ผู้เขียน หัวข้อ: ภูฏาน ดินแดนแห่งธรรม ธรรมชาติ แยกไม่ออกจากชีวิต  (อ่าน 1037 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


  เดือนเมษายนเป็นช่วงเวลาที่บ้านเมืองเรากำลังร้อนจัดทั้งอุณหภูมิแดดและสถานการณ์ความรุนแรงกับการชุมนุมคนเสื้อแดง ประชาชนคนไทยโดยทั่วไปต่างเฝ้ามองห่วงใยจนไม่เป็นอันทำอะไรอย่างราบรื่นนัก แต่กระนั้น แผนการเดินทางไปภูฏานที่เราวางกันมาเป็นแรมปี ก็ต้องเดินหน้าต่อไปเพราะมีข้อผูกพันในนามของโครงการ School for Wellbeing Studies and Research Happiness for Global Transformation: Towards an Economy of Sharing ที่สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา ร่วมกับศูนย์ศึกษาภูฏาน เป็นผู้จัด โดยนิมนต์ พระไพศาล วิสาโล เป็นหลักไปกับคณะเรารวม ๑๑ คน ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๘ เมษายน ๒๕๕๓ คณะของเราต้องไปแม้ใจยังว้าวุ่นไม่น้อย ได้แต่ภาวนาขอให้วิกฤตผ่านพ้นไปได้ แต่ยังยากจะวางใจ ช่วงแรกระหว่างอยู่ในภูฏาน บ่อยครั้งเราแอบชำเลืองสีหน้าหัวหน้าคณะ ท่านดูเงียบ บางครั้งนิ่งมากจนคล้ายกำลังจะดิ่งลงลึกให้ความวุ่นวายทั้งหลายสงบ เราเชื่อว่าพลังทางจิตวิญญาณที่เปี่ยมด้วยเมตตาธรรมและการุณยธรรมของท่านได้แผ่ไปถึงผู้คนในมาตุภูมิด้วย... สำหรับเรา ถ้าเลื่อนได้คงดีไม่น้อย แต่เมื่อเราเดินหน้ามาแล้ว ก็ต้องเดินต่อไป มีแต่ตั้งใจใช้เวลาให้เกิดประโยชน์และใช้ทรัพยากรที่เป็นต้นทุนการเดินทางให้คุ้มค่าด้วย...

          สัมผัสแรกที่บอกเราว่ามาถึงภูฏานแล้วคือ เทือกเขาปกคลุมด้วยหิมะมหึมาสีขาวโพลนเป็นทิวแถวสลับเรียงรายยาวลับตา ราวกับว่าแดนสวรรค์อยู่ใกล้นิดเดียว ขยี้ตาให้รู้ตัวว่านั่นเทือกเขาหิมาลัยจริงๆ  อีกไม่นานเครื่องบินดรุ๊กแอร์ของภูฏานจะพาเราลงสนามบินปาโร

          การมาเยือนภูฏานของคณะเรามิใช่การมาทัศนศึกษาอย่างนักท่องเที่ยว แต่ต้องเก็บข้อมูลและให้ความเห็นที่จะก่อประโยชน์ต่อโครงการด้วย สาระความรู้ที่ได้จึงไม่ใช่แค่มาสัมผัส แต่ยังต้องหาอ่านเพิ่มเติม หากจะนำมาเขียนทั้งหมด เนื้อที่คงไม่พอ จึงขอหยิบจับสิ่งที่เราประทับใจประเดิมก่อน หากมีโอกาสอาจจะได้เขียนในเรื่องต่อไป

 

ดินแดนมังกรสายฟ้า

          ประเทศภูฏาน หรืออีกฉายาหนึ่งคือดินแดนแห่งมังกรสายฟ้า ตรงกับภาษาชงคา ของภูฏาน เรียกว่าดรุ๊ก ยุล เมื่อปลายศตที่ ๑๒ ลามะซังปา กาเร เยเซ โดร์จี ขณะกำลังทำพิธีฉลองสมโพชอารามใหม่แห่งหนึ่งทันใดนั้นก็มีเสียงดังกึกก้อง ท่านเชื่อว่าเป็นเสียงของมังกร (ดรุ๊ก) ที่สำแดงความยิ่งใหญ่ประกาศพระสัทธรรมขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อมาท่านจึงได้ตั้งชื่ออารามและนิกายว่าดรุ๊กปะ ในสมัยต่อมา ท่านงาวัง นัมเกล ลามะชั้นสูงแห่งนิกายดรุ๊กปะซึ่งลี้ภัยมาจากทิเบต ได้ทำการรวบรวมดินแดนต่างๆ เข้ามาเป็นปึกแผ่น แล้วให้ชื่อว่าดรุ๊กยุล จึงกลายเป็นดินแดนประเทศภูฏานโดยสมบูรณ์นับแต่ศตวรรษที่ ๑๗ นั้นมา

          ส่วนประวัติศาสตร์ทางศาสนาของภูฏานอิงตำนานและคู่กับสภาพภูมิศาสตร์ว่า เดิมมีกลุ่มคนเลี้ยงสัตว์กึ่งเร่ร่อนมาตามเทือกเขาหิมาลัย พวกเขานับถือศาสนาบอน (Bon) เคารพธรรมชาติ ต้นไม้ ภูเขาว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ก่อนหน้านั้น ภูฏานหันมานับถือพุทธศาสนาอย่างจริงจังในยุคที่ท่านคุรุปัทมสัมภวะ หรือท่านคุรุริมโปเช ขี่เสือมาบำเพ็ญสมาธิหน้าผาของหุบเขาปาโร ซึ่งปัจจุบันคือถ้ำเสือหรือตั๊กซัง ท่านได้สำแดงพลังมหัศจรรย์ไล่สิ่งชั่วร้ายได้ ได้รับความเคารพเสมือนพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๒ จะพบว่ามีรูปจำลองท่านในทุกวัด ประเทศภูฏานจึงได้ชื่อว่าเป็นเมืองพุทธแบบวัชรยาน แต่ยังมีชาวบ้านในชนบทอยู่บ้างที่นับถือภูติผีวิญญาณตามศาสนาบอน

          ประเทศภูฏานเป็นประเทศที่เล็กมาก รูปร่างคล้ายบันได พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยแถบตะวันออก การเดินทางภายในประเทศจึงเป็นเส้นทางถนนโค้งคดเคี้ยวไปตามเขา มีประชากรเพียงเจ็ดแสนกว่าคน ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก แม้ในสายตาโลกจะจัดให้อยู่ในประเทศที่มีฐานะยากจน แต่คนภูฎานเองกลับยึดเอาความสุขเป็นหลักเกณฑ์มากกว่าเอาตัวเลขทางเศรษฐกิจเป็นตัววัด สังเกตจากบันทึกและการบอกเล่าปากต่อปากของคนที่เคยไปภูฏานคงเป็นประจักษ์พยานได้อยู่ วัฒนธรรมต่างๆ สะท้อนความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างโลกุตรธรรมกับโลกียธรรม ภายใต้การปกครองประเทศอิงกับหลักธรรมทางพุทธศาสนาที่ท่านงาวัง นัมเกลผู้ก่อตั้งประเทศได้วางรากฐานไว้เป็นอย่างดี…

 

แทนอัตลักษณ์หนึ่งความภาคภูมิใจ...

          เพียงก้าวแรกที่เราลงจากเครื่องบิน คณะเราก็ได้รับการต้อนรับทันที เราเองไม่รู้ว่าจะตั้งท่าไหนในการแสดงความยินดีที่ได้รู้จัก ได้แต่รับรอยยิ้มและสัมผัสมือรับมิตรภาพจากสาวน้อยที่ทำหน้าที่ดูแลคณะเราชื่อ ยังรี หูเราไม่ดีเรียกเธอผิดหลายวันว่า ยางรี จนเพื่อนร่วมคณะอยากดีดหูเสียให้เข็ด เธอแต่งชุดประจำชาติเรียกว่า กีร่า ดูเผินๆ คล้ายนุ่งซิ่น แต่พับต่างกัน และเสื้อแขนยาว ส่วนคนขับรถประจำตลอดการเดินทางของคณะเราชื่อนัมเกล แต่งชุดโกะ คล้ายของทางญี่ปุ่นแต่ปลายสั้นกว่าและใส่รองเท้าบู๊ทยาวมาถึงน่อง ชุดของพวกเขา เราเห็นจนชินตา เพราะใส่กันทั่วบ้านทั่วเมือง ไม่ว่าเด็กเล็กแก่ชรา ที่ดูน่ารักยิ่งคือนักเรียนก็แต่งแบบนี้ทุกแห่ง ต่างกันที่ลายผ้า พวกเราแอบชื่นชมภาคภูมิใจแทนพวกเขาที่มีสิ่งแสดงอัตลักษณ์ของตน ไม่ว่าพวกเขาจะไปที่ใดของโลกก็รู้ว่าเขาเป็นชาวภูฏาน

 

มีค่ามากกว่าคำโฆษณา

          ไม่คุ้นชินเอาเสียเลย ความรู้สึกตั้งแต่มองไปรอบๆ สนามบินแล้ว เหมือนกับว่าเราขาดอะไรไปสักอย่าง พอนั่งรถออกไป มองออกไปสองข้างทางของถนน ก็ยังเป็นความรู้สึกนี้ ใช่แล้ว ไม่มีสีสันที่กระตุ้นเร้าใจให้ตื่นตาตื่นใจนั่นเอง ยิ่งประเทศของเราด้วยแล้ว เห็นป้ายโฆษณาต่างๆ  สารพัดแบบ ไม่ว่ายี่ห้อสินค้า ขายมือถือ บริการ ตึกสูงระฟ้า แต่กลับโล่งสบายๆ  นานๆ ทีจะเหลือบเห็นตัวอักษรหรือไม่ก็ลายเส้น รูปศิลปะเขียน สลักบนก้อนหิน มาทราบความหมายภายหลัง ว่าล้วนเป็นธรรมหรือมงคลต่างๆ  ที่เห็นบ่อยมีคำว่าโอม มณี ปัทเมหุม และมงคล ๘ วางไว้อย่างมีความหมายแก่ผู้รับ เช่น ตามทางแยก กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ เฉกเช่นชีวิต จนวันสุดท้ายของการเดินทาง กลายเป็นความคุ้นชินใหม่ที่เราเห็นความสงบเบาสบายจากป้ายแสดงธรรมประดุจแทนป้ายโฆษณา และเมื่อก้าวลงสนามบินสุวรรณภูมิ จึงรู้สึกต่างไปเลยว่าป้ายโฆษณาก็เป็นแค่สมมติที่เราไปหลงทางตามมันไปนั้นเอง

 

การเดินทางจากนอกสู่ใน

          โปรแกรมของเรา ส่วนใหญ่เดินทาง แถมบางวันนั่งรถทั้งวัน แต่พวกเราไม่มีใครเบื่อ เพราะได้สัมผัสธรรมชาติตลอดเส้นทาง บางช่วงถ้าขึ้นที่สูงจะเห็นยอดหิมะปกคลุมเขา มีแม่น้ำลำธาร บางช่วงเห็นต้นน้ำมาจากน้ำตกสวยงาม ต้นไม้ตามภูเขาเขียวขจี แต่งแต้มดอกไม้เต็มบริเวณหลายพื้นที่สองข้างทางถนน อบอวลด้วยต้นไม้เขียวขจี แม้จะมีทางโค้งคดเคี้ยวมาก เคยมีคนบันทึกไม่เป็นทางการว่า จะมีหนึ่งโค้งทุก ๖ นาที ทั่วภูฏาน รวมทั้งเส้นทางการเดินทางของคณะเราในแถบทางภาคตะวันตก ตั้งแต่เมืองทิมพู เมืองหลวงปัจจุบัน เมืองปูนาคา อดีตเมืองหลวง และเมืองปาโร ที่ตั้งของสนามบินระดับชาติ อย่างไรก็ตาม แม้บางวันต้องเดินทางนั่งรถติดต่อกันเป็นวัน ไม่ได้แวะช็อปปิ้งอย่างที่เรามักพบตามทริปท่องเที่ยว แต่นี่กลับเป็นการเดินทางกลับมาสู่ด้านในของเราเอง ที่ทำให้เรากลายเป็นคนเย็นลงและนิ่งขึ้น เสมือนหนึ่งเราถูกสะกดจากธงมนต์ที่ชาวบ้านใช้ภาวนา มีหลายหลาก ๕ สีตามรายทาง แทนความหมายสำคัญของดิน น้ำ ลม ไฟ และชีวิต และร่วมเคารพบูชาสถูปหรือโชว์เต็นตามทางแยก ที่ชาวบ้าน คนแก่กำลังเดินทักษิณา และที่เห็นตั้งเด่นสง่างามแต่ไกลๆ คือซ่งหรือวัดรูปทรงเหลี่ยมแต่งลวดลายโบราณตามวัฒนธรรมภูฏาน มักอยู่ตามยอดเขาหรือที่ราบสูงให้ผู้คนศรัทธาธรรมตามหมู่บ้านต่างๆ  ท่ามกลางภูเขาที่ล้อมรอบเต็มไปด้วยต้นไม้เขียวขจี น้ำตกที่ไหลลงมาเป็นสายน้ำลำธารตลอดเส้นทางดุจประหนึ่งเรากำลังอยู่ในอ้อมกอดของธรรมชาติ และอบอวลด้วยมิตรไมตรีของผู้คนข้างทางที่ผ่านไปโบกมือให้เราอย่างต้อนรับ พร้อมรอยยิ้ม ยิ่งเด็กด้วยแล้ว แก้มเป็นสีแดงน่ารักเพราะอากาศเย็นทำให้เลือดสูบฉีด ทุกครั้งที่เรามองลอดออกไปทางหน้าต่างรถเราจะได้รับการต้อนรับจากชาวภูฏานที่พบเห็นไม่เว้นแม้แต่เด็กที่หยุดและโบกมือยิ้มให้

          นี่คือดินแดนแห่งธรรม ธรรมชาติแยกไม่ออกจากชีวิต

- See more at: http://www.budnet.org/sunset/node/196
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...