ผู้เขียน หัวข้อ: คัมภีร์พระอจลนาถ - คัมภีร์แห่งจิตของผู้ไม่หวั่นไหว (ฉบับย่อ)  (อ่าน 1079 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


คัมภีร์พระอจลนาถ - คัมภีร์แห่งจิตของผู้ไม่หวั่นไหว (ฉบับย่อ)

คัมภีร์พระอจลนาถ หรือ คัมภีร์แห่งจิตของผู้ไม่หวั่นไหว (ฟุโดจิชินเมียวโรคุ) เป็นคัมภีร์เคล็ดวิชาที่เขียนโดยพระเซน ผู้ที่ยอดกว่ามูซาชิ หรือท่านทากุอัน โซโฮ (ค.ศ. 1573-1645) นั้นน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ที่แต่งโดยท่านทากุอัน เพื่อถ่ายทอดเคล็ดลับวิชา "ดาบที่อยู่ในใจ" ให้แก่ยางิว มุเนโนริผู้นี้เป็นถึงครูดาบของโชกุน จึงถึงได้ว่าคัมภีร์เล่มนี้เป็นคัมภีร์สำหรับผู้ฝึกตนอย่างแท้จริง

หัวใจของเซนคืออะไร?
หัวใจของเซนคือความคิดที่ไม่มีความคิด (สังขารหรือการปรุงแต่งของใจ)(มุเน็น-โนะ-เน็น)

หัวใจของดาบคืออะไร?
หัวใจของวิชาคือความคิดที่ไม่มีความคิด (สังขาร) เช่นกัน

บทที่หนึ่ง ว่าด้วยใจที่ไม่ยึดติด
1) อวิชชาและจิตที่ยึดติด คือที่มาแห่งทุกข์ อวิชชาคือความหลง ความไม่รู้แจ้ง

จิตที่ยึดติดคือการที่ใจไปจดจ่อไปหยุดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
คำว่า ยึดติด หมายถึง การหยุด และ การหยุด หมายถึง การที่ใจไปจดจ่อและถูกรัดดึงด้วยอะไรบางอย่าง ไม่ว่าอะไรบางอย่างนั้นจะเป็นสิ่งใดเรื่องใดก็ตาม ถ้าหากเอาหลักวิชาอันนี้มาใช้อธิบายวิชาดาบของ ท่าน (หมายถึงยางิว มุเนโนริ) ก็จะหมายความว่า เมื่อท่านเห็นดาบของปรปักษ์ฟันเข้าใส่ตัวท่านและถ้าท่าน คิด จะยกดาบขึ้นรับ นั่นก็แสดงว่าจิตของท่านยังไปยึดติดจดจ่ออยู่กับการเคลื่อนไหวทำงานของปรปักษ์ การเคลื่อนไหวของท่านก็จะไม่สมบูรณ์เต็มที่และตัวของท่านจะเป็นฝ่ายที่ถูกฟัน นี่แหละคือความหมายของคำว่า ยึดติด ที่เรากำลังอธิบายอยู่

ท่านควรจะดูดาบของปรปักษ์ที่ฟันเข้ามา แต่จงแค่ ดู เท่านั้น จงอย่าให้ใจของท่านไปยึดติดจดจ่ออยู่กับดาบของปรปักษ์ แต่จงเคลื่อนไหวจังหวะไปสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวทำงานของดาบปรปักษ์โดยไม่คิดที่จะฟันตอบ โดยไม่ถึงผลแพ้ชนะ โดยไม่คิดแบ่งแยกแบ่งเขาแบ่งเราท่านเพียงแต่เมื่อเห็นดาบปรปักษ์จะฟันเข้ามาก็จงไม่ลังเลใจที่จะกระโจนเข้าใส่ศัตรู เมื่อนั้นแหละที่ดาบของท่านจะทำหน้าที่ของมัน ต่อให้ตัวท่านไม่มีดาบ ในขณะนั้นก็เช่นกัน ท่านย่อมสามารถชิงดาบของปรปักษ์มาจัดการกับปรปักษ์ได้เลย

2) ไม่ว่าปรปักษ์ของท่านจะเป็นฝ่ายโจมตีเข้ามาหรือตัวท่านจะเป็นฝ่ายโจมตีออกไป ถ้าหากใจของท่านยังมัวพะวงกับเรื่องเหล่านี้แม้เพียงชั่วขณะจิตแล้ว อาการเคลื่อนไหวของท่านจะเชื่องช้าและตัวท่านจะเป็นฝ่ายถูกฟัน
ถ้าท่านอยู่ต่อหน้าปรปักษ์และตระหนักถึงถึงความจริงในข้านี้ ใจของท่านก็จะไปจดจ่อกับปรปักษ์ จงอย่าทำเช่นนั้น และก็จงอย่านำใจของท่านไปจดจ่อทีตัวของท่านด้วย เพราะมีแต่มือใหม่เพิ่งเริ่มฝึกวรยุทธ์เท่านั้นที่จะมีใจจดจ่ออยู่กับตัวเอง

ใจของท่านอาจจะไปจดจ่ออยู่กับดาบของท่าน และถ้าท่านใส่ใจอยู่กับจังหวะในการต่อสู้ ใจของท่านก็จะไปจดจ่ออยู่กับดาบหรือจดจ่ออยู่กับอะไรก็ตาม มันจะทำให้ท่านเชื่องช้าลงงุ่มงามลง

บทที่สอง เคลื่อนเหมือนไม่เคลื่อน
3) ปัญญาที่ไม่หวั่นไหวของเหล่าพุทธะ แต่คำว่าไม่หวั่นไหวหรือไม่เคลื่อนไหวในที่นี้มิได้หมายถึงการไม่ขยับเขยื้อนเลยดุจต้นไม้ ดุจก้อนหิน เปล่าเลยมิใช่เช่นนั้นหรอก ปัญญาที่ไม่หวั่นไหว ของเราในที่นี้หมายถึง แม้ใจของเราจะเคลื่อนไหวไปทั้งสี่ทิศแปดทิศได้อย่างเสรีตามใจปรารถนา แต่ใจของเรากับมิได้ถูกทำให้ยึดติดเลยแม้แต่น้อย

พระอจลนาท (ฟุโดเมียวโอ) เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกซึ่ง ปัญญาที่ไม่หวั่นไหว ที่ขจัดมายาความหลงทั้งปวงออกไปให้กระจ่าง เนื่องเพราะผู้ใดก็ตามที่สามารถทำให้ ปัญญาที่ไม่หวั่นไหว ของเขาเป็นที่ประจักษ์และยังสามารถฝึกฝนร่างกายและจิตใจจนเป็นดุจเดียวเฉกเช่นพระอจลนาถได้พวกมารและจิตใจที่ชั่วร้ายทั้งปวงจะไม่อาจทำร้ายคนผู้นั้นได้อีกต่อไป

4) เพราะฉะนั้น พระอจลนาถ จึงหมายถึง ใจที่ไม่หวั่นไหวกับร่างกายที่ไม่คลอนแคลนของบุคคลนั่นเอง โดยที่คำว่า ไม่คลอนแคลน ก็หมายถึงการที่ไม่ถูกยึดติดโดยสิ่งใดนั่นเอง

เมื่อ ดู สิ่งใดสิ่งหนึ่งแต่ใจก็ไม่ได้จดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น เราเรียกว่า ไม่หวั่นไหว ทั้งนี้ก็เพราะว่าถ้าใจไปจดจ่อกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว ความคิดต่าง ๆ จะผุดขึ้นมาในสมอง ทำให้คิดโน่นคิดนี่วุ่นวายไปหมด ดังนั้นถ้าหากใจเกิดติดขัดหรือยึดติดกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นมาแล้ว ตอนนั้นต่อไห้จะพยายามควบคุมใจยังไงก็จะไม่อาจควบคุมได้

5) ขอให้ท่านลองนึกถึง เจ้าแม่กวนอิมพันมือ ดูซิ เห็นมั้ยว่าถ้าท่านมัวเอาใจไปจดจ่อกับมือใดมือหนึ่งเพียงมือเดียว มือที่เหลืออีกเก้าร้อยเก้าสิบเก้ามือก็จะไร้ประโยชน์ทันที ก็เพราะเราไม่เอาใจไปจดจ่อ ณ ที่ใดที่หนึ่งโดยเฉพาะต่างหาก มือทั้งพันมือจึงสามารถสำแดงฤทธิ์เดชออกมาได้

ดังนั้นการที่เจ้าแม่กวนอิมท่านทรงมีมือถึงพันมืออยู่ในร่างเดียวได้ก็ย่อมแสดงให้ผู้คนได้เห็นว่า ถ้าหากมีปัญญาที่ไม่หวั่นไหวแล้วต่อไห้มีมากถึงพันมือก็ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้หมด

ผู้ใดก็ตามที่เข้ากระจ่างถึงความจริงในข้อนี้
บุคคลผู้นั้นจะไม่ต่างจากเจ้าแม่กวนอิมผู้มีพันตาและพันมือเลย

6) ผู้ใดก็ตามที่เริ่มฝึกฝนตนเองจากขั้นเบ้องต้นจนรุดไปถึงขั้น ปัญญาไม่หวั่นไหว แล้ว บางครั้งดูเหมือน อาจจะกลับมาสู่ในสภาพ จิตที่ยึดติด ในระดับต้น ๆ ได้เหมือนกัน

เหมือนกับการนับหนึ่งถึงสิบทวนกลับไปกลับมา ในที่สุดเลขหนึ่งกับเลขสิบก็จะกลับมาอยู่ติดกันอีก หรือเหมือนกับเสียงดนตรีที่เสียงต่ำสุดกับเสียงสูงสุดจะกลับมาอยู่ติดกัน จึงเห็นได้ว่า สูงสุดจักคืนสู่สามัญ ท่านจะสามารถงำประกายได้อย่างมิดชิด

อวิชชากับกิเลสอันเป็นที่มาแห่งทุกข์ของผู้หัดใหม่ในขั้นตอนแรกกับ ปัญญาที่ไม่หวั่นไหวในขั้นสุดท้ายจะกลายเป็นหนึ่งเดียว จนความคิดแบ่งแยกแบบทวิคติจะไม่บังเกิดขึ้น และผู้นั้นจะเข้าสู่สภาพที่ ไร้ความคิดไร้ใจ (มุชินมุเน็น) เมื่อบรรลุถึงขั้นสูงสุดระดับนี้ทั้งมือเท้าร่างกายจะรู้เองจำได้เองว่าควรทำอะไร โดยไม่มีความจำเป็นต้องใช้ใจเลยแม้แต่น้อย

7) พฤติกรรมของคนซึ่งบรรลุความลึกซึ้งใน วิถี ใด ๆ ก็ตามจะเป็นดังนี้ แม้เขาจะเคลื่อนไหวร่างกายทุกๆ ส่วน แต่ใจของเขาจะไม่หยุดไม่จดจ่ออยู่กับที่ใด ๆ เขาจะเป็นเสมอหุ่นไล่กาที่ ไร้ความคิดไร้ใจ แต่ทำประโยชน์

8 ) ในการฝึกฝนทุกอย่างนั้นจะมีการฝึกฝนอยู่ 2 แบบด้วยกัน หนึ่งคือการฝึกฝนในเรื่องหลักวิชา อีกอย่างหนึ่งคือการฝึกฝนในเรื่องเทคนิค ถ้ารู้แต่หลักวิชาแค่ในสมอง โดยไม่มีการฝึกฝนในเรื่องเทคนิคควบคู่ไปด้วยร่างกายมือเท้าของท่านจะไม่อาจทำงานได้ดังใจนึกการฝึกเทคนิคในวิชาฝีมือคือการฝึกแขนขาลำตัวให้เคลื่อนไหวเป็นหนึ่งเดียว หลักวิชากับเทคนิคจึงเหมือนล้อสองล้อของรถม้าจะขาดล้อใดล้อหนึ่งไม่ได้

บทที่สาม ความเร็วดุจประกายไฟ
9) ไม่เหลือช่องว่างแม้เท่าเส้นผมให้เล็ดลอด ในการปุจฉา-วิสัชนาของเซนก็เซนก็เช่นกัน พวกเราชาวพุทธจะไม่ชอบให้ใจของเราไปยึดติดกับสิ่งใด ๆ และเราเรียกการยึดติดเช่นนั้นว่ากิเลสอันเป็นที่มาแห่งทุกข์ แต่เราจะนิยมนับถือสภาพจิตใจที่ไม่ไหลลื่นไม่ขาดตอนไม่หยุดนิ่ง ดุจก้อนหินที่กำลังเคลื่อนไหวที่อยู่ท่ามกลางกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก

10) ความเร็วดุจประกายไฟจากหินจุดไฟ เวลาที่เราตีหินจุดไฟมันจะเกิดประกายไฟขึ้นมาในบัดดลนั้นทันที ไม่มีช่องว่างเกิดขึ้นระหว่างกาตีหินกับการเกิดประกายไฟ กล่าวคือมันไม่มีช่องว่างที่จะทำให้ใจที่ยึดติดเกิดขึ้น

จงอย่าเข้าใจผิดว่าเรากำลังเน้นเรื่องความเร็ว ที่จริงแล้วเรากำลังเน้นเรื่องการไม่ให้ใจถูกยึดติดต่าง หาก เพราะถ้าหากคิดที่จะชักดาบให้เร็วขึ้นแล้ว ใจของท่านก็ไปจดจ่ออยู่กับเรื่องนี้อีก ความเร็วอย่างที่ใจไมจดจ่ออยู่กับเรื่องของความเร็วคือแก่นแท้ของหลักวิชาฝีมือ

11) จะกล่าวได้หรือไม่ว่า ประกายไฟจากหินจุดไฟคือความเร็วปานสายฟ้าแลบ? ใจที่จดจ่อหรือถูกทำให้หวั่นไหวโดยสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนกลายเป็นความหลงนี่แหละคือปุถุชน ส่วนใจที่มีปฏิกิริยาฉับพลันโดยไม่มีช่องว่างคือปัญญาของเหล่าพุทธะ พุทธะกับปุถุชนมิใช่สองสิ่งที่แยกออกจากกัน ผู้ที่มีใจที่ไม่ยึดติดต่าง หากคือผู้ที่เป็นพุทธหรือเทพเจ้า

วิถีหรือมรรคแม้มีหลายอย่างไม่ว่า ชินโต ลัทธิขงจื้อหรือเต๋า แต่ละวิถีทั้งหมดล้วนมุ่งเปิดเผยให้เห็นถึง ใจที่ไม่ยึดติด อันนี้ทั้งสิ้น

การรู้แจ้งแห่งใจของคนหนึ่ง ๆ นั้นจะขึ้นอยู่กับความลึกล้ำแห่งความวิรยะพากเพียรพยายามของบุคคลผู้นั้น มิใช่สิ่งใดสิ่งอื่น

บทที่สี่ จะจางใจไว้ ณ ที่ใด
12) ในการต่อสู้ควรจะวางใจไว้ ณ ที่ใดถึงจะดี ?

การกำหนดหรือวางใจไว้ ณ ที่ใดที่หนึ่งไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็ตาม
จะตกอยู่ในสภาวะด้านเดียว คือไม่รอบทิศ อันเป็นสภาวะจิตใจที่ลำเอียง
มีมิจฉาและเป็นอุปสรรคต่อผู้แสวงมรรค

เมื่อเราไม่คิดว่าจะวางใจไว้ ณ ทีใดเลย เมื่อนั้นใจก็จะแผ่กว้าง
คลุมไปทั่วทุกส่วนของร่างกายและไปถึงทุกที่ทั้งหมดได้ ไม่วางใจไว้ที่ไหนเลย
แต่ควรใช้ในแต่ละช่วงตามความจำเป็น
อย่างสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของปรปักษ์จะเป็นการดีกว่า

การไม่ให้ใจไปผูกติดกับที่ใดที่หนึ่งนี่แหละคือการฝึกฝนตนเอง
ความพยายามไม่ให้ใจไปผูกติดยึดติดจึงเป็นทั้งเป้าหมายและหัวใจของหลักวิชา

การวาง ใจ ไว้ที่ไหนเลยคือการมีใจดำรงอยู่ในทุกแห่ง
เพราะถ้าใจไม่ถูกจำกัดอยู่แค่ทิศใดทิศหนึ่ง ใจก็จะอยู่ทั้งสิบทิศ

บทที่ห้า ใจสัมมา กับ ใจมิจฉา
13) ใจที่มีสัมมาคือใจที่ไม่ยึดติดอยู่กับที่ใดที่หนึ่ง แต่จะแผ่ขยายคลุมไปกว้างทั่วร่างกาย ส่วนใจที่มีมิจฉาคือใจที่ยึดติดตรึงกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็จะกลายเป็นใจที่มีมิจฉาไปทันที การสูญเสียใจที่มีสัมมาจะทำให้สูญเสียสมรรถนะหลาย ๆ อย่างตามไปด้วย เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะไม่ทำให้สูญเสียใจเช่นนี้ไป

14) ใจที่มีใจ กับ ใจที่ไร้ใจ
คำว่า มีใจ หมายถึง ใจที่หมกมุ่นในทิศทางเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรพอมีเรื่องใดเรื่องหนึ่งผุดวาดขึ้นมาในความคิดก็เกิดจิตใจที่แบ่งแยกแบบทวิคติตามมา

ส่วนใจที่ ไร้ใจ คือใจที่มิได้กำหนดวางไว้ ณ ที่ใด ๆ เมื่อพัฒนาจิตใจจนมีใจที่ไร้ใจได้จริง ๆ แล้ว ใจจะไม่ยึดติดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งแต่จะเหมือนน้ำที่เต็มเปี่ยมและเอ่อล้นไปทุกหนแห่ง นำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกเมื่อยามต้องการใช้

15) ถ้าใจยังถูกปล่อยให้ยึดติดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ แม้มีใครมาพูดด้วยก็ไม่ได้ยินหรือไม่ได้ตั้งใจฟังเขาอย่างแท้จริง เพราะว่าใจจะไม่มัวหมกมุ่นอยู่กับความคิดของตัวเอง

นี่คือสภาพของใจที่ มีใจ คือมีอะไรอยู่ในใจตน สิ่งนั้นคือ ความคิด ต่อเมื่อขจัดความคิดหรือสิ่งที่มีอยู่ในใจออก ไปจากใจได้ ใจจะกลายเป็นใจที่ไร้ใจและทำงานอย่างมีสมรรถนะได้

แต่ใจที่คิดจะขจัดสิ่งที่มีอยู่ในใจออกไป ความจริงก็ยังเป็นอะไรอยู่ในใจอยู่ดี ต่อเมื่อสามารถไม่คิดได้แล้วใจก็จะทำการขจัดความคิดต่าง ๆ ในใจออกไปเองจนเข้าสู่สภาพ ไร้ใจ ได้

ถ้าท่านสามารถฝึกฝนจนเข้าสู่สภาพเช่นนี้บ่อย ๆ ได้ สักวันหนึ่งห่านก็จะบรรลุการ ไร้ใจ ได้เอง แต่ถ้าท่านตั้งใจพยายามที่จะบรรลุสภาวะเช่นนี้ในทันทีทันใด ท่านจะไม่มีวันได้มันเลย ดังบทกวีต่อไปนี้

“คิดที่จะไม่คิด ก็ยังเป็นความคิดอย่างหนึ่ง
เพราะฉะนั้น จงอย่าคิดที่ไม่คิด”

16) ใจของผู้ บรรลุ จะไม่ยึดติดกับสิ่งใดแม้เพียงชั่วขณะเหมือนการกดลูกน้ำเต้าที่กำลังจะลอยบนผิวน้ำที่จะไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม พอเกิดความคิดว่าจะทำสิ่งนั้น ใจก็จะไปหยุดอยู่กับสิ่งนั้นเพราะฉะนั้นจึงควรทำให้เกิดใจโดยไม่มีที่ใดให้ยึดติด

ความเคร่งครัด ของใจที่ไม่ใช่ระดับใจที่สูงสุดในทัศนะของพุทธธรรม การคุมใจไม่ให้วอกแวกก็ยังเป็นการฝึกใจในระดับที่ยังไม่บรรลุ ต่อเมื่อได้ฝึกฝนอย่างหนักต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานแล้วจึงจะสามารถบรรลุถึงระดับใจที่อิสระเสรีอย่างใจนึก ไม่ว่าจะปล่อยใจไปในทิศทางใดก็ตามได้
นี่คือระดับที่ทำให้เกิดใจโดยไม่มีที่ใดให้ยึดติดอันเป็นระดับสูงสุด

17) ปรปักษ์คือความว่าง ตัวท่านก็คือความว่าง มือที่ควงดาบและตัวดาบที่ล้วนเป็นความว่างทั้งสิ้น เมื่อเข้าใจดีแล้วก็ต้องละทิ้งแม้แต่ความว่าง จงอย่าให้ใจไปยึดติดแม้กับความว่างนั้น

คนเก่ง คือคนที่ทำให้อะไรทุกอย่างโดยลืมใจไปได้อย่างสิ้นเชิง เทคนิคของผู้ที่ยังไม่อาจจะละทิ้งใจได้หมดยังไม่ใช่ความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง

(ทากุอัน แปลและเรียบเรียงไทย โดย :ดร. สุวินัย ภรณวลัย)
>>> F/B พระพุทธศาสนา นิกายเซ็น - Zen ได้แชร์ลิงก์
10 กรกฎาคม 2557
คัมภีร์พระอจลนาถ - คัมภีร์แห่งจิตของผู้ไม่หวั่นไหว (ฉบับย่อ)