ผู้เขียน หัวข้อ: น้ำพุแห่งชีวิต ในภาพยนตร์เรื่อง The Fountain  (อ่าน 1048 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


The Fountain Trailer


เวลาสัมพันธ์กับสรรพสิ่งทั้งที่มีและไม่มีชีวิตเรื่อยมา แต่สำหรับชีวิตแล้ว นับตั้งแต่เริ่มต้นไปจนแม้วินาทีสุดท้ายก่อนจากลา ประสบการณ์ต่างๆ จากอดีตจนถึงปัจจุบันยังหวนคืนกลับมาให้นึกถึงจำได้เสมอ ลำดับเหตุการณ์สำคัญก่อนหลังในแต่ละช่วงชีวิตจึงไม่เคยห่างหายไปไหน เพราะมันถูกจดจำไว้ร่วมกับกาลเวลานี่เอง แม้ว่าเวลาจะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นสัมผัสไม่ได้จริง แต่เรารับรู้ได้ว่ามันยังคงดำเนินต่อไปพร้อมๆ กับทุกสิ่งในโลกและจักรวาลอันกว้างใหญ่

          ใครจะไปนึกว่าสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้มนุษย์เราผูกพันอยู่กับเวลาจนมิอาจแยกตัวหลุดออกไปได้ คือความติดยึดภายในใจเราเอง แม้รู้ทั้งรู้ว่าการเลื่อนไหลของเวลาสัมพันธ์โดยตรงกับความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและชีวภาพของสรรพสิ่ง อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนทางธรรมชาติที่อยู่เหนือการควบคุมใดๆ แต่มนุษย์ก็ยังอดมิได้ที่จะต่อรองขอยืดเวลาเพื่อมีชีวิตอยู่ ตราบเท่าที่เราจะมีความสุขต่อไปได้เรื่อยๆ หากแต่เราลืมไปว่าในขณะที่เป็นสุข แม้เวลาผ่านไปเพียงชั่วลัดนิ้วมือเดียว ความทุกข์ก็ยังมาเยือนได้ ถึงที่สุดแล้วเวลายังคงให้ความเท่าเทียมสำหรับทุกชีวิตเสมอ

          เราอาจจะคาดคะเนปรากฏการณ์ต่างๆ ที่สัมพันธ์กับเวลาได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่เคยหรือไม่ แม้สักครั้งที่จะให้เวลากับการทำความเข้าใจชีวิตและความตายที่กำลังดำเนินไปรอบๆ ตัว หากเรากล้าเผชิญและยอมรับความตายที่อยู่ตรงหน้า ณ เวลานี้ในภาวะอย่างที่เป็นอยู่โดยมิได้บิดเบือนภายในจิตใจเราเอง เมื่อนั้นสถานการณ์อันไม่พึงปรารถนาก็จะไม่ทำให้เรารู้สึกแย่ไปกว่าที่เป็นจริงๆ

          ภาพยนตร์เรื่อง The Fountain เปรียบดังปรากฏการณ์ของวงจรพฤติกรรมอันซ้ำซากซ้อนทับกัน และเวียนวนอยู่ใน ๓ ช่วงเวลาสลับกันไปมาจาก “อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” เป็นเรื่องราวของการตายจากบุคคลอันเป็นที่รัก คำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ และความมั่นคงในรักแท้ หรือหากเราจะมองในมิติทางด้านอารมณ์ความรู้สึกแล้ว ทั้งหมดในหนังคือ “ภาพสะท้อนจิตใจของคู่รักที่มีความผูกพันกันอย่างลึกซึ้งในห้วงเวลาของความเป็นความตาย” โดยส่วนใหญ่เรื่องราวในหนังจะเน้นไปที่สภาวะภายในใจของทอม (สามี) โดยเฉพาะ

          ภาวะจิตใจกับอารมณ์ความรู้สึกของทอมในชั่วขณะแห่งความตายของอิซซี่ (ภรรยา) กลายเป็นรูปแบบทางอารมณ์ผสมกันระหว่าง การปฏิเสธกับซึมเศร้า ต่อรองกับพึ่งพิง โกรธเคืองกับการไม่ยอมรับหน้าที่สุดท้ายของชีวิตที่อยู่ตรงหน้า

          โดยส่วนแรกของหนังเป็นเหตุการณ์อดีตในศตวรรษที่ ๑๖ ว่าด้วยเรื่องราวการต่อสู้ทุ่มเทของขุนพลโทมัสกับภารกิจค้นหาต้นไม้แห่งชีวิต เพื่อพิทักษ์ราชินีอิซซาเบลอันเป็นที่รัก เมื่อทอม (สามี) พยายามเขียนนิยายต่อให้จบ ภาพเหตุการณ์ต่างๆในอดีตจะหวนกลับมาปรากฏให้เห็นกับรู้สึกเข้าไปเป็นจริงๆ เหมือนการอ่านทวนด้วยใจที่จดจ่อไปกับเรื่องราวจากตัวหนังสือที่อิซซี่เขียนขึ้นมา ให้เรา (ผู้ดู) เห็นเป็นเรื่องราวย้อนยุคสลับกับเหตุการณ์ปัจจุบันในส่วนที่สองอยู่เรื่อยๆ ราวกับกำลังฉายภาพออกมาจากจิตใต้สำนึกของตัว ดร.ทอม ครีโอ นั่นเอง

          ส่วนที่สองเป็นเหตุการณ์ปัจจุบันในศตวรรษที่ ๒๑ เป็นเรื่องของ ดร.ทอม ครีโอ นักวิทยาศาสตร์ผู้ศึกษาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกับการค้นหาวิธีการรักษาโรคร้ายให้ลิงชื่อโดโนแวน ที่มีความเกี่ยวโยงไปสู่การเยียวยารักษาภรรยาสุดที่รัก ซึ่งเปรียบเสมือนน้ำพุแห่งชีวิต อันหมายถึงความเป็นอมตะด้วยการเอาชนะความตาย หรือจะหมายถึงที่พึ่งพิง ที่ยึดเหนี่ยวทางใจเพียงอย่างเดียวของทอมก็ว่าได้ ดังที่ ดร.ทอมพยายามหาทางแก้ไขและยื้อยุดชีวิตภรรยาเอาไว้เพราะตัวเขาไม่สามารถยอมรับได้ว่าความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

          การที่อิซซี่พยายามอธิบายให้ทอมเข้าใจเรื่อง “ชิบัลบา” จากตำนานความเชื่อของชนเผ่ามายัน ก็เพื่อสร้างเส้นทางใหม่ให้ทอมค้นหาคำตอบและมองความตายในแง่มุมอื่นที่เขาพอจะยอมรับได้เอาเอง ซึ่งเราจะเห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ส่วนแรกและส่วนที่สามอย่างต่อเนื่อง

          ส่วนที่สามเป็นเหตุการณ์อนาคตในศตวรรษที่ ๒๖ เป็นเรื่องการเดินทาง การดำเนินชีวิต และความพยายามของมนุษย์อวกาศ ทอมมี่ ครีโอ ในยานทรงกลมกระจ่างใส ขณะนำพาต้นไม้แห่งชีวิตไปสู่ดวงดาวใกล้ดับสูญซึ่งชาวมายันเรียกว่า “ชิบัลบา” เพื่อให้ต้นไม้ซึ่งก็คือคนรักของตนเองกลับมาเกิดใหม่อีกครั้ง ในเวลานี้ ทอมมี่ไม่ได้ดื่มน้ำพุ แต่เขากินเปลือกของต้นไม้แห่งชีวิตซึ่งเป็นรูปกายเสมือนตัวอิซซี่ เพื่อหล่อเลี้ยงความหวังในใจ

          อันที่จริงสิ่งที่เกิดกับทอมมี่ในส่วนนี้หรือที่เขาเป็นอยู่นี้ คือการมีชีวิตอยู่อย่างแห้งแล้งเหมือนดังต้นไม้ในยานอวกาศที่เขานำไปด้วย ที่เหี่ยวแห้งปราศจากใบ ดอก และผล ภาพในยานอวกาศจึงเป็นการสะท้อนสภาวะจิตใจของทอมอย่างที่เขาเป็นอยู่ขณะเผชิญกับเหตุการณ์ในส่วนที่สองนั่นเอง ภาระทางใจอันหนักอึ้งที่เขาพกพาเอาไปด้วยทุกหนทุกแห่งจึงอยู่ในความคิดคำนึงของเขาเสมอ ดังฉากตอนหนึ่งในหนังขณะที่ ดร.ทอม เดินไปในท้องถนนจึงเงียบสนิทปราศจากเสียงอึกทึก เพราะเขากำลังหมกมุ่นครุ่นคิดอยู่กับตัวเอง เหมือนกับการทำสมาธิ แต่เป็นการเข้าไปจดจ่ออยู่กับเรื่องที่คิด กระทั่งเสียงแตรรถดังกระตุ้นเตือน ก่อนที่เขาจะถูกรถชน เสียงรอบตัวจึงถูกรับรู้ขึ้นมาอีกครั้ง

          The Fountain บอกว่า อะไรจะเกิดขึ้นได้บ้าง หากเราไม่ยอมรับและปฏิเสธความพลัดพรากสูญเสียที่เรียกว่า “ความตาย” ลักษณะของคนปล่อยให้ชีวิตจมอยู่กับเรื่องราวในอดีตที่แล้วมา หวนไห้โหยหาแต่สิ่งที่จากไปแล้วไม่กลับคืน ในหนังยังบอกต่ออีกว่า ความทนทุกข์ฝังใจจะมีมากเพียงใด ขึ้นอยู่กับการยึดมั่นย้ำคิดไม่ยอมปล่อยของเราเอง ดังรอยสักรอบแขนรอยแล้วรอยเล่าของทอมมี่ ซึ่งดูคล้ายกับการขยายตัวของวงปีต้นไม้ กลายเป็นเรื่องราว (ต้นไม้) ใหญ่โตไปจนถึงขั้นเดินทางท่องไปในอวกาศ โดยมีดาวดับอันไกลโพ้นเป็นที่หมาย และเชื่อว่าภาระอันยิ่งใหญ่จะจบลงเมื่อถึง “ชิบัลบา” ที่ซึ่งชีวิตใหม่ของทั้งสองจะได้เริ่มต้นอีกครั้ง เพียงความหวังนี้เท่านั้นที่หล่อเลี้ยงหัวใจทอมให้เกิดมีศรัทธาในน้ำพุแห่งชีวิต (รินไหลมาจากต้นไม้แห่งชีวิต) การเข้าถึงชิบัลบาจึงเป็นการกลับคืนสู่พระเจ้า ซึ่งในหนังหมายถึงการเข้าใจว่าความมีชีวิตกับความตายเป็นสิ่งสัมพันธ์กันอย่างไม่สามารถแยกได้ หากเราไม่ยอมรับความตาย ชีวิตนั้นก็ไม่อาจเรียกว่า “มีชีวิต” ได้ เพราะทั้งสองเป็นสิ่งเดียวกัน น้ำพุแห่งชีวิตจึงไม่ได้ช่วยให้มีชีวิตเดิมอีกครั้ง แต่เป็นการสืบทอดหน้าที่ตามธรรมชาติ

          เมื่อเราตาย ทุกสิ่งจะถูกคืนให้แก่โลกและกลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้งในชีวิตอื่นๆ สืบต่อไป เหมือนที่ปฐมบิดา ซึ่งก็คือมนุษย์คนแรกที่ยอมพลีตนเพื่อสร้างโลก โดยให้ต้นไม้แห่งชีวิตก่อกำเนิดจากร่างกายหยั่งรากเพื่อโอบอุ้มโลก และแผ่กิ่งก้านวิญญาณของเขาขึ้นสู่ฟ้า คงเหลือแต่ศีรษะซึ่งลูกๆ ของเขานำไปแขวนไว้ในสรวงสวรรค์ กำเนิดเป็นชิบัลบา ดวงดาวที่ดับแล้ว ซึ่งชาวมายันเชื่อว่า วิญญาณของผู้ที่ละจากโลกนี้ไปแล้วจะไปเกิดใหม่ที่นั่น พร้อมๆ กับการกำเนิดดาวดวงใหม่หลังจากชิบัลบาระเบิด

          “เขียนให้จบ (Finish it)” เป็นคำสั่งเสียสุดท้ายที่ภรรยาฝากฝังให้สามีสานต่อ หนังสือเรื่อง The Fountain น้ำพุแห่งชีวิตในโลกของนิยายหรือในตำนานของชนเผ่ามายัน มันจึงกลายเป็นการเล่าเรื่องจากอดีตของท่านขุนพลโทมัสและราชินีอิซซาเบลตามจินตนาการของตัวทอมเองด้วย ซ้อนทับกับทอมในมิติอื่นๆจนแยกไม่ออก เพราะว่าการเขียนเรื่องThe Fountain เป็นเพียงภารกิจเดียวเท่านั้นที่จะช่วยเชื่อมตัวเขาเข้าไปสู่จินตนาการของภรรยา กระทั่งทำให้เข้าถึงจับต้องตัวตนของเธอได้อีกครั้ง การอ่านหนังสือซ้ำแล้วซ้ำเล่าช่วยปลอบประโลมใจและเยียวยาความเจ็บปวดของทอม เขารู้สึกผิดที่ไม่สามารถรักษาสัญญาว่า จะอยู่ด้วยกันชั่วนิรันดร์ ผิดที่ไม่ใส่ใจดูแลอิซซี่ให้มากพอ และผิดที่งานทดลองในขณะนั้นไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง ทว่าการเขียนหนังสือต่อไปจนถึงบทอวสานกลับกลายเป็นการช่วยให้ทอมค่อยๆ ปลดเปลื้องพันธนาการของความรู้สึกผิดภายในใจออกไปได้ ซึ่งก็คือความติดยึดที่เขาค้างคาใจ และยึดเอาไว้แน่นจนไม่ยอมปล่อยนั่นเอง

- See more at: http://www.budnet.org/sunset/node/175
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...