ผู้เขียน หัวข้อ: ๑๐๐ พระชันษา สมเด็จพระญาณสังวร และเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระองค์ท่าน  (อ่าน 2120 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


สมเด็จพระญาณสังวร  สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

ประวัติศาสตร์แห่งสยาม
๑๐๐ พระชันษา สมเด็จพระญาณสังวร

นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์แห่งคณะสงฆ์ไทย และในประวัติศาสตร์แห่งสยามที่ในปี ๒๕๕๖ นี้  สมเด็จพระสังฆราช องค์พระประมุขแห่งสังฆมณฑลสยาม  ทรงเจริญพระชันษายาวนานถึง ๑๐๐ ปี

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้นคือ เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (สุวฑฺฒโน เจริญ คชวัตร)  ซึ่งประสูติเมื่อวันศุกร์ที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๖

ในอดีตที่ผ่านมา สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ทรงเจริญพระชันษาถึง ๙๐ ปี มี ๔ พระองค์คือ
๑. สมเด็จพระสังฆราช (สุก  ญาณสังวร)  พระองค์ที่ ๔  พระชันษา ๙๐ ปี
๒. สมเด็จพระสังฆราช (นาค)  พระองค์ที่ ๖  พระชันษา ๙๑ ปี
๓.สมเด็จพระสังฆราช (อยู่  ญาโณทโย)  พระองค์ที่ ๑๕  พระชันษา ๙๑ ปี  และ
๔. สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์  วาสโน)  พระองค์ที่ ๑๘  พระชันษา ๙๒ ปี

ส่วนเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร  สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ปัจจุบัน ทรงเจริญพระชันษาครบ ๑๐๐ ปี ในวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ นี้  จึงทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกที่เจริญพระชันษายาวนานที่สุดแห่งยุคกรุงรัตนโกสินทร์  ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในอดีต 

จึงนับเป็นพระเกียรติคุณของพระองค์ท่านในด้านอายุ  ซึ่งทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นพรอย่างหนึ่ง  ดังปรากฏในคาถาอนุโมทนาว่า จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ  ความว่า ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณ สุข พล ย่อมเจริญ (แก่ผู้อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่)



ส่วนในเรื่องพระนาม “สมเด็จพระญาณสังวร” นั้น  เป็นราชทินนามพิเศษ สืบเนื่องมาแต่ราชทินนามที่พระญาณสังวรเถร ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้น  สำหรับพระราชทานตั้งพระอาจารย์สุก วัดท่าหอย  ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของพระองค์มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่ทรงอาราธนาให้มาอยู่จำพรรษาที่วัดพลับ  แล้วทรงตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระญาณสังวรเถร  ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอารามถวายใหม่ติดกับวัดพลับ พระราชทานนามว่า วัดราชสิทธาราม

คำว่า ญาณสังวร นั้น เป็นคุณธรรมข้อหนึ่ง ในหมวดธรรม สังวร ๕   ได้แก่ ศีลสังวร  สำรวมในศีล  สติสังวร  สำรวมด้วยสติ   ญาณสังวร สำรวมด้วยญาณ  ขันติสังวร  สำรวมด้วยขันติ และ วิริยสังวร  สำรวมด้วยความเพียร

คำว่า สังวร หรือ สำรวม นั้น เป็นคุณลักษณะของพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เคร่งครัดในธรรมวินัย และปฏิบัติอบรมจิตหรือทำสมาธิกรรมฐาน เป็นอย่างดีจนมีคุณวิเศษ

พระญาณสังวร (สุก)  เป็นพระมหาเถระที่ทรงเกียรติคุณทางวิปัสสนาธุระ หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า พระกรรมฐาน   เป็นที่ทรงเคารพนับถือของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นอย่างยิ่ง  จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้งราชทินนามพิเศษ ที่มีความหมายสื่อถึงเกียรติคุณทางวิปัสสนาของท่านว่า พระญาณสังวรเถร  แปลความว่า พระเถระผู้ทรงคุณ หรือ ญาณสังวร (สังวรในญาณ หรือ สังวรด้วยญาณ)   ท่านเจริญเมตตาภาวนา ทำให้ไก่ป่าเชื่องเป็นไก่บ้านได้  เป็นเหตุให้ชาวบ้านเรียกขานพระองค์ว่า พระสังฆราชไก่เถื่อน

พระญาณสังวร (สุก) นอกจากจะเป็นพระอาจารย์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแล้ว ยังเป็นพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ด้วย  เมื่อถึงรัชกาลที่ ๒  จึงทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา พระญาณสังวรเถร เป็น สมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร  เพื่อเป็นการยกย่องประกาศเกียรติคุณด้านวิปัสสนาธุระของท่านให้ปรากฏแพร่หลายยิ่งขึ้น

ครั้นสมเด็จพระสังฆราช (มี) สิ้นพระชนม์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๒  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา  สมเด็จพระญาณสังวร (สุก)  เป็น สมเด็จพระอริยวงษาสังฆาราชาธิบดี ที่สมเด็จพระสังฆราช  จึงนับเป็นพระมหาเถระฝ่ายอรัญวาสี หรือ พระกรรมฐาน รูปแรกที่ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆราช  ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน  เพราะตามประเพณีที่มีมานั้น  พระมหาเถรที่จะได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น  ล้วนเป็นพระมหาเถระฝ่ายคันถธุระ หรือ พระมหาเถระผู้รอบรู้ทางปริยัติ ทั้งสิ้น

หลังจาก สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๒ แล้ว  ราชทินนามที่สมเด็จพระญาณสังวร ก็มิได้พระราชทานสถาปนาพระเถระรูปใดอีก 

จนกระทั่งถึงรัชกาลปัจจุบัน  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา พระสาสนโสภณ (สุวฑฺฒโน  เจริญ คชวัตร) ในตำแหน่งที่ สมเด็จพระญาณสังวร อีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕  หากนับย้อนหลังไปถึง พ.ศ. ๒๓๖๒ ก็เป็นเวลายาวนานถึง ๑๕๓ ปี  ราชทินนามที่ สมเด็จพระญาณสังวร จึงได้กลับมาปรากฏในสังฆมณฑลสยามอีกวาระหนึ่ง  อันนับได้ว่าเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งในพระประวัติของเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

สำหรับราชทินนามที่จะสถาปนา พระสาสนโสภณ เป็นสมเด็จพระราชาคณะนั้น มหาเถรสมาคมและคณะรัฐบาลได้เสนอราชทินนามใหม่ประกอบพระราชดำริหลายนาม เช่น สมเด็จพระวชิราภรณ์  สมเด็จพระญาณวราภรณ์   แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรด พระราชทานสถาปนาในราชทินนามว่า สมเด็จพระญาณสังวร

ทั้งนี้ ย่อมแสดงว่า พระเกียรติคุณด้านวิปัสสนาธุระของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ นั้น  ได้เป็นที่ประจักษ์ต่อพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาตั้งครั้งทรงเป็นพระสาสนโสภณแล้ว  ฉะนั้น เมื่อถึงคราวที่จะทรงประกาศพระเกียรติคุณด้านนี้ให้ปรากฏต่อปวงชน จึงทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาในราชทินนาม สมเด็จพระญาณสังวร  อันเป็นเสมือนประกาศนียบัตรที่พระมหากษัตริย์ยาธิราชเจ้าในอดีตได้เคยพระราชทานแด่พระมหาเถรผู้ทรงคุณด้านนี้มาแล้วในอดีตนั่นเอง


ข้อมูลย่อสรุปและเรียบเรียงขึ้นใหม่ จาก :-
    “พระชันษา ๑๐๐ ปี พระสังฆราชาแห่งสยาม (ตอน ๑)
: หนังสือมติชนรายสัปดาห์ ฉบับที่๑๗๐๗ ประจำวันที่ ๓-๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๖

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

ที่มาของ พระนาม
หรือราชทินนามสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช

ในอดีตล่วงมาไม่ปรากฏว่า พระนามหรือราชทินนามในตำแหน่ง “สมเด็จพระสังฆราช” มีมาอย่างไร  จนมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย  จึงพบหลักฐานพออนุมานได้ว่า พระนามหรือราชทินนาม สำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช คือ สมเด็จพระอริยวงษา

สมเด็จพระอริยวงษา ซึ่งเป็นนามที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติยศแด่ พระอริยมุนี ที่เป็นพระเถระรูปหนึ่งที่ไปช่วยฟื้นฟูสมณวงศ์ขึ้นในลังกาทวีป  ในคราวเดียวกับพระพรหมมุนี (ซึ่งมรณภาพในลังกาทวีป)  จนเกิดพระสงฆ์สยามวงศ์ขึ้นในลังกาทวีป

เมื่อพระอริยมุนี กลับจากลังกาทวีปสู่กรุงศรีอยุธยา ท่านได้รับแต่งตั้งเป็น สมเด็จพระสังฆราช ในราชทินนามดังกล่าว

มาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น  พระนามว่าสมเด็จพระอริยวงษา  ได้รับการแก้ไขเป็น สมเด็จพระอริยวงษญาณ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดฯ แก้ไขเป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ และได้ใช้เป็นราชทินนามสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชสืบมาจนถึงปัจจุบัน

ก่อนรัชกาลที่ ๔ ขึ้นไป ยังไม่เคยมีเจ้านายได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช  ฉะนั้น พระมหาเถระที่ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชจึงล้วนแต่เป็นสามัญชน  และมีพระนามเหมือนกันทุกพระองค์คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ

มาในรัชกาลที่ ๔  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถวายมหาสมณุตมาภิเษก (คือ การสถาปนา) พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นนุชิตชิโนรส เป็น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ที่สมเด็จพระสังฆราช  เป็นครั้งแรก  ดังนั้น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส จึงเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช  และมิได้ทรงสถาปนาในราชทินนามว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
 
ถึงรัชกาลที่ ๖  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา เปลี่ยนคำหน้าพระนาม จาก กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส  เป็น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส  ซึ่งได้แบบอย่างการสถาปนาเจ้านายในตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราช มาจากครั้งรัชกาลที่ ๕ ทรงถวายมหาสมณุตมาภิเษก แด่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์

 

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

ต่อมา ทรงถวายมหาสมณุตมาภิเษกแด่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และทรงสถาปนา พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (ถึงรัชกาลที่ ๗ ทรงพระกรุณาโปรดเลื่อนพระอิสริยยศเป็น กรมหลวง)  และในรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช เป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

ฉะนั้น จึงสรุปได้ว่า  เจ้านายที่ได้รับพระราชทานสถาปนาในตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราช นั้น มีพระนามจำเพาะแต่ละพระองค์ ส่วนพระเถระทั่วไป (เป็นสามัญชน) ที่ได้รับพระราชทานสถาปนาในตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราชนั้น มีพระนาม หรือราชทินนามเหมือนกันทุกพระองค์ คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ  สมเด็จพระสังฆราช

สำหรับเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ปัจจุบัน นับว่าพิเศษต่างจากสมเด็จพระสังฆราชพระองค์อื่นๆ บางประการ กล่าวคือ ทรงเป็นพระมหาเถระที่มิได้เป็นเจ้านาย  แต่ทรงได้รับพระราชทานสถาปนาในตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราช ในราชทินนามพิเศษเฉพาะพระองค์ คือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช  โดยมิได้สถาปนาในราชทินนาม สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ เหมือนพระองค์อื่นๆ นั้น  คงด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะถวายพระเกียรติยศให้ปรากฏเป็นพิเศษ  ในฐานะที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระอุปการคุณต่อพระองค์ โดยทรงปฏิบัติหน้าที่พระอภิบาล เมื่อครั้งเสด็จออกผนวชเป็นพระภิกษุเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙  จึงทรงถวายพระเกียรติยศให้สมพระราชศรัทธาที่ทรงมีในเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช

อีกเรื่องหนึ่ง ที่น่าจะได้นำมาเล่าสู่กันฟังในที่นี้ คือฤกษ์พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๒ เวลา ๑๗.๒๔ นาฬิกา  อันเป็นเวลาฤกษ์ถวายน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช

ย้อนหลังไป ๒๐๗ ปี วันที่ ๒๑ เมษายน เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นเวลาฤกษ์ลงเสาหลักเมืองกรุงเทพมหานคร  ซึ่งเสาหลักเมืองคือสัญลักษณ์ของความมั่นคงสถาพรของพระมหานคร หรือ  ของบ้านเมือง   ในอดีตที่ผ่านมาไม่ปรากฏมีพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใดที่กำหนดเอาวันที่ ๒๑ เมษายน อันเป็นเวลาฤกษ์ลงเสาหลักเมือง เป็นเวลาฤกษ์สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช

ฉะนั้น การที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดเวลาฤกษ์สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ปัจจุบัน เป็นวันเดียวกับวันฤกษ์ลงเสาหลักเมืองนั้น น่าจะมีนัยว่าทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสถาปนาเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชไว้ในฐานะเป็นเสาหลักแห่งพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ของไทยดุจเป็นเสาหลักของบ้านเมือง  จึงนับว่าเป็นการยกย่องพระเกียรติคุณของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชให้เป็นที่ปรากฏอย่างสูงสุดอีกประการหนึ่ง



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงถวายพัดยศและเครื่องสมณศักดิ์ แด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
ในงานพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสงฆราช (จวน อุฏฺฐายี)

การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชตามโบราณราชประเพณี

พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชตามโบราณราชประเพณี  เมื่อสมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์ พระมหากษัตริย์จะทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ ภายหลังการถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อนเสร็จสิ้นแล้ว  ซึ่งโดยปกติกระทำรวมกับพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา หรือพระราชพิธีฉัตรมงคล สุดแต่ระยะเวลาการสถาปนาจะใกล้กับพระราชพิธีใด

ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน มีพระราชดำริว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงสมณศักดิ์สูงสุด ทรงเป็นสกลมหาสังฆปริณายก ประธานาธิบดีสงฆ์ และทรงเป็นที่เคารพสักการะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ รัฐบาล และพุทธมามกะทั่วไป ทรงเป็นจุดรวมของศรัทธาปสาทะแห่งพุทธบริษัททั้งในและนอกราชอาณาจักร

ด้วยความสำคัญในสมณศักดิ์ประการหนึ่ง และด้วยความเพียบพร้อมในพระราชดำริพิจารณาอีกประการหนึ่ง  จึงสมควรที่จะถวายพระเกียรติยศโดยตั้งการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นพระราชพิธีต่างหากโดยเฉพาะ ไม่รวมอยู่ในการพระราชพิธีอื่นใด และให้มีการจัดทำการพระราชพิธีแตกต่างกว่าก่อน เดิมมีเพียงพนักงานอาลักษณ์ อ่านกระแสพระบรมราชโองการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และถวายพระสุพรรณบัฏ พัดยศ และเครื่องสมณศักดิ์

การถวายพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชคราวนี้ (คือคราวสถาปนา สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) วัดมกุฏกษัตริยาราม) มีพระราชดำริให้ประกาศกระแสพระบรมราชโองการและถวายพระสุพรรณบัฏ พัดยศ และเครื่องสมณศักดิ์ ท่ามกลางมหาสมาคมทั้งฝ่ายพุทธจักรและราชอาณาจักร 

ทางฝ่ายพุทธจักร ประกอบด้วยสมเด็จพระราชาคณะ พระกรรมการ มหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัดทั่วราชอาณาจักร และทางราชอาณาจักรครบทุกสถาบัน นับแต่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ ประธานฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ตลอดจนข้าราชการทั้งมวล เพื่อมหาสมาคมดังกล่าวแล้ว จะได้พร้อมกันอนุโมทนาสาธุการ สมกับที่จะทรงเป็นสกลมหาสังฆปริณายก ทรงปกครองคณะสงฆ์ เป็นที่เชิดชูพระพุทธศาสนาให้ถาวรสืบไป

การพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดขึ้นใหม่ดังกล่าวนี้ ได้มาเกี่ยวโยงกับเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ปัจจุบันก็คือ ในการพระราชพิธีดังกล่าว จะต้องมีผู้แทนคณะสงฆ์กล่าวสังฆานุโมทนาถวายสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่  ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ไม่เคยมีมาก่อน ฉะนั้น ทางราชการจึงกราบอาราธนาเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระสาสนโสภณ ให้นิพนธ์คำกล่าวสังฆานุโมทนาเป็นภาษาบาลี พร้อมคำแปลเป็นภาษาไทย สำหรับให้สมเด็จพระราชาคณะในฐานะผู้แทนคณะสงฆ์อ่านถวายสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ ในการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชสืบไป

สังฆานุโมทนาภาษาบาลีพร้อมคำแปลภาษาไทย มีดังนี้
สุณาตุเมภนฺเต สงฺโฆ, อิทานิโขปเวทิเตน ปรมินฺทสฺส ภูมิพลอตุลเตชสฺส ธมฺมิกมหาราชาธิราชวรสฺส ปรมราชโองฺกาเรน, อริยวํสาคตญาโณ มหาเถโร สยามรฏเฐ สกลมหาสงฺฆปริณายโก สงฺฆราชา ปติฏฐาปิโต, โส มหาราชา ธมฺมิโก ธมฺมราชา อคฺคสาสนูปตฺถมฺภโก, รฏฐปาลาโรจนญฺเจว มหาเถรสมาคเม สงฺฆทสฺ สนญฺจ เอกจฺฉนฺทมเตน สุตาวี, สยมฺปิ โยนิโส อุปฺปริกฺขิตฺวา, ราชาณมนฺวาย พุทฺธสาสนํ อุปตฺถมฺภิตํ สงฺฆราชฏฐปนปฺปกาสนํ กาเรสิ,

สาธุ ภนฺเต สกโล สงฺโฆ อิมญฺจ สงฺฆราชฏฐปิตํ มหาเถรํ อนุโมทตุ สมฺปสีทตุ, สาธุโข ปน สกโล สงฺโฆ สงฺฆราชมหาเถรปฺปธาโน สมคฺโค เอกจฺฉนฺโท หุตวา พุทธสาสเน สพฺพกรณียํ อนุคฺคณฺหาตุ,

อปิจาหํ ภนฺเต อามนฺเตมิ, สกโล สงฺโฆ กลฺยาณจิตฺตํ สมนฺนาหริตฺวา ปรมินฺทสฺส ภูมิพลอตุลเตชสฺส ธมฺมิกมหาราชาธิราชวรสฺส สพฺพวรชยมงฺคลํ อธิฏฐหตุ, โส มหาราชา สราชินีราปุตฺตธีตุ, ราชวํสิโก สามจฺจปริวาโร สสพฺพวสกนิกโร สุขิโต โหตุ อโรโค นิรุปทฺทโว, จิรํ รชฺเช ปติฏฐาตุ

อิโต ปรํ สงฺโฆ อริยวํสาคตญาณสงฺฆราชฏฐปิตสฺส มหาเถรสฺส กลฺยาเณเนว เจตสา อนุโม ทนสชฺฌายนํ กโรตุ

คำแปลสังฆานุโมทนา
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอพระสงฆ์ จงฟังข้าพเจ้า, บัดนี้ได้มีการประกาศพระบรมราชโองการแห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ธรรมิกมหาราชาธิราชเจ้า ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประธานาธิดีสงฆ์ทั่วสยามรัฐราชอาณาจักรแล้ว

สมเด็จพระมหาราชเจ้าทรงตั้งอยู่ในธรรม ทรงเป็นธรรมราชา ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก, ทรงสดับคำกราบบังคมทูลของรัฐบาลและสังฆทัศนะในมหาเถรสมาคม โดยเอกฉันทมติแล้ว ทรงพิจารณาโดยรอบคอบ แม้ด้วยพระองค์เองแล้ว, ทรงอาศัยพระราชอำนาจให้ประกาศสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเพื่ออุปถัมภ์บำรุงพระศาสนา,

ข้าแต่พระผู้เจริญ ขอพระสงฆ์ทั้งปวง จงอนุโมทนาปสาทการ ซึ่งการทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และพระมหาเถระ ผู้ทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชทั้งนี้, และขอพระสงฆ์ทั้งปวง ซึ่งมีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธาน จงมีความสามัคคีพร้อมเพรียงกันเป็นเอกฉันท์ อนุเคราะห์ปฏิบัติกรณียะทั้งปวงในพระพุทธศาสนา,

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อนึ่ง ข้าพเจ้าขอเชิญชวน พระสงฆ์ทั้งปวง จงรวมกัลยาณจิต อธิษฐานถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ธรรมิกมหาราชาธิราชเจ้า, ขอพระองค์จงทรงพระเกษมสำราญ ปราศจากโรคาพาธอุปัทวันตราย พร้อมทั้งสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระราชโอรสธิดา พระราชวงศ์พร้อมทั้งรัฐบาล ข้าราชการ ข้าราชบริพารทุกฝ่าย พสกนิกรทุกหมู่ทุกเหล่า, ขอพระองค์ จงเสด็จสถิตในพระราชสิริราชสมบัติตลอดกาลนาน,

ต่อแต่นี้ ขอพระสงฆ์ได้มีกัลยาณจิต สวดอนุโมทนาถวายพระมหาเถร ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดให้ประกาศสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกแล้ว ณ บัดนี้ เทอญ

สมเด็จพระสังฆราชที่ทรงได้รับสถาปนาตามการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ที่ทรงพระราชดำริให้กำหนดขึ้นใหม่ดังกล่าวนี้เป็นพระองค์แรกก็คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อุฏฐายี จวน สิริสม) วัดมกุฎกษัตริยาราม เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๘ เวลา ๑๖.๐๐ น.


ข้อมูล : “พระชันษา ๑๐๐ ปี พระสังฆราชาแห่งสยาม (ตอน ๒ และ ๓)
: หนังสือมติชนรายสัปดาห์ ฉบับที่๑๗๐๘ -๙ ประจำวันที่ ๑๐-๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๖

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



ความเลิศล้ำและล้ำเลิศ

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก
ทรงเจริญพระชนมายุครบหนึ่งร้อยพรรษา
ในวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ นี้
นับเป็นศุภวาระมงคลยิ่งของปวงชนชาวไทยและพุทธศาสนิกชน
ทั่วโลกอันไม่เคยมีมาก่อน
ที่องค์ประมุขแห่งศาสนาจะเจริญพระชนมายุถึงหนึ่งศตวรรษเช่นนี้

       จำเพาะชาวจังหวัดกาญจนบุรี ถิ่นกำเนิดของสมเด็จฯ ท่านนั้น ต่างล้วนรำลึกในพระบุญญาบารมีเป็นบุญปีติ ทั้งมงคลธรรมและมงคลภูมิ เป็นที่ยิ่ง
       ผมเอง (เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์) นอกจากได้เคยพึ่งใบบุญท่านเป็นส่วนตัวสมัยเรียนอยู่ธรรมศาสตร์แล้ว พ่อผมเองยังได้ทำสายสาแหรกตระกูลวงศ์ไว้ก่อนเสียชีวิต

รายละเอียดคร่าวๆ จำเพาะที่เกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราช มีดังนี้
ต้นตระกูลใหญ่สุด เราเรียกอย่างจีนว่า “ก๋งใหญ่”  ท่านชื่อ “ป๋อย” มีลูกชายสาม หญิงสาม รวมหกคน  ผู้ชายสามคนคือ ๑....ก๋งมาก  ๒. ก๋งจวน  ๓. ก๋งจู  ผู้หญิงสามคนคือ ๔. ยายเช่ง  ๕. ยายทรัพย์  ๖. ยายจิ๋ว

ก๋งมาก มีลูกสี่คน คนที่สามคือ นายแย้ม นายแย้ม มีลูกสาวสามคน คนโตคือ นางอิ่ม
นางอิ่ม มีลูกชายสามคน คนโตคือ นายน้อย

นายน้อย แต่งงานกับ นางกิมน้อย มีลูกสามคน  คนโตคือ พระมหาเจริญ ป.๙ (สมเด็จพระญาณสังวร พระสังฆราชเจ้า) กับมีน้องสองคนคือ นางจำเนียน และนายสุนทร

เหตุที่พ่อผมร่างสายสาแหรกขึ้นก็ด้วย  ยายจิ๋วลูกหญิงคนสุดท้องของก๋งใหญ่ ผู้เป็นน้องสาวคนเล็กของก๋งมาก สายตระกูลสมเด็จฯ ท่านดังกล่าวนั้น  ยายจิ๋วท่านเป็นสายตระกูลสืบมาถึงย่าผม คือ “ย่าแปลก”  พงษ์ไพบูลย์  นั่นเอง

ที่จริง วงศ์วานว่านเครืออันโยงเป็นสายสาแหรกตระกูลวงศ์นี้ มีรายละเอียดสลับซับซ้อนยิ่ง บางสายสาแหรกว่า สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นี้ท่านสืบสายต้นตระกูลมาจากสกุล “ ณ ตะกั่วทุ่ง” ทางใต้โน่น .. น่าจะลองสืบค้นเทียบเคียงดู ชะรอยจะสัมพันธ์ลึกซึ้งสืบสายกันอย่างไร ก็น่าจะเป็นได้ทั้งนั้น

ท่านพระ ดร.อนิล ธมฺมสากิโย (ศากยะ)  ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เล่าเรื่องของสมเด็จฯ ท่านกับโยมแม่ คือนางกิมน้อยว่า
สมัยที่สมเด็จฯ ท่านได้เปรียญเจ็ดประโยคก็ตั้งใจจะสึก  คือ ลาสิกขา  โดยกราบทูลลาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์แล้ว อยู่ในขั้นตอนทำหนังสือลาสิกขาเป็นทางการถึงกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ)

ไม่กี่วันต่อมา ประมาณสองสามวันเท่านั้น ท่านก็ถอนหนังสือขอลาสิกขากลับ คือตัดสินใจ “ไม่สึก” แล้ว
เหตุเป็นดังนี้คือ “โยมกิมน้อย” โยมมารดาท่าน พอทราบข่าวพระลูกชายจะสึกก็เดินทางจากเมืองกาญจน์มาหาที่วัดบวรฯ กรุงเทพฯ ทันที  โยมแม่บอกพระลูกชายว่า “ถ้าคุณมหาจะสึก ดิฉันก็จะผูกคอตาย”

นับแต่นั้น ถึงบัดนี้ พุทธศาสนิกทั่วโลกจึงได้มีสมเด็จพระสังฆราชผู้เจริญในธรรม สมพระฉายา “ญาณสังวร” และทรงเจริญพระชนมายุถึงหนึ่งร้อยพรรษา ณ วันนี้
ถ้าจะมีญาณวิถีใดให้ได้รู้ โยม “กิมน้อย” ก็จะได้รู้แล้วว่า โยมมารดาของสมเด็จฯ ท่านนั้น มี “ลูกชาย” ผู้เป็นมงคลสมบัติล้ำเลอค่าเกินประมาณถึงปานนี้  นี่คือ “ลูกผู้ล้ำเลิศของแม่

อีกเรื่องระหว่างเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่าน กับโยมมารดา “กิมน้อย” คือ
ระหว่างโยมกิมน้อยมาอยู่ที่เรือนน้อยหลังกุฏิสมเด็จฯ ท่าน  เมื่อยามชราภาพมากแล้วนั้น  เนื่องจากโยมกิมน้อยท่านถนัดในงานเย็บปักถักร้อยมาก่อน  จึงหาเศษผ้ามาเย็บด้วยมือ ปะชุนจนเป็นผืนผ้า ถวายเป็นผ้าอาสนะ (ผ้ารองนั่ง) ให้พระลูกชาย กระทั่งโยมมารดาเสียชีวิตแล้ว  สมเด็จฯ ท่านก็ยังใช้เป็นผ้าอาสนะอยู่เสมอ

พระ ดร. อนิล ผู้ช่วยเลขาฯ สมเด็จฯ ท่าน เล่าว่า วันหนึ่ง สมเด็จฯ ท่านเรียกเข้าพบ ให้หาผ้าอาสนะผืนนั้นว่า “หายไปไหน”  ท่านอนิลเคยเห็นอยู่ไม่รู้ความสำคัญ คิดว่าเป็นเศษผ้าขี้ริ้วด้วยซ้ำไป
สมเด็จฯ ท่านถึงกริ้ว บอกว่า “ผ้านี้เป็นของสำคัญของที่นี่ เป็นผ้าที่โยมแม่ทำให้ ที่นี่ คิดถึงโยมแม่ก็ได้กราบผ้าผืนนี้เป็นประจำ
ร้อนถึงท่านอนิลต้องรื้อถังขยะกลางของวัด ก็ไม่พบ

ปรากฏว่า ผ้าผืนนั้นค้นพบซ้อนๆ อยู่ในกองเศษผ้าตรงซอกใต้ที่ประทับของสมเด็จฯ ท่าน นั้นเอง
เวลานี้ ผ้าอาสนะผืนนี้ก็ยังเก็บไว้อย่างดีอยู่ เป็นผ้าปะชุนกว้างราวศอกเศษ ยาวราวสองศอก
สมเด็จฯ ท่านใช้สรรพนามแทนพระองค์ว่า “ที่นี่” กับผู้ใกล้ชิดโดยตลอด  คำนี้มี “นัยยะ” สำคัญลึกซึ้ง
ผ้าอาสนะผืนนี้จึงเป็นผ้ามงคล สะท้อนถึงความผูกพันความเทิดทูนถึง  “แม่ผู้ล้ำเลิศของลูก


คัดจาก : “ความเลิศล้ำและล้ำเลิศ”
โดย อาจารย์ เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์
หน้า ๕๙ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๒๗ ก.ย. - ๓ ต.ค. ๒๕๕๖

กิมเล้ง :http://www.sookjai.com/index.php?topic=63956.msg93272#msg93272

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด











สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ในวาระโอกาสที่เสด็จมาเยือนสวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี
ท่านพุทธทาสภิกขุขอโอกาสกราบเจ้าพระคุณสมเด็จฯ
เนื่องจากท่านพุทธทาสภิกขุมีอายุพรรษาเเก่กว่า
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จึงห้ามไว้ เเต่ท่านพุทธทาสภิกขุก็ไม่ยอม
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จึงได้กราบท่านพุทธทาสภิกขุกลับ




คำถามที่ ๓๔ : เมื่อคราวที่พระอาจารย์พุทธทาสอาพาธหนักนั้น
ฝ่าพระบาทได้เคยไปเยี่ยมท่านอาจารย์พุทธทาสที่ได้ขอละสังขาร
โดยท่านอาจารย์ให้เหตุผลว่า อายุเกินพระพุทธเจ้ามาแล้ว แต่ฝ่าพระบาทได้ขอไว้
หลังจากนั้นอาการของท่านพุทธทาสก็ฟื้นขึ้นมา และมีชีวิตอยู่ต่อมาอีกหลายปี
ขอกราบทูลฝ่าพระบาทเล่าเหตุการณ์ในครั้งนั้น

คำตอบ : เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๒-๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๒
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
เสด็จเยี่ยมภิกษุสามเณรและประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ๕ จังหวัด
คือ สงขลา สตูล ปัตตานี นราธิวาส และยะลา ตามคำกราบทูลอาราธนา
ของศูนย์อำนวยการการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

พระดร.อนิลมาน ธมฺมสากิโย หนึ่งในคณะผู้ติดตามเล่าว่า
ตอนที่เสด็จไปเยี่ยมนั้น ท่านพุทธทาสยังไม่ได้อาพาธหนัก
ยังไม่ได้ล้มหมอนนอนเสื่อ เป็นแต่เพียงเจ็บออดแอด
ยังออกมารับเสด็จได้เป็นชั่วโมง
ท่านพาไปดูโรงมหรสพทางวิญญา ณ ลานหินโค้ง
แล้วก็นำมาเสด็จประทับที่ม้าหินหน้ากุฏิ
ที่ปกติเก้าอี้ม้าหินนั้นท่านอาจารย์พุทธทาสนั่งประจำ

ท่านอาจารย์พุทธทาสทูลสมเด็จพระสังฆราชให้ประทับ
แล้วท่านก็ไม่ยอมนั่ง ท่านพุทธทาสทูลว่า
“ขอประทานกราบสมเด็จพระสังฆราชหน่อยที่อุตส่าห์เสด็จมาเยี่ยมถึงวัด”
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงพยายามห้าม ท่านก็ไม่ยอม แล้วต่างคนก็ต่างกราบ
พอท่านพุทธทาสกราบ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็บอกไม่ได้ๆ ต้องกราบกลับ

ส่วนคำถามที่ว่านั้น ตอบได้ว่า เหมือนกับเวลาไปเยี่ยมคนที่รู้จักกัน
แล้วระหว่างคุยก็ปรารภเรื่องสังขารว่าไม่ไหวแล้ว
แล้วเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็รับสั่งว่า ขออาราธนาใต้เท้าอยู่ก่อนอย่าเพิ่งไป
แต่ว่าคนก็ชอบอธิบายในเชิงอภินิหารไปสักหน่อย

ในวันนั้นมีการคุยเรื่องหนังสือและวิธีสอนของท่านพุทธทาส
มีการคุยเรื่องธรรมะลึกๆ หลายเรื่อง เช่น เรื่องหนังสือมหาสติปัฏฐานสูตร
ซึ่งเจ้าพระคุณสมเด็จฯ รับสั่งว่าเป็นหนังสือที่ดีมาก และทรงใช้บ่อย

หนังสือ ๙๙ คำถามเกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราช
http://www.watbowon.com/



ขณะทรงสนทนากับท่านพุทธทาสภิกขุ ที่สวนโมกขพลาราม
ไก่แจ้ของท่านพุทธทาสภิกขุก็เข้ามาร่วมวงด้วย
ทำให้เจ้าพระคุณสมเด็จฯ แย้มพระสรวล

สาวิกาน้อย :http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=43558&start=15






22



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 03, 2013, 03:29:37 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: สมเด็จพระญาณสังวร ผู้เสด็จไปดีแล้ว
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: ตุลาคม 25, 2013, 08:10:17 am »



ขอน้อมรำลึกถึงพระคุณกรุณา แห่งองค์พระสังฆบิดร
ผู้ทรงมีพระจริยาวัตรที่บริสุทธิ์และงดงาม ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ
ทรงเป็นแบบอย่างแห่งศากยบุตรผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ
ทรงเป็นสังฆประทีปแห่งบวรพระพุทธศาสนาและประเทศชาติไทย
ผู้เสด็จไปดีแล้ว อย่างนั้น
พระวรธรรมคติ อันทรงคุณค่าที่พระองค์ประทานไว้จะยังประโยชน์สันติวรบท
แก่พุทธบริษัทและชาวโลกตราบกาลนาน.

กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมอันใดที่ข้าพระองค์
เคยได้ล่วงเกินทั้งต่อหน้าและลับหลัง
ทั้งที่เจตนาและไม่เจตนาก็ดี ข้าพระองค์ขอขมากรรมอันชั่วช้านั้น
ขอใต้ฝ่าพระบาทได้โปรดทรงอดโทษนั้น
แก่ข้าพระองค์ด้วย เพื่อความเจริญยิ่งขึ้นไปในพระธรรมวินัยนี้ขอรับ

ข้าพระองค์ขอร่วมน้อมส่งใต้ฝ่าพระบาท
สู่พระอมตมหานิพพานบรมสุข
ด้วยความเคารพเทิดทูนสูงสุดยิ่งขอรับ

กราบ กราบ กราบ

Vitsawapat Maneepattamakate

**************************************************





ขอน้อมรำลึกถึงพระคุณกรุณา แห่งองค์พระสังฆบิดร
ผู้ทรงมีพระจริยาวัตรที่บริสุทธิ์และงดงาม ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ
ทรงเป็นแบบอย่างแห่งศากยบุตรผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ
ทรงเป็นสังฆประทีปแห่งบวรพระพุทธศาสนาและประเทศชาติไทย
ผู้เสด็จไปดีแล้ว อย่างนั้น
พระวรธรรมคติ อันทรงคุณค่าที่พระองค์ประทานไว้จะยังประโยชน์สันติวรบท
แก่พุทธบริษัทและชาวโลกตราบกาลนาน.

กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมอันใดที่ข้าพระองค์
เคยได้ล่วงเกินทั้งต่อหน้าและลับหลัง
ทั้งที่เจตนาและไม่เจตนาก็ดี ข้าพระองค์ขอขมากรรมอันชั่วช้านั้น
ขอใต้ฝ่าพระบาทได้โปรดทรงอดโทษนั้น
แก่ข้าพระองค์ด้วย เพื่อความเจริญยิ่งขึ้นไปในพระธรรมวินัยนี้

กราบขอร่วมน้อมส่งใต้ฝ่าพระบาท
สู่พระอมตมหานิพพานบรมสุข
ด้วยความเคารพเทิดทูนสูงสุดยิ่งค่ะ
กราบ กราบ กราบ



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานน้ำหลวงสรงพระศพ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
(เจริญ สุวฑฺฒนมหาเถระ ป.ธ.๙)
สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ณ พระตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร
แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
วันศุกร์ที่ ๒๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖ เวลา ๑๓.๐๐ น.
และทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระศพ
ตั้งแต่วันที่ ๒๕ ถึง ๓๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖ เวลา ๑๙.๐๐ น.
ในพระบรมราชานุเคราะห์ ๗ วัน




"ขอถวายอภิสัมมานสักการะ สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ด้วยเศียรเกล้า"


ขอถวายบุญกุศลทั้งปวงที่บำเพ็ญมาตั้งแต่อดีตชาติ
จนถึงปัจจุบัน ณ วินาทีนี้แด่เจ้าพระคุณฯสมเด็จพระสังฆราช
ขอรวมกุศลทั้งปวง.. เป็นแสงสว่างไสวใสบริสุทธิ์
ถวาย จิต แห่งพระองค์ท่านให้ยิ่งสว่างไสวผ่องแผ้วยิ่งๆขึ้นไป

สิ่งใดทางกาย วาจา ใจที่อาจมีล่วงเกิน ทั้งรู้และไม่รู้ตัว
ข้าพเจ้ากราบขอขมากรรมทั้งหมด
ขอโมทนากุศลทุกสิ่งที่ทรงปฏิบัติมา และจะทรงบำเพ็ญต่อไป
ไม่ว่าจะอยู่ในพระสังขารหรือใดๆ ขอพระรัตนตรัยโปรดชี้นำ
และเปิดทางสว่างให้ข้าพเจ้าขอปฏิบัติธรรม
เดินจิตได้ถูกธรรม เพื่อให้สมเป็นผู้เดินตามรอยธรรม
ของพระผู้ประเสริฐและงดงามพระองค์นี้ด้วยเทอญ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 30, 2013, 06:28:25 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


การกิน การนอน ความกลัวและการสืบพันธุ์
ของคนและดิรัจฉาน เสมอกัน
แต่ธรรมของคนและดิรัจฉานนั้น แปลกกว่ากัน
เว้นจากธรรมเสีย คนก็เสมอกันกับดิรัจฉาน
สมเด็จพระญาณสังวร
.. ..

ความรักผู้อื่น ทำให้หลีกเลี่ยงการทำกรรมไม่ดีได้
.. ..
..
เป็นผู้ใหญ่ก็อย่าทำกรรมไม่ดี เป็นเด็กหรือเป็นหนุ่มสาวก็อย่าทำกรรมไม่ดี
แม้รักตัวเองก็อย่าทำกรรมไม่ดี จงทำแต่กรรมดี
หรือแม้รักพ่อแม่พี่น้องลูกหลาน ก็อย่าทำกรรมไม่ดี ผลไม่ดีที่ผู้ทำได้รับนั้น
จะทำให้บรรดาผู้ที่รักตนพลอยกระทบกระเทือนไปด้วย

ลองนึกถึงใจตนเอง เมื่อเห็นผู้ที่ตนรักทำความไม่ดี แม้ผลไม่ดี ยังไม่ทันปรากฏชัด
ตนก็ไม่สบายใจ ยิ่งเมื่อได้ผลร้ายเกิดขึ้นสนองผู้ทำกรรม
เราผู้มีความผูกพันกับเขา ก็ย่อมเหมือนพลอยได้รับผลร้ายด้วย

อำนาจอันยิ่งใหญ่แห่งกรรม
พระนิพนธ์ในสมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
พระนิพนธ์เพื่อความสวัสดีแห่งชีวิต
และพระคติธรรมเพื่อเป็นแสงส่องใจ

Manoonthum Thachai G+
คัดจากhttp://www.dhammajak.net/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 25, 2015, 04:14:09 pm โดย ฐิตา »