อิ่มกาย อิ่มใจ > สุขภาพกับชีวิต
แนะนำ วิธีการป้องกัน โรคภัยไข้เจ็บ
sithiphong:
เตือนภัย! จอดรถเปิดแอร์นอน-ปิดกระจกถึงตาย
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 15 เมษายน 2557 13:48 น.
-http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000042052-
สพฉ. เตือนภัยเงียบเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ จอดพักรถนอนเปิดแอร์และปิดกระจก ถึงตายได้เพราะสูดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แนะก่อนเดินทางควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และตรวจเช็กสภาพรถให้พร้อม หากต้องจอดพักเลือกสถานที่ที่ปลอดภัย
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงของการเดินทางกลับบ้านของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นอกจากอุบัติเหตุบนท้องถนนแล้ว ยังมีภัยเงียบที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่องคือการจอดพักรถริมข้างทางแล้วเปิดแอร์เพื่อนอนหลับพักผ่อน ซึ่งในช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้ได้มีผู้ขับขี่รถต้องเสียชีวิตจากการเปิดแอร์นอนในรถแล้วหลายราย อันตรายจากการสตาร์ทรถแล้วเปิดแอร์นอนไปด้วยนั้นถือเป็นภัยใกล้ตัวที่หลายคนมองข้าม เพราะการเปิดแอร์พร้อมสตาร์ทเครื่องยนต์ทิ้งไว้และปิดกระจกรถมิดชิดทั้ง 4 ด้านนั้น จะทำให้ระบบแอร์ของรถยนต์ซึ่งจะต้องดูดอากาศจากภายนอกเข้ามาหมุนเวียนภายในรถ จะดูดเอาควันจากท่อไอเสียรถยนต์เข้ามา ซึ่งในไอเสียรถยนต์มีทั้งก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ข้อมูลของศูนย์ข้อมูลวัตถุอันตรายและเคมีภัณฑ์ ระบุว่าการสูดดมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อาจจะทำให้เกิดการระคายเคือง ปวดศีรษะ เซื่องซึม เคลิบเคลิ้ม สั่นกระตุก หายใจติดขัด หมดสติไม่รู้สึกตัว หัวใจเต้นปิดปกติ เนื่องจากมีฮีโมโกลบินน้อยกว่าปกติ และมีผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลางจนอาจถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งเมื่อระบบแอร์ของรถยนต์ดูดก๊าซเหล่านี้เข้ามาเมื่อเรานอนหลับอยู่เราก็จะสูดดมก๊าซเหล่านี้เข้าไปด้วย และจะส่งผลต่อร่างกายของเราโดยทำให้เราค่อยๆ หมดสติจนอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตไปในที่สุด
นพ.อนุชา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สำหรับคนที่ต้องเดินทางไกลควรจะวางแผนการเดินทางให้ดี โดยต้องนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ควรศึกษาเส้นทางการเดินทางให้ละเอียดเพื่อย่นระยะเวลาของการเดินทางให้ไวขึ้น และเลือกใช้เส้นทางการเดินทางที่ปลอดภัย และควรตรวจเช็กสภาพของรถให้พร้อมทั้งระบบเบรก สภาพเครื่องยนต์ใบปัดน้ำฝน หรือสัญญาณไฟต่างๆ ของรถ และเมื่อรู้สึกง่วงก็ควรที่จะจอดรถนอนหลับพักผ่อนประมาณ 30-40 นาทีในที่ที่เหมาะสม อาทิ ป้อมตำรวจ ปั๊มน้ำมันที่มีไฟส่องสว่าง เมื่อจอดรถยนต์แล้วก็ควรดับเครื่องยนต์รถ และแง้มกระจกลงเล็กน้อยเพื่อทำให้เกิดการระบายอากาศภายในรถ และควรปรับเบาะรถให้พอดีกับการนอน และอย่าลืมหากบาดเจ็บ หรือป่วยฉุกเฉินให้โทรหาสายด่วน 1669 ซึ่งเราพร้อมในการดูแลประชาชนทุกคนในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้
sithiphong:
โรคไฟลามทุ่ง
-http://guru.sanook.com/26934/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%87/-
ไฟลามทุ่ง เป็นโรคติดเชื้อที่ผิวหนัง มีลักษณะเป็นผื่นแดงลุกลามเร็ว คล้ายไฟลามทุ่ง สามารถรักษาให้หายขาดด้วยยาปฏิชีวนะที่ใช้ฆ่าเชื้อโรค
ข้อสำคัญ ต้องรีบรักษาตั้งแต่แรก หากปล่อยทิ้งไว้ หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง ผู้ที่กินยากดภูมิคุ้มกันอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงเป็นอันตรายได้
ชื่อภาษาไทย
ไฟลามทุ่ง เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นตื้นอักเสบ
ชื่อภาษาอังกฤษ
Erysipelas. St. Anthony's Fire
สาเหตุ
โรคนี้เป็นการอักเสบของผิวหนังชั้นหนังแท้และเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นตื้น (upper subcutaneous tissue) รวมทั้งท่อน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง
ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อเรียกว่า "เบตาเฮโมโลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ (betahemolytic group A streptococcus)" มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า streptococcus pyogenes ซึ่งเป็นเชื้อชนิดเดียวกันกับที่ทำให้คอหอยหรือทอนซิลอักเสบ ส่วนน้อยอาจเกิดจากสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มอื่น หรือเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่น
เชื้อจะเข้าทางบาดแผลหรือรอยแยกของผิวหนัง (เช่นผลถูกของมีคมบาด แผลถลอก รอยแกะเกา แผลผ่าตัด) ผู้ป่วยมักมีประวัตเกิดบาดแผลที่ผิวหนังบริเวณที่จะเกิดไฟลามทุ่งมาก่อน (แต่บางคนอาจไม่มีประวัติดังกล่าวชัดเจนก็ได้)
โรคนี้มักพบในทารก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง ผู้ที่กินยากดภูมิคุ้มกัน (เช่น ยาสตีรอยด์ ซึ่งอาจผสมอยู่ในยาชุด ยาลูกกลอน) ผู้ที่ผ่าตัดหลอดเลือดดำที่ขา (นำไปทำบายพาสหลอดเลือดหัวใจ) หรือผู้ที่มีภาวะอุดตันหลอดเลือดหรือท่อน้ำเหลือง
อาการ
มักพบผิวหนังมีการอักเสบ เป็นผื่นแดง ปวด บวม ร้อน (ใช้หลังมือคลำจะออกร้อนกว่าผิวหนังปกติ) ส่วนใหญ่ผู้ที่ป่วยมักมีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดศรีษะ ร่วมด้วย ซึ่งมักจะเกิดขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง หลังติดเชื้อ (มีบาดแผล)
ต่อมาผื่นจะลุกลามขยายออกโดยรอบอย่างรวดเร็วแผ่เป้นแผ่นกว้าง ขอบนูนแยกออกจาผิวหนังที่ปกติอย่างชัดเจน และมีลักษณะคล้ายผิวส้ม เมื่อกดตรงบริเวณนั้นสีจะจางลงและมีรอยบุ๋มเล็กน้อย
ผื่นแดงที่แผ่ลามออกไปรวดเร็วนี้ เกิดจากพิษ (exotoxin) ของเชื้อโรค ไม่ใช่จากตัวเชื้อโดยตรง แม้ว่าเชื้อจะถูกกำจัดจากการใช้ยา พิษที่ตกค้างอยู่ก็ยังคงทำให้ผื่นลุกลามต่อไป จึงได้ชื่อว่า "ไฟลามทุ่ง"
ระยะท้าย ผื่นจะยุบและค่อยๆ จางหายไป ผิวหนังอาจจะลอกเป็นขุย และใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ กว่าผื่นจะหายสนิท โดยไม่เป็นผลเป็น
บางรายอาจพบรอยโรคเป็นเส้นสีแดง เนื่องจากท่อน้ำเหลืองอักเสบ ก่อนที่จะพบรอยผื่นแดงที่แผ่กระจาย และอาจพบต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณใกล้เคียงบวมโตและเจ็บ
ในรายที่เป็นรุนแรง อาจเกิดตุ่มน้ำพอง มีน้ำเหลืองเยิ้ม มักจะไม่เป็นหนองข้น (ถ้าเป็นหนองมักเกิดจากเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ)
มักเกิดบริเวณขา อาจพบที่แก้ม รอบหู รอบตา แขน นิ้วมือ หรือนิ้วเท้าก็ได้
การแยกโรค
ผิวหนังอักเสบเป็นรอยผื่นแดง ปวด ร้อน อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่พบบ่อย ได้แก่
เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ (cellulitis) มีสาเหตุและลักษณะอาการแสดงแบบเดียวกับไฟลามทุ่ง แต่กินลึกถึงเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นที่อยู่ลึกกว่า ได้แก่ชั้นไขมันด้วย ผื่นจะมีขอบไม่ชัดเจนแบบไฟลามทุ่งและอาจพบเป้นหนองหรือผิวหนังกลายเป็นเนื้อตายร่วมด้วย
งูสวัด (herpes zoster) ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นผื่นแดง ปวดแสบปวดร้อนและมีตุ่มน้ำพุขึ้นเรียงเป็นแนวยาวตามแนวเส้นประสาท อาจพบที่ใบหน้า ต้นแขน ชายโตรง หรือขา มักเกิดขึ้นเพียงข้างใดข้างหนึ่ง ต่อมาตุ่มจะแห้งตกสะเก็ด และทุเลาภายใน 2-3 สัปดาห์ อาจมีไข้ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้
ลมพิษ (urticaria) ผู้ป่วยจะมีผื่นนูนแดง และคัน ไม่ปวด เกิดขึ้นฉับพลัน หลังมีอาการแพ้ เช่น แพ้อาหาร แพ้ยา แพ้ฝุ่น เป็นต้น มักไม่มีไข้และจะขึ้นพร้อมกันทั่วร่างกาย
เกาต์ (gout) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อ ข้อบวมแดงร้อน มักเป็นที่ข้อหัวแม่เท้า หรือข้อเท้าเพียงข้อใดข้อหนึ่ง อาจมีไข้ร่วมด้วย มักเกิดขึ้นหลังกินเลี้ยง ดื่มสุรา หรือกินอาหารที่ให้ยูริกสูง เช่น เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล พืชผักหน่ออ่อน ยอดผัก
การวินิจฉัย
แพทย์มักจะวินิจฉัยโรคไฟลามทุ่งจากลักษณะอาการแสดง และการตรวจพบผื่นแดงร้อน ปวด บวม ลุกลามเร็ว มีขอบชัดเจน
ในรายที่ไม่แน่ใจ อาจทำการตรวจเลือด หรือเพราะเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรายที่มีภาวะโลหิตเป็นพิาแทรกซ้อน
การดูแลตัวเอง
หากพบมีอาการอักเสบของผิวหนัง คือเป็นรอยผื่นแดง ร้อน ปวด บวม ลุกลามรวดเร็ว หรือมีไข้ร่วมด้วยควรรีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวาน ทารก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น กินยาสตีรอยด์ ยากดภูมิคุ้มกัน)
เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นไฟลามทุ่ง ควรรับการรักษาจากแพทย์อย่างจริงจัง และใช้ยาปฏิชีวนะให้ครบตามที่แพทย์แนะนำ อย่าหยุดยาเอง หรือหันไปใช้วิธีรักษาอื่น
ผู้ป่วยควรหยุดพักการเคลื่อนไหว และยกแขนหรือขาข้างที่เป็นให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อลดอาการปวดและบวม
บางรายอาจต้องใช้ผ้ายืด (elastic bandage) พันตามคำแนะนำของแพทย์
การรักษา
แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อเช่น เพนิซิลลิน อะม็อกซีซิลลิน หรืออีริโทรไมซิน นาน 10-20 วัน ถ้ามีไข้หรือปวดมาก ให้พาราเซตามอลบรรเทา ในรายที่เป็นรุนแรง หรือสงสัยมีภาวะโลหิตเป็นพิษแทรกซ้อน แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาลและใช้ยาปฏิชีวนะ (เช่น เพนิซิลลิน เซฟาโลสปอริน) ชนิดฉีด จนกว่าจะทุเลาจึงค่อยเปลี่ยนเป็นยาปฏิชีวนะชนิดกิน
ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าปล่อยทิ้งไว้ หรือได้รับการรักษาช้าเกินไป เชื้ออาจลุกลามเข้ากระแสเลือด เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ ซึ่งหากพบในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้
บางรายเชื้ออาจแพร่กระจายไปที่หัวใจ (กลายเป็นเยื่อบุหัวใจอักเสบ) หรือข้อ (กลายเป็นข้ออักเสบชนิดเป็นหนอง)
ในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี อาจกลายเป็นหน่วยไตอักเสบเฉียงพลัน (acute glomerulonephritis) มีอาการไข้สูง บวมทั้งตัว ปัสสาวะสีแดงคล้ายสีน้ำล้างเนื้อ
ร้อยละ 16-30 ของผู้ป่วยโรคนี้หลังจากรักษาหายแล้ว อาจกำเริบซ้ำได้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น เบาหวาน ผู้สูงอายุ) หรือมีความผิดปกติของท่อน้ำเหลือง
ถ้าเป็นซ้ำบ่อยๆ อาจทำให้ท่อน้ำเหลืองถูกทำลายถาวร เกิดอาการบวมแขนหรือขาได้
การดำเนินโรค
หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่แรก อาการมักจะทุเลาภายใน 24-72 ชั่วโมง คือไข้ลด อาการปวดหรือร้อนของผื่นลดลง
ส่วนผื่นอาจลุกลามต่อไป และจะค่อยๆ จางหายไปใน 2-3 สัปดาห์ ในรายที่ได้รับการรักษาช้าเกินไป หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งอาจรุนแรงถึงเป็นอันตรายได้
การป้องกัน
1. ระมัดระวังอย่าให้เกิดบาดแผลที่ผิวหนัง
2. ถ้ามีบาดแผลเกิดขึ้น รีบล้างด้วยน้ำสบู่ และใช้ขี้ผึ้งที่เข้ายาปฏิชีวนะทา
3. หากพบผิวหนังอักเสบเป็นผื่นแดงร้อน หรือมีลักษณะเป็นเส้นสีแดง หรือมีไข้ร่วมด้วย หรือเป็นเบาหวาน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาแต่เนิ่นๆ
ความชุก
ไฟลามทุ่ง พบได้บ่อยในผู้ที่มีบาดแผลหรือรอยแยกที่ผิวหนัง โดยเฉพาะในทารก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง ผู้ที่กินยาสตีรอยด์ หรือยากดภูมิคุ้ามกัน ผู้ที่ผ่าตัดหลอดเลือดดำที่ขา
ข้อมูลจาก : http://www.oknation.net/
sithiphong:
วิธีดูแลตัวเองเมื่อนอนดึก พักผ่อนน้อย
-http://guru.sanook.com/26956/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B6%E0%B8%81-%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2/-
การนอนดึก พักผ่อนน้อย เป็นเหตุให้อายุสั้น การทำงานดึกทำให้ร่างกายล้า เหมือนกับเครื่องยนต์ overload ไม่ช้าเครื่องก็พัง ผู้ที่มีหน้าที่บริหารงาน มักจะพบปัญหานี้กันมาก เพราะต้องเร่งงาน
ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคนนอนดึก
1. ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ เกิดอาการล้า
2. ระบบร่างกายจะรวน ดังนี้
ระบบการย่อยอาหาร
ท้องอืด ท้องเฟ้อง่าย อาหารย่อยไม่ดี ทำให้อุจจาระหยาบ คืออาหารที่ทานเข้าไป ถ้าไม่นอนดึกอุจจาระจะสวย ไม่มีเศษอาหารติดอยู่ เหมือนกับแท่งทอง แต่ถ้าอดนอนแล้วอุจจาระจะหยาบ จะมีเศษอะไรต่างๆ ติดอยู่ เหมือนกับรถที่มีเขม่าติด เกิดจากการที่ร่างกายย่อยไม่หมด เพราะล้า
แนวทางแก้ไข ให้ลดอาหารประเภทเนื้อสัตว์ อาหารเหนียวๆ มิฉะนั้นลำไส้ทำงานหนัก ยิ่งนอนดึกแม้เราหลับไปแล้ว แต่ลำไส้ไม่หลับ ยังคงย่อยอยู่ต่อไป พอตื่นขึ้นมาก็เพลีย ให้ทานไข่ นม แทนพวกเนื้อสัตว์ ก็จะพอถูไถไปได้ มิฉะนั้นท้องจะผูกเป็นประจำ ริดสีดวงทวารจะถามหา (ถ้าหากอ้วนก็ให้ทานนมแทนไข่)
ท้องผูก มี 2 ลักษณะ
1. ผูกแข็ง คือ อุจจาระแข็ง
2. ผูกเหลว คือ อาการถ่ายอุจจาระไม่หมด ยังค้างอยู่ แต่ลำไส้ล้า กระเพาะอาหารล้า ทำให้ไม่มีแรงบีบให้ออกจนหมด
ดัง นั้นในวันหนึ่งๆ จึงต้องถ่ายหลายครั้ง โรคที่จะตามมาก็คือ ผื่นคันบริเวณขาหนีบ (ไม่ใช่เพราะความสกปรกหมักหมม) จะคันทั้งวัน ปกติอุจจาระจะกึ่งแข็งกึ่งเหลว ถ้าแข็งแสดงว่าส่วนที่เป็นน้ำได้ ซึมกลับเข้ามาในลำไส้ ซึ่งมันเป็นของเสีย ที่ต้องขับออก ผลก็คือทำให้น้ำเหลืองเสีย ก็จะมาประทุบริเวณเนื้ออ่อนๆ เช่นที่ขาหนีบ สาเหตุก็มาจากท้องผูกนั่นเอง
เพราะฉะนั้น อย่านอนดึก ถ้าต้องดึกก็ให้ออกกำลังหน้าท้อง ให้ท้องเกิดกำลัง จะได้รีดอุจจาระออกมาได้เร็ว
ทานเสร็จแล้วอย่านอน ให้เดินสักครึ่งชั่วโมง เพราะพอขาได้เดิน ลำไส้มันก็ต้องไปกับขาด้วย จะช่วยทำให้ย่อยได้ดีขึ้น ท้องจะผูกน้อยลง ผื่นคันก็จะหาย ถ้ายังไม่หาย (เนื่องจากอายุมาก) ให้ทานน้ำขิงสด (ไม่ใช่ขิงผงเป็นซองๆ) พวกที่นอนดึกต้องให้ท้องอุ่นมากๆ ให้หาผ้ามาห่ม เดี๋ยวท้องจะอืด เฟ้อ บางทีต้องให้เท้าอุ่นด้วย ให้หาถุงเท้ามาใส่ มิฉะนั้นเท้าจะชา
ระบบปัสสาวะ
ถ้านอนไม่ดึก ประมาณ 3-4 ทุ่ม พอตื่นเช้าขึ้นมาจะปัสสาวะครั้งเดียวจบ แต่ถ้านอนดึก ยิ่งนอนตีหนึ่ง กลางดึกจะต้อง ลุกเข้าห้องน้ำถี่ เพราะร่างกาย overload ต้องการน้ำมาก กล้ามเนื้อข้างในจะบีบคั้นเอา พลังงานออกมาใช้ จึงต้องใช้น้ำมาก ผลก็คือปัสสาวะบ่อย ทำให้พวกเกลือแร่ที่อยู่ในร่าง กายจะถูกขับออกมาพร้อมกับปัสสาวะ ด้วย ยิ่งอายุ 35 ขึ้นไปจะยิ่งแย่
แนวทางแก้ไข ให้ทานแคลเซี่ยมเม็ดได้ แต่อย่ามาก แค่ 1 เม็ดก็พอ ถ้าทานมากจะทำให้แคลเซี่ยมพอก คืออาการที่กระดูกงอกทับเส้นประสาท (ถ้าเป็นแล้วต้องให้คนนวด และทานยาละลายแคลเซี่ยมช่วย) ถ้าไม่ทานแคลเซี่ยมชดเชย จะทำให้เลือดจาง เม็ดโลหิตจาง
สรุปแล้วการอดนอน เท่ากับเร่งวันตายให้ตัวเอง
การนอนดึกต้องดื่มน้ำให้มาก และเติมเกลือในน้ำด้วย คือพอเราดื่มแล้วมันออกมาหมดทั้ง ทางปัสสาวะและเหงื่อ เราทานเกลือมากๆ ยังออกทางเหงื่อได้ แต่ถ้าทานแคลเซี่ยมมากทำให้กระดูก งอก ส่วนโค้ก เป๊ปซี่ กระทิงแดง อย่าทาน พอเราอยู่ดึกและกลั้นปัสสาวะ มันจะซึมกลับเข้าเส้นเลือด ทำให้น้ำเหลืองเสีย ก็จะไปประทุที่ขาหนีบ หรือท้องแขนเป็นเม็ดแดงๆ เป็นจ้ำขึ้นทั่วเลย บางคนไม่กลั้น แต่ดื่มน้ำน้อย อาการก็จะเหมือนกับการโม่แป้งฝืดๆ ลำไส้บีบตัวไม่ไหว ต้องเค้น ก็จะเพลีย แต่ถ้าดื่มน้ำมาก ทำให้ถ่ายสบาย ถ้าดื่มน้ำน้อยจะทำให้กรดยูเรีย เข้มข้น พอเรากลั้นปัสสาวะมันก็จะซึมเข้า เส้นเลือด ทำให้น้ำเหลืองเสีย ถ้ากลั้นบ่อยๆ จะทำให้ปัสสาวะไม่หมด
ระบบเหงื่อ
คนที่ไม่มี เหงื่อออก จะแย่ ถ้าขับเหงื่อให้ออกได้ร่างกายสบาย ถ้าเหงื่อไม่ออกความร้อนภายในร่างกายจะระบายไม่ได้ ทำให้อึดอัด ของเสียในร่างกายก็ออกไม่ได้ โรคผิวหนังจะถามหา สิวฝ้าจะขึ้น เพราะฉะนั้น ดื่มน้ำให้มากพอและออกกำลังกาย เท่านั้นพอ เอาจนเหงื่อออกให้ได้ คนนอนดึกเหงื่อจะไม่ค่อยออก ของเสียตกใน สิวฝ้าขึ้น มันก็จะไปออกทางปัสสาวะแทน ไตเลยทำงานหนัก
ระบบหายใจ
ระบบหายใจจะเสียตามมา ร่างกายจะเอาออกซิเจนไปแลกเลือดดำให้เป็นเลือดแดงได้ต้องมีความชื้น ถ้าความชื้นน้อยมันจะไม่แลก ทำให้อึดอัด เหมือนอยู่ห้องแอร์แล้วอึดอัด เพราะความชื้นไม่พอ ไม่ใช่อากาศไม่พอ อากาศมันแห้งเลยเอาความชื้นใน ตัวเราไป ทำให้ปอดทำงานไม่สะดวก และออกซิเจนไม่ได้
แนวทางแก้ไข ให้เอาน้ำใส่กะละมังไว้ข้างตัว ยิ่งเป็นน้ำร้อนยิ่งดี ถ้าอึดอัดให้เอาผ้าหนุนเท้าให้ สูง เลือดก็จะไหลลงมาได้ จะทำให้นอนสบาย การดื่มน้ำหวานๆ ตอนอยู่ดึกๆ ก็ช่วยได้ แต่อย่าหวานมากจะทำให้อ้วน ถ้าจะให้ดีที่สุดอย่าอยู่ดึก ดึกได้เป็นครั้งคราวถ้าจำเป็น คนนอนดึกเสียงจะแห้ง เพราะไตมันล้า การใช้สบู่ ให้ใช้สบู่เด็ก เพราะเป็นสบู่อ่อน การกัดจะน้อย อย่าใช้สบู่แรงๆ ให้ฟอกสบู่วันละครั้งก็พอ ถ้าฟอกวันละหลายๆ ครั้งไขมันจะหมด จะทำให้ผิวแตก ถ้าคันมากๆ อันเนื่องมาจากการนอนดึก ถ้าเราไม่ทราบเราจะยิ่งฟอกสบู่หนักเข้าซึ่งไม่ดี ให้ฟอกวันเว้นวัน การดูแลรักษาร่างกายให้ดี จะทำให้นั่งสมาธิได้ดี นั่งได้นาน ไม่คัน ไม่เข้าห้องน้ำบ่อย
ขอบคุณข้อมูลจาก : Samitivej Club
sithiphong:
เคล็ด(ไม่)ลับต้มผักให้ได้ประโยชน์
-http://club.sanook.com/27094/%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%9C%E0%B8%B1%E0%B8%81-
ในอาหารหลัก 5 หมู่ “ผัก” เป็นอาหารที่รวมรวมวิตามิน เกลือแร่และใยอาหารอยู่มากมาย มีคุณสมบัติช่วยรักษา หรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยบางประเภทได้ ผู้คนจึงนิยมบริโภค “ผัก” กันมากขึ้น และเมนูที่ใช้ “ผัก” ก็มีอยู่มากมายทั้งผัด ต้ม หรือลวก วันนี้ Sanook! Club มีวิธีต้มผัก หรือลวกผักให้ไม่เสียวิตามิน หรือคุณค่าทางอาหารมาฝากค่ะ
- ใช้น้ำน้อย หากใช้น้ำในปริมาณมาก จะทำให้สูญเสียวิตามินไปกับน้ำที่ต้มผักมากไปด้วย
- ต้มน้ำให้เดือดก่อนจึงใส่ผักลงไป และใช้เวลาต้มน้อยที่สุด (ไม่เกิน 3 นาที) เพราะวิตามินบางชนิดจะสลายไปเมื่อโดนความร้อนนานๆ
- ใส่เกลือเล็กน้อยขณะน้ำเดือดจัด จะช่วยให้ผักต้มสุกเร็วขึ้น
- ไม่ควรหั่นผักชิ้นใหญ่ จะทำให้สุกช้า
- ผักที่เป็นหัว เช่นแครอท หัวไชเท้า ควรต้มน้ำเดือดอ่อนๆ และต้มทั้งหัว
- ตักผักที่ต้มสุกได้ที่แล้วลงไปแช่ในน้ำเย็นจัด ทำให้ผักคงสีเขียวสดน่ารับประทาน
sithiphong:
โรคพิษสุนัขบ้า ป่วยแล้วตายทุกราย แพทย์แนะถูกกัดข่วนรีบหาหมอ
-http://health.kapook.com/view86453.html-
โรคพิษสุนัขบ้า ปัญหาที่ทุกคนต้องตระหนัก (สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค)
โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ป่วยแล้วตายทุกราย แพทย์แนะผู้ที่ถูกสัตว์ต้องสงสัยโรคพิษสุนัขบ้า เช่น สุนัข แมว กัดหรือข่วน ให้รีบล้างแผล ใส่ยา กักหมา แล้วรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อฉีดวัคซีนป้องกัน
เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงสถานการณ์การพบสุนัขเพศเมียพันธุ์ผสมพุดเดิ้ล อายุ 3 ปี ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า และทำให้ลูกสุนัขที่นำไปขายในจังหวัดมหาสารคามติดเชื้อด้วยว่า ทางปศุสัตว์อำเภอโกสุมพิสัย ได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุข และองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบถึงการระบาด และดำเนินการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า พร้อมทั้งวิธีการปฏิบัติหลังสัมผัสสุนัขและแมวที่ต้องสงสัยในพื้นที่รอบจุดเกิดโรครัศมี 5 กิโลเมตรแล้ว
พร้อมกันนี้ กรมปศุสัตว์ ได้ร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดโครงการรณรงค์การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และส่งเสริมการเลี้ยงสุนัขที่ถูกต้องทั่วประเทศ โดยแนะนำให้ผู้เลี้ยงสุนัขนำสัตว์เลี้ยงของตัวเองไปฉีดวัคซีนกระตุ้นตามที่สัตวแพทย์กำหนด และฉีดซ้ำทุกปีไม่ต้องรอหน้าร้อน เพราะโรคพิษสุนัขบ้าเกิดได้ตลอดทั้งปี
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุม กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เกิดจากเชื้อไวรัสเรบี่ส์ สัตว์นำโรคได้แก่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น ชะนี กระรอก กระแต กระต่าย ลิง ค้างคาว หรือแม้กระทั่งสัตว์เศรษฐกิจ วัว ควาย แพะ แต่ สัตว์นำโรคที่สำคัญที่สุดในประเทศไทย คือ สุนัข โดยมีผู้ป่วยร้อยละ 95 ติดเชื้อมาจากสุนัขกัดหรือข่วน รองลงมาคือ แมว ซึ่งสามารถตรวจพบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในน้ำลายได้ 1-7 วัน ก่อนแสดงอาการโรคพิษสุนัขบ้า
ทั้งนี้ อาการของโรคพิษสุนัขบ้าที่พบในคนนั้น อาการเริ่มแรก คือ เบื่ออาหาร เจ็บคอ มีไข้ อ่อนเพลีย มีอาการคันรุนแรงบริเวณที่ถูกกัด แล้วอาการคันลามไปส่วนอื่น ต่อมาจะมีอาการกระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง เพ้อเจ้อ กลืนลำบาก โดยเฉพาะของเหลว กลัวน้ำ ปวดท้องน้อยและกล้ามเนื้อขากระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรืออาจชัก เกร็ง อัมพาต หมดสติ และตายในที่สุด
สำหรับโอกาสที่จะเจ็บป่วยหลังถูกสัตว์ที่ป่วยหรือมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัดหรือข่วนขึ้นอยู่กับ
1. จำนวนเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าที่เข้าไปในร่างกาย ซึ่งบาดแผลที่ถูกกัดมีขนาดใหญ่ ลึก หรือมีบาดแผลหลายแห่งจะมีโอกาสที่เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายได้มาก
2. ตำแหน่งที่ถูกกัด หรือตำแหน่งที่เชื้อโรคพิษสุนัขบ้าเข้าสู่ร่างกาย เช่น ศีรษะ หรือ บริเวณที่มีปลายประสาทมาก เช่น มือหรือเท้า เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ระบบประสาทได้ง่าย
3. อายุของคนที่ถูกสุนัขกัดหรือข่วน เช่น เด็กและผู้สูงอายุจะมีความต้านทานต่อโรคพิษสุนัขบ้าต่ำกว่าคนหนุ่มสาว
4. สายพันธุ์ของเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ถ้าเป็นสายพันธุ์จากสัตว์ป่า จะมีอาการรุนแรงกว่าสายพันธุ์จากสัตว์เลี้ยง
อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า ประชาชนควรปฏิบัติตัวดังนี้
1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สัตว์เลี้ยง ครั้งแรกตั้งแต่อายุ 2-4 เดือน และฉีดซ้ำทุกปี แม้จะเป็นสุนัขที่เลี้ยงไว้ในบ้านเพราะอาจถูกสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัดขณะที่เห่าบริเวณช่องรั้วบ้าน หรือถูกกัดขณะเจ้าของเปิดประตูบ้านโดยที่เจ้าของไม่ทราบ หรือจากสุนัขที่นำเข้ามาเลี้ยงใหม่
2. ปฏิบัติตามคำแนะนำ 5 ย คือ อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ และอย่ายุ่ง เพื่อป้องกันการถูกสุนัขกัด (อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห อย่าเหยียบสุนัข (หาง, ตัว, ขา) หรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน และอย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้านหรือที่ไม่ทราบประวัติ)
3. เมื่อถูกสุนัขกัดให้ล้างแผลให้สะอาด และรีบไปพบแพทย์ ส่วนสุนัขที่กัดให้ขังดูอาการเป็นเวลาอย่างน้อยเป็นเวลา 10 วัน
"โรคนี้ไม่มีทางรักษาให้หายได้ หากติดเชื้อและมีอาการแล้วเสียชีวิตทุกราย ป้องกันได้ด้วยการนำสัตว์เลี้ยงไปรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามกำหนด ใช้คาถา 5 ย ถ้าถูกสุนัขหรือสัตว์กัดข่วนให้รีบล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ ประชาชนที่มีความสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร 0-2590 3177-78 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422" อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเน้นย้ำในตอนท้าย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก-http://www.ddc.moph.go.th/-
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version