มหาตัณหาสังขยสูตร พุทธพจน์ และ พระสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่ม ๑๒
เป็นพระสูตรที่ตรัสแสดงเรื่องวิญญาณไว้อย่างแจ่มแจ้งอย่างปรมัตถ์ ทรงตรัสแสดงแก่สาติภิกษุ และภิกษุทั้งหลายในธรรมอย่างโลกุตระอันเกี่ยวกับวิญญาณไว้ว่า วิญญาณเกิดแต่เหตุปัจจัย กล่าวคือเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบันธรรม วิญญาณโดยโลกุตระจึงไม่ได้หมายถึงเจตภูต หรือกายทิพย์ หรือปฏิสนธิวิญญาณที่หมายถึงวิญญาณที่ท่องเที่ยวหรือล่องลอยไปเพื่อแสวงหาที่อุบัติหรือภพใหม่ อันทรงตรัสไว้อย่างแจ่มแจ้งในพระสูตรนี้ว่า ความคิดความเห็นเยี่ยงนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิอันลามกชั่วร้าย เหตุที่ท่านจัดว่าชั่วร้ายเพราะว่าทำให้ไม่สามารถดำเนินไปในองค์มรรคหรือโลกุตระได้นั่นเอง, และทรงแสดงปัจจัยที่เป็นเหตุให้เกิดวิญญาณ , ตลอดจนแสดงเหตุแห่งการเกิดในครรภ์ ที่แสดงชีวิตที่คลอดออกมาเป็นตัวเป็นตนเป็นทารกว่าเกิดแต่เหตุอะไร อย่างแจ่มแจ้งอย่างปรมัตถ์
พระสูตรนี้เมื่อโยนิโสมนสิการโดยแยบคาย ย่อมแสดงให้เห็นการเกิดหรือชาติในรูปแบบต่างๆกันอีกด้วย, ชาติในภาษาธรรมจึงมิได้มีแต่ความหมายว่า เกิดเป็นตัวตนจากครรภ์มารดาแต่อย่างเดียว, ดังนั้น ชาติ ในภาษาธรรมหรือโลกุตระจึงมีความหมายครอบคลุมถึง การเกิดขึ้นของสังขารต่างๆ ทั้งปวงอีกด้วยเช่นกัน
อนึ่งการแสดงธรรมของพระองค์ท่าน ให้เกิดปัญญาเห็นชอบหรือสัมมาทิฏฐินั้น พระองค์ท่านทรงแบ่งออกเป็น ๒ อย่างจริง ดังที่กล่าวแสดงไว้ในพระสูตรชื่อ มหาจัตตารีสกสูตร ที่แสดงสัมมาทิฏฐิมี ๒ อย่างคือโลกุตระ และโลกิยะ ที่แม้ต่างล้วนดีงามทั้ง ๒ แต่ก็มีเป้าหมายหรือจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน ดังแสดงไว้แล้วในมหาจัตตารีสกสูตร, ในพระสูตร มหาตัณหาสังขยสูตร นี้เป็นการแสดงธรรมอย่างโลกุตระ เพื่อองค์มรรค เพื่อความหลุดพ้นจากกองกิเลสอันเป็นทุกข์ จึงเป็นสุขยิ่ง, การกล่าวถึงวิญญาณในพระสูตรนี้ จึงเป็นการกล่าวอย่างโลกุตระที่จำเป็นไปในการธรรมวิจยะทั้งในปฏิจจสมุปบาทและขันธ์ ๕ ให้ถึงขั้นธรรมสามัคคี
ความเข้าใจในเรื่องวิญญาณ ๖ อย่างถูกต้องอย่างโลกุตระดังในพระสูตรนี้ ในหัวข้อปัจจัยที่เป็นเหตุให้เกิดวิญญาณ เป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่งในการเจริญวิปัสสนาทั้งในปฏิจจสมุปบาทและขันธ์ ๕ ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ฯลฯ.ให้ก้าวหน้า
มหาตัณหาสังขยสูตรว่าด้วยสาติภิกษุมีทิฏฐิลามก
(ในเรื่องวิญญาณ)
[๔๔๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี
สมัยนั้น ภิกษุชื่อสาติ ผู้เกวัฏฏบุตร(บุตรชาวประมง) มีทิฏฐิอันลามก เห็นปานนี้เกิดขึ้นว่า
เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น.
ภิกษุมากด้วยกันได้ฟังว่า ภิกษุสาติ ผู้เกวัฏฏบุตร มีทิฏฐิอันลามกเห็นปานนี้เกิดขึ้นว่า
เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น
จึงเข้าไปหาสาติภิกษุแล้ว ถามว่า ดูกรท่านสาติ ได้ยินว่า ท่านมีทิฏฐิอันลามกเห็นปานนี้ เกิดขึ้นว่า
เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น ดังนี้ จริงหรือ?
(กล่าวคือ สาติภิกษุมีความคิดความเข้าใจผิดด้วยอวิชชาไปว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าวิญญาณ เป็นไปในลักษณะของเจตภูตที่สามารถท่องเที่ยวล่องลอย หรือในสภาพอัตตาหรืออาตมัน หรือในสภาพของปฏิสนธิวิญญาณนั่นเอง แล้วยึดมั่นถือมั่นในความเชื่อความเข้าใจอย่างนี้ของตัวของตนด้วยกิเลสอย่างเหนียวแน่นไม่ปล่อยวางหรืออุปาทานนั่นเอง จึงเป็นเหตุให้ไม่ฟังเหตุผลจากภิกษุอื่นที่พยายามช่วยเหลือแก้ไขทิฏฐิอันเห็นผิดนี้ หรือเมื่อฟังก็ฟังอย่างดื้อดึงคือไม่ยอมพิจารณาอย่างเป็นกลางมีเหตุมีผล เห็นเป็นไปตามความเชื่อของตัวตนแต่ฝ่ายเดียว ดังที่เธอได้ตอบยืนยัน)
เธอตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงว่า
วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป มิใช่อื่นดังนี้ จริง.
ภิกษุเหล่านั้นปรารถนาจะปลดเปลื้องภิกษุสาติ ผู้เกวัฏฏบุตรจากทิฏฐินั้นจึงซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวนว่า
ดูกรท่านสาติ ท่านอย่ากล่าวอย่างนี้ ท่านอย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค
การกล่าวตู่ พระผู้มีพระภาค ไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคมิได้ตรัสอย่างนี้เลย
ดูกรท่านสาติ (ความจริงแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ว่า)วิญญาณอาศัย ปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น
พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยปริยายเป็นอเนก ความเกิดแห่งวิญญาณ เว้นจากปัจจัยมิได้มี.
(หรือกล่าวชัดๆก็คือ วิญญาณเป็นสังขาร จึงเกิดมาแต่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ดังจักได้สดับในลำดับต่อๆไปในพระสูตรนี้)
ภิกษุสาติ ผู้เกวัฏฏบุตร อันภิกษุเหล่านั้น ซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวนอยู่อย่างนี้ ก็ยังยึดมั่น ถือมั่นทิฏฐิอันลามกนั้นรุนแรง
กล่าวอยู่(แต่อย่างเห็นผิด)ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า
วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น ดังนี้.