อิ่มกาย อิ่มใจ > สุขภาพกับชีวิต

แนะนำ วิธีการป้องกัน โรคภัยไข้เจ็บ

<< < (24/33) > >>

sithiphong:
ภัยใกล้ตัวมนุษย์ออฟฟิศ


-http://www.dailynews.co.th/Content/Article/249412/%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%9F%E0%B8%9F%E0%B8%B4%E0%B8%A8-


ชีวิตมนุษย์ออฟฟิศส่วนใหญ่ใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงาน ทำให้ดวงตามีการใช้งานอย่างหนัก
วันศุกร์ 4 กรกฎาคม 2557 เวลา 03:00 น.

ชีวิตมนุษย์ออฟฟิศส่วนใหญ่ใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงาน ทำให้ดวงตามีการใช้งานอย่างหนัก เพราะต้องจับจ้องอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา ส่งผลให้เสี่ยงเกิดโรคที่เป็นอันตรายกับดวงตา 4 โรค ดังนี้

1.โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการของโรค“ออฟฟิศซินโดรม” จะมีอาการมองเห็นภาพซ้อน ตาโฟกัสช้ากว่าปกติ เคืองตา แสบตา ตาแห้ง ดวงตาล้า

2.โรคประสาทตาเสื่อม จะมีอาการภาพมีสีซีดจางไป อ่านหนังสือลำบาก แยกแยะใบหน้าคนยากขึ้น เห็นจุดดำบริเวณศูนย์กลางของภาพ

3.โรคต้อหิน มีอาการตาพร่ามัว เวียนหัวคลื่นไส้อาเจียน เห็นดวงไฟที่มีแสงจ้าเป็นรัศมีกระจาย

4.โรควุ้นในตาเสื่อม มีอาการเห็นคราบดำๆเหมือนหยากไย่ลอยไปมา หากมองแบ็คกราวน์ที่มีสีสว่างอาการจะชัดยิ่งขึ้น

“เดลินิวส์ออนไลน์” จึงนำวิธีการดูแลรักษา "สายตา" เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคมนุษย์ออฟฟิศ ด้วยวิธีง่ายๆ มาฝากกัน

1.ควรพักสายตาทุก 15 นาที ถ้าต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ด้วยการมองออกไปไกลๆ จะทำให้ดวงตาไม่เกิดอาการล้า อย่าขยี้ตา หากรู้สึกอ่อนล้าให้นวดคลึงเบาๆ และควรบริหาร ดวงตาเพื่อคลายความตึงเครียด

2. ปรับแสงหน้าจอคอมพิวเตอร์ ให้รู้สึกสบายตาโดยดูจากสภาพแวดล้อมในห้องด้วยว่า เมื่อส่องมากระทบจะมีแสงจ้าเกินไปหรือไม่ เพราะแสงที่สว่างมากจะส่งผลเสียต่อตาได้ง่าย อาจทำให้รู้สึกแห้งและแสบตา

3.หมั่นตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำสม่ำเสมอ ควรมีแบบ ทดสอบ Amsler grid ไว้ที่บ้านเพื่อจะได้ทดสอบสายตาด้วยตนเอง และที่สำคัญควรหันมารับประทานผักและผลไม้ที่มีสีส้มและสีเหลืองเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการใช้สายตาท่ามกลางแสงแดดจ้าเป็นเวลานาน ๆ และให้ใส่แว่นตากันแดดที่มีระบบป้องกันรังสียูวีด้วย

4. หลังทำงานเสร็จ หลับตา แล้วใช้น้ำเย็นชโลมดวงตาหรือหาผ้าชุบน้ำหมาด ๆ มาปะคบประมาณ 5 นาที จะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อตา และทำให้เลือดหมุนเวียนมาเลี้ยงดวงตาได้ดี

5. สำหรับผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์อาจจะเกิดอาการตาแห้งเพราะขาดน้ำหล่อเลี้ยง เพราะห้องที่มีคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ ก็มักจะมีเครื่องปรับอากาศอยู่ด้วย เมื่อบวกกับความร้อนจากเครื่องคอมพิวเตอร์ จะทำให้อากาศแห้งการหยอดน้ำตาเทียมจะช่วยได้

6. ควรกะพริบตาให้บ่อยครั้งกว่าปกติเพื่อให้มีน้ำหล่อเลี้ยงดวงตาอยู่เสมอ ภายใน10วินาที ลองพยายามกะพริบตาสัก1-2ครั้ง จะช่วยลดความอ่อนล้าของสายตาได้มาก

7. ใช้เลนส์แว่นตาที่มีคุณสมบัติ ในการตัดรังสี ยูวี เวลาใช้งานหน้าคอมฯ นานๆ

อย่างไรก็ตาม การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก็ช่วยให้ดวงตาไม่เมื่อยล้าจนเกินไป และต้องทำควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพร่างกายเพื่อให้มีความสมดุลด้วย

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก -http://news.siamphone.com/news-14140.html-, -http://www.sukumvithospital.com/LASIK/light-well.html-

ขอบคุณภาพประกอบจาก -http://www.toptenthailand.com/topten/detail/20131127185953950-

sithiphong:
พบโรคสุกใสเพิ่ม 3 เท่า แนะเลี่ยงกินยาแอสไพรินลดไข้

-http://club.sanook.com/41095/%E0%B8%9E%E0%B8%9A%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B9%83%E0%B8%AA%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%A1-3-%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2-%E0%B9%81%E0%B8%99/-



ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคสุกใสอย่างใกล้ชิด เนื่องจากโรคนี้เริ่มกลับมาระบาดอีกครั้ง โดยปีนี้เพียง 6 เดือน พบผู้ป่วยแล้ว 6.3 หมื่นราย เฉลี่ยวันละ 350 รายสูงกว่าปี 2556 จำนวน 3 เท่าตัว และเสียชีวิต 1 ราย ย้ำให้ถ้ามีไข้ ผื่นหรือตุ่มใส ให้หลีกเลี่ยงกินยาแอสไพรินลดไข้ และหากมีไข้สูง มีผื่นขึ้นตามตัวมาก หายใจหอบ ชัก ซึมลง ต้องรีบพบแพทย์

นอกจากนี้ นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคสุกใส หรือโรคอีสุกอีใส เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า วาริเซลลา (Varicella) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดงูสวัด โรคนี้ติดต่อกันได้ง่ายทางการไอ จาม หายใจรดกัน หรือการสัมผัส รวมทั้งการใช้ของร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ที่นอน ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น อาการป่วยที่พบหลังได้รับเชื้อประมาณ 2-3 สัปดาห์ เด็กเล็กจะเริ่มจากมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร ส่วนผู้ใหญ่ จะมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัวคล้ายไข้หวัด มีผื่นขึ้นพร้อมๆ กับวันที่เริ่มมีไข้หรือขึ้นหลัง
มีไข้ 1 วัน บางรายมีตุ่มขึ้นในช่องปาก ทำให้ปากและลิ้นเปื่อย

โดยในระยะแรกจะมีผื่นแดงขึ้นตามตัว ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มใส และค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีขุ่นคล้ายหนอง แล้วกระจายไปตามใบหน้า ลำตัว แผ่นหลัง และช่องปาก หลังจากนั้นประมาณ 2-3 วัน ผื่นจะตกสะเก็ด สำหรับการรักษานั้น ในรายที่เป็นไม่มาก อาจดูแลตัวเองที่บ้านได้ตามอาการ เช่น หากมีไข้ ให้รับประทานยาพาราเซตามอล หากมีอาการคันให้ใช้ยาทา เพื่อลดอาการคันในรายที่มีไข้สูง มีผื่นขึ้นตามตัวมาก มีอาการเจ็บป่วยรุนแรงขึ้น เช่น หายใจหอบ ชัก ซึมลง ต้องรีบพบแพทย์

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ หากติดเชื้ออาจมีความเสี่ยงอาการรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น ได้แก่ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี /เอดส์ มะเร็ง เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ควรรีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทุกแห่ง เพื่อดูแลรักษา ลดความรุนแรงโรค สำหรับการป้องกันโรคนี้ ทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากผู้ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1-2 วันก่อนผื่นขึ้นจนถึงระยะผื่นตกสะเก็ด เด็กที่เป็นโรคสุกใส ควรหยุดไปโรงเรียน จนกว่าผื่นตกสะเก็ดหมดแล้วอย่างน้อย 1 วัน การป้องกันที่ได้ผลในปัจจุบันคือการฉีดวัคซีนป้องกัน วัคซีนนี้สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันโรคได้ดีในเด็กอายุ 1-12 ปี

 

นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า สิ่งที่สำคัญที่ประชาชนควรรู้เกี่ยวกับโรคสุกใส คือ

1.โรคนี้เกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย ไม่ใช่เฉพาะเด็ก

2.คนที่เคยเป็นโรคสุกใสแล้ว หากได้รับเชื้อสายพันธุ์ใหม่อาจป่วยซ้ำได้อีก

3. ส่วนใหญ่ที่เป็นโรคสุกใสจะหายได้เองภายใน 1-3 สัปดาห์ แต่บางคนอาจไม่หาย เนื่องจากติดเชื้อแทรกซ้อน ทำให้มีอาการต่างๆ เช่น แก้วหูอักเสบ ปอดอักเสบ ตับอักเสบ หรือติดเชื้อในสมอง ถ้ารับการรักษาช้าอาจทำให้เสียชีวิตได้

4.โรคสุกใสสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนร้อยละ 90 โดยวัคซีนช่วยลดความรุนแรงอาการป่วยได้

5.หากมีไข้ขึ้นสูง ควรรับประทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ร่วมกับใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อยๆ เพื่อบรรเทาอาการไข้

6.ไม่รับประทานแอสไพรินลดไข้ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการที่เรียกว่าไรย์ ซินโดรม (Reye’s syndrome) ซึ่งเป็นความผิดปกติของสมองและตับทำให้มีอาการสมองอักเสบร่วมกับตัวเหลือง จนเกิดอันตรายร้ายแรงได้

7.ทายาลดอาการคันตามที่แพทย์แผนปัจจุบันสั่ง

8.รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ดีมีประโยชน์ไปสร้างภูมิคุ้มกันมาต่อสู้กับเชื้อ และที่สำคัญคือต้องพักผ่อนและดื่มน้ำมากๆ

 

ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค โทร. 02 590 3163 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

ข้อมูลจาก :: สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข


sithiphong:
โรคมีจังหวะการหาย (หมอชาวบ้าน)
โดย นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ

-http://health.kapook.com/view92602.html-

          อาการเจ็บป่วยหลายอย่างมีจังหวะการหายที่ค่อนข้างแน่นอน หากเข้าใจ เราก็สามารถให้การดูแลตนเองและรอจังหวะที่จะหาย หรือตระหนักว่าถ้าเลยจังหวะนั้นไปแล้วยังไม่ทุเลา ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ และควรรีบไปหาหมอ หากไม่ทราบ เราก็อาจแสวงหาการดูแลช่วยเหลือที่ไม่เหมาะสม ทำให้สิ้นเปลืองเวลาและเงินทอง และได้รับความเสียหายต่าง ๆ ได้ ในที่นี้ขอยกตัวอย่างที่พบบ่อยไว้เป็นอุทาหรณ์

ไข้หวัด หายได้ใน 48-96 ชั่วโมง

          มีคนจำนวนไม่น้อย เมื่อเป็นไข้หวัด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเด็กเล็กเป็นไข้หวัด) ในวันแรกไปหาหมอได้ยามากิน พอวันรุ่งขึ้นยังมีอาการตัวร้อนอยู่ ก็รีบเปลี่ยนไปหาหมอคนที่ 2 ได้ยามา (ส่วนใหญ่ก็เป็นยาคล้าย ๆ กัน เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบและสีสันของยา) มากิน ก็ยังมีไข้สูง ก็เปลี่ยนไปหาหมอคนที่ 3 วันรุ่งขึ้นถึงจังหวะที่ไข้ลง (อยู่ระหว่าง 48-96 ชั่วโมง) พอดี ก็คิดว่าหายเพราะยาของหมอคนหลังสุด

          ความจริงไข้หวัด (มีอาการตัวร้อน น้ำมูกไหลไอ) เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ไม่มีการรักษาโดยจำเพาะ (คือ ไม่มียาที่ใช้ฆ่าเชื้อไข้หวัด) เพียงแต่ให้ยาแก้ไข้ ลดน้ำมูก แก้ไอ บรรเทา แล้วรอจังหวะให้อาการต่าง ๆ ทุเลาไปเอง ยาเหล่านี้เพียงแต่ช่วยบรรเทาอาการให้สุขสบาย หาได้มีผลต่อการหายของโรคไม่ จะไม่กินก็ได้ เช่น ไข้ไม่สูงก็ไม่ต้องกินยาลดไข้

          ผู้ที่เป็นไข้หวัดมักไม่มีภาวะแทรกซ้อน อาการตัวร้อนมักจะเป็นอยู่นาน 2 วันเต็ม ถึง 4 วันเต็ม โอกาสจะทุเลาภายใน 48 ชั่วโมงมีค่อนข้างน้อย แต่ถ้ามีไข้นานเกิน 4 วัน ก็แสดงว่าอาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น ซึ่งควรไปปรึกษาแพทย์

          การเปลี่ยนหมอหลายคนด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั้น นอกจากเสียเวลาเสียเงินโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังอาจได้ยาซ้ำซ้อน ทำให้ได้รับขนาดยาสูงเกินควร เช่น ได้ยาลดน้ำมูกซ้ำซ้อน อาจทำให้ง่วงนอนหรือซึม ได้รับยาพาราเซตามอลแก้ไข้เกินขนาด ซึ่งอาจมีพิษต่อตับและไตได้ ที่สำคัญอาจได้รับยาปฏิชีวนะเกินจำเป็น (ยานี้ใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียมี่ประโยชน์ต่อการรักษาโรคติดเชื้อไวรัส) ซึ่งอาจทำให้แพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงจากยาได้

          ทางที่ดีควรมีหมอประจำตัว (และครอบครัว) ที่สามารถให้คำปรึกษาแนะนำได้สะดวก หากหาหมอประจำตัวแล้วรู้สึกไม่ทุเลาก็ควรกลับไปปรึกษาหมอท่านเดิม จะได้รับการดูแลต่อเนื่อง และได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลที่เหมาะสมต่อไป


ไอ

เป็นหวัด อาจไอถึง 3 เดือน

          มีบ่อยครั้งที่หลงจากเป็นไข้หวัด ผู้ป่วยจะมีอาการไอเรื้อรัง บางครั้งไอนาน 1-3 เดือนกว่าจะทุเลา ทั้งนี้เนื่องจากมีหลอดลมอักเสบแทรกซ้อน แม้ว่าจะได้รับการดูแลจนหายติดเชื้อแล้ว แต่หลอดลมที่อักเสบนั้นมีเยื่อบุที่เสียหาย ทำให้ระคายเคืองง่ายเมื่อถูกสิ่งระคายเคือง (เช่น ลม ควัน ฝุ่น ความเย็น) ก็จะรู้สึกระคายคอและไอแค้ก ๆ อยู่เรื่อย จนน่ารำคาญโดยที่ผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีไข้ กินได้ น้ำหนักไม่ลด ทำงานได้ปกติ มักจะไอแห้ง ๆ หรือมีเสมหะขาวเพียงเล็กน้อย (หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้เรื้อรัง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไอเป็นเลือด หรือมีเสมหะสีเหลืองหรือเขียวก็ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเป็นวัณโรคปอดหรือสาเหตุร้ายแรงอื่น ๆ)

          ผู้ป่วยที่มีหลอดลมอักเสบจากไข้หวัดดังกล่าว จะไออยู่นานอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ บางครั้งอาจนาน 1-3 เดือน (เต็มที่ไม่เกิน 3 เดือน) เนื่องเพราะต้องรอจนกว่าเยื่อบุหลอดลมที่เสียหายไปนั้นจะฟื้นตัวแข็งแรงได้ดังเดิมก็จะหายระคายเคืองง่าย ระหว่างนั้นควรหลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคือง และกินยาระงับไอเป็นครั้งคราว

          ผู้ที่ไม่เข้าใจ หรือมีความวิตกกังวลก็อาจกินยาอะไรมากมาย รวมทั้งยาปฏิชีวนะที่ไม่จำเป็นนอกจาก จะไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยังอาจเสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากยาได้

          กรณีนี้หากมีหมอประจำตัว ก็อาจได้รับคำแนะนำ และการดูแลที่เหมาะสมมากกว่าที่ต้องดิ้นรนช่วยเหลือตัวเองอย่างผิด ๆ


การดูแลสุขภาพ


ทอนซิลอักเสบ จะทุเลาหลังกินยา 48 ชั่วโมงไปแล้ว

          ผู้ที่มีไข้ เจ็บคอมาก ทอนซิลบวมแดงและเป็นหนอง แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุ โดยทั่วไปต้องรอกินยาไปแล้วประมาณ 48 ชั่วโมง อาการไข้และเจ็บคอจึงจะเริ่มทุเลา เนื่องเพราะต้องรอให้ยาฆ่าเชื้อไปได้มากถึงระดับหนึ่งก่อน

          มักพบว่าเมื่อกินยาไปได้เพียงครึ่งวัน อาการไม่ดีขึ้น หรืออาจรู้สึกว่ากลับเจ็บคอมากขึ้น ผู้ป่วยก็จะเปลี่ยนหมอเปลี่ยนยาหรือหันไปขอให้หมอฉีดยาโดยไม่จำเป็น ทำให้สิ้นเปลืองและเสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากยา

          ในทางตรงกันข้าม หากกินยา 48 ชั่วโมงไปแล้วไม่ทุเลา ก็อาจบ่งชี้ว่าโรคดื้อยา หรือให้ยาไม่ถูกกับโรคควรกลับไปปรึกษาแพทย์เพื่อปรับวิธีรักษาให้เหมาะสม

          มีบ่อยครั้งที่ผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอมาก โดยที่ไม่มีไข้ ก็นึกว่าเป็นทอนซิลอักเสบ จะไปซื้อยาปฏิชีวนะมากินเอง ผ่านไป 3-4 วันแล้วก็ยังไม่ทุเลา พบว่า ที่แท้อาการเจ็บคอของผู้ป่วยนั้นไม่ได้เกิดจากทอนซิลอักเสบ แต่เกิดจากแผลร้อนใน (แผลแอฟทัส ซึ่งมีอาการเจ็บคอเพียงจุดเดียว ไม่ได้เจ็บทั่วคออย่างทอนซิลอักเสบ และเจ็บมากเวลากลืนหรือพูด) มักจะหายได้เองภายใน 7-10 วัน โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ (ถึงใช้ก็ได้ผล) แต่อาการเจ็บคอจะเจ็บสุด ๆ ในวันที่ 3-4 ไปแล้ว หลังจากนั้นก็จะค่อย ๆ ทุเลาลงเป็นลำดับ


อาหารเป็นพิษ

ท้องเดินจากอาหารเป็นพิษ หายเองภายใน 6-48 ชั่วโมง

          อาการท้องเดินมักเกิดจากอาหารเป็นพิษเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นผลมาจากการกินอาหารที่มีพิษที่เชื้อโรคปล่อยไว้ในอาหารถึงแม้ปรุงให้สุกพิษก็ถูกทำลาย ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้อง ถ่ายเป็นน้ำบ่อยบางคนอาจมีไข้หรือมีอาการอาเจียนร่วมด้วย

          การรักษาให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ น้ำข้าวใส่เกลือ หรือน้ำอัดลมใส่เกลือ (ควรปล่อยให้แก๊สออกหมดก่อน) ทดแทนน้ำและเกลือแร่ให้มากพอกับที่สูญเสียไป สังเกตจากการมีปัสสาวะออกมากและใสใจไม่หวิวไม่สั่น ไม่มีอาการหน้ามืดเวลาลุกขึ้นยืน แต่ถ้ามีอาการอาเจียน หรือดื่มไม่ได้ ก็ควรไปพบแพทย์ในรายที่เป็นรุนแรงแพทย์จำเป็นต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด

          โรคนี้ไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เพราะเกิดจากพิษ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค และไม่ควรกินยาแก้ท้องเสียใด ๆ ยาแก้ท้องเสียบางอย่างมีฤทธิ์ทำให้ลำไส้หยุดนิ่ง ไม่ขับเคลื่อนตัว ช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง และถ่ายห่างขึ้น แต่กลับกักเก็บพิษไว้ในลำไส้ให้อยู่นานขึ้น โรคกลับหายช้าลง

          ควรปล่อยให้ถ่ายขับพิษออกไป ก็จะช่วยให้โรคหายเร็ว แต่ต้องกินน้ำกับเกลือแร่ทดแทนให้พอ ก็จะปลอดภัย

          ถ้าพิษไม่มาก ก็มักจะทุเลาได้ภายใน 6-12 ชั่วโมง ถ้าพิษมากก็อาจกินเวลา 24-48 ชั่วโมงกว่าจะหายขาด


ไมเกรน

ไมเกรน ปวดนาน 4-32 ชั่วโมง

          ผู้ที่เป็นไมเกรนมักจะมีอาการปวดศีรษะเป็นประจำมาตั้งแต่วัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว ทุกครั้งจะมีเหตุกระตุ้นให้อาการกำเริบอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ถูกแสงจ้า ใช้สายตามาก ถูกเสียดงัง ได้กลิ่นฉุน ๆ กินอาหารพวกโปรตีนสูง กินผงชูรส ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อดนอน นอนตื่นสาย หิวหรืออิ่มจัด อากาศร้อนหรือเย็นจัด อากาศอบอ้าว ร่างกายเหนื่อยล้า มีประจำเดือน กินยาเม็ดคุมกำเนิด จิตใจตึงเครียด ฯลฯ โดยรวม ๆ ผู้ป่วยมักสังเกตว่ามีเหตุกำเริบมากกว่าหนึ่งอย่างเสมอ

          ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตุบ ๆ (ตามจังหวะชีพจร) ที่ขมับข้างเดียวหรือสองข้าง และมักมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย เมื่อเริ่มมีอาการ หากสัมผัสถูกแสงเสียง ฝืนทำงานหรือเคลื่อนไหวร่างกายไปมา อาการปวดจะเป็นมากขึ้นถ้าปล่อยไว้ ไม่กินยาแก้ปวด ก็จะปวดติดต่อนานอย่างน้อย 4 ชั่วโมง อย่างมาก 72 ชั่วโมงหรือ 3 วัน 3 คืน (เวลานอนหลับจะไม่รู้สึกปวด แต่ตื่นขึ้นมาก็จะปวดต่อ) ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะติดต่อกันนานเกิน 72 ชั่วโมงหรือปวดทุกวันไม่เว้นมักจะเกิดจากสาเหตุอื่นมากกว่าไมเกรน

          1. รีบกินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล 1-2 เม็ด ทันทีที่เริ่มรู้สึกมีอาการ อย่าปล่อยให้นานเกินครึ่งชั่วโมง และหาทางนอนหลับหรือนั่งพักในที่เงียบ ๆ แสงสลัว ๆ และมีอากาศสบาย ๆ ถ่ายเทดี ก็มักจะทุเลาได้ภายในไม่นาน ไม่ต้องปวดนานถึง 4 ชั่วโมงขึ้นไป

          2. สังเกตว่ามีเหตุกำเริบจากอะไรบ้าง แล้วหลีกเลี่ยงเสีย ก็จะช่วยให้อาการห่างหายไปได้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
-http://www.doctor.or.th/-

sithiphong:
แมงมุมพิษกัด ห้ามนวด-ประคบร้อน หวั่นพิษกระจาย

-http://health.kapook.com/view93576.html-




สาธารณสุขแพร่เตือน หากโดนแมงมุมพิษกัด ห้ามประคบร้อน ห้ามนวด เพราะจะทำให้พิษกระจาย แนะนำให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาด แล้วรีบพบแพทย์โดยด่วน (สสจ.แพร่)

          แมงมุมพิษกัด ห้ามประคบร้อน ห้ามนวดเด็ดขาด เพราะจะทำให้พิษกระจาย แนะรีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาด แล้วรีบพบแพทย์โดยด่วน

          จากกรณีที่ประชาชน 4 รายในอำเภอเด่นชัยโดนแมงมุมพิษกัด รายแรกอาการสาหัส ยังรักษาตัวอยู่ที่ รพ.แพร่ ส่วนอีก 3 ราย หลังโดนแมงมุมพิษกัดได้รีบมาพบแพทย์ทันที ขณะนี้อาการไม่น่าเป็นห่วง แต่มีบาดแผลจากการถูกแมงมุมพิษกัด ได้มาทำแผลทุกวัน ขณะนี้อาการดีขึ้นแล้วนั้น

          นายแพทย์ปิติ ทั้งไพศาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแพร่ กล่าวว่า แมงมุมทุกชนิดมีพิษเพื่อล่าเหยื่อ หากถูกแมงมุมทั่วไปกัดอาการก็จะคล้ายแมลงกัดต่อย จะมีอาการปวดบวมร้อน แต่ถ้าถูกแมงมุมพิษกัดจะเป็นอันตรายได้

          ทั้งนี้ แมงมุมมีพิษที่มีความสำคัญทางการแพทย์ ได้แก่ แมงมุมแม่ม่ายดำ และแมงมุมพิษสีน้ำตาลซึ่งคนมักเรียกชื่อผิดว่า แมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาล หากโดนแมงมุมแม่ม่ายดำกัด พิษของมันจะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง มีเลือดออกตามอวัยวะภายใน ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ขาหนีบ มีการอักเสบกดรู้สึกเจ็บได้ มีเหงื่อออก ความดันโลหิตสูง รอยกัดเขียวช้ำ มีจุดแดง อาการที่เฉพาะของพิษคือ อ่อนแรง สั่น ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเกร็ง ท้องแข็ง เป็นอัมพาต ซึมและชักในรายที่แพ้พิษรุนแรง

          นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแพร่ กล่าวต่อว่า หากโดนแมงมุมพิษสีน้ำตาลกัด จะไม่มีอาการในระยะแรก แต่หลังจากนั้น 3-8 ชั่วโมง จะเริ่มรู้สึกเจ็บ บวมแดง อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ มีการอักเสบ เป็นผื่น แผลเริ่มมีสีดำไหม้ เป็นหนอง ขนาดแผลเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2.5 เซนติเมตร ขอบแผลยกขึ้น ผิวหนังบริเวณที่ถูกกัด เป็นเนื้อตายเกิดเป็นแผลเป็นขนาดใหญ่ ใช้เวลาประมาณหลายเดือนแผลจึงหายสนิท บางรายที่พิษเข้าสู่กระแสโลหิต ผู้ป่วยอาจมีอาการปัสสาวะขัด โลหิตจาง เป็นไข้ ตัวเขียว และอาจเสียชีวิต

          นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแพร่ กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า หากถูกแมงมุมพิษสีน้ำตาลกัด ห้ามนวด ห้ามประคบร้อนบริเวณที่ถูกแมงมุมกัดโดยเด็ดขาด เนื่องจากจะทำให้พิษกระจาย ให้รีบล้างทำความสะอาดแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาด และรีบไปโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านทันที หลังจากแพทย์อนุญาตให้กลับบ้าน ผู้ป่วยจะต้องไปติดตามอาการทุกวัน อย่างน้อยเป็นเวลา 4 วันหลังถูกแมงมุมพิษสีน้ำตาลกัด และการป้องกันที่ดีที่สุด ควรจัดบ้านเรือนให้สะอาด ปัดหยากไย่ ไม่ให้มีในบ้าน ควรปัดที่นอน หมอน ผ้าห่ม และตรวจสอบที่นอนก่อนนอนทุกครั้ง

sithiphong:
7 ภัยที่ไม่คาดคิด เมื่อฝนมา

-http://www.manager.co.th/CelebOnline/ViewNews.aspx?NewsID=9570000082601-

โดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช

เพื่อนรักย่อมกล้าเตือนในสิ่งที่ไม่สบายหูนัก เช่นเดียวกับหน้าฝนที่เป็นดั่งเพื่อนแสนดีคอยเตือนว่าให้ระวังสุขภาพกันอยู่ก็คือ โรคภัยไข้เจ็บที่มาจากอากาศแปรปรวนทั้งหลาย
       
       หวัดน้อย หวัดใหญ่ ไปจนถึงหวัดแกมบรรจง เอ๊ย…หวัดไม่ธรรมดา
       
       เชื่อว่าท่านที่รักทราบดี
       
       ในหน้าฝนนี้ยังมีสิ่งที่ “กว่าไข้หวัด” เกิดขึ้นได้อีกครับ ผมเองทำงานอยู่ใต้ฟ้าเดียวกับท่านแถมที่ทำงานก็อยู่ในที่ที่มากคนและเจริญรถ เลยพอจะเห็นว่าในหน้าฝนนี้มีอีกหลายเรื่องสุขภาพที่สามารถป้องกันได้
       
       ขอแค่ไม่มองข้ามเท่านั้น
       
       บางวันที่ผมใช้บริการวินมอเตอร์ไซค์ก็ได้เห็น
       
       หลายครั้งที่ผมเดินอยู่ริมถนนก็ได้ประสบ
       
       ประเภทนั่งมอเตอร์ไซค์อยู่แล้วจู่ๆ ลงไปนอนกับพื้นก็เคยกับตัวเองมาแล้ว
       
       นอกจากนั้นยังมีคนไข้ที่เข้ามาหาอย่างฉุกเฉินในหน้าฝนน้ำเจิ่งท่อระบายน้ำเช่นนี้อยู่แทบทุกปี เลยเห็นว่าพอมีสิ่งที่จะป้องกันได้และช่วยกันระวังได้จะได้ไม่ต้องไปโชว์ตัวให้คุณหมอดูโดยไม่จำเป็น
       
       โดยมีสิ่งที่ต้องคอยดูแลใกล้ชิดสักนิดหนึ่งดังต่อไปนี้ครับ
       
       *ภัยที่ไม่อาจมองข้ามในหน้าฝน


       1) อุบัติเหตุจักรยานยนต์
       
       คนนั่งซ้อนท้ายอย่างผมหรือท่านที่ขับเองต้องระวังไว้ครับ เพราะ 2 ล้อที่เกาะถนนเมื่อมีสายน้ำมาชะให้พื้นถนนลื่น อุบัติเหตุตื้นๆ ง่ายๆ อย่างลื่นล้ม ลื่นไถล หรือพลิกคว่ำแล้วกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ เพราะน้ำทำให้แรงฝืดจับล้อลดลงตามกฏที่ครูฟิสิกส์ท่านเคยสอนตอนแรงเสียดทาน ทำให้การประคองรถและเบรกยากขึ้นกว่าเดิม เพิ่มความเสี่ยงเนื้อแนบพื้นได้
       
       2) น้ำสาดเข้าตัว
       
       ภัยนี้เกิดกับคนเดินถนนครับ ทั้งเคยเจอกับตัวและเห็นกับตาเวลาเดินตรอกแถวบ้านที่ไม่มีทางเท้า เมื่อขับรถเร็วเข้าแล้วเหยียบน้ำก็ทำให้คนธรรมดาข้างทางกลายร่างได้ น้ำที่ไม่รู้ที่มาน่าห่วงครับ เพราะถ้าโดนเข้ากับแผลเปิดตามตัว, ผิวหนัง, เนื้อเยื่ออ่อนก็เสี่ยงติดเชื้อได้สูงทั้ง เชื้อหนองอักเสบ, เชื้อลุกลามในคนเบาหวาน และเชื้อราโรคผิวหนังที่มากับน้ำข้างทาง
       
       3) น้ำกระเด็นเข้าตา
       
       เกิดได้กับทั้งท่านที่ขับขี่จักรยานยนต์ และคนเดินถนนที่อยู่ใต้ฟ้าฉ่ำฝนนี้ครับ น้ำที่ปนเปื้อนเมื่อกระเด็นเข้าตาพาให้เกิด ตาแดงติดเชื้อ มีขี้ตาเข้มข้นทั้งคันและเคือง เกิดตากุ้งยิง ต่อมไขมันเปลือกตามีเชื้อเข้าไปจนบวมตุ่ยเป็นหนอง ดูเหมือนกับตามีมิติมากขึ้นโดยมีฟิลเลอร์เป็นหนองที่มาจากเชื้อไม่สะอาดในน้ำ อีกทั้งสาวๆ ที่ชอบกรีดตาเมคอัพก็ต้องระวังครับ
       
       4) สัตว์มีพิษจากท่อระบายน้ำ
       
       อาจมีอันตรายที่คืบคลานขึ้นมาจากใต้บาดาลมาทักทายท่าน ได้เคยเจอคนไข้ที่ถูกตะขาบไต่จากท่อระบายน้ำขึ้นมากัดขา หรือแม้ว่าจะอยู่ในบ้านก็ต้องระวังว่าบุตรหลานของสัตว์หลายบาทหรือไม่มีบาท (งู)เหล่านี้จะยกโขยงกันขึ้นมาซุ่มซ่อนอยู่ตามที่นอน, ปลอกหมอน, เสื้อผ้า และรองเท้าครับ
       
       ขอให้จับมาสะบัดก่อนหรือเคาะรองเท้าก่อนจะช่วยได้มากครับ
       
       5) อาหารเป็นพิษ
       
       ให้ระวังภัยจากอาหารการกินสักนิดอาจออกฤทธิ์ในหน้าฝนนี้ได้ เพราะที่ไหนมีน้ำที่นั่นอาจมีการปนเปื้อนได้ เพราะอากาศชื้นทำให้อาหารเสียง่ายโดยเฉพาะผัก, ผลไม้ที่นำขึ้นมาแล้วเปียกน้ำนาน หรืออาหารแห้งหลายอย่างที่ถูกน้ำแล้วพังอย่าง ธัญพืช, สมุนไพรแห้ง และถั่วลิสงที่อาจมีพิษเชื้อรา “อะฟลาท็อกซิน” ซุกซ่อนอยู่
       
       6) ภัยจากคลื่นสูง
       
       ควรระวังในหมู่นักท่องเที่ยว นักดำน้ำ นักเดินทางโดยเรือ และผู้รักการผจญภัยที่รักทุกท่าน ในหน้าฝนนี้ขอให้ติดตามพยากรณ์ทั้งบนบกและทะเลให้ดี ถ้าฤกษ์ยังไม่ดีแม้มีเรือเล็กก็ไม่ควรออกจากฝั่ง ควรเชื่อฟังผู้มีประสบการณ์เพราะเรื่องคลื่นลมนั้นเอาแน่นอนไม่ได้ เห็นใสๆเรียบดีก็มีเปลี่ยนได้ไม่ตั้งตัว ภาษิตว่า “คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล” ยังคงจริงอยู่เสมอ
       
       7) บ้านทรุด ตึกร้าว
       
       ขออย่าเพิ่งตกใจด้วยหวังว่าจะไม่เลวร้ายถึงเพียงนั้น แต่ถ้าท่านสังเกตจะเห็นว่าข่าวตึกถล่มหลายแห่งเกิดในช่วงหน้าฝนซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเมื่อน้ำเซาะลงดินจนนุ่มน่วมดีราวกับเนื้อบราวนี่ชั้นดีแล้ว น้ำหนักของสิ่งใดๆ ที่ทับอยู่เบื้องบนก็พร้อมจะยุบยวบลงมาพร้อมกับคนที่อยู่อาศัย
       
       ในเรื่องนี้ขอท่านป้องกันโดยดูแลความปลอดภัยโครงสร้างไว้ก่อนหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญให้มายกเครื่องกันหน่อยก็ได้ครับ
       
       แม้ดินฟ้าอากาศจะไม่อาจกำหนดได้ แต่ท่านสามารถป้องกันภัยอันอาจตามมาเหล่านี้ได้ถ้าเตรียมตัวไว้ดีๆ ก่อนครับ เช่นก่อนออกจากบ้านก็เตรียมเสื้อหรือผ้าสะอาดผืนเล็กๆ ติดไว้ เลิกงานแล้วก็พกร่ม ส่วนเวลาขึ้นมอเตอร์ไซค์ก็ใส่หมวกและใส่แว่นกันน้ำกระเด็นไว้ก็ได้ ใครเคยนั่งมอเตอร์ไซค์ฝ่าฝนย่อมรู้ดีถึงความเจ็บปวดเวลาเม็ดฝนพุ่งปะทะหน้าตา
       
       สิ่งที่ว่านี้ถ้าท่านป้องกันไว้จะช่วยให้ท่านไม่ต้องเสียเวลากับความเจ็บป่วย เสียขวัญจากสิ่งไม่คาดคิด และไม่ต้องรับความเสี่ยงจากสัตว์พิษทั้งหลาย
       
       จะได้เป็นหน้าฝนที่แสนสบายครับ

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version