ผู้เขียน หัวข้อ: อาหารของถีนมิทธะ  (อ่าน 1134 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
อาหารของถีนมิทธะ
« เมื่อ: สิงหาคม 21, 2013, 11:26:42 pm »



อาหารของถีนมิทธะ
โดย สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

อันตรายของสมาธินั้นก็คือนิวรณ์ ซึ่งได้แก่กิเลสในใจ เครื่องเศร้าหมองในใจ ซึ่งเป็นเครื่องกั้น ไม่ให้จิตได้สมาธิ และปัญญา เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติเพื่อดับนิวรณ์ที่บังเกิดขึ้นในใจให้ได้ จิตจึงจะได้สมาธิ ฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องรู้จักนิวรณ์ โดยตรงก็คือรู้จักนิวรณ์ที่บังเกิดขึ้นในจิตของตนในปัจจุบัน หรือในขณะปฏิบัติ และเมื่อพบว่าจิตของตนนั้นกำลังมีนิวรณ์ข้อใดข้อหนึ่งครอบงำอยู่ ก็ต้องมาปฏิบัติดับนิวรณ์ข้อนั้นเสียก่อน

การปฏิบัติดับนิวรณ์
และในการปฏิบัติเพื่อดับนิวรณ์นั้นก็ควรที่จะรู้จัก อาหาร ของนิวรณ์ และรู้จัก อนาหาร คือการปฏิบัติที่ไม่ใช่เป็นอาหารของนิวรณ์ อันทำนิวรณ์ที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น ดับนิวรณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว

ด้วยการพิจารณาที่ใจของตนเอง ให้รู้จักอาหารของนิวรณ์ที่ใจของตนเอง และให้รู้จักธรรมะที่ไม่เป็นอาหารของนิวรณ์ อันเรียกว่าอนาหารที่ใจของตนเองเช่นเดียวกัน

จะได้อธิบายในนิวรณ์ข้อที่ 3 อันได้แก่ถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม อันความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มนี้ ผู้ปฏิบัติสมาธิย่อมจะได้เคยประสบ หรือว่าในขณะที่ฟังเทศน์ฟังธรรม ก็มักจะมีความง่วง เคลิบเคลิ้ม เพราะจิตนี้ที่เป็นจิตสามัญ เป็นกามาพจรคือหยั่งลงในกาม โดยปรกติก็ย่อมจะเกิดกามฉันท์ คือความพอใจรักใคร่ในกาม จิตปรุงไปในความพอใจในกาม หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นพยาบาท ความหงุดหงิดขัดเคืองโกรธแค้นต่างๆ หรือไม่เช่นนั้นจิตก็ฟุ้งซ่าน คิดเรื่องโน้นบ้างคิดเรื่องนี้บ้าง หรือว่าคิดสงสัยเคลือบแคลงไปต่างๆ

อาหารของความง่วง
ถ้าหากว่าสงบจากความฟุ้งซ่าน ความง่วงก็มักจะมา เช่นในขณะที่รวมใจเข้ามาฟังเทศน์หรือธรรม ฟังธรรมะบรรยาย จิตก็สงบจากความฟุ้งซ่านต่างๆ แต่ความง่วงมักจะเข้ามา เป็นความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ในขณะที่จิตสงบมักจะเป็นดั่งนั้น และความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอาหารของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ใช้คำว่า อาหาร ก็โดยเทียบกับอาหารของร่างกาย ร่างกายดำรงอยู่ได้ก็ด้วยอาศัยอาหารฉันใด นิวรณ์ข้อความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มนี้บังเกิดขึ้นตั้งอยู่ ก็เพราะมีอาหาร คืออาการของจิตที่เป็นเหตุให้เกิดความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม อันได้แก่ความไม่ยินดี อันหมายความว่าไม่เกิดความยินดีพอใจในกิจที่ทำ เช่นในขณะที่ฟังเทศน์หรือฟังธรรม ตั้งใจฟัง จิตก็สงบจากเรื่องอื่น แต่ว่าไม่มีความยินดีพอใจในธรรมที่ฟัง

บางทีก็เฉยๆ สักแต่ว่าฟัง ขาดความยินดีพอใจ ก็เกิดความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มได้ ความเกียจคร้านขาดความเพียร ก็ทำให้เกิดความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มได้ เพราะว่า ถ้าไม่มีความเพียรคือมีจิตใจที่กล้าในอันที่จะฟังก็ดี จะทำอันใดอันหนึ่งก็ดี เกิดความเกียจคร้านเบื่อหน่าย ก็เป็นเหตุให้เกิดความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มได้ ความบิดกาย อันหมายถึงอาการที่ยังติดใจอยู่ในความเคลิบเคลิ้ม เช่น ถึงกำหนดเวลาที่จะตื่นนอน เมื่อตื่นขึ้นมาก็บิดกายไปบิดกายมา ทำนองว่าอยากจะนอนต่อ ไม่ลุกขึ้นมาทำสมาธิ หรือประกอบการงาน อาการที่แชเชือนดั่งนี้ ก็เป็นอาหารของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม คือเป็นเหตุให้เกิดความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

ความเมาอาหาร คือเมื่อบริโภคอาหารอิ่ม ก็มักจะเกิดความง่วง ถ้าง่วงก็นอน ก็เป็นอันว่ากินแล้วนอน เพราะฉะนั้น หากไม่ปฏิบัติลุกขึ้นเดิน หรือนั่ง หรือทำอะไรที่ควรจะทำ นั่งซึมอยู่เพราะเมาอาหาร ก็จะทำให้นอน ความเมาอาหาร จึงเป็นอาหารของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

อีกข้อหนึ่ง คือความที่มีจิตใจย่อหย่อน ความที่มีจิตใจย่อหย่อนนี้ ทำให้รู้สึกท้อแท้อ่อนแอ ไม่เกิดความขมีขมันลุกขึ้นประกอบการงาน เพราะฉะนั้น ถ้าปล่อยให้ใจอ่อนแอท้อแท้ ก็ย่อมเป็นเหตุที่เป็นอาหาร ของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม



ความไม่พิจารณาโดยแยบคาย
กับอีกประการหนึ่งก็คือว่า การกระทำให้มาก ด้วยการที่ไม่ทำไว้ในใจโดยแยบคาย คือใจไม่คิดพิจารณาโดยแยบคาย

ปล่อยให้ใจเป็นไปตามอาหาร ที่เป็นเหตุของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มเหล่านี้ ดังเช่น เมื่อไม่มีความยินดีในกิจที่ควรทำ เช่นในการฟังธรรม หรือการฟังธรรมบรรยาย เมื่อนั่งฟังอยู่ ก็ปล่อยใจให้ไม่ยินดีพอใจ ไม่คิดพิจารณาดูให้รู้จักใจว่า ใจกำลังเป็นอย่างนี้ และความไม่ยินดีพอใจนั้นเป็นโทษ ไม่ใช่เป็นคุณ จึงต้องพิจารณาให้ใจเกิดความยินดีขึ้น แต่ก็ไม่พิจารณาดั่งนี้ แต่ปล่อยใจให้คิดไม่ยินดีไป ไม่พอใจไปตามเรื่องของใจที่เป็นอย่างนั้น

ในความเกียจคร้านก็เช่นเดียวกัน ไม่จับดูใจว่าเกียจคร้าน และความเกียจคร้านมีโทษอย่างนี้ๆ ส่วนความพากเพียรมีคุณอย่างนี้ๆ ควรจะคิดปลุกใจให้เกิดความพากเพียรขึ้น แต่ก็ไม่พิจารณาดั่งนั้น ปล่อยใจให้คิดเกียจคร้านไป ตามเรื่องของใจที่เกียจคร้าน ในข้อบิดกายก็เช่นเดียวกัน นอนบิดกายไปบิดกายมา พลิกกายไปพลิกกายมา หรือว่านั่งพิงบิดกายไปบิดกายมา ด้วยความแชเชือน สลึมสลือ เคลิบเคลิ้ม ถ้าหากว่าคิดพิจารณาเห็นโทษ และก็รีบละความแชเชือนดังกล่าวนี้เสีย รีบละความสลึมสลือดังกล่าวนี้เสีย ก็จะแก้ได้ แต่ว่าไม่พิจารณาแก้ดั่งนั้น ปล่อยใจให้สลึมสลือไปตามเรื่องของใจที่เป็นอย่างนั้น

ในข้อเมาอาหารก็เช่นเดียวกัน ไม่พิจารณาเห็นโทษของความเมาอาหาร และกำจัดความเมาด้วยวิธีปฏิบัติต่างๆ แต่ปล่อยใจให้เมาสลึมสลือเคลิบเคลิ้มไป และแม้ในข้อใจท้อแท้ ท้อถอย อ่อนแอ ก็เช่นเดียวกัน ไม่คิดปลุกใจให้หายท้อแท้ท้อถอย แต่ปล่อยใจให้ท้อถอยท้อแท้ไปตามใจที่เป็นอย่างนั้น อย่างนี้เรียกว่ากระทำให้มากโดยไม่แยบคาย

เพราะฉะนั้น เหตุทั้งปวงดังที่กล่าวมานี้ คือมีข้อไม่ยินดีพอใจเป็นต้น และข้อกระทำให้มาก ด้วยความที่ทำใจไว้โดยไม่แยบคาย คือไม่พิจารณาจับเหตุจับผลตามเป็นจริง ให้เกิดปัญญารู้คุณรู้โทษ เป็นอาหารคือเป็นเหตุของข้อความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มนี้

เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมจึงควรรู้จักอาหารของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม เมื่อความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มเกิดขึ้น ก็ให้พิจารณาว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุอะไร ก็จะจับเหตุได้ว่าเพราะมีอาหารของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มดังกล่าวนั้น จึงต้องปฏิบัติแก้ ที่จะไม่ให้อาหารแก่ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ด้วยการที่ทำความยินดีพอใจให้บังเกิดขึ้นในกิจที่พึงทำทั้งหลาย เช่นในการฟังธรรม หรือการฟังธรรมบรรยายเช่นในบัดนี้ แก้ความเกียจคร้านที่บังเกิดขึ้น ให้เกิดความขยันหมั่นเพียร แก้ความแชเชือนนอนบิดกายไปมา หรือนั่งบิดกายไปมา ขมีขมันลุกขึ้นประกอบการงาน และแก้โดยวิธีที่ทำให้หายเมาอาหาร เช่นลุกขึ้นเดิน หรือนั่งทำงานต่างๆ และต้องแก้ใจที่ท้อถอยท้อแท้ ให้กลับขมีขมัน

อาศัยการกระทำให้มากด้วยการพิจารณาโดยแยบคาย จับเหตุจับผล รู้คุณรู้โทษ ของอาหารของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม และการที่แก้อาหารของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ให้รู้ว่าปล่อยใจให้ง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ด้วยความไม่ยินดีเป็นต้น เป็นโทษ แต่การที่มาปฏิบัติแก้ให้ความไม่ยินดีเป็นความยินดีเป็นต้น เป็นคุณ อันจะทำให้ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็ให้ดับไป


:http://www.baanjomyut.com/pratripidok/extension-1/tin_food_lethargy/index.html