อิ่มกาย อิ่มใจ > สุขภาพกับชีวิต

แนะนำ วิธีการป้องกัน โรคภัยไข้เจ็บ

<< < (25/33) > >>

sithiphong:
"แบคทีเรียกินเนื้อคน" พิษรุนแรงเสียชีวิตภายใน 48 ชั่วโมง

-http://news.springnewstv.tv/51836/%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%84%E0%B8%99-%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A9%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%99-48-%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B9%82%E0%B8%A1%E0%B8%87-





กรณีกระแสโซเซียลเน็ตเวิร์ค เงี่ยงปลาตำนิ่วเสียชีวิต เพราะติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อคน โดยอธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยัน พิษรุนแรงเสียชีวิตภายใน 48 ชั่วโมง


ากกรณีที่การแชร์ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค โดยมีข้อความระบุว่า เมื่อวันเสาร์ที่ 19 ก.ค. ญาติผู้จัดการแบงก์ คนหนึ่งไปเลือกซื้อปลาทับทิมแล้วโดนเงี่ยงปลาตำนิ้ว เกิดเป็นแผลอักเสกบวม จึงไปโรงพยาบาลนนทเวช ให้หมอล้างแผลนิ้วมือ แล้วกลับบ้านพร้อมยารับประทาน แต่กินยาแล้วมึน จึงเดินเซล้มไปเตะบันได กระดูกขาเจ็บ และกลางคืนปวดขามาก เริ่มบวมเวลาประมาณ 03.00 น. เช้าวันอังคารที่ 22 ก.ค. ไปโรงพยาบาลอีกรอบเนื่องจากขาเริ่มบวมมากขึ้น และมีเม็ดรอบๆ ขา 2 ข้าง ช่วงบ่ายหมอนำเข้าห้องผ่าตัดน่องขาขวา ปรากฏว่าเนื้อกล้ามเนื้อเน่าแล้ว ผู้ป่วยฟื้นมายังมีสติดีในตอนเย็น แต่หมอยังไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ ต่อมาวันที่ 23 ก.ค. เวลา 03.00 น. หมอโทรศัพท์แจ้งลูกสาวว่า พ่อเสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อในกระแสโลหิต จากการได้รับเชื้อ "แบคทีเรียกินเนื้อคน" จากก้างปลาที่ตำนิ้วหัวแม่มือ โดยรายละเอียดเชื้อโรคชนิดนี้ หาได้ในเว็บไซต์กูเกิ้ล และขอฝากให้พวกเราระมัดระวังในการเลือกซื้ออาหารด้วย

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า น่าจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกชื่อ แอนแอโรบิกแบคทีเรีย และแอโรโมแนสแบคทีเรีย แต่โอกาสที่จะได้รับเชื้อทั้ง 2 กลุ่มนี้มีน้อย นอกจากคนที่มีภูมิต้านทานไม่ดีเชื้อแบคทีเรียทั้ง 2 ตัว เป็นเชื้อที่ไม่ต้องอาศัยออกซิเจน เป็นแบคทีเรียที่รุนแรงมากกว่าแบคทีเรียชนิดอื่นหลายเท่า เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเกิดการเน่าตายของเนื้อเยื่อ และลามไปถึงการติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้ผู้รับเชื้อช็อกเสียชีวิตในเวลา 48 ชั่วโมง ส่วนบุคคลที่เสี่ยงต่อการรับเชื้อ คือ คนที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ ที่สำคัญเสี่ยงกับบุคคลที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน เพราะหากเป็นแผล เชื้อจะลามมากกว่าบุคคลทั่วไป

ทั้งนี้ กรณีที่เกิดขึ้นกับญาติผู้จัดการธนาคารนั้น เชื่อว่าปลาอาจมีเชื้อ 2 กลุ่มนี้ และเชื้อจะอยู่ตามลำตัว ก้างปลา เงี่ยง และซอกเหงือก หากโดนก้างปลาตำ ร่างกายจะได้รับเชื้อ และเกิดอาการ ดังกล่าว แพทย์อาจต้องตัดชิ้นเนื้อเพื่อไม่ให้พิษลาม ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุด หากไม่มั่นใจว่าโดนพิษจากแบคทีเรียทั้ง 2 กลุ่มนี้หรือไม่ หลังจากลุยน้ำสกปรก หรือเลือกซื้ออาหารที่เป็นสัตว์น้ำต่างๆ ควรล้างมือ ล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดทันที หรือหากโดนก้างปลาตำ และมีเลือดออก ควรบีบเลือดให้ออกมากที่สุด ใช้แอลกอฮอล์ล้างแผล จะช่วยฆ่าเชื้อได้ในชั่วโมงเร่งด่วน หากกลับมาถึงบ้านแล้วมีอาการแผลบวม เป็นไข้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ทางเว็บไซต์ Thai LA Newspaper ได้เคยเขียนถึงกรณีดังกล่าว โดยได้มีการอ้างอิงจากผู้ติดเชื้อชาวอเมริกัน ซึ่งอธิบายเรื่องนี้ว่า “แบคทีเรียกินเนื้อมนุษย์” มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า  “Necrotizing fasciitis” และหากติดเชื้อแล้วโอกาสที่จะเสียชีวิตสูงถึง 73%  อาการของโรคที่เกิดขึ้น คือ จะเกิดอาการติดเชื้อจากบาดแผลที่เปิดลึกใต้ชั้นผิวหนังและแบคทีเรียจะเติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อมันเติบโตมันจะคายพิษ (Toxin) ออกมา ซึ่งเจ้าพิษนี้เองที่ทำลายเนื้อเยื่อของมนุษย์ โดยผู้ป่วยส่วนมากจะเป็นตามบริเวณแขน ขา หรือใบหน้า ตลอดจนหน้าท้อง การตัดเนื้อออกก็เพื่อป้องกันไม่ให้แบคทีเรียลุกลามไป

แบคทีเรียชนิดนี้เมื่อติดเชื้อแล้วจะเหมือนแข่งกับเวลาทุกนาทีของชีวิต ผู้ป่วยจะต้องได้รับยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์แรงมากที่สุดให้ทันท่วงที ความรวดเร็วของเชื้อโรคที่แบ่งตัวนี้เร็วมากจนสามารถมองเห็นด้วยตา น่าสยดสยองที่เห็นผิวหนังของเรากลายเป็นสีม่วงและปริออกทุกนาที สาเหตุสำคัญที่การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะไม่ได้ผลเต็มร้อยก็เนื่องจากเชื้อโรคนี้ดื้อยาและเติบโตในบริเวณที่มีออกซิเจนน้อยคือใต้ผิวหนังชั้นลึก และมีการไหลเวียนของเลือดต่ำ ยาที่รับเข้าทางเส้นเลือดจึงเข้าไปทำลายเชื้อไม่ได้ ต้องตัดอวัยวะนั้นออกในทันที

สำหรับแหล่งที่พบนั้น มีอยู่ในทุกๆ ที่ โดยเฉพาะในแหล่งน้ำที่นิ่ง ที่ซึ่งมีซากสัตว์ไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้ำหรือสัตว์บกตายอยู่ในน้ำนั้น แบคทีเรียชนิดนี้มีหลายเผ่าพันธุ์มีทั้งชนิดร้ายแรงมากและร้ายแรงน้อย อาการที่เกิดขึ้นก็ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของผู้ที่รับเชื้อ หากเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ร่างกายก็จะต่อต้านแบคทีเรียได้ดี ในผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน โรคมะเร็ง หรือโรคอื่นๆ ที่ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำ คนเหล่านี้จะติดเชื้อรุนแรงได้ง่าย

ฉะนั้น "วิธีป้องกันและปฐมพยาบาล" เบื้องต้นก็คือ เมื่อพบบาดแผล ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม ให้รีบล้างด้วยน้ำสะอาดและสบู่หลายๆ ครั้ง จากนั้นให้ใส่ยาแอนตี้ไบโอติคเพื่อฆ่าเชื้อโรคทันที บาดแผลที่มีโอกาสติดเชื้อได้สูงนั้น มักจะเป็นแผลที่ลึกลงไปกว่าชั้นผิวหนังชั้นนอก เช่น การเหยียบตะปู การโดนมีดบาดลึก หรือกระจก เศษแก้วบาดลึกนั้นจะมีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อมนุษย์นี้มาก
 
ผู้สื่อข่าว : ทีมข่าวสปริงนิวส์



sithiphong:
เชื้ออีโบลา กับ 8 เรื่องที่คุณควรรู้


-http://health.kapook.com/view94656.html-






เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก solarisastrology.blogspot.com

            เชื้ออีโบลา 8 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสอีโบลา ที่กำลังระบาดหนักในแอฟริกาตะวันตก ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลาแล้วนับพัน เสียชีวิตแล้วกว่า 600 ราย ทำความรู้จักกับเชื้อไวรัสอีโบลา ไวรัสมรณะติดแล้วถึงตายไปพร้อม ๆ กัน

            อีโบลา เป็นเชื้อไวรัสมรณะที่กำลังระบาดหนักในแอฟริกาตะวันตก จนทำให้นายแพทย์ชีคห์ อูมาร์ ข่าน ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้นำในการต่อต้านเชื้ออีโบลา ป่วยจากการติดเชื้อเสียเองและเสียชีวิตลงในที่สุด ซึ่งปัจจุบันนี้การระบาดยังคงเกิดขึ้นเรื่อย ๆ  ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อกว่า 1,300 คน เสียชีวิตแล้วกว่า 600 ราย เชื้อไวรัสอีโบลาระแพร่จากคนสู่คนได้ง่ายและความรุนแรงของโรคที่ทำให้ผู้ป่วยมีสิทธิ์เสียชีวิตสูงถึง 50%-90% เราจึงจำเป็นที่จะต้องทำความรู้จักเชื้อไวรัสมรณะนี้ให้มากขึ้น และนี่คือ 8 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสอีโบลา ที่เรานำมาฝากจากเว็บไซต์ฮัฟฟิงตันโพสต์ ค่ะ

            1. เชื้ออีโบลา ระบาดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2519

            เชื้อไวรัสมรณะระบาดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศซูดานและซาร์อี (ปัจจุบันคือ คองโก) ในปี 2519 และถูกตั้งชื่อว่า "อีโบลา" ตามชื่อแม่น้ำในทวีปแอฟริกา นอกจากนี้ก็ยังมีรายงานการระบาดให้ประเทศอื่น ๆ ทั่วแอฟริกา อาทิ คองโก ไอวอรี่โคสต์ ยูกันดา ซูดานใต้ กาบอง กินี และไลบีเรีย

            2. เชื้ออีโบลา มี 5 สายพันธุ์

            เชื้อไวรัสอีโบลามีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์ตั้งชื่อตามสถานที่ที่เกิดการระบาด ได้แก่ อีโบลา-ซาร์อี (Ebola-Zaire), อีโบลา-ซูดาน (Ebola-Sudan), อีโบลา-โกตดิวัวร์ (Ebola-Côte d’Ivoire), อีโบลา-เรสตัน (Ebola-Reston) และ อีโบลา-บันดิบูเกียว (Ebola-Bundibugyo) โดยสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอย่างหนักในแอฟริกาตะวันตกขณะนี้ คือ อีโบลา-ซาร์อี และยังมีสายพันธุ์ อีโบลา-เรสตัน ที่เชื้อไม่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยในมนุษย์

            3. ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคอีโบลามักเสียชีวิต

            จากสถิติผู้ป่วยโรคอีโบลาสายพันธุ์ซาร์อีในตอนนี้ มีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 80%-90%

            4. ไวรัสอีโบลา แพร่เชื้อจากคนสู่คน

            เชื้อไวรัสอีโบลาสามารถแพร่ได้จากคนสู่คน ผ่านการสัมผัสถูกสารคัดหลั่งจากตัวผู้ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย เลือด เหงื่อ ปัสสาวะ หรืออสุจิ รวมถึงการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น ราวจับประตู ลูกบิดประตู ปุ่มลิฟต์ ตลอดจนการสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าว โดยเชื่อว่าค้างคาวผลไม้ ซึ่งเป็นสัตว์ที่ชาวแอฟริกานิยมจับทำอาหาร เป็นพาหะในการแพร่เชื้อ ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ออกเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แพร่ระบาดงดล่าและนำค้างคาวมาประกอบอาหารแล้ว

            5. อีโบลา ไม่สามารถวินิจฉัยได้แน่นอนจากอาการแรกเริ่ม

            การวินิจฉัยผู้ป่วยที่ติดเชื้ออีโบลาในช่วงแรกอาจเป็นไปได้ล่าช้า เนื่องจากอาการผื่นและตาแดง ซึ่งเป็นอาการแรกเริ่มของโรค ก็เป็นอาการของความเจ็บป่วยชนิดอื่นได้เช่นกัน ส่งผลให้การวินิจฉัยโรคในระยะแรกที่ติดเชื้อนั้นไขว้เขวหรือไม่แม่นยำ อย่างไรก็ดี ในตอนนี้มีกระบวนการตรวจสอบเชื้อซึ่งจะทราบผลอย่างแม่นยำได้ในไม่กี่วันหลังมีอาการ

            6. ผู้ป่วยส่วนใหญ่เริ่มแสดงอาการหลังรับเชื้อแล้ว 8-10 วัน

            ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มแสดงอาการของโรคอีโบลา หลังได้รับเชื้อไปแล้วประมาณ 8-10 วัน แม้ว่าเชื้อจะมีระยะฟักตัวอยู่ที่ 2-21 วันก็ตาม โดยอาการจะประกอบด้วย มีไข้ ปวดหัว อ่อนเพลีย ท้องเสีย อาเจียน ไม่อยากอาหาร ปวดท้อง ปวดกล้ามเนื้อตามร่างกาย ปวดข้อ การติดเชื้อยังทำให้เกิดอาการเลือดออกทั้งจากภายในและภายนอกร่างกาย มีปัญหาในการหายใจ การกลืนอาหาร เจ็บคอ เจ็บหน้าอก ตาแดง สะอึก ไอ มีผื่น นอกจากนี้ อาการเลือดออกที่ตา จมูก หู และปาก นับเป็นอาการที่ชี้ถึงการติดเชื้อที่เด่นชัด

            7. การระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอยู่ในขั้นรุนแรง

            ปกติแล้ว การระบาดของโรคอีโบลา มักเกิดขึ้นในพื้นที่ห่างไกล แต่การระบาดที่เป็นอยู่ในปัจจุบันกลับเกิดขึ้นพื้นที่ซึ่งจัดว่าไม่ทุรกันดารนัก โดยในตอนมีการระบุพื้นที่ติดเชื้อต่าง ๆ แล้วกว่า 60 จุด ในประเทศเซียร์ราลีโอน กินี และไลบีเรีย

            8. ปัจจุบันยังคงไม่มีวิธีการรักษาหรือวัคซีนป้องกันโรคอีโบลา

            ในปัจจุบันยังคงไม่มียาหรือวิธีการเพื่อรักษาโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาโดยเฉพาะ รวมทั้งยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค การรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่ทำได้ในตอนนี้ คือ การรักษาไปตามอาการ คอยรักษาระดับของเหลวและอิเล็กโตรไลท์ในร่างกายในสมดุล รักษาระดับความดันโลหิต ระดับออกซิเจนในเลือด และรักษาตามอาการติดเชื้อต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเท่านั้น

            โรคอีโบลา โรคติดเชื้อร้ายแรง ติดแล้วถึงตาย อีกทั้งยังคงไม่สามารควบคุมการแพร่ระบาดได้ในปัจจุบัน แม้ประเทศไทยจะอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการระบาดต่ำ แต่การทราบข้อมูลของเชื้อโรค และการไม่ประมาทที่จะป้องกันตัวเอาไว้ก่อน ย่อมเป็นสิ่งทีดีที่สุด


sithiphong:
เนื้อเน่า โรคจากแผลเล็ก ๆ ที่ไม่ควรมองข้าม


-http://health.kapook.com/view94644.html-




เนื้อเน่า โรคจากแผลเล็ก ๆ ที่ไม่ควรมองข้าม (e-magazine)

          เดี๋ยวนี้แผลเล็กน้อยนิดเดียว ก็มองข้ามไม่ได้ จะปล่อยให้แผลหายเองเหมือนที่เคยเป็นมาครั้งก่อน ๆ คงไม่ได้แล้ว เพราะอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

          หากได้ดูข่าวตามหน้าจอโทรทัศน์ หรือตามหนังสือพิมพ์ คงจะได้รับรู้ข่าว เรื่องราวของโรคที่คาดไม่ถึง ที่มีผู้จัดการธนาคารแห่งหนึ่งไปเลือกซื้อปลาทับทิมที่ตลาดสด ก่อนถูกเงี่ยงปลาตำนิ้วจนบวมอักเสบ ต่อมาเกิดสะดุดตกบันได ทำให้กล้ามเนื้อตาย ก่อนติดเชื้อในกระแสเลือดเสียชีวิต ซึ่งแพทย์ระบุว่า เกิดจากเชื้อแบคทีเรียตระกูลแอโรโมแนส หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า แบคทีเรียกินเนื้อคน

          หรืออย่างกรณีล่าสุด ที่มีผู้ป่วยอีกรายที่เริ่มจากเกิดแผลผื่นคันขึ้นเล็กน้อยที่น่องซ้าย แต่ก็ปล่อยผ่านไปเพราะไม่คิดว่าเป็นอันตรายอะไร จนกระทั่งมีแมลงหวี่มาตอมแผล จึงตบแมลงหวี่ตายตรงแผลพอดี จนกลางดึกมีอาการไข้ขึ้น หนาวสั่น โชคดีที่ส่งโรงพยาบาลทัน

          ถึงได้บอกว่า แผลเล็ก ๆ ก็มองข้ามไม่ได้แล้ว เพราะแบคทีเรียสมัยนี้ร้ายแรงกว่าที่คิด

          สำหรับโรคที่เกิดจากแบคทีเรียที่อยู่ในแผล อย่างสองกรณีที่กล่าวไปนี้ คือ โรคเนื้อเน่า เป็นโรคติดเชื้ออย่างรุนแรงของผิวหนังและไขมันใต้ผิวหนัง อันที่จริงโรคนี้มีมานานแล้ว มีอัตราตายและพิการสูง พบมากที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักพบในเกษตรกรที่ทำไร่ทำนา ซึ่งมีโอกาสเกิดบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ และสัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่ในดิน หรือในน้ำได้ง่าย


สาเหตุและอาการของโรคเนื้อเน่า

          โรคเนื้อเน่ามักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดร่วมกัน เช่น เชื้อสเตรปโตคอคคัส กลุ่มเอ (Streptococcus group A) เชื้อเคลปซิลล่า (Klebsiella) เชื้อคลอสตริเดียม (Clostridium) ที่ทำให้เกิดโรคบาดทะยัก เชื้ออี โคไล (E.coli) เชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) และเชื้อแอโรโมแนส ไฮโดรฟิลา (Aeromonas hydrophila) เป็นต้น

          เชื้อที่พบบ่อยที่สุดคือสเตรปโตคอคคัส กลุ่มเอ โดยจะปวดแผลมาก แผลอักเสบบวม แดง ร้อนอย่างรวดเร็ว โดยอาการปวดจะรุนแรงมากแม้จะมีบาดแผลเล็ก ๆ ก็ตาม ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ รวมทั้งมีไข้สูง ผิวหนังที่บาดแผลมีสีคล้ำ ม่วง ดำ หรือมีถุงน้ำเกิดขึ้น หากได้รับการตรวจรักษาที่รวดเร็ว โดยผ่าตัดเอาเนื้อที่เน่าตายออก และให้ยาปฏิชีวนะ จะลดอัตราตายและพิการลงได้


กลุ่มคนที่มีความเสี่ยง

          1. ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำหรือเป็นโรคเกี่ยวกับเส้นเลือด เช่น เบาหวาน ไตวาย

          2. ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด

          3. ผู้สูงอายุ

          4. คนอ้วน

          5. ผู้ที่กินยาสเตรอยด์หรือยาชุด

          6. ผู้ที่ดื่มเหล้าเป็นประจำ

          7. กลุ่มเกษตรกรที่ทำไร่ทำนา ซึ่งมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคได้ง่าย

          โดยกลุ่มคนที่ว่ามานี้ ต้องระวังอย่าให้มีบาดแผล หากมีบาดแผลก็จะต้องดูแลรักษาแผลให้สะอาด และหลีกเลี่ยงให้แผลโดนน้ำหรือดิน เพื่อไม่ให้แผลติดเชื้อลุกลามเป็นโรคเนื้อเน่า


ป้องกันโรคเนื้อเน่า

          1. ผู้ป่วยโรคเนื้อเน่าส่วนใหญ่มีปัจจัยเสี่ยง คือมีบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ นำมาก่อน เช่น มีดบาด ตะปูตำ หนามข่วน สัตว์ มดกัด เป็นต้น แล้วปล่อยปละละเลย ดังนั้น ผู้ที่มีบาดแผล แม้เพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ควรจะทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ และใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพรวิดีน

          2. ผู้ที่มีบาดแผล ควรระวังอย่าให้มีสิ่งสกปรกเข้าไปในบาดแผล โดยเฉพาะบาดแผลที่เกิดจากวัสดุที่สกปรก เช่น ตะปู หนาม ไม้ที่อยู่ในน้ำ ทิ่มแทง ควรรีบไปพบแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน และสังเกตอย่างใกล้ชิดหากมีไข้ บวม ปวดแผลมากขึ้นให้รีบปรึกษาแพทย์

          3. ควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยกินอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น ไข่ ปลา เนื้อสัตว์ต่าง ๆ และผักผลไม้ เพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น

          4. ไม่ควรกินยาชุดหรือซื้อยาลูกกลอน ยาแก้ปวดเมื่อยกินเป็นประจำ เนื่องจากอาจมีสารสเตรอยด์ผสมอยู่ ซึ่งจะไปกดภูมิต้านทานของร่างกาย ทำให้ติดเชื้อง่าย ไตวายได้

          ไม่ใช่เพียงแค่คนเท่านั้นที่ต้องมีการพัฒนา เชื้อโรค แบคทีเรียก็มีวิวัฒนาการ พัฒนาความแข็งแกร่งของตัวมันเองให้ไม่แพ้คน ไม่แพ้ตัวยาที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นจำให้แม่นขึ้นใจเลยค่ะว่า แผลเล็กก็ไม่ควรมองข้าม เพราะอาจส่งผลร้ายในระยะยาวถึงชีวิตได้


-http://www.emaginfo.com/?p=61355-
ลิขสิทธิ์บทความของ emaginfo.com
ติดตามบทความ สุขภาพ หรืออ่าน แมกกาซีน

sithiphong:
พบเชื้อมาลาเรียดื้อยาระบาดชายแดนไทย

-http://ch3.sanook.com/28211/%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%89-%E0%B8%9E%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%8A-


เรื่องเล่าเช้านี้ พบเชื้อมาลาเรียดื้อยาระบาดชายแดนไทย

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2557 สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า ขณะนี้เชื้อมาลาเรียที่สามารถต้านฤทธิ์ยาได้ กำลังเริ่มแพร่ระบาดตามชายแดนของประเทศพม่า ไทย เวียดนาม และกัมพูชาแล้ว ท่ามกลางความพยายามควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวดของทั่วโลก

ทั้งนี้ วารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาที่นำตัวอย่างเลือดผู้ป่วยมาลาเรีย จำนวนกว่า 1,000 คน จาก 10 ประเทศทั้งในเอเชียและแอฟริกา มาตรวจ แล้วพบว่า เชื้อมาลาเรียดื้อยาอาร์ติมิซินินได้กระจายไปตามชายแดนด้านตะวันออกของประเทศพม่า ไทย เวียดนาม รวมทั้งชายแดนด้านตะวันตกและทางเหนือของกัมพูชาแล้ว

ขณะเดียวกันยังพบสัญญาณการดื้อยาทางภาคกลางของพม่า ภาคใต้ของลาว และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชาอีกด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บริเวณที่ต้องเฝ้าระวังมากที่สุดคือชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งในอดีตเคยมีการระบาดของเชื้อมาลาเรียดื้อยา

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาก็แนะนำว่า หากแพทย์ให้ยารักษามาลาเรียเพิ่มขึ้นจาก 3 วัน เป็น 6 วัน อาจช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อดื้อยาระบาดไปทั่วเอเชียและแอฟริกาได้ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เรื่องเชื้อมาลาเรียดื้อยานี้ต้องเร่งดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดจะรอช้าไม่ได้

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้มีรายงานด้วยว่า นักวิจัยกำลังศึกษาพัฒนาวัคซีนโรคมาลาเรียตัวแรกของโรค และคาดว่าหากได้รับอนุมัติ จะสามารถผลิตได้ในปี 2015


sithiphong:
โรคเกาต์ภัยร้าย แพทย์เตือนทำข้ออักเสบเฉียบพลัน

-http://health.kapook.com/view94730.html-


แพทย์เตือนโรคเกาต์ภัยร้าย ทำข้ออักเสบเฉียบพลัน พบมากในเพศชาย (กระทรวงสาธารณสุข)

          แพทย์ ชี้ โรคเกาต์ทำข้ออักเสบเฉียบพลัน สาเหตุสำคัญจากกรดยูริกพุ่งสูง แนะเลี่ยงการดื่มเหล้า เบียร์ และอาหารประเภทเครื่องในสัตว์ สัตว์ปีก รวมทั้งอาหารทะเลปริมาณมากเป็นประจำ

          เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคเกาต์เป็นโรคข้ออักเสบเฉียบพลันที่พบบ่อยที่สุด เป็นผลจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูงเป็นเวลานานหลาย ๆ ปี ทำให้เกิดการตกผลึกของเกลือยูเรตในเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชาย โดยเฉพาะผู้ที่อายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป สำหรับในเพศหญิงมักเริ่มต้นอาการในวัยหลังหมดประจำเดือนไปแล้ว

          ทั้งนี้ กรดยูริกพบมากในเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ถั่วต่าง ๆ และยอดผักอ่อน ๆ รวมทั้งเกิดจากการสลายตัวของเซลล์ภายในร่างกาย กรดยูริกจะถูกขับออกทางปัสสาวะ หากร่างกายมีการสร้างกรดยูริกมากเกินไปหรือไตขับยูริกได้น้อยลง เนื่องจากไตเสื่อมลง กรดยูริกก็จะตกผลึกที่บริเวณผนังหลอดเลือด ไตและอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณข้อ ทำให้เกิดอาการปวดข้อและโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ เช่น ข้อพิการ นิ่วในไต นิ่วในทางเดินปัสสาวะ กระดูกพรุน เป็นต้น

          สำหรับผู้ป่วยโรคเกาต์ที่เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงหรือมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาตได้มากยิ่งขึ้น

          อาการที่พบบ่อย คือ ปวดข้อรุนแรง เฉียบพลัน ถ้าเป็นการปวดครั้งแรกมักจะปวดข้อเดียวและปวดไม่กี่วัน ข้อที่ปวดบ่อย คือ นิ้วหัวแม่เท้าข้างใดข้างหนึ่ง บางรายอาจปวดที่ข้อเข่า ซึ่งข้อจะบวมและเจ็บมากจนทนไม่ไหว ผิวหนังบริเวณที่ปวดจะตึง ร้อนและแดง เมื่ออาการเริ่มทุเลา ผิวหนังบริเวณนั้นก็จะลอกและคัน มักจะเริ่มปวดตอนกลางคืนหรือมีอาการกำเริบหลังจากทานอาหารที่มีกรดยูริกสูง นอกจากนี้อาจมีไข้ หนาวสั่น ใจสั่น อ่อนเพลียหรือเบื่ออาหารร่วมด้วย

          สำหรับแนวทางการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคเกาต์ที่สำคัญ คือ

          รับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

          หากมีอาการผิดปกติ หรือมีผลข้างเคียงจากการรับประทานยาให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที

          ไม่ควรหยุดยา ปรับขนาดยา หรือซื้อยารับประทานเอง เพราะนอกจากจะเสี่ยงต่อการแพ้ยาแล้ว ยังอาจจะทำให้ควบคุมโรคได้ไม่ดี

          เข้ารับการรักษาอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์นัด เพื่อดูระดับกรดยูริกและการทำงานของตับและไตเป็นระยะ ๆ

          ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู รวมทั้งดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 3,000 มิลลิลิตร

          หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์

          ลดการรับประทานอาหารประเภทเครื่องในสัตว์ สัตว์ปีก อาหารทะเล

          ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกต่อข้อที่รุนแรง

          หลีกเลี่ยงการบีบ นวด ถู บริเวณข้อ เนื่องจากสามารถกระตุ้นให้ข้ออักเสบกำเริบได้

          การให้ความร่วมมือในการรักษาและรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้  และทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น


ขอขอบคุณข้อมูลจาก-http://pr.moph.go.th/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=66999-

.


นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version