ริมระเบียงรับลมโชย > รับสายลมเย็นหน้าระเบียง

เรียนรู้กฎหมาย ไว้เป็นแนวทางป้องกันตนเอง และไม่ให้ถูกเอาเปรียบบุคคลต่างๆ

(1/10) > >>

sithiphong:
ขอรวบรวมเนื้อหาสาระทางด้านกฎหมาย จากแหล่งความรู้ต่างๆ

นำมาลงไว้ รวบรวมไว้ในการเรียนรู้กฎหมาย ไว้เป็นแนวทางป้องกันตนเอง และไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากบุคคลต่างๆ

 :13:

.

sithiphong:

การจัดการที่จอดรถ ‘คอนโดฯ’ - กฎหมายรอบรั้ว
วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม 2556 เวลา 00:00 น.

-http://www.dailynews.co.th/article/950/216944-



การบริหารจัดการที่จอดรถในอาคารชุด เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่ผู้บริหารอาคารชุดจำต้องคำนึงถึง ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มักจะเป็นการร้องเรียนว่ามีไม่เพียงพอ สิทธิในการจอดรถไม่เป็นไปตามที่ได้รับข้อมูลจากเจ้าของโครงการขณะตกลงซื้อ หรือบางรายจอดรถทับสิทธิคนอื่น บางรายนำรถของตัวเองที่มีหลายคันมาจอดภายในอาคารชุด ทำให้ที่จอดรถลดน้อยลง ปัญหาเหล่านี้สร้างความกดดันให้กับทั้งกรรมการและฝ่ายบริหารอาคารชุด ซึ่งอาจนำไปสู่การร้องเรียน ประท้วงให้เปลี่ยนบริษัทบริหารจัดการ หรือคณะกรรมการอาคารชุดได้

โดยปกติในเบื้องต้น เจ้าของโครงการจะจัดให้มีจำนวนที่จอดรถให้ตรงตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ เพื่อให้สามารถดำเนินการก่อสร้าง และในที่สุดได้รับใบอนุญาตเปิดใช้อาคาร (อ.6) ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่ใช้ประกอบการจดทะเบียนอาคารชุด ซึ่งการแบ่งสันปันส่วนที่จอดรถให้กับเจ้าของร่วม โดยทั่วไปมักจัดสรรให้ตามแบบและขนาดของห้องชุด เช่น ห้องสตูดิโอ จัดให้มีที่จอดรถได้หนึ่งคัน ห้องขนาดหนึ่งและสองห้องนอนมีที่จอดรถได้สองคัน ห้องขนาดสามห้องนอนหรือเพนท์เฮาส์มีที่จอดรถได้สามคัน เป็นต้น แต่ในทางปฏิบัติ การใช้ชีวิตจริงอาจไม่สามารถทำได้ตามนั้น

เช่นห้องขนาดสตูดิโอ ระบุให้มีที่จอดรถหนึ่งคัน แต่ในความเป็นจริงอาจอยู่ด้วยกันสองคน สามีภรรยามีรถสองคัน หมายความว่าจะมีรถหนึ่งคันสามารถเข้ามาจอดในอาคารชุดได้ แต่อีกคันหนึ่งจะต้องแลกบัตรในฐานะผู้มาเยี่ยมทุกวัน ซึ่งสร้างความหงุดหงิดไม่น้อย ทางแก้ไขที่ทำได้คือ ทำสติกเกอร์ หรือบัตรผ่านเข้า-ออกพิเศษให้รถคันที่สองนี้ให้เข้ามาในโครงการโดยไม่ต้องแลกบัตร แต่อนุญาตให้จอดในที่จอดของผู้มาเยี่ยม ซึ่งที่จอดรถของผู้มาเยี่ยมนี้มักจัดไว้นอกอาคารบริเวณโดยรอบ หรืออาจกั้นไว้ในอาคารจอดรถแยกให้เป็นสัดส่วน ก็จะลดปัญหาข้างต้นได้ แต่แน่นอนว่าจะทำให้ที่จอดรถที่เตรียมไว้ลดลง แต่ก็ยังดีกว่าที่จะปล่อยให้เจ้าของร่วมไม่มีที่จอดรถ

อีกปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เจ้าของร่วมบางรายมีรถหลายคัน จึงนำรถมาจอดในที่จอดรถของอาคารชุด บางรายมีมารยาทก็ไปจอดในที่จอดรถผู้มาเยี่ยม แต่หลายคนก็ไม่สนใจ เลือกจอดตามใจ บางรายจอดทิ้งไว้เป็นเดือน ซึ่งถ้าเป็นที่จอดรถประเภทที่ไม่ได้มีการกำหนดเลขที่บ้านผู้เป็นเจ้าของไว้ ก็อาจไม่มีปัญหา ตราบเท่าที่ยังมีที่จอดรถอย่างพอเพียง แต่ถ้าเป็นที่จอดรถประเภทที่กำหนดเลขที่บ้านไว้ก็มักทำให้มีเรื่องทะเลาะกันได้ ซึ่งปัญหาก็มักไปลงเอยที่นิติบุคคลที่จะต้องหามาตรการในการแก้ไข เช่น ต้องมีการล็อกล้อ เสียค่าปรับหรือใช้วิธีเตรียมแม่แรงไว้เพื่อเคลื่อนย้ายรถที่จอดขวางหรือจอดทับสิทธิ ซึ่งก็จะเป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างเจ้าของรถที่ถูกเคลื่อนย้ายกับนิติบุคคลต่อไป

จะเห็นได้ว่าการบริหารที่จอดรถให้มีประสิทธิภาพต้องมาจากปัจจัยหลายประการ เช่น การออกแบบและจัดที่จอดรถให้เหมาะสมและพอเพียงโดยเจ้าของโครงการตั้งแต่ต้น โดยคำนึงถึงความเป็นจริง การชี้แจงของนิติบุคคลให้เจ้าของร่วมทราบถึงสิทธิในการจอดรถ รวมทั้งการบังคับใช้กฎข้อบังคับในส่วนที่เกี่ยวกับการจอดรถอย่างเข้มงวดโดยไม่เลือกปฏิบัติ และประการสำคัญที่สุดคือการที่เจ้าของร่วมในอาคารชุดนั้น ๆ ต้องมีจิตสำนึกในการรู้จักสิทธิและหน้าที่โดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นนะครับ.

ดินสอพอง

sithiphong:
ค่าทดแทนจากการเวนคืนที่ดิน
วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม 2556 เวลา 00:00 น.

-http://www.dailynews.co.th/article/345/201761-


กระผมนั่งคิดครึ้ม ๆ ว่า วันนี้นั่งเขียนต้นฉบับด้วยดินสอท่ามกลางแสงวับแวม ๆ จากเทียนไขที่จุดรายล้อม เขียนเสร็จแล้วนั่งสามล้อถีบมาส่งต้นฉบับที่เดลินิวส์ เมื่อเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว

จึงเรียกสามล้อกลับบ้านอย่างสบายใจ รอเวลาขึ้นรถไฟไปต่างจังหวัดซึ่งคงใช้เวลาไม่กี่วันก็ถึงที่หมาย

น้ำยังท่วมตามปกติ นั่นหมายถึงว่ากระผมกำลังมีปูปลากุ้งหอยมาให้จับกินถึงหน้าบ้านอย่างอุดมสมบูรณ์ ไปไหนมาไหนก็นั่งเรือแจวไม่รีบร้อน โน พรอบเบล็ม

อา นี่มันช่างเป็นชีวิตที่แสนผาสุกอะไรอย่างนี้ มันคือชีวิตในอุดมคติ เรียบง่าย ไม่รีบเร่ง แสนสบาย ไม่มีความเครียด ทำยังไงหนอท่านผู้อ่านจึงจะได้มีชีวิตที่เพอร์เฟกต์เหมือนกระผมบ้าง

ก็ไม่แน่หรอกขอรับโปรดอย่าอิจฉากระผม วันแห่งความผาสุกเช่นนั้นกำลังใกล้เข้ามาอย่างน่าพิศวง เพราะจะสร้างโรงไฟฟ้าปรมาณูก็มีคนต่อต้าน จะมีสามจี ก็มีคนฟ้องขัดขวาง จะมีรถไฟความเร็วสูง ก็คัดค้านกันเสียงระงม จะสร้างเขื่อนใหญ่ ๆ วันนี้ไม่มีทางสร้างได้ จะจัดการเรื่องน้ำท่วมให้เป็นระบบ ก็มีการฟ้องร้องให้ระงับการดำเนินการ

ท่านผู้คัดค้านทุกเรื่องกำลังทำฝันให้เป็นจริง ขณะที่กำลังเคลิบเคลิ้ม ดันมีท่านผู้อ่านใช้นามว่า “แฟนเดลินิวส์” ถามมาอย่างไม่สนใจหน้าอินทร์หน้าพรหม สุขเสิกอะไรกันฟะ

ขอทราบหลักเกณฑ์และวิธีการในการคิดค่าทดแทนการเวนคืนที่ดินว่าจะมีการ ปรับลดจากราคาเดิมได้หรือไม่ และที่ดิน ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนที่เหลืออยู่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่จะมีสิทธิอย่างไรบ้างตามกฎหมาย

อันนี้สิน่าห่วงจริงเพราะโครงการต่าง ๆ ของรัฐในเรื่องเหล่านี้ต้องมีการเวนคืนที่ดินชาวบ้าน

ต้องมีการจ่ายค่าทดแทนตามกฎหมาย สุขจริงทุกข์จริง เพราะมีข้อโต้แย้งเป็นคดีปกครองจำนวนมากไม่เห็นมีใครเป็นห่วง

ประการแรก ปัญหาว่ากำหนดค่าทดแทนที่ดินไว้เรียบร้อย มีการเปลี่ยนใจจะปรับลดจำนวนเงินค่าทดแทนในภายหลังได้หรือไม่ อาจเป็นเพราะหน่วยงานผู้ดำเนินการประสบปัญหาในทางงบประมาณในภายหลัง เป็นต้น

ถ้าการกำหนดราคาครั้งแรกกระทำโดยชอบตามหลักเกณฑ์ในมาตรา ๒๑ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ และพิจารณาอย่างเป็นธรรมแล้ว  พูดคำไหน คำนั้นครับ เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจหน่วยงานผู้เวนคืนที่จะปรับลดได้ ดังมีกรณีที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพื่อก่อสร้างทางหลวงตารางวาละ ๑๐,๐๐๐ บาท ต่อมาได้ปรับลดอัตราค่าทดแทนลงร้อยละ ๑๐ คงเหลือตารางวาละ ๙,๐๐๐ บาท

โดยอ้างปัญหาภาวะเศรษฐกิจของประเทศในขณะนั้น (ซึ่งน่าจะหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ต้มยำกุ้ง)

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า นอกจากคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้พิจารณากำหนดค่าทดแทนตามมาตรา ๒๑ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ แล้วยังพิจารณาจากสภาพและทำเลที่ตั้งของที่ดินด้วย การกำหนดราคาทดแทน จึงชอบด้วยเหตุผลและเป็นธรรมแก่เจ้าของที่ดินแล้ว

แต่การที่คณะกรรมการฯ ได้ปรับลดอัตราค่าทดแทนที่ดินลงร้อยละ ๑๐ เป็นตารางวาละ ๙,๐๐๐ บาท โดยอ้างปัญหาภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น ไม่มีกฎหมายหรือระเบียบใดบัญญัติให้อำนาจไว้ จึงไม่เป็นธรรมแก่ผู้เป็นเจ้าของที่ดิน ศาลพิพากษาให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่เจ้าของที่ดินในอัตราตารางวาละ ๑๐,๐๐๐ บาท (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๑๖๘/๒๕๔๙)

คดีปกครองเรื่องค่าทดแทนนี่ ปกติชาวบ้านเขาขอสามคำ ขอเงินเพิ่ม  นี่ไปลดจนชาวบ้านฟ้องได้แค่เหลือเท่าทุน

คำถามต่อมาเกี่ยวกับที่ดินส่วนที่เหลืออยู่จากการเวนคืน มีมาตรา ๒๑ วรรคสามแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ บัญญัติว่า ถ้าต้องเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แต่เพียงส่วนหนึ่งและส่วนที่เหลือนั้นมีราคาลดลง ให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะส่วนที่เหลืออันราคาลดลงนั้นด้วย

ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยวางหลักเกณฑ์ไว้ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๒๙ / ๒๕๔๙ ดังนี้

ประการแรกต้องได้ความว่า ที่ดินส่วนที่เหลือนั้นมีราคาลดลงอันเป็นผลจากการเวนคืน

เป็นหน้าที่ ของหน่วยงานผู้เวนคืนที่ต้องพิจารณาว่าที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาลดลงจากการเวนคืนหรือไม่ เพียงใด โดยไม่จำต้องให้เจ้าของที่ดินผู้ถูกเวนคืนร้องขอเสียก่อน

ซึ่งการกำหนดค่าทดแทนสำหรับที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนที่ราคาลดลง จะต้องลดลงโดยเป็นผลโดยตรงจากการเวนคืนเท่านั้น

ทั้งนี้ ต้องพิจารณาจากผลกระทบต่าง ๆ ที่ทำให้ที่ดินเฉพาะแปลงนั้นเปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องมาจากการเวนคืนโดยตรง

พิจารณาผลกระทบอะไรบ้าง ท่านว่าให้พิจารณาถึงรูปร่างลักษณะ ขนาดที่เปลี่ยนแปลงไปของที่ดิน รวมถึงข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์ เป็นต้น

และ มิอาจนำราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมาใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาได้ เนื่องจากราคาประเมินทุนทรัพย์ดังกล่าวเป็นการกำหนดราคาประเมินที่ดินทั้งระบบและเป็นการสำรวจเพื่อกำหนดราคาที่ดินใหม่ทุก ๆ สี่ปี

ก็ต้องกำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือตามความเป็นจริงและเป็นธรรมแก่เจ้าของที่ดินผู้ถูกเวนคืน

อย่างไรก็ดี คดีนี้ ปรากฏว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีส่วนที่เหลือจากการเวนคืนยังคงใช้ประโยชน์ได้ และมิได้มีราคาสูงขึ้นหรือลดลงแต่อย่างใด ศาลจึงไม่จำต้องกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนให้ผู้ฟ้องคดี

เรื่องเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนมีกำหนดไว้ในกฎหมายหลายประเด็น จึงมีปัญหากันมากสำหรับชาวบ้านที่ถูกเวนคืนและไม่ใช่นักกฎหมาย เพื่อรับใช้ท่านผู้อ่านเดลินิวส์ถ้ามีข้อสงสัยประการใดสอบถามมาที่อีเมลข้างล่างนี้ ปัญหาใดมีหลักกฎหมายน่าสนใจ ก็ขออนุญาตนำลงเผยแพร่ต่อไปขอรับ.

พิสิษฐ์  พลรักษ์เขตต์
www.naipisit.com/อีเมล์ :praepim@yahoo.com

.

sithiphong:
กฎหมายแรงงานน่ารู้ .. ลาเพื่อรับราชการทหาร
-http://hilight.kapook.com/view/79595-



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

            หนุ่ม ๆ วัยทำงานหลายคน ที่ได้รับหมายเรียกเข้ารายงานตัวเพื่อรับราชการทหาร แต่ก็ยังกังวลใจในเรื่องของการลางาน เพราะยังไม่เข้าใจถึงสิทธิ์ในการลา วันนี้กระปุกดอทคอมมีข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับการลาเพื่อรับราชการทหาร มาฝากให้พนักงานชายหนุ่มทั้งหลายได้เข้าใจกันจ้า


ลาเพื่อรับราชการทหาร

            การลาเพื่อเข้ารับราชการทหาร ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 35 นั้น เป็นการอนุญาตให้ลาเพื่อเข้ารายงานตัวต่อหน่วยงานทหาร ตามหมายเรียกพล เพื่อตรวจสอบและเพื่อฝึกวิชาทหาร แต่ไม่ใช่การลาเพื่อรับราชการทหารที่เกิดจากการเกณฑ์ทหารเหมือนที่หลายคนเข้าใจ ซึ่งการลาแบบนี้เรียกว่า ลาระดมพล โดยมีรายละเอียดดังนี้

            จำนวนวันที่ลา สามารถลาได้ตามที่กำหนดมาในหมายเรียก
            ค่าจ้างในวันที่ลา ตามมาตรา 58 กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างในวันลาด้วย แต่ต้องไม่เกิน 60 วัน ใน 1 ปี

            เมื่อได้ทราบข้อมูลของการลาเพื่อรับราชการทหารเรียบร้อยแล้ว ก็อย่าลืมใช้สิทธิ์การลาให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ด้วยนะคะ และหากมีข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับประกันสังคมอื่น ๆ ที่น่าสนใจ กระปุกดอทคอมจะนำมาฝากให้คนทำงานได้ทราบกันอีกแน่นอนจ้า

http://hilight.kapook.com/view/79595

sithiphong:
หมั้น-แต่งงาน-สมรส
-http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1375525023&grpid=&catid=02&subcatid=0207-

โดย พิศิษฐ์ ชวาลาธวัช

คอลัมน์ ฎีกาชีวิต (มติชนรายวัน 3 สิงหาคม 2556)



สังคมไทยยังมีความสับสนพอสมควรในเรื่องการหมั้น การจัดพิธีแต่งงาน และการสมรส จนดูว่าเกี่ยวพันกันแยกกันไม่ออก ครั้นเกิดปัญหาขึ้นถ้าทั้งสองฝ่ายหาทางตกลงกันเพื่อยุติประเด็น 3 ประการข้างต้นด้วยเหตุและผลและไม่ใช้กฎหมายมาช่วยแก้ไขปัญหาดีกว่าเป็นไหนๆ

ให้แปลกใจอยู่เหมือนกันว่า มนุษย์เราต่างเชื่อในความยุติธรรมและยึดมั่นในความถูกหรือผิดด้วยกัน เมื่อมีปัญหาใดทำไมไม่ใช้ความเชื่อที่กล่าวไว้มาช่วยกันแก้ไข หรืออาจหาคนกลางและจ้างทนายที่ปรึกษาไว้ด้วยยิ่งดี หรือจะใช้มโนธรรมควบคู่กันไปยิ่งวิเศษ ปัญหาอาจคลี่คลายก็ได้

พูดกันตามภาษาชาวบ้านไม่ต้องใช้กฎหมายมายุติปัญหาได้หรือไม่ เช่น ชายหนุ่มและหญิงสาวคู่หนึ่งต่างรักกัน ชายนั้นต้องรับผิดชอบต่อการสู่ขอหมั้นหมายหญิงคนที่เขารัก หลังผ่านการทาบทามพ่อแม่ฝ่ายหญิงกันล่วงหน้า ชายควรจะดูฐานะทางการเงินของตัวเองเสียก่อนๆ ที่จะคิดขอหมั้นหญิง

ถ้าฝ่ายหญิงไม่ขัดข้องชายบิดพริ้วไม่ได้ ครั้นถึงวันสู่ขอหมั้นหมายกันจริงๆ ชายมีหน้าที่ส่งมอบของหมั้นและสินสอดหรือโอนทรัพย์สินให้ตามที่ตกลงกันไว้ก่อน เหตุผลก็คือเพื่อเป็นหลักฐานหรือจะเรียกว่าเป็นหลักประกันว่าชายนั้นจะสมรสกับหญิงไม่แปรเปลี่ยนว่ากันไปตามนี้

พระเดชพระคุณท่านอย่าได้อ้างว่าหลักทรัพย์ที่ตกลงกันนั้นยังขาดอยู่ไว้วันแต่งงานกันจริงๆ จะนำมาส่งมอบให้ครบอย่ากังวล หรือให้ของหมั้นแต่บางส่วนและค้างบางส่วน ไม่ว่ากรณีใดก็ตามถ้าฝ่ายหญิงเชื่อฝ่ายหญิงต้องรับความเสี่ยงกันเอง หากต่อมาเกิดปัญหาเห็นทีจะต้องโทษการตัดสินใจของตัวเอง

ใช่ว่าเรื่องที่ยกมาเป็นตัวอย่างจะไม่เคยเกิดขึ้น เกิดขึ้นมาแล้วทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว ครั้นวันวิวาห์มาถึงชายเตรียมงานเลี้ยงออกค่าใช้จ่ายเอง แต่ของหมั้นขอยกยอดไว้ก่อนก็ดี หรือที่ค้างบางส่วนยังหามาให้ไม่ทันขอผัดผ่อนไปก่อนก็ดี

หรือซ้ำร้ายชายให้ฝ่ายหญิงออกค่าใช้จ่ายในงานแต่งไปก่อน ส่วนของหมั้นเป็นเพียงสัญญาว่าจะมอบให้ภายหลัง หลังแต่งงานกันแล้วชายไม่ยอมจดทะเบียนสมรสผัดผ่อนหญิงและทะเลาะกัน ที่สุดชายขนของออกจากบ้านหลังนั้น

สิ่งที่ยกมากล่าวจะว่าชายผิดสัญญาหมั้นก็ไม่ใช่ เพราะการหมั้นยังไม่เกิดขึ้น เป็นแต่เพียงสัญญากันไว้ว่าจะ...แต่ยังไม่ได้มีการส่งมอบของหมั้น หญิงจะอ้างชายผิดสัญญาหมั้นก็ไม่ได้ จะอ้างได้ก็ต่อเมื่อการหมั้นเกิดขึ้นแล้ว แต่ค่าใช้จ่ายในการแต่งงานฝ่ายหญิงใจดีมากออกค่าใช้จ่ายให้ก่อนจะส่งบิลไปเก็บเงินกับใครดี

เมื่อไม่มีการหมั้น ฝ่ายหญิงเรียกค่าทดแทนความเสียหายจากฝ่ายชายก็ยากนะ เพราะกฎหมายก็ไม่เปิดช่องอีกเช่นกัน ปัญหาเช่นที่ยกมานี้จะไปเรียกร้องความยุติธรรมจากใครให้หนักใจแทน

ฝ่ายหญิงทั้งเจ็บใจทั้งสูญเสียความสาวและถูกสังคมรอบข้างลงโทษด้วยเสียงซุบซิบนินทา ก่อนอื่นใดสิ่งแรกและสำคัญคือต้องตั้งสติให้มั่น ค่อยๆ ดูเหตุแห่งปัญหาทั้งหมดเกิดจากชายหรือการตัดสินใจของฝ่ายหญิงผิดพลาดก่อน และใช้ปัญญาคิดอ่านกันต่อไป

ฝ่ายหญิงต้องใจเย็นอย่าใช้อารมณ์หากควบคุมไม่ได้เกรงว่าเหตุร้ายจะตามมา ทั้งสองฝ่ายค่อยๆ หาช่องทางคลี่คลายความเสียหาย ดูซิว่าฝ่ายชายจะมีทางออกบรรเทาความเสียหายได้แค่ไหน เพียงใด?

ถ้าชายคนที่หญิงเคยเชื่อว่ารักเธอยังมีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ น่าจะหาทางเยียวยาความเสียหายหรือแสดงความรับผิดชอบอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่แท้ เว้นแต่หญิงดูคนผิดมาแต่แรกคงเก็บความเสียใจไว้คนเดียวกระมัง

อีกเรื่องหนึ่งหากชายให้ของหมั้นบางส่วนแต่ผิดสัญญาหมั้นภายหลังถือว่าการหมั้นเกิดขึ้นแล้ว เมื่อชายผิดสัญญาหมั้นไม่ยอมสมรส ของหมั้นบางส่วนก็ตกเป็นสิทธิแก่หญิง ส่วนที่ค้างไว้อย่าได้หวังคำสัญญา

เพราะว่าของหมั้นต้องส่งมอบให้หญิงในวันหมั้น มอบส่วนที่เหลือในวันอื่นหาใช่ของหมั้นไม่

เรื่องจะกล่าวถึงต่อไป "ให้ของหมั้นหญิง คู่หมั้นแต่บางส่วน" เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมากฎหมายคุ้มครองสิทธิหญิงไว้อย่างไร?

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

ตอบ

Go to full version