วิถีธรรม > แนวทางปฏิบัติธรรม
มหาตัณหาสังขยสูตร ว่าด้วยสาติภิกษุมีทิฏฐิลามก(ในเรื่องวิญญาณ)
ฐิตา:
ว่าด้วยธรรมคุณ
[๔๕๑]ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ พึงแล่นไปสู่ส่วนเบื้องต้นว่า ในอดีตกาล เราได้มีแล้ว หรือว่า ไม่ได้มีแล้ว เราได้เป็นอะไรแล้ว หรือว่าเราได้เป็นแล้วอย่างไร หรือเราได้เป็นอะไรแล้ว จึงเป็นอะไร ดังนี้บ้างหรือไม่?
ภ. ข้อนี้ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า.
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ พึงแล่นไปสู่ส่วนเบื้องปลายว่า ใน อนาคตกาล เราจักมี หรือว่าจักไม่มี เราจักเป็นอะไร หรือว่าเราจักเป็นอย่างไร หรือเราจัก เป็นอะไรแล้ว จึงจักเป็นอะไร ดังนี้บ้างหรือไม่?
ภ. ข้อนี้ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า.
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ ปรารภถึงปัจจุบันกาล ในบัดนี้ ยังสงสัยขันธ์ เป็นภายในว่า เราย่อมมี หรือว่าเราย่อมไม่มี เราย่อมเป็นอะไร หรือว่าเราย่อมเป็นอย่างไร สัตว์นี้มาแล้วจากไหน สัตว์นั้นจักไป ณ ที่ไหน ดังนี้บ้างหรือไม่?
ภ. ข้อนี้ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า.
(เป็นธรรมที่ปรารถถึง การไม่ไปคำนึงถึงอดีต ไม่ปรุงแต่งไปในอนาคต อยู่กับปัจจุบัน ที่ไม่มีความสงสัยในเรื่องขันธ์หรือชีวิตตนว่า เรามีตัวตน หรือไม่มีตัวตน กล่าวคือมีความเข้าใจธรรม เข้าใจในความเป็นเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้นแล้ว)
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระศาสดาเป็นครู ของพวกเรา พวกเราต้องกล่าวอย่างนี้ ด้วยความเคารพต่อพระศาสดาเท่านั้น ดังนี้บ้างหรือไม่?
ภ. ข้อนี้ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า.
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ พึงกล่าวว่า พระสมณะตรัสอย่างนี้ พระสมณะทั้งหลายและพวกเราย่อมไม่กล่าวอย่างนี้ ดังนี้บ้างหรือไม่?
ภ. ข้อนี้ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า.
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จะพึงยกย่องศาสดาอื่น ดังนี้บ้าง หรือไม่?
ภ. ข้อนี้ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า.
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ พึงเชื่อถือสมาทานวัตร ความตื่นเพราะทิฏฐิ และทิฏฐาทิมงคลของพวกสมณะและพราหมณ์เป็นอันมาก ดังนี้บ้างหรือไม่?
ภ. ข้อนี้ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า.
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่พวกเธอรู้เห็นทราบเองแล้ว(ตามความเป็นจริง) พวกเธอพึงกล่าวถึงสิ่งนั้น มิใช่หรือ?
ภ. อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า.
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่กล่าวนั้นถูกละ พวกเธอ อันเรานำเข้าไปแล้ว ด้วยธรรมนี้ อันเห็นได้ด้วยตนเอง ซึ่งให้ผลไม่มีกาลคั่น ควรเรียกให้มาชม ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน
คำที่เรากล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมนี้ อันเห็นได้ด้วยตนเอง ให้ผลไม่มีกาลคั่น ควรเรียกให้มาชม ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน ดังนี้ เราอาศัยความ ข้อนี้กล่าวแล้ว.
เหตุแห่งการเกิดในครรภ์
(การเกิดขึ้นของคนหรือสัตว์)
(เนื่องมาจาก คันธัพพะ ที่อาจเป็นที่วิจิกิจฉาหรือข้อสงสัย)
[๔๕๒]ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะความประชุมพร้อมแห่งปัจจัย ๓ ประการ ความเกิดแห่งทารกก็มี
ในสัตว์โลกนี้ มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน แต่มารดายังไม่มีระดู และคันธัพพะยังไม่ปรากฏ ความเกิดแห่งทารก ก็ยังไม่มีก่อน
ในสัตว์โลกนี้ มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน มารดามีระดู แต่คันธัพพะยังไม่ปรากฏ ความเกิดแห่งทารก ก็ยังไม่มีก่อน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดมารดาบิดาอยู่ร่วมกันด้วย(๑) มารดามีระดูด้วย(๑) คันธัพพะก็ปรากฏด้วย(๑)
เพราะความประชุมพร้อมแห่งปัจจัย ๓ ประการอย่างนี้ ความเกิดแห่งทารกจึงมี
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มารดา ย่อมรักษาทารกนั้นด้วยท้องเก้าเดือนบ้าง สิบเดือนบ้าง
เมื่อล่วงไปเก้าเดือน หรือสิบเดือน มารดาก็คลอดทารกผู้เป็นภาระหนักนั้น ด้วยความเสี่ยงชีวิตมาก
และเลี้ยงทารกผู้เป็นภาระหนัก นั้นซึ่งเกิดแล้ว ด้วยโลหิตของตนด้วยความเสี่ยงชีวิตมาก.
[๔๕๓]ดูกรภิกษุทั้งหลาย น้ำนมของมารดานับเป็นโลหิตในอริยวินัย
ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย กุมารนั้นอาศัยความเจริญและความเติบโตแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย
ย่อมเล่นด้วยเครื่องเล่น สำหรับกุมาร คือ ไถเล็ก ตีไม้หึ่ง หกขะเมน จังหัน ตวงทราย รถเล็ก ธนูเล็ก
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กุมารนั่นนั้นอาศัยความเจริญและความเติบโตแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย
พรั่งพร้อม บำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ คือ
รูปที่รู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารัก ประกอบด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดและความรัก
เสียงที่รู้แจ้งด้วยโสต ... กลิ่นที่รู้แจ้งด้วยฆานะ ... รสที่รู้แจ้งด้วยลิ้น ...
โผฏฐัพพะที่รู้แจ้งด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดและความรัก
(พึงสังเกตุพิจารณาว่า เป็นสภาวธรรมหรือธรรมชาติของปุถุชน ที่เริ่มสั่งสมตั้งแต่เป็นทารก แล้วเริ่มดำเนินเป็นไปตามขันธ์ ๕ ของชีวิต
ซึ่งย่อมพรั่งพร้อมไปตามกระบวนธรรมปฏิจจสมุปบาทฝ่ายสมุทยวารหรือฝ่ายเกิดทุกข์ด้วยอวิชชา)
กุมารนั้น เห็นรูปด้วยจักษุ แล้ว ย่อมกำหนัดในรูปที่น่ารัก
ย่อมขัดเคืองในรูปที่น่าชัง ย่อมเป็นผู้มีสติในกายไม่ตั้งมั่น และมีจิตเป็นอกุศลอยู่
ย่อมไม่ทราบชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งเหล่าอกุศลธรรมอันลามกตามความเป็นจริง
เขาเป็นผู้ถึงพร้อมซึ่งความยินดียินร้ายอย่างนี้ เสวยเวทนา อย่างใดอย่างหนึ่ง
เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี
ย่อมเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจ เวทนานั้นอยู่ เมื่อกุมารนั้นเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนานั้นอยู่
ความเพลิดเพลิน(นันทิหรือตัณหา)ก็เกิดขึ้น ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายเป็นอุปาทาน
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะภพ เป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้
กุมารนั้น ได้ยินเสียงด้วย โสต ... ดมกลิ่นด้วยฆานะ ลิ้มรสด้วยลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ...
รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วย ใจแล้ว ย่อมกำหนัดในธรรมารมณ์ที่น่ารัก ย่อมขัดเคืองในธรรมารมณ์ที่น่าชัง
ย่อมเป็นผู้มีสติใน กายไม่ตั้งมั่น และมีจิตเป็นอกุศลอยู่
ย่อมไม่ทราบชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมด แห่งเหล่าอกุศลธรรมอันลามกตามความเป็นจริง
เขาเป็นผู้ถึงพร้อมซึ่งความยินดียินร้ายอย่างนี้ เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดีมิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี
ย่อมเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจ เวทนานั้นอยู่
เมื่อกุมารนั้นเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินก็เกิดขึ้น
ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายเป็นอุปาทาน
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส
ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้ อย่างนี้.
ว่าด้วยพุทธคุณ
[๔๕๔]ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ
ถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะ ไปดีแล้ว รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่น ยิ่งกว่า
เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม
ตถาคตนั้น ทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง
แล้วสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม
แสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง
คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้เกิดภายหลัง ในสกุลใดสกุลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้น
ครั้นฟังธรรมแล้ว ได้ศรัทธาในตถาคต เมื่อได้ศรัทธานั้นแล้ว
ย่อมตระหนักว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง
การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่เขาขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย
ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต
สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต.
[หมายเหตุ - ฆราวาสหรือผู้ครองเรือนจึงปฏิบัติให้บริบูรณ์ได้โดยยาก ยากดุจดั่งสังข์อันแสนขุรขะที่เขาต้องนำมาขัดให้เรียบ ดังพุทธพจน์ที่แสดงข้างต้น เหตุด้วยต้องมีกิจ,มีหน้าที่ ตามควรแห่งฐานะตนในโลกที่ครองอยู่นั่นเอง ซึ่งเมื่อเป็นกิจหรือหน้าที่อันควรแล้วไม่ปฏิบัติเสีย ก็เป็นโมหะอันเกิดแต่อวิชชาจึงมงายเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นการปฏิบัติให้บริสุทธิ์จึงเป็นได้อย่างยากลำบากและกินเวลานานกว่าการออกบวชมากเป็นธรรมดา แต่กระนั้นก็ตามฝ่ายฆราวาสก็อย่าได้มีมิจฉาทิฏฐิหรือวิจิกิจฉาไปท้อแท้เสียจนขาดความเพียรในการปฏิบัติ โดยลืมพิจารณาว่า อย่างไรเสีย ก็สามารถดับทุกข์ได้ตามฐานะแห่งตนในทางธรรม อันเป็นสุขยิ่งเหนือปุถุชนเช่นกัน กล่าวคือ ตามฐานะมรรคผลแห่งตน อาทิ โสดาปัตติผล เป็นต้นไป อันเป็นโสดาบัน ที่หมายถึงผู้ถึงกระแสที่จะนำไปสู่นิพพาน อันท่านได้กล่าวไว้ว่า เป็นการเข้าสู่กระแสของพระนิพพานเสียแล้ว กล่าวคือ มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า ย่อมถึงที่สุดแห่งทุกข์ในกาลต่อไปอย่างแน่นอน เพียงรอกาลเวลาหรือเหตุปัจจัย อันเป็นไปในลักษณาการของการสั่งสมรอกาลไป จนพร้อมการถึงที่สุดแห่งทุกข์ อันไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในที่สุดโดยธรรมหรือสภาวธรรม]
ฐิตา:
ความเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาสาชีพ
[๔๕๕]เมื่อเขาบวชแล้ว ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพของภิกษุทั้งหลาย
ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์วางทัณฑะ วางศาตราแล้ว
มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวัง ประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่.
ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่.
ละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจาก เมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน.
ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ พูดเป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก.
ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากการส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายข้างนี้ หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อทำลายข้างโน้น สมานคน ที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน. ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รักจับใจ เป็นของชาวเมือง อันคนส่วนมากใคร่พอใจ.
ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิง อรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วย ประโยชน์ โดยกาลอันควร.
เว้นขาดจากการพรากพืชคาม และภูตคาม.
ฉันหนเดียว เว้นจากการฉันในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาล.
เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล.
เว้นขาดจากการทัดทรงประดับและตบแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ของหอม และเครื่องประเทืองผิวอันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว.
เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่.
เว้นขาดจากการรับทองและเงิน. เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ.
เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ. เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี.
เว้นขาดจากการรับทาสีและทาส. เว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน.
เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ. เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร.
เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา.
เว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้.
เว้นขาดจากการซื้อและการขาย.
เว้นขาดจากการโกงด้วยตราชั่ง การโกงด้วยของปลอม และการโกงด้วยเครื่องตวงวัด.
เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง.
เว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และการกรรโชก.
ภิกษุนั้นเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง
จะไปทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง นกมีปีก จะบินไปทางทิศาภาคใดๆ ก็มีแต่ปีกของ ของตัวเป็นภาระบินไป ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นแล เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วย บิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง.
ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์อันเป็นอริยะเช่นนี้ ย่อมเสวยสุขอันไม่มีโทษในภายใน.
ภิกษุนั้นเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ เธอ
ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก
คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์.
ได้ยินเสียงด้วยโสต ... ดมกลิ่นด้วยฆานะ ... ลิ้มรสด้วยลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ...
รู้แจ้ง ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ
ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก
คืออภิชฌาและโทมนัส ครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในมนินทรีย์.
ภิกษุนั้นประกอบด้วยอินทรียสังวรอันเป็นอริยะเช่นนี้ ย่อมเสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลส ในภายใน.
ภิกษุนั้นย่อมทำความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการ คู้เข้า ในการเหยียดออก
ในการทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ
ย่อมทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง.
การชำระจิต
[๔๕๖]ภิกษุนั้น ประกอบด้วยศีลขันธ์อินทรียสังวร และสติสัมปชัญญะ อันเป็นอริยะเช่นนี้แล้ว
ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง.
เธอกลับจากบิณฑบาต ในกาลภายหลังภัตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า.
เธอละความเพ่งเล็งในโลกแล้ว มีใจปราศจากเพ่งเล็งอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็งได้.
ละความประทุษร้ายคือพยาบาทแล้ว ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้ายคือ พยาบาทได้.
ละถีนมิทธะได้แล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้.
ละอุทธัจจกุกกุจจะได้แล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะได้.
ละวิจิกิจฉาได้ แล้ว เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉาไม่มีความคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากวิกิจฉาได้.
[๔๕๗]ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตอันเป็นเครื่องทำปัญญาให้ถอย (ย่อมจะ)ได้แล้วกำลัง(ของจิตเกิดขึ้นนั่นเอง โดยปฏิบัติสมถสมาธิเพื่อดับนิวรณ์ เมื่อได้กำลังแล้วก็นำไปเกื้อหนุนในการธรรมวิจยะพิจารณาธรรมให้เกิดปัญญา โดยการ)
สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่.
บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต ณ ภายใน เป็นธรรมเอกผุด ขึ้น เพราะวิตกและวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่.
บรรลุ ตติยฌาน ...
บรรลุจตุตถฌาน.
ฐิตา:
ความดับอกุศลธรรม
ความดับอกุศลธรรม
[๔๕๘]ภิกษุนั้นเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมไม่กำหนัดในรูปที่น่ารัก
ย่อมไม่ขัดเคืองในรูปที่น่าชัง
เป็นผู้มีสติในกายตั้งมั่น และมีจิตหาประมาณมิได้อยู่
ย่อมทราบชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
อันเป็นที่ดับหมดแห่งอกุศลธรรมอันลามกตามความเป็นจริง.
เธอละ ความยินดียินร้ายอย่างนี้แล้ว เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี
ก็ไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้น
เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจ เวทนานั้นอยู่
ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายก็ดับไป
เพราะความเพลิดเพลินดับ อุปาทาน ก็ดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพก็ดับ
เพราะภพดับ ชาติก็ดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
และอุปายาสของภิกษุนั้นก็ดับ
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้ อย่างนี้.
ภิกษุนั้น ได้ยินเสียงด้วยโสต ...
ดมกลิ่นด้วยฆานะ ...
ลิ้มรสด้วยลิ้น ...
ถูกต้อง โผฏฐัพพะด้วยกาย ...
รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว
ย่อม ไม่กำหนัดใน ธรรมารมณ์ ที่น่ารัก
ย่อม ไม่ขัดเคืองใน ธรรมารมณ์ ที่น่าชัง
เป็นผู้มีสติในกายตั้งมั่น และมีจิตหาประมาณมิได้อยู่
ย่อมทราบ ชัด เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมตุติ
อันเป็นที่ ดับหมดแห่งอกุศลธรรมอันลามก ตามความเป็นจริง.
เธอละ ความยินดียินร้ายอย่างนี้แล้ว เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี
ก็ไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้น
เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจ เวทนานั้นอยู่
ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายก็ดับไป
เพราะความเพลิดเพลินดับ อุปาทานก็ดับ
ภพก็ดับ เพราะภพดับ ชาติก็ดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ โทมนัส และอุปายาสของภิกษุนั้นก็ดับ
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้ อย่างนั้น.
ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย พวกเธอจงทรงจำตัณหาสังขยวิมุตติโดยย่อของเรานี้
อนึ่ง พวกเธอจงทรงจำสาติภิกษุ ผู้เกวัฏฏบุตรว่า
เป็นผู้สวมอยู่ในข่ายตัณหา และกองตัณหาใหญ่ ดังนี้.
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น ชื่นชมยินดี
พระภาษิตของ พระผู้มีพระภาค ฉะนี้แล.
จบ มหาตัณหาสังขยสูตร ที่ ๘
: http://www.nkgen.com/773.htm
[มหาจัตตารีสกสูตร
(แสดงสัมมาทิฏฐิมี ๒ อย่างคือ โลกิยะและโลกุตระ อันมีความเนื่องสัมพันธ์กับพระสูตรนี้)]
>>> : http://www.tairomdham.net/index.php/topic,8438.0.html
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version