พระถังซัมจั๋งท่านที่เคยอ่านวรรณกรรมจีนเรื่อง ไซอิ๋วกี่ คงจะพอทราบประวัติพระถังซัมจั๋งมาบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎกของพระถังซัมจั๋ง โดยมีลูกศิษย์ เป็นปีศาจ 3 ตน ติดตาม เป็นเรื่องราวที่สนุกสนานโดยเฉพาะตัวชูเรื่องคือ ซุนหงอคง ซึ่งมีอิทธิฤทธิ์ปราบปีศาจมากมายในหว่างการเดินทาง เรื่องของพระถังซัมจั๋งเป็นเรื่องจริงเกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง แต่เขาเอามาแต่งเป็นนิยายให้สนุกสนาน จึงได้แต่งให้มีลูกศิษย์ที่มีฤทธิ์คอยติดตามไป
ความจริงเป็นการ
สื่อจากบุคลาธิฐานให้เป็นธรรมาธิฐานโดยลูกศิษย์ทั้ง 3 คือ เห้งเจีย (ลิง) หรือชุนหงอคง ซึ่งมีนิสัย ใจร้อนวู่วาม ดุร้าย ชอบแสดงอิทธิฤทธิ์ ก็ได้แก่
โทสะกิเลส ตือป๊วยก่าย (หมูอ้วน) ชอบกินจุ นอนมาก ติดในรสกามคุณ ได้แก่
ราคะกิเลส ตัวสุดท้ายคือ ชัวเจ๋ง (ปีศาจปลา) ซึ่งมีนิสัยเซื่องซึม ซื่อบื้อ เหมือนจะโง่เขลา แต่ก็ลึกล้ำเหมือนน้ำนิ่งไหลลึก ไม่ค่อยแสดงฤทธิ์ นาน ๆ จึงแสดงออกที่หนึ่ง ก็ได้แก่
โมหะกิเลส ส่วนปีศาจน้อยใหญ่ที่คอยจับพระถังซัมจั๋งกินก็ได้แก่
กิเลสน้อยใหญ่ที่คอยรบกวนใจพระถังซัมจั๋ง
พระถังซัมจั๋งเป็นหนึ่งบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา เป็นผู้ที่ทำให้พระพุทธศาสนา(นิกายมหายาน) ได้แพร่หลายจนถึงทุกวันนี้ คัมภีร์ต่าง ๆ ซึ่งเดิมเป็นภาษาสันสกฤต ท่านได้แปลเป็นภาษาจีน อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด จนทำให้พุทธศาสนาได้แพร่หลายในจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ในเวลาต่อมา โดยเฉพาะจดหมายเหตุที่ท่านบันทึกการเดินทาง ใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาหลังพุทธปรินิพพานได้อย่างดี จึงอยากเล่าประวัติของท่านให้ฟังพอสังเขป
พระถังซัมจั๋งเดิมชื่อ พระเฮี่ยงจัง เกิดเมื่อปี พ.ศ. 1139 ยุคราชวงศ์สุยตอนปลาย ที่มณฑลเหอหนาน ตอนเป็นเด็ก บิดาท่านต้องการให้รับราชการ จึงให้ศึกษาตำรา ขงจื๊อ ท่านสามารถท่องจำได้ทุกบท ต่อมาบิดาท่านเสียชีวิต เมื่ออายุได้ 13 ปีท่านได้ติดตามพี่ชาย 2 คนไปบวชที่นครลกเอี๋ยง โดยท่านได้บวชเป็นสามเณร ได้ศึกษาพระธรรมวินัยได้อย่างรวดเร็ว เมื่ออายุได้ 14 ปี สามารถเทศนาธรรมได้อย่างไพเราะถูกใจผู้ฟังจนเป็นที่เคารพนับถือคนทั่วไป เมื่ออายุครบอุปสมบท ฮ่องเต้คือพระเจ้าถังไท่จง(หลี่ซื่อหมิน)ได้รับอุปถัมภ์ให้เป็นนาคหลวง ท่านได้เดินทางแสดงธรรมไปทั่วทุกมณฑล และได้ศึกษาค้นคว้าพระธรรมคัมภีร์ที่มีในแผ่นดินจีน ท่านเห็นว่า ยังไม่สมบูรณ์แบบ เนื่องจาก ผู้ที่นำเข้ามาเผยแผ่และแปลคัมภีร์ส่วนใหญ่จะเป็นพระจากต่างแดน ซึ่งไม่ใช่คนจีน จึงมีความผิดเพี้ยนด้านภาษาไปมาก ท่านจึงตั้งใจจะไปศึกษาพระธรรมที่ชมพูทวีปอันเป็นดินแดนพุทธภูมิ ในสมัยนั้นเป็นเรื่องที่ยากมากในการเดินทางสู่ตะวันตก (อินเดีย) มีพระจีนจำนวนเป็นพันที่เดินทางไปศึกษา แต่มีชีวิตรอดกลับมาไม่ถึงยี่สิบ ล้มตายระหว่างทางมากมาย
ท่านจึงเรียนภาษาสันสกฤตจนเชี่ยวชาญแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 1172 พระสมณเฮี่ยงจังได้ชักชวนสมัครพรรคพวกร่วมเดินทางไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยนาลันทา แต่ในสมัยนั้นจีนทำสงครามกับเติร์กตะวันออก มีพระราชองค์การห้ามไม่ให้ประชาชนจีนออกออกเขตชายแดน ทำให้พระที่ต้องการไปชมพูทวีปต่างถอนตัวไปเกือบหมด แต่พระสมณเฮี่ยงจังไม่ย่อท้อท่านและคณะลอบเดินทางออกจากอาณาจักรผ่านทางเมืองเหลียงโจวของ มณฑลกานซู่และผ่านไปทางมณฑลชิงไห่ ต่อจากนั้นก็เดินทางผ่านทะเลทรายโกบีไปที่เมืองคูมุลหรือเมืองฮามิที่ปัจจุบันอยู่ในมณฑลซินเจียง ทะเลทรายโกบีขึ้นชื่อในเรื่องที่เป็นแหล่งที่ฝังร่างของนักเดินทางจำนวนมากมาย
เนื่องจากในเวลากลางวันทะเลทรายแห่งนี้จะมีอุณหภูมิสูงมาก แต่พอในเวลากลางคืนกลับหนาวมาก และนอกจากอากาศที่เลวร้ายอยู่แล้วยังเป็นที่ขาดแหล่งน้ำและแหล่งอาหาร เบื้องบนไม่มีสัตว์ปีก เบื้องล่างไม่มีสัตว์เลื้อยคลาน ท่านได้รับความลำบากมาก ครั้งหนึ่งท่านหลงทางอยู่ในทะเลทรายไม่มีน้ำและอาหารฉันถึง 5 วัน จนแทบสิ้นลมหายใจ แต่มีคนร่างยักษ์มาช่วย (เทพ)และ พาท่านไปพบโอเอซีสกลางทะเลทรายโกบี จึงรอดชีวิตมาได้ เมื่อเข้าสู่เทือกเขาหิมาลัยท่านเดินทางผ่านภูเขาที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง เต็มไปด้วยความหนาวเหน็ด ท่านได้เดินทางผ่านประเทศต่าง ๆ ถึง 18 ประเทศ กษัตริย์แต่ละประเทศต่างให้การอุปถัมภ์อุปฐากท่านเป็นอย่างดี โดยเฉพาะพระเจ้าหรรษวรรธนะได้ทรงอุปฐากท่านอย่างดีที่สุด (ประวัติพระเจ้าหรรษวรรธนะได้ทรงุปถัมภ์การสังคายนาพระธรรมวินัยของนิการสรวาสติวาทิน แต่คัมภีร์ฝ่ายบาลี (เถรวาท) ไม่ได้กล่าวถึงเลยเนื่องจากอยู่คนละนิกาย)
พระเจ้าหรรษาวรรธนะ มหาราชพระองค์หนึ่งของอินเดีย ซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1149-1191 ก็ได้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของมหาวิทยาลัยนาลันทา หลวงจีนเฮี่ยงจัง (พระถังซำจั๋ง) ซึ่งจาริกมาสืบพระศาสนาในอินเดียในรัชกาลนี้ ในช่วง พ.ศ. 1172-1187 ได้มาศึกษาที่นาลันทามหาวิหาร และได้เขียนบันทึกบรรยายอาคารสถานที่ที่ใหญ่โตและศิลปกรรมที่วิจิตรงดงาม ท่านเล่าถึงกิจกรรมทางการศึกษา ที่รุ่งเรืองยิ่ง นักศึกษามีประมาณ 10,000 คน และมีอาจารย์ประมาณ 1,500 คน พระมหากษัตริย์พระราชทานหมู่บ้าน 200 หมู่โดยรอบให้ โดยทรงยกภาษีที่เก็บได้ให้เป็นค่าบำรุงมหาวิทยาลัย ผู้เล่าเรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น วิชาที่สอนมีทั้งปรัชญา โยคะ ศัพทศาสตร์ เวชชศาสตร์ ตรรกศาสตร์ นิติศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ ตลอดจนโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ และตันตระ
แต่ที่เด่นชัดก็คือนาลันทาเป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และเพราะความที่มีกิตติศัพท์เลื่องลือมาก จึงมีมีนักศึกษาเดินทางมาจากต่างประเทศหลายแห่ง เช่น จีน ญี่ปุ่น เอเซียกลาง สุมาตรา ชวา ทิเบต และมองโกเลีย เป็นต้น หอสมุดของนาลันทาใหญ่โตมากและมีชื่อเสียงไปทั่วโลก เมื่อคราวที่ถูกเผาทำลายในสมัยต่อมา มีบันทึกกล่าวว่าหอสมุดนี้ไหม้อยู่เป็นเวลาหลายเดือน หลวงจีนอี้จิงซึ่งจาริกมาในระยะประมาณ พ.ศ. 1223 ก็ได้มาศึกษาที่นาลันทาและได้เขียนบันทึกเล่าไว้อีก นาลันทารุ่งเรืองสืบมาช้านานจนถึงสมัยราชวงศ์ปาละ (พ.ศ. 1303-1685) กษัตริย์ราชวงศ์นี้ก็ทรงอุปถัมภ์มหาวิหารแห่งนี้ เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ โดยเฉพาะโอทันตปุระที่ได้ทรงสถาปนาขึ้นใหม่
พระสมณเฮี่ยงจังได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยนาลันทา ยาวนานถึง 17 ปี
จนเชี่ยวชาญพระธรรมวินัย ทั้งฝ่ายมหายาน และสาวกยาน (รวมทั้งเถรวาท)
จนได้รับยกย่องว่าเป็น "
มหายานเทวะ" (เทพแห่งนิกายมหายาน)
เมื่อท่านศึกษาจนได้ความรู้สูงสุดแล้วท่านจึงเดินทางกลับไปจีนเมื่อ ปี พ.ศ. 1188 ซึ่งการลากลับครั้งนี้ทำให้กษัตริย์และประชาชนในชมพูทวีปและประเทศต่างๆ 18 ประเทศ มีความอาลัยท่านยิ่งนักพากันมาส่งถึงชายแดนมากมาย ท่านได้นำพระไตรปิฏกภาษาสันสกฤตมาด้วย เมื่อท่านเดินมาถึงชายแดนเมืองฉางอาน ท่านจึงได้ส่งสาส์นไปถึงพระเจ้าถังไท่จงฮ่องเต้ เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษที่ได้หลบหนีออกไปจากราชอาณาจักรเมื่อ 17 ปี ที่แล้ว
พระเจ้าถังไท่จง ทรงยินดียิ่งนักที่ท่านเฮี่ยงจังกลับมา จึงออกราชองค์การให้ประชาชนจีนทุกบ้านจัดโต๊ะหมู่บูชาประดับด้วยดอกไม้ธูปเทียนบูชาตลอดทางให้ พระญาติผู้ใหญ่ไปรับพระสมณเฮี่ยงจังกลับมาสู่นครฉางอาน เมื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าถังไท่จง ๆ ทรงนับถือความรู้ของท่านเฮี่ยงจัง จึงตรัชชวนพระเฮี่ยงจังให้สึก ออกมารับราชการ จะมอบตำแหน่งเสนาบดี(นายกรัฐมนตรี) ให้ แต่พระเฮี่ยงจังปฏิเสธ บอกความต้องการเผยแผ่ศาสนา พระเจ้าถังไท่จงจึงแต่งตั้งให้ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดมหาการุณคุณาราม ซึ่งเป็นพระราชวังเดิมได้ถวายอุทิศส่วนบุญให้สมเด็จพระพันปีหลวง
เมื่อกลับมาแผ่นดินจีนแล้วท่านสมณเฮี่ยงจังได้อุทิศเวลาทั้งหมดในการเผยแผ่พระศาสนา โดยท่านได้สร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ได้แปลคัมภีร์พระไตรปิฎก จากภาษาสันสกฤตสู่ภาษาจีน ได้จำนวน 74 ปกรณ์ นับเป็นผูกลานได้ 1335 ผูก โดยมีราชบัญฑิตคอยช่วยเหลือ 20 กว่าท่านช่วยบันทึกการแปลคัมภีร์ ครั้นถึงเมื่ออายุได้ 64 พรรษา ท่านได้อาพาธ โรคเก่าสมัยที่ท่านเดินทางผ่านภูเขาน้ำแข็งกลับมากำเริบอีก ท่านจึงหยุดแปลคัมภีร์ บรรดาลูกศิษย์ต่างขอร้องให้ท่านแปลต่อ ซึ่งเป็นพระสูตรสำคัญ ต้องใช้ลานอีกประมาณร้อยกว่าผูก แต่ท่านเห็นว่าไม่ไหวจึงบอกว่า แปลไม่จบอย่าแปลต่อเลย
ท่านได้ใช้เวลาที่เหลือ สี่เดือนสุดท้ายก่อนละสังขารได้บำเพ็ญเพียรภาวนาอย่างเต็มที่ จนถึงเวลาใกล้มรณภาพท่านได้เรียกลูกศิษย์เข้ามาพร้อมสั่งเสียไว้ว่า ถ้าฉันตายแล้ว อย่าจัดงานศพฉันให้เอิกเกริกใหญ่โต ให้ใช้เสื่อที่ฉันนอนห่อศพไปฝังก็พอ แล้วก็ให้ลูกศิษย์อ่านบัญชีให้ฟังว่า ในชีวิตของท่านได้แปลคัมภีร์กี่ปกรณ์ ได้สร้างพระบฏไปกี่ผืน ได้หล่อสร้างพระพุทธรูปไปกี่องค์ เมื่อลูกศิษย์อ่านบัญชีจบท่านก็อนุโมทนา ยกมือไหว้อธิฐาน ข้าพเจ้าพระเฮี่ยงจังขอแผ่ส่วนกุศลที่ทำมาทั้งหมดแก่สรรพสัตว์ทั้งปวง และขอให้เป็นพลวปัจจัยให้ข้าพเจ้าเฮี่ยงจังเมื่อได้ดับขันธ์ไปแล้วขอให้ข้าพเจ้าเฮี่ยงจังได้ไปพบพระศรีอริยเมตไตย์ในดุสิตภพด้วยเถิด เมื่ออธิฐานเสร็จท่านก็นอนตะแคงเหมือนปางพระปรินิพพานสีหไสยาสน์ ภาวนาถึงพระโพธิสัตว์ จนดับจิตไปอย่างสงบ เมื่อปี พ.ศ.1207
เมื่อข่าวการละสังขารของท่านไปถึงฮ่องเต้(พระเจ้าถังเกาจงฮ่องเต้) ทรงเสียพระทัยมากถึงกับพระกรรแสง รำพันว่า บัดนี้รัตนประทีปแสงสว่างของประเทศจีนได้ดับไปแล้ว พระเจ้าถังเกาจงได้จัดงานทำบุญศพพระเฮี่ยงจังอย่างใหญ่โตดุจงานจักรพรรดิ์ ให้หยุดราชการ 3 วันไว้ทุกข์ทั่วประเทศ ในวันพิธีฝังศพท่านมีประชาชนมาร่วมงานถึง 2 ล้านกว่าคน ซึ่งไม่เคยมีเกียรติประวัติเช่นนี้มาก่อนในโลก ประธานาธิบดีเคนเนดี้ตายมีคนไปร่วมงาน 6 แสนกว่าคน มหาตมะ คานธี ถูกลอบยิงที่อินเดียมีคนไปร่วมงาน 1 ล้านกว่าคน ท่านเฮี่ยงจังได้สร้างคุณูปการต่อพระพุทธศานาอย่างใหญ่หลวงได้แปลพระไตรปิฏกเป็นภาษาจีนอย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งอรรถและพยัญชนะ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ศาสนาพุทธมหายาน เจริญรุ่งเรื่อง และแพร่หลายไปสู่เกาหลี และญี่ปุ่น จนถึงทุกวันนี้...
ขอโมทนาขอบคุณข้อมูลจาก.. อุบาสก ผู้หนึ่ง
>>> F/B Vitsawapat Maneepattamakate