ประชาสัมพันธ์ > การเตือนภัยสังคมและกลุ่มมิจฉาชีพต่างๆ

รวม เตือนภัย ที่ใกล้ตัว อย่าประมาท และเป็นความรู้การป้องกันตนเอง

<< < (42/48) > >>

sithiphong:
เมื่อวานนี้(8/12/2557) ผมได้รับโทรศัพท์ จากเบอร์ 0891041569 โทร.เข้ามาที่มือถือผม แจ้งว่า โทร.มาจากทรูวิชั่น  จะมาเสนอโปรโมชั่นที่ได้รับการลดราคา จากเดิม ที่ผมใช้โปร.เน็ต 699 และมือถือ 299 บ.  ได้รับการลดราคาลง 200 บาท แต่ต้องเปลี่ยนกล่องสัญญาณอินเตอร์เน็ต จาก 1 m  เป๋น 30 m  ผมก็ตอบตกลง แต่ผมไม่ได้บอกที่อยู่ให้ทราบ  ทางสายที่โทร.เข้ามา  ถามว่า ผมสดวกให้ไปวันไหน ผมตอบว่า ผมสดวกวันเสาร์และวันอาทิตย์  ทางที่โทร.เข้ามา ถามว่า วันพุธที่ 10 นี้ หยุดหรือเปล่า ผมตอบว่า หยุด  ทางที่โทร.เข้ามา แจ้งว่า จะส่งช่างเข้ามาเปลี่ยนกล่องสัญญาณ  เวลาที่ช่างเข้ามา ประมาณ 9.00-12.00 น.

วันนี้ ผมโทร.เข้าไปสอบถามที่ทรูวิชั่น เบอร์ 0-2900-9000 (กด 4 , กด 2) ผมจำคนรับโทรศัพท์ไม่ได้ แต่ผมจดไว้ (ลืมไว้ที่แบงค์) ทางCall Center แจ้งว่า ทางทรูไม่มีการแจ้งงานออกให้ข่างในเรื่องนี้  หากทรูจะโทร.เข้ามา จะต้องแจ้งรายละเอียดในเรื่องการเปลี่ยนแปลงโปรโมชั่น ที่อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม  และสามารถสอบถามรหัสพนักงาน (เป็นเลข 8 หลัก  หากเป็นCall Center จะขึ้นต้นด้วย 010 เป็นต้น)  ผมเองถามย้ำไปหลายครั้ง  ทาง Call Center แจ้งกลับมาทุกครั้งว่า ไม่มีการแจกงานนี้ออกไปที่ช่างครับ

หลังจากที่โทร.ไปที่ทรูวิชั่น 0-2900-9000 แล้ว ผมโทร.กลับไปที่เบอร์ 0891041569  3 ครั้ง ไม่รับสายผมทั้ง 3 ครั้ง  เมื่อกี้นี้ ผมแวะจอดรถที่หน้าป้อมยามหมู่บ้าน  แจ้งเรื่องนี้ให้ทางยามได้ทราบไว้ด้วยแล้ว

sithiphong:
สาวถูกขโมยไอโฟน โดนแชทขู่กรรโชกขอ Apple ID แลกขายคืน 5,000

-http://hilight.kapook.com/view/112580-

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คุณ BenBerry สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม

          สาวถูกขโมยไอโฟน โดนแชทขู่กรรโชกขอ Apple ID อ้างเป็นคนรับซื้อโทรศัพท์ไว้ ถ้าอยากได้คืนขอรหัสก่อน ค่อยมาซื้อเครื่องคืน 5,000 บาท

          เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา ในโลกออนไลน์ได้มีการแชร์กระทู้ "ไอโฟน 5s หาย แล้วมีคนที่รับซื้อไว้ทักแชทมา เพื่อนพันทิปคิดว่าไงสมควรไหม" ของ คุณ BenBerry สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ซึ่งเจ้าของกระทู้ได้บอกเล่าเรื่องราวของคนรู้จักที่ทำโทรศัพท์หาย โดยมีคนทักแชทมาหาเจ้าของโทรศัพท์ที่หายไป อ้างตัวว่าเป็นร้านรับซื้อโทรศัพท์มือสอง ถ้าหากต้องการโทรศัพท์คืน ขอรหัส Apple ID  ก่อน แล้วจะขายเครื่องคืนให้ในราคา 5,000 บาท ซึ่งทางเจ้าของโทรศัพท์บอกว่า ไม่สามารถให้ Apple ID ทางคู่สนทนาก็ตอบกลับในลักษณะขู่ว่า ถ้าไม่ให้รหัสก็จะล้างเครื่องทั้งหมด และจะไม่ขายคืนให้ด้วย แม้ว่าเจ้าของจะอ้อนวอนเพราะโทรศัพท์เครื่องนี้มีความหมายกับเธอมาก เป็นโทรศัพท์ของพี่ชายที่เสียชีวิตทิ้งไว้ให้ แต่นั่นก็ไม่เป็นผล อีกฝ่ายยังคงต่อรองขอ Apple ID อยู่ตลอดการสนทนา และเมื่อถามว่า ร้านอยู่ที่ใด ทางคู่สนทนาก็ระบุว่า เป็นร้านโทรศัพท์หน้าคงคาราม (เหตุเกิดที่ จ.เพชรบุรี)



ทางด้านชาวเน็ตที่เข้ามาแสดงความเห็นในกระทู้ดังกล่าว ต่างคิดกันว่า คนที่สนทนาอยู่นั้น ไม่น่าใช่ร้านรับซื้อโทรศัพท์มือสอง แต่คือ "คนขโมยโทรศัพท์" ที่ต้องการรหัส Apple ID เพื่อล้างเครื่อง และนำไปขายต่อมากกว่า พร้อมกับเตือนเจ้าของโทรศัพท์ อย่าให้ Apple ID ไปเด็ดขาด และแนะนำให้ไปแจ้งความจับคนร้ายรายนี้ให้ได้ เนื่องจากมีหลักฐานในการสนทนาชัดเจน

          ทั้งนี้ในเวลาต่อมา เจ้าของกระทู้ได้มาอัพเดทความคืบหน้า ระบุว่า

          ต้องแจ้งทุกคนทราบนะคะ 

          1. เราได้แจ้งความแล้วตั้งแต่ที่ได้รับการติดต่อจากเขา

          2. เราพยายามฟินไอโฟน ตลอดแต่เขาออฟไลน์

          3. เราได้พยายามตามหาร้านที่เขาได้บอกเราไว้แล้วและทางร้านได้ออกมาปฏิเสธตามที่ได้โพสต์ไปในกระทู้

          4. เราแจ้งไปยังแอปเปิลที่สิงคโปร์แล้วค่ะ

          ขอบคุณทุกคนมากนะค่ะ ที่ช่วยเราทุกความเห็นมีประโยชน์มากค่ะ





sithiphong:
รวมกลโกงออนไลน์อันตรายใกล้ตัว ไม่รู้ไม่ได้แล้วจริงๆ !!

-http://hitech.sanook.com/1393333/%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%82%E0%B8%81%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%A5%E0%B8%99%E0%B9%8C%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7-%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B9%86-/-


อินเทอร์เน็ตทำให้ชีวิตประจำวันของเรา สะดวกสบายมากขึ้น การติดต่อสื่อสารเป็นไปได้โดยง่าย เพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง หรือคนไม่รู้จักก็สามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว

แต่ความสะดวกสบายนี้ก็มีอันตรายแฝงมาด้วย โดยเป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้มิจฉาชีพที่อยู่ไกลจากเหยื่อสามารถเข้ามาใกล้ ชิดหลอกลวงเงินไปจากเหยื่อได้โดยง่ายหากไม่ระมัดระวัง เราลองมาทำความรู้จักกับกลโกงออนไลน์ที่พบบ่อย ๆ กัน

- หลอกขอรหัสผ่านการใช้งานบัญชีอีเมล

มิจฉาชีพจะส่งอีเมลแอบอ้างเป็นผู้ให้บริการบัญชีอีเมล หลอกขอชื่อบัญชีผู้ใช้งาน (email address) และรหัสผ่าน (password) โดยอ้างว่าเจ้าของอีเมลจะต้องยืนยันการใช้งานอีเมล  แล้วใช้รหัสผ่านที่ได้มาเข้าใช้งานบัญชีอีเมลแทนเจ้าของอีเมลนั้น (ซึ่งถือได้ว่าเป็นเหยื่อคนที่ 1)

เมื่อเข้าใช้งานในบัญชีอีเมลของเจ้าของบัญชีอีเมลที่กลายเป็นเหยื่อคนที่ 1 ได้แล้ว มิจฉาชีพก็จะส่งอีเมลไปหาเพื่อนของเจ้าของบัญชีอีเมล แล้วหลอกขอให้เพื่อนโอนเงินให้ เช่น อ้างว่าเจ้าของบัญชีอีเมลไปต่างประเทศแล้วกระเป๋าเงินหาย จึงต้องการความช่วยเหลือเรื่องเงินโดยด่วน โดยมักจะให้โอนเงินผ่านบริการรับโอนเงินซึ่งไม่จำเป็นต้องมีเอกสารแสดงตนในการรับเงินในต่างประเทศ ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถติดตามจับคนร้ายได้ และเพื่อนก็สูญเงินโดยไม่มีโอกาสได้คืน (กลายเป็นเหยื่อคนที่ 2)

ข้อสังเกต

มิจฉาชีพจะอ้างเป็นผู้ให้บริการบัญชีอีเมลแต่ชื่อบัญชีอีเมล (email address) ที่แสดง จะไม่ใช่ชื่อบัญชีอีเมลของผู้ให้บริการอีเมลจริง (อ่านเพิ่มเติมจุดสังเกตอีเมลปลอม) นอกจากนั้น ข้อความในอีเมลที่มิจฉาชีพส่งให้เหยื่อคนที่ 2 มักเป็นภาษาอังกฤษหรือเป็นภาษาไทยที่ไม่คุ้นเคย เช่น ใช้สรรพนามต่างจากที่เคยใช้สนทนากัน

- แอบอ้างเป็นบุคคลต่าง ๆ หลอกว่าจะโอนเงินหรือส่งของให้เหยื่อ

มิจฉาชีพจะแอบอ้างเป็นบุคคลต่าง ๆ แล้วหลอกเหยื่อว่าจะโอนเงิน หรือส่งของให้เหยื่อ เช่น

    เป็นนักธุรกิจที่ต้องการสั่งซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก โดยส่งหลักฐานการโอนเงินจำนวนมากเพื่อจ่ายค่าสินค้ามาให้เหยื่อดู
    เป็นผู้ที่ได้รับมรดกเป็นจำนวนมาก แต่ติดเงื่อนไขต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถรับเงินได้ด้วยตนเอง จึงขอให้เหยื่อรับเงินแทน
    เป็นผู้ใจบุญที่ต้องการบริจาคเงินเป็นจำนวนมหาศาลให้มูลนิธิหรือองค์กรการกุศลต่าง ๆ เมื่อแจ้งว่าจะบริจาคเงินให้กับเหยื่อแล้ว จะส่งหลักฐานการโอนเงินปลอมมาให้เหยื่อดู
    เป็นชาวต่างชาติที่ต้องการหารักแท้ โดยอ้างว่าพร้อมที่จะย้ายมาอยู่กับเหยื่อเพื่อสร้างครอบครัวร่วมกัน  จึงโอนเงินค่าบ้าน ค่ารถ หรือเงินทั้งหมดที่มีมาให้เหยื่อ หรืออาจหลอกเหยื่อว่าจะส่งของหรือเงินสดมาให้เหยื่อทางไปรษณีย์

เมื่อเหยื่อได้รับหลักฐานการโอนเงินหรือการส่งของจากมิจฉาชีพ ก็มักหลงเชื่อว่ามิจฉาชีพได้โอนเงินหรือส่งของนั้นมาจริง ๆ เมื่อเวลาผ่านไป มิจฉาชีพจะแจ้งเหยื่อ หรืออาจมีมิจฉาชีพคนอื่นมาแสดงตนเป็นเจ้าหน้าที่และแจ้งเหยื่อว่าไม่สามารถโอนเงินหรือส่งของให้เหยื่อได้ เพราะติดด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น

    ธนาคารแห่งประเทศไทยระงับการโอนเงินและขอตรวจสอบ
    ธนาคารกลางของประเทศต้นทางระงับการโอนเงิน เพราะสงสัยว่าเป็นการฟอกเงิน
    สหประชาชาติ หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ขอตรวจสอบ
    กรมศุลกากรขอตรวจสอบของที่ส่งมาจากต่างประเทศ เพราะมีเงินสดบรรจุมาด้วย

จากนั้นจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ จากเหยื่อ เช่น ค่าธรรมเนียมการโอนเงิน ค่าดำเนินการ ค่าทนาย โดยจะเรียกเก็บในจำนวนน้อยแล้วเพิ่มจำนวนเงินขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเหยื่อก็จะคิดว่าเป็นเรื่องจริง และเห็นว่าจ่ายอีกนิดก็จะได้รับเกินก้อนใหญ่ ซึ่งกว่าจะรู้ตัวว่าถูกหลอกก็อาจหมดเงินไปจำนวนมากแล้ว และโอกาสที่จะติดตามรับเงินคืนก็เป็นไปได้ยากมาก เพราะมิจฉาชีพมักอยู่ในต่างประเทศ และให้เหยื่อโอนเงินผ่านบริการโอนเงินที่มิจฉาชีพรับเงินได้โดยไม่ต้องมีเอกสารแสดงตน

ข้อสังเกต

มิจฉาชีพจะหลอกให้เหยื่อโอนเงินผ่านบริการโอนเงินที่มิจฉาชีพสามารถรับเงินได้โดยไม่ต้องมีเอกสารแสดงตน เพราะยากต่อการติดตาม

หน่วยงานราชการ หรือองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่ยกตัวอย่างมีหน้าที่ชัดเจน และส่วนใหญ่จะไม่ติดต่อกับประชาชนโดยตรง อย่างไรก็ตาม หากหน่วยราชการใดมีกิจต้องติดต่อกับประชาชน การแจ้งให้ประชาชนดำเนินการใด ๆ จะมีเอกสารหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร หากมีผู้แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่เหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีต้องมีการโอนเงินหรือชำระเงิน ควรตรวจสอบไปยังหน่วยงานนั้นโดยตรงก่อน โดยไม่ใช้อีเมลหรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ได้รับแจ้งมา

- โฆษณาปล่อยเงินกู้นอกระบบ

มิจฉาชีพแอบอ้างเป็นผู้ให้บริการเงินกู้แล้วโฆษณาผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ หรือส่งอีเมลหาเหยื่อโดยตรงว่าให้บริการเงินกู้นอกระบบดอกเบี้ยต่ำ อนุมัติเงินเร็ว ไม่ต้องซื้อสินค้า ไม่ตรวจสอบเครดิตบูโร เมื่อเหยื่อติดต่อไปและขอกู้เงิน ผู้ให้กู้จะอ้างว่าจะส่งสัญญาให้กับผู้ขอกู้เพื่อลงลายมือชื่อ พร้อมทั้งขอให้เหยื่อโอนเงินชำระค่าทำสัญญา ค่าเอกสาร ค่ามัดจำ หรือดอกเบี้ยภายในเวลาที่กำหนด เช่น ก่อน 18.00 น. เพื่อผู้ให้กู้จะโอนเงินกู้ให้ก่อนเวลา 20.00 น. โดยสามารถยกเลิกและขอเงินโอนล่วงหน้าดังกล่าวคืนได้

เหยื่อส่วนมากมักจะรีบร้อน และกลัวว่าจะไม่ได้เงินกู้ จึงรีบโอนเงินให้กับผู้ให้กู้ในเวลาที่กำหนด แต่เมื่อติดต่อกลับผู้ให้กู้เพื่อขอรับเงินกู้ กลับไม่สามารถติดต่อผู้ให้กู้ได้อีกเลย และสูญเงินไปโดยไม่มีโอกาสได้เงินคืน

ข้อสังเกต

มิจฉาชีพมักโฆษณาว่าปล่อยกู้นอกระบบดอกเบี้ยต่ำเกินจริง (บางรายต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบ) และให้ติดต่อผ่านโทรศัพท์หรืออีเมลเท่านั้น แม้กระทั่งขั้นตอนการทำสัญญาเงินกู้ ผู้ขอกู้ก็จะไม่มีโอกาสได้เจอผู้ให้กู้เลย นอกจากนี้จะให้เหยื่อโอนเงินจ่ายดอกเบี้ยล่วงหน้าก่อนที่จะได้เงินกู้ซึ่งจะแตกต่างจากการกู้เงินทั่วไปที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยเมื่อได้รับเงินต้นไปแล้ว และมักจะเร่งการตัดสินใจโดยอ้างว่าจะทำให้ผู้ขอกู้ได้เงินกู้เร็วขึ้น

- ขอเลขที่บัญชีเงินฝากเป็นที่พักเงิน

มิจฉาชีพจะประกาศรับสมัครงานผ่านอินเทอร์เน็ต หลอกเหยื่อว่าเป็นบริษัทต่างประเทศที่ขายสินค้าในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก จึงขอให้เหยื่อทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมเงินให้ โดยอาจจ่ายค่าจ้างเป็นสัดส่วนกับเงินที่ได้รับ เช่น ร้อยละ 25 ของเงินค่าสินค้า

เมื่อมีเงินโอนเข้าบัญชีของเหยื่อ บริษัทจะแจ้งเหยื่อให้หักค่าจ้างไว้ แล้วโอนเงินที่เหลือทั้งหมดให้แก่บริษัทแม่ในต่างประเทศทันทีผ่านบริการโอนเงินที่ไม่ต้องใช้เอกสารแสดงตน โดยที่เหยื่อไม่รู้เลยว่า เงินที่โอนเข้ามาในบัญชีเหยื่อนั้นเป็นเงินผิดกฎหมายที่มิจฉาชีพหลอกให้คนอื่นโอนมาให้ กว่าเหยื่อจะรู้ตัวก็อาจเป็นตอนที่พนักงานธนาคารติดต่อเพื่ออายัดบัญชีของเหยื่อหรือถูกตำรวจจับแล้ว

ข้อสังเกต

หากมีการทำธุรกิจในประเทศไทยจริง บริษัทที่ทำธุรกิจนั้นสามารถเปิดบัญชีเงินฝากในประเทศไทยได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้บัญชีของบุคคลอื่นในการรับเงินจากลูกค้า นอกจากนี้ มิจฉาชีพจะให้เหยื่อโอนเงินส่งต่อให้แก่บริษัทที่ร่วมมือกับมิจฉาชีพผ่านบริการโอนเงินที่มิจฉาชีพสามารถรับเงินได้โดยไม่ต้องมีเอกสารแสดงตน เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามได้

วิธีป้องกัน

1. เปิดเผยข้อมูลในโซเชียลเน็ตเวิร์คเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพนำข้อมูลไปแอบอ้างใช้ทำธุรกรรม

2. ควรเปลี่ยนรหัสผ่าน (password) ในการเข้าใช้บัญชีอีเมลหรือบัญชีโซเชียลเน็ตเวิร์คเป็นประจำ

3. เมื่อได้รับการติดต่อแจ้งให้โอนเงินให้ ควรตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนโอนเงิน เช่น ติดต่อหน่วยงานที่ถูกอ้างถึงโดยตรง อาทิ กรมศุลกากร โทร. 1164 ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 1213 หรือสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยของหน่วยงานต่างชาติ

4. ไม่โลภต่อเงินที่ไม่มีที่มา หรือผลตอบแทนที่สูงเกินจริง ควรพิจารณาให้รอบคอบถึงความเป็นไปได้ในความเป็นจริง

5. ตรวจหาไวรัสในเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นประจำ เพื่อป้องกันการขโมยข้อมูลการใช้งาน

6. ติดตามข่าวสารกลโกงอย่างสม่ำเสมอ

สิ่งที่ควรทำเมื่อตกเป็นเหยื่อ

1. หากถูกแอบอ้างใช้บัญชีอีเมล ควรติดต่อผู้ให้บริการอีเมลทันที เพื่อแจ้งเปลี่ยนรหัสผ่าน

2. ในกรณีที่โอนเงินให้แก่มิจฉาชีพแล้ว...

ติดต่อฝ่ายบริการลูกค้าของสถาบันการเงินเพื่อระงับการโอนและการถอนเงิน

หากไม่สามารถระงับการโอนเงินได้ ให้รวบรวมหลักฐานและข้อมูลต่าง ๆ แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมทั้งลงบันทึกประจำวัน ณ ท้องที่เกิดเหตุ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการระงับการถอนเงินออกจากบัญชีที่โอนไป

แจ้งระงับการถอนเงินออกจากบัญชีที่โอนไปกับสถาบันการเงินที่ใช้บริการ โดยสถาบันการเงินจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน จึงจะสามารถคืนเงินได้
3. ทำใจ... เงินที่โอนไปให้มิจฉาชีพแล้ว มิจฉาชีพจะรีบถอนออกทันที ซึ่งทำให้ยากต่อการติดตาม

ที่มา: ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.)

sithiphong:
เตือนภัย...โจรรูปแบบใหม่ ทำทีเป็นเช็ดโต๊ะ ฉกมือถืออย่างเนียน

-http://hilight.kapook.com/view/112750-



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก  CCTV News

           คลิปโจรทำทีเป็นเช็ดโต๊ะในร้านเน็ต แต่กลับฉกมือถือไปอย่างหน้าตาเฉย เจ้าของเครื่องไม่รู้เรื่องเลย

           ในปัจจุบัน โทรศัพท์มือถือ ถือเป็นสิ่งของอีกชิ้นที่หลายคนซื้อหาเอาไว้ครอบครอง และเนื่องจากมือถือสมัยนี้มักจะมีราคาที่สูง จึงล่อตาล่อใจหมู่โจร จนเกิดการสรรหาวิธีต่าง ๆ ในการขโมยมือถือยามที่เจ้าของเผลอ และล่าสุด (13 ธันวาคม 2557) เว็บไซต์ shanghaiist.com ก็เผยให้เห็นถึงอีกหนึ่งวิธีการอันแยบยล สำหรับการขโมยโทรศัพท์มือถือ ที่ใครหลาย ๆ คนอาจคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

           ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นในร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่แห่งหนึ่งในเมืองอูู่หู มลรัฐอันหุ่ย ประเทศจีน เมื่อชายคนหนึ่ง ทำทีเข้ามาเช็ดโต๊ะในขณะที่มีคนเล่นเกมออนไลน์อย่างใจจดใจจ่อ และชายผู้เคราะห์ร้าย ก็ได้วางมือถือเอาไว้บนโต๊ะ ก่อนที่โจรจะแอบใช้ผ้าขี้ริ้ว รวบเอามือถือที่วางเอาบนโต๊ะไปได้อย่างง่ายดาย พร้อมกับเดินออกมาแล้วทำทีเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

โจรทำทีเข้ามาเช็ดโต๊ะ ก่อนที่จะมองเห็นโทรศัพท์ของเหยื่อ





มีคนเดินเข้ามา โจรหันไปมอง ตอนนี้จึงยังไม่ได้ลงมือใด ๆ





โจรแอบใช้ผ้าขี้ริ้ว ฉกมือถือจากด้านหลังเหยื่อ ซึ่งเหยื่อเองไม่รู้สึกตัว





หลังจากฉกมือถือได้ โจรก็หันหลังไป





โจรหยิบมือถือแล้วเดินตีเนียนออกไป เหยื่อเองยังคงเล่นเกมต่อ






           อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายงานว่า มีการจับกุมโจรขโมยมือถือได้หรือไม่ แต่นี่ก็ถือเป็นการโจรกรรมมือถืออีกรูปแบบหนึ่ง ที่เจ้าของมือถือทุกคน ควรระวังเอาไว้ อย่าเอามือถือมาวางไว้บนโต๊ะโดยไม่จำเป็นอย่างเด็ดขาด


Man steals phones while pretending to clean tables

-http://www.youtube.com/watch?v=Jh6OogMBgy8-
คลิป Man steals phones while pretending to clean tables โพสต์โดย CCTV News


sithiphong:
เตือนภัย มิจฉาชีพแฮกเฟซบุ๊ก สวมรอยหลอกให้คนโอนเงินให้

-http://hilight.kapook.com/view/112799-






เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Godchagorn Hawirod

            เตือนภัย มิจฉาชีพสวมรอยเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊ก เพื่อหลอกให้เพื่อนเจ้าของบัญชีโอนเงินให้ เผยทำมากว่า 4 ปีแล้ว ไม่เห็นมีตำรวจจับได้

            ในยุคที่โซเชียลเน็ตเวิร์กได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง แม้ว่ามันจะช่วยให้เราสะดวกสบายในการติดต่ออัพเดทข่าวคราวของผองเพื่อนคนรู้จักทั้งหลาย มันก็ยังมีด้านมืดที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงด้วย และวันนี้เราก็นำอีกหนึ่งภัยที่มากับโซเชียลเน็ตเวิร์กมาเตือนให้ระมัดระวังกัน เป็นภัยในรูปแบบการสวมรอยเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊ก เพื่อหลอกเอาเงินบรรดาเพื่อน ๆ ของเจ้าของบัญชี เรียกว่าน่ากลัวไม่น้อยเลยทีเดียว

            สำหรับเรื่องราวเตือนภัยที่นำมาฝากกันวันนี้ เกิดขึ้นกับผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Godchagorn Hawirod เธอได้โพสต์ภาพบทสนทนาในแชทเฟซบุ๊กกับ Chwn Niice ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กของเพื่อนเธอและถูกมิจฉาชีพสวมรอยเข้ามาใช้

            จากบทสนทนาจะเห็นว่า Chwn Niice เริ่มต้นคุยกับเธอด้วยการขอยืมเงิน 3,000 บาท แต่บังเอิญว่าเธอเองติดหนี้เพื่อนรายนี้อยู่แล้ว จึงตกลงที่จะโอนให้ 4,000 บาท ระหว่างนั้นเองเธอก็พยายามชวนเพื่อนคุยเรื่องต่าง ๆ นานา แต่ก็พบพิรุธเมื่อเพื่อนตอบอะไรแปลก ๆ เหมือนกับไม่ใช่เจ้าตัวและไม่เข้าใจว่าเธอพูดคุยเรื่องอะไรด้วย อีกทั้งยังให้โอนเงินไปยังบัญชีของ นายสันทัด ช่วยชนะ อีก ซึ่งไม่ใช่ชื่อจริงของเจ้าของเฟซบุ๊กเลย

            ระหว่างนั้นเองเธอก็ได้คุยกับเพื่อนตัวจริงและรู้ว่าคนที่คุยอยู่นั้นเป็นมิจฉาชีพ เลยโกหกมิจฉาชีพไปว่ากำลังจะโอนเงินให้ แน่นอนว่าในที่สุดมิจฉาชีพก็ไม่สามารถหลอกเอาเงินจากเธอได้สำเร็จ ขณะที่เธอเองในตอนท้ายก็ได้มีการแสดงตัวว่าเธอรู้แล้วว่าคนที่คุยอยู่เป็นมิจฉาชีพ พร้อมกับขู่ว่าได้แจ้งตำรวจเรียบร้อยแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นมิจฉาชีพก็ไม่ได้เกรงกลัวแม้แต่น้อย กลับบอกว่าทำมานานกว่า 4 ปีแล้ว ไม่เห็นมีตำรวจคนไหนมาจับเลย รอมานานแล้วด้วย แสดงให้เห็นว่ามิจฉาชีพรายนี้น่าจะลอยนวลสวมรอยเป็นใครอีกหลาย ๆ คน เพื่อหลอกเอาเงินจากเพื่อนของเจ้าของบัญชีตัวจริงเหล่านั้น

            จากเหตุการณ์ดังกล่าวผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Godchagorn Hawirod จึงได้โพสต์เตือนภัย โดยขอให้ร่วมมือกันแชร์กรณีดังกล่าวในโซเชียลเน็ตเวิร์ก เพื่อไม่ให้ใครตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ซึ่งนอกจากจะสูญเงินโดยไม่ได้คืนแล้ว ยังเสี่ยงต่อการบาดหมางกับเพื่อนตัวจริงอีกด้วย










































































.


นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version