ผู้เขียน หัวข้อ: กระต่ายดำ กระต่ายขาว ตอนที่ ๑-๒  (อ่าน 2713 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




กระต่ายดำ กระต่ายขาว ตอนที่ ๑
“มีคนจำนวนไม่น้อย ที่ไม่รู้ว่าพุทธศาสนามีนิกายนั้นนิกายนี้ด้วย
เพราะรู้กันแต่ในวงแคบๆ ว่า
พุทธศาสนาก็ต้องมีพระ มีวัด มีโบสถ์ มีศาลา อะไรเทือกนี้เท่านั้น
ส่วนจะมีพวกหมู่แตกแขนงออกไปอย่างไรนั้นไม่รู้
อันที่จริงแล้วพุทธศาสนามีหลายนิกาย
ซึ่งก็เหมือนกับศาสนาใหญ่ๆ ทั้งหลายในโลกนั้นแหละ

ที่มีการแตกกอแยกหน่อเป็นนิกายต่างๆ เพราะศาสนาสำคัญๆ ในโลกนี้
ไม่มีการหยุดนิ่ง จะเผยแพร่คำสอนเข้าไปในหมู่ชนต่างๆ
เมื่อไปอยู่ในต่างถิ่น ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม
ก็ย่อมจะมีการเปลี่ยนแปลงกันไปบ้างเป็นธรรมดา
(หลักคำสอนเปลี่ยนไม่ได้ แต่มีพิธีกรรม วิธีการปฏิบัติ ข้อปลีกย่อย
ย่อมจะต้องมีการดัดแปลงแต่งประยุกต์ให้เข้ากับถิ่นฐานนั้นๆ อย่างแน่นอน)
 
จนทุกวันนี้พุทธศาสนาเกิดนิกายต่างๆ มากมาย
ว่าโดยนิกายใหญ่ๆ พุทธศาสนามี ๒ นิกายคือ นิกายเถรวาท หรือทักษิณนิกาย
(แต่ถูกฝ่ายมหายานเรียกว่า หินยาน) และนิกายมหายาน หรืออุดรนิกาย
นิกายใหญ่ ๒ นิกายนั้น ต่างก็มีนิกายแยกย่อยต่อไปอีก
โดยเฉพาะนิกายมหายาน มีนิกายแยกย่อยออกไปอีกมาก
นอกจากนี้ยังมีนิกายอีกนิกายหนึ่งที่มีชื่อเสียงมาก
แม้พวกฝรั่งมังค่าก็นิยมศึกษาปฏิบัติกันคือ นิกายเซน
เป็นนิกายที่เริ่มแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น และจีนก่อน

แล้วจึงได้มีการเผยแพร่ในประเทศอื่นๆ
นิกายเซนนี้ บางท่านก็ว่าเป็นส่วนหนึ่งของนิกายมหายาน
บางท่านก็ว่าเป็นนิกายของพุทธศาสนานิกายหนึ่ง
ที่แยกต่างหากจากสองนิกายใหญ่นั้น
ผู้เขียนเห็นด้วยกับมติของท่านพุทธทาสภิกขุ พุทธปรัชญาเมธีผู้ยิ่งใหญ่
ที่ท่านมีความเห็นว่า นิกายเซนเป็นนิกายหนึ่งของพุทธศาสนา
มิใช่เป็นพวกมหายาน ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
“พุทธศาสนาอย่างเซ็นนี้ ยังเป็นที่เข้าใจผิดกันอยู่มากในหมู่ชนชาวไทย
พอพูดถึงคำว่าเซน บางท่านก็ร้องว่า
เป็นเรื่องของเจ๊กปาหี่ที่เล่นกลชนิดหนึ่งหรือไม่ ?
 
ถูกแล้ว ถ้าจะเกณฑ์ให้เป็นเรื่องชนิดเจ๊กปาหี่ก็ได้เหมือนกัน
แต่เป็นเรื่อง “ปาหี่ทางวิญญาณ”
คือ ทำให้คนเข้าถึงธรรมได้อย่างประหลาดเกินคาดฝัน
แล้วก็ยังมีคนพวกหนึ่งว่า เซนคือมหายานที่บูชาอมิตาภะ โพธิสัตว์และดารานั่นเอง
และโดยเนื้อแท้แล้ว ไม่ควรนับเอานิกายเซนว่าเป็นพวกมหายาน
โดยเหตุที่ว่าวิธีของเซนนั้นไม่ได้เป็นของที่ทำให้ง่ายขึ้นสำหรับคนทั่วไป ทุกคน
เหมือนการนั่งบูชาอมิตาภะและโพธิสัตว์ตามแบบของมหายานนั้นเลย
หากจะเกณฑ์หรือบังคับให้พวกเซนมีอมิตาภะกับเขาบ้างไซร้

มันก็ต้องได้แก่ “จิตเดิมแท้” ตามแบบของเว่ยหลาง
หรือ “ความว่าง” ตามแบบของฮวงโปนั่นเอง
แล้วจะมานั่งบูชาหรืออ้อนวอนกันได้อย่างไร
และเป็นมหายานหรือยานใหญ่ที่สามารถขนคนโง่ทั้งโลกไปได้อย่างไรกัน
นอกจากนี้ ยังมีผู้เข้าใจผิดกล่าวหานิกายเซนอย่างนั้นอย่างนี้
โดยว่าเอาเองตามชอบใจอีกหลายอย่าง ซึ่งไม่อาจนำมากล่าวในที่นี้ให้หมดสิ้นได้
และไม่จำเป็นที่จะต้องนำมากล่าวด้วย...”




กระต่ายดำ กระต่ายขาว ตอนที่ ๒
“...สำหรับประเทศไทยของเรานั้น เรามีพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทเป็นหลัก
โดยมีนิกายแยกย่อยออกไปอีกสองนิกาย คือ มหานิกาย และธรรมยุต (ธรรมยุติกนิกาย)
แต่เดิมพุทธศาสนาในไทยเราไม่มีนิกาย
เราเรียกตนเองว่า พระสงฆ์ไทยหรือสยามวงศ์ สมณวงศ์
ต่อเมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ทรงผนวชอยู่ จึงได้ตั้งนิกายขึ้นมา เรียกว่า นิกายธรรมยุต หรือธรรมยุติกนิกาย

พระภิกษุที่ร่วมอยู่ในนิกายนี้ เรียกว่า พระฝ่ายธรรมยุต
ทำให้เกิดนิกายใหม่อีกนิกายหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า มหานิกาย
แปลว่า พวกมากเพราะมีจำนวนมากกว่า
ฝ่ายธรรมยุตนั้นมีจำนวนน้อยกว่า
แม้ว่าจะเกิดเป็นสองนิกาย แต่พระสงฆ์ทั้งสองฝ่าย
ก็ยังยึดถือพระธรรมวินัยอย่างเดียวกัน ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรแตกต่างกัน
แต่ก็ไม่สามารถจะหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ?

ปรากฏการณ์ที่น่าสังเกตก็คือ
พระฝ่ายมหานิกายมักจะได้รับการชักชวนให้เข้าเป็นพวกหมู่ธรรมยุต
ต่อมาท่านรูปนั้นมักจะปรากฏว่ามีชื่อเสียง
แล้วก็จะช่วยกันเสริมส่งจนโด่งดังไปทั่วราชอาณาจักร
สมเด็จฯ โต เมื่อยังเป็นพระมหาโต
ก็เป็นพระดีอีกรูปหนึ่งที่ได้รับการชักชวนให้เข้านิกายธรรมยุต
ซึ่งตอนนั้น พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ผนวชอยู่เป็นเจ้าอาวาสวัดสมอราย
ได้นิมนต์พระมหาโตไปสนทนาด้วย นัยว่าจะชวนเข้าหมู่ เมื่อรับสั่งถามว่า

“มีบุรุษสองคนเป็นเพื่อนเดินทางมาด้วยกัน คนทั้งสองเดินมาพบไหมเข้า
จึงทิ้งปอที่แบกมาเสีย เอาไหมไป อีกคนหนึ่งไม่เอา คงแบกปอไป
ท่านจะเห็นว่าคนแบกปอหรือคนแบกไหมดี ?”
มหาโตตอบเฉไปอีกทางหนึ่งว่า
“ยังมีกระต่ายสองตัว ขาวตัวหนึ่ง ดำตัวหนึ่ง เป็นเพื่อนร่วมหากินกันมาช้านาน”

วันหนึ่งกระต่ายสองตัวเที่ยวและเล็มหญ้ากิน
แต่กระต่ายขาวเห็นหญ้าอ่อนๆ ฝั่งฟากโน้นมีชุม
จึงว่ายน้ำข้ามฟากไปหากินฝั่งข้างโน้น
กระต่ายดำไม่ยอมไปทนกินอยู่ฝั่งเดียว
แต่นั้นมา กระต่ายขาวก็ข้ามน้ำไปหาหญ้ากินฝั่งข้างโน้นอยู่เรื่อย
วันหนึ่ง ขณะที่กระต่ายขาวกำลังว่ายน้ำข้ามฟาก
บังเกิดลมพัดจัด มีคลื่นปั่นป่วน กระแสน้ำเชี่ยวกราก
พัดเอากระต่ายขาวไป จะเข้าฝั่งไหนก็ไม่ได้ เลยจมน้ำตายในที่สุด
ส่วนกระต่ายดำก็ยังเที่ยวหากินอยู่ได้ไม่ตาย
ฝ่าธุลีพระบาทลองทำนายว่ากระต่ายตัวไหนจะดี”
ต่อมาเรื่องนี้ก็ไม่มีการพูดถึงกันอีก



ปริศนาธรรมสมเด็จฯ โต เรียบเรียงโดย ไพโรจน์ อยู่มณเฑียร
>>> F/B คติธรรมนำชีวิต