อิติวุตตกะ ติกนิบาต วรรคที่ ๕
๑. ปสาทสูตร
[๒๗๐] จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว พระสูตรนี้
พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมา
แล้วว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเลื่อมใสอันเลิศ ๓ ประการนี้ ๓ ประการเป็น
ไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ไม่มีเท้าก็ดี ๒ เท้าก็ดี ๔ เท้าก็ดี มีเท้ามากก็ดี
มีรูปก็ดี ไม่มีรูปก็ดี มีสัญญาก็ดี ไม่มีสัญญาก็ดี มีสัญญาก็มิใช่ไม่มีสัญญาก็มิ
ใช่ก็ดี มีประมาณเท่าใด พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บัณฑิตกล่าวว่า
เลิศกว่าสัตว์ประมาณเท่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าใดเลื่อมใสในพระ-
*พุทธเจ้า ชนเหล่านั้นชื่อว่าเลื่อมใสในบุคคลผู้เลิศ ก็และผลอันเลิศย่อมมีแก่
บุคคลผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขตธรรมก็ดี อสังขตธรรมก็ดี มีประมาณเท่าใด
วิราคะ คือ ธรรมเป็นที่บรรเทาความเมา นำเสียซึ่งความระหาย ถอนขึ้นด้วยดี
ซึ่งอาลัย ตัดซึ่งวัฏฏะ สิ้นไปแห่งตัณหา สิ้นกำหนัด ดับ นิพพาน บัณฑิต
กล่าวว่าเลิศกว่าสังขตธรรมและอสังขตธรรมเหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่า
ใดเลื่อมใสในวิราคธรรม ชนเหล่านั้นชื่อว่าเลื่อมใสในธรรมอันเลิศ ก็ผลอัน
เลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในธรรมอันเลิศ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขตธรรมมีประมาณเท่าใด อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมา
วายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่าสังขตธรรมเหล่านั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าใดเลื่อมใสในธรรมคืออริยมรรค ชนเหล่านั้นชื่อว่า
เลื่อมใสในธรรมอันเลิศ ก็ผลอันเลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในธรรมอันเลิศ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย หมู่ก็ดี คณะก็ดี มีประมาณเท่าใด หมู่สาวกของ
พระตถาคต คือ คู่บุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่าหมู่และคณะ
เหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าใดเลื่อมใสในพระสงฆ์ ชนเหล่านั้น
ชื่อว่าเลื่อมใสในหมู่ผู้เลิศ ก็ผลอันเลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในพระสงฆ์
ผู้เลิศ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเลื่อมใสอันเลิศ ๓ ประการนี้แล ฯ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาค
ตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
เมื่อชนทั้งหลายเลื่อมใสแล้วในพระรัตนตรัยที่เลิศ รู้แจ้ง
ธรรมอันเลิศ เลื่อมใสแล้วในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ ซึ่งเป็น
ทักขิไณยบุคคลผู้ยอดเยี่ยม เลื่อมใสแล้วในธรรมอันเลิศ
ซึ่งเป็นที่สิ้นกำหนัดและเป็นที่สงบ เป็นสุข เลื่อมใสแล้วใน
พระสงฆ์ผู้เลิศ ซึ่งเป็นบุญเขตอย่างยอดเยี่ยม ถวายทานใน
พระรัตนตรัย ที่เลิศ บุญที่เลิศย่อมเจริญ อายุ วรรณะ
ยศ เกียรติคุณ สุขะและพละอันเลิศย่อมเจริญ นักปราชญ์
ถวายไทยธรรมแก่พระรัตนตรัยที่เลิศ ตั้งมั่นอยู่ในธรรมอัน
เลิศแล้ว เป็นเทวดาหรือเป็นมนุษย์ก็ตาม เป็นผู้ถึงความเป็น
ผู้เลิศบันเทิงอยู่ ฯ
เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว
ฉะนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๑
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ บรรทัดที่ ๖๒๖๗ - ๖๓๐๘. หน้าที่ ๒๗๗ - ๒๗๘.
:https://www.facebook.com/pages/พระพุทธเจ้า/166387296709841