วิถีธรรม > จิตภาวนา-ปัญญาบารมี
๓. มหาปรินิพพานสูตร (๑๖)
ฐิตา:
๓. มหาปรินิพพานสูตร (๑๖)
[๖๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับบนภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนคร
ราชคฤห์ ก็สมัยนั้น พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหีบุตร
ทรงปรารถนาจะเสด็จไปปราบแคว้นวัชชี ท้าวเธอรับสั่งอย่างนี้ว่า ก็เราจักตัดพวก
เจ้าวัชชีผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก อย่างนี้ๆ จักให้แคว้นวัชชีพินาศถึงความ
วอดวาย ลำดับนั้น ท้าวเธอตรัสเรียกวัสสการพราหมณ์ อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐ
มาตรัสสั่งว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านจงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว
จงถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้าตามคำของเรา ทูล
ถามถึงอาพาธน้อย พระโรคเบาบาง ความกระปรี้กระเปร่า พระกำลัง การประทับ
อยู่สำราญว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู
เวเทหีบุตร ขอถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ทูล
ถามถึงอาพาธน้อย พระโรคเบาบาง ความกระปรี้กระเปร่าพระกำลัง การประทับ
อยู่สำราญ และจงทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าแผ่นดินมคธ
พระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหีบุตร ปรารถนาจะเสด็จไปปราบแคว้นวัชชี ท้าวเธอ
รับสั่งอย่างนี้ว่า ก็เราจักตัดพวกเจ้าวัชชีผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ๆ จัก
ให้แคว้นวัชชีพินาศถึงความวอดวาย ดังนี้ และพระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แก่
ท่านอย่างไร ท่านพึงจำข้อนั้นมาบอกเรา พระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่ตรัสคำที่ไม่
จริงเลย ฯ
วัสสการพราหมณ์ อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐ รับพระราชดำรัสของ
พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหีบุตร แล้วเทียมยานที่ดีๆ ขึ้น
ยานออกจากพระนครราชคฤห์ตรงไปยังภูเขาคิชฌกูฏ จนสุดภูมิประเทศเท่าที่ยาน
จะไปได้ จึงลงจากยานเดินเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้า
แล้วได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว
จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นวัสสการพราหมณ์อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐนั่ง
เรียบร้อยแล้วทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่า
อชาตศัตรู เวเทหีบุตร ขอถวายบังคมพระบาททั้งสองของท่านพระโคดมด้วยเศียร
เกล้า ทูลถามถึงอาพาธน้อย พระโรคเบาบาง ความกระปรี้กระเปร่า พระกำลัง
การประทับอยู่สำราญ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่า
อชาตศัตรู เวเทหีบุตร ทรงปรารถนาจะเสด็จไปปราบแคว้นวัชชี ท้าวเธอรับสั่ง
อย่างนี้ว่า ก็เราจักตัดพวกเจ้าวัชชีผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ๆ จักให้
แคว้นวัชชีพินาศถึงความวอดวาย ฯ
[๖๘] ก็สมัยนั้น ท่านพระอานนท์ ยืนถวายอยู่งานพัดพระผู้มีพระภาค
อยู่ ณ เบื้องพระปฤษฎางค์ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า
ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีหมั่นประชุมกันเนืองๆ หรือ ฯ
ท่านพระอานนท์ทูลว่า ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักหมั่นประชุมกันเนืองๆ อยู่เพียงใด พึง
หวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีพร้อมเพรียงกันประชุม
พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่เจ้าวัชชีพึงกระทำหรือ ฯ
ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักพร้อมเพรียงกันประชุม จักพร้อมเพรียงกัน
เลิกประชุม และจักพร้อมเพรียงกันทำกิจที่เจ้าวัชชีพึงกระทำอยู่เพียงใด พึงหวัง
ได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น ฯ
ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีไม่ได้บัญญัติสิ่งที่มิได้
บัญญัติไว้ ไม่ถอนสิ่งที่ได้บัญญัติไว้แล้ว สมาทานประพฤติอยู่ในวัชชีธรรมของ
เก่าตามที่บัญญัติไว้แล้วหรือ ฯ
ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ จักไม่ถอน
สิ่งที่ได้บัญญัติไว้แล้ว จักสมาทานประพฤติอยู่ในวัชชีธรรมของเก่าตามที่บัญญัติไว้
แล้วอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีสักการเคารพนับถือบูชา
ท่านที่เป็นผู้ใหญ่ของพวกเจ้าวัชชี และเชื่อฟังถ้อยคำของท่านเหล่านั้นหรือ ฯ
ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักสักการะเคารพนับถือบูชาท่านที่เป็นผู้ใหญ่
ของพวกเจ้าวัชชี และจักเชื่อฟังถ้อยคำของท่านเหล่านั้นอยู่เพียงใด พึงหวังได้
ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีไม่ฉุดคร่าขืนใจสตรีหรือ
กุมารีในสกุลให้อยู่ร่วมด้วยหรือ ฯ
ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักไม่ฉุดคร่าขืนใจสตรีหรือกุมารีในสกุล ให้
อยู่ร่วมด้วยอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีสักการะเคารพ นับถือ
บูชาเจดีย์ของพวกเจ้าวัชชีทั้งภายในภายนอก และไม่ปล่อยให้ธรรมิกพลี ที่เคยให้
ที่เคยกระทำ แก่เจดีย์เหล่านั้นเสื่อมทรามไปหรือ ฯ
ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเจดีย์ของ
พวกเจ้าวัชชีทั้งภายในภายนอก และจักไม่ปล่อยให้ธรรมิกพลี ที่เคยให้ ที่เคย
กระทำ แก่เจดีย์เหล่านั้น เสื่อมทรามไปอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญ
อย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีจัดแจงไว้ดีแล้ว ซึ่ง
ความอารักขาป้องกันคุ้มครองอันเป็นธรรมในพระอรหันต์ทั้งหลาย ด้วยตั้งใจว่า
ไฉนหนอ พระอรหันต์ที่ยังมิได้มา พึงมาสู่แว่นแคว้นและที่มาแล้ว พึงอยู่เป็น
ผาสุกในแว่นแคว้น ดังนี้หรือ ฯ
ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักจัดแจงไว้ดีแล้ว ซึ่งความอารักขา ป้องกัน
คุ้มครองอันเป็นธรรม ในพระอรหันต์ทั้งหลาย ด้วยตั้งใจว่า ไฉนหนอ พระอรหันต์
ที่ยังมิได้มา พึงมาสู่แว่นแคว้น และที่มาแล้ว พึงอยู่เป็นผาสุกในแว่นแคว้น
ดังนี้ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
[๖๙] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะวัสสการพราหมณ์ อำมาตย์
ผู้ใหญ่ในมคธรัฐว่า ดูกรพราหมณ์ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่สารันททเจดีย์เขตเมือง
เวสาลีนี้ ณ ที่นั้นเราได้แสดงอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ นี้ แก่พวกเจ้าวัชชี
ก็อปริหานิยธรรมทั้ง ๗ นี้ จักตั้งอยู่ในพวกเจ้าวัชชี และพวกเจ้าวัชชีจัก
สนใจในอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ นี้ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว
ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น ฯ
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วัสสการพราหมณ์ อำมาตย์ผู้ใหญ่
ในมคธรัฐได้ทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พวกเจ้าวัชชีมาประกอบด้วยอปริหา-
*นิยธรรม แม้ข้อหนึ่งๆ ก็ยังหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม จะป่วย
กล่าวไปไยถึงอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ข้อเล่า พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู
เวเทหีบุตร ไม่ควรกระทำการรบกับเจ้าวัชชี นอกจากจะปรองดอง นอกจากจะยุ
ให้แตกกันเป็นพวก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีกิจมาก มีกรณียะมาก
จะขอลาไปในบัดนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านย่อมทราบกาลอัน
ควรในบัดนี้เถิด ลำดับนั้น วัสสการพราหมณ์ อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐ ชื่นชม
ยินดีพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะหลีกไปแล้ว ฯ
[๗๐] ครั้งนั้น เมื่อวัสสการพราหมณ์อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐหลีกไป
ไม่นาน พระผู้มีพระภาครับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงไป
จงสั่งให้ภิกษุทุกรูปซึ่งอยู่อาศัยพระนครราชคฤห์ ให้มาประชุมกันในอุปัฏฐานศาลา
ท่านพระอานนท์รับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว สั่งให้ภิกษุทุกรูปซึ่งอยู่อาศัย
พระนครราชคฤห์ให้ประชุมกันในอุปัฏฐานศาลา แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควร
ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นท่านพระอานนท์นั่งเรียบร้อยแล้วได้ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ภิกษุสงฆ์ประชุมกันแล้ว ขอพระองค์ทรงทราบกาลอันควรในบัดนี้เถิด ฯ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงลุกจากอาสนะ เสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐาน-
*ศาลา แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ครั้นประทับนั่งแล้ว รับสั่งกะภิกษุ
ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ แก่พวกเธอ
พวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มี
พระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักหมั่นประชุมกันเนืองๆ อยู่เพียงใด
พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น ฯ
๒. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักพร้อมเพรียงกันประชุม จักพร้อม
เพรียงกันเลิกประชุม และจักพร้อมเพรียงช่วยกันทำกิจที่สงฆ์พึงกระทำ อยู่เพียงใด
พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
๓. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้แล้ว
จักไม่ถอนสิ่งที่ได้บัญญัติไว้แล้ว จักสมาทานประพฤติอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
ตามที่ได้บัญญัติไว้แล้ว อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม
เพียงนั้น ฯ
๔. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุ
ผู้เป็นเถระ ผู้รัตตัญญู บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก และจักเชื่อฟัง
ถ้อยคำของท่านเหล่านั้นอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม
เพียงนั้น ฯ
๕. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักไม่ลุอำนาจแก่ตัณหาอันจะก่อให้เกิด
ภพใหม่ซึ่งบังเกิดขึ้นแล้ว อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม
เพียงนั้น ฯ
๖. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักเป็นผู้ยินดีในเสนาสนะป่า อยู่เพียงใด
พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
๗. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักเข้าไปตั้งสติไว้ในภายในว่า ไฉนหนอ
เพื่อนพรหมจรรย์ผู้มีศีลเป็นที่รักที่ยังมิได้มา พึงมาเถิดและที่มาแล้ว พึงอยู่เป็นผาสุก
ดังนี้ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรม ทั้ง ๗ นี้ จักตั้งอยู่ในหมู่ภิกษุ และ
หมู่ภิกษุจักสนใจในอปริหานิยธรรม ทั้ง ๗ นี้ อยู่เพียงใด หมู่ภิกษุพึงหวังได้ซึ่ง
ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
มีต่อค่ะ
ฐิตา:
[๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอปริหานิยธรรม ๗ อีกหมวดหนึ่ง
แก่พวกเธอ พวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับ-
*พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักไม่เป็นผู้ชอบการงาน ไม่ยินดีแล้ว
ในการงาน ไม่ประกอบตามซึ่งความเป็นผู้ชอบการงาน อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่ง
ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
๒. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักไม่เป็นผู้ชอบการคุย ไม่ยินดีแล้ว
ในการคุย ไม่ประกอบตามซึ่งความเป็นผู้ชอบการคุย อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่ง
ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
๓. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักไม่เป็นผู้ชอบการนอนหลับ ไม่ยินดี
แล้วในการนอนหลับ ไม่ประกอบตามซึ่งความเป็นผู้ชอบการนอนหลับ อยู่เพียงใด
พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
๔. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักไม่เป็นผู้ชอบคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ยินดี
แล้วในความคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ประกอบตามซึ่งความเป็นผู้ชอบความคลุกคลีด้วย
หมู่ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
๕. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักไม่เป็นผู้มีความปรารถนาลามก ไม่
ลุอำนาจแก่ความปรารถนาอันลามก อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว
ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
๖. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักเป็นผู้ไม่มีมิตรชั่ว ไม่มีสหายชั่ว
ไม่คบคนชั่ว อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม
เพียงนั้น ฯ
๗. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักไม่ถึงความนอนใจในระหว่าง เพราะ
การบรรลุคุณวิเศษเพียงขั้นต่ำ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว
ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรม ทั้ง ๗ นี้ จักตั้งอยู่ในหมู่ภิกษุ และ
หมู่ภิกษุจักสนใจในอปริหานิยธรรม ทั้ง ๗ นี้ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญ
อย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
[๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอปริหานิยธรรม ๗ อีกหมวดหนึ่ง
แก่พวกเธอ พวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ
พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
๑. พวกภิกษุจักเป็นผู้มีศรัทธา... ๒. ...มีใจประกอบด้วยหิริ... ๓. ...มีโอต-
*ตัปปะ... ๔. ...เป็นพหูสูตร... ๕. ...ปรารภความเพียร... ๖. ...มีสติตั้งมั่น...
๗. พวกภิกษุจักเป็นผู้มีปัญญา อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว
ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรม ทั้ง ๗ นี้ จักตั้งอยู่ในหมู่ภิกษุ และ
หมู่ภิกษุจักสนใจในอปริหานิยธรรม ทั้ง ๗ นี้ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญ
อย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
[๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอปริหานิยธรรม ๗ อีกหมวดหนึ่ง
แก่พวกเธอ พวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ
พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
๑. พวกภิกษุจักเจริญสติสัมโพชฌงค์...., ๒. ...ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์....
๓. ...วิริยสัมโพชฌงค์... ๔. ...ปีติสัมโพชฌงค์... ๕. ...ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์...
๖. ...สมาธิสัมโพชฌงค์... ๗. พวกภิกษุจักเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อยู่
เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรม ทั้ง ๗ นี้ จักตั้งอยู่ในหมู่ภิกษุ และ
หมู่ภิกษุจักสนใจในอปริหานิยธรรม ทั้ง ๗ นี้ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความ
เจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
[๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอปริหานิยธรรม ๗ อีกหมวดหนึ่ง
แก่พวกเธอ พวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ
พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
๑. พวกภิกษุจักเจริญอนิจจสัญญา... ๒. ...อนัตตสัญญา... ๓. ...อสุภสัญญา...
๔. ...อาทีนวสัญญา... ๕. ...ปหานสัญญา ๖. ...วิราคสัญญา... ๗. พวก
ภิกษุจักเจริญนิโรธสัญญา อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว
ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรมทั้ง ๗ นี้ จักตั้งอยู่ในหมู่ภิกษุ และ
หมู่ภิกษุจักสนใจในอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ นี้ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญ
อย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
[๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอปริหานิยธรรม ๖ อีกหมวดหนึ่ง
แก่พวกเธอ พวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของ
พระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักเข้าไปตั้งกายกรรม ประกอบด้วย
เมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ อยู่เพียงใด พึงหวังได้
ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
๒. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักเข้าไปตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา
ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่ง
ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
๓. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักเข้าไปตั้งมโนกรรม ประกอบด้วย
เมตตาในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ อยู่เพียงใด พึงหวังได้
ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
๔. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักเป็นผู้แบ่งปันลาภอันเป็นธรรม ที่ได้
มาโดยธรรม โดยที่สุดแม้มาตรว่าอาหารอันนับเนื่องในบาตร คือเฉลี่ยกันบริโภค
กับเพื่อนพรหมจรรย์ผู้มีศีลทั้งหลาย อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว
ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
๕. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักมีศีลเสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์
ทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ ในศีลอันไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย
เป็นไทย อันวิญญูชนสรรเสริญแล้ว อันตัณหาทิฐิไม่ลูบคลำแล้ว เป็นไปเพื่อสมาธิ
อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
๖. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุจักเป็นผู้มีทิฐิเสมอกันกับเพื่อนพรหม-
*จรรย์ทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ ในทิฐิอันประเสริฐนำออกไปจากทุกข์ นำผู้
ปฏิบัติตามเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญ
อย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรมทั้ง ๖ นี้ จักตั้งอยู่ในหมู่ภิกษุ และ
หมู่ภิกษุจักสนใจในอปริหานิยธรรมทั้ง ๖ นี้ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญ
อย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนคร-
*ราชคฤห์แม้นั้น ทรงกระทำธรรมีกถาอันนี้แหละเป็นอันมากแก่พวกภิกษุว่า อย่างนี้
ศีล อย่างนี้สมาธิ อย่างนี้ปัญญา สมาธิอันศีลอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์
ใหญ่ ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ จิตอันปัญญา
อบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นอาสวะโดยชอบ คือกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ฯ
มีต่อค่ะ
ฐิตา:
[๗๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยใน
พระนครราชคฤห์ แล้วตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ มาไป
กันเถิด เราจักไปยังอัมพลัฏฐิกา ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มี-
*พระภาคแล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึง
อัมพลัฏฐิกาแล้ว ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จประทับ ณ พระตำหนักหลวง
ในอัมพลัฏฐิกาแม้นั้น ทรงกระทำธรรมีกถาอันนี้แหละเป็นอันมากแก่พวกภิกษุว่า
อย่างนี้ศีล อย่างนี้สมาธิ อย่างนี้ปัญญา สมาธิอันศีลอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่
มีอานิสงส์ใหญ่ จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะโดยชอบ คือ
กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ฯ
[๗๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยในอัม-
*พลัฏฐิกา แล้วตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ มาไปกันเถิด
เราจักไปยังบ้านนาฬันทคาม ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค
แล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงบ้านนาฬันทคาม
แล้ว ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในปาวาทิกอัมพวัน ในบ้านนาฬันทคาม
นั้น ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้า
แล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อท่านพระสารีบุตร
นั่งเรียบร้อยแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เลื่อมใสในพระผู้มี-
*พระภาคอย่างนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์ผู้อื่นซึ่งจะรู้เกินไปกว่าพระผู้มีพระภาค
ในทางสัมโพธิญาณมิได้มีแล้ว จักไม่มี และไม่มีอยู่ในบัดนี้ ฯ
พ. ดูกรสารีบุตร เธอกล่าวอาสภิวาจาอันยิ่งนี้ เธอถือเอาส่วนเดียว
บันลือสีหนาทว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค
อย่างนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์ผู้อื่นซึ่งจะรู้เกินไปกว่าพระผู้มีพระภาคในทางพระ-
*สัมโพธิญาณมิได้มีแล้ว จักไม่มี และไม่มีอยู่ในบัดนี้ ดูกรสารีบุตร พระผู้มี-
*พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ซึ่งได้มีแล้วในอดีตกาล อันเธอ
กำหนดซึ่งใจด้วยใจแล้วรู้ว่า พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น มีศีลอย่างนี้แล้ว แม้เพราะ
เหตุนี้มีธรรมอย่างนี้แล้ว มีปัญญาอย่างนี้แล้ว มีวิหารธรรมอย่างนี้แล้ว มีวิมุตติ
อย่างนี้แล้ว แม้เพราะเหตุนี้ ดังนี้หรือ ฯ
ส. มิใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
ดูกรสารีบุตร ก็พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ซึ่ง
จักมีในอนาคตกาล อันเธอกำหนดซึ่งใจด้วยใจแล้วรู้ว่า พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น
จักเป็นผู้มีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ มีธรรมอย่างนี้ มีปัญญาอย่างนี้ มีวิหารธรรม
อย่างนี้ มีวิมุตติอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ ดังนี้หรือ ฯ
มิใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
ดูกรสารีบุตร ก็เราผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ อันเธอกำหนด
ซึ่งใจด้วยใจแล้วรู้ว่า พระผู้มีพระภาคมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ มีธรรมอย่างนี้
มีปัญญาอย่างนี้ มีวิหารธรรมอย่างนี้ มีวิมุตติอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ ดังนี้หรือ ฯ
มิใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
ดูกรสารีบุตร ก็ในเรื่องนี้ เธอไม่มีญาณเพื่อกำหนดรู้ซึ่งในใจพระอรหันต-
*สัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน เมื่อเป็นเช่นนั้น ในบัดนี้
อย่างไรเล่า เธอจึงได้กล่าวอาสภิวาจาอันยิ่งนี้ เธอถือเอาส่วนเดียว บันลือสีหนาทว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า สมณะหรือ
พราหมณ์ผู้อื่นซึ่งจะรู้เกินไปกว่าพระผู้มีพระภาคในทางพระสัมโพธิญาณ มิได้มีแล้ว
จักไม่มี และไม่มีอยู่ในบัดนี้ ฯ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่มีญาณเพื่อกำหนดรู้ซึ่งใจในพระ-
*อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน แต่ว่า ข้าพระองค์
รู้แนวธรรม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปัจจันตนครของพระราชามีประตูมั่นคง มีกำแพง
และเสาระเนียดมั่นคง มีประตูช่องเดียว คนเฝ้าประตูพระนครนั้น เป็นคนฉลาด
เฉียบแหลมมีปัญญา ห้ามคนที่ไม่รู้จัก ปล่อยคนที่รู้จักให้เข้าไปได้ เขาเดินตรวจ
ดูหนทางตามลำดับโดยรอบพระนครนั้น ไม่เห็นที่หัวประจบแห่งกำแพงหรือช่อง-
*กำแพง โดยที่สุดแม้เพียงแมวลอดออกได้ เขาพึงมีความรู้สึกว่า สัตว์ที่ตัวโต
ทุกชนิดจะเข้าออกนครนี้ ย่อมเข้าออกโดยประตูนี้ แม้ฉันใด แนวแห่งธรรม
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์รู้ว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่ได้มีแล้วในอดีตกาลทุกพระองค์ ทรงละนิวรณ์ทั้ง ๕ ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมอง
แห่งจิต กระทำปัญญาให้ทุรพล มีพระทัยตั้งมั่นดีแล้ว ในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญ
โพชฌงค์ ๗ ตามความเป็นจริง ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว แม้
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จักมีในอนาคตกาลทุกพระองค์ จักทรง
ละนิวรณ์ ๕ ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต กระทำปัญญาให้ทุรพล มีพระทัย
ตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามความเป็นจริง จักตรัสรู้
พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้
ก็ทรงละนิวรณ์ ๕ ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต กระทำปัญญาให้ทุรพล มี
พระทัยตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามความเป็นจริง
ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ฯ
ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในปาวาทิกอัมพวัน ในบ้านนาฬันทา
แม้นั้น ทรงกระทำธรรมีกถานี้แหละเป็นอันมากแก่พวกภิกษุว่า อย่างนี้ศีล อย่างนี้
สมาธิ อย่างนี้ปัญญา สมาธิอันศีลอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ จิตอันปัญญาอบรมแล้ว
ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะโดยชอบ คือกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ฯ
[๗๘] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัย ในบ้าน
นาฬันทคาม แล้วตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ มาไปกันเถิด
เราจักไปยังปาฏลิคาม ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว
ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงปาฏลิคามแล้ว
พวกอุบาสกชาวปาฏลิคามได้สดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงปาฏลิคามแล้ว
จึงพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วถวายบังคม
พระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นพวกอุบาสกชาวปาฏลิคามนั่ง
เรียบร้อยแล้ว จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรง
รับเรือนสำหรับพักของพวกข้าพระองค์เถิด พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยดุษณีภาพ
ลำดับนั้น พวกอุบาสกชาวปาฏลิคามทราบการทรงรับของพระผู้มีพระภาคแล้ว
จึงลุกจากอาสนะถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณกลับไปยังเรือน
สำหรับพัก ครั้นเข้าไปแล้วปูลาดเรือนสำหรับพักอย่างเรียบร้อยทั่วทุกแห่ง แต่งตั้ง
อาสนะ ตั้งหม้อน้ำไว้ ตามประทีปไว้แล้ว จึงกลับเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วน
ข้างหนึ่ง ครั้นพวกอุบาสกชาวปาฏลิคามยืนเรียบร้อยแล้ว จึงกราบทูลพระผู้มี-
*พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ปูลาดเรือนสำหรับพักอย่างเรียบร้อย
ทั่วทุกแห่งแล้ว แต่งตั้งอาสนะไว้ ตั้งหม้อน้ำไว้ ตามประทีปไว้แล้ว ขอพระผู้มี-
*พระภาคจงทรงทราบกาลอันควรในบัดนี้เถิด ฯ
ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จไปยังเรือนสำหรับพัก ครั้นเสด็จเข้าไปแล้ว ทรงล้าง
พระบาทแล้ว เสด็จเข้าไปยังเรือนสำหรับพัก ประทับนั่งพิงเสากลาง บ่ายพระพักตร์
ไปทางบูรพทิศ ฝ่ายภิกษุสงฆ์ล้างเท้าแล้วเข้าไปยังเรือนสำหรับพัก นั่งพิงฝาด้านหลัง
บ่ายหน้าไปทางบูรพทิศแวดล้อมพระผู้มีพระภาค ส่วนพวกอุบาสกชาวปาฏลิคาม
ล้างเท้าแล้ว เข้าไปยังเรือนสำหรับพัก นั่งพิงฝาด้านหน้า บ่ายหน้าไปทางปัจฉิมทิศ
แวดล้อมพระผู้มีพระภาค ฯ
[๗๙] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะพวกอุบาสกชาวปาฏลิคามว่า
ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย โทษแห่งศีลวิบัติของคนทุศีล ๕ ประการเหล่านี้ ๕ ประการ
เป็นไฉน ฯ
ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย คนทุศีล มีศีลวิบัติแล้วในโลกนี้ ย่อมเข้าถึง
ความเสื่อมแห่งโภคะอย่างใหญ่อันมีความประมาทเป็นเหตุ อันนี้เป็นโทษข้อที่หนึ่ง
แห่งศีลวิบัติของคนทุศีล ฯ
อีกข้อหนึ่ง เกียรติศัพท์อันชั่วของคนทุศีล มีศีลวิบัติแล้วย่อมกระฉ่อนไป
อันนี้เป็นโทษข้อที่สองแห่งศีลวิบัติของคนทุศีล ฯ
อีกข้อหนึ่ง คนทุศีล มีศีลวิบัติแล้ว จะเข้าไปสู่บริษัทใดๆ คือ ขัตติย-
*บริษัท พราหมณบริษัท คฤหบดีบริษัท หรือสมณบริษัท ย่อมครั่นคร้าม เก้อเขิน
อันนี้เป็นโทษข้อที่สามแห่งศีลวิบัติของคนทุศีล ฯ
อีกข้อหนึ่ง คนทุศีล มีศีลวิบัติแล้ว ย่อมหลงกระทำกาละ อันนี้เป็นโทษ
ข้อที่สี่แห่งศีลวิบัติของคนทุศีล ฯ
อีกข้อหนึ่ง คนทุศีล มีศีลวิบัติแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก อันนี้เป็นโทษข้อที่ห้าแห่งศีลวิบัติของคน
ทุศีล ฯ
ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย โทษแห่งศีลวิบัติของคนทุศีล ๕ ประการเหล่านี้แล ฯ
[๘๐] ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย อานิสงส์แห่งศีลสมบัติของคนมีศีล ๕
ประการเหล่านี้ ๕ ประการเป็นไฉน
ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย คนมีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล ย่อมได้รับ
กองโภคะใหญ่ อันมีความไม่ประมาทเป็นเหตุ อันนี้เป็นอานิสงส์ข้อที่หนึ่ง
แห่งศีลสมบัติของคนมีศีล ฯ
อีกข้อหนึ่ง เกียรติศัพท์อันงามของคนมีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล ย่อม
ขจรไป อันนี้เป็นอานิสงส์ข้อที่สอง แห่งศีลสมบัติของคนมีศีล ฯ
อีกข้อหนึ่ง คนมีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล จะเข้าไปสู่บริษัทใดๆ คือ
ขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คฤหบดีบริษัท หรือสมณบริษัท ย่อมองอาจ
ไม่เก้อเขิน อันนี้เป็นอานิสงส์ข้อที่สาม แห่งศีลสมบัติของคนมีศีล ฯ
อีกข้อหนึ่ง คนมีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล ย่อมไม่หลงทำกาละ อันนี้
เป็นอานิสงส์ข้อที่สี่ แห่งศีลสมบัติของคนมีศีล ฯ
อีกข้อหนึ่ง คนมีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล เบื้องหน้าแต่ตายเพราะ
กายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ อันนี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ห้า แห่งศีลสมบัติ
ของคนมีศีล ฯ
ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย อานิสงส์แห่งศีลสมบัติของคนมีศีล ๕ ประการ
เหล่านี้แล ฯ
มีต่อค่ะ
ฐิตา:
[๘๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงยังพวกอุบาสกชาวปาฏลิคามให้เห็น-
*แจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถาตลอดราตรีแล้ว ทรงส่ง
ไปด้วยพระดำรัสว่า
ดูกรคฤหบดีทั้งหลาย ราตรีสว่างแล้ว พวกท่านจงทราบกาลอันควร
ในบัดนี้เถิด พวกอุบาสกชาวปาฏลิคามทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว
ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณหลีกไปแล้ว ลำดับนั้น
เมื่ออุบาสกชาวปาฏลิคามหลีกไปแล้วไม่นาน พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปสู่สุญญา-
*คารแล้ว ฯ
[๘๒] ก็สมัยนั้น สุนีธะ และวัสสการะ อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐ
สร้างเมืองในปาฏลิคามเพื่อป้องกันพวกเจ้าวัชชี ก็สมัยนั้นเทวดาเป็นอันมากนับเป็น
พันๆ หวงแหนที่ในปาฏลิคาม เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่หวงแหนที่ในส่วนใด จิตของ
พระราชาและราชมหาอำมาตย์ผู้มีศักดิ์ใหญ่ ก็น้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในส่วนนั้น
เทวดาชั้นกลางหวงแหนที่ในส่วนใด จิตของพระราชาและพระราชมหาอำมาตย์
ชั้นกลาง ก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในส่วนนั้น เทวดาชั้นต่ำหวงแหนที่ในส่วนใด
จิตของพระราชาและราชมหาอำมาตย์ชั้นต่ำ ก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในส่วนนั้น
พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นเทวดาเหล่านั้นนับเป็นพันๆ หวงแหนที่ในปาฏลิคาม
ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ฯ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นในเวลาปัจจุสสมัยแห่งราตรี ตรัส
เรียกพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ ใครหนอจะสร้างเมืองในปาฏลิคาม ฯ
อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สุนีธะและวัสสการะอำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐ
จะสร้างเมืองปาฏลิคาม เพื่อป้องกันพวกเจ้าวัชชี ฯ
ดูกรอานนท์ สุนีธะและวัสสการะอำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐจะสร้างเมือง
ในปาฏลิคาม เพื่อป้องกันพวกเจ้าวัชชี ก็เปรียบเหมือนท้าวสักกะทรงปรึกษา
กับพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ ในที่นี้ เราได้เห็นเทวดาเป็นอันมากนับเป็นพันๆ
หวงแหนที่ในปาฏลิคามด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ เทวดาผู้มี
ศักดิ์ใหญ่หวงแหนที่ในส่วนใด จิตของพระราชาและราชมหาอำมาตย์ผู้มีศักดิ์ใหญ่
ก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในส่วนนั้น เทวดาชั้นกลางหวงแหนที่ในส่วนใด จิต
ของพระราชาและราชมหาอำมาตย์ชั้นกลาง ก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในส่วนนั้น
เทวดาชั้นต่ำหวงแหนที่ในส่วนใด จิตของพระราชาและราชมหาอำมาตย์ชั้นต่ำ
ก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในส่วนนั้น ดูกรอานนท์ ที่นี้จักเป็นที่อยู่อันประเสริฐ
เป็นทางค้าขาย เป็นนครอันเลิศ ชื่อว่า ปาฏลีบุตร เป็นที่แก้ห่อภัณฑะ นคร
ปาฏลีบุตรจักมีอันตราย ๓ ประการ คือ ไฟ น้ำ หรือการยุให้แตกพวก ฯ
[๘๓] ครั้งนั้น สุนีธะและวัสสการะ อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐ เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค
ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้ว
ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จงทรง
รับภัตของข้าพระองค์เพื่อเสวยในวันนี้ พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยดุษณีภาพ
ลำดับนั้น สุนีธะและวัสสการะอำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐ ทราบว่าพระผู้มีพระภาค
ทรงรับแล้ว จึงเข้าไปยังที่พักของตนๆ ครั้นแล้วจัดแต่งของเคี้ยวของฉันอัน
ประณีตในที่พักของตนๆ แล้วให้ทูลเวลาแด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ท่าน
พระโคดมผู้เจริญ ได้เวลาแล้วภัตตาหารสำเร็จแล้ว ฯ
ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จเข้าไปยังที่พักของสุนีธะและวัสสการะอำมาตย์ผู้ใหญ่ใน
มคธรัฐ ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย สุนีธะและวัสสการะอำมาตย์ผู้ใหญ่
ในมคธรัฐ อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขให้อิ่มหนำ เพียงพอด้วย
ของเคี้ยวของฉันอันประณีต ด้วยมือของตนๆ ครั้นพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ
วางพระหัตถ์จากบาตรแล้ว สุนีธะและวัสสการะถืออาสนะต่ำ นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควร
ส่วนข้างหนึ่ง เมื่อสุนีธะและวัสสการะอำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐ นั่งเฝ้าอยู่อย่าง
นี้แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาด้วยคาถาเหล่านี้ ความว่า
[๘๔] บัณฑิตยชาติสำเร็จการอยู่ในประเทศใด ย่อมเชื้อเชิญท่าน
ผู้มีศีล ผู้สำรวมแล้วประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริโภคในประเทศ
นั้น ได้อุทิศทักษิณาทานให้แก่เทวดาที่มีอยู่ ณ ที่นั้น เทวดา
เหล่านั้นได้รับบูชาแล้ว ย่อมบูชาตอบเขา ได้รับความนับถือ
แล้ว ย่อมนับถือตอบเขา แต่นั้นย่อมอนุเคราะห์เขา เหมือน
มารดาอนุเคราะห์บุตรซึ่งเกิดแต่อกฉะนั้น บุรุษผู้อันเทวดาอนุ-
*เคราะห์แล้ว ย่อมเห็นความเจริญทุกเมื่อ ฯ
[๘๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนากะสุนีธะและวัสสการะ
อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐด้วยพระคาถาเหล่านี้แล้ว เสด็จลุกจากอาสนะหลีกไปแล้ว
ก็สมัยนั้น สุนีธะและวัสสการะอำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐ ต่างตามเสด็จพระผู้มี-
*พระภาคไปเบื้องพระปฤษฎางค์ด้วยคิดว่า วันนี้พระสมณโคดมจักเสด็จออกทาง
ประตูใด ประตูนั้นจักมีนามว่าประตูโคดม จักเสด็จข้ามแม่น้ำคงคาทางท่าใด
ท่านั้นจักมีนามว่าท่าโคดม ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกทางประตูใด ประตู
นั้นได้นามว่าประตูโคดมแล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปยังแม่น้ำคงคา
แล้ว ก็สมัยนั้น แม่น้ำคงคาเต็มเปี่ยมเสมอฝั่ง กาดื่มกินได้ พวกมนุษย์ผู้ประสงค์
จะข้ามฟาก บางพวก เที่ยวหาเรือ บางพวกเที่ยวหาแพ บางพวกผูกทุ่น ครั้งนั้น
พระผู้มีพระภาคกับภิกษุสงฆ์ทรงหายไป ณ ที่ฝั่งนี้แห่งแม่น้ำคงคา ไปปรากฏตน
ที่ฝั่งโน้น เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนที่คู้ไว้ หรือคู้แขนที่เหยียดออกแล้ว
ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรมนุษย์เหล่านั้น ผู้ประสงค์จะข้ามฟาก
บางพวกเที่ยวหาเรือ บางพวกเที่ยวหาแพ บางพวกผูกทุ่นอยู่ พระองค์ทรงทราบ
เนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งพระอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
เหล่าชนที่จะข้ามสระ คือ ตัณหาอันเวิ้งว้าง ต้องสร้างสะพาน
คือ (อริยมรรค) พ้นเปือกตม ก็และขณะที่ชนกำลังผูกทุ่นอยู่
หมู่ชนผู้มีปัญญา ข้ามได้แล้ว ฯ
จบภาณวารที่หนึ่ง ฯ
มีต่อค่ะ
:https://www.facebook.com/pages/พระพุทธเจ้า//166387296709841?fref=ts
ฐิตา:
[๘๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า
ดูกรอานนท์ มาไปกันเถิด เราจักไปโกฏิคาม ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัส
ของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่
เสด็จถึงโกฏิคามแล้ว ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โกฏิคามนั้น ณ ที่
นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะไม่รู้แจ้ง
แทงตลอดอริยสัจ ๔ เราและพวกเธอจึงเร่ร่อนท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนานอย่างนี้
เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔ เป็นไฉน เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดทุกขอริยสัจ
เราและพวกเธอจึงเร่ร่อนท่องเที่ยวไปตลอดกาลนานอย่างนี้ เพราะไม่รู้แจ้งแทง-
*ตลอด ทุกขสมุทัยอริยสัจ ... ทุกขนิโรธอริยสัจ ... ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
เราและพวกเธอจึงเร่ร่อนท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนานอย่างนี้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราได้รู้แจ้งแทงตลอดทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยอริยสัจ
ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจแล้ว ตัณหาในภพ เราถอนเสีย
แล้ว ตัณหาอันจะนำไปสู่ภพสิ้นแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มี ฯ
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาครั้นได้ตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึง
ได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๘๗] เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ตามเป็นจริง เราและพวกเธอ
จึงท่องเที่ยวไปในชาตินั้นๆ สิ้นกาลนาน
เราได้เห็นอริยสัจ ๔ เหล่านั้นแล้ว
เราถอนตัณหาอันจะนำไปสู่ภพเสียได้แล้ว
มูลแห่งทุกข์เราตัดได้ขาดแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มี ดังนี้ ฯ
[๘๘] ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โกฏิคามแม้นั้น ทรง-
*กระทำธรรมีกถานี้แหละเป็นอันมากแก่พวกภิกษุว่า อย่างนี้ศีล อย่างนี้สมาธิ อย่าง
นี้ปัญญา สมาธิอันศีลอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ปัญญาอันสมาธิ
อบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้น
จากอาสวะโดยชอบ คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ฯ
[๘๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยในโกฏิคาม
แล้ว ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ มาไปกันเถิด เราจักไป
ยังนาทิกคาม ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลำดับนั้น
พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงนาทิกคามแล้ว ได้ยินว่า
พระผู้มีพระภาคประทับในที่พักซึ่งก่อด้วยอิฐที่นาทิกคามนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ
ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นท่านพระอานนท์นั่งเรียบร้อยแล้วได้กราบทูลพระผู้มี-
*พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุนามว่าสาฬหะ มรณภาพแล้วในนาทิกคาม
คติและภพเบื้องหน้าของเธอเป็นไฉน ภิกษุณีนามว่า นันทา มรณภาพแล้วใน
นาทิกคาม คติและภพเบื้องหน้าของเธอเป็นไฉน อุบาสกนามว่า สุทัตตะ ... อุบาสิกา
นามว่า สุชาดา ... อุบาสกนามว่า กกุธะ ... อุบาสกนามว่า การฬิมพะ ... อุบาสก
นามว่า นิกฏะ ... อุบาสกนามว่า กฏิสสหะ ... อุบาสกนามว่า ตุฏฐะ ... อุบาสก
นามว่า สันตุฏฐะ ... อุบาสกนามว่า ภฏะ ... อุบาสกนามว่า สุภฏะ ทำกาละ
แล้วในนาทิกคาม คติและภพเบื้องหน้าของเขาเป็นไฉน ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์ ภิกษุนามว่าสาฬหะ กระทำให้
แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญา
อันยิ่งของตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ภิกษุณีนามว่า นันทา เพราะสังโยชน์
เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป เป็นโอปปาติกะ ปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับมาจากโลก
นั้นเป็นธรรมดา อุบาสกนามว่า สุทัตตะ เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป และเพราะ
ราคะ โทสะ โมหะเบาบาง เป็นพระสกทาคามี กลับมายังโลกนี้คราวเดียวเท่านั้น
แล้วจักทำที่สุดแห่งทุกข์ อุบาสิกานามว่า สุชาดา เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป เป็น
พระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้ในภายหน้า
อุบาสกนามว่า กกุธะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป เป็นโอปปาติกะ ปรินิพพาน
ในภพนั้น มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา อุบาสกนามว่า การฬิมพะ ...
อุบาสกนามว่า นิกฏะ ... อุบาสกนามว่า กฏิสสหะ ... อุบาสกนามว่า ตุฏฐะ ...
อุบาสกนามว่า สันตุฏฐะ ... อุบาสกนามว่า ภฏะ ... อุบาสกนามว่า สุภฏะ เพราะ
สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป เป็นโอปปาติกะ ปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับมา
จากโลกนั้นเป็นธรรมดา ฯ
ดูกรอานนท์ พวกอุบาสกในนาทิกคาม อีก ๕๐ คน กระทำกาละแล้ว
เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป เป็นโอปปาติกะ ปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่
กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา พวกอุบาสกในนาทิกคาม ๙๖ คน ทำกาละแล้ว
เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ โมหะเบาบาง เป็นพระสกทาคามี
กลับมายังโลกนี้คราวเดียวเท่านั้น แล้วจักทำที่สุดแห่งทุกข์ พวกอุบาสกในนาทิกคาม
๕๑๐ คน ทำกาละแล้ว เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป เป็นพระโสดาบัน มีอันไม่
ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้ในภายหน้า ฯ
ดูกรอานนท์ ข้อที่ผู้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วจะพึงทำกาละนั้นไม่อัศจรรย์
เมื่อผู้นั้นๆ ทำกาละแล้ว พวกเธอจักเข้าไปเฝ้าพระตถาคต แล้วทูลถามเนื้อความ
นั้น อันนี้เป็นความลำบากแก่พระตถาคต เพราะฉะนั้น เราจักแสดงธรรมปริยาย
ชื่อธรรมาทาส สำหรับที่จะให้อริยสาวกผู้ประกอบแล้ว เมื่อจำนงอยู่ พึงพยากรณ์
ตนด้วยตนเองได้ว่า เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดแห่งสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีเปรต-
*วิสัยสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ วินิบาต สิ้นแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน มีอันไม่
ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้ในภายหน้าดังนี้ ก็ธรรมปริยายชื่อว่า
ธรรมาทาส นั้น เป็นไฉน ดูกรอานนท์ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบ
ด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มี-
*พระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชา
และจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งซึ่งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่น
ยิ่งไปกว่า เป็นพระศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็น
ผู้จำแนกพระธรรม ดังนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวใน
พระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันผู้ปฏิบัติพึงเห็นเอง
ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะ-
*ตน ดังนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหว ในพระสงฆ์ว่า
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรง เป็นผู้ปฏิบัติ
เป็นธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบ คือคู่บุรุษสี่ บุรุษบุคคลแปด นี้พระสงฆ์สาวกของ
พระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรทำอัญชลี
เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยศีลอันพระอริยะ
ใคร่แล้ว อันไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย อันวิญญูชนสรรเสริญ
แล้ว อันตัณหาและทิฐิไม่ลูบคลำแล้ว เป็นไปเพื่อสมาธิ ฯ
ดูกรอานนท์ อันนี้แลคือธรรมปริยายชื่อว่าธรรมาทาส สำหรับที่จะให้
อริยสาวกผู้ประกอบแล้ว เมื่อจำนงอยู่ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า เรามีนรก
สิ้นแล้ว มีกำเนิดแห่งสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีเปรตวิสัยสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ
วินิบาต สิ้นแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงมี
อันจะตรัสรู้ในภายหน้า ฯ
ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับในที่พักซึ่งก่อด้วยอิฐในนาทิกคามนั้น
ทรงกระทำธรรมีกถานี้แหละเป็นอันมากแก่พวกภิกษุว่า อย่างนี้ศีล อย่างนี้สมาธิ
อย่างนี้ปัญญา สมาธิอันศีลอบรมแล้วย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ปัญญา
อันสมาธิอบรมแล้วย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อม
หลุดพ้นจากอาสวะโดยชอบ คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ฯ
[๙๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยในนาทิกคาม
แล้ว ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ มาไปกันเถิด เราจักไปยัง
เมืองเวสาลี ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลำดับนั้น
พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงเมืองเวสาลีแล้ว ได้ยินว่า
พระผู้มีพระภาคประทับในอัมพปาลีวัน เขตเมืองเวสาลีนั้น ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาค
ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ
อยู่ นี้เป็นอนุสาสนีของเราสำหรับเธอ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่าภิกษุจึงจะ
ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณา
เห็นเวทนาในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่
เป็นผู้มีเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกอย่างนี้แล
ภิกษุจึงจะชื่อว่าเป็นผู้มีสติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่า ภิกษุจึงจะชื่อว่าเป็นผู้
ประกอบด้วยสัมปชัญญะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้กระทำความรู้ตัวในการก้าว
ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการ
ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่าย
อุจจาระปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ
การตื่น การพูด การนิ่ง อย่างนี้แล ภิกษุจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ประกอบด้วยสัมปชัญญะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอยู่ นี้เป็นอนุสาสนีของเรา
สำหรับเธอ ฯ
มีต่อค่ะ
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
Go to full version