ผู้เขียน หัวข้อ: ท่านจัดมนุษย์ เป็น ๕ ประเภท และตโมตมปรายโน มีความมืดมา/มีความมืดต่อไป  (อ่าน 1803 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



"มนุษย์" ท่านจัดมนุษย์ เป็น ๕ ประเภท
แต่ว่าไม่ปรากฏว่ามีในพระบาลีที่เป็นพระพุทธภาษิต
ทั้งศัพท์ที่ผูกเข้าไว้ ก็ไม่เป็นไปตามลักษณะภาษาบาลี, คล้ายๆ ภาษาไทย.

ประเภทที่ ๑. เรียกว่า "มนุสฺสเนรยิโก หรือ มนุสฺสเนรยิก"
มนุสฺส หมายเอาคน, เนรยิโก แปลว่าเกิดหรืออยู่ในนรก.
หมายความว่า คนที่ต้องเดือดร้อนต่างๆ อยู่ไม่เป็นสุข,
แม้จะมั่งมีเงินทองมากมายเท่าไรก็ตามก็ไม่เป็นสุข เดือดร้อนอยู่เสมอๆ
โกรธคนนี้ โกรธคนโน้น ด่าว่าคนโน้น เห็นอะไรๆ ไม่ถูกใจ ไม่ชอบ
ตลอดจนถึงคนตกยากลำบาก นี่เป็นชนิดตกนรก,
เพราะท่านแสดงว่า สัตว์นรกต้องถูกทรกรรม ด้วยอาการต่างๆ อยู่ไม่เป็นสุข.
มนุษย์ที่อยู่ไม่เป็นสุข ทำตนให้ลำบากยากเข็ญต่างๆ ก็เป็นชนิดนั้น,

ประเภทที่ ๒. "มนุสฺสติรจฺฉาโน" มนุษย์ดิรัจฉาน หรือคนดิรัจฉาน
หมายความว่า คนที่มีความประพฤติเหมือนอย่างสัตว์ดิรัจฉาน
ไม่มียางอาย ไม่มีหิริโอตตัปปะ
จะทำอะไรก็ทำได้ ชั่วร้ายเสียหายอย่างไรก็ได้,
เพราะสัตว์ดิรัจฉานไม่มี หิริโอตตัปปะ นี่อีกจำพวกหนึ่ง.

ประเภท ๓. "มนุสฺสเปโต" มนุษย์เปรต
หมายความว่าคนที่มีความอยากความหิวอยู่เสมอ
ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ จะหาอะไรได้เท่าไร
ก็ไม่หายอยาก ไม่รู้จักจบสิ้น,เพราะท่านแสดงว่า
เปรตมันมีปากเล็กท้องโต และได้ข้าวน้ำไม่พอ
ต้องหิวกระหายอยู่เสมอ ไม่รู้จักอิ่ม

ประเภทที่ ๔."มนุสฺสมนุสฺโส" มนุษย์ หรือ คนคน
หมายความว่าคนที่เป็นมนุษย์โดยชาติ และก็ประพฤติ
ปฏิบัติ ธรรมของมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ที่ดี ตรงกันกับ
มนุษย์ ที่แสดงในพระพุทธคุณว่า
พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์

ประเภทที่ ๕."มนุสฺสเทโว" มนุษย์เทวดา หรือมนุษยเทพ
หมายความว่า คนเป็นมนุษย์ แต่ประพฤติดีประพฤติชอบ
ทำตนให้เป็นเทพโดยสมมติ และทำตนให้เป็นเทพโดยอุปบัติ
จนถึงประพฤติตนให้เป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งเรียกว่า วิสุทธิ์เทพ,
รวมทั้ง ๓ เรียกว่า มนุสฺสเทโว มนุษย์เทพ หรือ มนุษย์เทวดา

เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว เราก็ควรตรวจดูเราเองว่า
เราเป็นมนุษย์ชนิดไหน หรือชอบเป็นมนุษย์ชนิดไหน,
เมื่อตรวจดูเห็นว่าเป็นมนุษย์ชนิดไหนแล้ว
ถ้าเห็นว่าไม่ดี ก็พยายามละความประพฤติ ปฏิบัติที่ทำตนให้ไม่ดีเสีย,
ถ้าเห็นว่าดีแล้ว ก็รักษาไว้และทำดีไว้ยิ่งขึ้นไป,
เมื่อเป็นเช่นนี้ได้ ก็จะเป็นประโยชน์แก่ตนและคนอื่น.
(โอ. ๒/๑๑๖-๑๑๘)

อีกปริยายหนึ่ง อันบุคคลผู้เกิดมาเป็นมนุษย์โดยชาติ
ย่อมมีความประพฤติ ความปฏิบัติ คือดำเนินทางกาย ทางวาจา
ทางใจ ประพฤติปฏิบัติทำตนให้เป็นผู้อยากที่ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น
อยากอยู่เสมอ ไม่มีเวลาลืม คนเช่นนี้ท่านเปรียบด้วยเปรต,
เพราะท่านแสดงไว้ว่า เปรตมีท้องอันใหญ่มีปากเล็ก ดื่มน้ำ
หรือกินอาหารไม่พอที่จะอิ่มได้ จึงกระทบหิวอยู่เสมอ ไม่รู้จักจบสิ้น,
บุคคลที่เกิดมาโดยชาติเป็นมนุษย์ ถ้ายอมตนให้เป็น
ผู้อยู่ใต้อำนาจของความอยาก ความกระหาย ความหิว
ความไม่รู้จักจบจักสิ้น ก็เปรียบได้กับ เปรต, นี้อย่างหนึ่ง.

อีกชนิดหนึ่ง บุคคลที่เดือดร้อนกระวนกระวายไม่มีสุข
ได้ประสบอะไรก็ไม่ชอบใจเดือดร้อน โกรธแค้นขัดเคืองอยู่เสมอ
ใจก็ไม่เป็นสุข ใจเดือดร้อนกระวนกระวาย,
คนเช่นนี้ท่านเปรียบไว้เหมือนดัง สัตว์นรก เพราะท่านแสดงไว้ว่า
สัตว์นรกไม่มีความสุข เดือดร้อนกระวนกระวายอยู่เสมอ,
คนที่เดือดร้อนกระวนกระวายอยู่ด้วยโกรธแค้น ขัดเคือง
ไม่มีความสุข จึงเปรียบได้กับสัตว์นรก,

อีกชนิดหนึ่ง บุคคลไม่มียางอาย ไม่มีความหวาดกลัวต่อความชั่ว
หรือไม่รู้จักความละอาย ไม่รู้จักความชั่ว ทำอะไรก็ได้
ทำทางกายชั่วอย่างไร ทำทางวาจาพูดชั่วอย่างไร คิดทางใจ
ชั่วอยู่อย่างไร ไม่มีรู้สึก ไม่มีสำนึกตนเองได้, เมื่อเป็นเช่นนี้
ก็ย่อมทำ ย่อมพูด ย่อมคิด ในทางชั่ว ในทางผิด ทำตนให้เป็นคนเลว
ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน, ท่านจึงเปรียบเหมือนดัง สัตว์ดิรัจฉาน
สัตว์ดิรัจฉานไม่มีความอาย หรือไม่รู้จักความอาย ไม่มีความหวาดกลัว
ต่อความชั่วต่าง ๆ จะทำอะไรก็ทำได้ จะพูดอะไร
ตามภาษาของเขาก็พูดได้ จะคิดอะไรก็คิดได้, คนเช่นนี้
ย่อมประพฤติ ย่อมปฏิบัติตนให้เป็นไป คล้ายกับสัตว์ดิรัจฉาน,

ทั้งสามจำพวกนี้ ได้ชื่อว่าทำตนให้เป็นคนเลว
เพราะความประพฤติของตน ทำผู้อื่นที่เกี่ยวข้องกับตนให้เดือดร้อน
ไม่มีความสุข ตนเองก็ไม่มีความสุข,
ความที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะโมหะ คือความหลง
ไม่มีสติ ไม่ระลึก ไม่พิจารณาดู
ความประพฤติ ความปฏิบัติ
ของตนเอง, จึงมีกระแสพระพุทธภาษิตแสดง
ในอาทิตตปริยายสูตรว่า
ราคะ โทสะ โมหะ ย่อมเผา
บุคคลให้เป็นผู้ร้อน คนเป็นผู้ร้อน ด้วยราคะ,โทสะ โมหะ

อีกอย่างหนึ่ง ตามธรรมดารูปกายย่อมมีลักษณะทั้ง ๓
คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเผาอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น
ผู้ที่เกิดมานี้ แรกก็เล็ก และก็แปรเป็นเด็กใหญ่เป็นหนุ่ม
เป็นสาว เป็นผู้ใหญ่แก่เฒ่า แล้วก็ตาย, นี้ได้ชื่อว่าไม่เที่ยง
ทนอยู่ไม่ได้ ได้ชื่อว่าเป็นทุกข์, แม้อย่างใดอย่างหนึ่ง
บังคับไม่ได้ จึงเรียกว่าอนัตตา, นี้เผารูปกายอยู่เสมอ, เมื่อบุคคล
ไปยึดถือรูปกายว่า เอตํ มม นั่นเป็นของเรา
เอโสหมสฺมิ เราก็เป็นนั่น เอโส เม อตฺตา นั่นเป็นตัวตนของเรา
ก็ต้องพลอยถูก ลักษณะทั้ง ๓ เผา ให้ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ บังคับไม่ได้ไปด้วย,
เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นลักษณะทั้ง ๓ เผากายอยู่เสมอ
ไม่ยึดกายนั้น เป็นตัวตน ของเรา ดังนี้
ก็ไม่พลอยแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ทนไม่ได้ บังคับไม่ได้ไปด้วย

เมื่อบุคคลรู้ตามเป็นจริงเช่นนี้ว่า ราคะ โทสะ โมหะ เผาอยู่เสมอ
ลักษณะ ๓ เผาอยู่เสมออย่างนี้ ดังนี้ และดำรงจิตตั้งจิตไว้ด้วยดี
ปล่อยให้ความแปรปรวน เปลี่ยนแปลงของกายไปตามเรื่อง
แต่ก็อาศัยกาย ทำดี ทำชอบ ประพฤติตนให้เป็นคนดีให้เป็นมนุษย์
ด้วย ความประพฤติ ให้สมกับ ที่ได้เกิดมา..
โดยชาติ เป็นมนุษย์เช่นนี้ ท่านเรียกชื่อว่าคนเป็นมนุษย์ หรือมนุษย์,


คนที่จะเป็นมนุษย์ก็ต้องมี มนุษยธรรม คือธรรมของมนุษย์
ธรรมของมนุษย์ก็ได้แก่ศีลห้าประการ
ซึ่งเรียกว่า มนุสฺสปฏิปทา อปฏิบัติ อันเป็นไปสำหรับมนุษย์


อีกอย่างหนึ่ง บุคคลที่เกิดมาโดยชาติเป็นมนุษย์นั้นแหละ
เมื่อได้อบรม ได้ฟังธรรม ที่แสดงเหตุผลทั้งดีทั้งชั่ว
และพยายามปฏิบัติตน ตามธรรมที่ดี ละส่วนที่ชั่ว
ให้ยิ่งขึ้นไปกว่าพื้นเพของมนุษย์ ท่านเรียกว่าเปรียบด้วย เทวดา
คือมนุษย์เทวดา, เทวดานั้นท่านแสดงไว้ เป็น ๓ ชนิด คือ
สมมติเทวดา เทวดาโดยสมมติ ได้แก่บุคคลผู้เป็นหัวหน้าหมู่ ตลอดถึง
ผู้อยู่ในหมู่ที่อยู่ในปกครอง ของหัวหน้า เมื่อตั้งใจประพฤติดี
ประพฤติชอบ กล่าวคือมีทานการให้ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เหนียวแน่น
หวงไว้สำหรับแต่ จำเพาะตน หรือสำหรับพวกพ้องหมู่ตนเท่านั้น
เฉลี่ยไปถึงผู้อื่นที่สมควรเฉลี่ยเผื่อแผ่ เรียกว่า ทาน,
ตั้งใจประพฤติกาย วาจา ใจ ให้ดีให้งาม เป็น ศีล,
สิ่งใดที่แม้มีอยู่ หรือไม่มีประโยชน์แก่ตน ได้ตั้งใจสละบริจาค
เป็น จาคะ,ประพฤติตนให้เป็นคนซื่อตรง ไม่ตลบตะแลงหลอกลวงผู้อื่น
ให้เข้าใจผิด เป็น อาชชวะ,ความเป็นคนซื่อตรง ประพฤติตนให้เป็น
คนอ่อนโยน ไม่ดื้อกระด้าง เป็น มัททวะ, ตั้งใจประพฤติปฏิบัติการงานที่ดี
ยังไม่ได้ปฏิบัติประพฤติให้เป็นไป ที่ปฏิบัติอยู่แล้วยังย่อหย่อนอยู่ ก็ให้..
ปฏิบัติยิ่งขึ้นไปได้ชื่อว่าตปะ, ตั้งใจสะกดความโกรธ
ไม่ให้ความโกรธเกิดขึ้นครอบงำใจ เรียกว่า อักโกธะ,
กรุณาสงสารแก่ผู้อื่นสัตว์อื่นไม่เบียดเบียนทำเขาให้เดือดร้อน เห็นเป็นสนุก
เรียกว่าอหิงสา, รู้ว่าผิดแล้วไม่ทำผิดไปด้วยความรู้ เรียกว่า อวิโรธนะ,
เมื่อประพฤติปฏิบัติอยู่เช่นนี้ ได้ชื่อว่า ทำตนให้เป็นเทวดาโดยสมมุติ,
เมื่อเป็นอยู่ด้วยกันเช่นนี้...
ก็จะอยู่ด้วยกันเป็นสุข ทั้งผู้ปกครอง และผู้อยู่ในปกครอง

อีกอย่างหนึ่ง อุปบัติเทวดา คือเทวดาโดยอุปบัติคือด้วยความเกิด
ท่านแสดงไว้ในเทวธรรมว่า "หิริ" ความละอาย "โอตตัปปะ"
ความหวาดกลัว ต่อความชั่วที่เกิดขึ้นในใจ

เป็นเหตุให้ ไม่ประพฤติชั่วด้วยความหวาดกลัว
ประพฤติขาวสะอาด คือไม่ทำชั่วร้ายเสียเลย ชำระตน
ด้วยความดี ความงาม, สันติ ความสงบระงับ คือสงบระงับใจ
ไม่ให้ใจกระวนกระวาย แส่ส่ายไปในทางชั่วทางผิด
เมื่อใจสงบระงับ ไม่แส่ส่ายไปในทางชั่ว ทางผิด กายวาจา
ก็สงบระงับ เป็นสันติอีกอย่างหนึ่ง รวมเข้าก็คือความถึงพร้อม
ด้วยหิริและโอตตัปปะ
, ความตั้งอยู่ใน สุกกธรรม
ธรรมที่สะอาด และสันติ ความสงบ นี้เป็นธรรมของเทวดา,
บุคคลประพฤติปฏิบัติในธรรมเหล่านี้แล้ว ก็ชื่อว่าทำตนให้เป็น
เทวดาอยู่ ในปัจจุบัน, เมื่อร่างกายอันนี้ทำลายไป
จิตที่ประกอบเทวธรรม
ก็จะนำไปสู่เทวโลก เป็นเทวดา ด้วยความสุขซึ่งเรียกว่า อุปบัติ

อีกชนิดหนึ่ง วิสุทธิเทพ เทวด้วยความบริสุทธิ์ ได้แก่
บุคคลที่ทำจิตให้สงบระงับ ไม่ประพฤติชั่วด้วยกายด้วยวาจา
มีความตั้งใจมั่น สงบใจจากความฟุ้งซ่านไม่ให้แส่ส่ายไป
ทำใจให้มีอารมณ์เป็นอันเดียว, อีกอย่างหนึ่ง พิจารณาให้รู้เห็น
ตามเป็นจริง ในกายตนกายผู้อื่นสิ่งอื่น ให้เห็นตามเป็นจริงว่า
เป็นของที่เกิดขึ้นมาแล้ว ก็แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป
ทนอยู่ไม่ได้ บังคับไม่ได้ พิจารณาด้วยจิต จนเห็นตามเป็นจริง
จนจิตประกอบด้วยปัญญา คือความรู้ตามเป็นจริง ไม่เป็นสิ่งที่รู้
เพราะรู้กับสิ่งที่รู้ ย่อมเป็นของคู่กัน มีแต่รู้ แต่ไม่มีสิ่งที่รู้
ก็ไม่รู้ว่าจะรู้อะไรได้ มีแต่สิ่งที่รู้ แต่ไม่มีรู้ รู้ก็ไม่ปรากฏแก่ใคร,
ต่อเมื่อ มีสิ่งรู้และมีรู้ ๒ อย่างผสมกัน
รู้นั้น  จึงประกอบกับสิ่งที่รู้ รู้ตามเป็นจริง
แยกสิ่งที่รู้ออก เป็นส่วนหนึ่ง ผู้รู้เป็นส่วนหนึ่ง
เป็นผู้รู้ เป็นผู้พิจารณา จนเกิดความรู้ตามเป็นจริง
ไม่เกี่ยวข้องพัวพัน ในสิ่งที่รู้นี้ ได้ชื่อว่าทำ จิต ให้บริสุทธิ์.

หรืออีกนัยหนึ่ง ท่านแสดงแนะนำให้พิจารณา ความรู้ ที่มีอยู่
ด้วยกันทุก ๆ คนนั้นแหละ ในบัดนี้ก็พิจารณาดูได้
ดูรู้ว่าเป็นอย่างไร ก็ดูให้รู้ไปตามเป็นจริงว่า เป็นอย่างนั้น
เมื่อรู้อยู่กับรู้ไม่ซัดส่ายไป รู้นั้นก็ประณีต และละเอียดยิ่งขึ้นได้
คงเป็นผู้รู้ ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่รู้, นี้ก็ทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใส
แม้จะเห็นอะไรด้วยตา ได้ยินอะไรด้วยหูเป็นต้น แต่ว่า..
บุคคลผู้ปฏิบัติ ให้รู้อยู่กับรู้เช่นนั้น ก็ย่อมสงบระงับ ไม่ไปเกี่ยวข้อง
พัวพันกับสิ่งที่รู้,
ทำเช่นนี้ได้แม้สักครู่ ก็เป็นวิสุทธิเทพ หรือ วิสุทธิเทวดา
ในชั่วครู่ชั่วขณะที่ทำนั้น ถ้าทำได้เสมอไป ก็เป็นวิสุทธิเทพตลอดไป.

การฝึกหัดตนให้เป็นไปในทางดี ถูก ชอบ ตั้งต้นแต่ให้เป็นมนุษย์
ให้เป็นเทวดาโดยสมมติ เป็นเทวดาโดยอุปบัติ ให้เป็นเทวดา
ด้วยความบริสุทธิ์เช่นนี้ ได้ชื่อว่าฝึกหัดตนด้วยดี,
เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะรู้จักโลกทั้งโอกาสโลก สังขารโลกตามเป็นจริง
แต่ไม่เป็นสัตว์โลก โลกคือสัตว์ ที่เกี่ยวข้องพัวพันกับโอกาสโลก
กับสังขารโลก คงเป็นผู้รู้จักโอกาสโลก และสังขารโลกอยู่.

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงแนะนำให้รู้จักโลกตามความเป็นจริง
โลกนี้เป็นที่ติดอยู่ของ ผู้ไม่รู้ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับ ผู้รู้
,

เพราะฉะนั้น จึงมีพระพุทธภาษิตแนะนำให้ดูโลกว่า...
"เอถ ปสฺสถิมํ โลกํ จิตฺตํ ราชรถูปมํ" ท่านทั้งหลายจงมาดู
โลกนี้ อันวิจิตรด้วยอาการต่าง ๆ เปรียบเหมือนราชรถ,
"ยตฺถ พาลา วีสีทนฺติ" ที่คนไม่รู้ตกจมอยู่,
"นตฺถิ สงฺโค วิชานตํ" ความข้องในโลกของท่านผู้รู้ย่อมไม่มี " ดังนี้


เมื่อรู้จักโลกตามเป็นจริง แล้วปฏิบัติตาม ฝึกตนให้ดีให้ชอบ
ไม่ยอมตนให้ อยู่ใต้อำนาจของ กิเลส ที่เป็นมารเช่นนี้
เป็นการประพฤติปฏิบัติทำตน ให้เป็นคนดี เป็นคนงามยิ่งขึ้นโดยลำดับ,
เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ได้ชื่อว่า..
ถือเอาประโยชน์ จากชาติที่เกิดมาเป็นมนุษย์ได้.
การฝึกตนให้ได้ดี เป็นไปได้ด้วยดี
ก็ได้ชื่อว่า เป็นการชำระความชั่ว อันเป็น อกุศลจิต ของตน.

เมื่อทำเช่นนี้...
"ในปัจจุบันโลกนี้ ก็จะอยู่ด้วยดีมีความสุข"
"ละโลกนี้ไปแล้ว ก็จะได้ประสบสุข
ในโลกเบื้องหน้า ตามสมควรแก่ความปฏิบัติ"

(วชิร.๘๔-๙๐)




"ตมปรายโน"
ตโมตมปรายโน มีความมืดมา และมีความมืดต่อไป
คือ บุคคลที่มีบุญญาธิการอันทำไว้ อันอ่อนหรือหย่อน
แต่พอจะให้เกิดโดยชาติมนุษย์ได้
และก็เกิดในตระกูลที่ต่ำบ้าง ขัดสนด้วยทรัพย์สินบ้าง
มีรูปพรรณสัณฐานอันทรามบ้าง มีพื้นเพอันเขลาบ้าง

แต่ก็อาศัยความเป็นเช่นนั้นทำโทษ คือทำความชั่วสืบต่อไป,
เพราะว่าบุคคลเมื่อเกิดมา ร่างกายก็ต้องมีตาสำหรับเห็นรูป
มีหูสำหรับได้ยินเสียง มีจมูกสำหรับได้ดมกลิ่น มีลิ้นสำหรับได้ลิ้มรส
มีกายสำหรับถูกต้องโผฏฐัพพะ มีมนะสำหรับนึกคิดเรื่องราว,
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมคือเรื่องราวเหล่านั้น ได้ชื่อว่า
เป็นอารมณ์ คือเป็นที่ยึดหน่วงอย่างหนึ่ง ๆ.

อารมณ์เหล่านั้นเมื่อมาประสบ ก็ยั่วให้เกิด ความยินดีอยากได้
อันเรียกว่าราคะ หรือโลภะบ้าง ยั่วให้เกิด
ความยินร้ายอันเรียกว่าโทสะบ้าง ยั่วให้เกิดความหลงงมงาย
ไม่รู้เท่า ตามความเป็นจริง เรียกว่าโมหะบ้าง
และก็ปล่อยให้ราคะ หรือโลภะ โทสะ โมหะ ครอบงำใจ,

ราคะ หรือ โลภะ โทสะ โมหะ เหมือนมารที่ทำร้าย
ล้างคุณความดี ที่ยังไม่มี ไม่ให้มีขึ้น
ที่มีแล้ว ก็ให้เสื่อมสูญไป, บุคคลไม่พิจารณาให้เห็น
ตามความเป็นจริง ยอมตัวเป็นเชลยของมาร
ผู้ทำลายล้างคือราคะ หรือ โลภะ โทสะ โมหะ
แล้วกระทำชั่ว ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง สืบต่อไป,
เช่นนี้ได้ชื่อว่า ตมปรายโน มีความมืดสืบต่อไปข้างหน้า นี้จำพวกหนึ่ง.
(วชิร. ๖๒๒-๖๒๓).

Graphics by... ชยปุญโญ ภิกขุ (อธินันท์ อ่ำบุญ) Athinan Aumboon
วัดพุทธพรหมปัญโญ ถ้ำเมืองนะ ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่


:https://www.facebook.com/amatatum
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 22, 2014, 11:48:34 am โดย ฐิตา »