เกิดจากการปรุงแต่ง)”
ในความคิดปรุงแต่งใด ๆ ก็ตาม จะมีความรู้สึกที่มีตัวตนประสมอยู่ด้วยเสมอ ทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างสิ่งที่เป็นภายในกับสิ่งที่เป็นภายนอก และทำให้เกิดความยึดมั่นผูกพันกับวัตถุภายนอก ความพยายามที่เกิดจากการปรุงแต่งไม่ว่าจะเป็นการฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า การท่องพระสูตร การบูชาพระพุทธรูป หรือการประกอบพิธีต่าง ๆ นั้น โดยแท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ บุคคลควรปล่อยให้จิตใจเป็นอิสระ เฝ้าดูและขจัดกระแสของความคิดปรุงแต่ง และจะต้องเข้าถึงธรรมชาติของความเป็นกันเอง การปฏิบัติธรรมที่แท้จริงจึงจะเกิดขึ้นได้
 
อิ-ขวน ได้กล่าวไว้ว่า “ในการที่จะบรรลุความเป็นพุทธะนั้น ไม่มีสิ่งใดที่จะต้องใช้ความพยายามอย่างจงใจ มีวิธีเดียวเท่านั้นคือปฏิบัติภาระหน้าที่มีอยู่ไปตามปกติธรรมดา กล่าวคือ ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ใส่เสื้อผ้า กินข้าว และเมื่อเหนื่อยก็ให้พัก ปุถุชนธรรมดาจะหัวเราะเยอะเธอ แต่ผู้มีปัญญาจะเข้าใจ”
 
3.  “ผลบั้นปลายสุดท้าย ไม่มีอะไรที่ได้มาใหม่
ประสบการณ์ของความตื่น ความรู้สึกตัวถึงเอกภาพอันแบ่งแยกมิได้ของสรรพสิ่งทั้งมวล การเห็นแจ้งธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะภายในตน เหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าได้อะไรมาใหม่ เพียงแต่เป็นการรู้แจ้งบางสิ่งบางอย่างที่มีอยู่ในตัวเองตลอดเวลาเท่านั้น ปัญหามีเพียงว่าที่เราไม่รู้สึกตัวถึงสิ่งนี้เป็นเพราะอวิชชาของเราเอง ในสภาวะของความตื่น เมื่อตัวตนที่ปรุงแต่งถูกขจัดออกไป ธรรมชาติในส่วนลึกอันเร้นลับจะปรากฏตัวขึ้นแทนที่ และผู้กระทำจะกระทำสิ่งต่าง ๆ อย่างปราศจากตัวตนและอย่างเป็นไปเอง
 
ฮวง-โป กล่าวว่า “เรื่องมันเพียงแต่ตื่นและลืมตาต่อ “จิตหนึ่ง” เท่านั้น และไม่มีอะไรที่จะต้องบรรลุถึงอะไร.. ถ้าเขาเหล่านั้นจะเพียงแต่ได้ขจัดความคิดปรุงแต่งเสียชั่วแวบเดียวเท่านั้น สิ่งซึ่งเป็นต้นกำเนิดของสิ่งทั้งปวงดังที่กล่าวนั้น จะแสดงตัวมันเองออกมาทันที เหมือนดวงอาทิตย์ที่โผล่ขึ้นมาท่ามกลางที่ว่าง และส่องสว่างทั่วจักรวาลโดยปราศจากสิ่งบดบังและขอบเขต”
 
4.      “ไม่มีอะไรมากในคำสอนทางพุทธศาสนา”
แท้จริงแล้วนั้น สิ่งที่เรียกว่าแนวความคิด ลัทธิ และคำพูด ไม่มีความหมายแต่อย่างใด สิ่งสำคัญที่สุดเพียงประการเดียวคือประสบการณ์ของความตื่นเท่านั้น ในทัศนะที่แท้จริงแล้ว ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าพระพุทธเจ้า ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าชาวพุทธ และไม่มีแม้กระทั่งสิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนา เพราะตราบใดที่ยังยึดติดในสิ่งเหล่านี้ ก็ยังไม่อาจรู้แจ้งความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลายได้อยู่ตราบนั้น เนื่องจากการเน้นเสรีภาพและความเป็นเอง ข้อนี้เอง ที่อาจารย์อิ-ซวนได้สั่งสานุศิษย์ของท่าน “ฆ่าทุก ๆ สิ่งที่อยู่ขวางหน้า ถ้าเธอพบพระพุทธเจ้าก็ให้ฆ่าพระพุทธเจ้าเสีย ถ้าเธอพบพระอรหันต์ทั้งหลายบนเส้นทางของเธอก็ให้ฆ่าท่านเหล่านั้นด้วย”
 
5.      “ในขณะที่กำลังหาบน้ำ ผ่าฟืน นั่นแหละ เป็นขณะแห่งการสัมผัสกับชีวิตทางธรรม
การตรัสรู้นั้นไม่จำกัดอยู่ในรูปแบบใด ในขณะแห่งการทำงานในชีวิตประจำวันก็อาจเป็นขณะแห่งการตรัสรู้ได้ ธรรมชาติแห่งพุทธะเป็นสิ่งสากล เราอาจพบมันได้ในทุกหนทุกแห่ง ท่านเสียง-เหยนตื่นขึ้นสู่การตรัสรู้ขณะที่ท่านกำลังกวาดพื้นอยู่ ก้อนกรวดก้อนหนึ่งที่ท่านกวาดกระเด็นไปถูกลำไผ่เสียงดังแกร๊ก จิตใจของท่านได้สว่างโพลงขึ้นในบัดดล บทเพลงของจีนบทหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นจิตใจที่เป็นอิสระท่ามกลางการงานในชีวิตประจำวัน มีดังนี้
                       
ทันทีที่พระอาทิตย์ขึ้น
เราเริ่มต้นทำงาน
ทันทีที่พระอาทิตย์ตกดิน
เราพักผ่อน
เราขุดบ่อน้ำ
และเราดื่ม
เราไถหว่านบนพื้นดิน
และเรากิน
อำนาจอะไรของเทพเจ้าจะมาเกี่ยวข้องกับเรา

 
            พุทธศาสนานิกายเซ็นมีอิทธิพลต่อวิถีการดำเนินชีวิตและความรู้สึกนึกคิดของชาวจีนและชาวญี่ปุ่นมาเป็นระยะเวลาช้านาน ศิลปวัฒนธรรมอันประณีตงดงามและเรียบง่าย ไม่ว่าจะเป็นบทกวี ภาพเขียน ดนตรี การจัดสวนหิน หรือพิธีน้ำชา เหล่านั้นสะท้อนให้เห็นถึงจิตใจของชาวจีนและชาวญี่ปุ่นอย่างแยกไม่ออก และในปัจจุบันเซ็นได้แพร่หลายไปทั่วโลก
 
            “บทเพลงแห่งเซ็น” ที่รวบรวมไว้ในหนังสือเล่มนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทเพลงและบทกวีที่กล่าวถึงธรรมชาติและความหลุดพ้นแบบเซ็นที่อาจารย์เซ็นผู้รู้แจ้งในอดีตได้ประพันธ์ไว้ บทเพลงและบทกวีเหล่านี้มีลีลาที่เรียบง่ายแต่แฝงไว้ด้วยความหมายอันล้ำลึก ทุกถ้อยคำได้กล่าวออกมาจากจิตใจที่รู้แจ้ง เปิดเผยถึงวิถีทางและธรรมชาติแต่ดั้งเดิมของมนุษย์ จึงเป็นทั้งคำอุทานต่อความปราโมทย์แห่งธรรม คำแนะนำตักเตือน คำสอน คำปลอบโยนและคำเร่งเร้าให้ยินดีเฉพาะต่อความหลุดพ้น การที่จะอ่านคำประพันธ์เหล่านี้ให้เข้าใจและได้รับรสแห่งธรรมรวมทั้งรสแห่งสุนทรียะนั้น จำเป็นที่ผู้อ่านจะต้องมีพื้นฐานความเข้าใจและการปฏิบัติธรรมแบบเซ็นมาพอสมควร บทนำนี้ได้พยายามทำความเข้าใจและอธิบายวิธีการแบบเซ็นมาพอสังเขป หวังว่า “บทเพลงแห่งเซ็น” คงมีส่วนช่วยเกื้อกูลกำลังใจและการปฏิบัติธรรมของชาวพุทธในเมืองไทยบ้างไม่มากก็น้อย


                                           By :Steffen Gliese

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 03, 2013, 02:05:26 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: Daily Zen Buddhist Sutras :Koko-An Zendo [บทเพลงแห่งเซ็น]
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: มิถุนายน 30, 2013, 09:57:16 pm »




"เซ็น"
ไดโอ  โกกุชิ

มีความจริงอยู่อันหนึ่งมีมาก่อนฟ้าและดิน
มันไม่รูปร่างลักษณะแต่อย่างใด  อย่าว่าแต่จะเรียกชื่อเลย
ตาไม่สามารถจะมองเห็นมันได้  มันไม่มีเสียงที่จะให้หูได้ยิน
การเรียกมันว่า "จิต" หรือ "พุทธะ" เป็นการทำลาย..
ธรรมชาติที่แท้จริงของมัน

เพราะมันจะกลายเป็นเพียงดอกไม้แห่ง.. ความนึกคิด..
กลางอากาศเท่านั้น
มันไม่ใช่ "จิต"  ไม่ใช่ "พุทธะ" 
เงียบสงัดสิ้นเชิง  และก็สว่างไสวในวิถีทางอันเร้นลับ
มันจะปรากฏออกเฉพาะต่อดวงตาแห่งความแจ่มใส
มันคือ "ธรรมะ"  อยู่เหนือรูปและเสียงอย่างแท้จริง
 
มันคือ "เต๋า" *
ไม่มีอะไรจะเกี่ยวข้องกับคำพูดด้วยปรารถนาเป็นอุบาย
แก่ผู้มืดบอด
พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้
คำพูดเล็ดรอดออกจากพระโอษฐ์อันศักดิ์สิทธิ์

นับแต่นั้น ฟ้าและดินจึงเต็มด้วยสิ่งหลากหลาย
โอ้ ! กัลยาณมิตรของฉันที่มาประชุม ณ ที่นี้
หากเธอปรารถนาจะได้ยินเสียงแห่งธรรมอันยิ่งใหญ่
จงหยุดคำพูด  จงกระทำความคิดให้ว่างเปล่า
เพราะเมื่อนั้นแหละ เธอจึงจะรู้จักสาระที่แท้จริงนี้ได้


* เต๋า    (Tao)  คือธรรมชาติของความจริงอันยิ่งใหญ่ในปรัชญาเต๋าของท่านเล่าจื้อและท่านจวงจื้อ  เป็นสิ่งที่ไม่อาจเรียกได้ด้วยคำพูด  เต๋าที่เรียกได้ด้วยคำพูดยังไม่ใช่เต๋าที่แท้จริง  บางครั้งชาวจีนใช้คำว่า "เต๋า" เรียกแทนคำว่า "ธรรมะ" ในพุทธศาสนา


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: Daily Zen Buddhist Sutras :Koko-An Zendo [บทเพลงแห่งวิปัสสนา]
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: มิถุนายน 30, 2013, 10:15:38 pm »




บทเพลงแห่งวิปัสสนา
ฮาคูอิน เซ็นจิ
 
ทุกชีวิต โดยธรรมชาติพื้นฐานแล้ว คือ พุทธะ
เหมือนน้ำแข็ง ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว ก็คือน้ำ
นอกไปจากน้ำแล้ว จะไม่มีน้ำแข็ง
นอกไปจากสิ่งที่มีชีวิตแล้ว จะไม่มีพระพุทธเจ้า
 
ช่างน่าเศร้าใจเสียจริงที่บุคคลมองข้ามสิ่งที่อยู่ใกล้
และเสาะแสวงหาความจริงจากสิ่งที่อยู่ไกล !
เปรียบเหมือนบุคคลที่อยู่กลางน้ำ
ตะโกนหาน้ำด้วยความหิวกระหาย
เหมือนกับเด็กจากบ้านที่มั่งคั่ง
ออกเที่ยวหาทรัพย์ในถิ่นอันยากจน
 
กรรมแห่งการเวียนเกิดและเวียนตาย
คือหนทางอันมืดมิดแห่งอวิชชา
เราได้ท่องเที่ยวไป จากหนทางมืดหนึ่ง สู่หนทางมืดอีกอันหนึ่ง
แล้วเมื่อไหร่ เราจึงจะพ้นจากความเกิดและความตาย
 
โอ้ ! “เซ็นโจ”* แห่งมหายาน
ขอได้รับการสรรเสริญอันสูงสุดเถิด !
“เนมบุตซู” ** การสารภาพความผิด ระเบียบวินัยแห่งธรรม
คุณธรรมอันหลากหลายล้วนเกิดขึ้นภายใน “เซ็นโจ” ทั้งสิ้น
 
ผู้ที่ได้ปฏิบัติ “ซาเซ็น” *** แม้เพียงครั้งหนึ่ง
ขจัดกรรมชั่วในอดีตทั้งหมดออกไป
แล้วเจตนาร้ายจะมาแต่ไหน
แดนสุขาวดีอยู่ที่นี่แล้ว
 
ผู้ที่ได้ยินความจริงนี้แม้เพียงครั้งหนึ่ง
และฟังด้วยดวงใจอันเปี่ยมด้วยความรู้คุณ
ด้วยความเทิดทูน ด้วยความเคารพนับถือ
ได้รับความเบิกบานไม่สิ้นสุด
 
ยิ่งกว่านั้น ผู้ที่หันมาพิจารณาภายใน
และเห็นแจ้งธรรมชาติที่แท้จริงของตน
ธรรมชาติที่แท้จริงซึ่งเป็นธรรมชาติแห่งความว่างเปล่า
อยู่เหนือความเฉลียวฉลาดธรรมดามากนัก
 
เขารู้ว่า ผลและเหตุเป็นหนึ่ง
ไม่ใช่สอง ไม่ใช่สาม หนทางนั้นพุ่งตรงไป
ด้วยรูปแบบที่ไม่ใช่รูปแบบ
การไปและการมา ไม่เคยหันเหออกนอกทาง
ด้วยความคิดที่ไม่ใช่ความคิด
บทเพลงและบทเริงรำของเขาคือถ้อยคำแห่งสัจจะ
 
ความกว้างใหญ่ของท้องฟ้าแห่งสมาธิได้เปิดออกแล้ว
แสงจันทร์แห่งปัญญาย่อมส่องสว่างไสว
และอะไรอีกเล่าที่เรายังจะแสวงหา
ที่นี่คือพระนิพพานอันได้เปิดเผยออก
ที่แห่งนี้คือดินแดนแห่งดอกบัว
กายนี้คือพระพุทธเจ้า


                                       
* Zenjo หมายถึงผู้ปฏิบัติเซ็น
** Nembutsu เป็นคำแสดงความเคารพแด่พระพุทธเจ้า
*** Zazen  คือการนั่งวิปัสสนาของเซ็น


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: Daily Zen Buddhist Sutras :Koko-An Zendo [บทเพลงแห่งเซ็น]
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: มิถุนายน 30, 2013, 10:41:42 pm »




วิปัสสนาแห่งเซ็น
เมโห
 
การนั่งวิปัสสนาของเซ็นเป็นหนทางแห่งความสงบสันติอันสมบูรณ์
โดยภายในแล้ว มิใช่เป็นเพียงเงาของความรู้สึกนึกคิด
โดยภายนอกแล้ว  ก็มิใช่เป็นเพียงเงาของความแตกต่างระหว่างสรรพสิ่ง
อย่าได้คิดถึงการบรรลุตรัสรู้
อย่าได้คิดถึงการละทิ้งสิ่งอันเป็นมายา
 
เธอเปรียบเหมือนนกที่กำลังบิน ซึ่งไม่มีจิตจะคิดถึงการส่งเสียงร้อง
เหมือนกับภูเขาที่ไม่รับรู้ต่อภูเขาลูกอื่นที่อยู่รอบข้าง
การนั่งวิปัสสนาของเซ็นไม่มีอะไรที่จะต้องทำเกี่ยวกับการรักษาศีล
การปฏิบัติสมาธิ  การเข้าถึงปัญญา
เธอก็เหมือนกับปลาที่ไม่ได้มีความมุ่งหมายอันเฉพาะเจาะจงใด ๆ
ในการอยู่ในท้องทะเล
 
จงเฝ้าดูตัวของเธอเองจากความนึกคิดอันเคยชินว่า “สิ่งนี้ดี  สิ่งนั้นเลว”
สิ่งที่เธอควรจะใส่ใจแต่เพียงประการเดียวก็คือการถามตัวเองอยู่เสมอว่า
“อะไรคือสิ่งที่อยู่เหนือความเป็นคู่ทั้งสอง”
ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะอันสมบูรณ์ดุจพระจันทร์เต็มดวง
อยู่ในขณะแห่งการวิปัสสนาแบบเซ็นของเธอแล้ว
 
วิถีชีวิตแห่งความหมดจดงดงามของพระพุทธเจ้านั้นมิใช่หนึ่งหรือหลากหลาย
มิใช่สิ่งนี้หรืองสิ่งนั้น  มิใช่ภาวะหรืออภาวะ
อย่าได้ยึดมั่นถือมั่นในการตรัสรู้หรือความลวงหลอก
จงทำใจให้เป็นอิสระจากความชอบหรือความไม่ชอบ
อย่าได้ยึดติดในความคิดอันฟุ้งซ่านที่เกิดขึ้นในจิตของเธอ
และมันจะผ่านออกไปโดยปราศจากร่องรอยดุจเงาในกระจกฉะนั้น
 
ศีลห้า ศีลแปด ศีลสองร้อยห้าสิบ
วินัยแห่งสงฆ์สามพันข้อ  ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ
ความเป็นโพธิสัตว์  และวงล้อแห่งธรรม
ทั้งหมดนี้มีอยู่ในการนั่งวิปัสสนาแห่งเซ็นและปรากฏออกมาจากสิ่งนี้ทั้งสิ้น
ในการประพฤติปฏิบัติทั้งหมดนั้น  “ซาเซ็น” จะต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง
เพราะว่าอานิสงส์ของบุคคลที่ได้ปฏิบัติซาเซ็น
อยู่เหนือการสร้างโบสถ์วิหารอันวิจิตรพิสดารมากนัก
 
ไม่ว่าเธอจะเป็นนักศึกษาที่เพิ่งเริ่มต้นหรือที่ได้ปฏิบัติมานานแล้ว
ไม่ว่าเธอจะเป็นผู้คงแก่เรียนหรือผู้ที่ไม่มีความรู้
หากเธอปฏิบัติซาเซ็น
สิ่งที่เธอทำ  สิ่งที่เธอรู้สึก  และสิ่งที่เธอคิดทั้งหมด
ก็จะเป็นส่วนหนึ่งแห่ง  “ความเป็นเช่นนั้น” อันมหัศจรรย์และยิ่งใหญ่



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: Daily Zen Buddhist Sutras :Koko-An Zendo [คำเตือนแห่งเซ็น]
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: มิถุนายน 30, 2013, 10:55:55 pm »




คำเตือนแห่งเซ็น
มูมอน
 
การเดินตามแบบแผนและติดอยู่ในกฎเกณฑ์
เป็นการผูกมัดตัวเองโดยไม่ต้องมีเชือก
 
การกระทำสิ่งต่าง ๆ ตามอำเภอใจ
เป็นสิ่งอกุศลและเลวร้าย
 
การกระทำเพียงแต่รวมจิตให้เป็นหนึ่งและบังคับมันให้สงบ
นั่งวิปัสสนาของเซ็นเป็นหนทางแห่งความสงบสันติอันสมบูรณ์
เป็นลัทธินิยมความนิ่งเฉยและเป็นเซ็นที่ผิด
 
การยึดถือความคิดของตัวเองและลืมโลกที่ปรากฏอยู่ตามสภาพของมัน
เป็นการตกลงไปสู่หลุมที่ลึก
ความรู้สึกยึดมั่นที่ว่าตนจะต้องรู้ทุกอย่าง
และไม่ยอมให้สิ่งใดมาหลอกลวง
เป็นการใส่โซ่ตรวนให้กับตัวเอง
 
การคิดถึงความดีและความชั่ว
เป็นการติดอยู่ในสวรรค์กับนรก
 
การค้นหาพระพุทธเจ้านอกตัว
การค้นหาความจริงนอกตัว
เป็นการถูกคุมขังอยู่ในระหว่างซี่กรงเหล็กสองซี่
 
ใครที่คิดว่าเขาบรรลุความเห็นแจ้งด้วยการยกระดับความคิด
เป็นเพียงการเล่นกับสิ่งที่หลอกหลอน
 
การนั่งอย่างเลื่อนลอยในเซ็น
เป็นเงื่อนไขของสิ่งที่เลว
 
การทำให้ก้าวหน้า
เป็นเพียงสิ่งลวงตาในทางปัญญาอันเกิดจากการปรุงแต่ง
 
ความเสื่อมถอย
เป็นสิ่งที่เข้ากันไม่ได้กับหนทางของเรา
 
การไม่ก้าวหน้าและไม่ถอยหลัง
เป็นเพียงลมหายใจของบุคคลที่ตายแล้ว
 
เธอจะต้องมานะพยายามอย่างถึงที่สุด
ในอันที่จะบรรลุถึงการตรัสรู้ของเธอในชีวิตนี้
และจะต้องไม่ผลัดมันออกไปวันแล้ววันเล่า
ด้วยการก้าวข้ามพ้นโลกทั้งสาม [1]


By :Steffen Gliese

[1] โลกทั้งสามได้แก่ กามโลก  รูปโลก  และอรูปโลก

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 01, 2013, 11:54:58 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: Daily Zen Buddhist Sutras :Koko-An Zendo [บทเพลงแห่งเซ็น]
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: มิถุนายน 30, 2013, 11:51:02 pm »




คำอธิษฐานของพระโพธิสัตว์
โตเร เซ็นจิ
 
เมื่อข้าพเจ้า (นักศึกษาธรรม) ได้มามองดูลักษณะ.. อันแท้จริง
ของจักรวาลทั้งหมด
ทุกสิ่งทุกอย่างเป็น ปรากฏการณ์ อันไม่สิ้นสุดของความจริง
อันเร้นลับแห่ง.. ตถตา*
ในทุกเหตุการณ์  ในทุกขณะ และในทุก ๆ แห่ง
ไม่มีสิ่งใดที่มิใช่การปรากฏอันยิ่งใหญ่ แห่งรัศมีอันสุกสว่างของมัน
 
การเห็นแจ้งนี้ทำให้พระสังฆปริณายกและอาจารย์เซ็น
ผู้ทรงคุณธรรมของเรา
ขยายความเอาใจใส่อย่างระมัดระวัง  ด้วยจิตใจที่เคารพบูชา
แม้ต่อสิ่งมีชีวิตเช่นสัตว์และนก
การเห็นแจ้งนี้สอนให้เรารู้ว่า
อาหารประจำวันของเรา เครื่องดื่ม เสื้อผ้า และเครื่องปกป้องชีวิต



Steffen Gliese

คือเนื้อและเลือดอันอบอุ่น แห่งการอุบัติอันเมตตาปรานี
ของพระพุทธเจ้า
ใครบ้างจะสามารถอกตัญญูหรือไม่ให้ความเคารพนับถือ
แม้แต่สิ่งที่ไม่มีชีวิต
อย่าว่าแต่มนุษย์เลย
แม้บุคคลจะเป็นผู้ที่โง่เขลา
ก็จงให้ความอบอุ่นและเมตตาปราณีต่อเขา

ถ้าบังเอิญเขากลับจะมุ่งร้ายต่อเรา
กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาต กล่าวร้าย และจะประหัตประหารเรา
เราควรจะน้อมคำนับด้วยความจริงใจ ด้วยวาจาอันถ่อมตน
ในความเชื่ออันน่าเคารพที่ว่า  เขาคือพระพุทธเจ้า
ผู้อวตารมาด้วยความเมตตาปรานี
เพื่อจะใช้อุบายปลดเปลื้องเราให้พ้นจากบาปกรรม




ที่เราได้ก่อขึ้นและสะสมกันมา
ด้วยความหลงและความยึดติดในอัตตาของเราเอง
เป็นเวลานานชั่วกัปชั่วกัลป์
และแล้วในแต่ละชั่วแวบแห่งความคิดของเรา
ดอกบัวก็จะผุดขึ้น
และในดอกบัวแต่ละดอกก็จะปรากฏพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง
พระพุทธเจ้าเหล่านี้จะยัง สุขาวดี แดนแห่งความบริสุทธิ์
ให้ปรากฏในทุกขณะและในทุกแห่ง
 
ขอเราจงแผ่ขยายจิตใจนี้ไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลาย
เพื่อว่าเราและโลกทั้งมวล
จักบรรลุถึงความสมบูรณ์ในปัญญาของพระพุทธเจ้า



* ตถตา หรือ ตถาคต Tathagata แปลความเป็นเช่นนั้น หมายถึง
ธรรมชาติเดิมแท้
ที่เป็นอยู่เอง



:http://www.wichai.net/dhamma/zen5.htm

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 15, 2013, 01:22:09 pm โดย ฐิตา »