ผู้เขียน หัวข้อ: มหาชาติเวสสันดรชาดก (ประวัติมหาชาติ)  (อ่าน 15237 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


มหาชาติเวสสันดรชาดก
จากหนังสือ - เพชรในคัมภีร์ : พระราชธรรมวาที (ชัยวัฒน์ ธมฺมวฑฺฒโน)
ผู้ช่วยเจ้าอาวาส/ประธานองค์การสาธารณสงเคราะห์ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

ตอนที่ ๑ ประวัติมหาชาติ
ประวัติความสำคัญแห่งการเทศน์มหาชาตินี้มีความโดยย่อว่า การเทศน์มหาชาติ คือการแสดงเรื่องเวสสันดรชาดกอันเป็นพระพุทธวจนะ เป็นเรื่องที่พระพุทธองค์ทรงเล่า หรือเป็นเรื่องที่ออกจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า ที่พระพุทธองค์ทรงเล่าถึงอัตตประวัติหรือชีวประวัติที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีธรรมเพื่อความสำเร็จพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระชาติสุดท้ายที่พระองค์เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีธรรมยิ่งด้วยทานบารมี

คำว่า "มหาชาติ" แปลความว่า "พระชาติที่ยิ่งใหญ่ หรือ พระชาติที่สำคัญ" อันหมายถึงการที่พระพุทธองค์เมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติสุดท้ายเป็นพระเวสสันดรทรงบำเพ็ญพระบารมีธรรมที่ยิ่งใหญ่ด้วยทานบารมี หรือทรงบำเพ็ญพระบารมีธรรมที่สำคัญยิ่งด้วยทานบารมี และเป็นการเสวยพระชาติสุดท้ายที่ทรงสร้างสมอบรมบารมีธรรมเพื่อความสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นับเป็นเวลาช้านานถึง ๔ อสงไชย ๑ แสนกัป จนพระสมติงสบารมีธรรม ๓๐ ประการ คือ พระบารมี ๑๐ พระอุปบารมี ๑๐ และพระปรมัตถบารมี ๑๐ ครบบริบูรณ์ในพระชาติที่เป็นพระเวสสันดรนี้

เรื่องมหาชาติหรือเรื่องเวสสันดรชาดก ของเดิมแต่งไว้ในภาษาบาลี แต่งเป็นคาถาภาษาบาลีล้วนมีจำนวน ๑,๐๐๐ คาถา แต่ก่อนคงนิยมเทศน์กันเฉพาะที่เป็นคาถาภาษาบาลีล้วน ๆ อย่างที่เรียกกันว่า "เทศน์คาถาพัน" และคงจะไม่เทศน์เป็นทำนอง ภายหลังมีพระอรรถกถาจารย์แต่งอรรถกถาภาษาบาลี อธิบายความเป็นคำร้อยแก้วเพิ่มเติมไว้ในตอนต้นและในตอนสุดท้ายของชาดกก็ได้แต่งคำอธิบายในเรื่องกลับชาติของเวสสันดรชาดกออกเป็นภาษาไทย และร้อยกรองให้ไพเราะตามหลักกวีนิพนธ์ จึงมีมหาชาติในพากย์ภาษาไทยเป็นสำนวนต่าง ๆ หลายสำนวน และแบ่งเป็นตอน ๆ เรียกกันว่ากัณฑ์ มีทั้งหมดรวม ๑๓ กัณฑ์ และกล่าวกันสืบมาว่า ผู้ใดฟังเทศน์มหาชาติจบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ในวันเดียวแล้วจะได้ผลานิสงส์มาก จึงเกิดมีการประชุมฟังเทศน์มหาชาติกันทุกปีเป็นธรรมเนียมสืบมา

ประเพณีนิยมเทศน์คาถาพันนี้สันนิษฐานกันว่าเห็นจะมีมาตั้งแต่รัชสมัยของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ กรุงสุโขทัย ครั้นถึงรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อมีนักปราชญ์ราชบัณฑิตและผู้มีความรู้ในด้านพระพุทธศาสนามากขึ้น จึงมีรับสั่งให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งมหาชาติคำหลวงขึ้นเมื่อปีขาล พ.ศ.๒๐๒๕ วิธีแต่งนำเอาภาษาบาลีเดิมตั้งบาทหนึ่ง แล้วแปลเป็นคำร้อยกรองในภาษาไทยวรรคหนึ่งสลับกันไป ตามความถนัดของกวีผู้แต่ง หรือตามกำหนดที่ได้ตกลงวางไว้เป็นแบบ คงจะเป็นการแต่งประกวดกันให้ไพเราะและให้ใกล้กับภาษาบาลีเดิมทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ซึ่งนับได้ว่าเป็นหนังสือที่แต่งดีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา

หนังสือมหาชาติคำหลวงที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดเกล้าให้แต่งขึ้นนั้น ไม่ได้แต่งสำหรับพระเทศน์ แต่งสำหรับใช้สวด และต่อมาได้โปรดเกล้าให้นิมนต์พระสงฆ์ผู้สามารถอ่านวรรณคดีได้ถูกต้องตามทำนองกวีนิยมสมัยนั้น เข้าไปอ่านวรรณคดีมหาชาติคำหลวงถวายในพระที่นั่งเป็นประจำ จนเกิดเป็นประเพณีนิยมสืบต่อ ๆ มาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ดังจะเห็นได้จากเวลามีงานนักขัตฤกษ์เช่นเข้าพรรษา ครั้งโบราณก่อนนั้นเป็นหน้าที่ของขุนทินบรรณาการและขุนธานกำนัน กับผู้ช่วยอีก ๒ คน นั่งบนเตียงในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้วสวดมหาชาติคำหลวงโดยทำนองอย่างเก่า ถวายพระมหากษัตริย์ในเวลาเสด็จมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศล แต่ในสมัยปัจจุบันนี้ เป็นหน้าที่ของกรมการศาสนา ต้องจัดเจ้าหน้าที่ไปสวดมหาชาติคำหลวงเป็นทำนอง ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ในพระราชพิธีทรงถวายพุ่มเทียนพรรษา เป็นประจำทุกปีตลอดมา

ต้นฉบับหนังสือมหาชาติคำหลวงได้สูญหายไป ๖ กัณฑ์ เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งกัณฑ์ที่ขาด ๖ กัณฑ์ คือ กัณฑ์หิมพานต์ ทานกัณฑ์ จุลพน มัทรี สักกบรรพ และฉกษัตริย์ ขึ้นใหม่ เมื่อปีจอ พ.ศ.๒๓๕๘ หนังสือมหาชาติคำหลวงจึงมีฉบับบริบูรณ์มาจนทุกวันนี้
นอกจากมหาชาติคำหลวง ยังมีกาพย์มหาชาติสันนิษฐานกันว่าแต่งขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม กรุงศรีอยุธยา กาพย์มหาชาติมีศัพท์บาลีน้อย มีภาษาไทยมาก เข้าใจว่าคงจะแต่งสำหรับพระเทศน์ให้สัปบุรุษทั้งหลายเข้าใจเรื่องง่ายขึ้นกว่ามหาชาติคำหลวง แต่เรื่องก็คงยาวเช่นเดิม คงจะเทศน์ไม่จบในวันเดียว จึงได้เกิดการแต่งมหาชาติกลอนเทศน์ในเวลาต่อมา

หนังสือมหาชาติกลอนเทศน์หรือร่ายยาวมหาชาตินั้น วิธีแต่งนำเอาคำบาลีที่เป็นคาถาและอรรถกถามาลงไว้ แล้วแต่งความภาษาไทยเป็นแบบร่ายยาว ต่อเข้าเป็นตอน ๆ สำหรับพระเทศน์ เพื่อผู้ฟังจะได้ฟังทั้งภาษาบาลีและภาษาไทย และให้จบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ในวันเดียว เพื่อให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ผู้ฟัง ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้แต่งหนังสือมหาชาติกลอนเทศน์ขึ้นมากมายหลายสำนวน ผู้แต่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็มีหลายท่านด้วยกัน ประเพณีการเทศน์มหาชาตินี้ มีเฉพาะแต่ในประเทศไทยกับมอญเท่านั้น ในลังกาและพม่าหามีอย่างประเทศไทยไม่ และประเพณีการมีเทศน์มหาชาตินี้ นิยมจัดทำทั้งเป็นพระราชพิธีของหลวงและพิธีของราษฎรพุทธศาสนิกชนทั่วไป

ส่วนประเพณีเทศน์มหาชาติของราษฎรพุทธศาสนิกชนทั้งหลายทั่วไปนั้น เป็นที่นิยมกันทั่วไปว่า การมีเทศน์มหาชาตินี้เป็นทานมัยกุศลอันสำคัญอย่างยิ่ง จึงได้เป็นที่นิยมกันในเมืองไทยยิ่งนัก และมีทั่วทุกภาคของประเทศไทย ส่วนกำหนดการจัดให้มีเทศน์มหาชาตินั้น แต่ก่อนนิยมจัดกันตั้งแต่ออกพรรษาแล้วไปจนถึงสิ้นเดือน ๑๒ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้เลื่อนมามีในเดือนอ้าย ส่วนในปัจจุบันนี้ ประเพณีการจัดให้มีเทศน์มหาชาตินี้ นิยมจัดกันหลังออกพรรษาแล้วจนถึงเดือน ๔ หรือไม่ก็ตามสะดวก ไม่กำหนดไว้ตายตัว

การที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายผู้นับถือพระพุทธศาสนาในประเทศไทย นิยมบำเพ็ญกุศลบริจาคทานในพิธีเทศน์มหาชาตินี้มาก แปลกกว่าการสร้างกุศลโดยนัยอย่างอื่น ๆ ก็เพราะมีมูลเหตุอันสำคัญเป็นเครื่องชักจูงใจให้เกิดศรัทธาปสาทะความเชื่อและความเลื่อมใส ๓ ประการ คือ

๑.เพราะมีความเชื่อกันด้วยความแน่ใจว่า เรื่องมหาชาติหรือเรื่องเวสสันดรชาดกนี้เป็นพระพุทธวจนะที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสประทานเทศนาแก่พระภิกษุสงฆ์พุทธบริษัท ณ นิโครธาราม ในกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นเรื่องจริงที่ออกจากพระโอษฐ์โดยตรง เป็นเรื่องที่พระพุทธองค์ทรงเล่า เพราะความจริงมีอยู่ว่าบรรดาพระพุทธวจนะทั้งหลาย เมื่อผู้ใดได้สดับด้วยความเชื่อความเลื่อมใสก็ย่อมจะเกิดสิริสวัสดิมงคลแก่ชีวิตของผู้นั้น และเป็นการสร้างสมอบรมปัญญาบารมีธรรม อันจะเป็นปุพเพกตปุญญตาสำหรับตนสืบต่อไปในภายหน้า พุทธศาสนิกชนทั้งหลายผู้ที่ยินดีแสวงหาบุญกุศลก็ย่อมมุ่งหมายที่จะพึงบำเพ็ญตามความสามารถ ในเมื่อมีเทศน์มหาชาติขึ้นแต่ละครั้งเสมอมา

๒.เพราะมีความเชื่อกันสืบมาว่า พระศรีอริยเมตไตรยเทพบุตรซึ่งจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ต่ออายุพระพุทธศาสนาของพระศรีศากยมุนีสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ไปซึ่งอุบัติอยู่ในเทวโลกสวรรค์นั้น ได้มีเทวโองการสั่งพระมาลัยเถระผู้มีบุญญาภินิหารอย่างยิ่งได้ขึ้นไปถึงสวรรค์ชั้นนั้นให้มาบอกแก่มนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้ว่า ถ้าผู้ใดมีความปรารถนาจะใคร่ประสบพบพระศาสนาของพระศรีอริยเมตไตรยซึ่งนิยมกันว่า บุคคลผู้จะเกิดทันศาสนาพระศรีอริยเมตไตรยนั้นล้วนเป็นผู้ได้สร้างสมอบรมบุญบารมีธรรมไว้สมบูรณ์แล้ว พร้อมที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน จึงเป็นมนุษย์ที่มีความเจริญทุกประการ เป็นที่เกษมศานติ์อย่างยิ่งยวด เป็นต้นว่ารูปก็งาม เพราะเกิดจากผลานิสงส์ที่ได้บำเพ็ญศีลบารมีอย่างสมบูรณ์ จึงมีรูปสวยงามเหมือนกันหมด จนลงจากบันไดเรือนแล้วก็จำหน้ากันไม่ได้ เพราะมีหน้าสวยงามเหมือนกัน จะปรารถนาสิ่งใดก็ได้สมประสงค์ ด้วยมีต้นกัลปพฤกษ์สำหรับจะให้ผู้ที่นึกไหนได้

นั่น เพราะเกิดจากผลานิสงส์ที่ได้บำเพ็ญทานมาอย่างสมบูรณ์
เป็นคนมีสติปัญญาดี เพราะเกิดจากผลานิสงส์ที่ได้บำเพ็ญภาวนามาอย่างสมบูรณ์ย่อมไม่มีคนพิกลพิการต่าง ๆ เช่นคนตาบอด หูหนวก บ้าใบ้ วิกลจริต เป็นต้น แผ่นดินก็ราบเรียนเสมือนหน้ากลอง ที่สุดจนน้ำในแม่น้ำก็เต็มเปี่ยมฝั่งจนกระทั่งกาก้มดื่มได้ น้ำก็ไหลขึ้นข้างหนึ่งไหลลงอีกข้างหนึ่งอยู่เป็นนิตย์ และทุกคนที่เกิดทันศาสนาพระศรีอริยเมตไตรยแล้วย่อมได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ดังนี้เป็นต้นแล้ว ก็จงให้ผู้นั้นสดับฟังเวสสันดรชาดกอันประดับด้วยพระคาถา ๑,๐๐๐ พระคาถา ในวันและราตรีเดียวให้จบ และให้บูชาด้วยประทีปธูปเทียน ธงฉัตร สารพันดอกไม้ ดอกบัว ดอกจงกลนี ราชพฤกษ์ ดอกผักตบ ให้ครบจำนวนถ้วนสิ่งละหนึ่งพัน ผลานิสงส์นั้นจะชักนำให้สมมโนรถจำนงฉะนี้ เพราะเหตุนี้ ผู้ซึ่งมุ่งหมายจะใคร่พบพระศาสนาของพระศรีอริยเมตไตรย จึงตั้งใจบำเพ็ญบารมีธรรมในการสดับฟังเทศน์มหาชาตินี้เป็นประจำสืบ ๆ กันมา

๓.เพราะการเทศน์มหาชาตินี้ ท่านผู้เทศน์ก็แสดงด้วยกระแสเสียงเป็นทำนองไพเราะต่าง ๆ กัน สามารถโน้มน้าวจิตใจผู้สดับฟังให้เกิดปีติโสมนัสรื่นเริงบันเทิงใจ ทำให้เกิดความซาบซึ้งในรสแห่งพระธรรมเทศนาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเหตุนี้ ผู้ที่หวังความปราโมทย์ก็ย่อมมุ่งหมายที่จะบำเพ็ญบุญกุศลด้วยการสดับฟังเทศน์มหาชาตินี้
เพราะอาศัยประโยชน์ที่จะเกิดจากการสดับฟังเทศน์มหาชาติประกอบด้วยมูลเหตุที่สำคัญ ๓ ประการดังกล่าวแล้ว พุทธศาสนิกชนทั้งหลายผู้มุ่งถึงประโยชน์จะเกิดมีแก่ตน จึงมีความเห็นว่าการที่ตนได้สดับฟังพระพุทธวจนะเรื่องมหาชาติหรือเรื่องเวสสันดรชาดกนี้ ถือกันว่าเป็นบุญกุศลเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ไม่ผิดกับการได้สดับพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรหรือพระอนัตตลักขณะสูตรอันเป็นความดีส่วนหนึ่งแล้ว ยังสนุกสนานรื่นเริงบันเทิงใจดีกว่าการบำเพ็ญทานมัยกุสลอย่างอื่น ๆ
เพราะเหตุนี้ การมีเทศน์มหาชาติจึงเฟื่องฟูเป็นที่นิยมกันสืบ ๆ มาจนเป็นสิ่งที่ควรมี ควรทำประจำใจในบรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลายผู้นับถือพระพุทธศาสนา

ตอนที่ ๒ วิวัฒนาการมหาชาติ
มหาชาติในยุคปัจจุบันวิวัฒนาการไปตามยุคตามสมัย บางอย่างก็ยังเป็นวัฒนธรรม แต่บางสิ่งก็น่าวิตกเกรงจะเป็นหายนธรรม ปัจจุบันมหาชาติแบ่งเป็น ๔ ลักษณะ คือ
๑.มหาชาติเรียงกัณฑ์ คือเทศน์ไปตามลำดับเนื้อความแต่ละกัณฑ์ พระที่แสดงขึ้นธรรมาสน์แสดงคราวละ ๑ รูป เนื้อความจะไม่ถูกตัดลัดจนเกินไป ส่วนใหญ่จะเป็นการเทศน์ตามพระอารามหลวง และเทศน์ "ทำนองหลวง"

๒.มหาชาติประยุกต์ คำว่า "มหาชาติประยุกต์" คำนี้ อาจารย์ของข้าพเจ้าคือท่านพระครูพิศาลธรรมโกศล (หลวงตา-แพรเยื่อไม้)วัดประยุรวงศาวาส เป็นผู้คิดและใช้คำๆ นี้เมื่อประมาณ ๕๐ กว่าปีมาแล้ว จุดมุ่งหมายก็เพื่อให้ผู้ฟังได้ประโยชน์ คือฟังรู้เรื่อง เข้าใจ ทันเหตุการณ์ ทันสมัย และได้สาระ อีกทั้งเป็นการประหยัดเวลาในการแสดง ซึ่งชาวบ้านผู้ฟังนับวันจะหาโอกาสยากยิ่งขึ้น ด้วยภารกิจและการดำรงชีพ

๓.มหาชาติทรงเครื่อง คำว่า "มหาชาติทรงเครื่อง" มี ๓ ลักษณะ คือ มี การปุจฉา-วิสัชนา ถาม-ตอบในเรื่องที่เทศน์ มีการสมมติหน้าที่ เช่น องค์โน้นเป็นพระเวสสันดร องค์นี้เป็นพระนางมัทรี เป็นต้น และในการเทศน์มีแหล่ทั้งแหล่นอกแหล่ในมิใช่ว่าแต่ทำนองประจำกัณฑ์เท่านั้น

๔.มหาชาติหางเครื่อง คำนี้เป็นศัพท์ที่ข้าพเจ้าบัญญัติขึ้น เดิมทีการแสดงประกอบที่เรียกว่าเป็น "บุคคลาธิษฐาน" มีแต่ฆราวาสล้วนๆ เช่น เอาชูชกมาออกฉาก แต่ปัจจุบันชาวบ้านนิยมหาคณะลิเกมาแสดง แล้วนิมนต์พระมาเทศน์ประกอบ พอเป็นกริยา (ซึ่งบางครั้งก็น่าเป็นห่วง เพราะมุ่งเอาสนุกจนลืมสาระ) ควรช่วยกันรักษาลักษณะการเทศน์มหาชาติในรูปแบบที่เป็นประโยชน์ทางธรรมไว้ และช่วยกันขจัดไม่สนับสนุนการเทศน์ที่เป็นอธรรม โดยเฉพาะที่มุ่งแสวงหาปัจจัยจนไร้สติ จนลืมสมณะภาวะกลายเป็นทำลายศรัทธาปสาทะและคุณค่าทางธรรม และจริยธรรมที่ควรคำนึง.!


-http://www.watbuddhadhamma.de/mahachart.html

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 18, 2013, 12:49:45 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มหาชาติเวสสันดรชาดก (ประวัติมหาชาติ)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มกราคม 13, 2013, 05:39:50 pm »




ปฐมเหตุ.. มหาเวสสันดรชาดก
พระเวสสันดรทรงบำเพ็ญทานบารมี

คลิ๊กค่ะ >>>
: http://www.tairomdham.net/index.php/topic,5676.0.html




« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 17, 2013, 05:58:12 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มหาชาติเวสสันดรชาดก (งานบุญผะเหวด)
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: มิถุนายน 17, 2013, 06:37:13 pm »




งานบุญผะเหวด
       งานบุญผะเหวดเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของชาวอีสาน เป็น 1 ในประเพณี ฮีต 12 ซึ่งนิยมทำกันทุกหมู่บ้าน  ด้วยความเชื่อกันว่าหากได้ฟังเทศน์บุญผะเหวดครบ 13 กัณฑ์ จบภายในวันเดียวและจัดพิธีตั้งเครื่องคาย (บูชา) ได้ถูกต้อง อานิสงส์จะดลบันดาลให้ไปเกิดในศาสนาของพระศรีอริยเมตไตร  ซึ่งเป็นดินแดนแห่งความสุข สงบ  แต่ในทางกลับกันหากตั้งเครื่องคายไม่ถูกต้อง  ก็จะดลบันดาลให้เกิดอาเพศต่าง ๆ นานา

       การจัดงานบุญผะเหวดแต่ละครั้งเป็นงานบุญสำคัญที่ทุกคนในหมู่บ้านต้องมาร่วมกัน นอกจากการฟังเทศน์มหาชาติแล้ว ประเพณีนี้ยังแฝงด้วยความเชื่อหลายประการเข้าไว้ด้วยกัน ที่สำคัญได้แก่ ความเชื่อเรื่องพระอุปคุต ซึ่งเป็นพระผู้รักษาพิธีให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น ตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่มีพญามารมารบกวน

       ประเพณีบุญผะเหวดของจังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับการฟื้นฟูให้เป็นประเพณีประจำจังหวัด โดยเริ่มในปี พ.ศ. 2534 จัดขึ้น ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ กำหนดจัดวันเสาร์และอาทิตย์แรกของเดือนมีนาคม

       วันศุกร์ แห่พระอุปคุต / วันเสาร์ ขบวนแห่  13  กัณฑ์  / วันอาทิตย์ ฟังเทศน์มหาชาติและ แห่กัณฑ์หลอน ซึ่งหมายถึง จตุปัจจัยที่ชาวบ้านร่วมกันทำเป็นขบวน ถวายแด่พระที่กำลังเทศน์อยู่ในขณะนั้น และ แห่กัณฑ์จอบ  ซึ่งหมายถึง จตุปัจจัยบ้านร่วมกันทำขึ้นเพื่อเจาะจงถวายแด่พระที่ศรัทธาซึ่งเทศน์ในวันนี้



การเทศน์มหาชาติมี 13 กัณฑ์ ได้แก่



   1. กัณฑ์ที่ 1 ทศพร          79  พระคาถา   2. กัณฑ์ที่ 2 หิมพานต์    134  พระคาถา
   3. กัณฑ์ที่ 3 ทานกัณฑ์    209  พระคาถา   4. กัณฑ์ที่ 4 วนปเวสน์     57  พระคาถา
   5. กัณฑ์ที่ 5 ชูชก            79  พระคาถา   6. กัณฑ์ที่ 6 จุลพน          35  พระคาถา
   7. กัณฑ์ที่ 7 มหาพน        80  พระคาถา   8. กัณฑ์ที่ 8 กุมาร         101  พระคาถา
   9. กัณฑ์ที่ 9 มัทรี            90  พระคาถา        10. กัณฑ์ที่ 10 สักบรรพ์      43  พระคาถา
11. กัณฑ์ที่ 11 มหาราช     69  พระคาถา        12. กัณฑ์ที่ 12 ฉกษัตริย์      36  พระคาถา
13. กัณฑ์ที่ 13 นครกัณฑ์   48  พระคาถา















มูลเหตุที่ทำให้เกิดเทศน์มหาชาติ
       มีเรื่องเล่าในพระมาลัยหมื่นมาลัยแสนว่า ครั้งหนึ่งพระมาลัยเถรเจ้าได้ขึ้นไหว้พระธาตุเกตุแก้วจุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้พบและสนทนาธรรมกับพระศรีอริยเมตไตย์โพธิสัตว์ผู้ซึ่งจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ถัดจากพระสมณะโคดมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน  ตอนหนึ่งของพระมาลัยเถระกล่าวกับพระศรีอริยเมตไตย์โพธิสัตว์ ว่าประชาชนชาวโลกมีความปรารถนา ใคร่อยากเกิดร่วมในศาสนาของพระองค์ จะให้ชาวโลกประพฤติปฏิบัติอย่างไร พระศรีอริยเมตไตย์โพธิสัตว์เมื่อทราบความประสงค์ของมนุษย์ในโลกแล้ว จึงได้สั่งความกับพระมาลัยเถระเจ้าว่า  ถ้ามนุษย์ทั้งหลายปรารถนาจะได้พบและเกิดร่วมศาสนากับพระองค์แล้ว จงรักษาศีลอย่าให้ขาด ให้ทานสม่ำเสมอแก่สมณะชีพราหมณ์ ยาจกเข็ญใจ ผู้ยากไร้ทั้งหลาย จงอย่าได้ด่าว่า ฆ่าพ่อ ตีแม่ สมณะชีพราหมณาจารย์ อย่ายุยงพระสงฆ์หมู่คณะให้แตกสามัคคีกัน ให้ตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาเรื่องพระเวสสันดรชาดกให้จบสั้นภายในวันเดียวโดยความเคารพ  จึงจะได้เกิดร่วมศาสนาและพบเห็นพระองค์



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มหาชาติเวสสันดรชาดก (บุญผะเหวด /ฮีต 12/คลอง 14)
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: มิถุนายน 17, 2013, 06:54:01 pm »


  ฮีต 12
         คนอีสาน มีวัฒนธรรมประจำชาติและประจำท้องถิ่น มาแต่โบราณกาลแล้วนับศตวรรษ จนถือเป็นฮีตเป็นคลอง ...ต้องปฏิบัติสืบกันมาจนเป็นประเพณีที่รู้จักกันดีและพูดจนติด ปากว่า "ฮีตสิบสอง คลองสิบสิบสี่"   ฮีตสิบสอง  คำว่า ฮีต มาจากคำภาษาบาลีที่ว่า จารีตตะ แปลว่า ธรรมเนียม แบบแผนความประพฤติ ที่ดีงามปฏิบัติสืบต่อกันมาจนกลายเป็นประเพณี   ฮีต นั้นมี ๑๒ ประการ เท่ากับ ๑๒ เดือนใน ๑ ปี ตามระบบจันทรคติหรือพูดอีกนัยคือ การทำบุญ ๑๒ เดือนนั้นเอง

       ฮีตที่ ๑. บุญเข้ากรรม หรือ บุญเดือนเจียงภิกษุต้องอาบัติ สังฆาทิเสส ต้องอยู่กรรมถึงจะพ้นอาบัติ ญาติโยมแม่ออกแม่ตนผู้อยากได้บุญกุศลก็จะให้ไปทาน รักษาศีลฟังธรรมเกี่ยวกับการเข้ากรรมของภิกษุ เรียกว่าบุญเข้ากรรม กำหนดเอาเดือนเจียงเป็นเวลาทำ จะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ได้ วันที่นิยม ทำเป็นส่วนมากคือวันขึ้น 15 ค่ำเพราะเหตุมีกำหนดให้ทำในระหว่างเดือนเจียง จึงเรียกว่าบุญเดือนเจียง

       ฮีตที่ ๒. บุญคูนข้าว หรือ บุญคูนลาน  ลาน คือ ที่สำหรับตีหรือนวดข้าว การเอาข้าวที่ตีแล้วมากองให้สูงขึ้น เรียกว่า คูนลาน หรือที่เรียกกันว่าคูนข้าว ชาวนาที่ทำนาได้ผลดี อยากได้กุศล ให้ทานรักษาศีล เป็นต้น
ก็จัดเอาลานข้าวเป็นสถานที่ทำบุญ การทำบุญในสถานที่ดังกล่าวเรียกว่า บุญคูนลาน ซึ่งกำหนดเอาช่วงเดือนยี่เป็นเวลาทำบุญจึงเรียกว่าบุญเดือนยี่

       ฮีตที่ ๓. บุญข้าวจี่ หรือ บุญเดือนสาม    ข้าวจี่ คือ ข้าวเหนียวปั้นโรยเกลือ ทาไข่ไก่แล้วจี่ไฟให้สุก การทำบุญมีให้ทานข้าวจี่เป็นต้น เรียกว่าบุญข้าวจี่ นิยมทำกันอย่างแพร่หลาย เพราะถือว่าได้กุศลเยอะ
ทำในช่วงเดือนสาม เรียกว่า บุญเดือนสาม

       ฮีตที่ ๔. บุญผะเหวด  หรือ บุญเดือนสี่  บุญที่มีการเทศน์พระเวส หรือ มหาชาติ เรียกว่าบุญเผวส(ผะ-เหวด) หนังสือมหาชาติ หรือ พระเวสสันดรชาดกแสดงถึงจริยวัตรของ พระพุทธเจ้าคราวพระองค์เสวย พระชาติเป็นพระเวสสันดร เป็นหนังสือเรื่องยาว 13 ผูก บุญผะเหวด นิยมทำกันในช่วงเดือนสี่

       ฮีตที่ ๕. บุญสรงน้ำ หรือ บุญเดือนห้า  เมื่อเดือนห้ามาถึงอากาศก็ร้อนอบอ้าวทำให้คนเจ็บไข้ได้ป่วยการอาบน้ำชำระเนื้อกายเป็นวิธีการแก้ร้อนผ่อนให้เป็นเย็น ให้ได้รับความ สุขกายสบายใจ อีกอย่างหนึ่งมี

       เรื่องเล่าว่า เศรษฐีคนหนึ่งไม่มีลูก จึงไปบน(บนบาล) พระอาทิตย์และพระจันทร์เพื่อขอลูกเวลาล่วงเลยมาสามปี ก็ยังไม่ได้ลูกจึงไปขอลูกกับต้นไทรใหญ่ เทวดาประจำต้นไทรใหญ่ มีความกรุณาได้ไปขอลูกนำพระยาอินทร์ พระยาอินทร์ให้ธรรมะปาละกุมาร (ท้าวธรรมบาล) มาเกิดในท้องภรรยาเศรษฐี เมื่อธรรมะปาละประสูติ เจริญวัยใหญ่ขึ้นได้เรียนจบไตรเภท เป็นอาจารย์สอนการทำมงคลแก่คนทั้งหลาย กบิลพรหมลงมาถามปัญหาธรรมะปาละกุมาร(ถามปัญหาสามข้อคือ คนเราในวันหนึ่ง ๆ มีศรีอยู่ที่ไหนบ้าง ถ้าธรรมบาลตอบได้จะตัดศีรษะตนบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลเสียดผลัดให้เจ็ดวันในชั้นแรก ธรรมบาลตอบไม่ได้ ในวันถ้วนหก ธรรมบาลเดินเข้าไปในป่าบังเอิญได้ยินนกอินทรีย์สองผัวเมียพูดคำตอบให้กันฟัง ตอนเช้าศรี อยู่ ที่หน้า คนจึงเอาน้ำล้างหน้าตอนเช้า ตอนกลางวันศรีอยู่ที่อก คนจึงเอาน้ำหมดประพรหมหน้าอกตอนกลางวัน

       และตอนเย็นศรีอยู่ที่เท้า คนจึงเอาน้ำล้างเท้าตอนเย็น ธรรมบาลจึงสามารถตอบคำถามนี้ได้)สัญญาว่าถ้าธรรมบาลตอบปัญหาจะตัดหัวของตนบูชา ธรรมบาลแก้ได้ เพราะศีรษะของกบิลพรหมมีความศักดิสิทธ์มาก ถ้าตกใส่แผ่นดินจะเกิดไฟไหม้ ถ้าทิ้งขึ้นไปในอากาศฝนจะแล้ง ถ้าทิ้งลงมหาสมุทรน้ำจะแห้ง ก่อนตัดศีรษะกบิลพรหมเรียกลูกสาวทั้งเจ็ดคน เอาขันมารองรับแห่รอบเขาพระสุเมรุ หกสิบนาที แล้วนำไปไว้ที่เขาไกรลาสเมื่อถึงกำหนดปีนางเทพธิดาทั้งเจ็ดผลัดเปลี่ยนกันมาเชิญเอาศีรษะท้าวกบิลพรหมมาแห่รอบเขาพระสุเมรุ แล้วกลับไปเทวะโลก

       ฮีตที่ ๖. บุญบั้งไฟ หรือบุญเดือนหก คือ การเอาขี้เจีย(ดินประสิว) มาประสมคั่วกับถ่าน โขลกให้แหลกเรียกว่าหมื่อ (ดินปืน) เอาหมื่อใส่กระบอกไม้ไผ่อัดให้แน่น แล้วเจาะรูใส่หางเรียกว่าบั้งไฟ การทำบุญ
มีให้ทาน เป็นต้น เกี่ยวกับการทำบ้องไฟ เรียกว่า บุญบั้งไฟ กำหนดทำกันในเดือนหกเรียกว่าบุญเดือนหก เพื่อขอฟ้าขอฝนจากเทวดาเมื่อถึงฤดูแห่งการเพาะปลูก ทำไร่ทำนา

       ฮีตที่ ๗.บุญซำฮะ หรือ บุญเดือนเจ็ด  การชำฮะ(ชำระ) สะสางสิ่งสกปรกโสโครกให้สะอาดปราศจากมลทินโทษหรือความมัวหมอง เรียกว่า การซำฮะ สิ่งที่ต้องการทำให้สะอาดนั้นมี 2 อย่างคือ ความสกปรก

       ภายนอกได้แก่ ร่างกาย เสื้อผ้า อาหารการกิน ที่อยู่อาศัย และความสกปรกภายใน ได้แก่จิตใจเกิดความความโลภมากโลภา โกรธหลง เป็นต้น แต่สิ่งที่จะต้องชำระในที่นี้คือเมื่อบ้านเมืองเกิดข้าศึกมาราวีทำลาย เกิดผู้ร้ายโจรมาปล้น เกิดรบราฆ่าฟันแย่งกันเป็นใหญ่ผู้คนช้างม้าวัวควายล้มตาย ถือกันว่าบ้านเดือดเมืองร้อนชะตาบ้านชะตาเมืองขาด จำต้องซำฮะให้หายเสนียดจัญไร การทำบุญมีการรักษาศีลให้ทานเป็นต้นเกี่ยวกับการซำฮะนี้เรียกว่าบุญซำฮะ มีกำหนดทำให้ระหว่างเดือนเจ็ด จึงเรียกว่าบุญเดือนเจ็ด
ฮีตที่ ๘.บุญเข้าวัดสา (เข้าพรรษา) หรือบุญเดือนแปด   การอยู่ประจำวัดวัดเดียวตลอดสามเดือนในฤดูฝนเรียกว่าเข้าวัดสาโดยปกติกำหนดเอาวันแรมหนึ่งค่ำเดือนแปดเป็นวันเริ่มต้น เรียกว่าบุญเดือนแปด

       ฮีตที่ ๙. บุญข้าวห่อประดับดิน หรือบุญเดือนเก้าการห่อข้าวปลาอาหารและของเคี้ยวของกินเป็นห่อ ๆ แล้วเอาไปถวายทานบ้าง ไปแขวนตามกิ่งไม้ในวัดบ้าง เรียกว่าบุญข้าวประดับดิน เพราะมีกำหนดทำบุญ
ในเดือนก้าวจึงเรียกว่า บุญเดือนเก้า

       ฮีตที่ ๑๐.บุญข้าวสาก หรือบุญเดือนสิบการเขียนชื่อใส่สลากให้พระภิกษุและสามเณรจับและเขียนชื่อใส่ภาชนะข้าวถวายตามสลากนั้นและทำบุญอย่าอื่นมีรักษาศีลฟังธรรม เป็นต้น เรียกว่าบุญข้าสาก (สลาก ) เพราะกำหนดให้ทำในเดือนสิบ จึงเรียกว่าบุญเดือนสิบ
ฮีตที่ ๑๑.บุญออกวัดสา (ออกพรรษา) หรือบุญเดือนสิบเอ็ด   การออกจากเขตจำกัดไปพักแรมที่อื่นได้เรียกว่า ออกวัดสา คำว่าวัดสาหมายถึงฤดูฝน ในปีหนึ่งมี 4 เดือน คือ ตั้งแต่วันแรมสี่ค่ำเดือนแปดถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ ในระยะ สี่เดือนสามเดือนต้น ให้เข้าวัดก่อน เข้าครบกำหนดสามเดือนแล้วให้ออก อีกเดือนที่เหลือให้หาผ้าจีวรมาผลัดเปลี่ยนการทำบุญมีให้ทานเป็นต้น เรียกว่าการทำบุญเดือนสิบเอ็ด

       ฮีตที่ ๑๒. บุญกฐิน หรือ บุญเดือนสิบสอง ผ้าที่ใช้ไม้สะดึงทำเป็นขอบซึ่งเย็บจีวร เรียกว่าผ้ากฐิน ผ้ากฐินนี้มีกำหนดเวลาในการถวายเพียงหนึ่งเดือนคือตั้งแต่ แรมหนึ่งค่ำเดือนสิบเอ็ด ถึง เพ็ญสิบสอง เพราะกำหนดเวลาทำในเดือน ๑๒ จึงเรียกว่าบุญเดือนสิบสอง



  คลอง 14
คลองสิบสี่ หมายถึง ข้อกติกาของสังคม ๑๔ ประการ ที่ยึดถือปฏิบัติต่อกันเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม มีดังนี้
๑. เมื่อได้ข้าวใหม่หรือผลหมากรากไม้ ให้บริจาคทานแก่ผู้มีศีลแล้วตนจึงบริโภคและแจกจ่ายแบ่งญาติพี่น้องด้วย
๒. อย่าโลภมาก อย่าจ่ายเงินแดงแปงเงินคว้าง และอย่ากล่าวคำหยาบช้ากล้าแข็ง
๓. ให้ทำป้ายหรือกำแพงเอือนของตน แล้วปลูกหอบูชาเทวดาไว้ในสี่แจ(มุม)บ้านหรือแจเฮือน
๔. ให้ล้างตีนก่อนขึ้นเฮือน
๕ เมื่อถึงวันศีล ๗-๘ ค่ำ ๑๔-๑๕ ค่ำ ให้สมมาก้อนเส้า สมมาคีงไฟ สมมาขั้นบันได สมมาผักตู(ประตู)เฮือนที่ตนอาศัยอยู่

๖. ให้ล้างตีนก่อนเข้านอนตอนกลางคืน
๗. ถึงวันศีล ให้เมียเอาดอกไม้ธูปเทียนมาสมมาสามี แล้วให้เอาเอาดอกไม้ไปถวายสังฆเจ้า
๘. ถึงวันศีลดับ ศีลเพ็ง ให้นิมนต์พระสงฆ์มาสูดมนต์เฮือน แล้วทำบุญตัก บาตร
๙. เมื่อภิกษุมาคลุมบาตร อย่าให้เพิ่นคอย เวลาใส่บาตรอย่าซุน(แตะ)บาตร อย่าซูนภิกษุสามเณร
๑๐. เมื่อภิกษุเข้าปริวาสกรรม ให้เอาขันขันข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียน และเครื่องอัฐบริขารไปถวายเพิ่ม

๑๑.เมื่อเห็นภิกษุ เดินผ่านมาให้นั่งลงยกมือไหว้แล้วจึงค่อยเจรจา
๑๒. อย่าเหยียบเงาพระสงฆ์
๑๓. อย่าเอาอาหารเงื่อน(อาหารที่เหลือจากการบริโภค)ทานแก่สังฆเจ้าและอย่าเอาอาหารเงื่อนให้สามีตัวเองกิน
๑๔. อย่าเสพกามคุณในวันศีล วันเข้าวัดสา วัดออกพรรษา วันมหาสงกรานต์และวันเกิดของตน


:http://muangthai.com/board/index.php?topic=486.0


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มหาชาติ
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: กรกฎาคม 04, 2013, 09:38:50 pm »


มหาชาติ  เป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว์ที่ได้เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรและเป็นพระชาติสุดท้ายก่อนจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  คนไทยรู้จักและคุ้ยเคยกับมหาชาติมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย  ดังที่ปรากฏในหลักฐานในจารึกนครชุม  และในสมัยอยุธยาก็ได้มีการแต่งและสวดมหาชาติคำหลวงในวันธรรมสวนะ  ส่วนการเทศน์มหาชาติเป็นประเพณีที่สำคัญในทุกท้องถิ่นและมีความเชื่อกันว่า  การฟังเทศน์มหาชาติจบภายในวันเดียวจะได้รับอานิสงส์มาก

ผู้แต่ง
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
กวีสำนักวัดถนน
กวีวัดสังขจาย
พระเทพโมลี (กลิ่น)
เจ้าพระยาพระคลัง (หน)

ลักษณะคำประพันธ์
ความเรียงร้อยแก้ว  ร่ายยาว  กลบท  กลอนพื้นบ้าน

จุดมุ่งหมายในการแต่ง
เพื่อใช้ในการสวด  เทศนาสั่งสอน

ความเป็นมา
เวสสันดรชาดกนี้เป็นเรื่องใหญ่จัดรวมไว้ในมหานิบาตชาดกรวมเรื่องใหญ่ 10 เรื่อง
ที่เรียกกันว่า  ทศชาติ แต่อีก 9 เรื่อง  ไม่เรียกว่ามหาชาติ
คงเรียกแต่เวสสันดรชาดก
เรื่องเดียวว่า  มหาชาติ  ข้อนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
โปรดประทานอธิบายว่า  พุทธศาสนิกชนชาวไทยตลอดจนประเทศใกล้เคียงนับถือกันมาแต่โบราณว่า
เรื่องมหาเวสสันดรชาดก  สำคัญกว่าชาดกอื่น ๆ ด้วยปรากฏบารมีของพระโพธิสัตว์บริบูรณ์
ในเรื่องมหาเวสสันดรชาดกทั้ง 10 บารมี


          อานิสงส์การฟังเทศน์มหาชาติ  การตั้งใจฟังเทศน์มหาชาติให้จบเพียงวันเดียวครบบริบูรณ์  ทั้ง 13 กัณฑ์จะเป็นเหตุให้สำเร็จความปรารถนาทุกประการดังนี้
          1.  เมื่อตายจากโลกนี้แล้ว  จะมีโอกาสได้พบพระพุทธเจ้า  พระนามว่า  ศรีอริยเมตไตย  ในอนาคต
          2.  เมื่อดับขันธ์ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์  จะเสวยทิพยสมบัติมโหฬาร
          3.  เมื่อตายไปแล้วจะไม่ตกนรก
          4.  เมื่อถึงยุคพระพุทธเจ้าพระนามว่า  ศรีอริยเมตไตย  จะได้จุติไปเกิดเป็นมนุษย์
          5.  ได้ฟังธรรมต่อหน้าพระพักตร์ของพระพุทธองค์  จะได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระอริยบุคคล  ในบวรพุทธศาสนา
มูลเหตุการณ์เล่าเรื่องมหาชาติ

          คัมภีร์ธัมมบทขุททกนิกายกล่าวว่า  เรื่องเวสสันดรชาดกเป็นพุทธดำรัสที่สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสแก่ภิกษุสงฆ์ขีณาสพสองหมื่นรูป  และพระประยูรญาติที่นิโครธารามหาวิหารในนครกบิลพัสดุ์  ในคราวเสด็จโปรดพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา  และพระวงศ์ศากยะบรรดาพระประยูรญาติไม่ปรารถนาจะทำความเคารพพระองค์  ด้วยเห็นว่าอายุน้อยกว่า
          พระองค์ทรงทราบความคิดนี้จึงทรงแสดงยมกปกฏิหาริย์  โดยเสด็จขึ้นเบื้องนภาอากาศแล้วปล่อยให้ฝุ่นละอองธุลีพระบาทตกลงสู่เศียรของพระประยูรญาติทั้งหลาย  พระประยูรญาติจึงได้ละทิ้งทิฐิแล้วถวายบังคมพระพุทธเจ้า  ขณะนั้นได้เกิดฝนโบกขรพรรษ  พระภิกษุทั้งหลายเห็นเป็นอัศจรรย์จึงได้ทูลถาม  พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าฝนชนิดนี้เคยตกมาแล้วในอดีต  แล้วจึงทรงแสดงธรรมเรื่องมหาเวสสันดรชาดก  หรือเรื่องมหาชาติให้แก่พระภิกษุและพระประยูรญาติ

          มหาเวชสันดรชาดก  เป็นชาดกที่มีความสำคัญมากกว่าชาดกอื่น ๆ เพราะพระบารมีของพระโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญบริบูรณ์ในพระชาตินี้  มหาเวสสันดรชาดกทั้ง 10 บารมี  คือ

ทานบารมี  = ทรงบริจาคทรัพย์สิน  ช้าง  ม้า  ราชรถ  พระกุมารทั้งสองและพระมเหสี
ศีลบารมี  = ทรงรักษาศีลอย่างเคร่งครัดระหว่างทรงผนวชอยู่ ณ เขาวงกต
เนกขัมมบารมี  = ทรงครองเพศบรรพชิตตลอดเวลาที่ประทับ ณ เขาวงกต
ปัญญาบารมี  = ทรงบำเพ็ญภาวนามัยปัญญาตลอดเวลาที่ทรงผนวช
วิริยาบารมี  = ทรงปฏิบัติมิได้ย่อหย่อน
สัจจบารมี  = ทรงลั่นพระวาจายกกุมารให้ชูชก  เมื่อพระกุมารหลบหนีก็ทรงติดตามให้

ขันติบารมี  = ทรงอดทนต่อความยากลำบากต่าง ๆ ขณะที่เดินทางมายังเขาวงกต  และตลอดเวลาที่ประทับ ณ ที่นั่น  แม้แต่ตอนที่ทอดพระเนตรเห็นชูชกเฆี่ยนตีพระกุมารอย่างทารุณพระองค์ก็ทรงข่มพระทัยไว้ได้
เมตตาบารมี  = เมื่อพราหมณ์เมืองกลิงคราษฎร์  มาทูลขอช้างปัจจัยนาค  เนื่องจากเมืองกลิงคราษฎร์ฝนแล้ง  ก็ทรงพระเมตตตาประทานให้  และเมื่อชูชกมาทูลขอสองกุมาร  อ้างว่าตนได้รับความลำบากต่าง ๆ พระองค์ก็มีเมตตาประทานให้ด้วย
อุเบกขาบารมี  = เมื่อทรงเห็นสองกุมารถูกชูชกเฆี่ยนตี  วิงวอนให้พระองค์ช่วยเหลือ  ทรงบำเพ็ญอุเบกขา  คือทรงวางเฉย  เพราะทรงเห็นว่าได้ประทานเป็นสิทธิ์ขาดแก่ชูชกไปแล้ว
อธิษฐานบารมี  = คือทรงตั้งมั่นที่จะบำเพ็ญบารมีเพื่อให้สำเร็จโพธิญาณาเบื้องหน้าก็มิได้ทรงย่อท้อ  จนพระอินทร์ต้องประทานความช่วยเหลือต่าง ๆ เพราะพระทัยอันแน่วแน่ของพระองค์

G+ ชาตรี กองนอก