อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > หลวงปู่มั่น

พระธรรมเทศนา หลวงปู่มั่น

<< < (3/4) > >>

ฐิตา:




๑๐. เรื่อง ข้อปฏิบัติเป็นของมีอยู่ทุกเมื่อ

             ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ไม่มีปัญหาโอปนยิโก น้อมจิตเข้ามาพิจารณา กาย วาจา จิต อกาลิโกอันเป็นของมีอยู่ อาโลโกสว่างโร่อยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญญูหิ อันนักปราชญ์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้า และพระอริยสาวกเจ้าทั้งหลายผู้น้อมเข้ามาพิจารณาของมีอยู่นี้ ได้รู้แจ้งจำเพาะตัวมาแล้ว เป็นตัวอย่าง ไม่ใช่ว่ากาลนั้นจึงจะมี กาลนี้จึงจะมี ย่อมมีอยู่ทุกกาล ทุกสมัย ผู้ปฏิบัติย่อมรู้ได้เฉพาะตัว คือผิดก็รู้จัก ถูกก็รู้จักในตนของตนเอง ดีชั่วอย่างไรตัวของตัวย่อมรู้จักดีกว่าผู้อื่น ถ้าเป็นผู้หมั่นพินิจพิจารณาไม่มัวประมาทเพลิดเพลินเสีย

             ตัวอย่างที่มีมาแล้วคือ มาณพ ๑๖ คน ซึ่งเป็นศิษย์ของพาวรีพราหมณ์ ท่านเหล่านั้นเจริญญานกสิณติดอยู่ในรูปฌานและอรูปฌาน พระบรมศาสดาจารย์จึงตรัสสอนให้พิจารณาของมีอยู่ในตน ให้เห็นแจ้งด้วยปัญญาให้รู้ว่า กามภพเป็นเบื้องต่ำ รูปภพเป็นเบื้องกลาง อรูปภพเป็นเบื้องบน แล้วถอยลงมาให้รู้ว่า อดีตเป็นเบื้องต่ำ อนาคตเป็นเบื้องบน ปัจจุบันเป็นท่ามกลาง แล้วชักเข้ามาหาตัวอีกให้รู้ว่า อุทฺธํ อโธ ติริยญฺจาปิ มชฺเฌ เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องขวางฐานกลาง เมื่อท่านเหล่านั้นมาพิจารณาอยู่อย่างนี้ ปจฺจตฺตํ จึงรู้เฉพาะขึ้นที่ตัวของตัวโดยแจ่มแจ้ง สิ้นความสงสัยข้อปฏิบัติ ไม่ต้องไปเที่ยวแสวงหาที่อื่นให้ลำบาก ฯ


ฐิตา:




๑๑. เรื่อง ได้ฟังธรรมทุกเมื่อ

 ผู้ปฏิบัติพึงใช้อุบายปัญญาฟังธรรมเทศนาทุกเมื่อถึงจะอยู่คนเดียวก็ตาม คืออาศัยการสำเหนียก กำหนดพิจารณาธรรมอยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เป็นรูปธรรมที่มีอยู่ปรากฏอยู่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็มีอยู่ปรากฏอยู่ ได้เห็นอยู่ ได้ยินอยู่ ได้สูด ดม ลิ้ม เลีย และสัมผัสอยู่ จิตใจเล่า?

                   

ก็มีอยู่ ความคิดนึกรู้สึกในอารมณ์ต่างๆ ทั้งดีและร้ายก็มีอยู่ ความเสื่อม ความเจริญ ทั้งภายนอกภายใน ก็มีอยู่ ธรรมชาติอันมีอยู่โดยธรรมดา เขาแสดงความจริงคือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ให้ปรากฏอยู่ ทุกเมื่อ เช่นใบไม้มันเหลืองหล่นร่วงลงจากต้น ก็แสดงความไม่เที่ยงให้เห็น ดังนี้เป็นต้น เมื่อผู้ปฏิบัติมาพินิจพิจารณาด้วยสติปัญญา โดยอุบายนี้อยู่เสมอแล้ว ชื่อว่าได้ฟังธรรมอยู่ทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืนแล ฯ


ฐิตา:




๑๒. เรื่อง ปริญเญยฺยธรรม

             การกำหนดพิจารณาธรรมเรียกบริกรรมจิตที่กำลังทำการกำหนดพิจารณาธรรมอย่างเอาใจใส่ เมื่อได้ความแน่ใจในเหตุผลของธรรมที่พิจารณานั้นแล้ว จิตจะสงบรวมลงสู่ภวังค์ ดำรงอยู่หน่อยหนึ่งแล้วก็ถอยออก ความสงบในขั้นนี้เรียก บริกรรมสมาธิ หรือ ขณิกสมาธิ

             การกำหนดพิจารณาธรรมแล้วจิตสงบรวมลงสู่ภวังค์เข้าถึงฐีติธรรมดำรงอยู่นานหน่อยแล้วถอยออกมารู้เห็นอสุภะปรากฏขึ้น ความสงบในขั้นนี้เรียกว่า อุปจารสมาธิ

             การกำหนดพิจารณาธรรมคืออสุภนิมิต ที่ปรากฏแก่จิตที่เรียกว่าอุคคหนิมิตนั้นจนเพียงพอแล้ว จิตปล่อยวางนิมิตเสีย สงบรวมลงสู่ภวังค์ถึงฐีติธรรมดำรงอยู่นาน เป็นเอกัคคตามีอารมณ์เดียว สงบนิ่งแน่วแน่ มีสติรู้อยู่ว่าจิตดำรงอยู่กับที่ ไม่หวั่นไหวไปมา ความสงบชั้นนี้เรียกว่าอัปปนาสมาธิ

             ส่วน นิมิต อันปรากฏแก่ผู้บำเพ็ญสมาธิภาวนาตามลำดับชั้นดังกล่าวนี้ ก็เรียกว่า บริกรรมนิมิต อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต ตามลำดับกัน

             อนึ่ง ภวังค์ คือภพหรือฐานของจิตนั้น ท่านก็เรียกชื่อเป็น ๓ ตามอาการเคลื่อนไปของจิต คือ ภวังคบาท ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ ขณะแรกที่จิตวางอารมณ์เข้าสู่ฐานเดิมของตน ที่เรียกอย่างสามัญว่าปกติจิตนั้นแลเรียกว่า ภวังคบาท ขณะที่จิตเริ่มไหวตัวเพื่อขึ้นสู่อารมณ์อีกเรียกว่า ภวังคจลนะ ขณะที่จิตเคลื่อนจากฐานขึ้นสู่อารมณ์ เรียกว่า ภวังคุปัจเฉทะ

              จิตของผู้บำเพ็ญภาวนาเข้าสู่ความสงบถึงฐานเดิมของจิตแล้วพักเสวยความสงบอยู่ในสมาธินั้นนานมี
อาการครบองค์ของฌานจึงเรียกว่า ฌาน เมื่อทำการพินิจพิจารณาธรรมด้วยปัญญาจนเพียงพอแล้ว จิตรวมลงสู่ภวังค์ คือ ฐานเดิมของจิตจนถึงฐีติ ขณะตัดกระแสภวังค์ขาดหายไปไม่พักเสวยอยู่ เกิดญาณความรู้ตัดสินขึ้นว่า ภพเบื้องหน้าของเราไม่มีอีก ดังนี้เรียกว่า ฐีติญาณ


ฐิตา:




๑๓. เรื่อง บั้นต้นโพธิสัตว์

             ปฐมโพธิสัตว์ มัชฌิมโพธิสัตว์ ปัจฉิมโพธิสัตว์ ปฐมโพธิกาล มัชฌิมโพธิกาล ปัจฉิมโพธิกาล ปฐมเทศนา มัชฌิมเทศนา ปัจฉิมเทศนา
             สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา เสด็จออกจากคัพโภทรของพระนางเจ้าสิริมหามายา ณ สวนลุมพินีวัน ระหว่างนครกบิลพัสดุ์กับนครเทวหะต่อกัน ครั้นประสูติแล้ว ก็ทรงพระเจริญวัยมาโดยลำดับ ครั้นสมควรแก่การศึกษาศิลปวิทยา เพื่อปกครองรักษาบ้านเมืองตามขัตติยประเพณีได้แล้วก็ทรงศึกษาศิลปวิทยา เมื่อพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษาก็ได้ปกครองบ้านเมืองเสวยราชสมบัติแทนพระเจ้าศิริสุทโธทนมหาราช ผู้พระราชบิดานับว่าได้เป็นใหญ่เป็นราชาแล้ว พระองค์ทรงพระนามว่า เจ้าชายสิทธัตถะ ก็ต้องทรงคิดอ่านการปกครองรักษาบ้านเมืองและไพร่ฟ้าประชาราษฎรให้ร่มเย็นเป็นสุข ทรงบังคับบัญชาอย่างไร เขาก็ทำตามทุกอย่าง

ครั้นทรงพิจารณาหาทางบังคับบัญชาความเกิดแก่เจ็บตายให้เป็นไปตามใจหวังก็เป็นไปไม่ได้ ถึงอย่างนั้นก็มิทำให้ท้อพระทัยในการคิดอ่านหาทางแก้เกิดแก่เจ็บตาย ยิ่งเร้าพระทัยให้คิดอ่านพิจารณายิ่งขึ้น ความคิดอ่านของพระองค์ในตอนนี้เรียกว่าบริกรรม ทรงกำหนดพิจารณาในพระทัยอยู่เสมอ จนกระทั่งพระสนมทั้งหมดปรากฏให้เห็นเป็นซากอสุภะดุจป่าช้าผีดิบ จตุนิมิต ๔ ประการคือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย จึงบันดาลให้พระองค์เกิดเบื่อหน่ายในราชสมบัติ แล้วเสด็จสู่มหาภิเนษกรมณ์บรรพชา ตอนนี้เรียกว่า ปฐมโพธิสัตว์ เป็นสัตว์พิเศษ ผู้จะได้ตรัสรู้ธรรมวิเศษเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเที่ยงแท้ก่อนแต่กาลนี้ไม่นับ นับเอาแต่กาลปัจจุบันทันตาเห็นเท่านั้น

                ครั้นเมื่อพระองค์เสด็จสู่มหาภิเนษกรมณ์บรรพชา ณ ฝั่งแม่น้ำอโนมานที ทรงตัดพระเมาฬีด้วยพระขรรค์อธิษฐานบรรพชา อัฏฐบริขารมีมาเองด้วยอำนาจบุญฤทธิ์อิทธิปาฏิหาริย์เป็นผ้าบังสุกุลจีวร เหตุอัศจรรย์อย่างนี้มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ต่อนั้นมาต้องทรงแสวงหา เหล่าปฐมสาวกก็เหมือนกัน อัฏฐบริขารเกิดขึ้นด้วยบุญฤทธิ์เพียงครั้งแรกเท่านั้น ครั้นทรงบรรพชาแล้ว ทรงทำทุกรกิริยาประโยคพยายามพิจารณาอุคคหนิมิตที่ทรงรู้ครั้งแรก แยกออกเป็นส่วนๆ เป็นปฏิภาคนิมิตจนถึงเสด็จประทับนั่ง ณ ควงแห่งมหาโพธิพฤกษ์ ทรงชนะมารและเสนามารเมื่อเวลาพระอาทิตย์อัสดงคตยัง บุพเพนิวาสานุสติญาณ ให้เกิดในปฐมยาม ยัง จุตูปปาตญาณ ให้เกิดในมัชฌิมยาม ทรงตามพิจารณาจิตที่ยังปัจจัยให้สืบต่อที่เรียกว่า ปัจจยาการ ตอนเวลาก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ตอนนี้เรียกว่า มัชฌิมโพธิสัตว์

                ครั้นเมื่อทรงพิจารณาตามเหตุผลเพียงพอสมควรแล้ว จิตของพระองค์หยั่งลงสู่ความสงบถึงฐีติธรรมดำรงอยู่ในความสงบพอสมควรแล้ว ตัดกระแสภวังค์ขาดไป เกิดญาณความรู้ตัดสินขึ้นในขณะนั้นว่า ภพเบื้องหน้าของเราไม่มีอีกแล้ว ดังนี้เรียกว่า อาสวักขยญาณ ประหารเสียซึ่งกิเลสอาสวะทั้งหลายให้ขาดหายไปจากพระขันธสันดาร สรรพปรีชาญานต่างๆ อันสำเร็จมา แต่บุพพวาสนาบารมี ก็มาชุมนุมในขณะจิตอันเดียวนั้นจึงเรียกว่าตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ระยะกาลตอนนี้เรียกว่า ปัจฉิมโพธิสัตว์

             ครั้นตรัสรู้แล้ว ทรงเสวยวิมุตติสุข อยู่ในที่ ๗ สถาน ตลอดกาล ๔๙ วันแล้วแลทรงเทศนาสั่งสอนเวไนยนิกร มีพระปัญจวัคคีย์เป็นต้น จึงถึงทรงตั้งพระอัครสาวกทั้ง ๒ และแสดงมัชฌิมเทศนา ณ เวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้กรุงราชคฤห์มหานคร จัดเป็นปฐมโพธิกาล

 ต่อแต่นั้นมา ก็ทรงทรมานสั่งสอนเวไนยนิกรตลอดเวลา ๔๕ พระพรรษา จัดเป็น มัชฌิมโพธิกาล ตั้งแต่เวลาทรงประทับไสยาสน์ ณ พระแท่นมรณมัญจาอาสน์ ณ ระหว่างนางรังทั้งคู่ ในสาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ กรุงกุสินาราราชธานี และทรงแสดงพระปัจฉิมเทศนาแล้วปิดพระโอษฐ์ เสด็จดับขันธปรินิพพานระยะกาลตอนนี้จัดเป็น ปัจฉิมโพธิกาล ด้วยประการฉะนี้
 (ส่วน ปฐมเทศนา มัชฌิมเทศนา และปัจฉิมเทศนา นั้น มีเนื้อความเป็นประการไร ได้แสดงแล้วในส่วนที่ ๑)


ฐิตา:




๑๔. เรื่อง โสฬสกิจ

             กิจในพระธรรมวินัยนี้ ที่นับว่าสำคัญที่สุดเรียกว่า  โสฬสกิจ เป็นกิจที่โยคาวจรกุลบุตรพึงพากเพียรพยายามทำให้สำเร็จบริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาท

             โสฬสกิจ ได้แก่กิจในอริยสัจ ๔ ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ชั้นโสดาบันก็ประชุม ๔ ชั้น สกิทาคามีก็ประชุม ๔ สองสี่ก็เป็น ๘ ชั้นอนาคามีก็ประชุม ๔ ชั้นอรหันต์ก็ประชุม ๔ สองสี่ก็เป็น ๘ สองแปดเป็น ๑๖ กำหนดสัจจะทั้ง ๔ รวมเป็นองค์อริยมรรคเป็นขั้นๆ ไป

             เมื่อเรามาเจริญอริยมรรคทั้ง ๘ อันมีอยู่ในกายในจิต คือ ทุกข์ เป็นสัจจะของจริงที่มีอยู่ก็รู้ว่ามีอยู่เป็นปริญเญยฺยะ ควรกำหนดรู้ ก็ได้กำหนดรู้ สมุทัย เป็นสัจจะของจริงที่มีอยู่ก็รู้ว่ามีอยู่ เป็นปหาตัพพะ ควรละก็ละได้แล้ว นิโรธ เป็นสัจจะของจริงที่มีอยู่ก็รู้ว่ามีอยู่เป็นสัจฉิกาตัพพะ ควรทำให้แจ้งก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว มรรค เป็นสัจจะของจริงที่มีอยู่ก็รู้ว่ามีอยู่เป็นภาเวตัพพะ ควรเจริญให้มากก็ได้เจริญให้มากแล้ว เมื่อมากำหนดพิจารณาอยู่อย่างนี้ ก็แก้โลกธรรม ๘ ได้สำเร็จ

             มรรค อยู่ที่ กาย กับ จิต คือ ตา ๒ หู ๒ จมูก ๒ รวมเป็น ๖ ลิ้น ๑ เป็น ๗ กาย ๑ เป็น ๘ มาพิจารณารู้เท่าสิ่งทั้ง ๘ นี้ ไม่หลงไปตาม ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ อันมาถูกต้อง ตนของตนจิตไม่หวั่นไหว โลกธรรม ๘ เป็นคู่ปรับกับมรรค ๘ เมื่อรู้เท่าส่วนทั้งสองนี้แล้ว เจริญมรรคให้บริบูรณ์เต็มที่ ก็แก้โลกธรรม ๘ ได้ ก็เป็น ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ อโสกํ วิรชํ เขมํ เอตมฺ มงฺคลมุตฺตมํ โลกธรรมถูกต้องจิตผู้ใดแล้ว จิตของผู้นั้นไม่หวั่นไหวเมื่อไม่หวั่นไหวก็ไม่เศร้าโศก เป็นจิตปราศจากเครื่องย้อม เป็นจิตเกษมจากโยคะ จัดว่าเป็นมงคลอันอุดมเลิศ ฉะนี้แล ฯ


นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version