ไตรลักษณ์ (อริยกรธรรม)ไตรลักษณ์ เป็นธรรมะที่ทำให้เป็นพระอริยะ (อริยกรธรรม)
แปลว่า ลักษณะ 3 ประการ หมายถึงสามัญลักษณะ คือ
กฎธรรมดาของสรรพสิ่งทั้งปวง อันได้แก่
อนิจจลักษณะ ความไม่เที่ยง ทุกสิ่งในโลกย่อมมีการแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา
ทุกขลักษณะ ความเป็นทุกข์ คือ มีความบีบคั้นด้วยอำนาจของธรรมชาติ
ทำให้ทุกสิ่งไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป และ
อนัตตลักษณะ ความที่ทุกสิ่งไม่สามารถบังคับบัญชา ให้เป็นไปตามต้องการได้
เช่น ไม่สามารถบังคับให้ชีวิตยั่งยืนอยู่ได้ตลอดไป
ไม่สามารถบังคับจิตใจให้เป็นไปตามปรารถนา เป็นต้น
สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์แบบสามัญญลักษณะ
1 สันตติปิดบังอนิจจลักษณะ
2 อิริยาบถปิดบังทุกขลักษณะ
3 ฆนะปิดบังอนัตตลักษณะ
==============
ไตรลักษณ์ แปลว่า "ลักษณะ 3 อย่าง" หมายถึงสามัญลักษณะ หรือลักษณะที่เสมอกัน หรือข้อกำหนด หรือสิ่งที่มีประจำอยู่ในตัวของสังขารทั้งปวงเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ 3 อย่าง ได้แก่ :-
อนิจจตา (อนิจจลักษณะ) - อาการไม่เที่ยง อาการไม่คงที่ อาการไม่ยั่งยืน อาการที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมและสลายไป อาการที่แสดงถึงความเป็นสิ่งไม่เที่ยงของขันธ์.
ทุกขตา (ทุกขลักษณะ) - อาการเป็นทุกข์ อาการที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายตัว อาการที่กดดัน อาการฝืนและขัดแย้งอยู่ในตัว เพราะปัจจัยที่ปรุงแต่งให้มีสภาพเป็นอย่างนั้นเปลี่ยนแปลงไป จะทำให้คงอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้ อาการที่ไม่สมบูรณ์มีความบกพร่องอยู่ในตัว อาการที่แสดงถึงความเป็นทุกข์ของขันธ์.
อนัตตตา (อนัตตลักษณะ) - อาการของอนัตตา อาการของสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน อาการที่ไม่มีตัวตน อาการที่แสดงถึงความไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร ไม่อยู่ในอำนาจควบคุมของใคร อาการที่แสดงถึงไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมันเอง อาการที่แสดงถึงความไม่มีอำนาจแท้จริงในตัวเลย อาการที่แสดงถึงความด้อยสมรรถภาพโดยสิ้นเชิงไม่มีอำนาจกำลังอะไรต้องอาศัยพึงพิงสิ่งอื่นๆมากมายจึงมีขึ้นได้.
ลักษณะ 3 อย่างนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สามัญญลักษณะ คือ ลักษณะที่มีเสมอกันแก่สังขารทั้งปวง และเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธรรมนิยาม คือกฎธรรมดาหรือข้อกำหนดที่แน่นอนของสังขาร
คำว่า ไตรลักษณ์ นี้มาจากภาษาบาลีว่า "ติลกฺขณ" มีการวิเคราะห์ศัพท์ดังต่อไปนี้ :-
ติ แปลว่า สาม, 3.
ลกฺขณ แปลว่า เครื่องทำสัญลักษณ์, เครื่องกำหนด, เครื่องบันทึก, เครื่องทำจุดสังเกต, ตราประทับ เปรียบได้กับภาษาอังกฤษในคำว่า Marker.
ติลกฺขณ จึงแปลว่า "เครื่องกำหนด 3 อย่าง" ในแง่ของความหมายแล้ว ตามคัมภีร์จะพบได้ว่า มีธรรมะที่อาจหมายถึงติลกฺขณอย่างน้อย 2 อย่าง คือ สามัญญลักษณะ 3 และ สังขตลักษณะ 3 . ในคัมภีร์ชั้นฎีกา พบว่ามีการอธิบายเพื่อแยก ลักษณะทั้ง 3 แบบนี้ออกจากกันอยู่ด้วย[1]. ส่วนในที่นี้ก็คงหมายถึงสามัญญลักษณะตามศัพท์ว่า ติลกฺขณ นั่นเอง.
อนึ่ง นักอภิธรรมชาวไทยนิยมเรียกคำว่า สังขตลักษณะ โดยใช้คำว่า "อนุขณะ 3" คำนี้มีที่มาไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากยังไม่พบในอรรถกถาและฎีกาของพระพุทธโฆสาจารย์และพระธรรมปาลาจารย์, และที่พบใช้ก็เป็นความหมายอื่น[2] อาจเป็นศัพท์ใหม่ที่นำมาใช้เพื่อให้สะดวกต่อการศึกษาก็เป็นได้. อย่างไรก็ตาม โดยความหมายแล้วคำว่าอนุขณะนั้นก็ไม่ได้ขัดแย้งกับคัมภีร์รุ่นเก่าแต่อย่างใด.
สามัญลักษณะ[แก้]
สามัญญลักษณะ 3 หมายถึง เครื่องกำหนดที่มีอยู่ทั่วไปในสังขารทั้งหมด ได้แก่ อนิจจลักษณะ - เครื่องกำหนดความไม่เที่ยงแท้, ทุกขลักษณะ - เครื่องกำหนดความบีบคั้น, อนัตตลักษณะ - เครื่องกำหนดความไม่มีตัวตน.
สามัญญลักษณะ ยังมีชื่อเรียกอีกว่า ธรรมนิยาม คือกฎแห่งธรรม หรือ ข้อกำหนดที่แน่นอนของสังขาร และบางอย่าง คือ อนัตตลักษณะยังเป็นข้อกำหนดของวิสังขาร (พระนิพพาน) เป็นต้นอีกด้วย.
อนึ่ง ควรทราบว่า อนิจฺจํ กับ อนิจฺจตา เป็นต้น เป็นศัพท์ที่ใช้คนละความหมายกัน ซึ่งจะได้อธิบายไว้ในตอนท้ายของบทความนี้ด้วย.
อนิจจะ กับ อนิจจลักษณะ ไม่เหมือนกัน[แก้]
ตามคัมภีร์ฝ่ายศาสนาท่านให้ความหมายของขันธ์ กับ ไตรลักษณ์ไว้คู่กัน เพราะเป็น ลักขณวันตะ และ ลักขณะ ของกันและกัน[3][4][5][6][7] ดังนี้ :-
อนิจจัง (อนิจฺจํ) - หมายถึง ขันธ์ 5 ทั้งหมด เป็นปรมัตถ์ เป็นสภาวะธรรม มีอยู่จริง, คำว่า"อนิจจัง"เป็นคำไวพจน์ชื่อหนึ่งของขันธ์ 5.
อนิจจลักษณะ (อนิจฺจตา,อนิจฺจลกฺขณํ) - หมายถึง เครื่องกำหนดขันธ์ 5 ทั้งหมดซึ่งเป็นตัวอนิจจัง.
อนิจจลักษณะทำให้เราทราบได้ว่าขันธ์ 5 เป็นของไม่เที่ยง ไม่คงที่ ไม่ยั่งยืน ซึ่งได้แก่ อาการความเปลี่ยนแปลงไปของขันธ์ 5 เช่น อาการที่ขันธ์ 5 เคยเกิดขึ้นแล้วเสื่อมสิ้นไปเป็นขันธ์ 5 อันใหม่, อาการที่ขันธ์ 5 เคยมีขึ้นแล้วก็ไม่มีอีกครั้ง เป็นต้น.
ในวิสุทธิมรรค ท่านได้ยกอนิจจลักษณะจากปฏิสัมภิทามรรคมาแสดงไว้ถึง 25 แบบ เรียกว่า โต 25 และในพระไตรปิฎกยังมีการแสดงอนิจจลักษณะไว้ในแบบอื่นๆอีกมากมาย. แต่คัมภีร์ที่รวบรวมไว้เป็นเบื้องต้นเหมาะสำหรับเป็นคู่มือสำหรับปฏิบัติธรรมได้แก่ คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค เพราะสามารถจะจำคำที่คนโบราณใช้กำหนดกันจากคัมภีร์นี้แล้วนำไปใช้ได้ทันที ดังที่ท่านแสดงไว้เป็นต้นว่า "จกฺขุ อหุตฺวา สมฺภูตํ หุตฺวา น ภวิสฺสตีติ ววตฺเถติ - นักปฏิบัติธรรมย่อมกำหนดว่า "จักขุปสาทที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น (ให้เพ่งเล็งถึงลักษณะอาการที่เปลี่ยนไป จะเป็นการกำหนดอนิจจลักษณะ).
ทุกข์ กับ ทุกขลักษณะ ไม่เหมือนกัน[แก้]
ทุกขัง (ทุกฺขํ) - หมายถึง ขันธ์ 5 ทั้งหมด เป็นปรมัตถ์ เป็นสภาวะธรรม มีอยู่จริง, คำว่า"ทุกขัง"เป็นคำไวพจน์ชื่อหนึ่งของขันธ์ 5.
ทุกขลักษณะ (ทุกฺขตา,ทุกฺขลกฺขณํ) - หมายถึง เครื่องกำหนดขันธ์ 5 ทั้งหมดซึ่งเป็นตัวทุกขัง.
ทุกขลักษณะทำให้เราทราบได้ว่าขันธ์ 5 เป็นทุกข์ บีบคั้น น่ากลัวมาก ซึ่งได้แก่ อาการความบีบคั้นบังคับให้เปลี่ยนแปลงไปอยู่เป็นเนืองนิจของขันธ์ 5 เช่น อาการที่ขันธ์ 5 บีบบังคับตนจากที่เคยเกิดขึ้น ก็ต้องเสื่อมสิ้นไปเป็นขันธ์ 5 อันใหม่, อาการที่ขันธ์ 5 จากที่เคยมีขึ้น ก็ต้องกลับไปเป็นไม่มีอีกครั้ง เป็นต้น.
ในวิสุทธิมรรค ท่านได้ยกทุกขลักษณะจากปฏิสัมภิทามรรคมาแสดงไว้ถึง 10 แบบ เรียกว่า โต 10 และในพระไตรปิฎกยังมีการแสดงทุกขลักษณะไว้ในแบบอื่นๆอีกมากมาย. แต่คัมภีร์ที่รวบรวมไว้เป็นเบื้องต้นเหมาะสำหรับเป็นคู่มือสำหรับปฏิบัติธรรมได้แก่ คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค เพราะสามารถจะจำคำที่คนโบราณใช้กำหนดกันจากคัมภีร์นี้แล้วนำไปใช้ได้ทันที ดังที่ท่านแสดงไว้เป็นต้นว่า "จกฺขุ อหุตฺวา สมฺภูตํ หุตฺวา น ภวิสฺสตีติ ววตฺเถติ - นักปฏิบัติธรรมย่อมกำหนดว่า "จักขุปสาทที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น (ให้เพ่งเล็งถึงลักษณะที่บีบบังคับตัวเองให้ต้องเปลี่ยนไป ก็จะกลายเป็นการกำหนดทุกขลักษณะ).
อนัตตา กับ อนัตตลักษณะ ไม่เหมือนกัน[แก้]
อนัตตา กับ อนัตตลักษณะ เป็นคนละอย่างกัน เพราะเป็น ลักขณวันตะ และ ลักขณะ ของกันและกัน
อนัตตลักษณะทำให้เราทราบได้ว่าขันธ์ 5 ไม่มีตัวตน ไร้อำนาจ ไม่มีเนื้อแท้แต่อย่างใด ได้แก่ อาการที่ไร้อำนาจบังคับตัวเองให้ไม่เปลี่ยนแปลงไปของขันธ์ 5 เช่น อาการที่ขันธ์ 5 บังคับตนไม่ให้เกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ให้เสื่อมสิ้นไปเป็นขันธ์ 5 อันใหม่ไม่ได้, อาการที่ขันธ์ 5 บังคับตนไม่ให้มีขึ้นไม่ได้ ไม่ให้กลับไปไม่มีอีกครั้งไม่ได้ (บังคับให้ไม่หมดไปไม่ได้) เป็นต้น.
ในวิสุทธิมรรค ท่านได้ยกอนัตตลักษณะจากปฏิสัมภิทามรรคมาแสดงไว้ 5 แบบ เรียกว่า โต 5 และในพระไตรปิฎกยังมีการแสดงอนัตตลักษณะไว้ในแบบอื่นๆอีกมากมาย. แต่คัมภีร์ที่รวบรวมไว้เป็นเบื้องต้นเหมาะสำหรับเป็นคู่มือสำหรับปฏิบัติธรรมได้แก่ คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค เพราะสามารถจะจำคำที่คนโบราณใช้กำหนดกันจากคัมภีร์นี้แล้วนำไปใช้ได้ทันที ดังที่ท่านแสดงไว้เป็นต้นว่า "จกฺขุ อหุตฺวา สมฺภูตํ หุตฺวา น ภวิสฺสตีติ ววตฺเถติ - นักปฏิบัติธรรมย่อมกำหนดว่า "จักขุปสาทที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น (ให้เพ่งเล็งถึงลักษณะที่ไรอำนาจบังคับตัวเองใหไม่เปลี่ยนไปไม่ได้ ก็จะกลายเป็นการกำหนดอนัตตขลักษณะ).
หลักการกำหนดไตรลักษณ์[แก้]
ไตรลักษณ์แบบสามัญญลักษณะนี้ ไม่ได้แสดงตัวของมันเองอยู่ตลอดทุกเวลา เพราะเมื่อใดที่จิตไม่ได้เข้าไปคิดถึงขันธ์ 5 เทียบเคียง สังเกต ไตร่ตรอง ให้รอบคอบ ตามแบบที่ท่านวางไว้ให้ในพระไตรปิฎก เช่น "จกฺขุ อหุตฺวา สมฺภูตํ หุตฺวา น ภวิสฺสตีติ ววตฺเถติ - นักปฏิบัติธรรมย่อมกำหนดว่า "จักขุปสาทที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น ไตรลักษณ์ก็จะไม่ปรากฏตัวขึ้น.โดยเฉพาะอนัตตลักษณะที่ทั้งในพระไตรปิฎกและอรรถกถาระบุไว้ในหลายแห่งว่าพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะสามารถทำความเข้าใจเองแล้วเอามาบอกสอนให้คนอื่นเข้าใจตามได้.
สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์แบบสามัญญลักษณะ[แก้]
อย่างไรก็ตาม แม้จะพิจารณาใคร่ครวญตามพระพุทธพจน์ แต่ไตรลักษณ์ก็อาจจะยังไม่ชัดเจนได้เหมือนกันทั้งนี้ อาจเป็นเพราะนิวรณ์อกุศลธรรมต่างๆเกิดกลุ้มรุม รุมเร้า, และอาจเป็นเพราะยังพิจารณาไม่มากพอจึงไม่มีความชำนาญ เหมือนเด็กเพิ่งท่องสูตรคูณยังไม่แม่นนั่นเอง. และนอกจากนี้ ในคัมภีร์ท่านยังแสดงถึงสิ่งที่ทำให้พิจารณาไตรลักษณ์ได้ไม่ชัดเจนไว้อีก 3 อย่าง คือ สันตติ อริยาบถ และฆนะ [8][9][10][11][12].
สันตติปิดบังอนิจจลักษณะ[แก้]
สันตติ คือ การสืบต่อเนื่องกันไปไม่ขาดสายของขันธ์ 5 โดยสืบต่อเนื่องจากจิตดวงหนึ่งที่ดับไป จิตดวงใหม่ก็เกิดขึ้นต่อกันในทันที, หรือรูป ๆ หนึ่งดับไป รูปใหม่ ๆ ก็เกิดต่อกันไปในทันที หรือบางทีรูปเก่ายังไม่ดับรูปใหม่ก็เกิดขึ้นมาสำทับกันเข้าไปอีก. สันตติเป็นกฎธรรมชาติ เป็นนิยามห้ามไม่ได้ เว้นแต่จะดับขันธปรินิพพานแล้วเท่านั้น สันตติจึงจะไม่เป็นไป, แม้ในอสัญญสัตตภพ และผู้เข้านิโรธสมาบัติท่านก็ยังจัดว่ามีสันตติของจิตอยู่นั่นเอง.
สันตติที่เกิดขึ้นสืบต่อกันไปอย่างรวดเร็วไม่ขาดสายนี้ จะทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่า ขันธ์ 5 ไม่เกิดไม่ดับ ทั้งที่ความจริงแล้วเกิดดับต่อกันวินาทีละนับครั้งไม่ได้. ในคัมภีร์ท่านจึงกล่าวว่า "สันตติปิดบังอนิจจลักษณะ" เพราะอนิจจลักษณะเป็นเครื่องกำหนดความไม่สืบต่อของขันธ์ 5 ที่มีขอบเขตของเวลาในการดำรงอยู่จำกัดมาก ซึ่งตรงกันข้ามกับสันตติที่ต่อกันจนดูราวกับว่าไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย. การที่ยังพิจารณาอนิจจลักษณะว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น ไม่บ่อย ไม่ต่อเนื่อง หรือเพิ่งเริ่มกำหนด จึงยังไม่เกิดความชำนาญ อนิจจลักษณะที่กำหนดอยู่ก็จะไม่ชัดเจน ไม่เข้าใจกระจ่างเท่าไหร่สันตติจึงยังมีอำนาจรบกวนไม่ให้กำหนดอนิจจลักษณะได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง.
สำหรับวิธีการจัดการกับสันตติไม่ให้มีผลกับการกำหนดอนิจจลักษณะนั้นไม่มีวิธีจัดการกับสันตติโดยตรง เพราะสันตติเป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดาของขันธ์ไปห้ามกันไม่ได้. แต่ท่านก็ยังคงให้พิจารณาอนิจจลักษณะแบบเดิมเป็นต้นว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"ดังนี้ ต่อไป โดยทำให้มาก ให้ต่อเนื่อง ให้บ่อยครั้งเข้า อนิจจลักษณะก็จะปรากฏชัดขึ้น และสันตติแม้จะยังมีอยู่ตามเดิม แต่ก็จะไม่มีอำนาจปกปิดอนิจจลักษณะ หรือ ทำให้อนิจจลักษณะไม่ชัดเจนอีกต่อไป.
อนึ่ง สันตติไม่ได้ปิดบังอนิจจัง เพราะอนิจจัง ก็คือ ขันธ์ 5 ซึ่งขันธ์ 5 ที่เป็นโลกิยะโดยมากแล้วใคร ๆ แม้ที่ไม่ได้ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สามารถจะเห็นได้ ดังที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรว่า "กามํ อุตฺตานเสยฺยกาปิ ทารกา ถญฺญปิวนาทิกาเล สุขํ เวทยมานา สุขํ เวทนํ เวทยามาติ ปชานนฺติ น ปเนตํ เอวรูปํ ชานนํ สนฺธาย วุตฺตํ - ความจริงแล้ว แม้แต่พวกทารกแบเบาะมีความสุขอยู่ในเวลาขณะที่ดื่มนม ก็ย่อมรู้ชัดอยู่ว่า เรามีสุขเวทนา (คือ รู้ตัวว่ากำลังมีความสุข) อยู่ ดังนี้ แต่การรู้อย่างนี้ท่านไม่ได้ประสงค์เอา (ในการเจริญสติปัฏฐาน) "ดังนี้[13]. ดังนั้นแม้เราจะดูทีวีซึ่งมีการขยับเขยื้อน มีสีเปลี่ยนไปมาอยู่มากมายก็ตาม แต่หากไม่มนสิการถึงอนิจจลักษณะว่า "ขันธ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น เราก็จะไม่เห็นสามารถอนิจจลักษณะได้เลย และความจริงหากยังดูทีวีอยู่ก็คงจะพิจารณาไตรลักษณ์ได้ไม่ดี หรือไม่ได้เลยด้วย เพราะอกุศลจิตนั่นเองจะเป็นตัวขัดขวางการพิจารณา ใคร่ครวญ ค้นคิดธรรมะ.