สมุนไพร :มะระขี้นกชื่อวิทยาศาสตร์ : Momordica charantin Linn
วงศ์ : Cucurbitaceae
ชื่ออังกฤษ : Balsam apple, Balsam pear, Bitter cucumber, Bitter gourd,Bitter melon, Carilla fruit
ชื่ออื่น ๆ : ผักไห่ มะไห่ มะนอย มะห่วย ผักไซ (เหนือ) สุพะซู สุพะเด (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) มะร้อยรู (กลาง) ผักเหย (สงขลา) ผักไห (นครศรีธรรมราช) ระ (ใต้) ผักสะไล ผักไส่ (อีสาน) โกควยเกี๋ยะ โควกวย (จีน) มะระเล็ก มะระขี้นก (ทั่วไป)
มะระขี้นก เป็นผักพื้นบ้านของไทยอีกชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจนิยมบริโภคผลและยอดอ่อน มีรสขม พบทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย เป็นพืชที่ปลูกง่ายชอบอากาศร้อน ในทางโภชนาการเป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูง มีวิตามิน แร่ธาตุและสารอาหารอีกหลายชนิดด้วยกัน นอกจากนี้แล้วคุณค่าทางยานั้นยังเป็นสมุนไพรรักษาโรคเบาหวาน รักษาโรคเอดส์ มีฤทธิ์ต้านเชื้อ HIV มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง แก้ไข แก้ร้อนในกระหายน้ำ เป็นต้น
คนไทยส่วนใหญ่รู้คุณค่าและประโยชน์ของสมุนไพรจากการถ่ายทอดสืบต่อจากบรรพบุรุษและจากประสบการณ์ว่าสมุนไพรช่วยป้องกันโรคและบรรเทาอาการของโรคได้ ดังนั้นเราคนไทยหันมากินของไทย อยู่อย่างไทย ด้วยการอนุรักษ์สมุนไพรไทยที่ยังเหลืออยู่ต่อไป
มะระขี้นกเป็นผักพื้นบ้านที่มีอยู่ทั่วไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย มีถิ่นกำเนิดอยู่ใน เขตร้อนของเอเซียและทางตอนเหนือของอัฟริกาเขตร้อน เป็นพืชผักที่สามารถขึ้นได้เองตาม ธรรมชาติ ชาวบ้านมักนำมาปลูกตามสวนหรือริมรั้ว มะระขี้นกเป็นไม้เถาขนาดเล็กที่มี คุณประโยชน์แก่ร่างกายสูง ทั้งด้านคุณค่าทางอาหาร คือ พลังงาน คาร์โบไฮเดรต โปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก เส้นใย วิตามิน A, B1, B2, C ไนอาซีน และไทอามีน
นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ทางยา คือ ลดน้ำตาลในเลือด (แก้โรคเบาหวาน) รักษาโรคเอดส์ และต้านเชื้อ HIV ต้านมะเร็ง ใช้เป็นยาถ่าย แก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ รักษาชันนะตุและโรคผิวหนังต่าง ๆ ฯลฯ นอกจากนี้แล้วรสขมของมะระขี้นกยังช่วยให้เจริญอาหารอีกด้วย สามารถบำบัดโรคเบาหวานได้เนื่องจากมีสาร charantin ช่วยลดน้ำตาลในเลือด และ มะระยังมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินซี ไนอาซีน และเบต้าแคโรทีน อยู่ในระดับสูง มะระมีสารโบมอร์ดิซิน ผลอ่อนของมะระขี้นกให้วิตามินซี และเบต้าแคโรทีนสูง
นอกจากนี้ ชาวบ้านทั่วไปยังนิยมใช้มะระขี้นกเป็นยารับประทานแก้ไข้ แก้หวัด โดยใช้ทั้งผล ราก ใบ ดอก เถา อย่างละกำมือ ใส่น้ำพอท่วมยา ต้มให้เดือดสัก 20-30 นาที ดื่มน้ำ 1/2-1 แก้วก่อนอาหาร ทำติดต่อกัน 3-4 วัน อาการจะดีขึ้น หรือนำไปลวกหรือต้มสุกก่อน แล้วกินเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก หรือถ้ากลัวขมอาจนำไปหั่นเป็นแว่นๆ ทอดกับไข่ หรือทำเป็นแกงจืดต้มซี่โครงหมูก็ได้
การใช้มะระขี้นกในทางยาจำเป็นต้องระมัดระวังในกับบุคคลบางกลุ่ม เช่น ในหญิงตั้งครรภ์อาจทำให้ตกเลือด เกิดการบีบตัวของมดลูกรุนแรงและทำให้แท้งได้ และมีรายงานว่า
ชั้นเคลือบเมล็ดของมะระขี้นกเป็นอันตรายต่อเด็ก โดยจะทำให้อาเจียน ท้องเสีย และเสียชีวิตได้
สิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือ การรับประทานเมล็ดซึ่งมีสารกลุ่มไพริมิดีนนิวคลีโอไซด์ที่ชื่อว่า ไวซิน (Vicine) อาจจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เป็นไข้ ปวดท้อง และอาการโคม่าได้ ดังนั้น พึงระลึกว่าเมล็ดของมะระขี้นกอาจมีพิษ หากจะนำผลมะระขี้นกมาทำยารับประทานต้องแกะเมล็ดออกเสมอ (แสงไทย, 2544) มะระมีต้นกำเนิดจากประเทศจีน เป็นมะระผลใหญ่ ยาวอวบ ผิวขรุขระ สีเขียวอ่อนๆนวลสวย เป็นผักผลเดียวกับฟักแฟงแตงบวบ อยู่ในวงศ์ Cucurbitaeae
ความขมของมะระเกิดจากสารอัลคาลอยด์ชนิดหนึ่ง ชื่อโมโมดิซิน (Momodicine) ซึ่งรสขม เป็นความขมที่เป็นยา ช่วยเจริญอาหาร ช่วยระบายท้อง แพทย์แผนไทยใช้ทั้งใบ ผล เมล็ดและรากของมะระเป็นยา เช่น ใบมีรสขม คั้นเอาแต่น้ำดื่ม แก้ท่อน้ำดีอักเสบช่วยเจริญอาหาร ถ้าใช้มากทำให้อาเจียน แก้ไขตัวร้อน ดับพิษร้อน แก้อักเสบฟกช้ำ ผลมะระที่มีรสขมจัด เชื่อว่าบำรุงน้ำดี บำรุงร่างกาย แก้ตับม้ามอักเสบ ขับพยาธิ แก้อักเสบจากพิษต่างๆ ผลสุกจะมีสารชาไปนินมาก กินเข้าไปอาจทำให้ท้องร่วงและอาเจียน ไม่ควรรับประทาน ส่วนเมล็ดรสขมมีฤทธิ์ขับพยาธิตัวกลม รากก็ขมให้ต้มดื่ม แก้ไข้ รักษาโรคริดสีดวงทวาร
มะระขี้นก หรือมะระไทย (Momordica charantia Linn.) เป็นพืชในวงศ์ Cucurbitaceae มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ภาคเหนือเรียกมะนอย มะห่อยหรือมะไห่ ภาคอีสานเรียกผักไซหรือผักใส่ ภาคใต้เรียกผักเหย ผักไหหรือมะร้อยรู นอกจากชื่อแต่ละถิ่นแล้ว ชื่ออังกฤษยังมีหลายชื่อ เช่น Balsam Pear, Bitter Cucumber, Leprosy Gourd, Bitter Gourd เป็นต้น
มะระขี้นกเป็นพืชพื้นเมืองในประเทศเขตร้อนชื้น หลายประเทศในทวีปเอเชียรับประทานเป็นผัก ชาวอินเดียปรุงเป็นแกง ชาวศรีลังกานำไปปรุงเป็นผักดอง และชาวอินโดนีเซียรับประทานเป็นผักสด ผลมะระขี้นก 100 กรัมให้พลังงานต่อร่างกาย 17 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย เส้นใย 12 กรัม แคลเซียม 3 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 5 มิลลิกรัม เหล็ก 0.2 มิลลิกรัม วิตามินเอ 2924 IU วิตามินบีหนึ่ง 0.09 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.05 มิลลิกรัม ไนอาซิน 0.4 มิลลิกรัม วิตามินซี 190 มิลลิกรัม และยังมีการวิเคราะห์สารอาหารจากยอดอ่อนของมะระพบว่ามีวิตามินเอค่อนข้างสูง
ประเทศไทยเองมีมะระขี้นกขึ้นเป็นวัชพืชอยู่มากมาย
ในขณะที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีแต่จะมากขึ้นคงถึงเวลาที่คนไทยจะรู้จักใช้ประโยชน์จากวัชพืชที่มีอยู่ ไม่ต้องรอให้ฝรั่งทำน้ำมะระขี้นกมาขายแล้วคนไทยค่อยหันมาเห่อกันหรอกนะ (นันทวัน บุณยะประภัศร. 2536.)
ลักษณะของพืช
มะระขี้นก เป็นไม้เถา มีมือเกาะลำต้น เลื้อยพาดพันตามต้นไม้ หรือตามร้าน อายุเพียง 1 ปี ลำต้นมีสีเขียว ขนาดเล็กยาว ผิวมีขนขึ้นประปราย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะใบหยักเว้าลึกเข้าไปในตัวใบ 5-6 หยัก ปลายใบแหลม ใบมีสีเขียวอ่อน และมีขนอ่อนนุ่มปกคลุมเล็กน้อย ใบกว้าง 4.5-11.5 เซนติเมตร ยาว 3.5-10 เซนติเมตร ดอกเป็นดอกเดี่ยวสีเหลือง ออกบริเวณง่ามใบ ดอกแยกเพศกัน แต่อยู่บนต้นเดียวกัน ดอกตัวผู้มีกลีบเลี้ยงห่อหุ้มเอาไว้ กลีบดอกรูปขอบขนาน หรือรูปไข่ หรือพบทั้งสองแบ ผลมะระมีรูปร่างคล้ายกระสวย ผิวขรุขระ เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3.5 เซนติเมตร ยาว 5-8 เซนติเมตร เมื่อผลแก่จัดจะเห็นเป็นสีส้ม หรือแดงอมส้ม ผลคล้ายมะระจีน แต่มีขนาดใหญ่กว่า เมล็ดรูปไข่ตลับ ทุกส่วนที่อยู่เหนือดิน ของพืชมีรสขม
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก (root) เป็นพวก cap root system มีรากแก้วแทงลงไปในดินและมีรากแขนงแตกออกไปจากรากแก้วอีก
ลำต้น (stem) ลักษณะเป็นเถาเลื้อยมีสีเขียวขนาดเล็ก เป็นเหลี่ยม 5 เหลี่ยม มีขนอยู่ทั่วไป มีมือเกาะที่เจริญออกมาจากส่วนของข้อ ใช้สำหรับยึดจับ
ใบ (leaves) เป็นใบเดี่ยว รูปฝ่ามือมีสีเขียวอ่อน และมีขนอ่อนนุ่มปกคลุมเล็กน้อย เมื่อแก่จัดจะมีสีเขียวเข้ม ออกเรียงสลับกัน ก้านใบยาว ขอบใบเว้าหยักลึกเข้าไปในตัวใบ 5 – 7 หยัก ปลายใบแหลม ใบกว้าง 4.5 – 11.5 เซนติเมตร ยาว 3.5 – 10 เซนติเมตร เส้นใบแยกออกจากจุดเดียวกัน แล้วแตกออกเป็นร่างแห
ดอก (flower) เป็นดอกเดี่ยว ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียแยกเพศกัน อยู่ในต้นเดียวกัน เจริญมาจากข้อ
ดอกตัวผู้ (staminate flower) เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 – 1.5 นิ้ว กลีบนอก 5 กลีบ สีเขียวปนเหลือง กลีบในมี 5 กลีบ สีเหลืองสด เกสรตัวผู้มี 3 อัน แต่ละอันจะมีเรณูและก้านชูเกสรตัวผู้อย่างละ 3 อัน เจริญออกมาก่อนดอกตัวเมีย
ดอกตัวเมีย (pisttillate flower) เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 – 1.5 นิ้ว มีรังไข่แบบ infarior ovary ประกอบด้วยกลีบดอก 5 กลีบ สีเขียวปนเหลือง กลีบใน 5 กลีบ สีเหลืองสด เกสรตัวเมียมีรังไข่ 1 อัน stima 3 คู่ ก้านชูเกสรตัวเมีย 3 อัน
ผล (fruit) รูปร่างคล้ายกระสวยสั้น ๆ ผิวเปลือกขรุขระและมีปุ่มยื่นออกมา ผลอ่อนมี สีเขียว เมื่อแก่เต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมแดง ปลายผลจะแตกอ้าเป็น 3 แฉก ผลยาว 5 – 7 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางผล 2 – 4 เซนติเมตรเมล็ด (seed) เมื่อแก่เต็มที่มีเมือกสีแดงสดห่อหุ้มเมล็ดอยู่ เมล็ดมีรูปร่างกลม รี แบน ปลายแหลมสีฟางข้าว (สถาบันการแพทย์ไทย, 2541)
สภาพแวดล้อมในการผลิต
ดิน สามารถขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด แต่ดินที่ปลูกได้ผลดีที่สุด คือ ดินร่วนปนทราย ซึ่งมีการระบายน้ำดีความเป็นกรดเป็นด่างของดิน เป็นกรดเล็กน้อยถึงปานกลางแสงแดด ชอบแสงแดดเต็มที่ตลอดวันความชื้น ในดินสูงสม่ำเสมอเพียงพออุณหภูมิ ช่วงที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 18 – 25 องศาเซลเซียส สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี
การเตรียมดิน
แปลงปลูก มะระขี้นกเป็นผักที่มีระบบรากลึกปานกลาง ควรไถดินลึกประมาณ 20 – 25 เซนติเมตร ตากดินทิ้งไว้ 7 – 10 วัน ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วเข้าไปให้มาก เพื่อปรับปรุงสภาพทางกายของดิน แล้วยกร่องเล็ก ๆ ยาวไปตามพื้นที่ระบบปลูก นิยมระบบแถวคู่ระยะปลูก ระยะที่เหมาะสมคือ ระยะระหว่างต้น 50 – 75 เซนติเมตร และระยะระหว่างแถว 1 เมตร(กรมส่งเสริมการเกษตร)
การทำค้าง
ถ้าใช้ไม้ไผ่ต้องนำมาผ่าเป็นซีกเล็กๆกว้าง 2.3 เซนติเมตร ยาว 2 เมตร ถ้าใช้ไม้รวกก็ไม่ต้องผ่า ใช้ไม้รวกยาวประมาณ 2 เมตร เช่นกัน ปักไม้ลงไปข้างๆ หลุม แล้วรวบปลายไม้เข้าด้วยกันเป็นรูปจั่ว มัดให้เหลือปลายไม้ไว้ แล้วใช้ไม้ยาววางพาดข้างบนอีกทีหนึ่ง ตามร่องใช้ยอดไม้รวกปักเพื่อให้มะระขึ้นไปได้
วิธีปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษา
หยอดเมล็ดโดยตรงลงในแปลง หลุมละ 3 – 4 เมล็ด ลึกลงไปในดินประมาณ 2.5 – 3.5 เซนติเมตร กลบด้วยปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักที่สลายตัวแล้ว หรือดินผสม รดน้ำให้ชุ่ม คลุมฟางแห้งหรือหญ้าแห้งที่สะอาดให้หนาพอควร เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 2 ใบ ถอนแยกต้นที่อ่อนแอไม่สมบูรณ์ทิ้ง เหลือไว้หลุมละ 2 ต้น เมื่อมะระเริ่มเลื้อยหรือต้นมีอายุประมาณ 15 วัน ควรทำค้างเพื่อให้ต้นเลื้อยเกาะขึ้นไป อาจทำได้ 2 แบบ คือ
แบบที่ 1 ปักไม้ค้างยาวประมาณ 2 – 2.5 เมตร ทุก ๆ หลุมแล้วเอนปลายเข้าหากัน ผูกมัดปลายไว้ แล้วใช้ไม้ค้างพาดขวางประมาณ 2 – 3 ช่วง
แบบที่ 2 ปักไม้ค้างยาวประมาณ 2 – 2.5 เมตร ทุก ๆ ระยะ 1.5 – 2 เมตร ขนานกับแถวปลูก ใช้เชือกผูกขวางทุก ๆ ระยะ 30 เซนติเมตร รวมทั้งผูกทแยงไปมาด้วย (เมืองทอง, 2525)
การรดน้ำ
รดเช้า-เย็น ควรให้อย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ถึงกับเปียกแฉะ ไม่ควรขาดน้ำ โดยเฉพาะช่วงออกดอกติดผล
การพรวนดิน
กำจัดวัชพืช ควรปฏิบัติในระยะแรก เมื่อต้นยังเล็กอยู่ เพื่อไม่ให้วัชพืช ระวังอย่าให้กระทบกระเทือนถึงระบบราก
การให้ปุ๋ย
อายุประมาณ 15 วัน ควรให้ปุ๋ยยูเรีย หรือแอมโมเนียมซัลเฟต ประมาณ 5 ช้อนแกงต่อหลุม พรวนรอบ ๆ ต้นแล้วรดน้ำ ปริมาณของปุ๋ยที่ใช้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน และปริมาณของปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักที่ใช้
โรคที่สำคัญ ได้แก่ โรคใบจุด โรคเหี่ยว แหล่งที่สำคัญ ได้แก่ แมลงวันทอง เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน หนอนเจาะเถา หนอนเจาะยอด
การเก็บเกี่ยว อายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 45 วัน เก็บผลที่ยังอ่อนอยู่
การห่อผล
เมื่อมะระอายุได้ 40 วัน จะออกดอกและติดผลจนลูกโตขนาดนิ้วก้อย ก็เริ่มห่อผลได้ทันที โดยใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ทำเป็นถุงขนาด 15 คูณ 20 เซนติเมตร ปากถุงเปิดทั้งสองด้าน นำปากถุงด้านหนึ่งสวมผลมะระ แล้วใช้ไม้กลัดๆ ปากถุงให้แขวนอยู่บนก้านของผลมะระ การห่อผลจะช่วยไม่ให้มะระถูกรบกวนจากแมลงศัตรูพืชมากนัก และยังทำให้ผลมีสีเขียวอ่อนน่ารับประทานด้วย(ตระกาลศักดิ์มณีภาค,มูลนิธิ,)
การเก็บเกี่ยว
มะระจะให้ผลเก็บเกี่ยวได้เป็นรุ่นๆ ไปมะระรุ่นแรกเกษตรกรเรียกว่า มะระตีนดิน ผลมีลักษณะ อ้วน ป้อม สั้น ผลจะอยู่บริเวณโคนเถาเกือบติดดิน เก็บผลได้วันเว้นวัน เมื่อเก็บมะระรุ่นใหญ่ไปแล้ว 3 ครั้ง ก็จะถึงมะระรุ่นเล็กซึ่งเป็นมะระปลายเถา ผลจะมีขนาดเล็กลง การเก็บผลมะระควรเลือกเก็บในขณะที่ผลยังมีลักษณะอ่อนอยู่ มีสีเขียวและโตได้ขนาด อย่าปล่อยให้มะระแก่จัดจนเปลี่ยนเป็นสีครีม หรือผลเริ่มแตกเพราะเนื้อและรสจะไม่น่ารับประทาน
การเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์
เริ่มด้วยการคัดเลือกต้นมะระในแปลงปลูกที่เจริญงอกงามแข็งแรง ให้ผลรุ่นแรกมีลักษณะดีตรงตามพันธุ์ไว้หลายๆต้น กะให้ได้เมล็ดพันธุ์พอปลูกในปีหน้า เมื่อดอกตัวเมียและตัวผู้ของต้นที่เลือกไว้เป็นต้นแม่พันธุ์ใกล้จะบาน หาถุงกระดาษบางขนาดโตกว่าดอกนิดหน่อยมาสวมไว้ รุ่งขึ้นดอกจะบาน เด็ดดอกตัวผู้มาครอบดอกตัวเมียแล้วเคาะเบาๆ ให้ละอองเกสรหล่นลงไปบนดอกตัวเมีย แล้วเอาถุงกระดาษสวมไว้ตามเดิมทิ้งให้ผลสุกจึงเด็ดไปผ่าเอาเมล็ดออกล้างน้ำตากแดดจนแห้งสนิท เก็บไว้ทำพันธุ์ต่อไปได้
คุณค่าทางเศรษฐกิจ
ยอดมัดกำขาย ขายส่งกำละ 3 บาท ผลกิโลกรัมละ 6 – 10 บาท (ตลาดไท) ทำแห้งขายกิโลกรัมละไม่เกิน 30 บาท ผลมะระเชื่อม กิโลกรัมละ 200 บาท (แสงไทย, 2544)
คุณค่าทางอาหาร
มะระมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินซี ไนอาซีน และเบต้าแคโรทีน อยู่ในระดับสูง มะระมีสารโบมอร์ดิซิน
ผลอ่อนของมะระขี้นกให้วิตามินซี และเบต้าแคโรทีนสูง เวลาลวกควรลวกทั้งลูก และไม่แช่ไว้นาน เพราะจะทำให้วิตามินซีและเบต้าแคโรทีนสูญเสียไป เคล็ดลับในการทำให้รสขม ของมะระน้อยลงคือ คลุกเคล้าหรือแช่มะระในน้ำเกลือหรือต้มมะระโดยไม่ปิดฝาหม้อจนน้ำเดือดเต็มที่ จะช่วยลดความขมให้น้อยลง(คมสัน หุตะแพทย์)
ได้มีการศึกษา
คุณค่าทางอาหารของผลมะระขี้นก พบว่า ผลมะระขี้นก 100 กรัม มีส่วนประกอดังนี้ (สถาบันการแพทย์แผนไทย, 2540 และทศพร, 2531)
ความชื้น 83.20 กรัม
พลังงาน 17.00 กิโลกรัม
ไขมัน 1.00 กรัม
เส้นใย 12.00 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 9.80 กรัม
แคลเซียม 3.00 มิลลิกรัม
โปรตีน 2.90 กรัม
ฟอสฟอรัส 140.00 มิลลิกรัม
เหล็ก 9.40 มิลลิกรัม
วิตามินเอ 2924.00 IU
วิตามินบี 1 0.09 มิลลิกรัม
วิตามินบี 2 0.05 มิลลิกรัม
วิตามินซี 0.40 มิลลิกรัม
ไทอามีน 0.07 มิลลิกรัม
ไนอาซีน 190.00 มิลลิกรัม
ประโยชน์ทางยาลดน้ำตาลในเลือด รักษาโรคเบาหวาน หั่นเนื้อมะระตากแห้งชงน้ำดื่ม ถ้าต้องการกลบรสขมให้เติมใบชาลงไปด้วยขณะที่ชง ดื่มต่างน้ำชา นอกจากนี้น้ำต้มผลมะระ สามารถลดการเกิด ต้อกระจก ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงในคนที่เป็นโรคเบาหวานได้
รักษาโรคเอดส์ต้านเชื้อ HIV (ไมตรี, 2542) ใช้ผลอ่อนทำเป็นน้ำคั้น หรือบดเป็นผงใส่แคปซูล หรือยาลูกกลอน การใช้น้ำคั้นจากผลดื่มได้ผลดีกว่ากินสดหรือต้ม แต่การสวนทวารด้วยน้ำคั้นมะระจะได้ผลดีกว่าการดื่ม เพราะสารสำคัญ MAB 30 เป็นสารโปรตีนที่จะถูกทำลายโดยกรดและน้ำย่อยอาหารในกระเพาะอาหารได้
ฤทธิ์ต้านมะเร็ง (แสงไทย, 2544) สารสำคัญที่ออกฤทธิ์ต้านมะเร็ง คือ guanylate cyclase inhibitor สกัดได้จากผลสุก MAB 30 สกัดจากเนื้อผลสุกและเมล็ด momorchrin สกัดจากเมล็ด ผลและเมล็ดต้มน้ำดื่ม
ช่วยเจริญอาหาร ใช้เนื้อของผลที่ยังไม่สุกไม่จำกัดจำนวน ใช้ประกอบเป็นอาหาร ผักจิ้ม ต้ม แกง
ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ ใช้ใบสดมะระขี้นก 20-30 ใบ หั่นใบชงด้วยน้ำร้อนเติมเกลือ เล็กน้อย ช่วยกลบรสขม ดื่มแต่น้ำ ใช้ได้ดีสำหรับถ่ายพยาธิเข็มหมุด นอกจากนี้ยังใช้เมล็ด 2-3 เมล็ด รับประทานขับพยาธิตัวกลม
ทำให้อาเจียน ใช้เถาสด 1/3 กำมือ หรือ 6-20 กรัม เติมน้ำพอท่วมต้มให้เดือด 5-10 นาที ดื่มแต่น้ำ
รักษาชันนะตุและศีรษะเป็นเม็ดผื่นคัน ใช้ผลสดที่ยังไม่สุกหั่นเนื้อมะระแล้วตำคั้นเอาแต่น้ำ เติมดินสอพองลงในพอสมควร ใช้ทาบริเวณที่เป็นชันนะตุ (ดารณี, 2544)
เป็นยาแก้ไข ใช้ผลมะระต้มน้ำแล้วดื่ม อาการตัวร้อนจะหายไป
แก้ไข้ที่เกิดจากกระทบความร้อน ใช้ผลสด 1 ผล ควักไส้ในออกใส่ใบชาเข้าไปแล้วประกบกันนำไปตากให้แห้งในที่ร่ม รับประทานครั้งละ 6-10 กรัม โดยต้มน้ำดื่มหรือชงน้ำดื่มต่างชา ก็ได้
แก้ร้อนในกระหายน้ำ ใช้ผลสด 1 ผล ขูดไส้ในออก หั่น ฝอย ต้มน้ำดื่ม
แก้บิด ใช้น้ำคั้นจากผลสด 1 แก้ว ผสมน้ำดื่ม แก้บิดเฉียบพลันใช้ดอกสด 20 ดอก ตำคั้นเอาน้ำมาผสมน้ำผึ้งพอสมควรดื่ม แก้บิดปวดท้อง ถ่ายเป็นเมือกๆ
ใช้รากสด 60 กรัม น้ำตาลกรวด 60 กรัม ต้มน้ำดื่ม ถ่ายเป็นเลือด ใช้รากสด 120 กรัม ต้มน้ำดื่ม แก้บิดถ่าย เป็นมูกหรือเลือดใช้เถาสด 1 กำมือ แก้บิดมูกใส่เหล้าต้มดื่ม แก้บิดเลือดให้ต้มน้ำดื่ม
แก้แผลบวม ใช้ผลสดตำพอก
แผลสุนัขกัด ใช้ใบสดตำพอก
แก้ปวดฝี ใช้ใบแห้ง บดเป็นผงชงเหล้าอื่น แก้ฝีบวมอักเสบใช้ใบสดตำคั้นเอาน้ำทาบริเวณที่เป็นหรือใช้รากแห้งบดเป็นผงผสมน้ำพอก
แก้ปวดฟัน ใช้รากสดตำพอก
แก้คัน แก้หิด และโรคผิวหนังต่างๆ ใช้ผลแห้งบดเป็นผง ใช้โรยแผลแก้คันหรือทำเป็นขี้ผึ้ง ใช้ทาแก้หิดและโรคผิวหนังต่างๆ
ประโยชน์ทางอาหาร
ส่วนที่เป็นผักตามฤดูกาล ยอดอ่อน ใบอ่อน และผลอ่อน ใช้รับประทานเป็นผักออกยอดในฤดูฝน การปรุงอาหาร คนไทยทุกภาครับประทานมะระเป็นผัก ไม่นิยมรับประทานสด เพราะมีรสขม โดยเฉพาะผล จะขมมาก วิธีปรุงอาหาร โดยการนึ่ง หรือลวกให้สุกก่อน และรับประทานเป็นผักจิ้ม ร่วมกับน้ำพริก หรือป่นปลาของชาวอีสาน หรืออาจนำไปผัด หรือแกงร่วมกับผักอื่นก็ได้ การนำผลมะระไปปรุงเป็นอาหารอื่น เช่น ผัดกับไข่ เป็นต้น นิยมต้มน้ำ และเทน้ำทิ้ง 1 ครั้ง ก่อน หรืออาจใช้วิธีคั้นกับน้ำเกลือ เพื่อลดรสขมก่อนก็ได้
สรรพคุณในตำรายาไทยช่วยเจริญอาหาร ใช้เนื้อของผลที่ยังไม่สุกใช้เป็นอาหาร ผักจิ้ม ต้ม แกง
รักษาเบาหวาน ใช้ผลโตเต็มที่ หั่นเนื้อมะระตากแห้ง ชงน้ำ รับประทานต่างน้ำชา
แก้ไข้ ผลต้มรับประทานแต่น้ำเป็นยาแก้ไข้ หรือ ดื่มน้ำคั้นจากผล
ปากเปื่อย ปากเป็นขุย น้ำคั้นจากผลใช้อม
บำรุงระดู ดื่มน้ำคั้นจากผล(สุนทรี สิงหบุตรา. 2535.)
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาฤทธิ์การลดน้ำตาลในเลือด มีการวิจัยในสัตว์ทดลองโดยใช้สารสกัดด้วย 95 % แอลกอฮอล์ สารสกัดด้วยน้ำ น้ำคั้น และยาชงจากผล พบว่าให้ผลลดน้ำตาลในเลือดได้
สารสำคัญที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้แก่ โพลีเปปไทด์ พี และ ชาร์แรนติน ฤทธิ์การต้านเชื้อ HIV โปรตีน MRK 29 (หรือ TBGP 29) ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีน้ำหนักโมเลกุล 28.6 กิโลดัลตัน
แยกได้จากผลและเมล็ดของมะระขี้นก MRK 29 มีคุณสมบัติในการยับยั้งเอ็นไซม์รีเวอร์ทรานสคริปเทศะ (
HIV-1 reverse transcriptase) ในหลอดทดลองที่ความเข้มข้น 18 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ลำดับของกรดอะมิโนในโปรตีน MRK 29 ต่างกับ โปรตีน MAP 30 (โปรตีน MAP 30 เป็นโปรตีนที่สกัดได้จากมะระจีนในต่างประเทศ ที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อ HIV โดยยับยั้งเอ็นไซม์รีเวอร์ทรานสคริปเทส (HIV-1 reverse transcriptase) และ ยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์อินทีเกรส (HIV-integrase) นอกจากนี้สารกลัยโคโปรตีนที่ชื่อ มอมอร์ชาริน ซึ่งแยกได้จากเมล็ดของมะระจีนในต่างประเทศเช่นกัน
มีคุณสมบัติทำให้ระดับ HIV antigen ในเซลล์ที่ติดเชื้อ HIV ต่ำลง และยังมีผลในการลดจำนวนเซลล์ที่ติดเชื้อ)
ฤทธิ์ต้านมะเร็ง สารกลุ่มอนุพันธ์ของไอโซพรีนอยด์มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง
ข้อมูลทางคลินิกในผู้ป่วยติดเชื้อ HIV (ประสบการณ์จากผู้ป่วยที่ใช้สารสกัดจากมะระจีนในต่างประเทศ)
ประสบการณ์ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV พบว่าการใช้น้ำคั้นหรือน้ำต้มจากใบหรือผลสดสวนทวารพบว่าค่า CD4 เพิ่มขึ้นจาก 480 เป็น 1060 และ CD4/CD8 เพิ่มขึ้น จาก 0.91 เป็น 1.54 และต่อมาพบว่าการตรวจ P24 antigen จากเลือดให้ผลลบ (เวลาในการสังเกตผลประมาณ 2-3 ปี) อาการข้างเคียงที่พบคือ ร้อนวูบวาบทันทีหลังจากสวนทวาร อึดอัดแน่นท้องถ้าสวนทวารไม่ถูกวิธี การใช้ก่อนนอนอาจทำให้นอนไม่หลับ
การเตรียมโปรตีนจากมะระขี้นกใช้เองใช้เมล็ดจากผลสุกประมาณ 70 เมล็ด เอาเนื้อเยื่อสีแดงที่หุ้มเมล็ดออก ล้างให้สะอาด ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ กระเทาะเปลือกเมล็ด แล้วนำเนื้อสีขาวที่กระเทาะเปลือกออกแล้วมาล้างน้ำ เติมน้ำหรือน้ำเกลือแช่เย็น 90-100 ซีซี ปั่นในเครื่องปั่นจนได้น้ำสีขาวข้น จากนั้นก็กรองด้วยผ้าขาวบาง 2-3 ชั้น นำน้ำที่กรองได้สวนทวารครั้งละ 10 ซีซี ทุกขั้นตอนควรทำในสภาวะที่เย็นเพื่อป้องกันการสลายตัวของโปรตีน(คมสัน หุตะแพทย์.2543.)
ความเป็นพิษ ได้มีการศึกษาความเป็นพิษของสารสกัดโปรตีนอย่างหยาบจากมะระขี้นกพบว่าค่า LD50 (ขนาดสารที่ทำให้สัตว์ทดลองตายไปครึ่งหนึ่ง) มีค่าเท่ากับ 0.88 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
เมื่อฉีดเข้าเส้นเลือดในหนูเอกสารอ้างอิง ณิชกุล บุญนิช2545.
สัมมนาพืชศาสตร์
http://www.geocities.com/psplant/ps_seminar_Nichakul.htm ดารณี ศุภรีรารักษ์. 2544. สมุนไพรไทย : มะระ. เทคโนโลยี. 22:19-21.
ทศพร แจ้จรัส. 2531. ผักฤดูร้อน. เคยูบุ๊ค เซ็นเตอร์, กรุงเทพฯ. 206 น.
นันทวัน บุญยะประภัศ. 2542. สมุนไพรไม้พื้นบ้าน (3). บริษัทประชาชน, กรุงเทพฯ. 823 น.
ไมตรี สุทธิจิตต์. 2542. ผักพื้นบ้านและอาหารพื้นบ้านต้านโรคเอดส์ ; รวบรวมบทความการสัมมนา
วิชาการ เรื่องผักพื้นบ้านและอาหารพื้นเมือง.องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก,กรุงเทพฯ.316น.
เมืองทอง ทวนศรี. 2525. สวนผัก. กลุ่มหนังสือเกษตร, กรุงเทพฯ. 324 น.
สถาบันการแพทย์แผนไทย.2540. ผักพื้นบ้านความหมายและภูมิปัญญาของสามัญชนไทย. พิมพ์
ครั้งที่ 2.องค์การสังเคราะห์ทหารผ่านศึก,กรุงเทพฯ.266 น.
สถาบันการแพทย์แผนไทย. 2541. ผักพื้นบ้านภาคอีสาน. องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก, กรุงเทพ ฯ . 302 น.
สุนทรี สิงหบุตรา. 2535. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. บริษัทคุณ 39 จำกัด, กรุงเทพฯ. 260 น.
แสงไทย เค้าภูไท. 2544. เกษตรพัฒนา. บริษัทออฟเซ็ทเพรส จำกัด, นนทบุรี. 86 น.
เต็ม สมิตินันท์. 2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ กรุงเทพ. หน้า 364.
นันทวัน บุณยะประภัศร. 2536. มะระกับการรักษาเบาหวาน. จุลสารข้อมูลสมุนไพร. 10 (2) : 1-7.
ปัทมา สุนทรศารทูล. 2541. มะระขี้นก. จุลสารข้อมูลสมุนไพร. 15 (2) : 6-10.
ปัทมา สุนทรศารทูล. 2542. มะระ ความเกี่ยวข้องกับเชื้อ เอช ไอ วี. จุลสารข้อมูลสมุนไพร. 17 (1) : 12-15
กรมส่งเสริมการเกษตร,คำแนะนำเรื่อง การปลูกผัก
กรมส่งเสริมการเกษตร,คำแนะนำเรื่อง มะระจีน
ตระกาลศักดิ์มณีภาค,มูลนิธิ,ความรู้เรื่องการปลูกผักฉบับปรับปรุงใหม่,สำนักส่งเสริม และ ฝึกอบรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,
นิตยสารฐานเกษตรรม,กองบรรณาธิการ, รวมเรื่องผัก, สำนักพิมพ์ “ฐาน เกษตรกรรม” พ.ศ. 2549.
ภาควิชาพืชศาสตร์, หลักการผลิตผัก, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2525.
กองส่งเสริมพืชสวน กรมส่งเสริมการเกษตร, กระทรวงเกษตร ผักพื้นบ้าน. กรุงเทพฯ:มปป.
อภิชาติ ศรีสอาด.ผักสวนครัว ผักพื้นบ้าน.กรุงเทพฯ:นานาสาส์น, 2543.
คมสัน หุตะแพทย์. ผักสวนครัวความสุขที่คุณปลูกได้. กรุงเทพฯ:ฐานการพิมพ์,2543.
รุ่งรัตน์ เหลืองนทีเทพ.2540.พืชเครื่องเทศและสมุนไพร.พิมพ์ครั้งที่ 1.โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์ กรุงเทพฯ.
***************
นางสาวรอฮานา ปูตะ
คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา
:http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-4/herb/33.html