อิ่มกาย อิ่มใจ > สุขภาพกับชีวิต

แนะนำ วิธีการป้องกัน โรคภัยไข้เจ็บ

<< < (21/33) > >>

sithiphong:
"เพลียเรื้อรัง" โรคนี้มีอยู่จริง และอาจพ่วงถึงไต...


-http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1400063044&grpid=&catid=09&subcatid=0902-



หลายคนอาจจะสงสัยว่า มีด้วยหรือ ไอโรคเพลียเรื้อรัง ไม่ยักจะเคยได้ยิน E-mag ขอบอกเลยว่ามี และก็ค่อนข้างจะร้ายแรงหากอาการหนักมากๆเสียด้วย


คุณเคยรู้สึกเพลียมากๆ จนไม่อยากจะแก้ไข ไม่อยากทำอะไรกับชีวิตไหม?

 


อาการเพลีย ในที่นี้ คืออาการที่เกิดกับร่างกาย เหนื่อยกาย ไม่ใช่เหนื่อยใจ แบบว่ารู้สึกเหนื่อย เพลีย หมดแรง ไร้เรี่ยวแรง ปวดเมื่อยเนื้อตัว ไม่ได้ทำงานหนักหนาสาหัสสักเท่าไหร่ก็รู้สึกเพลีย บอกได้เลยว่า เป็นไปได้ที่คุณกำลังเสี่ยงที่จะเป็นโรคเพลียเรื้อรัง

 

โรคเพลียมีจริงหรือ


เจ้าโรคเพลียเรื้อรังนี้ขอบอกว่ามีจริงๆ ค่ะ โดยชื่อทางการแพทย์ก็คือ Chronic Fatigue Syndrome หรือ CFS ไม่ใช่อาการเจ็บไข้ได้ป่วยทั่วไปอย่างไข้หวัดหรือกล้ามเนื้ออักเสบ เพราะหากเป็นการเจ็บป่วยตามธรรมดาเหล่านี้ เราจะอธิบายได้และค้นหาสาเหตุได้


แต่อาการป่วยจาก CFS เป็นอาการป่วยที่ยากต่อการรักษา เพราะหาสาเหตุไม่พบและอธิบายไม่ได้ รวมถึงค่อนข้างวินิจฉัยยากเพราะคล้ายกับหลายโรค โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่ และบางทีก็เกิดจากสร่างไข้ใหม่ ๆ เลยทำให้ตัวคุณเองอาจไม่แน่ใจว่าเพราะยังไม่ฟื้นไข้ดีหรือเปล่า


โรค CFS ทำให้ภูมิต้านทานโรคตกลง และมีอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง บางคนมีความจำเสื่อม สมาธิสั้นลง ปวดตามข้อหรือกล้ามเนื้อ เจ็บต่อมน้ำเหลือง (เช่น ตรงรักแร้ ขาหนีบ ฯลฯ) และเจ็บคอ


ภาวะเหนื่อยเรื้อรังนี้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 2-4 เท่า แต่ตัวเลขนี้เอาแน่ยังไม่ได้ อาจเป็นไปได้ว่าเพราะผู้หญิงใส่ใจสุขภาพมากกว่า พอรู้สึกไม่สบายก็มักไปหาหมอมากกว่าผู้ชายเลยมีสถิติมากกว่าก็เป็นได้


อ.จูดี มิโควิทส์ และคณะ แห่งสถาบันวิทท์มอร์ พีเทอร์ซัน สถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐฯ และคลินิกคลีฟแลนด์ สหรัฐฯ พบไวรัสมีชื่อว่า ‘XMRV’ ในเลือดของคนไข้ CFS 68 ใน 101 คน = 67.3% เทียบกับคนที่มีสุขภาพดีพบไวรัสนี้ 8 ใน 128 = 6.25%


ยังไม่มีใครทราบว่าภาวะเพลียเรื้อรังเกิดจากอะไรกันแน่ ชื่อนี้ได้มาจากอาการที่แสดงให้เห็น เพราะไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกอ่อนเพลียมากๆ แม้จะพักผ่อนมากเท่าไรแล้วก็ตาม ทั้งเหนื่อยล้าเกินกว่าอยากจะหยิบจับทำอะไรๆ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานและการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมาก

 

ระวัง! ภาวะเพลียเรื้อรัง รักษาได้ แต่ไม่หายขาด


การสังเกตตัวเองอยู่เสมอ จะทำให้คุณรู้ตัวได้เร็วกว่าว่าคุณกำลังเสี่ยงกับโรคนี้อยู่หรือเปล่า บ่อยครั้งที่ภาวะเหนื่อยเรื้อรังเกิดหลังจากป่วยเล็กๆ น้อยๆ เช่นว่าเป็นไข้หวัดหรือท้องเสีย บางครั้งก็เกิดในช่วงที่เครียดจัด แต่ก็มีเหมือนกันที่อยู่ดีๆ ก็เป็นขึ้นมาโดยไม่มีอาการเตือนหรือไม่สบายมาก่อน ปกติแล้วอาการจะเกิดแบบต่อเนื่อง หรือเป็นๆ หายๆ ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 เดือน


เพราะอาการของโรคนี้จะคลุมเครือชี้ชัดได้ยากกว่าเป็นอะไรกันแน่ และแพทย์น้อยคนนักที่จะนึกถึง ซึ่งถ้าแพทย์ให้การรักษาตามอาการแล้วยังไม่ดีขึ้น หรือมีหลายอาการประกอบกัน ก็เข้าข่ายว่าน่าจะเป็นภาวะเหนื่อยเรื้อรัง

 

 


เพราะไม่มียาเฉพาะที่จะรักษาโรคนี้ให้หายขาด การรักษาตามอาการและการดูแลสุขภาพกายและใจจึงเป็นหนทางเดียวในขณะนี้ที่จะช่วยบรรเทาได้ พร้อมๆ ไปกับการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ทานอาหารให้สมดุล พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเบาๆ เป็นประจำ หลีกเลี่ยงความเครียด


ที่สำคัญพอรู้ตัวว่าเป็นหรือเพียงแค่สงสัยก็ควรรีบกำจัดสิ่งที่จะไปกระตุ้นให้เป็นหนักขึ้นนั้นซะ ที่สำคัญหากคิดว่าตนเองมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้แล้ว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที


เข้าใจว่าชื่อโรคอาจจะฟังดูไม่น่าเชื่อว่าจะมีเท่าไหร่ แถมฟังดูไม่น่าอันตรายอะไร แต่หากทิ้งไว้เพราะคิดว่าเป็นโรคเล็กๆ น้อยๆ ไม่น่ากลัวคงไม่ดีแน่ เพราะโรคนี้ก็เหมือนกับโรคอื่นๆ ทั่วไป ที่ยิ่งปล่อยทิ้งไว้ รังแต่จะเป็นอันตรายร้ายแรงในอนาคต

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก -www.emaginfo.com/-

sithiphong:
คัน มีกลิ่นเหม็นที่จุดซ่อนเร้นทำไงดี? มีวิธีดูแลจุดซ่อนเร้นดีๆมาบอก


-http://guru.sanook.com/27154/%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%99-%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%8B%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B8%B5-%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%8B%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B9%86%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%81/-



ปัญหาอาการคันและมีกลิ่นของจุดซ่อนเร้น ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่น่าอายที่ไม่อยากให้ใครรู้ แต่บางครั้งถ้าจุดซ่อนเร้นของเรามีอาการคัน และมีกลิ่นเหม็นที่รุนแรง มันก็คงถึงเวลาที่เราจะต้องไปหมอให้หมอช่วยรักษาให้ โดยเฉพาะอาการคันซึ่งเป็นสิ่งผิดปกติที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับจุดซ่อนเร้น เพราะมันมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส ซึ่งถ้าไม่รับรักษาปัญหาที่จุดซ่อนเร้นของเราก็อาจลุกลามใหญ่โตได้

วิธีแก้ปัญหากลิ่นที่จุดซ่อนเร้น


    วันนี้มีวิธีดูแลรักษาจุดซ่อนเร้นมาฝาก ทำยังไงไม่ให้จุดซ่อนเร้นเราคันและมีกลิ่น กันไว้ดีกว่าแก้นะ

1. ล้างทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นด้วยน้ำเปล่าก็เพียงพอ


บางคนคิดว่าการทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นที่ดีคือการใช้น้ำยาทำความสะอาดที่มีวางขายกัน ซึ่งจริงมันก็ดีแต่ใช้บ่อยๆก็ไม่ได้ อาจทำให้จุดซ่อนเร้นของเราเกิดการระคายเคืองได้ น้ำเปล่าเป็นสิ่งที่ช่วยทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นได้ดีที่สุด วิธีทำความสะอาดคือ ให้ใช้น้ำเปล่าล้างจุดซ่อนเร้นตามปกติ และใช้กระดาษทิชชู่สะอาดๆซับบริเวณจุดซ่อนเร้นให้สะอาด ไม่ควรใช้หัวฉีดทำความสะอาดฉีดเข้าไป เพราะมันรุนแรงเกินไป ยิ่งเป็นหัวฉีดตามห้องน้ำในห้างยิ่งน่ากลัว เพราะเชื้อโรคอาจติดอยู่ที่หัวฉีดได้ นอกจากนี้การใช้น้ำอุ่นเช็ดทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการทำความสะอาดที่ดีด้วยเช่นกัน

2. ไม่ควรใช้น้ำยาสวนล้างช่องคลอด หรือน้ำยาฆ่าเชื้อแรงๆ


เพราะน้ำยาเหล่านี้มันจะเข้าไปทำลายเชื้อแบคทีเรียดีๆที่ช่วยป้องกันเชื้อราที่อาจเกิดขึ้นกับจุดซ่อนเร้นของเราได้ โดยเชื้อราที่ว่ามีชื่อว่า "แลคโตแบซิลไล" ซึ่งจะทำให้ช่องคลอดของสาวๆมีความเป็นกรดอ่อนๆ สามารถช่วยป้องกันการเกิดเชื้อราได้เป็นอย่างดี

3. เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆเวลามีประจำเดือน


เวลาที่มีประจำเดือนเป็นช่วงที่จุดซ่อนเร้นสกปรกได้ง่าย ซึ่งอาจทำให้เกิดกลิ่นและติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้นเวลามีประจำเดือนควรเปลี่ยนผ้าอนามัย และควรเข้าห้องน้ำบ่อยๆ 2-3 ชั่วโมงเข้าครั้งหนึ่งจะดีมาก เป็นวิธีที่ช่วยป้องกันการเกิดกลิ่นที่จุดซ่อนเร้นได้เป็นอย่างดี

4. .ใส่กางเกงในที่ระบายอากาศดี


อีกหนึ่งสาเหตุของความอับชื้นบริเวณจุดซ่อนเร้นก็คือความอับชื้นที่เกิดขึ้นเนื่องจากสวมใส่กางเกงในที่ระบายอากาศไม่ดี ทำให้กลิ่นอับไม่สามารถระบายออกไป ซึ่งเป็นที่มาของการเกิดเชื้อราที่จุดซ่อนเร้นได้ กางเกงในที่ดีที่ควรสวมใส่ควรทำมาจากผ้าฝ้าย บาง เบา ระบายอากาศได้ดี นอกจากนี้ถ้าเป็นไปได้ควรหลีดเลี่ยงการใส่กางเกงฟิต เช่นกางเกงรัดรูป หรือกางเกงยีนส์ขาเดปฟิต เพราะจำทำให้เกิดการเสียดสีบริเวณจุดซ่อนเร้นมากและทำให้เกิดการหมักหมมเพิ่มขึ้นได้

วิธีสังเกตการติดเชื้อจากตกขาวที่เกิดขึ้น

    ตกขาวเป็นก้อนเเหมือนตะกอนนมสีขาว มีอาการร่วมด้วย อาจติดเชื้อรา
    ตกขาวมีสีเหลืองเขียว เหม็นเปรี้ยว อาจติดเชื้อแบคทีเรีย
    ตกขาวมีสีเทา มีอาการคัน แสบ ร้อน อาจติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์

    จุดซ่อนเร้นเป็นอวัยวะที่สำคัญของสาวๆ ควรดูแลและป้องกันการตอดเชื้อรา เชื้อแบคทีเรียให้ดี นอกจากนี้ควรทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นอย่างถูกวิธีเพื่อป้องกันการเกิดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ตามมา เพียงเท่านี้ก็ไม่ต้องกังวลกับปัญหากลิ่นเหม็นที่จุดซ่อนเร้นอีกต่อไป ที่มา : healthbeautydd




sithiphong:
เด็กฮิตเคี้ยวหมากฝรั่ง-อมลูกอมดับกลิ่นปาก เสี่ยงเจอมะเร็ง!!
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    20 พฤษภาคม 2557 15:34 น.

-http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000055985-



  เด็กเกินครึ่งนิยมเคี้ยวหมากฝรั่ง อมลูกอมดับกลิ่นปาก กรมอนามัยชี้เข้าใจผิดอย่างแรง ระบุช่วยให้มีกลิ่นหอมชั่วคราว แต่เสี่ยงได้รับอันตรายจากสารในหมากฝรั่งและลูกอมจนเกิดมะเร็ง เป็นอันตรายต่อสมอง ต่อมไทรอยด์ ตับ และไต ได้ หากรับสารมากเกินไป แนะแปรงฟันด้วยสูตร 222

  นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการสุ่มสำรวจการบริโภคอาหารว่างและเครื่องดื่ม การดูแลสุขภาพช่องปาก และสภาวะทันตสุขภาพของเยาวชนในโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศปี 2556 ของกรมอนามัย พบว่า ร้อยละ 55.1 นิยมเคี้ยวหมากฝรั่ง และร้อยละ 42.3 อมลูกอม เพื่อระงับกลิ่นปาก โดยเข้าใจผิดว่าจะช่วยลดกลิ่นปาก แต่ความจริงแล้วมีกลิ่นหอมเพื่อกลบกลิ่นปากชั่วคราวเท่านั้น นอกจากนี้ ยังอาจได้รับอันตรายจากสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของหมากฝรั่งและลูกอมมากเกินไป เช่น สารกันเสีย สารให้ความหวานแทนน้ำตาลเอสปาร์แตม ซึ่งหากบริโภคมากเกินกว่า 50 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน อาจก่อให้เกิดมะเร็งและอันตรายต่อสมองได้ รวมทั้งสารที่ให้รสชาติเหมือนน้ำตาลจริงและให้พลังงานต่ำ เช่น ซูคลาโลส หากได้รับมากเกิน 15 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน จะเป็นอันตรายต่อต่อมไทยรอยด์ ตับ และไต ได้เช่นกัน
       
       นพ.พรเทพ กล่าวว่า การลดกลิ่นปากที่มีประสิทธิภาพต้องดูแลและทำความสะอาดช่องปากเป็นประจำตามสูตร 222 คือ แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ เช้าและก่อนนอน แปรงฟันนานอย่างน้อย 2 นาที เพื่อให้สะอาดทั่วทั้งปากทุกซี่ ทุกด้าน และให้ฟลูออไรด์ได้ใช้เวลาทำปฏิกิริยากับฟันเพื่อป้องกันฟันผุอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงปล่อยให้ปากสะอาดไม่กินขนมหวาน น้ำอัดลมหลังแปรงฟัน 2 ชั่วโมง หากให้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟันวันละครั้ง ก็จะดีต่อสุขภาพช่องปากของเยาวชนและคนวัยหนุ่มสาวมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ แนะนำให้แปรงลิ้นด้วยจะช่วยลดกลิ่นปากได้ดี รวมทั้งการจิบน้ำเปล่าบ่อยๆ ก็จะช่วยรักษาสุขภาพกายและคงความสดชื่นของปากได้ แต่ถ้ามีเหงือกอักเสบ หินปูน หรือฟันผุ ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที
       
       “วิธีทดสอบกลิ่นปากอย่างง่ายๆ ให้เอามือปิดปากและจมูก เป่าลมแรงๆ ออกจากปาก หรือใช้วิธีเลียที่ข้อมือและดมดู เมื่อทดสอบดูแล้วพบว่ามีกลิ่นปากก็สามารถป้องกันได้ตามสาเหตุ เช่น หากมีฟันผุเป็นรูควรไปรักษาด้วยการอุดฟัน และหมั่นดูแลทำความสะอาดในช่องปากด้วยการแปรงฟันที่ถูกวิธีเพื่อลดปัญหาฟันผุ ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียฟันในวัยเด็กที่อาจสะสมจนกลายเป็นการสูญเสียฟันทั้งปากในวัยสูงอายุตามมาได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว




.


sithiphong:
ตรวจสุขภาพ ใครควรตรวจ? โดยวิธีใด? เมื่อไร?
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    26 พฤษภาคม 2557 23:16 น.

-http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000058530-


การคัดกรองทางสุขภาพ หรือการตรวจสุขภาพในปัจจุบัน มีความหลากหลายมาก เป็นช่องทางทำรายได้ให้ธุรกิจทางการแพทย์มากมาย ในขณะเดียวกันก็เป็นรูรั่วขนาดใหญ่ของทรัพยากรสุขภาพของชาติได้เช่นกัน
       เป็นที่ทราบกันว่า ไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองทางสุขภาพใดที่สามารถให้ผลการตรวจคัดกรองสุขภาพที่ถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ กล่าวคือคนที่เป็นโรคบางคนอาจได้รับผลการคัดกรองที่สรุปว่าไม่เป็นโรค ทั้งที่ตนเองเป็นโรค (ผลลบลวง) ขณะที่คนปกติที่ไม่เป็นโรคอาจได้ผลการคัดกรองที่เป็นบวก (ผลบวกลวง)
       รวมทั้งบางวิธีขาดหลักฐานสนับสนุนด้านประสิทธิภาพว่ามีประโยชน์ และบางวิธีมีหลักฐานชัดเจนว่ามีโทษ (เพราะนำไปสู่การตรวจอื่นๆ หรือการรักษาที่อันตรายต่อสุขภาพ)
       การตรวจคัดกรองสุขภาพ เป็นการซักถามหรือตรวจเบื้องต้น เพื่อค้นหาความเสี่ยงหรือโรคในประชากรสุขภาพดี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกัน ลดความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนจากโรค วิธีการที่นำมาใช้คัดกรองโรคหรือปัญหาสุขภาพหนึ่งๆ อาจมีได้หลายวิธี
       ข้อมูลจากผลการศึกษา เรื่อง การพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ด้านการคัดกรองทางสุขภาพระดับประชากรในประเทศไทย (http://www.hitap.net/research/10643) จัดทำโดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอ มาตรการที่เหมาะสมสำหรับการตรวจคัดกรอง 12 โรค/ปัญหาสุขภาพที่สำคัญของคนไทยที่มีสุขภาพแข็งแรงทั่วไป ในที่นี้ขอเสนอเฉพาะการตรวจคัดกรองปัญหาสุขภาพบางประเภท ดังนี้
       ทั้งหญิงและชาย ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ควรคัดกรองโรคเบาหวาน โดยการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหาร (fasting plasma glucose) โดยทำการคัดกรองซ้ำทุก 5 ปี
       ทั้งหญิงและชาย ที่มีอายุ 31-40 ปี ควรคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบบี จำนวน 1 ครั้งในชีวิต ร่วมกับการให้วัคซีนหากพบว่าไม่มีภูมิคุ้มกัน
       ทั้งหญิงและชาย ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรคัดกรองหัวใจเต้นผิดจังหวะ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โดยการคลำชีพจรทุกครั้งที่ไปรับบริการที่สถานพยาบาล หากผลผิดปกติให้ตรวจยืนยันด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
       หญิง ที่มีอายุระหว่าง 30-60 ปี หรือ หรือเมื่อเริ่มมีเพศสัมพันธ์ (ในกรณีที่อายุน้อยกว่า 30 ปี) ควรทำการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีตรวจภายใน (Pap smear หรือ VIA) ทุก 5 ปี
       สำหรับ รายการตรวจคัดกรองที่ไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีประโยชน์ หรือไม่จำเป็นต้องตรวจในคนปกติทั่วไป เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม การถ่ายภาพรังสีทรวงอก การตรวจการทำงานของไต และตับ
       ข้อเสนอข้างต้น ไม่รวมการตรวจคัดกรองในผู้ที่มีประวัติเสี่ยง การตรวจวินิจฉัยโรค การตรวจติดตามเพื่อการรักษาโรค การตรวจคัดกรองภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ในผู้ป่วย และการตรวจคัดกรองในหญิงตั้งครรภ์ กลุ่มเหล่านี้ควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ในการพิจารณาวิธีการตรวจคัดกรองที่เหมาะสม
       แต่มีการตรวจคัดกรองที่ทำได้ง่ายๆ ไม่เปลืองตังค์ และทุกคนทำได้ด้วยตนเอง
       นั่นคือ ลองตั้งคำถามต่อไปนี้ เพื่อคัดกรองความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยในอนาคตหรือไม่
       1.ฉันสูบบุหรี่หรือไม่
       2.ฉันดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่
       3.ฉันขับรถเร็วหรือไม่
       4.ฉันบริโภคอาหารหวานมากหรือไม่
       5.ฉันบริโภคอาหารปนเปื้อนสารเคมีหรือไม่
       6.ฉันออกกำลังกายสม่ำเสมอหรือไม่
       7.ฉันนอนดึกพักผ่อนน้อยหรือไม่
       8.ฉันเครียดเป็นประจำหรือไม่
       9.ฉันโกรธง่ายและชอบทะเลาะกับผู้คนหรือไม่
       ถ้าท่านคัดกรองตนเองโดยใช้คำถามข้างต้น แล้วพบว่า “ใช่” เป็นส่วนใหญ่ นั่นแหละท่านมีความเสี่ยงสูงที่จะเจ็บป่วย ต้องรีบหาทางแก้ไขเสียโดยเร็ว

sithiphong:
เตือนภัย!! เสพติดข่าวมากไปอาจนำโรคภัยมาถึงตัว
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    1 มิถุนายน 2557 06:38 น.

-http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000060861-




โดย พญ.ญดา พงษ์กาญจนะ
       จิตแพทย์ที่ปรึกษา โรงพยาบาลปิยะเวท
       
       สถานการณ์บ้านเมืองในเวลานี้ ทำให้ประชาชนให้ความสนใจและติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ที่เสพติดข่าวการเมืองจากสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์อินเทอร์เน็ต หรือจากโลกสังคมออนไลน์ โดยบางคนถึงกับดูออนไลน์ผ่านมือถือตั้งแต่เช้าจรดเย็น หรือแม้กระทั่งเดินทางกลับบ้านนอนก็ยังเปิดมือถือทิ้งไว้ตลอดเวลาเลยทีเดียว โดยที่หารู้ไม่ว่าอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคภัยมาเยือนโดยไม่รู้ตัว
       
       พญ.ญดา พงษ์กาญจนะ จิตแพทย์ที่ปรึกษา โรงพยาบาลปิยะเวท ได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่เสพข่าวการเมืองมากเช่นนี้ว่าอาจเป็นการทำให้สมองทำงานหนักอยู่ตลอดเวลา นำพาไปสู่ภาวะความเครียด และส่งผลต่อสุขภาพร่างกายได้ในที่สุด บางคนการเสพข่าวอาจก่อให้เกิดความรู้สึกกดดัน ไม่สบายใจ วุ่นวายใจ บางคนอาจถึงขั้นซึมเศร้าหรือมีอาการทางจิตได้ ในขณะที่บางคนภาวะความเครียดอาจแสดงออกมาในรูปแบบอาการทางร่างกาย เช่น ใจสั่น ความดันโลหิตสูง เวียนศีรษะ ปั่นป่วนท้อง คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ หรือฝันร้าย ในคนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ภาวะความเครียดสามารถส่งผลให้อาการของโรคประจำตัวแย่ลงหรือควบคุมโรคประจำตัวลำบาก
       เรามาดูกันดีกว่าว่าแนวทางการรับมือกับโรคเครียด 7 วิธีง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้ มีวิธีอะไรบ้าง
       
       1. ใช้วิจารณญาณเลือกรับฟังข่าวสารจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้และเสพข่าวอย่างมีสติ รู้จักปล่อยวาง
       2. จำกัดช่วงเวลาที่ใช้ในการรับฟังข่าวสาร ปิดทีวี ปิดมือถือและเครื่องมือสื่อสารเมื่ออยู่กับคนในครอบครัว
       3. ทำจิตใจให้ผ่อนคลายอาจใช้วิธีนั่งสมาธิ สวดมนต์
       4. หากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลายความเครียดเช่น ออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง
       5. รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ ครบทั้ง 5 หมู่ งดเว้นการใช้สุราหรือสารเสพติด
       6. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ กำหนดเวลานอน และเวลาตื่นอย่างเป็นเป็นเวลา
       7. หากมีปัญหาที่ค้างคาใจควรหาคนปรึกษาไม่ควรเก็บไว้คนเดียว
       
       อย่างไรก็ตาม เราในฐานะผู้บริโภคสื่อก็ควรเลือกที่จะเปิดรับข่าวสารอย่างพอเหมาะพอดี ไม่มากหรือไม่น้อยจนเกินไป หากไม่รับรู้ข่าวสารเลยก็คงจะเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้ารับรู้มากจนเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ และหากเกิดปัญหาจากการเสพข่าวที่มากเกินไปแล้ว อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น เท่านี้ก็จะสามารถช่วยให้คุณรับมือกับความเครียดได้แล้วค่ะ

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version