แสงธรรมนำใจ > มหายาน
ทศมหาปณิธาน ของพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ จริยาวัตรแม่บทของโพธิสัตว์ในยุคปัจจุบัน
มดเอ๊กซ:
https://www.youtube.com/v/Zr3HzfwpGLY
https://www.youtube.com/v/xqWPMJFbx9I
https://www.youtube.com/v/Zr3HzfwpGLY
ทศมหาปณิธาน ของพระสมันตภัทรโพธิสัตว์
จริยาวัตรแม่บทของโพธิสัตว์ในยุคปัจจุบัน
ปาฐกถาโดย...
พระวิศวภัทร เซี่ยเกี๊ยก (釋聖傑)
ณ สมาคมพุทธบริษัทไทย-จีนประชา (中華佛學研究社)
วันที่ 27 กันยายน 2552
พระสูตรของฝ่ายมหายานนั้น มีอวตังสกะสูตรเป็นเอก เมื่อพระศากยมุนีพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว ขณะทรงประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข บรรดาโพธิสัตว์ทั้งหลายก็ได้มาสรรเสริญ ธรรมธาตุกายภาวะของพระองค์ อวตังสกะสูตรนี้จึงถือเป็นสูตรแรกและสูตรใหญ่ของมหายาน
ชื่อพระสูตรนี้ในภาษาจีนคือ 大方廣佛華嚴經 คำว่า 大 หมายถึง ธรรมธาตุกาย คือพระไวโรจนพุทธเจ้า , คำว่า方 หมายถึง สัมโภคกาย คือพระโลจนพุทธเจ้า ,และ廣 หมายถึง นิรมาณกาย คือพระศากยมุนีพุทธเจ้า ดังนั้น พระสูตรนี้จึงรวบรวมไว้ซึ่งตรีกาย(大,方,廣)ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ตรีกายนี้คือผลแห่งความเป็นพุทธะ เมื่อผลไม่ไกลจากเหตุ และเหตุคือการปฏิบัติจริยาทั้งปวงที่นำไปสู่ผลคือพุทธภูมิได้เช่นกัน จึงเรียกว่า 華 หมายถึงดอกไม้ ที่ร้อยกันเป็นพวง คือความที่เหตุและผลเป็นปัจจัยเกี่ยวเนื่องกัน และเพราะคุณแห่งตรีกายและความสืบเนื่องของเหตุปัจจัยไม่มีประมาณ มีความยิ่งใหญ่ไพศาลจึงเรียก 嚴 หมายถึงความอลังการ สูตรนี้จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า 華嚴 หรือ อวตังสกะ หรือดอกไม้ที่เรียงร้อยกันเป็นพวง
อวตังสกะมุ่งเน้นบำเพ็ญที่เหตุ เมื่อเหตุสมบูรณ์ผลย่อมสมบูรณ์ บรรดาโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญเหตุ ที่ประชุมอยู่ในอวตังกะสันนิบาต ต่างก็สรรเสริญพระพุทธคุณตามที่ตนเองได้บรรลุเข้าถึงแต่ละประการ พระตถาคตก็ทรงนิ่งอยู่ มีเพียงพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ที่มีจริยาวัตรบริบูรณ์ เมื่อพรรณนาถึงผลของพระพุทธะได้สมบูรณ์ครบถ้วน พระตถาคตเจ้าจึงแย้มสรวล
พระสมันตภัทร เป็นพระโพธิสัตว์องค์สำคัญ ถือเป็นสัญลักษณ์ของมหายานและจริยาวัตรที่ประเสริฐ ซึ่งบรรดาโพธิสัตว์ทั้งหลายจะต้องปฏิบัติตาม
ในตอนท้ายของอวตังสกะสูตร (ฉบับ 40 ผูก) มีสมันตภัทรจริยาวรรค (入不思議解脫境界 《普賢行願品》) ภายในมีมหาปณิธานที่สำคัญยิ่ง 10 ประการที่แสดงถึงอัธยาศัยของกาย วาจาและใจของพระโพธิสัตว์ ที่ปุถุชนและอริยภูมิต่างๆ ยากจะหยั่งถึง เมื่อพระโพธิสัตว์มีปณิธานและจริยาวัตรยิ่งใหญ่ ที่ล้วนแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสัตว์โลก มิใช่เพื่อตนเอง จึงมีผลใหญ่ มีอานิสงค์ใหญ่ ทำให้สามารถบรรลุพุทธผลที่ยิ่งใหญ่ และอนุเคราะห์สัตว์โลกได้ยิ่งใหญ่ไม่มีประมาณ จึงจะถือว่าเป็นคำนิยามของมหายานได้โดยแท้ ซึ่งมิใช่มหายานในแง่ของนิกายหนึ่งของพระพุทธศาสนาอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจกัน ดังนี้ …
เพิ่มเติม http://www.96rangjai.com/books/sitayuan/
มดเอ๊กซ:
1. เคารพ นอบน้อมพระพุทธเจ้าทั้งปวง 一者禮敬諸佛
พระสมันตภัทรโพธิสัตว์กล่าวกับสุธนกุมารว่า “แม้นเราจักพรรณนาพระคุณของพระตถาคตแล้ว ก็ยังเสมือนน้ำ 1 หยดในมหาสาคร หากจักกล่าววิภาษาอธิบายให้กว้างขวางแล้ว แม้นจะพรรณนาพระคุณของพระตถาคตเจ้าทั้งปวง จนสิ้นอนาคตภาคก็หาจุดอวสานมิได้ บัดนี้เมื่อปรารถนาเข้าสู่ตถาคตคุณสาครอันไม่มีขอบเขตและหยั่งวัดไม่ได้ การประพฤติตามมหาปณิธานอันเป็นราชาทั้ง 10 นี้เท่านั้น จึงจักทำให้เข้าถึงได้….”
พระสุธนกุมารกล่าวว่า “ขอมหาบุรุษโปรดแสดงเถิด ข้าพเจ้าและหมู่สัตว์ต่างปรารถนาจักประพฤติตาม”พระสมันตภัทรมหาโพธิสัตว์กล่าวว่า “ประการที่ 1 คือ เคารพนอบน้อมพระพุทธเจ้าทั้งปวง”
ปณิธานข้อนี้ถือเป็นพื้นฐานของทั้ง 10 ข้อ คือต้องเลื่อมใสพระพุทธองค์ด้วยใจจริงก่อน พร้อมจะปฏิบัติตามคำสอนหรือดำเนินจริยาวัตรตามพระองค์ จึงจะกระทำปณิธานที่เหลือได้ ของอักษรจีนว่า 禮 หมายถึง กายแสดงความเคารพ, คำว่า敬 หมายถึง ใจมีความนอบน้อม เมื่อใจนอบน้อมกายจึงแสดงความเคารพ เมื่อกายแสดงความเคารพจึงเรียกว่ามีศรัทธา เมื่อนอบน้อมแล้วจึงมิแสร้งกระทำ เมื่อมิแสร้งกระทำแล้วจึงเรียกว่าสุจริตใจ จึงสามารถเข้าสู่ธรรมธาตุ ได้เห็นพุทธเกษตรของพระพุทธเจ้าในตรีกาลทั่วทศทิศอันมีจำนวนมากเท่ากับปรมาณูทั้งหมดได้ ซึ่งแต่ละพุทธเกษตรหนึ่งๆ ก็มีความว่างเป็นสภาวะ ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้เช่นกัน
เมื่อความว่างไม่กีดขวางและไม่เป็นอุปสรรคแก่กัน ธรรมธาตุจึงปรากฏใน 2 ลักษณะ คือความเป็นธาตุ(理) และความเป็นลักษณะ(事) เพราะอาศัยธาตุคือสภาวะแท้ประกาศปณิธาน จึงมีชื่อว่า “สมันตภัทรปณิธาน (願)” คือปณิธานที่ประเสริฐโดยรอบ เพราะอาศัยธาตุคือสภาวะแท้ประพฤติจริยา จึงชื่อว่า “สมันตภัทรจริยา (行)” คือจริยาที่ประเสริฐโดยรอบ เพราะอาศัยธาตุคือสภาวะแท้ประพฤติจริยา จริยาจึงมีกำลังไปทั่วธรรมธาตุ(คือธาตุแห่งธรรมที่เป็นสากลไม่ขึ้นกับสิ่งใด, ธรรมชาติของจักรวาลที่ไม่มีขอบเขตปราศจากข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่) เพราะอาศัยธาตุคือสภาวะแท้ประกาศปณิธาน ปณิธานจึงมีกำลังไปทั่วจักรวาล เพราะปณิธานและจริยามีกำลังเช่นนี้ จึงสามารถทำให้ผู้ประพฤติมีจิตศรัทธาที่บริสุทธิ์ และมีปัญญารู้จำแนกได้ทันที ส่องเห็นปวงพระพุทธเจ้าในธรรมธาตุ ดุจว่าปรากฏอยู่เบื้องหน้า กล่าวคือได้เห็นตามปริมาณที่ปรากฏ แต่มิใช่รู้เท่ากับปริมาณที่มี เหมือนครั้งที่สุธนกุมารเยี่ยมคารวะท่านเมฆศรีภิกษุ (德雲比丘) ซึ่งท่านได้บรรลุการเจริญพุทธานุสติ สามารถเห็นปวงพระพุทธะในธรรมธาตุจากสมาธิ
เมื่อมีใจน้อมถึงพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ทั้งหลายว่าทรงมาปรากฏอยู่ตรงหน้า จิตจึงเกิดศรัทธา ความตั้งมั่นเป็นเอกัคตา และสงบขึ้นเอง ในขณะจิตนั้น ความคิดฟุ้งซ่านจะหายไปหมดชั่วขณะ จึงเป็นเหตุปัจจัยให้กาย วาจา ใจบริสุทธิ์ เมื่อทวารทั้งสามนี้บริสุทธิ์ จึงสามารถแสดงความเคารพพระพุทธเจ้าได้ทุกพระองค์
ด้วยเหตุที่ได้พบพระพุทธะในธรรมธาตุ ได้มีปรีชาญาณแห่งพุทธะ จึงได้แลเห็นกายของตนบริสุทธิ์ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมของตนก็บริสุทธิ์ แล้วจึงใช้กรรม 3 ที่บริสุทธิ์ของตนเอง แสดงความเคารพนอบน้อมต่อพระพุทธะอยู่เป็นนิจ
อุปายวิธีในการสักการะพระพุทธองค์ตามพระสูตร ได้อธิบายว่า อุปมาฝุ่นละอองหนึ่ง เป็นโลกแห่งหนึ่ง ในโลกนี้ก็มีพระพุทธเจ้ามากมาย แวดล้อมด้วยโพธิสัตว์ไม่มีประมาณ ในจักรวาลนี้มีฝุ่นละอองมากมาย จึงทราบได้ว่า มีพระพุทธเจ้าและโพธิสัตว์มากมายนับไม่ถ้วน เมื่อทำจิตแผ่กว้างออกไปอย่างนี้ เราก็น้อมจิตว่าจะขอนมัสการพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์เหล่านั้น
เมื่อมีกายบริสุทธิ์แล้ว จึงสามารถปรากฏกายจำนวนมากเท่าปรมาณูไปยังพุทธเกษตรต่างๆ จำนวนประมาณมิได้ เพื่อนมัสการพระพุทธเจ้าจำนวนเท่าปรมาณูอันประมาณมิได้ ในขณะนั้นจึงได้เข้าสู่ธรรมธาตุ เพื่อนมัสการพระพุทธะในธรรมธาตุ อันธรรมธาตุนั้นไม่สิ้นสุด พระพุทธะก็ไม่สิ้นสุด กายของเราก็ไม่สิ้นสุด การนมัสการจึงไม่สิ้นสุดด้วยเช่นกัน
สมมติว่า อากาศหรือจักรวาลสิ้นสุด การนมัสการเคารพนอบน้อมของเราจึงสิ้นสุด แต่อากาศธาตุหรือจักรวาลก็คือธรรมธาตุ เพราะธรรมธาตุไม่สิ้น จักรวาลจึงไม่สิ้น การนมัสการนอบน้อมต่อพระพุทธเจ้าทั้งปวงของเราจึงไม่สิ้นสุด
สัตวธาตุ ก็คือธรรมธาตุ เพราะธรรมธาตุไม่สิ้น สัตวธาตุจึงไม่สิ้น ดังนั้น การนอบน้อมต่อพระพุทธเจ้าทั้งปวงของเราจึงไม่สิ้นสุด
กิเลสของสัตว์ ก็คือธรรมธาตุ กิเลสของสัตว์ไม่สิ้น การนอบน้อมต่อพระพุทธเจ้าทั้งปวงของเราจึงไม่สิ้นสุด
กรรมธาตุ เพราะธรรมธาตุไม่สิ้น กรรมธาตุไม่สิ้น การนอบน้อมต่อพระพุทธเจ้าทั้งปวงของเราจึงไม่มีที่สิ้นสุดอวสาน
การระลึกแม้นในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ก็ระลึกด้วยนอบน้อมสืบเนื่องไม่ขาดหายอยู่เช่นนี้ จึงไร้ซึ่งกาลเวลา มีกาย วาจา ใจที่บริสุทธิ์ด้วยความไม่มีคู่เปรียบ จึงเรียกว่า “อสังขตธรรม” เหตุนี้จึงนอบน้อมเคารพอยู่เป็นปกติ อย่างไม่รู้เบื่อหน่าย
มดเอ๊กซ:
2. สรรเสริญพระตถาคต 二者稱讚如來
คือการยกย่อง สรรเสริญ สดุดีซึ่งพระพุทธคุณ พระคุณของพระพุทธเจ้านั้นมีอเนกประการ เป็นที่สุด หาสิ่งใดในจักรวาลเสมอมิได้ เหตุนี้เราจึงจะยกย่อง สรรเสริญ สดุดี ดั่งความตอนหนึ่งในปรินิพพานสูตรฝ่ายมหายานที่พระกัสสปะโพธิสัตว์สรรเสริญพระพุทธเจ้าว่า “ข้าฯขอสรรเสริญซึ่งธรรมประการหนึ่งของพระพุทธองค์ คือทรงมีเมตตาจิตอย่างยิ่งได้เสด็จไปในโลกธาตุ อันเมตตานี้คือสุทธิวิโมกษ์ เมตตานี้คือมหาธรรมขันธ์”
ก็เพราะความเมตตาของพระพุทธองค์ จึงก่อเกิดธรรมทั้งปวง ความเมตตาสมบูรณ์ด้วยความดีทั้งปวง สมบูรณ์ด้วยทศพละ เวสารัชชธรรม คือกำลังและธรรมที่มีเฉพาะพระพุทธเจ้า อันไม่เหมือนกับเมตตาของพระสาวกที่ไม่สมบูรณ์ แล้วจะประสาไรกับความเมตตาเทวดาและมนุษย์ที่เทียบกันไม่ได้เลย
ดังนั้น ความเมตตาของพระพุทธองค์จึงรวมไว้ซึ่งคุณธรรมหมื่นประการ และความกรุณา มุฑิตา อุเบกขาของพระพุทธองค์ก็เช่นกัน หากสรรเสริญพระพุทธคุณด้วยสภาวะแห่งธรรมหรือกำลังของพระสมันตภัทรแล้วมิได้เข้าถึงธรรมธาตุ มิได้พบ มิเข้าใจย่อมเป็นไปมิได้
นี่คือสมันตภัทรปณิธานประการแรกๆ ด้วยเพราะมีปณิธานจึงก่อเกิดจริยา เพราะมีปณิธานและจริยาผสานกันจึงเข้าสู่ธรรมธาตุได้ และโลกธาตุทั้งหลายที่มีจำนวนเท่าปรมาณูในอวกาศ แต่ละปรมาณูก็มีสภาวะเป็นศูนยตา ซึ่งล้วนแต่มีพระพุทธเจ้าจำนวนเท่าปรมาณูอยู่ภายใน แต่ละพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งๆ ก็มีหมู่โพธิสัตว์มหาศาลแวดล้อมอยู่ อุปมาหมู่ดาวบนฟ้า และดุจไพร่ฟ้าเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน พระพุทธคุณประเสริฐหาประมาณมิได้อันหมู่สัตว์พึงน้อมเป็นที่พึ่ง
เราใช้ศรัทธาที่มีต่อพระพุทธเจ้าในข้อแรก น้อมมาพิจารณาพระคุณธรรมต่างๆ ของพระพุทธเจ้าทั้งปวงอีกครั้ง จะเห็นว่ามีมากมายไม่อาจพรรณนาได้หมดในช่วงเวลาที่น้อยนิด ในพระสูตรกล่าวไว้เสมอว่า พระพุทธเจ้าอีกองค์หากจะพรรณนาถึงพระคุณธรรมของพระพุทธเจ้า หรือพระมหาโพธิสัตว์สักองค์ หากจะใช้เวลาเป็นกัลป์หนึ่งหรือหลายกัลป์ไม่อาจกล่าวได้ครบถ้วน ในข้อนี้เราจะต้องมีความเลื่อมใสในปณิธานข้อแรกอย่างเต็มเปี่ยมเสียก่อน
จากนั้นจึงสรรเสริญสดุดีพระพุทธคุณด้วยภาษาสำเนียงที่ไพเราะกว่าศัพท์หรือสำเนียงของพระนางสุรัสวตี เทวีแห่งการศึกษา วาจาและอักษรศาสตร์ พระพุทธเจ้ามีจำนวนมาก หากเราจะสรรเสริญไปจนถึงอวกาศหรือสัตว์โลกหมดสิ้นไปก็ยังสรรเสริญได้ไม่หมดสิ้น
หากเราใช้ปัญญาและศรัทธาที่ลึกซึ้ง ก็จะรับรู้หรือสัมผัสพระพุทธเจ้าทั้งปวงในจิต เมื่อเรามีจิตเช่นนี้แล้ว จะรู้เห็นว่าสรรพเสียงต่างๆในโลก ก็คือสุรเสียงของพระพุทธองค์ คือการลดทวิภาวะ ความเห็นแบ่งแยก หรือทลายอัตตาลงได้ ไม่ว่าจะมอง ดู ฟังอะไรๆ ก็คือธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนเราอยู่ตลอดเวลาไม่เคยหยุดเลย เพราะเมื่อใจเป็นธรรม เห็นธรรม ทุกสิ่งในจักรวาลก็เป็นธรรมราบเสมอกัน ไม่แบ่งแยกว่าสิ่งนี้คืออธรรม สิ่งนั้นคือธรรม
ในพระสูตรสอน การทำสมาธิเพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้าไว้ 4 ขั้นตอน คือ
1. สรรเสริญพระพุทธเจ้าให้ออกมาทางวาจา และจากจิตภายใน
2. ทุกอณูหรือทุกเซลล์ของร่างกายที่ไหลเวียน ก็มีตัวเราสรรเสริญพระพุทธเจ้าอยู่
3. มีการสรรเสริญพระพุทธเจ้าเปล่งออกมาทุกขุมขนในร่างกาย
4. จนมีการสรรเสริญพระพุทธเจ้าดังก้องไปทั่วจักรวาล
นี้คือวิธีเริ่มต้นการสรรเสริญพระพุทธเจ้าจากภายในตนเอง แล้วแสดงออกมาภายนอก นับเป็นอุปายะที่แยบคาย เมื่อเจริญแล้วจะได้ทั้งศรัทธาและความสงบทั้งกาย วาจาและใจ เพราะความไม่มีอัตตา เป็นอนัตตาหรือไร้ตัวตน สลัดทิ้งความรู้สึกว่าเป็นตัวตนในปัจจุบัน เพื่อรวมเป็นสภาวะเดียวกับจักรวาล จึงเข้าสู่ธรรมธาตุ แล้วจึงน้อมมาพิจารณาตัวตนในปัจจุบัน ทำให้เกิดปัญญาว่าทั้งตัวตนในปัจจุบันของเรานี้ กับธรรมธาตุก็เป็นอนัตตา ไม่เที่ยง ไม่เป็นตัวตน เป็นมายา เพราะจิตปรุงแต่งแล้วไปยึดมั่นเอาเองทั้งสิ้น
อันพระคุณแห่งพระพุทธเจ้านั้นมีปริมาณกว้างใหญ่ไพศาลดุจอวกาศ เมื่อธรรมธาตุไม่สิ้น การสรรเสริญของเราจึงไม่สิ้น อากาศธาตุ สัตวธาตุ กิเลสของสัตว์ กรรมของสัตว์ไม่สิ้น เราจึงสรรเสริญอยู่ไม่รู้จบสิ้น การระลึกแม้นในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ก็ระลึกด้วยนอบน้อมสืบเนื่องไม่ขาดหายอยู่เช่นนี้ จึงไร้ซึ่งกาลเวลา เหตุนี้จึงสรรเสริญสดุดีอยู่เป็นปกติ ไม่รู้เบื่อหน่าย
มดเอ๊กซ:
3. ถวายสักการะยิ่งใหญ่ 三者廣修供養
ฟ้าดินก่อเกิดสรรพสิ่งเพื่อหล่อเลี้ยงมนุษย์ มนุษย์ก็นำสรรพสิ่งบูชาพระพุทธองค์ และบริจาคแก่สัตว์ทั้งหลาย ให้ภายในรู้ละวางความละโมบถี่เหนียว (ปัญญา หรือ 慧) ภายนอกก็สั่งสมกุศลสมภาร (บุญ หรือ 福) จึงเรียกว่า “บุญและปัญญาสมบูรณ์ทั้งสองส่วน”(福慧雙修) การบูชาด้วยธรรม สิ่งของที่ประณีต บูชาด้วยกายทำดี วาจาสรรเสริญ หรือน้อมจิตบูชา ก็คือการบูชาด้วยการทำดี 10 ประการทางกาย วาจาและใจนั่นเอง
ผู้บูชาหากนำสิ่งมีค่าที่สุดของตนถวายต่อพระอริยเจ้าแล้วไซร้ จึงชื่อว่า “สักการะยิ่งใหญ่” หาใช่ที่ปริมาณ พึงทราบว่าการสักการะมีอานิสงค์คือ “บุญ” เพราะมีบุญจึงมั่งมี เมื่อมั่งมีจึงสามารถสักการบูชา อันสิ่งของ การบูชา และบุญ ทั้ง 3 ส่วนมีความเกี่ยวพันเป็นเหตุปัจจัยอยู่เช่นนี้
แล้วพระพุทธะประทับที่ใด? ที่ไหนจึงได้เห็นพระพุทธะ? ธรรมธาตุนั้นไร้ลักษณะ อวกาศก็รูปร่าง โลกธาตุจำนวนเท่ากับปรมาณูในทิศทั้ง 10 และในอดีต ปัจจุบัน อนาคต ก็ล้วนมีสภาวะเป็นศูนยตา สามารถแลเห็นพระพุทธะในธรรมธาตุได้จากแต่ละปรมาณูหนึ่งๆทั้งสิ้น พระพุทธะหนึ่งๆ ต่างทรงหมุนมหาธรรมจักร ที่ประทับของพระพุทธะหนึ่งๆ ก็ยังแวดล้อมด้วยหมู่โพธิสัตว์จำนวนมหาศาล
เราทั้งหลายได้ประกาศสมันตภัทรมหาปณิธาน ประพฤติสมันตภัทรมหาจริยาแล้ว ด้วยกำลังของปณิธานและจริยา ความมีจิตศรัทธาบริสุทธิ์ลึกซึ้ง มีใจอันน้อมไปตาม จึงได้เห็นตามที่ปรากฏ จึงได้รู้ตามที่ปรากฏ เมื่อได้เห็นธรรมสันนิบาตที่ประชุมของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย แล้วจึงมีลักษณะ(事) อันเกิดแต่ธาตุ(理) หรือจริยา(行)ที่เกิดจากปณิธาน(願) ทุกสิ่งจึงบริสุทธิ์และสมบูรณ์ เรียกว่าการกระทำอันเกิดแต่ธรรมธาตุภาวะ การสักการะจึงยิ่งใหญ่ไม่มีประมาณ เครื่องสักการะที่ประณีตทั้งปวง อันมีของหอม ควันของเครื่องหอมที่ลอยเต็มท้องฟ้า เครื่องทาหอมก็ชโลมทาทั่วพื้นปฐพีในโลก พวงมาลา เครื่องดนตรี ร่มฉัตร แพรพรรณ ก็เต็มเปี่ยมทั่วธรรมธาตุเพื่อบูชาพระตถาคต ดวงประทีปมีความใหญ่โตปานสิเนรุสิงขร น้ำมันหอมมีปริมาณเท่ามหาสมุทรเพื่อบูชาพระตถาคต
ประการนี้เรียกว่าการบูชาโดยลักษณะ(事) แล้วนำลักษณะกลับสู่ธาตุ(理) เพราะธาตุเดิมแท้บริสุทธิ์จึงคือธรรม อีกนัยยะหนึ่งคือการบูชาอันเกิดจากธาตุ(理)แล้วแสดงออกในรูปของลักษณะ(事) เพื่อสั่งสอนสัตว์โลกก็ได้ ล้วนเรียกว่า ธรรมบูชา เมื่อประพฤติตามธรรม ดวงจิตจึงครอบคลุมธรรมธาตุ มีกุศลเท่าอวกาศ เพราะในบรรดาการบูชาทั้งปวง ธรรมบูชาประเสริฐที่สุด เพราะธรรมภาวะนั้นบริสุทธิ์ เมื่อประพฤติตามธรรมจึงคือการบูชาธรรมธาตุกายของพระตถาคต
การบูชาพระตถาคตแบ่งได้ 7 ประการคือ
1. การปฏิบัติบูชา ตามคำสอนของพระพุทธองค์
2. บูชาด้วยการยังประโยชน์สุขให้สรรพสัตว์ พวกเรารู้จักแต่การบูชาเพื่อขอให้ตนเองมีความสุข ได้บุญกุศล แต่การบูชาพระพุทธเจ้าของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายนั้น มีแต่หวังให้สรรพสัตว์ทั้งหลายได้มีสุข
3. บูชาด้วยการสงเคราะห์สรรพสัตว์ พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงอุบัติขึ้นในโลกก็เพื่อสงเคราะห์หมู่สัตว์ ด้วยความเมตตากรุณาไม่มีประมาณ ไม่ใช่ทรงอุบัติขึ้นเพื่อพระองค์เอง การบูชาพระพุทธเจ้าด้วยการช่วยเหลือ การสงเคราะห์เพื่อนร่วมโลก ไม่เฉพาะแต่มนุษย์ด้วยกัน แม้แต่เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย เทวดา นาค เราก็จะช่วยเหลือตามกำลังสามารถ จึงจะเรียกว่าได้เจริญตามจริยาวัตรของพระพุทธองค์
4. การรับทุกข์แทนสรรพสัตว์ พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีพระเมตตากรุณาไม่มีประมาณ ที่อุบัติขึ้นในโลกแห่งความทุกข์ ความเสื่อม ทรงตรากตรำ ทรงวิริยะเหนื่อยยากเพื่ออธิบายธรรมแก่หมู่สัตว์ที่ดื้อดึง แข็งกระด้าง ก่อนหน้านั้นพระองค์ยังได้บำเพ็ญบารมี ด้วยการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ ทรงสละร่างกาย สิ่งอันเป็นที่รัก ความสุขเฉพาะตนมานานแสนนาน ด้วยปรารถนาช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ รู้ธรรม การเกิดจิตที่จะรับทุกข์แทนสรรพสัตว์เท่านี้ จิตของเราก็จะยิ่งใหญ่และเข้าสู่ธรรมธาตุได้ หากจะเปรียบความทุกข์ของสรรพสัตว์อุปมาหินก้อนใหญ่ แต่เมื่อจิตเราเป็นดั่งธรรมธาตุหรือจักรวาลที่ไม่มีขอบเขตแล้ว ก็ย่อมรับทุกอย่างไว้ได้ด้วยความไม่สะทกสะท้าน เพราะหินและตัวเราล้วนเป็นมายา ที่เกิดเป็นตัวตนขึ้นมาเพราะอวิชชาไปยึดมั่นถือมั่นเอง อุปายะข้อนี้ถือเป็นการละลายอัตตาของโพธิสัตว์ทั้งหลาย
5. การเร่งเพียรสร้างกุศลมูล ในตนเองให้ถึงพร้อมและช่วยให้สรรพสัตว์ปฏิบัติตาม
6. การไม่ละทิ้งจริยาวัตรของโพธิสัตว์ เพราะพระโพธิสัตว์ทั้งหลายประพฤติจริยา อันเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของสัตว์โลกทั้งสิ้น ดังนั้นทุกๆความรู้สึก ทุกๆความระลึกในจิต ล้วนเป็นไปเพื่อให้สัตว์โลกได้พ้นทุกข์ ไม่ทอดทิ้ง ไม่ดูดาย ไม่วางเฉย จึงทำให้โพธิสัตว์ทั้งหลายเพียรสร้างกุศลบารมีในตน เพียรอบรมปัญญา และนำมาเป็นอุปายะช่วยเหลือสัตว์โลกตามจริตอัธยาศัย โดยมีเมตตากรุณาที่ยิ่งใหญ่ เป็นเครื่องนำ
7. บูชาด้วยการไม่ห่างจากโพธิจิต การมีโพธิจิตจะทำให้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าได้ เพราะการมีโพธิจิตนี้จึงเป็นกำลังในการบูชาทั้ง 6 ข้อข้างต้นได้ จึงเป็นกำลังในการทำประโยชน์แก่สัตว์โลกไม่มีประมาณ ถือว่าเป็นพลังใจที่น่าอัศจรรย์
อนึ่ง การให้ธรรมเป็นทานนั้นไม่มีประมาณ ไม่สิ้นสุด แต่ให้ทรัพย์เป็นทานยังมีจำกัด พระพุทธเจ้าทั้งปวงมีธรรมเป็นอาจารย์ เมื่อบรรลุธรรมจึงสำเร็จพุทธะ เมื่อสำเร็จพุทธะจึงแสดงธรรม จึงทรงเคารพธรรมเป็นหนักหนา หากสรรพสัตว์ประพฤติตามธรรม จึงได้ชื่อว่าประพฤติตามพระพุทธเจ้า บรรดาโพธิสัตว์ปฏิบัติบูชา จึงได้พบพระพุทธะอันมีกายเป็นธรรม มีดวงจิตตามธรรม เช่นนี้จึงชื่อว่า “ธรรมบูชา” อย่างแท้จริง
ผู้คนในปัจจุบันส่วนมากจะเข้าใจว่าการบูชาพระพุทธเจ้านั้นมีเพียงการบูชาด้วยสิ่งของ หรืออามิสบูชา ด้วยสิ่งของสวยๆงามๆ หรือมีราคาแพงๆ หรือการจัดประรำพิธีให้ยิ่งใหญ่สมฐานะของผู้เป็นเจ้าภาพ แต่ไม่เข้าใจการบูชาที่แท้จริง จึงนับว่าเป็นผู้ที่เสียทรัพย์ เสียแรง เสียเวลาไปโดยไม่ได้อานิสงค์ที่พึงได้เลย เรากล่าวว่าการให้ทรัพย์ ให้ธรรม ให้อภัยเป็นทาน ก็คือการบูชาเช่นกัน หากเราบูชาด้วยธรรมเราจึงเข้าถึงธรรม แต่หากเราบูชาด้วยอามิสหรือสิ่งของ ที่เจือปนด้วยกิเลสจึงได้แต่กิเลสเป็นสิ่งตอบแทน
เราไม่อาจปฏิเสธอามิสสิ่งของบูชาว่าไม่มีความสำคัญ เพราะเราท่านยังมีกายสังขาร หากเราจะใช้อามิสสิ่งของให้เกิดประโยชน์ตามคุณลักษณะที่แท้ ก็ควรบริจาคทานแก่ผู้ยากไร้จะดีกว่า เมื่อพูดถึงการให้ทาน ก็จะประกอบด้วยคนทั้ง 2 ฝ่ายคือผู้ให้และผู้รับ ในคัมภีร์วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร (金剛經) ยังกล่าวว่า การให้ทานที่มีอานิสงค์มาก คือผู้ให้ทานก็ให้ด้วยความไม่มีอัตตาตัวตนว่าเป็นผู้ให้ และไม่มองผู้รับว่ามีผู้รับ คือการมองเป็นความว่าง สักว่าเป็นกิริยาทั้งสองส่วน เพราะเมื่อเรามองเห็นว่าเป็นให้ย่อมเกิดอัตตา หากมองว่ามีผู้รับก็จะเกิดมานะ ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของการให้ทานที่มุ่งให้สละทรัพย์ภายนอกจนถึงความเป็นตัวตน
การบูชาที่วิเศษยิ่งใหญ่ ต้องพร้อมด้วยธาตุ(理) และลักษณะ(事) คือธรรมและทรัพย์ไม่เป็นสองคือไม่มีความเห็นแยกว่าต่างกัน(財法無二) ด้วยใจที่ไม่มีกิเลสอย่างแท้จริง และเพราะอวกาศไม่สิ้นสุด ธรรมธาตุไม่สิ้น สัตวธาตุ กิเลสของสัตว์ กรรมของสัตว์ไม่สิ้น เราจึงบูชาอยู่ไม่จบสิ้น การระลึกแม้นในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ก็ระลึกถึงการสักการะสืบเนื่องไม่ขาดหายอยู่เช่นนี้ จึงไร้ซึ่งกาลเวลา ด้วยกาย วาจา ใจที่บริสุทธิ์ เหตุนี้จึงถวายบูชาอยู่เป็นปกติ ไม่รู้เบื่อหน่าย
มดเอ๊กซ:
4. สำนึกในความผิด 四者懺悔業障
อวตังสกะสูตร มีศัพท์เฉพาะของนิกายมหายานสำนักนี้ว่า “เอกสัตยธรรมธาตุ” (一真法界) หมายถึง ธาตุ(理) ซึ่งก็คือสภาวะเดิมแท้ของทุกสรรพสิ่ง เมื่อไม่รู้แจ้งเอกสัตยธรรมธาตุจึงเรียกว่า อวิชชา บริวารของอวิชชามี โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เพราะพิษทั้ง 3 นี้ทำให้สร้างกรรมจำนวนมากมายประมาณไม่ได้ เพราะกรรมจึงนำมาซึ่งความทุกข์ ดังนั้นทะเลทุกข์จึงหาขอบฝั่งมิได้เพราะสรรพสัตว์ทำกรรมด้วยความโลภ โกรธ หลง อันกิเลส กรรมและทุกข์นี้ มีกรรมเป็นสิ่งร้ายแรงที่สุด เช่น กรรมจากการขัดขวางผู้ประพฤติธรรม ขัดขวางผู้จะรู้แจ้งธรรม ขัดขวางผู้ฟังธรรม ขัดขวางผู้เผยแผ่ธรรม ขัดขวางผู้จะไปเกิดยังวิศุทธิภูมิ ชักนำมนุษย์เข้าสู่สังสารวัฏ เข้าสู่นรก ชักนำคนให้สร้างกรรมชั่ว ชักจูงให้คนเกิดกิเลส ชักนำให้คนเสื่อมถอยจากโพธิจิต ล้วนมีผลเป็นวิบากคอยขัดขวางทั้งสิ้น
พระโพธิสัตว์เมื่อระลึกน้อมเข้ามาในตนเองแล้วย้อนไปในอดีตอันหาจุดเริ่มมิได้ พบว่าเป็นเพราะโลภ โกรธ หลง ที่ทำให้กาย วาจา ใจกระทำอกุศลกรรมทั้งปวง บ้างก็สร้างกรรมแค่ 1 วันหรือ 1 ปี หรือทั้งชีวิต ทุกภพชาติก่อแต่กรรมชั่ว ไม่มีประมาณไร้ขอบเขต หากกรรมชั่วนี้จับต้องได้แล้วไซร้ อวกาศที่ว่างเปล่าคงบรรจุไม่หมดเป็นแน่ เมื่อพิจารณาอย่างนี้มหาหิริ มหาโอตัปปะ คือความเกรงกลัวและละอายบาปที่ยิ่งใหญ่จะเกิดขึ้นในตนเอง เกรงกลัวแม้แต่กรรมที่เล็กน้อย ในกษิติครรภ์มูลปณิธานสูตร (地藏本願經) กล่าวว่า เพราะสรรพสัตว์ไม่ละอายต่อความชั่วเล็กน้อยจนเคยชินเป็นนิสัย ความชั่วนั้นจึงมากขึ้นเรื่อยๆ
บัดนี้เราได้พบเจอพระสมันตภัทร จะใช้กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่บริสุทธิ์แผ่ไปทั่วธรรมธาตุ แล้วตั้งจิตที่เบื้องหน้าพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์แต่ละองค์ เพื่อรู้สำนึกและขมากรรมต่อความผิดพลาดในอดีตและปฏิญาณว่าจะไม่กระทำซ้ำอีก คือบาปเก่าดับสิ้น บาปใหม่ไม่เกิด แล้วจะพบว่าสภาวะแต่เดิมนั้นบริสุทธิ์ ทำให้เราดำรงอยู่ในพระธรรมวินัย สร้างกุศลธรรมและยังประโยชน์เกื้อกูลหมู่สัตว์ตลอดไป (三聚大戒) เช่นนี้จึงได้บรรลุถึงศีลกุศลทั้งปวง
ทั้งยังจะอาศัยกำลังแห่งปณิธานและจริยาของพระสมันตภัทรโพธิสัตว์พิจารณาบาปว่า “บาปเกิดขึ้นแต่จิตแล้วขมาที่จิต หากจิตดับแล้วบาปก็สูญ บาปสูญและจิตดับคือความว่าง 2 ประการ เช่นนี้จึงชื่อว่าการขมากรรมที่แท้จริง” (罪從心起將心懺,心若滅時罪亦亡,罪亡心滅兩俱空,是則名為真懺悔) อุปมากระจก ที่แต่เดิมนั้นไร้ฝุ่นละออง รู้แจ้งว่ามลทินนั้นที่แท้ไร้ซึ่งมลทิน ดวงจิตและกระจกจึงบริสุทธิ์อยู่เป็นนิจ
เพราะอวกาศไม่สิ้นสุด การขมากรรมของเราจึงไม่สิ้นสุด หากสัตวธาตุสิ้นสุด เราจึงหยุดขมากรรม ตราบใดที่กิเลสของสัตว์ กรรมของสัตว์ไม่สิ้น เราจึงขมากรรมอยู่ไม่จบสิ้น การระลึกแม้นในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ก็ระลึกถึงการสำนึกผิดและขมากรรมอยู่สืบเนื่องไม่ขาดหายเช่นนี้ และไม่กระทำบาปทั้งปวงอีก ระลึกอยู่เช่นนี้ไม่ขาดสิ้น สำนึกผิดเป็นนิจ ขมากรรมเป็นนิจ จึงบริสุทธิ์อยู่เป็นนิจ มีกาย วาจา ใจที่บริสุทธิ์ เหตุนี้จึงไม่รู้เบื่อหน่าย
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
Go to full version