ผู้เขียน หัวข้อ: จิตเห็นจิต  (อ่าน 2022 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
จิตเห็นจิต
« เมื่อ: ธันวาคม 28, 2015, 07:51:57 pm »
จิตเห็นจิต  จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง คืออะไร?
        จิตเห็นจิต หรือก็คือสติเห็นจิตนั่นเอง พอที่จะจำแนกออกได้เป็น ๒ ลักษณะคือ

๑. สติเห็นจิต จิตที่หมายถึงจิตตสังขารเช่นความคิด,นึก  หรือเจตสิกอันคืออาการของจิตต่างๆนั่นเอง ซึ่งก็คือจิตตานุปัสสนานั่นเอง

๒. บางทีก็จัดกันโดยทั่วไปอีกด้วยว่า จิตเห็นเวทนา คือสติเห็นเวทนาหรือเวทนานุปัสสนานั่นเอง ก็เป็นอาการหนึ่งของจิตเห็นจิตด้วยก็ได้  เพราะเวทนาคือสุข,ทุกข์,ไม่สุขไม่ทกข์ ก็เป็นอาการหนึ่งของจิตด้วยเช่นกัน

        ดังนั้นจิตเห็นจิต โดยโลกุตระแล้ว จึงมิได้หมายความถึง การเห็นจิตเป็นดวง  เป็นแสง  เป็นโอภาส  หรือเห็นเป็นเจตภูต  เป็นวิญญาณหรือปฏิสนธิวิญญาณ  หรือแม้แต่รูปนิมิตต่างๆแต่อย่างใด,  จิตเห็นจิตจึงมีความหมายว่าจิตมีสติระลึกรู้เท่าทันที่ประกอบด้วยปัญญาในเวทนาหรือจิตตสังขาร,  จิตเห็นจิตเป็นมรรค คือเป็นหลักการปฏิบัติที่ดีงามยิ่ง ที่เรียกกันโดยทั่วไปในการปฏิบัติวิปัสสนาทั้งของเวทนานุปัสสนาและจิตตานุปัสสนาก็ได้นั่นเอง

        การเห็นจิตเป็นดวง มักเกิดขึ้นจากการเข้าใจผิดที่เรียกจิตในลักษณะนามว่า ดวง  เหมือนดั่งการเรียกช้างเป็นเชือก มีดเป็นเล่ม, เมื่อปฏิบัติ ความเข้าใจผิดก็มักแอบเลื่อนไหลเข้าไปแฝงโดยไม่รู้ตัว  ไปพยายามเพ่งหรือคิดไปว่าจิตเป็นดวง จนในที่สุดเกิดนิมิตและปรุงแต่งว่าจิตเป็นดวง ดั่งดวงดาวขึ้นจริงๆ

        เวทนานุปัสสนา เป็นอาการที่จิตหรือสติเห็นเวทนาอันคือความรู้สึก(Feeling) เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเฉยๆ ที่ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดาด้วยเป็นอนัตตาไม่ใช่ตนไม่ใช่ของตัวตนจึงควบคุมบังคับไม่ได้  ดังนั้นเมื่อเกิดการผัสสะต่างๆ แม้แต่เหล่าความคิดคือธรรมารมณ์,  และเห็นที่หมายถึงการระลึกรู้เท่าทัน   ดังนั้นเวทนานุปัสสนาจึงหมายถึง การที่จิตหรือสติระลึกรู้เท่าทันในเวทนาต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งภายในแลภายนอก แล้วประกอบด้วยการอุเบกขาหรือการไม่ยึดมั่นด้วยปัญญาเข้าใจดีอย่างแจ่มแจ้งว่า สักแต่ว่าเวทนา คือ สักแต่ว่าเป็นเช่นนั้นเองเป็นธรรมดาหรือตถตา กล่าวคือ เมื่อเกิดการผัสสะขึ้น ย่อมเกิดเวทนาคือความรู้สึกรับรู้ในอารมณ์ เป็นสุข เป็นทุกข์ หรืออทุกขมสุขเวทนา อย่างใดอย่างหนึ่งต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา  ด้วยปัญญาจึงไม่สมควรไปยึดมั่นเพราะย่อมเกิดขึ้นดั่งนี้เป็นธรรมดา

        ส่วนจิตตานุปัสสนา เป็นอาการที่จิตหรือสติเห็นคือระลึกรู้เท่าทันจิต จิตที่หมายถึงจิตตสังขารหรือเจตสิกต่างๆที่เกิดขึ้นและเป็นไปทั้งภายในแลภายนอก เช่น จิตมีราคะ(จิตหรือจิตตสังขารหรือความคิดที่ประกอบด้วยราคะ),ไม่มีราคะ   จิตมีโทสะ,ไม่มีโทสะ   จิตมีโมหะ,ไม่มีโมหะ ฯ  จิตเห็นความคิดฟุ้งซ่านหรือความคิดปรุงแต่งฯ  จิตเห็นจิตที่มีอาการหดหู่ฯ  จิตมีสมาธิ ฯ. กล่าวคือเหล่าโลภะ โทสะ โมหะ คือ โลภ โกรธ หลง ฯลฯ.เหล่านี้นั้น ล้วนเกิดขึ้นได้ต้องประกอบด้วยความคิดความนึกที่ประกอบด้วยโลภ โกรธ หลง  เพราะโลภ โกรธ หลง ไม่สามารถอยู่แต่เดี่ยวๆได้  ดังนั้นด้วยสติที่รู้เท่าทัน ประกอบด้วยปัญญาญาณจากการหยั่งรู้อย่างแจ่มแจ้ง จึงหยุดการปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านเสีย  เมื่อปราศจากจิตตสังขารคือความคิดนึกปรุงแต่งแล้ว เหล่าโลภะ โทสะ โมหะ ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ ก็เนื่องจากเหล่ากิเลสคือราคะ โทสะ โมหะ ฯลฯ ล้วนต่างต้องมีจิตคือจิตตสังขารเป็นเครื่องอาศัยนั่นเอง อุปมาดั่งเห็บหมัดที่ต้องอาศัยสุนัขเป็นเรือนอยู่นั่นเอง  เมื่อไม่มีเหล่าสุนัขคือแหล่งเกาะอาศัยเสียแล้ว เห็บหมัดเหล่านั้นย่อมต้องหายคือดับไปเป็นที่สุด

        ปัญหาที่นักปฏิบัติสงสัยกังวลกันก็คือ แล้วควรปฏิบัติจิตเห็นจิตในลักษณะใดกัน  จึงได้ผลดีที่สุด
        ความจริงแล้วทั้ง ๒ ต่างล้วนถูกต้องดีงามด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น  ล้วนเป็นหลักปฏิบัติสำคัญในสติปัฏฐาน ๔  ที่จำเป็นต้องรู้เข้าใจและปฏิบัติทั้ง ๒  แต่ความชำนาญย่อมแตกต่างกันออกไปตามจริต สติ สมาธิ ปัญญา การสั่งสมปฏิบัติของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ   ดังนั้นความชำนาญหรือวสีจึงย่อมแตกต่างกันออกไปบ้างเป็นธรรมดา  แต่ก็ควรศึกษาและปฏิบัติในจิตเห็นจิต ทั้ง ๒ ลักษณะ  เหตุเพราะว่าบางขณะแลบางบุคคล เมื่อปฏิบัติหรือดำเนินอยู่ในชีวิตประจำวัน  อาจสังเกตุเห็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นคือเวทนาเป็นสุขเป็นทุกข์ได้ชัดเจนในเรื่องบางประการที่เกิดขึ้น  ส่วนในบางเรื่องหรือบางขณะก็สังเกตุเห็นเจตสิกคืออาการของจิตเช่นความคิดฟุ้งซ่านได้ชัดง่ายกว่า  จึงไม่เป็นหลักตายตัวในการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน  จึงขึ้นอยู่กับจิตหรือสติจักเห็นอะไรได้ดีกว่ากันเป็นสำคัญ

        ดังนั้นในการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน จิตเห็นเวทนาหรือจิตสังขารอันใดก่อนก็ย่อมได้ ด้วยให้ผลที่ดียิ่งเหมือนกัน  แต่ล้วนต้องประกอบด้วยความไม่ยึดมั่นหมายมั่น ดังที่กล่าวแสดงไว้ในท้ายทุกบททุกตอนในมหาสติปัฏฐานสูตร หรือก็คืออาการอุเบกขาเสียนั่นเองเป็นสำคัญอีกด้วย  ดังนั้นนักปฏิบัติที่จิตเห็นจิตได้แจ่มแจ้งชัดเจนดีแล้ว แต่ลืมการอุเบกขาประกอบการปฏิบัติด้วย ย่อมได้ผลไม่บริบูรณ์เต็มที่นั่นเอง

        เมื่อกล่าวถึงจิตเห็นจิต  ก็สมควรกล่าวถึงจิตเห็นกาย ซึ่งก็คือกายานุปัสสนา คือการที่จิตหรือสติเช่นกันระลึกรู้เท่าทันในกาย ดังที่ได้กล่าวไว้โดยละเอียดแล้วในสติปัฏฐาน ๔ หรือในมหาสติปัฏฐานสูตร เช่น ลมหายใจอันเป็นสังขารปรุงแต่งขึ้นมาอย่างหนึ่งของกาย การเคลื่อนไหว(อิริยาบถ) ความเป็นปฏิกูลไม่งามของกาย ฯ. อันเป็นที่อยู่ของจิตหรือสติอันดียิ่งอีกอย่างหนึ่ง กล่าวคือจิตหรือสติย่อมไม่ดำริ(คิด)พล่านออกไปปรุงแต่งหาเรื่องราวให้เกิดการผัสสะอันเป็นทุกข์ขึ้น  และยังเห็นในความไม่เที่ยง ไม่งามเป็นปฏิกูลของกายในแบบต่างๆอีกด้วย  ที่ย่อมยังให้เกิดนิพพิทาญาณเป็นที่สุดดังจิตเห็นจิตข้างต้นเช่นเดียวกัน

        ส่วนจิตเห็นธรรมหรือธัมมานุปัสสนา ก็คือการที่จิตหรือสติเห็นธรรม คือข้อธรรมอันเป็นสภาวธรรมต่างๆด้วยความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง อันย่อมเป็นเครื่องอยู่เครื่องอาศัยของจิตอันดีเลิศ ไม่ดำริพล่านออกไปภายนอกคือปรุงแต่ง  ทั้งยังให้เกิดปัญญาญาณความรู้ความเข้าใจอันแจ่มแจ้งขึ้นเป็นลำดับ เป็นที่สุด

        เมื่อกล่าวถึงการปฏิบัติในชีวิตประจำวันของทั้ง ๔ ก็เป็นเฉกเช่นเดียวกับจิตเห็นจิตดังข้างต้น กล่าวคือต่างก็ล้วนดีงาม ล้วนเป็นไปเพื่อยังประโยชน์เพื่อนิพพิทาญาณ เพื่อการปล่อยวางกันทั้งสิ้น  ดังนั้นเมื่อจิตหรือสติระลึกรู้ใน กาย เวทนา จิต ธรรม ใดๆก็เป็นการปฏิบัติที่ดี ที่ถูก ที่ควรทั้งสิ้น

        ส่วนเคล็ดลับของการปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ หมายถึงขณะศึกษาปฏิบัติแบบเต็มรูปแบบ  ล้วนอยู่ที่การมีสติเป็นสำคัญ  จึงไม่ใช่การพยายามปฏิบัติให้เป็นสมาธิหรือฌานในระดับประณีตแต่อย่างใด  เพียงแต่อาจเกิดขึ้นบ้างเป็นธรรมดาเมื่อสติอ่อนเลื่อนไหลไปลงภวังค์ หรืออาจเข้าสู่ฌานสมาธิในระดับที่ละเอียดประณีตแต่ย่อมไม่อาจเจริญวิปัสสนาได้   จึงพึงตั้งกายตรง ดำรงสติให้มั่น ก็เพื่อมิให้เลื่อนไหลขาดสติไปลงภวังค์ิ หรือมิให้ง่วงงุนได้ง่ายๆนั่นเอง   และอาการตามดูหรือรู้ลมหายใจอย่างมีสตินั้น เช่นหายใจเข้ายาว ก็รู้ว่าเข้ายาว  ออกสั้นก็รู้ว่าออกสั้น หรือหยุดก็รู้ว่าหยุด ฯ. ดีกว่าการบริกรรมล้วนๆ เพราะสติที่เฝ้าติดตามทำหน้าที่อย่างดียิ่งย่อมได้ทั้งสติและสัมมาสมาธิคือจิตตั้งมั่น ย่อมทำให้ไม่ง่วงงุนจนเลื่อนไหลไปลงภวังค์ได้ง่ายๆอีกเช่นกันนั่นเอง   ดังนั้นวิธีการต่างๆในการปฏิบัติที่แตกต่างกันไปตามครูบาอาจารย์นั้น ถ้าถูกต้องล้วนก็คืืออุบายวิธีเพื่อให้มีสติตั้งมั่น ที่ย่อมได้สมาธิเป็นผลพลอยได้อีกด้วย,   

        พึงระลึกว่าสติปัฏฐาน ๔  แท้จริงแล้ว
        เป็นการอบรมจิต ให้มีสติตั้งมั่น คือสติที่ประกอบด้วยสัมมาสมาธิ ๑
        เมื่อประกอบด้วยสติตั้งมั่นดีแล้ว  ก็ย่อมเหมาะแก่การใช้งานคือการเจริญวิปัสสนาในธรรม  อันย่อมเป็นเครื่องหนุนให้เกิดปัญญา ๑
        สติปัฏฐาน ๔ จึงเป็นสมถวิปัสสนาอันดีเลิศ คือประกอบด้วยทั้ง สติ สมาธิ(สัมมาสมาธิ) และปัญญา

        ดังนั้นสติปัฎฐาน ๔ จึงเป็นการอบรมจิตให้มีสติให้ตั้งมั่น  แล้วยังประกอบด้วยการใช้สติที่ย่อมระงับแล้วซึ่งความดำริพล่านไม่ส่งออกไปฟุ้งซ่านปรุงแต่ง เป็นบาทฐานไปในการเจริญวิปัสสนาในธรรมให้เกิดปัญญาญาณ    ธรรมใดเล่า?  ก็กาย เวทนา จิต หรือธรรมใดๆ ที่ถูกต้อง ถูกจริต ดังเช่นที่แสดงไว้บ้างแล้วในธัมมานุปัสสนาบ้าง เช่น อริยสัจ ๔ ขันธ์ ๕ พระไตรลักษณ์ ฯ. หรือเป็นธรรมอื่นๆเช่น ปฏิจจสมุปบาท ฯ.   ส่วนในการปฏิบัติในการดำเนินในชีวิตประจำวัน นั้นก็เช่นกัน มีสติละความดำริพล่านแล้ว ก็มีสติหรือจิตเห็นกาย หรือเวทนา หรือจิต หรือธรรม อยู่เนืองๆในชีวิตประจำวันนั้นๆนั่นเอง แล้วประกอบด้วยการไม่ยึดมั่นถื่อมั่น ด้วยการอุเบกขาเป็นกลางวางทีเฉย ที่หมายถึง รู้สึกเป็นสุขหรือทุกข์อย่างไรไม่สำคัญเป็นไปตามธรรมหรือตามผัสสะที่เกิดขึ้นของมันเป็นธรรมดา  แต่ต้องไม่เอนเอียงเข้าไปแทรกแซง ด้วยถ้อยคิด หรือกริยาจิตใดๆในเรื่องนั้นๆ  แม้แต่การ เอ๊ะ  อ๊ะ

        แล้วเอ๊ะ อ๊ะ คืออะไร?  บางครั้งแลดูราวกับว่าไม่ได้เกิดธรรมารมณ์พวกฟุ้งซ่านหรือปรุงแต่งขึ้น  แต่การคิดเล็กน้อยแม้ดั่งการเอ๊ะ อ๊ะ ใดๆในจิตดังกล่าว แม้แลดูเหมือนว่าไม่มีโทษภัย  แต่ความจริงแล้วจิตแฝงด้วยความหมายอยู่ในที เพียงแต่ไม่เห็นจิตหรือกริยาของจิตนั่นเอง  การเอ๊ะอ๊ะจึงเป็นกริยาจิต เป็นธรรมารมณ์พวกความคิดฟุ้งซ่านหรือปรุงแต่งอย่างหนึ่งนั่นเอง  จึงย่อมยังให้เกิดการผัสสะเป็นสุขเป็นทุกข์ขึ้นได้เป็นธรรมดา ดังเช่น

        เอ๊ะ! (ทำไมถึงเป็นอย่างนี้  ไม่เป็นอย่างนั้นตามใจปรารถนา)
        เอ๊ะ! (ไม่น่าเลย)
        เอ๊ะ! (ทำไมถึงทำอย่างนี้กับฉันได้)
        อ๊ะ! (ต้องอย่างนี้สิ)

        ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวครอบคลุมว่า หยุดแทรกแซงด้วยทั้งถ้อยคิด แม้กริยาจิตดังเช่นการเอ๊ะอ๊ะดังกล่าว   และไม่ใช่หมายถึงการต้องหยุดคิดทั้งปวง   คิดเรื่องอื่นได้แต่อย่าให้เป็นพวกความคิดชนิดฟุ้งซ่านหรือปรุงแต่งไปให้เกิดทุกข์  เช่นคิดพิจารณาในธรรมคือเห็นจิตที่เกิดขึ้นนี้  หรือคิดเรื่องกิจหรืองานใดๆอันควร ฯ.

        กล่าวโดยรวมแล้ว การมีสติหรือจิต อยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดในธรรมทั้ง ๔ ย่อมล้วนยังให้จิตหยุดการฟุ้งซ่านออกไปปรุงแต่งต่างๆให้เกิดสุขทุกข์  แต่อยู่ในธรรมทั้ง ๔  ที่เมื่อสั่งสมย่อมยังให้เกิดสติแก่กล้าและถาวรขึ้นเป็นลำดับ  และเมื่อไม่ฟุ้งซ่านจิตย่อมสงบระงับเหมาะแก่การพิจารณาธรรมคือเจริญวิปัสสนาให้เกิดปัญญาเป็นที่สุด

        สติแก่กล้าและถาวร ที่หมายถึง ระลึกรู้ได้เร็ว อยู่เสมอๆ  สตินั้นก็เหมือนสังขารทั้งปวง เกิดดับๆๆ อยู่เสมอ กล่าวคือเมื่อเกิดการผัสสะขึ้นก็เกิดการระลึกรู้เท่าทันขึ้นเสมอๆ อันเกิดขึ้นจากการปฏิบัติสั่งสมนั่นเอง   หรือก็คืออาการของมหาสตินั่นเอง

กระดานธรรม๓
http://www.nkgen.com/243.htm