อิ่มกาย อิ่มใจ > สุขภาพกับชีวิต
แนะนำ วิธีการป้องกัน โรคภัยไข้เจ็บ
sithiphong:
เป็นเรื่องของการดูแลสุขภาพน๊ะครับ
----------------------------------------------------
12 วิธีดูแลสุขภาพเท้าก่อนถูกตัดขาจาก “เบาหวาน”
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 17 พฤศจิกายน 2556 19:10 น.
-http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000142553-
ปัญหาที่น่ากลัวของผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างหนึ่ง นั่นก็คือการเป็นแผลที่เท้า เพราะหากไม่ดูแลให้ดีอาจสูญเสียขาและเสียชีวิตได้ ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยเบาหวานก็มีแนวโน้มการถูกตัดขาเพิ่มขึ้นจากการเป็นแผลที่เท้า จากข้อมูลของสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พบว่า ทุก 1 ปี มีผู้ป่วยเบาหวานถูกตัดเท้าถึง 1 ล้านเท้า
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานเกิดแผลที่เท้าได้ง่าย เพราะ 1.การเสื่อมของเส้นประสาทส่วนปลายซึ่งรับความรู้สึก ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บปวดเมื่อเหยียบวัตถุมีคม หรือโดนวัตถุที่มีอุณหภูมิสูงหรือการกดรัดที่เท้า จึงเกิดแผลโดยไม่รู้ตัว 2.โรคหลอดเลือดส่วนปลายตีบตัน ทำให้เนื้อเยื่อขาดเลือดมาเลี้ยง เกิดเนื้อตาย หรือเมื่อเกิดแผลจากเหตุใดก็ตาม แผลจะหายยาก 3.การติดเชื้อง่าย เมื่อควบคุมเบาหวานไม่ดี ระดับน้ำตาลสูง จะทำให้ความสามารถของเม็ดเลือดขาวในการกำจัดเชื้อโรคลดลง ทำให้เชื้อโรคลุกลาม และ 4.ภาวะเส้นประสาทอัตโนมัติเสื่อม ทำให้ไม่มีเหงื่อออกผิวหนังบริเวณส่วนขาจึงแห้ง คัน หากเกาอาจมีแผลแตกและติดเชื้อได้ง่าย
เมื่อผู้ป่วยเบาหวานเกิดแผลที่เท้า แผลจึงมักหายยากและเรื้อรัง ลุกลามได้ง่าย จึงเป็นต้นเหตุในการตัดขา ซึ่งพบสูงถึง 15-40 เท่าของผู้ที่ไม่เป็นเบาหวาน
อย่างไรก็ตาม หากมีการดูแลสุขภาพเท้าเป็นอย่างดี มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าสามารถช่วยลดอุบัติการณ์ของการเกิดแผลที่เท้า และลดอัตราการตัดขาได้ถึง 44-85% ซึ่งวิธีการปฏิบัติดูแลเท้าของผู้ป่วยเบาหวานสามารถทำได้ 12 ข้อ ดังนี้
1.ล้างเท้าด้วยน้ำธรรมดาและสบู่ที่มีฤทธิ์อ่อนทุกวันตอนเช้าและก่อนนอน ไม่ควรใช้แปรงหรือขนแข็งขัดเท้า ไม่จำเป็นต้องแช่เท้า ถ้าต้องการทำอาจใช้น้ำอุ่นน้อยๆ สามารถทดสอบได้โดยใช้มือ ข้อศอก หรือเทอร์โมมิเตอร์วัดเพื่อมิให้น้ำร้อนจนเกินไปจนทำให้ผิวหนังพองและเป็นแผล แต่ไม่ควรแช่นานเกิน 5 นาที หลังจากนั้นซับทุกส่วนโดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้าให้แห้งด้วยผ้าขนหนู
2.สำรวจเท้าด้วยตนเองทุกวันในสถานที่มีแสงสว่างเพียงพอว่ามีแผล รอยช้ำ ผิวเปลี่ยนสี หรือเม็ดพองหรือไม่ โดยตรวจทั่วทั้งฝ่าเท้า ส้นเท้า ซอกระหว่างนิ้วเท้า และรอบเล็บเท้า เมื่อพบความผิดปกติควรพบแพทย์
3.ควรใช้กระจกส่องในการตรวจฝ่าเท้าถ้าไม่สามารถก้มเท้าดูด้วยตนเอง หรืออาจขอให้ญาติช่วยสำรวจเท้า
4.ทาครีมหรือโลชั่นถ้าผิวแห้ง เพื่อป้องกันการเกิดรอยแตก ทาบางๆ โดยเว้นบริเวณซอกนิ้วเท้าและรอบเล็บเท้า ถ้าผิวหนังมีเหงื่อมากควรใช้แป้งฝุ่นหรือผงโรยเท้า
5.สวมรองเท้าตลอดเวลา ทั้งในและนอกบ้าน ไม่ควรเดินเท้าเปล่า
6.สวมรองเท้าขนาดพอดี ไม่คับหรือหลวมเกินไป วัสดุที่ทำควรมีลักษณะนิ่ม ไม่ใส่รองเท้าส้นสูง ก่อนใส่รองเท้าควรตรวจดูว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในรองเท้าหรือไม่ เช่น หิน กรวด ทราย เพราะเท้าที่ชาจะไม่รู้ว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่ เมื่อซื้อรองเท้าคู่ใม่ควรใส่เพียงวันละ 30 นาที - 1 ชั่วโมง ก่อนประมาณ 3-5 วัน และการเลือกซื้อรองเท้าควรทำในช่วงตอนบ่าย ซึ่งเป็นเวลาที่เท้าขยายขนาดกว่าตอนเช้า
7.ควรใส่ถุงเท้าด้วยทุกครั้ง โดยใช้ถุงเท้าที่ทำด้วยผ้าฝ้ายนุ่ม ไม่ควรใช้ไนล่อนหรือถุงเท้าที่รัดมาก และถุงเท้าที่ใส่ไม่ควรให้มีรอยย่นในรองเท้า หลีกเลี่ยงถุงเท้าที่ยาวสูงถึงน่องหรือมียางยืดที่รัดแน่นอยู่ขอบบน เพราะจะทำให้การไหลเวียนของเลือดที่มาเลี้ยงเท้าไม่สะดวก และต้องเปลี่ยนถุงเท้าทุกวัน
8.หลังอาบน้ำอาจใช้หินขัดเท้าถูเบาๆ ที่แคลลัส (ผิวหนังที่หนาขึ้นจนแข็ง) เพื่อลดการหนาตัว ห้ามใช้สารเคมีที่ซื้อตามร้านทั่วไปเพื่อลอกตาปลาหรือจี้หูด เนื่องจากสารพวกนี้จะระคายเคืองผิวหนังมากไป ห้ามตัดตาปลาหรือหูดเองด้วยมีดโกน
9.การตัดเล็บ ให้ตัดหลังอาบน้ำใหม่ๆ เพราะเล็บเท้าจะนิ่มขึ้น ทำให้ตัดง่าย ถ้าสายตามองเห็นไม่ชัดควรให้ผู้อื่นช่วยตัดเล็บให้ เล็บเท้าที่หนาและผิดปกติควรได้รับการตะไบและตัดแต่งให้เรียบร้อย
10.เมื่อมีบาดแผล ควรทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือล้างแผล ห้ามใช้ทิงเจอร์ไอโอดีน หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ถ้าแผลมีการอักเสบสังเกตได้จากมีอาการปวดบวม แดงมากขึ้น มีหนองที่แผล ต้องรีบปรึกษาแพทย์
11.งดการสูบบุหรี่ เนื่องจากมีผลให้หลอดเลือดตีบแข็ง อาจขาดเลือดมาเลี้ยงทำให้เกิดแผลจากเนื้อตาย หรือถ้ามีแผลติดเชื้อทำให้เม็ดเลือดขาวเข้ามากินเชื้อได้น้อย การหายช้า ทำให้แผลลาม
และ 12.การบริหารเท้าทุกวัน ช่วยทำให้การหมุนเวียนของเลือดที่เท้าดีขึ้น โดยบริหารดังนี้
บริหารขาในท่าแกว่งเท้า ให้ยืนเกาะขอบโต๊ะ แกว่งเท้าไปมา ไม่งอขาขณะแกว่งในด้านหน้า ให้เกร็งยกขาสูงขึ้นจากส้นนับ 1-10 แล้วจึงแกว่งไปด้านหลัง ทำทีละข้างๆ ละ 10 ครั้ง
บริหารน่อง นั่งเก้าอี้หลังตรง ยกปลายเท้าสูงจากพื้น 1 ฟุต เกร็งปลายเท้าให้ชี้เข้าหาตัว ส้นเท้าเหยียดออกจนรู้สึกน่องตึง นับ 1-10 แล้วคลายกล้ามเนื้อที่น่องทำ 10 ครั้งสลับข้าง
เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานมีสุขภาพเท้าที่ดี และห่างไกลปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะทำให้เกิดแผลที่เท้าและไม่ลุกลามจนต้องถูกตัดขาในที่สุด
sithiphong:
รู้ไว้ใช่ว่า
---------------------------------------------------------------------
ซิฟิลิส โรคร้าย จุดจบของลำยอง
-http://men.sanook.com/1537/%E0%B8%8B%E0%B8%B4%E0%B8%9F%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%AA-%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2-%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%88%E0%B8%9A%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A5%E0%B8%B3%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%87/-
น่าจะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อีกหนึ่งโรค ที่ได้รับความสนใจพอๆ กับโรคติดต่ออื่นๆนะครับ เนื่องด้วยกระแสของลำยองนั่นเอง ที่จุดจบของเธอ เป็นโรคนี้ อย่างน่าอนาจ แต่ผู้ชายอย่างเราๆ ก็อย่าได้ไว้วางใจนะครับ เพราะโรคนี้ ผู้ชายก็เป็นได้เหมือนกัน และส่วนใหญ่ ก็มักจะพบในผู้ชายซะด้วย ดังนั้น เรามารู้จักโรคนี้ให้มากขึ้นดีกว่า
ซิฟิลิส เป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่มีอันตรายเนื่องจากมีอาการเรื้อรัง มีระยะติดต่อยาวนานกว่า 2 ปี สามารถทำให้เกิดโรคแก่ระบบต่าง ๆของร่างกายได้หลายระบบ อาจมีอาการแสดงที่ชัดเจนหรืออาจอยู่ในระยะสงบได้เป็นระยะเวลานาน นอกจากติดต่อทางเพศสัมพันธ์แล้วยังสามารถติดต่อจากมารดาไปยังทารกได้
การติดโรคนี้ มีด้วยกันหลายทาง คือ ทางเพศสัมพันธ์ ,ติดต่อผ่านการสัมผัสแผลที่มีเชื้อ โดยผ่านทางผิวหนัง และติดต่อแม่สู่ลูก
โรคซิฟิลิสมี 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 เป็นแผล
แผลซิฟิลิสเกิดที่อวัยวะเพศชายมากกว่าหญิง เกิดหลังร่วมเพศ 10 ถึง 90 วัน ถ้าแผลเกิดภายในวันสองวันหลังร่วมเพศมักจะไม่ได้เกิดจากซิฟิลิส ตอนแรกจะเป็นกลุ่ม แล้วผิวบนแตกออกเป็นแผล แผลจะมีลักษณะขอบแข็งคล้ายยางลบ พื้นแผล สีแดง แผลนี้ไม่เจ็บ
แผลที่อาจเกิดที่บริเวณอื่น เช่น ขา ทวาร ริมฝีปาก สุดแต่ว่าเชื้อมันเข้าไปที่ใดบ้าง ระยะนี้ถ้าตรวจเลือดอาจยังไม่พบ "บวก" ก็ได้
ระยะที่ 2 เข้าข้อ ออกดอก
ระยะนี้เกิดหลังจากระยะแรกประมาณ 6 สัปดาห์มีอาการปวดข้อ และมีผื่นขึ้นตามตัว ผื่นนี้ไม่คัน ระยะนี้ถ้าตรวจเลือดจะพบ "บวก" ชัดเจนผื่นจะหายไปเองโดยไม่ต้องรักษา และเข้าสู่ระยะที่ 3
ระยะที่ 3 แฝงตัว
ระยะนี้ไม่มีอาการอะไร แต่เชื้อซิฟิลิส แฝงอยู่ข้างในอาจอยู่เป็นปีๆ หรือเป็นสิบปีกว่าจะโผล่เป็นระยะที่ 4
ระยะที่ 4 ทำลาย
ระยะนี้มีการทำลาย ลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจรั่วบ้าง หลอดเลือดใหญ่โป่งพองบ้าง ทำลายสมองอาจทำให้เป็นอัมพาตบ้าง หรือมีสมองเสื่อมบ้าง ถ้าถึงระยะนี้ยากหรือไม่สามารถที่จะแก้ไขให้กลับคืนปกติได้
การป้องกัน
หากชายคนไหน ไม่นอกใจคู่ครองตัวเองไปมีอะไรกับหญิงอื่นบ่อยๆ ก็น่าจะวางใจไปได้มากกว่าครึ่ง ว่าจะไม่เป็นโรคนี้ หรือถ้าคุณอดใจไม่ได้จริงๆ ถุงยางอนามัย ก็น่าจะช่วยคุณได้ แต่ทางที่ดี รักเดียว ใจเดียว มีคนเดียว ดีที่สุดแล้วล่ะครับ
sithiphong:
แผลในช่องปาก...มากกว่าที่คิด
-http://campus.sanook.com/1370312/%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%81...%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%94/-
คอลัมน์ เรื่องฟันFunกับทันต จุฬาฯ โดย ศ.ทญ.กอบกาญจน์ ทองประสม
การเกิดแผลในช่องปากนั้นมีหลายสาเหตุ ที่พบบ่อยๆ มักเป็นแผลที่เกิดจากการกระทบกระแทก เช่น ฟันแตกคม ฟันขึ้นผิดตำแหน่ง กัดกระพุ้งแก้ม ตะขอฟันปลอม หรือเครื่องมือจัดฟันระคายเคืองเนื้อเยื่อช่องปากบริเวณที่สัมผัส เป็นต้น แผลที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เมื่อกำจัดสาเหตุออกไปแล้ว จะหายไปได้เองภายใน 2 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่า แผลในช่องปากบางชนิดอาจมีความเกี่ยวข้องกับโรคของระบบต่างๆ ในร่างกายที่มีความสำคัญกับผู้ป่วย การใช้ยารักษาผู้ป่วยที่มีโรคต่างๆ ของร่างกาย มักมีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดผลเสียอันไม่พึงประสงค์เสมอ บางครั้งยาบางชนิดจะสามารถกระตุ้นทำให้เกิดแผลเรื้อรังในช่องปาก ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดมากได้ ยาที่พบบ่อยว่าสามารถทำให้เกิดแผลในช่องปากได้ คือ ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ยาที่ใช้รักษาโรคข้อและกระดูกอักเสบ ยาต้านลมชัก ยาคุมกำเนิด และยาชนิดอื่นๆ
ส่วนรอยโรคนั้น มักจะพบลักษณะเป็นลายเส้นสีขาวร่วมกับการอักเสบแดงจัดเป็นแผล บางครั้งมีเลือดออกบริเวณรอยโรคด้วย ผู้ป่วยมักมีอาการปวดแสบปวดร้อนในช่องปาก กินอาหารรสจัดไม่ได้ ส่วนใหญ่มักพบในผู้หญิงวัยกลางคน ยาที่สามารถกระตุ้นให้เกิดรอยโรคชนิดนี้มีมากมายหลายชนิด ที่พบบ่อยๆ คือ ยาที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง ยารักษาโรคเบาหวาน ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาลดไขมันบางชนิด เป็นต้น และรอยโรคชนิดนี้ มีโอกาสเปลี่ยนเป็นมะเร็งในช่องปากได้ แต่พบน้อยในคนไทย
อีกอย่างที่ควรรู้คือ โรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตัวเองบางชนิด บางครั้งอาจตรวจพบว่า มีแผลในช่องปากที่มีลักษณะคล้ายกับแผลร้อนใน ซึ่งแผลที่เกิดขึ้นนี้จะมีลักษณะเรื้อรังนานเป็นปีหรือหลายปี ส่วนใหญ่มักจะพบแผลได้ที่บริเวณกระพุ้งแก้ม เพดานปาก ริมฝีปาก
ดังนั้น หากท่านมีแผลเรื้อรังในช่องปาก ควรไปพบทันตแพทย์ซึ่งจะเป็นบุคคลแรกที่สามารถตรวจพบการเปลี่ยนแปลงในช่องปาก และอาจตรวจพบมะเร็งในช่องปากระยะแรกได้
ที่มา : นสพ.มติชน
sithiphong:
เตือน "เรดอน" ภัยเงียบในบ้านเสี่ยงมะเร็งปอด
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 29 พฤศจิกายน 2556 13:35 น.
-http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9560000148157-
อุปกรณ์ตรวจวัดก๊าซเรดอนของ สทน.
สทน.- สทน.เตือน ถึงเวลาคนไทยตระหนักถึง “เรดอน” ภัยเงียบในบ้านเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปอด
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. แจ้งข่าวถึงอันตรายของ "เรดอน" ก๊าซเฉื่อยที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่มีรส ว่าหากได้รับมากเกินจำเป็นเสี่ยงเป็นมะเร็งปอด แนะคนอยู่คฤหาสน์ หรือบ้านปูน ใส่ใจสร้างระบบระบายอากาศ เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ สามารถลดความเสี่ยงได้ ปัจจุบันมีคนจำนวนมากสร้างบ้านเป็นคฤหาสน์หลังใหญ่โต เลือกใช้วัสดุที่ราคาแพง แข็งแรงคงทน หรูหรา อย่างคอนกรีต หินแกรนิต หินอ่อน กระเบื้องโมเสคต่างๆ
"วัสดุเหล่านั้นใช่ว่าจะมีผลดีต่อสุขภาพคนเรา เพราะบ้านท่านอาจจะปะปนไปด้วย ก๊าซเรดอน ซึ่งเป็นก๊าซกัมมันตรังสีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ จากการเสื่อมสลายตัวของธาตุยูเรเนียม ซึ่งมีปะปนอยู่ในหินดินทรายทั่วโลก จนกลายเป็นเรเดียมและกลายมาเป็นก๊าซเรดอนในที่สุด โดยเมื่อเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ก๊าซเรดอนจะสลายตัวปล่อยรังสีอัลฟาพลังงานสูงออกมาทำลายเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจ และกลายเป็นมะเร็งในที่สุด" จดหมายจาก สทน.ระบุ
ทั้งนี้ เรดอนเกิดจากธรรมชาติ ปะปนอยู่ในชั้นหิน แร่หิน ที่สำคัญก๊าซเรดอนไม่มีสี ไม่มีกลิ่น คนเราไม่สามารถรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสใดๆ มันสามารถแทรกตัวผ่านพื้นดินเข้ามาในตัวบ้านโดยตรง หรือผ่านทางท่อ รูเปิดต่างๆ และรอยแตกร้าว นอกจากนั้นยังอาจจะมาจากหินหรือทรายที่มีแร่เรเดียมปนเปื้อน แล้วนำมาใช้ในการสร้างบ้าน
มีข้อมูลระบุว่าก๊าซเรดอนที่สะสมในบ้านเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอดและทำให้ผู้ป่วยในสหภาพยุโรปเสียชีวิตปีละ 20,000 คน ส่วนในสหรัฐอเมริกาพบว่าบ้าน 1 ในทุก 15 หลัง จะมีระดับก๊าซเรดอนสูง จนองค์การวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศจัดให้ก๊าซเรดอนเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์อย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 หรือ 25 ปี มาแล้ว
องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ประเทศสหรัฐอเมริกา (The U.S. Environmental Protection Agency; EPA) ได้กําหนดระดับก๊าซเรดอนในอาคารที่พักอาศัยไว้ที่ 4 pCi/L (หรือ 148 Bq/m3) และกำหนดเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ก๊าซเรดอนจะมีปริมาณน้อยกว่า 4 pCi/L ก็ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และควรจะต้อง ลดปริมาณลงให้น้อยกว่านี้อีก ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าบ้านในประเทศสหรัฐอเมริกามีประมาณ 6% ที่มีปริมาณก๊าซเรดอน ในบ้านสูงกว่าหรือเท่ากับระดับที่กำหนด
ต่อมาในปี 2009 องค์การอนามัยโลก (The World Health Organization: WHO) ได้ปรับลดค่าเรดอนภายในอาคารที่พักอาศัยเป็น 2.7 pCi/L (หรือ 100 Bq/m3) เพื่อให้มีระดับความปลอดภัยแก่ ประชาชนมากยิ่งขึ้น แต่ในประเทศไทยเรายังไม่มีกฎหมายกำหนดปริมาณก๊าซเรดอนที่ปลอดภัย
ด้าน ดร.สมพร จองคำ ผู้อำนวยการ สทน.กล่าวว่า เจ้าของบ้านอาจจะไม่รู้ว่ามีก๊าซชนิดนี้วนเวียนอยู่ในบ้านเราหรือไม่ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าบ้านเรามีก๊าซเรดอนในปริมาณสูงมากน้อยเพียงใด เพราะในประเทศไทยมีเครื่องมือในการวัดปริมาณก๊าซเรดอนและนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้อยู่ที่ สทน. ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวสามารถวัดปริมาณก๊าซเรดอนในพื้นที่เป้าหมายได้ผลอย่างแม่นยำ
ดร.สมพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะต้องอาศัยอยู่ในบ้านที่มีก๊าซเรดอน แต่เราสามารถลดปริมาณก๊าซเรดอนภายในบ้านได้ ซึ่งทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การออกแบบบ้านให้มีช่องระบายอากาศ และไม่ ปิดทึบจนเกินไป การเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่ไม่มีสารกัมมันตรังสี และการระบายอากาศภายในบ้าน โดยการเปิดประตู หน้าต่าง และช่องระบายลม เพื่อไม่ให้มีก๊าซเรดอนอยู่ภายในบ้านสูงเกินไป และที่สำคัญคือ การอุดรอยร้าวและรอยแยก ตามพื้นและผนังของบ้าน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เรดอนเข้าสู่ภายในบ้าน
"หากผู้ประกอบการบ้านจัดสรร โดยเฉพาะหมู่บ้านจัดสรรที่มีราคาสูงใช้วัสดุอย่างดีในการก่อสร้างบ้าน เพราะไม่ว่าจะเป็นทรายที่นำมาผสมกับปูน หินแกรนิต หรือใยหินต่างๆ ก็อาจมีเรดอนปะปนอยู่ แต่ไม่ทราบว่ามากน้อยเท่าไร ขอแนะนำผู้ประกอบการสามารถติดต่อกับ สทน. เพื่อขอรับบริการวัดก๊าซเรดอนได้ สทน.จะนำเครื่องวัดก๊าซเรดอนไปให้บริการวัดก๊าซเรดอนให้กับท่าน การวัดนั้นสามารถทำได้ปีละครั้งก็ยังดี ถือเป็นบริการหลังจากการขายดีๆ จากผู้ประกอบการ และยังเป็นการดูแลสุขภาพแก่ลูกบ้านให้อยู่กันอย่างมีความสุขไปอีกนานเท่านาน" ผู้อำนวยการ สทน.
sithiphong:
แบบนี้ อันตรายมากๆๆๆๆๆ
----------------------------------------------
โพลเผย คนไทยมีเซ็กส์กับคนที่ไม่ใช่แฟนโดยไร้ถุงยาง 29% หวั่นเอดส์พุ่ง
-http://health.kapook.com/view77444.html-
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
โพลเผย ประชาชนเคยมีเซ็กส์แบบสอดใส่กับคนอื่นที่ไม่ใช่แฟนหรือคนรักโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย ร้อยละ 29 หวั่นปัญหาโรคเอดส์เพิ่มขึ้น วอนทุกภาคส่วนตระหนักและร่วมแก้ปัญหา
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2556 ภก.เชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่า ทางหน่วยงานได้จัดทำโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับเรื่อง HIV และเอดส์ ทางระบบออนไลน์และสำรวจจากกลุ่มเป้าหมายในการจัดรณรงค์โรคเอดส์ ช่วงวันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2556 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 200 ราย ได้ผลดังนี้
1. ด้านพฤติกรรม
ดูออกว่าคนที่มีเซ็กส์ด้วยกันเคยมีเซ็กส์กับคนอื่นมาก่อน ร้อยละ 52
มั่นใจว่าคู่ของตนใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เมื่อมีเซ็กส์กับคนอื่น ร้อยละ 31
มั่นใจว่าจะมีเซ็กส์กับคนคนเดียว ร้อยละ 62
เคยมีเซ็กส์แบบสอดใส่กับคนอื่นที่ไม่ใช่แฟนหรือคนรักโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย ร้อยละ 29
ปฏิเสธการมีเซ็กส์เสี่ยงแบบไม่ป้องกันได้ตลอดทุกครั้ง ร้อยละ 54
มีถุงยางอนามัยเมื่อต้องการใช้ทุกสถานการณ์ ร้อยละ 47
เคยใช้เข็มฉีดสารเสพติดร่วมกับผู้อื่น ร้อยละ 9
เคยไปตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 56
2. ด้านการรักษา
ทราบข้อมูลว่าปัจจุบันมียาต้านไวรัสรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ได้ครอบคลุมทุกสิทธิการรักษาของคนไทย ร้อยละ 73
ทราบว่าผู้ป่วยโรคเอดส์ที่กินยาต้านไวรัสรักษาอย่างครบถ้วนต่อเนื่อง จะช่วยชะลอการเสียชีวิตได้ ร้อยละ 83
ทราบว่าผู้ป่วยที่กินยาต้านไวรัสรักษาอยู่จะช่วยป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีไปสู่ผู้อื่นได้ ร้อยละ 39
3. ด้านการรังเกียจและตีตรา
หากติดเชื้อเอชไอวีจะยอมบอกคนในครอบครัว ร้อยละ 77
ผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อที่ตนรู้จักคือคนในครอบครัว เพื่อนสนิท รวมกันร้อยละ 9 เป็นคนรู้จักถึงร้อยละ 49
ถ้าทราบว่าคนที่รู้จักติดเชื้อเอชไอวีจะเดินหนีหรืออยู่ห่าง ๆ ร้อยละ 14
รู้สึกรังเกียจผู้ติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 2 รังเกียจผู้ป่วยเอดส์ ร้อยละ 4
ถ้ามีบริการตรวจเลือดเพื่อหาการติดเชื้อเอชไอวีฟรีจะไปตรวจทันที ร้อยละ 75
ทั้งนี้ ภก.เชิดเกียรติ กล่าวว่า ภาคธุรกิจและภาคประชาชนในส่วนภูมิภาค ควรได้ตระหนักถึงความจำเป็นต้องขจัดปัญหาเอชไอวีและเอดส์ โดยอาศัยข้อมูลนี้มุ่งพลิกสถานการณ์ ตอบสนองและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเร่งรัดการต่อสู้กับปัญหาเอชไอวีและเอดส์ บรรลุผลให้เป็นศูนย์ สู่ 3 ต. คือ ไม่ติด ไม่ตาย และไม่ตีตรา
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
-http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1385721712&grpid=&catid=01&subcatid=0100-
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version