ผู้เขียน หัวข้อ: แผ่เมตตา - จินตนาการ แปรพลังสู่การเยียวยา  (อ่าน 1143 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



      ฉบับที่แล้วกล่าวถึงวิธีการคลายเครียดด้วยลมหายใจตามคำแนะนำของ ดร.จอห์น แมคคอนแนล ซึ่งจะช่วยให้เราหลุดพ้นจากวงจรความคิดความรู้สึกวิตกกังวลอันเป็นสาเหตุของความเครียด เพราะเกิดสติรู้ตัวอยู่กับปัจจุบันขณะ ทำให้จิตใจสงบนิ่ง ผ่องใส มีพลัง สามารถนำสตินั้นมารับรู้ ทำความเข้าใจ และยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น รวมทั้งมองเห็นลู่ทางที่จะทำได้ ณ ขณะนั้นอย่างเป็นจริงมากขึ้น นอกจากนี้ เมื่อจิตนิ่ง มีสติ ความเมตตาจะผุดขึ้นในใจอย่างเป็นธรรมชาติ และเราสามารถนำพลังเมตตานี้มาเยียวยาตัวเองได้อีกด้วย

           ดร.จอห์นแนะนำว่า เราสามารถบ่มเพาะความเมตตาให้เกิดขึ้นในใจได้ด้วยการแผ่เมตตาสม่ำเสมอหลังจากนั่งสมาธิ โดยใช้เวลาประมาณ ๕ - ๑๐ นาที อาจใช้บทสวดแผ่เมตตาทางศาสนาก็ได้ แต่ไม่ควรสวดแบบท่องตามไปเหมือนนกแก้วนกขุนทองโดยไม่ซาบซึ้งกับความหมาย หรือจะคิดคำแผ่เมตตาของตัวเองเพื่อให้ตรงกับความคิดความรู้สึกของเรา ซึ่งคำพูดอาจจะแตกต่างกันไปตามเป้าหมาย วัตถุประสงค์ หรือสิ่งที่เราตั้งใจในแต่ละโอกาส ขึ้นกับสถานการณ์หรือภาวะจิตใจของเรา ณ ขณะนั้น

           คำแผ่เมตตาที่ดีควรมีลักษณะดังนี้ค่ะ

เป็นคำที่มีความหมายสากล สั้น เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน แผ่ให้ตัวเองและผู้อื่นได้ง่ายๆ
เป็นสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเองและผู้อื่น เช่น ให้มีความสุข เป็นอิสระจากความทุกข์ ให้มีเมตตาในใจ เป็นต้น
เป็นคำที่ให้พลัง สามารถเยียวยาตนเอง เยียวยาผู้อื่นได้


         พึงระลึกไว้เสมอว่าเราแผ่เมตตาเพื่อให้ความเมตตาผุดขึ้นในใจเรา ไม่ใช่เพื่อขอให้ได้บางสิ่งที่ต้องการ เช่น ขอให้รวย ขอให้ถูกหวย ฯลฯ และควรแผ่เมตตาให้กับตัวเองก่อน จากนั้นค่อยแผ่ขยายไปยังคนใกล้ชิดที่เรารัก บุคคลที่แวดล้อม รวมถึงคนที่เราไม่ชอบหรือไม่ชอบเรา กล่าวคือ แผ่ไปยังทุกๆ คนได้อย่างไม่มีเงื่อนไขจะดีที่สุด เพราะเมื่อเขาเป็นสุข เขาก็จะไม่สร้างความทุกข์ให้เรา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ใจเราจะไม่เป็นทุกข์เพราะเขาอีกต่อไป

           และเนื่องจากดร.จอห์นเห็นประโยชน์ของการมีสติตระหนักรู้ว่า ช่วยให้เขามีความรู้สึกต่อเรื่องต่างๆ ดีขึ้น ความสัมพันธ์ดีขึ้น สุขภาพดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น เพราะฉะนั้นเวลาแผ่เมตตา เขาจะให้ความสำคัญกับความตระหนักรู้ คำแผ่เมตตาของเขาจึงกล่าวว่า “ขอให้ผมมีความตระหนักรู้อย่างลึกซึ้ง ขอให้การตระหนักรู้ของผมนำไปสู่การเยียวยา ทำให้เกิดความสุข มีสันติในใจ มีความสมานฉันท์กับคนอื่น และขอให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับคนอื่นๆ เพื่อนๆ คนรู้จัก และกับคนที่ผมไม่ชอบ”

           หรือในกรณีที่มีความเจ็บป่วยเกิดขึ้นกับตัวเอง ดร.จอห์นกล่าวถึงคำแผ่เมตตาไว้ในหนังสือ คลายเครียดด้วยลมหายใจ เยียวยาความเครียดด้วยวิถีพุทธ แปลโดยคุณสุรภี ชูตระกูล ว่า “ขอให้มีสติอยู่กับปัจจุบัน ฉันได้ละวางจากจิตที่ชอบยึดมั่นถือมั่น หรือชอบต่อต้านอาการของโรคที่เป็นอยู่ จะหายหรือไม่หาย สันติสุขจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น ฉันยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างที่มันเป็นอยู่ และยอมรับทุกอย่างที่จะเกิดขึ้น ฉันขอแผ่เมตตาให้กับ (ระบุชื่อคนอื่นๆ ) ขอให้พวกเขาได้ปล่อยวางจากจิตที่ชอบยึดมั่นถือมั่น จิตที่ชอบต่อต้าน และมีความเบิกบานกับความสงบเย็นเกิดตามมา”

           อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นของผู้เข้าร่วมอบรม “การฝึกฝนทางจิตวิญญาณเพื่อการดูแลตนเองสำหรับผู้ทำงานเยียวยา” ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นคำแผ่เมตตาที่น่าสนใจ เธอกล่าวว่า “ขอให้ความตระหนักรู้นำพาความรัก ความเมตตาต่อตัวเรา เพื่อให้เราสามารถเป็นอิสระจากความทุกข์ สามารถให้อภัยตนเองและผู้อื่น แล้วน้อมนำความสุข ความสงบ มาสู่ตัวเอง เพื่อนฝูง และศัตรู”

           การฝึกฝนประจำวันเราอาจฝึกสติด้วยการนั่งสมาธิก่อนประมาณ ๒๐ นาที จากนั้นจึงแผ่เมตตาอีก ๕ - ๑๐ นาที หรือหากวันไหนมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้น เราอาจเจริญสติสั้นๆ ๒ - ๓ นาที โดยมีสติอยู่กับความรู้สึก และใช้เวลาอีกครู่หนึ่งแผ่เมตตา จากนั้นค่อยกลับเข้าไปจัดการกับปัญหาก็ได้ หรืออีกวิธีหนึ่งเป็นการทำสมาธิและแผ่เมตตาเพื่อการเยียวยาโดยเชื่อมโยงเข้ากับการหายใจ ซึ่งดร.จอห์นแนะนำว่าเราอาจภาวนาสั้นๆ ว่า หายใจเข้า ... “มีสติ” หายใจออก ... “ขอให้เซลล์ทุกเซลล์มีสุขภาพแข็งแรง” หรือ “ขอให้เซลล์แต่ละเซลล์ได้รับการเยียวยา” หรือ “ขอให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปอย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน” การฝึกฝนสม่ำเสมอเช่นนี้จะช่วยให้สติเข้มแข็งและบ่มเพาะความเมตตาให้เกิดขึ้นในใจ รวมทั้งช่วยดึงพลังดีๆ ที่มีอยู่ในตัวเราให้ออกมาได้ เป็นการแปรเปลี่ยนความเคยชินเดิมๆ ที่เมื่อมีปัญหาแล้วก็คิดจนเครียด มาเป็นการนิ่ง มีสติ และมีปฏิกิริยาทางบวกต่อปัญหาที่เกิดขึ้น และนำพลังงานนั้นมาเยียวยาตนเอง ซึ่งจะทำได้อย่างไรต้องอดใจรอติดตามต่อตอนที่ ๒ ในฉบับหน้าค่ะ

- See more at: http://www.budnet.org/sunset/node/33
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
 


       ฉบับที่แล้ว ผู้เขียนทิ้งท้ายไว้ว่าหากเราฝึกสติผ่านการทำสมาธิและแผ่เมตตาอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้สติเข้มแข็งและบ่มเพาะความเมตตาให้เกิดขึ้นในใจ รวมทั้งช่วยดึงพลังดีๆ ที่มีอยู่ในตัวเราให้ออกมา เยียวยาตัวเองในส่วนที่เจ็บป่วยได้ โดยการใช้จินตนาการ หรือที่เรียกว่า Visualization นั่นเอง

          ดร.จอห์น แมคคอนแนล กล่าวว่า หลังจากนั่งสมาธิและแผ่เมตตาเสร็จแล้ว ให้นำพลังเมตตาที่เกิดขึ้นไปจดจ่อในจุดที่เจ็บปวดหรือเจ็บป่วยในร่างกาย และจินตนาการส่งพลังดีๆ ไปเยียวยาให้อวัยวะส่วนนั้นกลับมาทำงานเป็นปกติดีเหมือนเดิม ซึ่งวิธีที่จะช่วยให้เราจินตนาการได้ง่ายขึ้น ดร.จอห์นแนะนำให้ทำดังนี้ค่ะ

เริ่มจากปรับความคิดของตัวเองให้มีทัศนคติที่ดีต่ออวัยวะที่ทำงานไม่ปกติและสร้างภาวะเจ็บปวดหรือเจ็บป่วยให้เราว่า “เราจะช่วยให้เขาดีขึ้นได้”
คิดกระบวนการเยียวยาตัวเองของอวัยวะส่วนนั้น โดยนึกขั้นตอนให้ละเอียด เหมือนจริงที่สุด จะนึกเป็นภาพเชิงบวก เช่น ภาพกระดูกที่หักเชื่อมประสานติดกันเหมือนเดิม หรือภาพเชิงลบ เช่น ภาพฉลามไล่งับเซลล์มะเร็งก็ได้ แต่ควรเลือกให้สอดคล้องกับนิสัยหรือความเชื่อของเรา หรืออาจใช้สัญลักษณ์แทนก็ได้ จะนึกเป็นภาพอย่างเดียวหรือเป็นภาพและเสียงก็ได้ เช่น นึกว่าเรากำลังคุยกับเซลล์ เป็นต้น แต่สิ่งสำคัญคือกระบวนการนั้นจะต้องลื่นไหลและสอดคล้องกันอย่างเป็นธรรมชาติ

อย่าคิดอะไรซับซ้อน ไม่ต้องใช้เหตุผลมาก ว่าใช้กระบวนการอย่างนี้จะได้ผลจริงหรือไม่ เพราะหากคิดมากจะไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร แถมอาจทำให้เกิดพลังทางลบขึ้นในใจ ซึ่งจะลดทอนความเชื่อ ความศรัทธาในวิธีการ และส่งผลให้ขาดพลังเยียวยาในที่สุด
ใช้ความเป็นเด็กในตัวเอง หรือนึกถึงตอนเป็นเด็กที่นึกอยากทำอะไรก็ทำ ไม่ต้องคิด ไม่ต้องกลัว หรือกังวลอะไรมาก แค่ทำให้สนุก ตื่นเต้น แปลกใหม่ และมีความสุขกับการได้ทำก็พอแล้ว

ภาพสุดท้ายก่อนจบจินตนาการ ให้นึกภาพว่าอวัยวะที่เจ็บป่วยนั้นหายดีแล้วดังใจต้องการ
เมื่อทำเสร็จแล้วให้ปล่อยวาง ทำแล้วจบ อย่าคาดหวัง ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องหาย เพียงแค่ทำและปล่อยวาง แล้วกลับมามีสติอยู่กับปัจจุบัน

          การใช้จินตนาการสร้างภาพขึ้นเยียวยาตนเองนี้ เพื่อนผู้เขียนเคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งที่เธอป่วยเป็นไซนัสอักเสบอย่างรุนแรง ต้องนอนรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลนานหลายเดือน แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น ทำให้เกิดความทุกข์ทั้งกายและใจอย่างมาก จนวันหนึ่งเธอได้รับคำแนะนำให้ลองใช้จินตนาการในการเยียวยาตนเอง ก่อนนอนทุกคืนเธอจึงลองจินตนาการถึงตัวเองก่อนที่จะเป็นไซนัส เธอกำลังสนุกกับการเล่นน้ำฝนสายน้ำเย็นฉ่ำที่ราดรดตัวเธอนำความสดชื่นมาให้เธออย่างมาก เธอสามารถหายใจได้อย่างโล่งสบาย จมูกเธอไม่มีอาการเจ็บป่วยอย่างที่เป็นอยู่ พร้อมๆ กันนั้นเธอก็บอกตัวเองว่า “ไซนัสที่เป็นอยู่นั้นหายแล้ว ฉันหายใจได้อย่างสบาย” เธอทำซ้ำๆ อย่างนี้อยู่ ๒ เดือนกว่า อาการไซนัสก็ค่อยๆ ดีขึ้น และหายเป็นปกติได้ในที่สุด

          อีกกรณีหนึ่งเป็นผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องเข้ารับการฉายแสงเป็นประจำต่อเนื่องกันหลายสิบครั้ง แต่ทุกครั้งที่คุณลุงมาฉายแสง คุณลุงจะยิ้มแย้มแจ่มใส คุยเล่น แซวพยาบาล โดยไม่มีอาการเครียดหรือวิตกกังวล แถมยังไม่มีอาการข้างเคียงที่จะก่อให้เกิดความเจ็บปวดไม่สบายตัวแต่อย่างใด พยาบาลจึงถามว่าทำไมคุณลุงมีกำลังใจดีขนาดนี้ คุณลุงบอกว่าทุกครั้งที่มาฉายแสง ลุงจะนึกว่ากำลังได้รับแสงทิพย์ที่เย็นฉ่ำมาช่วยรักษามะเร็งให้หาย ซึ่งวิธีการเช่นนี้ช่วยให้คุณลุงสามารถยอมรับการรักษาที่ต้องอาศัยความอดทนและกำลังใจที่ดีได้จนจบคอร์สโดยไม่มีความทุกข์เหมือนที่หลายคนเป็นอยู่

          พลังแห่งจินตนาการนี้นอกจากจะช่วยเยียวยาตัวเองจากความเจ็บป่วยทางกายแล้ว ยังช่วยเยียวยาจิตใจได้อีกด้วย พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล กล่าวไว้ใน “การอบรมเผชิญความตายอย่างสงบ” ว่า ในกรณีผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มีอาการกระสับกระส่าย ไม่สงบ หลายครั้งเมื่อมีคนพูดนำให้ผู้ป่วยจินตนาการถึงสิ่งดีๆ ที่เคยทำ เช่น การใส่บาตร การไปทำบุญไหว้พระ หรือแม้กระทั่งการไปเที่ยวในสถานที่ที่ชอบ ฯลฯ จะช่วยน้อมนำจิตใจให้สงบ เป็นกุศล สามารถตายอย่างสงบได้

          การแปรเปลี่ยนพลังทางลบจากความคิดที่สร้างความเครียด ก่อให้เกิดทุกข์ มาเป็นพลังเยียวยาด้วยการนั่งสมาธิ เจริญสติ แผ่เมตตา และจินตนาการ ดังที่ดร.จอห์น แมคคอนแนลแนะนำเป็นประจำสม่ำเสมอทุกวัน หรือทำทุกครั้งที่เกิดความวิตกกังวลหรือเจ็บป่วย จะช่วยให้เกิดความเคยชิน และใช้เวลาไม่นานในการทำให้เกิดกระบวนการเยียวยาขึ้นภายในตัวเรา เหมือนเป็นปฏิกิริยาอัตโนมัติ เมื่อนั้นเราจะพบว่าไม่ว่าชีวิตจะต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคใดๆ จะหนักหนาสาหัสเพียงไหน เราก็จะมีวิธีรับมือได้อย่างไม่ทุกข์อีกต่อไป ที่สำคัญอาจจะช่วยให้เราสัมผัสความสุขที่แท้จริงอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน เป็นความสุขจากการมีสติตื่นรู้อยู่กับปัจจุบันอย่างแท้จริง

- See more at: http://www.budnet.org/sunset/node/77
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...