อิ่มกาย อิ่มใจ > สุขภาพกับชีวิต
แนะนำ วิธีการป้องกัน โรคภัยไข้เจ็บ
sithiphong:
ตาปลาเกิดจากอะไร วิธีรักษาตาปลาให้หาย
-http://health.kapook.com/view48.html-
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ตาปลาเกิดจากอะไร รักษาตาปลาแบบไหนได้ผล ไม่เจ็บตาปลาที่เท้าอีก ข้อมูลต่อไปนี้ช่วยคุณได้จ้า
อูยยย..เจ็บตาปลาที่เท้าจังเลย ใส่รองเท้าก็เดินลำบาก ถ้าใครไม่เคยเป็นคงไม่รู้หรอกว่าทรมานแค่ไหน แบบนี้ต้องรีบหาวิธีรักษาตาปลาเสียแล้ว ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นตาปลา ก็น่าจะรู้ข้อมูลไว้บ้าง จะได้ช่วยป้องกันไม่ให้ทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดตาปลาไงเนอะ
ตาปลาคืออะไร
พญ.พรทิพย์ ภูวบัณฑิตสิน สาขาตจวิทยา (ผิวหนัง) ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า "ตาปลา" ก็คือก้อนของหนังขี้ไคลซึ่งเกิดจากการเสียดสีของผิวหนังเรื้อรังเป็นเวลานานนั่นเอง เราจึงพบตาปลาเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ ที่บริเวณฝ่าเท้า เพราะเป็นส่วนที่แบกรับน้ำหนักตัวของเราตลอดเวลา
ทั้งนี้ ตาปลามีด้วยกัน 2 ชนิด คือ "ตาปลาชนิดขอบแข็ง" มักขึ้นตามข้อพับ ส้นเท้า ฝ่าเท้า บริเวณที่ถูกกระแทก หรือเสียดสีบ่อย ๆ กับ "ตาปลาชนิดอ่อน" มักขึ้นตามง่ามนิ้วเท้า
ตาปลาเกิดจากอะไร
แล้วทำไมการที่ผิวหนังเสียดสีกันนาน ๆ ถึงทำให้เกิดตุ่มตาปลาได้ล่ะ ? เรื่องนี้อธิบายได้ง่าย ๆ ว่า ผิวหนังของคนเรานั้นมีทั้งส่วนที่เป็นหนังกำพร้าและหนังแท้ ซึ่งมีสารเชื่อมให้ทั้งสองชั้นเกาะติดกัน แต่ถ้าผิวหนังถูกเสียดสีอย่างรุนแรง จะทำให้ผิวหนังกำพร้าแยกออกมาเป็นตุ่มพอง ๆ และถ้ายิ่งเสียดสีไปนาน ๆ เข้า จะยิ่งไปกระตุ้นให้ผิวหนังกำพร้าสร้างหนังขี้ไคลหนาขึ้นจนมีลักษณะแข็ง ๆ เป็นก้อนแหลม ๆ คล้ายลิ่ม พอกดเข้าไปตรงบริเวณตุ่มน้ำใส ๆ ก็จะรู้สึกเจ็บ
แล้วรู้ไหมว่าตาปลาไม่ได้เกิดเฉพาะที่ฝ่าเท้าอย่างที่พบกันบ่อย ๆ เท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดได้ระหว่างซอกนิ้วเท้า ที่กระดูกนิ้วเสียดสีกัน หรือด้านบนของหลังเท้า ที่เกิดจากการสวมรองเท้าหัวแบนบ่อย ๆ ทำให้ผิวหนังส่วนนั้นเสียดสีกับรองเท้า สรุปได้ว่า ตาปลาเกิดจากแรงเสียดสีของผิวหนังนั่นเอง ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อใด ๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจกัน
อาการของตาปลา
ถ้าเป็นตาปลาขึ้นมาล่ะก็สิ่งแรกที่เราจะรู้สึกได้ก็คือความเจ็บปวดนี่แหละ เห็นตุ่มแข็ง ๆ เม็ดเล็กนิดเดียว ก็ทำให้เจ็บจี๊ดได้เลยนะ โดยเฉพาะถ้าตาปลามีขนาดใหญ่ แล้วเราต้องไปทำกิจกรรมที่ต้องใช้ฝ่าเท้ารับน้ำหนักมาก เช่น วิ่ง เดินนาน ๆ ยืนนาน ๆ หรือคนที่เป็นตาปลามีน้ำหนักมาก ก็ยิ่งทำให้เจ็บมากขึ้น เพราะก้อนแข็ง ๆ นี้จะยิ่งถูกกดให้ลึกเข้าไปในผิวหนัง บางทีไปกดทับกระดูกหรือเส้นประสาทเข้าอีก แบบนี้ต้องรีบหาวิธีรักษาเลย
ตาปลา
ตาปลากับหูดต่างกันตรงไหน
หลายคนเห็นก้อนไตแข็ง ๆ ขึ้นมาที่เท้า ไม่แน่ใจว่าเป็นหูดหรือตาปลา ให้ตรวจดูแบบนี้ว่า ถ้าเป็นหูด ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสฮิวแมน เพ็ปพิลโลมาไวรัส (Human papillomavirus) หรือเชื้อ HPV ไปกระตุ้นเซลล์ผิวหนังให้แบ่งตัวเพิ่มขึ้นเป็นก้อนในชั้นหนังกำพร้า มักจะเกิดขึ้นกับเท้าเดียว และจะรู้สึกเจ็บมากถ้าบีบก้อนด้านข้างเข้าหากัน เมื่อปาดผิวตุ่มนั้นออกดูจะเป็นเส้นสีขาวอัดแน่น ถ้าตัดลึกลงไปอีกจะมีเลือดออก เพราะมีเลือดมาเลี้ยงเซลล์ผิวหนังตรงส่วนนี้ด้วย
แต่ถ้าเป็นตาปลาบีบด้านข้างจะไม่เจ็บ จะเจ็บก็ต่อเมื่อกดลงไปในตุ่ม และในตุ่มนั้นจะไม่มีเลือดออก เพราะเป็นเพียงผิวหนังที่ขี้ไคลหนาขึ้นจากการกดทับและเสียดสีเป็นเวลานานเท่านั้น
หูด
วิธีรักษาตาปลาที่เท้า
การรักษาตาปลาให้ได้ผลนั้นมีอยู่หลายวิธีที่ขอนำเสนอก็คือ
1. ใช้พลาสเตอร์ที่มีกรดซาลิไซลิก 40% ปิดส่วนที่เป็นตาปลาทิ้งไว้ 2-3 วัน จากนั้นค่อยแกะพลาสเตอร์ออก แล้วแช่เท้าในน้ำอุ่นเพื่อให้ผิวหนังตรงฝ่าเท้านิ่มลง จะช่วยทำให้ตาปลาหลุดลอกออกไปได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าตาปลาหลุดลอกออกไปยังไม่หมด ก็ให้แปะพลาสเตอร์ซ้ำ แล้วกลับมาแช่น้ำอุ่นอีกครั้ง
2. ใช้ยาแอสไพริน (แต่ไม่ได้ให้ทานนะ) โดยในแอสไพรินก็มีกรดซาลิไซลิกเช่นกัน ก็ช่วยกัดตาปลาได้ (แต่คุณต้องมั่นใจด้วยว่าตัวเองไม่แพ้ยาแอสไพริน) วิธีใช้ก็คือ นำแอสไพริน 5 เม็ดมาบดเป็นผง แล้วผสมกับน้ำมะนาว 12 ช้อนชา และน้ำเปล่าอีก 12 ช้อนชา จากนั้นนำมาป้ายตรงตาปลา แล้วใช้พลาสติกมาห่อไว้ ตบท้ายด้วยการพันผ้าขนหนูอุ่น ๆ ทับอีกชั้นหนึ่ง ทิ้งไว้ 10 นาทีแล้วถอดออก แล้วใช้หินมาขัดเบา ๆ จะช่วยให้ตาปลาลอกออกมา
3. ทายากัดตาปลาหรือหูด วันละ 1-2 ครั้ง หรือจนกว่าตาปลาจะหลุดออกไปหมด โดยมีคำแนะนำคือ ก่อนทายาให้แช่เท้าในน้ำอุ่นก่อนสัก 15-20 นาที เพื่อให้ผิวหนังนิ่มขึ้น แล้วใช้ผ้าขนหนูมาถูตรงตาปลาเพื่อลอกขุยออก จากนั้นอาจใช้วาสลินหรือน้ำมันมะกอกมาทาผิวรอบ ๆ ตาปลา เพื่อที่ผิวบริเวณนั้นจะได้ไม่ถูกตัวยาไปกัดผิวหนัง แล้วค่อยแต้มยาลงบนตาปลา
4. ผ่าตัดหรือใช้เลเซอร์จี้ตาปลาออก เป็นอีกวิธีที่สะดวกรวดเร็ว แต่ก็อาจทิ้งแผลเป็นไว้ และที่สำคัญคือค่ารักษาแพงกว่าวิธีอื่น ๆ แต่วิธีนี้จะเหมาะกับผู้ที่เป็นตาปลาเพราะเกิดจากความผิดปกติของกระดูกที่ทำให้กระดูกเสียดสีกัน
ส่วนใครที่เคยได้ยินคนแนะนำให้เอาธูปจี้ตาปลา หรือใช้ของมีคมเฉือนตาปลาออก ข้อเตือนไว้ตรงนี้เลยค่ะว่าเป็นวิธีที่อันตรายมาก เพราะนอกจากอาจไม่ได้ช่วยให้ตาปลาหายแล้ว ยังทำให้เกิดแผลอักเสบติดเชื้อตามมาเป็นของแถม แบบนี้ไม่ไหวแน่
ป้องกันตาปลาที่เท้าง่าย ๆ แค่เลือกรองเท้าให้เหมาะ
ก่อนจะเป็นตาปลาที่เท้า หรือรักษาตาปลาหายไปแล้วไม่อยากกลับมาเป็นซ้ำอีกรอบ ก็ต้องรู้จักเลือกรองเท้าให้เหมาะสมกับตัวเอง ตามนี้เลย
1. เลือกใส่รองเท้าที่พอดีกับเท้า ไม่คับเกินไป หรือหลวมเกินไป เพราะไม่ว่ารองเท้าจะคับหรือหลวมก็ทำให้นิ้วเท้าเสียดสีกัน
2. หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง รองเท้าหัวแหลม รองเท้าแฟชั่นซึ่งไม่สอดคล้องกับโครงสร้างกระดูกเท้า รองเท้าพวกนี้จะไปบีบรัดทำให้การเรียงตัวของกระดูกผิดทิศทาง และทำให้เกิดการเสียดสีมากขึ้น แต่สำหรับสาว ๆ ที่จำเป็นต้องใส่รองเท้าส้นสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็เลือกรองเท้าส้นสูงที่มีแผ่นหนุนด้านหน้า เพื่อลดแรงกดที่นิ้วเท้า และไม่ควรใส่รองเท้าส้นสูงยืนเดินนานจนเกินไป ควรหารองเท้าสบาย ๆ ไปเปลี่ยนระหว่างวันด้วย
3. หาฟองน้ำหรือแผ่นรองเท้ามาใส่เพิ่มในรองเท้า เพื่อลดการเสียดสีระหว่างรองเท้ากับผิวหนัง
4. เลือกใส่รองเท้าที่เหมาะกับกิจกรรมที่ทำ เช่น รองเท้าเทนนิสไม่ควรใส่มาวิ่ง
5. ถ้าชอบมีตาปลาเกิดขึ้นระหว่างง่ามนิ้วเท้า อาจใช้สำลีหรือฟองน้ำบุระหว่างง่ามนิ้วเท้าไว้ เพื่อป้องกันการเสียดสี
6. หากตาปลาเกิดจากมีเท้าผิดรูป หรือการลงน้ำหนักของเท้ามีความผิดปกติ อาจเลือกใช้รองเท้าที่ออกแบบเป็นพิเศษที่เหมาะสมกับความผิดปกติแต่ละชนิด
ถ้าใครที่มีตาปลาขึ้นที่มือ ก็ควรใส่ถุงมือหนา ๆ เวลาต้องทำงานที่รับแรงเสียดสี หรือถ้าใครมีน้ำหนักตัวเกิน ก็ต้องลดน้ำหนักลงบ้าง เพื่อลดการเสียดสีเช่นเดียวกัน
-http://www.mcot.net/-
-http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TURONWIzVXdNakk1TVRFMU5nPT0=-
-http://www.readersdigestthailand.co.th/%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99-
.
sithiphong:
เตือนหนุ่มๆ ฟาดอาหารไขมันสูงเสี่ยง “มะเร็งต่อมลูกหมาก”
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 15 มีนาคม 2557 19:08 น.
-http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000029507-
สาวๆ ทั้งหลายมีสารพัดโรคมะเร็งให้กังวลมากพอแล้ว ทั้งมะเร็งรังไข่ มะเร็งปากมดลูก เพราะเป็นอวัยวะที่ผู้ชายไม่มี สำหรับคุณผู้ชายที่ต้องกังวลก็ต้องเป็นอวัยวะที่ผู้หญิงไม่มีเช่นกัน อ๊ะๆ! อย่าเพิ่งคิดลึกไปถึงอวัยวะอย่างมังกรผงาดโลกเด็ดขาด แต่เป็นอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ที่ไม่ใกล้ไม่ไกลกันต่างหาก นั่นก็คือ ต่อมลูกหมาก
ศ.นพ.สุชาย สุนทราภา ศัลยแพทย์ด้านระบบทางเดินปัสสาวะ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า ต่อมลูกหมาก (Prostate gland) เป็นอวัยวะหนึ่งของระบบสืบพันธุ์ชายที่มีหน้าที่ในการผลิตส่วนประกอบของน้ำอสุจิ และหล่อเลี้ยงตัวอสุจิ ต่อมลูกหมากอยู่ภายในช่องเชิงกรานใต้ต่อกระเพาะปัสสาวะและอยู่หน้าลำไส้ตรงหรือทวารหนัก และล้อมรอบท่อปัสสาวะส่วนต้น
เตือนหนุ่มๆ ฟาดอาหารไขมันสูงเสี่ยง “มะเร็งต่อมลูกหมาก”
“สำหรับมะเร็งต่อมลูกหมากเกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์เยื่อบุผิวของต่อมลูกหมาก ทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง เช่น กะรเพาะปัสสาวะ ถุงเก็บน้ำอสุจิ ท่อปัสสาวะ เป็นต้น จนเกิดภาวะการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะตำแหน่งต่างๆ เกิดการคั่งค้างของปัสสาวะ ทำให้ไม่สามารถระบายของเสียออกจากร่างกายได้ จึงเสี่ยงทำให้เกิดภาวะไตวายตามมาได้อีก ถ้ามะเร็งต่อมลูกหมากกระจายไปทั่วตัวในระยะท้ายก็จะทำให้เสียชีวิตได้”
สำหรับผู้ชายที่มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ศ.นพ.สุชาย บอกว่า คือผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งเมื่อมีอายุสูงขึ้นอัตราเสี่ยงในการเป็นก็มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ชายที่อายุน้อยกว่า 50 ปีก็มีโอกาสเป็นได้แต่น้อย นอกจากนี้ พบว่าชายที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากก็จะมีอัตราเสี่ยงสูงเช่นกัน รวมถึงผู้ชายที่นิยมบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงก็มีอัตราเสี่ยงสูงมากขึ้น ซึ่งพบมากในประเทศตะวันตกที่นิยมกินอาหารไขมันสูง ดังนั้น ชายที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจต่อมลูกหมากปีละครั้ง
“อาการของมะเร็งต่อมลูกหมากนั้น ในระยะแรกจะยังไม่แสดงอาการใด เมื่อมะเร็งลุกลามมากขึ้นมีการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ อาจจะทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบาก ต้องเบ่งปัสสาวะมากขึ้น ปัสสาวะเป็นเลือด ถ้าเป็นมากจะปัสสาวะไม่ออก หรือเกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ แต่อาการปัสสาวะผิดปกติเช่นนี้อาจจะเหมือนกับโรคต่อมลูกหมากโตแบบธรรมดาได้ จึงจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ชัด สำหรับระยะลุกลาม จะลามไปถึงกระดูกจะมีอาการปวดบริเวณกระดูกสันหลัง บริเวรกระดูกเชิงกราน หรือปวดบริเวณซี่โครง นอกจากนั้น จะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และเกิดภาวะซีด หรือมีกระดูกหักง่ายขึ้น ผู้ป่วยบางรายเป็นอัมพาตจากกระดูกสันหลังหักทับเส้นประสาทได้”
การจะตรวจเช็กว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่ ศ.นพ.สุชาย ระบุว่า การตรวจสามารถทำได้โดยการเจาะเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก หรือ PSA ซึ่งผู้เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากค่า PSA ในเลือดจะสูงกว่าปกติ และตรวจทางทวารหนัก โดยแพทย์จะสอดนิ้วเข้าไปคลำต่อมลูกหมากผ่านรูทวารหนัก ถ้าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจะคลำได้ลักษณะก้อนแข็ง อย่างไรก็ตาม หากการตรวจทั้งสองอย่างผิดปกติ ผู้ป่วยควรได้รับการตัดชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยัน โดยการผ่านเข็มผ่านทางเครื่องอัลตราซาวนด์ของต่อมลูกหมาก ซึ่งทำได้โดยใช้ยาเฉพาะที่
ในแง่การรักษานั้น ศ.นพ.สุชาย กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับระยะของผู้ป่วย ถ้ามาพบแพทย์ช่วงระยะเริ่มต้นผลการรักษาจะดี มีโอกาสหายได้ หากมาในระยะท้าย การรักษาจะช่วยให้มีชีวิตยืนยาวขึ้นแต่ไม่หายขาด ซึ่งหากเป็นระยะที่ 1 และ 2 รักษาโดยการผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออกทั้งหมด เป็นการรักษาที่ได้ผลวิธีหนึ่ง มีโอกาสหายขาดได้ วิธีนี้มักจะทำในผู้ป่วยอายุไม่เกิน 70 ปี แต่ถ้ามากกว่า 70 ปีขึ้นไป แพทย์จะดูสภาวะอื่นๆ ของผู้ป่วยแล้วใช้ดุลยพินิจในการรักษาให้เหมาะสม ผลข้างเคียงของการผ่าตัดคือ ผู้ป่วยอาจจะสูญเสียความสามารถในการแข็งตัวของอวัยวะเพศหลังผ่าตัด บางรายอาจจะมีปัญหาในการกลั้นปัสสาวะ
อีกวิธีหนึ่งคือการฉายรังสี หรือฝังแร่ในต่อมลูกหมาก โดยใช้รังสีไปทำลายเซลล์มะเร็งของต่อมลูกหมาก ผลข้างเคียงคือ จะเกิดการระคายเคืองของเยื่อบุผิวของกระเพาะปัสสาวะ หรือเยื่อบุผิวของลำไส้ตรง จะทำให้มีปัสสาวะเป็นเลือดเป็นครั้งคราว ปัสสาวะลำบาก หรือมีอุจจาระเป็นเลือด อุจจาระลำบากได้
ศ.นพ.สุชาย กล่าวว่า หากมะเร็งลุกลามระยะ 3 ต้องใช้การรักษาผสมผสาน ทั้งการผ่าตัดต่อมลูกหมากออกจนหมด หรือฉายแสงร่วมกับการรักษาโดยการลดฮอร์โมนเพศชาย คือ การตัดลูกอัณฑะออกทั้ง 2 ข้าง หรือการฉีดยา LHRH agonist เพื่อยับยั้งการสร้างฮอร์โมนเทสโตสเตอร์โรนจากลูกอัณฑะได้ นอกจากนั้น ยังมีการให้ยา anti-androgen ร่วมด้วย เพื่อยับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจนจากต่อมหมวกไต ส่วนระยะที่ 4 คือระยะที่มะเร็งกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองหรือกระดูกแล้ว การรักษาที่นิยมคือ การลดฮอร์โมนเพศชายตามที่ได้ระบุไป
“หลังการรักษา แพทย์จะนัดติดตามผลการรักษาโดยการเจาะเลือด PSA เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของระดับ PSA ถ้าต่ำคือการรักษาได้ผลดี ถ้าสูงขึ้นแสดงว่าโรคกำเริบ ดังนั้น ผู้ป่วยต้องมารับการตรวจทุกครั้งที่แพทย์นัด”
sithiphong:
เนื้องอกต่อมใต้สมองชนิดคุชชิ่ง แม้ไม่กินยาสเตียรอยด์ก็เป็นได้
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 23 มีนาคม 2557 18:57 น.
-http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000032536-
โดย...ศ.นพ.อภิชาติ วิชญาณรัตน์ สาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โรคเนื้องอกต่อมใต้สมองชนิดคุชชิ่ง (Cushing’s Disease) ซึ่งเป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อย แต่มีอาการคล้ายกับโรคอื่นๆ ที่เราคุ้นเคยกันดี เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่ควบคุมโรคเหล่านี้ได้ยาก
คนที่อ้วนขึ้นผิดสังเกต โดยเฉพาะผู้ที่มีใบหน้าอ้วน กลม และแดง พุงยื่นป่อง แต่แขนขากลับลีบ ผิวหนังมีรอยแตกสีชมพูม่วงคล้ำ มักพบที่หน้าท้องหรือต้นขา บริเวณต้นคอด้านหลังอาจมีไขมันพอกหนาคล้ายหนอก ผิวหนังบางจนเห็นเส้นเลือดได้ชัด เส้นเลือดบนผิวหนังเปราะและแตกง่าย เห็นเป็นรอยช้ำสีม่วง มีสิวและขนอ่อนขึ้นบนใบหน้า ผู้ที่มีลักษณะต่างๆ เหล่านี้เรียกว่าเกิดภาวะ “คุชชิ่ง ซินโดรม” เป็นสัญญาณบอกว่าในร่างกายมีระดับคอร์ติโคสเตียรอยด์สูงเป็นเวลานาน
การที่ร่างกายมีคอร์ติโคสเตียรอยด์ (เรียกสั้นๆ ว่าสเตียรอยด์) สูงเกิดขึ้นได้ทั้งจากสาเหตุภายในร่างกาย และภายนอกร่างกาย ส่วนใหญ่เราจะพบภาวะคุชชิ่งซินโดรมจากสาเหตุภายนอกร่างกาย คือคนที่รับประทานยาลูกกลอนหรือยาหม้อที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์เป็นเวลานานๆ หรือซื้อยาชุดที่มียาเม็ดสเตียรอยด์อยู่ด้วย เพื่อรักษาโรคปวดข้อ โรคปวดเมื่อย โรคคัน โรคหอบหืด หรือเพื่อให้เจริญอาหาร
ในปัจจุบันมีการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องนี้กันอย่างมาก ร้านขายยาส่วนใหญ่ไม่จ่ายยากลุ่มนี้ถ้าไม่มีใบสั่งแพทย์
ส่วนสาเหตุจากภายในร่างกายซึ่งพบน้อยมาก คนทั่วไปยังไม่ค่อยรู้จักกัน สาเหตุอาจเกิดจากเนื้องอกต่อมหมวกไต หรือต่อมหมวกไตโต และสร้างสเตียรอยด์มากเกินจากผลของเนื้องอกต่อมใต้สมอง ทั้งต่อมหมวกไตและต่อมใต้สมองเป็นต่อมไร้ท่อที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสเตียรอยด์ฮอร์โมนในร่างกาย หลายๆ คนอาจไม่ทราบว่าสเตียรอยด์เป็นฮอร์โมนที่มีการผลิตในร่างกายอยู่แล้ว เป็นฮอร์โมนที่มีหน้าที่สำคัญในการควบคุมระบบเมตะบอลิสม (เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญอาหารแป้ง ไขมัน และโปรตีนเพื่อนำมาใช้เป็นพลังงาน) การทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด และการตอบสนองต่อความเครียดของร่างกาย โดยปกติร่างกายจะมีการผลิตสเตียรอยด์ในปริมาณที่เหมาะสม ทำให้ร่างกายทำงานเป็นปกติ
เนื่องจากในเดือนเมษายน ทั่วโลกมีการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องเนื้องอกต่อมใต้สมองชนิดคุชชิ่ง จึงอยากให้ความรู้เกี่ยวกับโรคชนิดนี้ ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักกันนัก แล้วต่อมใต้สมองคืออะไร…..
ต่อมใต้สมองเป็นต่อมขนาดเล็ก น้ำหนักประมาณ 0.6 กรัม ที่ติดอยู่กับส่วนล่างของฐานสมอง มีหน้าที่ควบคุมการสร้างฮอร์โมนหลายชนิด รวมทั้งฮอร์โมนที่ควบคุมการสร้างสเตียรอยด์ เมื่อเกิดเนื้องอกของต่อมใต้สมองชนิดที่มีการสร้างฮอร์โมน ACTH ฮอร์โมนนี้จากเนื้องอกจะไปกระตุ้นต่อมหมวกไตให้มีการสร้างสเตียรอยด์ฮอร์โมนมากขึ้น ทำให้เกิดอาการและโรคแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการแสดงออกแตกต่างกัน แต่ทุกรายจะมีลักษณะเด่นต่างๆ ของคุชชิ่ง ซินโดรมดังกล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รูปร่างอ้วน หน้ากลมแดง อาจมีสิวและขนอ่อนเพิ่มขึ้น ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง ผู้ป่วยโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองชนิดคุชชิ่งยังอาจมีอาการอื่นๆ ที่เกิดจากการมีสเตียรอยด์ฮอร์โมนในร่างกายสูง เช่น ปวดหลังเนื่องจากกระดูกผุ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ นอนไม่หลับ ติดเชื้อง่ายและเป็นแผลหายช้า ผมร่วง ในผู้หญิงประจำเดือนอาจมาน้อยหรือไม่มาเลย ส่วนในผู้ชายอาจไม่มีความรู้สึกทางเพศ ตัวเนื้องอกต่อมใต้สมองอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้
ในปัจจุบันการรักษาโรคนี้ใช้วิธีการผ่าตัดเอาเนื้องอกออกไปเป็นลำดับแรก เนื่องจากมีโอกาสหายขาด ในผู้ป่วยที่ผ่าตัดแล้วไม่หาย หรือโรคกลับมาเป็นซ้ำ รวมทั้งผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดเนื้องอกได้ จะรักษาด้วยรังสีรักษาหรือให้ยาเพื่อยับยั้งการสร้างสเตียรอยด์ฮอร์โมน ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย เข่น ความดันโลหิตสูง หรือน้ำตาลในเลือดสูง แต่ควบคุมไม่ได้ กระดูกหักง่าย ติดเชื้อง่าย ความดันโลหิตสูงทำให้เกิดโรคหัวใจวาย อัมพาตครึ่งซีก โรคหัวใจขาดเลือด ถ้ามีลักษณะหรืออาการต่างๆ ดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
--------------------------------------------------------------------------
เตือน! นอนดูทีวี นอนตะแคงแชตมือถือ ระวังเดินคอเอียง
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 23 มีนาคม 2557 10:55 น.
-http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000032648-
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เตือนประชาชนที่ชอบนอนดูโทรทัศน์ แม้จะสบายแต่อาจส่งผลอนาคต ขั้นคอเดี้ยง เนื่องจากกล้ามเนื้อเกร็ง และย้ำเตือนผู้ที่นอนตะแคงเล่นสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต จะเกิดปัญหาเดินคอเอียงไม่รู้ตัว รวมทั้งแนะผู้ที่มีอาการตาแห้ง แสบตาหลังดูจอมือถือหรือจอคอมพิวเตอร์ ไม่จำเป็นต้องหยอดตา วิธีแก้ไขที่ถูกต้องคือดื่มน้ำบ่อยๆ และหลับตาเพื่อพักสายตาจะช่วยได้
นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จังหวัดนนทบุรี ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้การใช้พฤติกรรมประจำวันของประชาชนน่าห่วง ผู้ที่อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ คอนโดมิเนียม ที่มีพื้นที่จำกัด มักชอบนอนดูทีวีและทีวีมักจะตั้งอยู่สูงกว่า การดูทีวีในลักษณะนี้ อาจก่อปัญหาโดยไม่รู้ตัว การนอนดูทีวีเพราะทีวีอยู่ข้างบน เป็นท่าที่ไม่ถูก จะมีผลเสียต่อกล้ามเนื้อที่คอ กระดูกคอ ทำให้เอ็นคออักเสบ และหากมีพฤติกรรมติดต่อกันไปนานๆ ในระยะยาว จะเกิดอาการคอเดี้ยงคือปวดต้นคอ กล้ามเนื้อเกร็งและอักเสบ ท่าที่ดีที่สุดในการดูทีวีคือ ท่าที่สบายที่สุด เช่น นั่งเอกเขนก และทีวีต้องอยู่ในระดับสายตา
นพ.ฐาปนวงศ์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องที่น่าห่วงอีกประการหนึ่ง ขณะนี้ประชาชนมักจะอยู่กับเครื่องมือสื่อสารเกือบตลอดเวลา โดยเฉพาะแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน และชอบนอนตะแคงดูข้อมูลหรือภาพหรือนอนตะแคงกดข้อความส่งไลน์ การนอนดูข้างเดียว มือจะถือข้างเดียว เมื่อดูติดต่อกันนานๆ อาจจะมีผลต่อบุคลิกไม่รู้ตัว เด็กบางคนจะเดินคอเอียงๆ บางคนไม่รู้ตัว เคยพบมาแล้ว เป็นเด็กอายุ 7 ปี เดินคอเอียง เนื่องจากนอนเล่นแท็บเล็ต ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้เกิดจากความเคยชิน เหมือนเช่นบางคนขณะอยู่เฉยๆ แต่เคาะโต๊ะเล่น หรือเขย่าเท้าเล่น
นอกจากนี้ การใช้สายตาดูจอมือถือหรือดูคอมพิวเตอร์มากเกินไป จะเกิดปัญหาตาแห้ง ในช่วงหลังๆ มานี้จะพบผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ คือมักไปด้วยอาการแสบตา เคืองตา ตาพร่ามัว แต่สายตาปกติ และผู้ป่วยมักจะนิยมไปพบจักษุแพทย์เพื่อขอยาหยอดตา เนื่องจากเข้าใจว่าตาติดเชื้อ นับว่าเป็นความเข้าใจผิด และไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยยาดังกล่าว เนื่องจากสาเหตุที่ตาแห้งเกิดจากแสงจ้าจากจอมือถือและคอมพิวเตอร์ สายตาต้องเพ่งลงที่จอ ติดต่อเป็นเวลานาน นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว จะเกิดผลเสียในอนาคตคือปัญหาการดื้อยา วิธีแก้ไปอาการแสบตา เคืองตาหลังเพ่งจอมือถือหรือคอมพิวเตอร์ที่ถูกต้องคือให้ดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อให้น้ำไปหล่อเลี้ยงดวงตาทำให้ตาชุ่มชื้น หรือนั่งหลับตาพักสายตาชั่วครู่ประมาณ 10-15 นาทีก็จะช่วยได้
“วิธีการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องมาจากการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่ไม่ถูกต้อง ขอให้ใช้เทคโนโลยี ใช้เมื่อจำเป็น หากไม่จำเป็น ก็อย่าใช้ โดยเฉพาะการใช้โทรศัพท์มือถือประเภทสมาร์ทโฟนขณะนี้ ถือว่าใช้มากเกินความจำเป็น”นพ.ฐานปนวงศ์ กล่าว
sithiphong:
10 สัญญาณร่างกาย บอกว่า...คุณเป็นโรค
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 27 มีนาคม 2557 11:14 น.
-http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9570000034492-
http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9570000034492
sithiphong:
“วัณโรค” สำคัญกว่าที่คุณคิด
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 29 มีนาคม 2557 17:49 น.
-http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000035337-
โดย...นพ. กำพล สุวรรณพิมลกุล
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
จากข้อมูลล่าสุดพบว่า ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อวัณโรคที่อยู่ในระยะแฝง ซึ่งไม่แสดงอาการอยู่มากถึง 1/3 ของประชากรทั่วโลก หรือเทียบเท่ากับ 2,000 ล้านคนทั่วโลก โดยผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคปอดจากการรายงานขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) เมื่อปี พ.ศ.2555 พบว่า อุบัติการณ์ (incident) การเกิดโรควัณโรคสูงถึง 8.6 ล้านคน ใน 1 ปี และในผู้ป่วยกลุ่มนี้พบว่าเสียชีวิตจากวัณโรคสูงถึง 1.3 ล้านคนต่อปี
นพ. กำพล สุวรรณพิมลกุล
ส่วนในประเทศไทยจากรายงานล่าสุดขององค์การอนามัยโลกปี พ.ศ.2555 พบผู้ป่วยวัณโรคในประเทศไทยทั้งหมด 61,208 รายที่มีการลงทะเบียนทั้งนี้ยังไม่ได้นับรวมกับผู้ป่วยบางส่วนที่ไม่ได้มีการลงทะเบียนซึ่งเชื่อว่ามีอีกจำนวนมาก
เชื้อวัณโรค หรือ TB (tubercle bacillus) จัดเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในกลุ่มเชื้อแบคทีเรียที่มีการเจริญเติบโต หรือการแบ่งตัวช้ากว่าแบคทีเรียทั่วไปชนิดอื่นๆ โดยแบคทีเรียกลุ่มนี้ชื่อว่า ไมโครแบคทีเรีย มีหลายสายพันธุ์ซึ่งก่อให้เกิดวัณโรคได้ แต่สายพันธุ์ที่พบบ่อยและก่อปัญหามากที่สุดในมนุษย์คือ เชื้อ Mycobacterium tuberculosis
มนุษย์สามารถติดเชื้อวัณโรคได้โดยผ่านทางการหายใจเอาเชื้อที่ล่องลอยในอากาศเข้าไปภายในปอด และต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด เชื้อในปอดหรือต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอดอาจมีการแพร่กระจายทางเลือดหรือระบบน้ำเหลือง และอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ ได้ทั่วร่างกาย เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่คอ ตับ ม้าม กระดูก หรือเยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น แต่วัณโรคที่ปอดเป็นตำแหน่งที่พบบ่อยที่สุดและมีความสำคัญมากที่สุดเนื่องจากเชื้อสามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้โดยการไอและเชื้อแขวนลอยอยู่ในอากาศ
โดยปกติเชื้อวัณโรคจะแพร่กระจายโดยเชื้อที่แขวนลอยอยู่ในอากาศจะเข้าสู่ทางเดินหายใจและปอด ภูมิคุ้มกันในร่างกายจะมีการตอบสนองของเม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ ที่อยู่ที่ปอดเพื่อต่อสู้กับเชื้อวัณโรคที่เข้ามาอยู่ในร่างกาย ผลของการตอบสนองจากระบบภูมิคุ้มกันดังกล่าวแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.เชื้อวัณโรคจะถูกกำจัดได้หมดโดยภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ไม่มีเชื้อวัณโรคอยู่ในร่างกาย
2.เชื้อวัณโรคจะเข้ามาอยู่ในร่างกาย แต่จะอยู่ในระยะแฝงของการติดเชื้อวัณโรค โดยจะมีเม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ โอบล้อมเชื้อวัณโรคอยู่ทำให้เชื้ออยู่ในระยะสงบหรือระยะแฝง ซึ่งจะไม่ก่อโรคหรือที่เรียกว่า Latent tuberculosis ผู้ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการใดๆ และจะไม่มีการแพร่กระจายของเชื้อ แต่เมื่อไหร่ที่ร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันเสื่อม เม็ดเลือดขาวที่โอบล้อมเชื้ออยู่ไม่สามารถควบคุมเชื้อได้ก็จะทำให้ผู้ติดเชื้อป่วยเป็นโรควัณโรคได้
และ 3.กลุ่มผู้ป่วยที่กลายเป็นโรควัณโรค (active tuberculosis) หลังจากที่มีการสัมผัสเชื้อ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะเป็นผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ
ถ้าเราอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค เราจะมีโอกาสติดเชื้อวัณโรคได้มากน้อยเพียงใด?
นิยามของผู้ที่สัมผัสใกล้ชิด (Close contact) คือ ผู้ที่อยู่ในสถานที่เดียวกัน เช่น บ้านเดียวกัน ห้องนอนเดียวกัน ห้องเรียนเดียวกัน มีการสัมผัสใกล้ชิดที่ต่อเนื่องตั้งแต่ 8 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวัน ถ้าเป็นการสัมผัสไม่ต่อเนื่องให้คิดเวลารวมตลอดเดือนหากมากกว่า 120 ชั่วโมงขึ้นไปถือว่าสัมผัสใกล้ชิด โอกาสการติดเชื้อวัณโรคจากบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ภูมิคุ้มกันของร่างกาย ปริมาณเชื้อวัณโรคของผู้ป่วย ลักษณะการระบายอากาศของห้องที่อยู่ร่วมกัน เป็นต้น
ยกตัวอย่างพอสังเขปให้ง่ายขึ้น คือ ผู้ป่วยที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคปอดในห้องเดียวกัน 100 คน โดยเฉลี่ยแล้ว จะมี 70 คนที่ร่างกายจะสามารถกำจัดเชื้อไปได้หมด ส่วนที่เหลือ 30 คนจะมีเชื้อวัณโรคอยู่ในร่างกาย และ ใน 30 คนนี้ จะมีประมาณ ร้อยละ 5 ที่จะป่วยเป็นวัณโรคในระยะเฉียบพลัน ซึ่งมักพบในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเบาหวานที่คุมน้ำตาลไม่ดี ผู้ป่วยที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกันต่างๆ เป็นต้น ส่วนอีกร้อยละ 95 จะติดเชื้อวัณโรคที่อยู่ในระยะแฝงที่ไม่แสดงอาการ ถ้าผู้ป่วยแข็งแรงดีเชื้อก็จะอยู่ในระยะแฝงต่อไปเรื่อยๆ โดยผู้ติดเชื้อจะไม่เป็นโรค และไม่แพร่กระจาย แต่จะป่วยเป็นโรคได้เมื่อมีภูมิต้านทานลดลง (reactivation)
“วัณโรค” สำคัญกว่าที่คุณคิด
การตรวจว่าเรามีเชื้อวัณโรคที่อยู่ในระยะแฝงในร่างกายเราหรือไม่อย่างไรนั้น มีวิธีการตรวจที่เรียกว่า Tuberculin skin test (TST) เป็นการทดสอบที่มีการใช้มานานกว่า 100 ปี ใช้หลักการของการตอบสนองโดยกลไกภูมิคุ้มกันของร่างกาย (delay-type hypersensitivity reaction) ที่จะสามารถให้ผลบวกได้ระหว่าง 2 ถึง 8 สัปดาห์ หลังจากที่ได้รับเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกาย โดยฉีด purified protein derivation (PPD) ขนาด 0.1 มล ซึ่งเป็นสารที่สกัดจากเชื้อวัณโรค เข้าบริเวณท้องแขนชั้น intradermal และวัดผลการตอบสนองภายใน 48-72 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ความไวและความจำเพาะของการทดสอบวิธีนี้ค่อนข้างจำกัด
อาการที่พบบ่อยของวัณโรคปอด คือ ไอเรื้อรังนานกว่า 2 สัปดาห์ ไอมีเสมหะหรือไอแห้งๆ ก็ได้ มีน้ำหนักลด รับประทานอาหารลดลง อาการไข้ เหงื่อออกมากตอนกลางคืน หรือมีอาการไอเป็นเลือด ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจมาด้วยอาการไอเรื้อรังนานกว่า 2 สัปดาห์ เพียงอย่างเดียวก็ได้โดยที่ไม่มีอาการอื่นๆร่วมด้วย การวินิจฉัย คือการส่งเสมหะเพื่อตรวจย้อมเชื้อวัณโรค และการส่งเพาะเชื้อวัณโรค ร่วมกับการถ่ายเอกซเรย์ปอด จะช่วยในการวินิจฉัย
วัณโรคสามารถรักษาได้หายขาด แต่จะกลับเป็นซ้ำได้ ถ้ารับประทานยาไม่ครบตามที่แพทย์สั่ง เนื่องจากเชื้อบางส่วนจะหลบซ่อนอยู่ในเซลล์ ทำให้ต้องรักษาด้วยยาร่วมกันหลายขนานในช่วง 2-3 เดือนแรก และต้องรักษานานอย่างน้อย 6 เดือนเพื่อลดโอกาสการดื้อยาและการกลับเป็นซ้ำ ถ้าเป็นวัณโรคปอด หลังจากรับประทานยาไปแล้วอาการไข้ หรือ ไอ ดีขึ้นห้ามหยุดยาโดยเด็ดขาด ถ้าหยุดยาก่อนแพทย์สั่งจะมีผลต่อการดื้อยาและการกลับเป็นซ้ำจะทำให้รักษาหายขาดได้ยากขึ้น ยกเว้นเกิดอาการข้างเคียงรุนแรงที่สงสัยว่าเป็นจากยาต้านวัณโรค เช่น คลื่นไส้อาเจียนรุนแรง มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง หรือ มีผื่นขึ้นรุนแรงทั่วตัว เป็นต้น ให้รีบพบแพทย์โดยด่วน
โดยทั่วไปถ้าเป็นการรักษาวัณโรคปอดที่ไม่ดื้อยา ส่วนใหญ่หากตรวจย้อมเสมหะไม่พบเชื้อวัณโรคแล้ว 2-3 ครั้งหลังทำการรักษาก็ถือว่าอยู่ในระยะปลอดภัยในการแพร่กระจายของเชื้อ แต่ถ้าวินิจฉัยวัณโรคจากอาการ และภาพเอกซเรย์ปอด โดยที่ย้อมสีเสมหะไม่พบเชื้อวัณโรคตั้งแต่แรก โดยทั่วไปแล้วเชื้อมักจะไม่แพร่กระจายหลังจากที่รักษาด้วยยาต้านวัณโรคไปแล้ว 2-3 สัปดาห์
ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดตามนิยามดังที่กล่าวข้างต้น กลุ่มเสี่ยงที่สุดและคุ้มค่าในการให้ยาป้องกันการเป็นวัณโรคมากที่สุดคือ เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ถือว่ามีความเสี่ยงสูงสุดที่จะป่วยเป็นวัณโรค และถ้าเป็นแล้วจะมีโอกาสกระจายทั่วร่างกาย และเป็นวัณโรคในเยื่อหุ้มสมองได้สูง (การฉีดวัคซีน BCG จะช่วยลดอุบัติการณ์การเป็นวัณโรคทั่วร่างกายและวัณโรคในเยื่อหุ้มสมองได้มาประมาณร้อยละ 60) ในทางปฏิบัติเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปีที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคโดยทั่วไปแล้วแนะนำให้รับประทาน ยา isoniazid เพื่อป้องกันการเป็นวัณโรค 6-9 เดือนทุกราย แต่ต้องตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนให้ยาป้องกันว่าเด็กไม่ได้เป็นวัณโรคอยู่ก่อนแล้ว (ควรถ่ายภาพเอกซเรย์ปอดก่อนให้ยาป้องกัน) ส่วนเด็กที่อายุมากกว่าหรือเท่ากับ 5 ปีให้พิจารณาเป็นรายๆ ไปตามผลการทดสอบ Tuberculin skin test
สิ่งสำคัญในการปฏิบัติตนเมื่อมีผู้ป่วยวัณโรคอยู่ในบ้าน?
ควรแยกห้องกับสมาชิกในครอบครัวให้ผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2-3 สัปดาห์แรก ภายในห้องควรเปิดหน้าต่างเพื่อให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก และให้แสงแดดส่องถึงเนื่องจากแสงแดดจะทำลายเชื้อวัณโรคได้ดี หมั่นนำเครื่องนอนออกตากแดด ควรสวมหน้ากากหรือผ้าปิดจมูก และเปลี่ยนให้สม่ำเสมอเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ และเสมหะควรบ้วนลงภาชนะหรือกระป๋องที่มีฝาปิดมิดชิด
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version