หลักการสำคัญของพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนา หรือ ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาที่มุ่งเน้นเรื่องการพ้นทุกข์ และสอนให้รู้จักทุกข์และวิธีการดับทุกข์ ให้พ้นจากอวิชชา (ความไม่รู้ความจริงในธรรมชาติ) อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์จากกิเลสทั้งปวงคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เน้น การศึกษาทำความเข้าใจ การโยนิโสมนสิการด้วยปัญญา และพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง (ธัมมวิจยะ) เห็นเหตุผลว่าสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี (อิทัปปัจจยตา) และความเป็นไปตามธรรมชาติ และสัตว์โลกที่เป็นไปตามกฎแห่งกรรม ด้วยความไม่ประมาทในชีวิตให้มีความสุขในทั้งชาตินี้ ชาติต่อๆไป (ด้วยการสั่งสมบุญบารมี) ตลอดจนปรารถนาในพระนิพพานของผู้มีปัญญา
หลักคำสอนในพุทธศาสนามีทั้งหลักปฏิบัติที่เป็นหลักการพื้นฐานของจริยธรรมสากลคุณธรรมสากลและศิลธรรมสากล จริยธรรมสากลคือการรักษาหน้าที่ตามบทบาทที่สมมุติของสังคม คุณธรรมสากลคือความดีของจิตใจตามที่สังคมคาดหวัดยึดถือ ศิลธรรมสากลคือการไม่ทำร้ายกันความประพฤติถูกต้องตามที่วัฒนธรรมนั้นๆยอมรับได้ และ ปรมัตถธรรมสากล คือหลักปรัชญาหลักวิทยาศาสตร์หรือหลักวิชาการ
หลักจริยธรรม
หลักจริยธรรม) ได้แก่หลักธรรมพื้นฐานทั่วไปของมนุษย์เพื่อการดำรงอยู่อย่างปกติสุข ได้แก่ความกตัญญูกตเวที คือการรู้จักบุญคุญและตอบแทนดังนั้นทุกคนจึงมีหน้าที่ต่อกันด้วยการปฏิบัติตามหลักจริยธรรมของพระพุทธเจ้า คือการปฏิบัติหน้าที่ต่อกันด้วยหลักทิศ ๖ เช่น
• พ่อแม่ทำหน้าเลี้ยงดูลูก(บุพพการี) บุตรธิดาจึงมีหน้าที่ตอบแทนบุญคุณตอบด้วยการดูแลท่านไม่ทำให้ท่านเสียใจ ดังนั้นพ่อแม่จึงตอบแทนด้วยการเป็นพ่อแม่ที่ดีของลูก
• ครูทำหน้าที่สั่งสอนศิษย์ ศิษย์จึงมีหน้าที่ตั้งใจเล่าเรียนตอบแทน ดังนั้นครูจึงตอบแทนศิษย์ด้วยการตั้งใจสั่งสอนศิษย์
• ภรรยาดูแลลูกรักษาบ้านทำงานบ้านไม่บกพร่อง สามีจึงควรตอบแทนด้วยการไม่ดุด่าหรือไม่นอกใจ ภรรยาก็ตอบแทนด้วยความรักและจริงใจ
• ผู้ว่าจ้างให้ทรัพย์ในการดำรงชีวิต ลูกจ้างจึงควรตอบแทนด้วยการตั้งใจทำงานรับใช้ด้วยความซื่อสัตย์ ผู้ให้ทรัพย์จึงควรตอบแทนด้วยการสนับสนุนช่วยเหลือควบคุมให้เหมาะสมถูกต้องตามจรรยาบรรณอาชีพของสถาบันเขา
• สังคมมีบุญคุณหน้าที่ในการไม่ให้มีการทำร้ายกันและกันให้ปัจจัยในการดำรงค์ชีวิตแยกตามหน้าที่ความชำนาญของแต่ละบุคคล ประชาชนเป็นหนี้สังคมจึงควรเป็นพลเมืองดีเป็นการตอบแทนสังคม ประเทศชาติต้องตอบแทนด้วยการปกครองตามหลักธรรมาภิบาล
• ศาสนาสั่งสอนให้คนในสังคมไม่โหดร้ายและมีเมตตาต่อกัน เราจึงควรเป็นคนดีตอบแทนมิให้ศาสนาอื่นดูถูกได้ว่าสังคมที่นั้นถือศาสนานี้ส่ำสอนทางเพศชอบก่อแต่อาชญากรรมจนสังคมวุ่นวาย พระสงฆ์ตอบแทนด้วยการรักษาวินัยและตั้งใจปฏิบัติธรรม เป็นต้น
หลักคุณธรรม
(หลักคุณธรรม) เช่น พรหมวิหาร 4 เป็นหลักธรรมประจำใจเพื่อให้ตนและสังคมดำรงชีวิตด้วยการเอื้อเพื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน ไม่มุ่งร้ายต่อกันด้วยความรักที่บริสุทธิ์ต่อเพื่อนร่วมโลก ประกอบด้วยหลักปฏิบัติ 4 ประการ คือ เมตตา (ความปรารถนาอยากให้ผู้อื่นมีความสุข) กรุณา (ความปรารถนาอยากให้ผู้อื่นพ้นทุกข์) มุทิตา (ความยินดีที่ผู้อื่นประสบความสุขในทางที่เป็นกุศลหรือประกอบเหตุแห่งสุข) อุเบกขา (การวางจิตเป็นกลาง การมีเมตตา กรุณา มุทิตา เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าตนไม่สามารถช่วยเหลือผู้นั้นได้ จิตตนจะเป็นทุกข์ ดังนั้น ตนจึงควรวางอุเบกขาทำวางใจให้เป็นกลาง และพิจารณาว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมที่ได้เคยกระทำไว้ จะดีหรือชั่วก็ตาม กรรมนั้นย่อมส่งผลอย่างยุติธรรมตามที่เขาผู้นั้นได้เคยกระทำไว้อย่างแน่นอน รวมถึงการให้อภัยผู้อื่น)และการปราศจากอคติ
หลักศีลธรรม
(หลักศีลธรรม) หลักคำสอนสำคัญของศาสนา ได้แก่ โอวาทปาติโมกข์ คือ " การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญแต่ความดี การทำจิตให้สะอาดบริสุทธิ์"
หลักปรมัตถธรรม
(หลักปรมัตถธรรม) พุทธศาสนา สอน "อริยสัจ 4" หรือความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ
1. ทุกข์ที่ทำให้เราเข้าใจปัญหาและลักษณะของปัญหา
2. สมุทัยสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
3. นิโรธความดับแห่งทุกข์ และ
4. มรรควิถีทางอันประเสริฐที่จะนำให้ถึงความดับทุกข์
ซึ่งความจริงเหล่านี้เป็นสัจธรรมอันจริงแท้ของชีวิตและกฎธรรมชาติที่ตั้งอยู่โดยอาศัยเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ดังนั้นเมื่ออธิบายคำสอนสำคัญโดยลำดับตามแนวอริยสัจ ได้แก่
1 สภาพแห่งทุกข์ (ทุกข์)
สภาพแห่งทุกข์ (ทุกข์) ได้แก่ ไตรลักษณ์ (หลักอภิปรัชญา) ลักษณะสภาพพื้นฐานธรรมดาที่เป็นสากลอย่างหนึ่ง จากทั้งหมด 3 ลักษณะ ที่ พุทธศาสนาได้สอนให้เข้าใจถึงเหตุลักษณะสากลแห่งสรรพสิ่งที่เป็นไปภายใต้กฎธรรมดา อันได้แก่
1. อนิจจัง (ความไม่เที่ยงแท้ มีอันต้องแปรปรวนไป)
2. ทุกขัง (ความทนอยู่อย่างเดิมได้ยาก)
3. อนัตตา (ความไม่มีแก่น สาระ ให้ถือเอาเป็นตัวตน ของเราและของใครๆ ได้อย่างแท้จริง)
และได้ค้นพบว่า นอกจากการ แก่ เจ็บ และตาย เป็นทุกข์ (ซึ่งมีในหลักคำสอนของศาสนาอื่น) แล้ว ยังสอนว่า การเกิดก็นับเป็นทุกข์ในทางพระพุทธศาสนาปฏิเสธการมีอยู่ของพระเจ้า และเชื่อว่า โลกนี้เกิดขึ้นจากกฎแห่งธรรมชาติอันมี กฎแห่งสภาวะ หรือมีธาตุทั้งสี่คือ ดิน น้ำ ลม และ ไฟ ที่เปลี่ยนสถานะเป็นธาตุต่างๆกลับไปกลับมา ที่เป็นไปตาม กฎไตรลักษณ์ และ กฎแห่งเหตุผล 3 ประการ คือ
• 1 ทุกขลักษณ์ (ความไม่เที่ยงแท้ ทนอยู่ในสภาพเดิมมิได้ตลอดกาล) คือสิ่งทั้งปวงหยุดนิ่งมิได้เหมือนจะต้องระเบิดอยู่ตลอดเวลา อย่างแสงอาทิตย์ต้องวิ่งมาชนโลก โลก จักรวาล กาแล๊คซี่ต้องหมุน ลมต้องพัด เปลือกโลกต้องเคลื่อน ทำให้มีกฎแห่งสมตา (ปรับสมดุล) เช่นเรานอนเฉยๆต้องขยับ หรือวิ่งมากๆต้องหยุด เช่นความร้อนย่อมต่องการสลายตัวไปที่เย็นกว่า ไฟฟ้าในเมฆพายุฝนที่มีมากทิ้งมาที่พื้นโลกจนเกิดฟ้าผ่า ที่ ๆ เป็นสุญญากาศย่อมดึงให้สิ่งที่มีอยู่เข้ามา ความทุกข์ทำให้เกิดการวิวัฒนาการของสัตว์ พืช เช่นพืชที่ปลูกถี่ๆกันย่อมแย่งกันสูงเพื่อแย่งแสงอาทิตย์ในการอยู่รอด หรือการปรับสมดุลจึงเกิดชิวิต
• 2 อนิจจลักษณ์ (ความไม่แน่นอน) ทำให้สิ่งทั้งปวงย่อมต้องเปลี่ยนแปลงสถานะเดิม อย่างธาตุดิน (ของแข็ง) เปลี่ยนเป็นธาตุน้ำ (ของเหลว) เปลี่ยนเป็นธาตุลม (แก๊ส) และเปลี่ยนเป็นธาตุไฟ (แสง ความร้อน พลังงาน) และเปลี่ยนไปไม่สิ้นสุด แม้จะเปลี่ยนแปลงแต่การเปลี่ยนแปลงก็มีขีดจำกัดทำให้เกิดกฎแห่งวัฏจักร (วัฏฏตา) โลก จักรวาล กาแล็กซี ย่อมหมุนเป็นวงกลม สิ่งมีชีวิตเริ่มต้นถึงที่สุดก็กลับมาตั้งต้นใหม่ ความไม่แน่นอนทำให้สัตว์ พืช ไม่เหมือน พ่อแม่ของตนได้นิดหน่อยเพราะกฎแห่งเหตุผลทำให้ลูกต้องมาจากปัจจัยพ่อแม่ของตน เช่นหมูที่เขี้ยวยาวกว่าจะเอาตัวรอดในสถานที่นั้นๆได้ดีกว่า นานๆ เข้าตัวที่เขี้ยวยาวกว่าพ่อแม่ของตนรอดมากๆเข้าก็ทำให้หมูป่าในปัจจุบันเขี้ยวยาวขึ้น
• 3 อนัตตลักษณ์ (สิ่งทั้งปวงไม่มีตัวตนอยู่เองโดยไม่เกี่ยวเนี่ยวกับใครมีตัวตนเพราะอาศัยปัจจัยต่างๆประกอบกันขึ้น เช่น ต้นไม้ย่อมอาศัยแสง ดิน น้ำ แร่ธาตุ ราก ใบ กิ่ง แก่น ลำต้น อากาศ ทำให้ดำรงอยู่ได้) สิ่งทั้งปวงย่อมเกี่ยวเนี่องซึ่งกันและกันทำให้เกิดการผสมผสาน ทำให้เกิดความหลากหลายยิ่งขึ้น อย่างร่างกายของเราย่อมเกิดจากความเกี่ยวข้องกันเล็กๆน้อยและเพิ่มขึ้นซับซ้อนขึ้น เมื่อสิ่งต่างมีผลกระทบต่อกันในด้านต่างๆทำให้เกิดกฎแห่งหน้าที่ (ชีวิตา) เช่น ตับย่อมทำงานของตับ ไม่ได้ทำงานเป็นกล้ามเนื้อหัวใจ และถ้าธาตุทั้งสี่ไม่ทำหน้าที่ของตน ร่างกายของย่อมแตกสลายไปราวกับอากาศธาตุ สรุป กฎไตรลักษณ์เป็นสิ่งที่ทำให้มีการสร้าง ดำรงรักษาอยู่ และทำลายไปของทุกสรรพสิ่ง ทุกขลักษณ์ทำให้สิ่งทั้งปวงอยู่นิ่งมิได้ อนิจจลักษณ์เปลี่ยนแปลงธาตุต่าง อนัตตลักษณ์ทำให้เกี่ยวเนื่องผสมผสานกันทำให้ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกขลักษณ์เกิดจากการขัดแย้งกันของธาตุ อนัตตลักษณ์เกิดจากธาตุที่ต่างถูกผลักออกจากการขัดแย้งของธาตุ(ทุกขลักษณ์)มาเจอกัน อนิจจลักษณ์เกิดจากช่องว่างที่ธาตุถูกผลักออกไปและกระเด็นเข้ามาไหลเวียนเปลี่ยนผันเป็นกระแสไม่สิ้นสุด
เมื่อย่อกฎทั้ง 3 แล้ว จะเหลือเพียง ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป (มีเพียงการสั่นสะเทือนของสสารอวินิพโภครูป8)
2 เหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย)
เหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย) ได้แก่ ปฏิจจสมุปบาท (หลักศรัทธา) พุทธศาสนา สอนว่า ความทุกข์ ไม่ได้เกิดจากสิ่งใดดลบันดาล หากเกิดแต่เหตุและปัจจัยต่างๆ มาประชุมพร้อมกัน โดยมีรากเหง้ามาจากความไม่รู้หรือ อวิชชา ทำให้กระบวนการต่างๆ ไม่ขาดตอน เมื่อมีการปรุงแต่งของเจตสิกอันเป็นนามธาตุที่วิวัฒนาการตามกฎไตรลักษณ์และเหตุผลจนกลายเป็นจิต (ธรรมธาตุ๗) ตามแนวมหาปัฏฐาน จนเกิดกระบวนการทางวิญญาณ ธาตุแสง(รังสิโยธาตุ) ต่างๆเกิดมีธาตุที่ ทรงจำแสง (สัญญา) เพ่งรู้แสง (มโน) ควบคุมแสง (สังขาร) อัสนีธาตุ (จิตตะ) ประสานกับรูปขันธ์ของชีวิตินทรีย์ (เช่นไวรัส แบคทีเรีย ต้นไม้ที่เป็นไปตามกฎชีวิตา) ทำให้เหตุผลของรูปธาตุเป็นไปตามเหตุผลของนามธาตุด้วย (จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว) ทำให้รูปขันธ์ที่เป็นชีวิตินทรีพัฒนา มีอายตนะทั้ง 6 คือ
1. เมื่ออายตนะกระทบกับสรรพสิ่งที่มากระทบ
2. จนเกิดความสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง (เวทนา อันเกิดจากการแปรปรวนแห่งนามธาตุ)
3. เมื่อได้สุขมาเสพก็ติดใจ
4. อยากเสพอีก ทำให้เกิดความทะยานอยาก (ตัณหา) ในสิ่งต่างๆ เมื่อประสบสิ่งไม่ชอบใจ พลัดพรากจากสิ่งที่ชอบใจ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น
5. จึงเกิดการแสวงหาความสุขมาเสพ
6. จนเกิดการสะสม
7. นำมาซึ่งความตะหนี่
8. หวงแหน
9. จนในที่สุดก็ออกมาปกป้องแย่งชิงจนเกิดการสร้างกรรม และยึดว่าสิ่งนั้นๆเป็นตัวกู (อหังการ) ของกู (มมังการ) (เป็นปัจจยการ9)
ทำให้มีอุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่น) เมื่อมีอุปาทานว่าเป็นสิ่งนั้นเป็นสิ่งนี้ เช่น คนตาบอดแต่เกิด เมื่อมองเห็นภาพตอนโตย่อมต้องอาศัยอุปาทานว่าภาพที่เห็นเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้จนสร้างภพขึ้นในใจ
สสารทำให้เกิดเวลาและระยะทาง (ทฤษฎีสัมพันธภาพ) ถ้าไม่มีสสารก็ไม่มีเวลาและระยะทาง (เช่น นอกเอกภพย่อมไม่มีสถานที่ใดๆและไม่มีเวลา) เมื่อนามธาตุ (จิตเจตสิกและเหตุผลของนามธาตุ (กฎแห่งกรรม) ที่อยู่นอกเหนือเวลาและภพ แต่มาติดในเวลาและภพเพราะความยึดติดในสสารของจิต กรรมที่สร้างเป็นเหตุให้ต้องรับผลแห่งกรรม (หรือวิบากกรรม) ตามกฎแห่งกรรม ต่อเนื่องกันไป ตามหลักปฏิจจสมุปบาทสู่การเวียนว่ายตายเกิดของจิตวิญญาณทั้งหลายนับชาติไม่ถ้วน ผ่านไประหว่าง ภพภูมิทั้ง 31 ภูมิ (มิติต่างๆ ตั้งแต่เลวร้ายที่สุดไปจนถึงสุขสบายที่สุด) ในโลกธาตุที่เหมาะสมในเวลานั้นที่สมควรแก่กรรม นี้เรียกว่า สังสารวัฏ ตาม กฎแห่งกรรม
กฎแห่งกรรม นี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่กำหนดการเกิดภพชาติความเป็นไปของแต่ละดวงจิตในสังสารวัฏจนเป็นเหตุปัจจัยให้ประพบเจอความทุกข์ความสุข ปรารถนาหนีทุกข์ หรือแสวงหาความสุขจนสร้าง กรรม (คือการกระทำทุกอย่างทั้งทางกาย วาจา และใจ ที่มีเจตนาสั่งการโดยจิตของสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าเป็นการกระทำที่ดี (บุญ/กุศล) หรือไม่ดี (บาป/อกุศล) หรือกลาง ๆ อันทำให้มีผลของการกระทำตามมา(วิบาก)เมื่อกรรมมากพอ ถูกทาง และควรให้ผล ถ้ากรรมดีหรือกรรมชั่วหนักให้ผลอยู่กรรมที่ให้ผลแตกต่างแต่มีกำลังน้อยกว่าย่อมไม่อาจให้ผลจนกว่ากรรมหนักนั้นจะอ่อนกำลังลงไป ในทางพุทธศาสนาเชื่อว่าผลของการกระทำจะไม่สูญหายไปไหน แต่รอเวลาที่จะให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมกับการกระทำนั้นๆ สะท้อนกลับมาหาผู้กระทำเสมอ โดยกรรมในอดีตที่จะส่งผลสามารถบรรเทาเบาบางลงได้ถ้ามีสติปัญญารักษาตัวทำกรรมในปัจจุบันที่ถูกต้องเหมาะสม)กรรมเหมือนการปลูกต้นไม้เรารู้ว่าปลูกทุเรียน ย่อมได้ต้นทุเรียนหรืออาจได้ผลทุเรียน แต่ไม่อาจรู้ได้ว่าต้นทุเรียน จะมีรูปร่างเช่นไรให้ผลที่กิ่งไหน กล่าวโดยย่อว่า สิ่งทั้งหลาย ในโลกนี้ต่างมีเหตุให้เกิด เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นผลก็เกิดขึ้นตาม เมื่อเหตุนั้นไม่มีอีกแล้วผลก็ดับไป การกระทำที่ไม่มีเจตนาหรือจิตรวมด้วยไม่เรียกว่ากรรมเรียกว่ากิริยา(เช่นลมพัด) ผลไม่เรียกวิบากเรียกปฏิกิริยา(ลมพัดใบไม้ไหว) กรรมดีเปรียบเหมือนน้ำกรรมชั่วเหมือนเกลือกรรมดีมากๆอาจละลายความเค็มของเกลือคือไม่ให้ผลหนักที่เดียวแต่ค่อยๆทยอยให้ผลเบาๆจนแทบไม่รู้สึกได้
สำหรับการเวียนว่ายของจิตวิญญาณมีเหตุมาจาก "อวิชชา" คือความที่จิตไม่รู้ถึงความเป็นจริง ไปหลงผิดในสิ่งสมมุติต่างๆซึ่งเป็นรากเหง้าของกิเลสทั้งหลาย เมื่อจิตยังมีอวิชชาสัตว์โลกย่อมเวียนว่ายตายเกิดไม่สิ้นสุด จนกว่าจะทำลายที่ต้นเหตุคืออวิชชาลงได้
3 ความดับทุกข์ (นิโรธ)
ความดับทุกข์ (นิโรธ) คือ นิพพาน ( อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา ) อันเป็น แก่นของพระพุทธศาสนา หรือ
• วิราคะความไม่ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์5ของจิต
• วิโมกข์พ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ
• อนาลโย ไม่มีความอาลัย
• ปฏินิสสัคคายะการปล่อยวาง
• วิมุตติ การไม่ปรุงแต่ง
• อตัมมยตา (กิริยาอารมณ์ว่า ไม่ต้องการอีกแล้ว) และ
• สุญญตา ความว่างเป็นความสุขสูงสุด
เนื่องจากธรรมดาของสัตว์โลกมีปกติทำความชั่วมากโดยบริสุทธิใจในความเห็นแก่ตัว ทำดีน้อยซึ่งไม่บริสุทธิ์ใจ ซ้ำหวังผลตอบแทน จึงมีปกติรับทุกข์มากกว่าสุข ดังนั้น ถ้าเป็นผู้มีปัญญาหรือเป็นพ่อค้าที่ฉลาดยอมรู้ว่าขาดทุนมากกว่าได้กำไร และ สุขที่ได้เป็นเพียงมายา ย่อมปรารถนาในพระนิพพาน เมื่อ ขันธ์5 แตกสลาย เจตสิกที่ประกอบกันเป็นจิตนั้นก็แตกสลายตามเช่นเดียวกัน เพราะไม่มีเหตุปัจจัยจะประกอบกันเป็นจิตนั้น กรรมย่อมไม่อาจให้ผลได้อีก (อโหสิกรรม) เหลือเพียงแต่พระคุณความดีเมื่อมีผู้บูชาย่อมส่งผลกรรมดีให้แก่ผู้บูชาเหมือนคนตีกลอง กลองไม่รับรู้เสียง แต่ผู้ตีได้รับอานิสงส์เสียงจากกลอง
4 วิถีทางดับทุกข์ (มรรค)
วิถีทางดับทุกข์ (มรรค) คือ มัชฌิมปฏิปทา (หลักการดำเนินชีวิต) ทางออกไปจากสังสารวัฏมีทางเดียว คือ การฝึกสติ เป็นวิธีฝึกฝนจิตเพื่อให้ถึงซึ่งความดับทุกข์หรือมหาสติปัฏฐาน โดยการปฏิบัติหน้าที่ทุกชนิดอย่างมีสติด้วยจิตว่างตามครรลองแห่งธรรมชาติ มีสติอยู่กับตัวเองในเวลาปัจจุบัน สิ่งที่กำลังกระทำอยู่เป็นสิ่งสำคัญกว่าทุกสรรพสิ่ง จนบรรลุญานโดยการดำเนินตามเส้นทางอริยมรรคโดยยึดทางสายกลาง( การดำเนินทางสายกลาง ที่ไม่ใช่ทางสายกลวง คือสักแต่ว่ากลางโดยไม่มีวิธีการที่แน่ชัด โดยทางพระพุทธศาสนากำหนดวิธีการที่ชัดเจนคือหลักมรรค
เมื่อจำแนกตามลำดับขั้นตอนของการบำเพ็ญเพียรฝึกฝนทางจิต คือ
1. ศีล (ฝึกกายและวาจาให้ละเว้นจากการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น รวมถึงการควบคุมจิตใจไม่ให้ตกอยู่ในอำนาจฝ่ายต่ำด้วยการเลี้ยงชีวิตอย่างพอเพียง)
2. สมาธิ (ฝึกความตั้งใจมั่นจนเกิดความสงบ (สมถะ) และทำสติให้รับรู้สิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง) (วิปัสสนา) ด้วยความพยายาม
3. ปัญญา (ให้จิตพิจารณาธรรมชาติจนรู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นเช่นนั้นเอง (ตถตา) และตื่นจากมายาที่หลอกลวงจิตเดิมแท้ (ฐิติภูตัง)