ผู้เขียน หัวข้อ: สีลัพพตปรามาส - สีลัพพตุปาทาน ที่ชาวพุทธควรรู้  (อ่าน 1187 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

สีลัพพตปรามาส - สีลัพพตุปาทาน ที่ชาวพุทธควรรู้
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

จะแสดงพระเถราธิบายแห่งพระสารีบุตรเรื่องสัมมาทิฏฐิ ซึ่งถึงข้อที่ท่านพระสารีบุตรเถระได้แสดงอธิบายสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ว่าคือ รู้จักอุปาทาน รู้จักเหตุเกิดขึ้นแห่งอุปาทาน รู้จักความดับอุปาทาน รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอุปาทาน และข้อแรกรู้จักอุปาทานนั้น ท่านได้แสดงยกเอาอุปาทาน ๔ ขึ้นมา ได้แสดงไปแล้ว ๒ ข้อ จะแสดงข้อที่ ๓ คือสีลัพพัตตุปาทาน ความยึดถือศีลและวัตร หรือศีลและพรต

ศีลวัตรในพุทธศาสนา

คำว่า ศีลวัตร ประกอบด้วยคำ ๒ คำ คือ ศีล คำหนึ่ง และ วัตร อีกคำหนึ่ง ศีล นั้นก็ได้แก่ความประพฤติ หรือข้อที่ประพฤติ วัตร นั้นก็ได้แก่ข้อที่ปฏิบัติ บางทีเรียกว่า พรต ดังคำว่าบำเพ็ญพรต พรตก็มาจากวัตรข้อที่ปฏิบัตินี้เอง ทั้งสองคำนี้เป็นคำที่ใช้คู่กัน ศีลความประพฤติ หรือข้อที่ประพฤตินั้น ถ้าเป็นศีลในทางพุทธศาสนาก็แสดงเป็นข้อที่พึงเว้น ดังศีล ๕ ก็ได้แก่เว้นจากภัยเวร ๕ ข้อ ดั่งนี้เป็นต้น และเมื่อมาถึงปาติโมกขสังวรศีล ศีลในพระปาติโมกข์สำหรับภิกษุ ก็มีทั้งข้อห้าม และข้อที่อนุญาต ข้อห้ามก็คือข้อที่บัญญัติห้ามมิให้กระทำ ห้ามการกระทำ เมื่อไปล่วงละเมิดกระทำเข้าก็ต้องอาบัติ หนัก ปานกลาง หรือเบา ตามพระบัญญัตินั้นๆ และก็มีข้อที่ทรงอนุญาตให้ทำ ที่เรียกว่าข้ออนุญาต คือที่ทรงสั่งให้กระทำ หากไม่ทำตามทรงสั่งให้ทำ ก็ต้องอาบัติอีกเหมือนกัน แต่ว่าศีลทั่วไป ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ก็แสดงในทางเป็นข้อห้าม คือให้งดเว้น วัตรนั้นได้แก่การปฏิบัติ ความปฏิบัติ หรือข้อที่ปฏิบัติ ดังเช่นข้อที่เกี่ยวแก่ข้อที่พึงปฏิบัติต่างๆ ยกตัวอย่างสำหรับภิกษุบริษัท ก็เช่น อุปัชฌายวัตร อาจาริยวัตร ข้อที่ สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก พึงปฏิบัติต่อพระอุปัชฌาย์อาจารย์ และข้อที่พึงปฏิบัติต่างๆ เหล่านี้เรียกว่าวัตร

ศีลวัตรนอกพุทธศาสนา
ศีลและวัตรนี้ได้มีมาแก่บุคคลผู้ยึดถืออยู่ในศีลและวัตรทั้งหลาย ตั้งแต่เก่าก่อนพุทธกาล ดังเช่นศีลและวัตรของผู้บวชเป็นฤๅษีดาบส เมื่อถือลัทธิบูชาไฟ ก็ทำการบูชาไฟ คือก่อกองไฟขึ้น ฤๅษีดาบสทั้งปวงก็มีศีลคือข้อที่ประพฤติ หรือความประพฤติ ที่งดเว้นจากการกระทำบางอย่าง และมีวัตรคือข้อที่พึงปฏิบัติ ดังเช่นบูชาไฟดังกล่าวนั้น ดั่งนี้ก็เป็นศีลและวัตรของฤๅษีดาบสทั้งหลาย นอกจากนี้ยังมีศีลและวัตรของศาสดาทั้งหลายภายนอกพุทธศาสนา ดังเช่นที่แสดงไว้ในคัมภีร์พุทธศาสนา ถึงศาสดาภายนอกพุทธศาสนา ที่เรียกว่าศาสดา ๖ จำพวก ซึ่งต่างก็ได้สั่งสอนศีลและวัตร แก่สาวกทั้งหลายของตน ในทางต่างๆกัน แม้ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงทางสุดโต่ง ๒ ทาง ที่บรรพชิตผู้มุ่งจะตรัสรู้ไม่ควรที่จะส้องเสพปฏิบัติ คือ กามสุขัลลิกานุโยค ความประกอบตนด้วยความสุขสดชื่นในทางกาม และ อัตตกิลมถานุโยค ความปฏิบัติทรมานตนให้ลำบาก คือทำทุกรกิริยาต่างๆ เหล่านี้ก็ชื่อว่าเป็นศีลและวัตร ซึ่งศาสดาในภายนอกพุทธศาสนาสั่งสอนกัน

โควัตร สุนัขวัตร
และนอกจากนี้ ก็ยังมีผู้ที่ยึดถือปฏิบัติในศีลและวัตร ที่แปลกๆ ไปจากนี้ ดังที่มีแสดงเล่าไว้ในคัมภีร์พุทธศาสนา อันเรียกว่า โควัตร สุนัขวัตร โควัตรก็คือว่าถือปฏิบัติอย่างโค สุนัขวัตรก็คือว่าถือปฏิบัติอย่างสุนัข เป็นต้นว่า ผู้ที่ยึดถือปฏิบัติในโควัตร สุนัขวัตร ก็ใช้เดินสี่ขาแบบสุนัข แบบโค ทำกิริยาอาการ ทำเสียง และบริโภคแบบสุนัข แบบโค เหล่านี้เรียกว่าโควัตร สุนัขวัตร ในครั้งพุทธกาลถือศีลและวัตรกันแบบนี้ก็ยังมี แล้วก็มีแสดงเล่าว่า บางคนที่ถือโควัตร สุนัขวัตร ได้กราบทูลถามพระพุทธเจ้า ว่าเมื่อปฏิบัติในศีลและวัตรแบบสุนัขแบบโค สิ้นชีวิตไปจะไปเกิดเป็นอะไร พระพุทธเจ้าก็ตรัสตอบว่า ก็ไปเกิดเป็นสุนัข ไปเกิดเป็นโค นั่นแหละ ดั่งนี้ เหล่านี้เป็นศีลและวัตรในภายนอกพุทธศาสนา ซึ่งมีอยู่มากมาย ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงเว้นมาโดยลำดับ สำหรับศีลวัตรที่เป็นชั้นหยาบ ก็ได้ทรงเว้นเสียทีเดียวไม่ทรงทดลอง

ศีลวัตรที่พระพุทธเจ้าทรงทดลองปฏิบัติ
แต่ในบางอย่างได้ทรงทดลองปฏิบัติ ดังเช่นที่ทรงเข้าศึกษาในสำนักของพระดาบสทั้งสอง คืออาฬารดาบสและอุทกดาบส ซึ่งสั่งสอนศีลและวัตรเพื่อสมาบัติ ๗ สมาบัติ ๘ ซึ่งก็นับว่าเป็นศีลและวัตรทางสมาธิอันละเอียดปราณีต แต่ว่าก็ยังประกอบด้วยอุปาทาน คือความยึดถือในศีลและวัตรที่ปฏิบัติ คือในสมาบัติ ๗ ในสมาบัติ ๘ เพื่อไปเกิดเป็นพรหม ก็คือว่าเพื่อภพเพื่อชาติ ยังไม่พ้นจากภพจากชาติ จึงยังไม่พ้นจากทุกข์

เพราะฉะนั้น จึงได้ทรงลาออกจากสำนักของท่านอาจารย์ทั้งสอง ก็ไปทรงทดลองประพฤติปฏิบัติศีลและวัตรที่เป็นทุกรกิริยาทรมานพระกาย ให้ลำบากด้วยวิธีต่างๆ จนถึงอย่างยิ่งยวด แล้วในที่สุดก็ทรงเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ ไม่ให้เกิดปัญญาที่จะตรัสรู้ธรรมะได้ จึงได้ทรงเลิก และได้ทรงหวนถึงสมาธิจิตที่ทรงได้เมื่อเป็นพระกุมารเล็กๆ ตามเสด็จพระพุทธบิดาไปในพระราชพิธีแรกนาขวัญ พระกุมารน้อยได้ประทับพักอยู่ที่ใต้ร่มไม้ ในขณะที่ราชบิดาทรงประกอบพระราชพิธี จิตของพระองค์ก็รวมเข้า ที่ท่านแสดงว่ากำหนดลมหายใจเข้าออก ทรงได้ปฐมฌาน แต่ว่าฌานที่ทรงได้ครั้งนั้นก็เสื่อมไป ทรงระลึกได้จึงทรงเห็นว่าสมาธิที่ทรงได้อย่างบริสุทธิ์เมื่อครั้งเป็นพระกุมารนั้น จะพึงเป็นทางแห่งความตรัสรู้ได้ จึงทรงจับทำสมาธิ ที่ท่านแสดงว่า ทรงกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นอานาปานสติ ซึ่งเป็นสมาธิอย่างบริสุทธิ์ ไม่ยึดถือเพื่ออะไร ครั้นทรงได้สมาธิจนถึงขั้นฌานแล้ว ก็ได้ทรงน้อมจิตที่เป็นสมาธินี้ไปเพื่อรู้ จึงทรงได้พระญาณทั้ง ๓ อันได้แก่บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความหยั่งรู้ระลึกชาติในปางก่อนได้ จุตูปปาตญาณ ความหยั่งรู้จุติคือความเคลื่อน และอุปบัติความเข้าถึงชาตินั้นๆ ว่าเป็นไปตามกรรม และอาสวักขยญาณ ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

ตามพุทธประวัติที่แสดงนี้ก็จะพึงเห็นได้ว่า ในที่สุดพระโพธิสัตว์ที่จะตรัสเป็นพระพุทธเจ้านั้น ก็ไปทรงได้พระองค์เองเป็นอาจารย์ คือพระองค์เองเมื่อเป็นพระกุมารเล็กๆ ซึ่งได้สมาธิจนถึงปฐมฌานในพระราชพิธีแรกนาขวัญ ที่เล่ามานั้น ก็พระกุมารเล็กๆ คือพระองค์นั่นแหละ เป็นอาจารย์ของพระองค์เอง เมื่อทรงแสวงหาทางแห่งความตรัสรู้ ก็โดยที่จิตของพระกุมารเล็กๆ นี้ เป็นจิตที่บริสุทธิ์ ยังไม่มีตัณหาคือความอยากในอะไร ทั้งที่เป็นส่วนกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา และเมื่อได้นั่งอยู่เฉยๆ ประทับนั่งอยู่เฉยๆ ครั้นองค์พระกุมารเล็กๆนั่งประทับรออยู่เฉยๆ และก็ไม่ได้มีตัณหาคือความอยากในอะไร ลมหายใจเข้าออกของพระองค์จึงปรากฏแก่จิต จิตก็จับกำหนด ก็ได้ปฐมฌานอย่างบริสุทธิ์ ปราศจากตัณหาคือความอยาก ว่าจะไปเป็นพรหมเป็นเทพ หรือไปเป็นอะไร ตามวิสัยของจิตของเด็กๆเล็กๆ ซึ่งเมื่อเป็นผู้ใหญ่ขึ้นแล้ว จิตที่จะบริสุทธิ์เหมือนอย่างเด็กเล็กๆ ดั่งนี้หายากเข้า เพราะเมื่อรู้เดียงสามากขึ้น ตัณหาคือความอยากต่างๆ ก็มากขึ้น

ข้อปฏิบัติที่พึงนึกถึง
เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะมาปฏิบัติธรรมะ เช่นว่าออกบวชเป็นฤๅษีชีไพร หรือออกบวชในลัทธิใดลัทธิหนึ่ง ก็ล้วนแต่ออกบวชด้วยตัณหา คือต้องการเกิดเป็นนั่นเกิดเป็นนี่ ต้องการได้นั่นได้นี่ แต่ว่ายังมิได้หวนรู้จักว่าเพื่อดับกิเลส เพื่อดับตัณหา ไม่รู้จักที่จะทำจิตให้เป็นอุเบกขาคือวางเฉย ล้วนแต่เป็นไปเพื่อผลที่ต้องการ ตามคำสอนของอาจารย์นั้นๆ หรือตามลัทธิของอาจารย์นั้นๆ ฉะนั้นจิตจึงไม่บริสุทธิ์เหมือนอย่างเด็กที่ยังไม่เดียงสาอะไรนัก

เพราะฉะนั้น ภาวะของจิตที่บริสุทธิ์ อย่างจิตเด็กที่ไม่เดียงสาอะไรนักนี้ เป็นข้อที่แม้ผู้ใหญ่เองที่ต้องการปฏิบัติธรรมะ ก็พึงนึกถึง และพึงใช้ปฏิบัติ ว่าจะต้องทำจิตให้เหมือนอย่างนั้น พระพุทธเจ้าเองก็ทรงได้องค์เอง เมื่อทรงเป็นพระกุมารน้อยๆ นี้เป็นอาจารย์จริงๆ และก็ทรงนำเอาวิธีของอาจารย์น้อยๆ คือพระองค์เองเมื่อเป็นเด็กนั้นมาทรงปฏิบัติต่อ โดยทรงทำจิตให้บริสุทธิ์ คือปฏิบัติทำสมาธิไป ให้จิตรวมเข้าโดยไม่ต้องการอะไร ไม่ต้องการเพื่ออยากเกิดเป็นโน่นเป็นนี่อะไร แม้ว่าจะมีความต้องการอยู่ ก็ต้องการเพื่อที่จะได้ตรัสรู้ ต้องการที่จะพ้นทุกข์ ซึ่งก็เป็นตัณหาอย่างละเอียดอย่างหนึ่งเหมือนกัน แต่แม้เช่นนั้นก็เป็นสิ่งที่ต้องอาศัย เพื่อละเสีย

ดังที่ท่านพระอานนท์ได้แสดงอธิบาย คือตามหลักที่ว่า อาศัยตัณหาละตัณหาเสีย ซึ่งท่านพระอานนท์ได้แสดงอธิบายไว้ว่า ก็คือคิดว่าไฉนจึงจะได้ทำทุกข์นี้ให้สิ้นไป และปฏิบัติทำทุกข์ให้สิ้นไป ดั่งนี้เรียกว่าอาศัยตัณหาละตัณหา พูดตรงๆ ก็คือว่าอยากที่จะสิ้นทุกข์ จึงปฏิบัติเพื่อสิ้นทุกข์ แต่ว่าในที่สุด เวลาที่จะสิ้นทุกข์ ก็ต้องละตัณหาอย่างละเอียดนี้เสียเหมือนกัน ถ้าไม่เช่นนั้นก็ถึงความสิ้นทุกข์ไม่ได้ ดังเช่นที่ได้เคยแสดงแล้ว ก็คือองค์ของท่านพระอานนท์เอง ที่ท่านยังเป็นเสขะบุคคล คือยังเป็นพระโสดาบัน ยังไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ จนถึงวันที่จะทำปฐมสังคายนา บรรดาพระเถระที่จะเข้าประชุมทำปฐมสังคายนานั้น ท่านพระมหากัสสปะเถระผู้เป็นประธาน ได้เลือกพระเถระที่เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด เว้นแต่ท่านพระอานนท์องค์เดียวที่ยังเป็นเสขะบุคคล แต่ว่าท่านพระมหากัสสปะเถระก็เลือกพระอานนท์เข้า เพราะเป็นผู้ที่ได้ทรงธรรมทรงวินัย คือจำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้เป็นอย่างดีเลิศ อันจะขาดท่านเสียมิได้ เมื่อถึงวันที่จะทำปฐมสังคายนา ท่านพระมหากัสสปะก็เตือนท่านพระอานนท์ ว่าให้บำเพ็ญสมณะธรรมด้วยความไม่ประมาท ท่านพระอานนท์ก็ได้บำเพ็ญสมณะธรรมอย่างยิ่งยวด

เมื่อท่านทำไปในราตรีที่รุ่งขึ้นจะเป็นวันเริ่มทำปฐมสังคายนานั้น ท่านก็ยังไม่บรรลุถึงธรรมะสูงสุด ท่านจึงคิดว่าจะพัก จึงได้เอนองค์ลงเพื่อจะพัก ในขณะที่เอนองค์ลง ยังไม่ถึงอิริยาบถที่เรียกว่านอนอย่างเต็มที่ และก็มิใช่อิริยาบถที่นั่งอย่างเต็มที่ คือในขณะที่เอนองค์ลงนั้น จิตของท่านก็พ้นจากอาสวะทั้งสิ้น คือสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ซึ่งเรื่องนี้ท่านได้แสดงอธิบายกันมาว่า ท่านพระอานนท์นั้นท่านได้ปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ หรือที่เรียกว่าสมณะธรรมนั้นมาอย่างสมบูรณ์ แต่เพราะยังมีตัณหาคือความอยากที่จะสำเร็จ อันตัณหานี้เองเป็นเครื่องกั้นมิให้จิตหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเป็นพระอรหันต์ได้ จนท่านคิดว่าจะพัก จึงเอนองค์ลงเพื่อพัก ซึ่งความคิดที่จะพักนั้นเป็นความวางตัณหา พอท่านวางตัณหาเสียได้ คือตัณหาที่ต้องการสำเร็จ จิตของท่านก็พ้นจากอาสวะทันที ดั่งนี้ เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะอาศัยตัณหาเพื่อละตัณหา แต่ก็ต้องวางตัณหาจึงจะละตัณหาได้ ถ้ายังไม่วางตัณหา ก็ยังละตัณหาไม่ได้ จิตก็พ้นจากอาสวะไม่ได้ สำเร็จไม่ได้ ต้องวางตัณหา จึงจะละตัณหา จิตจึงจะพ้นจากอาสวะกิเลสได้

แม้ศีลวัตรในพุทธศาสนาก็เป็นสีลัพพตุปาทาน
เพราะฉะนั้น ตามที่กล่าวมานี้ ก็ได้แสดงถึงศีลและวัตรในภายนอกพุทธศาสนา และแม้ในพุทธศาสนาก็มีศีลและวัตร คือศีลที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ประพฤติ และวัตรคือข้อปฏิบัติต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ปฏิบัติ ซึ่งแม้ศีลและวัตรในพุทธศาสนานี้เอง ถ้าหากว่ายังประพฤติปฏิบัติด้วยตัณหา ก็ชื่อว่ายังเป็นสีลัพพตุปาทาน คือความยึดถือศีลและวัตร

สีลัพพตปรามาส
และได้มีคำเรียกอีกคำหนึ่งว่า สีลัพตปรามาส ความยึดถือลูบคลำศีลและวัตร ในสังโยชณ์ ๑๐ แต่ว่าสีลัพพตปรามาสนี้ ซึ่งมีอาการเป็นความยึดถือ เช่นเดียวกับสีลัพพัตตุปาทาน แต่ว่าหยาบกว่า และในการอธิบายสีลัพพตปรามาสก็อธิบายคล้ายคลึงกันกับสีลัพพัตตุปาทาน คือศีลและวัตรในคำว่าสีลัพพตปรามาสในสังโยชน์ ๑๐ นั้น ก็หมายถึงศีลวัตรในภายนอกพุทธศาสนา ตลอดจนถึงศีลและวัตรในพุทธศาสนาเอง คือเมื่อละศีลและวัตรในภายนอกพุทธศาสนาแล้ว มาปฏิบัติศีลและวัตรในพุทธศาสนา เมื่อปฏิบัติด้วยตัณหาก็ชื่อว่ายังเป็นสีลัพพตปรามาส แต่ว่าใช้คำว่าปรามาสนี้แรงกว่าคำว่าอุปาทาน คือหมายความว่าต้องลูบคลำ คือต้องจับเอาไว้ ถ้าไม่จับเอาไว้ ศีลและวัตรก็จะขาดเป็นท่อน เป็นช่อง ด่างพร้อย ดังเช่นศีล ๕ สมาทานศีล ๕ รักษาศีล ๕ ก็จะต้องจับยึดรักษาเอาไว้ ถ้าไม่เช่นนั้นศีล ๕ ก็จะขาดเป็นท่อนเป็นช่องด่างพร้อย คือจะต้องรักษากันอย่างกวดขัน ต้องจับต้องยึดกันไว้ เหมือนอย่างการรักษาศีล ๕ ของสามัญชนทั้งหลาย เพราะยังมีสักกายทิฏฐิ ความเห็นยึดถือว่าตัวเราของเราเป็นอย่างแรง เพราะฉะนั้นความประพฤติจึงเป็นไปตามอำนาจของตัวเราของเรา ก็คือตามอำนาจของกิเลสตัณหาทั้งหลาย

เหตุให้ต้องสมาทานศีล
ฉะนั้น จึงปรากฏว่าคนสามัญทั่วไปนั้น ไม่อาจที่จะรักษาศีล ๕ ไว้โดยไม่ให้ขาดเป็นท่อน ไม่ให้ทะลุเป็นช่อง ไม่ให้ด่าง ไม่ให้พร้อย กันตลอดไปได้ ต้องมีขาด ต้องมีต่อกันอยู่เรื่อยๆ ดังจะพึงเห็นได้ว่าต้องมีการสมาทานกันอยู่เสมอ ทั้งนี้ก็เพราะว่าจิตสามัญยังเป็นไปตามอำนาจของกิเลสตัณหาอยู่เป็นอันมาก จนกว่าจะละสักกายทิฏฐิด้วยการเห็นธรรมะ อันเป็นธรรมจักษุได้ จึงจะไม่ต้องคอยยึดศีลและวัตรไว้

ศีลของพระโสดาบัน
เพราะฉะนั้น จึงมีแสดงว่าพระโสดาบันบุคคลนั้นมีศีล ๕ บังเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเอง และพระโสดาบันนั้นไม่มีที่จะละเมิด ที่จะล่วงศีล ๕ โดยที่พระโสดาบันไม่ต้องรักษา ไม่ต้องคอยจับคอยยึด แปลว่าปล่อยจับปล่อยยึดได้ ก็มีศีล ๕ ขึ้นมาเอง โดยที่จะไม่ละเมิดเลย เป็นธรรมชาติธรรมดาของพระโสดาบัน เพราะฉะนั้น พระโสดาบันจึงละสังโยชน์ได้ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ ความเห็นยึดถือว่ากายของเรา คือเห็นยึดถือว่าตัวเราของเราซึ่งเป็นอย่างแรง ละสีลัพพตปรามาส ความลูบคลำคือจับยึดศีลและวัตรเอาไว้ และ วิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงสงสัยในพระรัตนตรัย เพราะเห็นธรรมะที่เป็นตัวสัมมาทิฏฐิแล้ว เพราะฉะนั้น พระโสดาบันจึงละสังโยชน์ทั้ง ๓ ได้ดังกล่าว ก็เป็นอันว่า สำหรับสีลัพพตปรามาสนั้น ละได้ด้วยโสดาปฏิมรรค แต่แม้เช่นนั้นก็ยังมีสีลัพพตุปาทาน คือความยึดถือในศีลและวัตรอยู่ เป็นอย่างละเอียด เหมือนอย่างท่านพระอานนท์ ท่านเป็นพระโสดาบัน ท่านละสีลัพพตปรามาสได้ แต่ว่ายังมีตัณหาที่จะตรัสรู้ ก็ชื่อว่ายังมีสีลัพพัตตุปาทานอยู่ จนท่านวาง และเมื่อท่านวาง จิตของท่านก็วิมุติหลุดพ้น จากอาสวะทั้งสิ้นทันที ดั่งนี้

สีลัพพตุปาทานนี้จึงมีใจความที่คลุมอุปาทานคือความยึดถือทั้งหมด แม้ว่าเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี คือท่านละมาได้โดยลำดับ แต่ว่าก็ยังละอุปาทานที่เป็นอย่างละเอียดไม่ได้ จนกว่าจะเป็นพระอรหันต์จึงละได้หมด เพราะฉะนั้น สีลัพพตุปาทานนี้จึงมีความที่คลุมไปได้ทั้งหมด คลุมๆ สีลัพพตปรามาสด้วย แต่ว่าสีลัพพตปรามาสนั้นเป็นอย่างหยาบดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ส่วนสีลัพพตุปาทานนี้คลุมได้หมด

ทางปฏิบัตติอันถูกชอบ
ฉะนั้น สีลัพพตุปาทานดังกล่าวมานี้ ก็มิใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนจะพากันละพากันทิ้งได้ หรือเป็นสิ่งที่เป็นของไม่ดี จำเป็นที่จะต้องแบ่งตามภูมิตามชั้น กล่าวคือถ้าเป็นศีลและวัตรในภายนอกพุทธศาสนา อันเป็นศีลและวัตรที่ผิดต่างๆ นั่นก็เป็นอันว่าผู้นับถือพุทธศาสนา ก็ต้องละต้องเว้นไปโดยลำดับ และมาถึงศีลและวัตรในพุทธศาสนาเอง ก็จะต้องละต้องเว้นเหมือนกัน แต่ว่าก่อนที่จะละจะเว้นก็ต้องสมาทาน คือต้องรับถือปฏิบัติก่อน และจะต้องอาศัยตัณหาเพื่อละตัณหาดังกล่าวมานั้น คือยังจะต้องมีสีลัพพตปรามาส สีลัพพตุปาทาน อยู่ในการปฏิบัติมาโดยลำดับ แต่ว่าก็ยึดและปล่อยไปเป็นขั้นๆ เหมือนอย่างคนเดินขึ้นบันไดซึ่งมีหลายขั้น ก็ต้องขึ้นไปทีละขั้น และขั้นที่กำลังขึ้นอยู่นั้น ก็จะต้องเหยียบอยู่บนบันไดทั้งสองเท้าในขั้นนั้น ดั่งนี้เรียกว่ายังมีสีลัพพตปรามาสสีลัพพตุปาทานอยู่ในขั้นนั้น แต่ว่าที่จะก้าวขึ้นขั้นต่อไปนั้น ก็จะต้องละขั้นที่กำลังยืนอยู่นั้น ก้าวขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง คือว่าปล่อยขั้นที่กำลังยืนอยู่ทีแรกนั้น ถ้าหากว่าไม่ปล่อยขั้นที่กำลังยืนอยู่ทีแรกนั้น ยังคงยืนอยู่ในขั้นเดิมนั่นแหละ ก็แปลว่าก้าวขึ้นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องปล่อยขั้นที่ ๑ ก้าวขึ้นไปสู่ขั้นที่ ๒ ก็จะต้องยึดขั้นที่ ๒ ทรงตัวอยู่ในขั้นที่ ๒ แล้วก็ปล่อย เดินขึ้นไปเป็นขั้นๆ ดั่งนี้ จึงจะขึ้นสูงขึ้นไปได้โดยลำดับ จนถึงขั้นสุดท้ายแล้วก็เป็นอันว่าปล่อยได้หมด ดั่งนี้

เพราะฉะนั้น ในทางพุทธศาสนาที่แสดงธรรมะอันละเอียดนี้ จึงไม่ใช่หมายความว่า ข้อที่แสดงนั้นเป็นสิ่งที่มีโทษ ต้องละเสียหมดตั้งแต่เบื้องต้น ถ้าละเสียหมดตั้งแต่เบื้องต้นแล้ว ก็เป็นอันว่าปฏิบัติอะไรไม่ได้ เหมือนอย่างว่ามีบันได ก็เป็นอันว่าขึ้นบันไดกันไม่ได้ เพราะขึ้นบันไดแล้วก็จะต้องเหยียบขึ้นไปทีละขั้น ถ้าสอนว่าอย่าให้เหยียบ เหยียบแล้วไปยึด อย่างนี้ก็เป็นอันว่าไม่ต้องขึ้นบันไดกัน แล้วเป็นอันว่าก้าวขึ้นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็จะต้องยึด จะต้องปล่อย ไปโดยลำดับดั่งนี้ ให้เป็นขั้นๆ ไป นี้กล่าวในข้อที่เป็นข้อที่พึงปฏิบัติ คือเป็นทางปฏิบัติอันถูกชอบ แต่ว่าถ้าเป็นทางปฏิบัติอันไม่ถูกไม่ชอบแล้วก็ต้องปล่อยเสียทีเดียว ไม่ต้องไปทดลองก่อน เช่นว่าเว้นจากการฆ่า มีเมตตากรุณา ก็ไม่ต้องไปทดลองฆ่าเสียก่อนแล้วจึงเว้น ละเสียทีเดียว แต่ในข้อที่พึงปฏิบัตินั้น ก็ให้ปฏิบัติไป แล้วก็ต้องก้าวขึ้นไปเป็นขั้นๆ ดังกล่าวมานี้ ดั่งนี้เป็นอธิบายในสีลัพพตุปาทาน ความยึดถือศีลและวัตร

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

Credit by:
http://www.dharma-gateway.com/monk/prea ... sd-082.htm



42529.สีลัพพตปรามาส - สีลัพพตุปาทาน (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)
44772.e-Book สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ
พระไตรปิฎกมาแล้ว อรรถกถาอยู่ตรงไหน ตอนที่ 1 (ลานธรรมเสวนา)
พระไตรปิฎกมาแล้ว อรรถกถาอยู่ตรงไหน ตอนที่ 2(ลานธรรมเสวนา)
41592.เรียนถาม สัมมัปปธาน 4 คืออะไรครับ
:http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=41592
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 21, 2013, 08:41:07 pm โดย ฐิตา »