คลังธรรมปัญญา > หนังสือธรรมะ

"คำสอนเซน ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"

(1/9) > >>

ฐิตา:



หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
บทที่ 1 การณ์เป็นไปเช่นนั้น

ความอุดมสมบูรณ์แห่งผืนดิน ทำให้ต้นไม้ได้แผ่กิ่งก้าน ผลิใบบางต่อยอดต่อกิ่งของมันออกไป สายฝนที่โปรยปรายตามฤดูกาล ทำให้ดินมีความชุ่มชื้นอยู่อย่างสม่ำเสมอ รากของต้นไม้เร่งทำหน้าที่ของมันดูดซับน้ำหล่อเลี้ยงลำต้น เมื่อมันเป็นวาระแห่งความอุดมสมบูรณ์ที่มาเยี่ยมเยือน ต้นไม้มันก็พร้อมแสดงศักยภาพในความงดงามของมันออกมา ปุ่มเล็กๆค่อยๆทแยงดันออก จากข้อต่อระหว่างใบไม้และเปลือกหุ้มลำต้น การเจริญเติบโตเป็นไปด้วยความเหมาะสมบนกาลเวลา เป็นความพร้อมที่จะผลิตดอกออกผลมา ความสมบูรณ์อย่างเต็มที่ก็ทำให้เปลือก ที่เป็นปุ่มที่หุ้มเนื้อเยื่อมันปริออก เยื่อที่แผ่กลีบบางๆมีสีสันสวยงาม มันบานออกเพื่อความงามของมันตามรูปทรงแห่งธรรมชาติ มันคือดอกไม้ที่ธรรมชาติแห่งต้นแม่ได้รังสรรค์ปั้นแต่งขึ้น นี่คือความเป็นของดอกไม้

                         
ไข่อ่อนของตัวหนอนไหมที่ถูกแม่ไข่ทิ้งไว้ มันสามารถเจริญเติบโตของมันเองตามธรรมชาติ สัญชาตญาณจะพาให้มันเลี้ยงดูหากินด้วยตัวมันเอง เมื่อมันเติบโตพอมันจึงหาอาหารกินใบไม้ เพื่อพ่นเส้นใยทำรังห่อหุ้มตัวของตัวเอง อวัยวะเริ่มแปรเปลี่ยนสภาพไปจากความเป็นหนอน หู ตา แขน ขา และปีก เริ่มแทงทะลุเหยียดออกมาจากลำตัว เมื่อความพร้อมมาเยือนสำหรับการเริ่มต้น ของชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่งของดักแด้นั้น การลอกคราบ เพื่อโบยบินกระพือปีกไป ในความเป็นอิสรเสรีบนโลกกว้าง ก็เริ่มขึ้น นี่คือความเป็นไปแห่งผีเสื้อ

                 

เมื่อดอกไม้และผีเสื้อ ยังคงปรากฏในความเป็นไปตามธรรมชาติอยู่เช่นนี้ ความสัมพันธ์ของสองสิ่ง ที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงโดยรูปลักษณ์ จึงเข้ามาเกี่ยวพันกันด้วยเหตุปัจจัยที่ถึงพร้อม ในความเป็นของมันเองทั้งสอง ดอกไม้ก็ชูช่อบานไสวท้าทายแดดลม อวดโฉมความงามของมันโดยไม่สนใจใคร ผีเสื้อก็โบกบินไปภายใต้ผืนท้องฟ้าที่กว้างใหญ่ไพศาล เมื่อดอกไม้ทำหน้าที่เบ่งบานออกมาในยามเช้าแห่งอรุณรุ่ง และผีเสื้อก็ปรากฏกาย ณ ที่นั้น ถึงแม้ทั้งสองจะไม่มีใจถวิลหาต้องการซึ่งกันและกัน แต่ความมีหน้าที่ต่อกันตามธรรมชาติจึงทำให้เป็นไปเช่นนั้นเอง ดอกไม้บานเพื่อแสดงให้เห็นละอองเกสรของมัน ผีเสื้อก็ก้มดูดกินน้ำหวานที่ซ่อนอยู่ในเกสรของดอกไม้นั้น มันดูดกินดอกแล้วดอกเล่า เป็นการผสมพันธุ์ให้ต้นไม้นั้นผลิเป็นผลดอกออกมา ธรรมชาติได้ดึงดูดให้สองสิ่งทำหน้าที่ต่อกันอย่างลงตัว ดอกไม้ไม่เคยเชื้อเชิญผีเสื้อสักครั้งเดียว และผีเสื้อก็ไม่มีความตั้งใจถวิลหาดอกไม้ แต่เมื่อเหตุและปัจจัยเป็นไปตามธรรมชาติ ดอกไม้จึงบานออก ผีเสื้อจึงบินมาวน การณ์จึงเป็นไปเช่นนั้น เป็นไปอยู่แบบนั้น


: F/B นิกายเซน หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน
26 มกราคม 2557

                         

กระตุกหางแมว:
อนุโมทนาครับพี่แป๋ม  :45: :13:

ฐิตา:

                 

บทที่ 2 เซนในสายเลือด
เมื่อครั้งที่ฉันยังปฏิบัติธรรมฝึกฝนตนเองอยู่ที่อินเดีย ท่านอาจารย์สอนให้ฉันรู้จักความเป็นตัวตนที่แท้จริงของฉันเอง ได้รู้จักหน้าตาที่แท้จริงของธรรมชาติดั้งเดิมแท้ ที่อยู่มากับตัวฉันเองโดยตลอดตั้งแต่ต้น อาจารย์ท่านได้มีความเมตตากรุณาถ่ายทอดธรรมชาตินั้น มาสู่เนื้อหาความเป็นธรรมชาติในความเป็นฉันเอง เพื่อให้ฉันได้ตระหนักว่าแท้จริงชีวิตซึ่งเป็นชีวิตจริงๆของฉันนั้นคืออะไร และควรดำเนินชีวิตนี้ไปในทางใดลักษณะใด

 หลังจากนั้นต่อมา ฉันจึงได้รู้อย่างแจ้งชัดแล้วว่า การเห็นธรรมชาติแห่งตนเองนั้นก็คือ เซน ความที่เป็นธรรมชาติแห่งการไม่เคยคิดถึงอะไรเลยก็คือ เซน ทุกสิ่งที่ฉันทำก็คือ เซน เพราะเซนก็คือความเป็นธรรมชาติที่ฉันเป็นอยู่นั่นเอง หน้าที่แห่งการชำระจิตใจอันแปดเปื้อนสกปรกโสมมของฉัน ก็จบลงแต่เพียงเท่านี้ แต่หน้าที่แห่งการที่จะต้องดำเนินชีวิตต่อไปนี้ ก็สุดแล้วแต่โชคชะตาจะพาฉันไป

ฉันมาสู่ประเทศจีน ก็ด้วยเหตุผลเพียงประการเดียว คือการทำหน้าที่เผยแผ่ถ่ายทอดธรรมอันบริสุทธิ์ ซึ่งคือธรรมชาตินี้ให้ไปสู่แก่ชนรุ่นหลัง ด้วยเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะทำให้ความรู้ อันเป็นเหตุให้ได้ตระหนักรู้อย่างชัดแจ้งในธรรมชาติดั้งเดิมแท้นี้ มีการสืบทอดคงอยู่ตลอดไปแบบไม่ขาดสาย

                   

ความเป็นเนื้อนาบุญแห่งการรักษาจิตใจของตน ไม่ให้เศร้าหมองเพื่อกั้นจิตไม่ให้ตกไปสู่ภพภูมิที่ลำบากนั้น ฉันไม่ค่อยเป็นห่วง เหล่าโพธิสัตว์ทั้งหลายในรุ่นก่อนๆก่อนหน้าที่ฉันจะมาสู่ที่นี่ ก็ได้ทำหน้าที่ของตนเอง ในการเผยแผ่พระธรรมคำสอนได้อย่างดีที่สุดแล้ว การบำเพ็ญบริจาคทานและการรักษาศีลในจีนนั้น เป็นไปด้วยความมีศรัทธาอย่างกว้างขวางในหมู่บรรพชิตนักบวช และอุบาสกอุบาสิกาผู้ที่มีความตั้งใจมั่นยึดเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ฉันรู้สึกเป็นห่วงอย่างมาก และเป็นเหตุปัจจัยเดียวที่ทำให้ฉันมาเหยียบแผ่นดินนี้

 ก็คือความที่ไม่มีใครเลยสักคนเดียว ที่รู้จักคำสอนอันเป็นแก่นแท้ของตถาคตเจ้าอันคือธรรมชาตินี้ ไม่มีใครสักคนที่รู้จักความเป็นมนุษย์ที่แท้จริงของตนเองเลย ทุกคนเอาแต่ใฝ่บุญ ซึ่งเป็นการสร้างเหตุปัจจัยชั่วคราวแบบไม่ยั่งยืนแต่เพียงเท่านั้น แท้จริงแล้วความเป็นมนุษย์ ไม่มีอะไรสำคัญมากไปกว่าชีวิตและความตาย ที่มันยืนรอเราอยู่เบื้องหน้า ชีวิตที่ก่อเกิดเป็นอยู่และกำลังดำเนินไปอยู่นั้น มันเป็นชีวิตที่เสมือนแขวนไว้อยู่บนเส้นด้าย เมื่อเส้นด้ายซึ่งมีเพียงสภาพอันเปราะบางนั้นขาดลง ก็ทำให้เราพลัดตกลงไปสู่ภพภูมิต่างๆ ที่รอการเกิดใหม่อยู่เบื้องหน้าซึ่งเป็นหนทางที่ยากลำบาก

ความเป็นทุกข์เพราะการไปเกิดในสังสารวัฏอันนับไม่ถ้วนนั้น ทำให้ต้องเร่งรีบย้อนกลับมามองดูตนเองว่า เสี้ยวเวลาแห่งชีวิตที่เหลืออยู่อันน้อยนิดนั้น เราควรที่จะดำเนินชีวิตไปด้วยความไม่ประมาทอย่างยิ่ง ไม่ประมาทด้วยการใฝ่หาประโยชน์อันสูงสุด นำมาสู่ชีวิตอันมีค่าประเสริฐยิ่งของพวกเรา อันจะทำให้เราพ้นออกมาจากพงหนาม ที่เราได้เหยียบย่ำไปในที่รกชัฏแห่งวัฏสังสารการเวียนว่ายตายเกิด ด้วยอำนาจแห่งความโง่เขลาของเราเอง


เมื่อฉันมาที่นี่ผู้เดียว ฉันจึงเป็นอาจารย์แต่ผู้เดียวที่สามารถสั่งสอนพวกเธอได้ ฉันได้รับวิธีการใดมาจากอาจารย์ของฉัน ฉันก็จะสอนพวกเธอไปแบบนั้น คำเทศนาที่พรั่งพรูออกมาจากหัวใจแห่งพุทธะของฉัน ที่พวกเธอได้ตั้งใจฟังนั้น มันเป็นคำสอนที่ล้วนออกมาจากสายเลือดแห่งความเป็นเซนของฉันเอง มันเป็นเลือดทุกหยดซึ่งคือประสบการณ์ในชีวิตของฉันทั้งชีวิต และเลือดแห่งเซนนี้ ก็นำพาฉันมาที่นี่เพื่อมาเป็นครูสอนพวกเธอโดยเฉพาะ ก็ทั้งร่างกายและจิตใจของฉันทั้งหมดนี่แหละ คือเซน คือธรรมชาติแห่งเซน พวกเธอทั้งหลายล้วนอย่าได้มีความวิตกกังวลใดๆเลย จงโปรดมอบความไว้วางใจนั้นหยิบยื่นมาให้แก่ฉัน ในฐานะที่ฉันเป็นอาจารย์ผู้ชี้หนทางอันสว่างให้แก่พวกเธอ ธรรมชาติที่ฉันตั้งใจจะมาถ่ายทอดให้กับพวกเธอนี้ ล้วนเป็นธรรมชาติอันสืบทอดมาโดยตรงจากองค์พระศาสดา อันจะทำให้พวกเธอไม่มีวันได้หลงออกไปจากหนทางที่แท้จริงนี้ได้อีก และมันจะทำให้พวกเธอได้ทำหน้าที่ของพวกเธอเองได้อย่างถูกต้อง

 และด้วยภาระหน้าที่อันสาหัสสากรรจ์ ฉันก็จะใช้ความอดทนและรอคอย ต่อความเป็นไปใน "การนับหนึ่ง" เพื่อให้ถึงความสมบูรณ์พร้อมในวันข้างหน้า ฉันเป็นเพียงฐานะตัวแทนแห่งกลีบเดียวของดอกไม้ดอกนั้น กาลเวลาและเหตุปัจจัย ในการลงมาทำหน้าที่ของเหล่าโพธิสัตว์ทั้งหลาย ที่พวกเขาเหล่านี้ "ผูกใจไว้" ด้วยความศรัทธายิ่งต่อพระตถาคตเจ้า การสืบสายธรรมของเหล่าโพธิสัตว์ทั้งหลายนี้ ก็จะเป็นไปอย่างบริบูรณ์พรั่งพร้อมในวันข้างหน้า เมื่อกลีบดอกไม้รวมได้ครบหกกลีบ และดอกไม้นั้นได้ผลิบานออกมา มันจึงเป็นนิมิตหมายถึงเมล็ดพันธุ์พืชแห่งพุทธะอันจำนวนมากมาย ที่สามารถแพร่กระจายเจริญเติบโต กลายเป็นต้นไม้ใหญ่ไปทั่วดินแดนแห่งจีนนี้ อันสามารถเติบโตเป็นร่มเงาที่พึ่งให้แก่พุทธศาสนิกชน ผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาทั้งหลายในรุ่นหลังๆ ให้เข้ามาพึ่งพิงพักพิงตลอดสืบไป



   หนังสือ "คำสอนเซน
   ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
   : อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
   28 มกราคม 2557

ฐิตา:

                 

หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร

บทที่ 3 ปรมาจารย์ตั๊กม้อ

ท่านโพธิธรรมหรือปรมาจารย์ตั๊กม้อ ท่านถือกำเนิดเมื่อปี พุทธศักราช 440 ณ เมืองคันธารราช (Kanchi) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของดินแดนปัลลวะ อันเป็นที่อยู่ของชาวพื้นเมืองกลุ่มใหญ่ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย ท่านเกิดในวรรณะกษัตริย์ โดยเป็นราชโอรสองค์ที่ 3 ของพระเจ้าสิงหวรมัน ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินของแคว้นคันธารราช ก็ครั้งเมื่อพระองค์มีพระชนมายุวัยเยาว์ ท่านมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ท่านมีความแตกฉานในคัมภีร์ไตรเภท ของศาสนาพราหมณ์ที่ท่านเคยนับถือมาแต่เดิม เพราะพระบิดาได้ส่งท่านไปเรียนในสำนักตักศิลา ในฐานะราชบุตรที่จะได้ขึ้นปกครองมีอำนาจสืบต่อความเป็นกษัตริย์ แทนพระบิดาท่านต่อไปในภายภาคหน้า

 แต่เมื่อท่านเติบโตเป็นหนุ่มวัยฉกรรจ์ ท่านได้มีความศรัทธาหันมานับถือพระพุทธศาสนา เหตุเพราะในครั้งนั้นพระบิดาของท่าน ได้อาราธนาท่านพระอาจารย์ปรัชญาตาระเถระ (Prajnatara) ซึ่งเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ผู้มีความแตกฉานในคัมภีร์ต่างๆและมีลูกศิษย์มากมาย และเป็นภิกษุที่อาศัยอยู่ในแคว้นมคธ ดินแดนแห่งพุทธธรรมที่ยังคงฝังรากลึกอยู่ที่นั่นในเวลานั้น ให้ท่านเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเมืองคันธารราช เพื่อที่จะให้คำสอนอันคือธรรมชาตินี้ ได้เผยแผ่ไปทั่วดินแดนแห่งปัลลวะของท่าน

ก็เพราะด้วยคำสอนที่ตรงต่อความเป็นจริงตามธรรมชาติ จึงเป็นเหตุให้ท่านโพธิธรรมซึ่งเป็นหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ ที่นับถือศาสนาพราหมณ์มาโดยเคร่งครัด ได้ละทิ้งทิฐิเดิมของตนหันหน้ามานับถือศาสนาพุทธอย่างจริงจัง ด้วยความมีศรัทธาอันแรงกล้าต่อคำสอนที่แท้จริงของตถาคตเจ้า ครั้งเมื่อพระบิดาของท่านได้เสด็จสิ้นพระชนม์ ก็เกิดการแย่งชิงบัลลังก์ระหว่างรัชทายาทเพื่อขึ้นปกครองเป็นกษัตริย์ ท่านโพธิธรรมหามีความปรารถนาต้องการ จะยื้อแย่งชิงมายาแห่งสมบัติเลือดนั้นไม่

 ท่านจึงตัดสินใจหลบหนีภยันตรายอันใหญ่หลวงนี้ ไปหลบลี้ภัยและฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อศึกษาธรรมอย่างแท้จริง กับพระอาจารย์ปรัชญาตาระเถระผู้ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของพระบิดาท่าน และพระอาจารย์ปรัชญาตาระเถระนี้เอง เป็นภิกษุผู้รับสืบทอดวิถีธรรมอันคือธรรมชาติซึ่งเป็นธรรมอันแท้จริง มาจากสังฆปรินายกองค์ก่อนๆแห่งนิกายเซน ซึ่งเป็นการสืบทอดด้วยการถ่ายทอดธรรมแก่กันและกันเป็นรุ่นๆ สืบต่อกันมาตลอดโดยไม่ขาดสาย ซึ่งท่านพระอาจารย์ปรัชญาตาระเถระนั้น นับว่าท่านเป็นสังฆปรินายก องค์ที่ 27

ต่อมาเมื่อท่านโพธิธรรมได้บรรลุธรรมอันคือ ธรรมชาติ ที่มันมีแต่ความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนอยู่อย่างนั้น ด้วยอุบายการคุ้ยเขี่ยธรรมให้ตรงต่อความเป็นจริง ซึ่งเกิดจากการชี้แนะสั่งสอนของพระอาจารย์ปรัชญาตาระ เมื่อท่านรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมชาติอันยิ่งใหญ่นี้แล้ว ท่านจึงได้ตัดสินใจอุปสมบทเป็นภิกษุในบวรพระพุทธศาสนา เป็นการบวชที่ถึงพร้อมไปด้วยการตระหนักชัดแจ้ง และรู้แจ้งในความเป็นจริง และท่านก็ได้สำเร็จลุล่วงในความเป็นธรรมแห่งอภิญญา ตามบุญวาสนาของท่านในธรรมชาติแห่งฌานชั้นสูงนั่นเอง ท่านจึงเป็นพระภิกษุผู้บรรลุอรหันต์ และสำเร็จอภิญญามีฤทธิ์นานาประการ ตั้งแต่ครั้งก่อนที่ท่านจะเดินทางมาสู่ประเทศจีนแล้ว

ด้วยเส้นทางบุญบารมีของท่านโพธิธรรม ที่ลงมาทำหน้าที่แห่งตนในฐานะโพธิสัตว์ ผู้ที่ผูกใจซึ่งเปี่ยมไปด้วยความศรัทธาของตนไว้ต่อตถาคตเจ้า และได้อธิษฐานต่อหน้าองค์พระพักตร์แห่งพระศาสดาเจ้า ครั้งเมื่อพระพุทธองค์ได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ ใต้ต้นสาละคู่นั้นแห่งเมืองกุสินารา ว่าตนจะลงมาทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมคำสั่งสอนอันแท้จริงนี้ ตามวาระกรรมแห่งบุญวาสนาที่เคยได้สั่งสมมาไว้

 เมื่อกิจคือหน้าที่ที่ตนต้องชำระความมัวหมองแห่งใจตน ได้สำเร็จลุล่วงแล้ว พระอาจารย์ปรัชญาตาระเถระจึงได้ทำการ "มอบบาตรและจีวรของตถาคตเจ้า" ที่ได้สืบทอดรับมอบต่อกันมาเป็นช่วงๆ มาตั้งแต่รุ่นที่หนึ่งคือ พระมหากัสสปะเถระ ที่ท่านได้รับมอบบาตรและจีวรนี้ "มาโดยตรง" จากองค์พระศาสดาตถาคต พระโพธิธรรมหรือปรมาจารย์ตั๊กม้อจึงถูกนับเข้าเป็น พระสังฆปรินายกองค์ที่ 28 แห่งนิกายเซน และท่านเองก็ได้รับหน้าที่ ให้เผยแผ่พระธรรมคำสอนที่แท้จริงตามธรรมชาตินี้ ให้คงอยู่ต่อสืบไปอย่างไม่มีวันที่ขาดสายลงไปได้

เมื่อท่านโพธิธรรมได้เดินทางมาเมืองจีนแล้ว ชาวจีนได้เรียกท่านด้วยความเคารพว่า "ปรมาจารย์ตั๊กม้อ" และถึงแม้ว่าคำสอนของท่านยังไม่เป็นที่เข้าใจแพร่หลาย และท่านก็มีลูกศิษย์เป็นจำนวนน้อยมาก แต่การสืบทอดคำสอนของท่าน ก็ยังคงดำเนินต่อไปโดยอยู่ภายใต้ "เงื่อนไข" ในกรรมวิสัย แห่งโพธิสัตว์รุ่นหลังทั้งหลาย ที่จะลงมาเกิดและเข้ามารับธรรม เพื่อสืบต่อไปเป็นรุ่นๆจนถึงรุ่นที่หก ก็ในคราวนั้นท่านเว่ยหล่างหรือฮุ่ยเหนิง ซึ่งเป็นโพธิสัตว์ผู้ที่มีปัญญามากและมีบริวารมากเช่นเดียวกัน ก็จะลงมาเกิดเพื่อทำหน้าที่แห่งตน

 และในคราวนั้น คำสอนอันคือหลักธรรมชาติแห่งนิกายเซนนี้ จะถูกแพร่ขยายสืบต่อไปตามสายธารธรรมแห่งลูกศิษย์ท่าน และจะเป็นที่ยอมรับนับถือกันไปอย่างกว้างขวาง ทั่วทุกหนทุกแห่งในผืนแผ่นดินจีน และก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยสืบต่อกันไป จนเป็นศาสนาประจำชาติหยั่งรากลึกลงถึงอย่างมั่นคงในประเทศญี่ปุ่นสืบต่อไปในภายภาคหน้า เมื่อคำสอนแห่งนิกายเซนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ด้วยบุญบารมีแห่งท่านเว่ยหล่าง จึงมีการจัดลำดับ "คณาจารย์" ผู้ที่ได้รับสืบทอดคำสอนที่แท้จริงอันคือธรรมชาตินี้ และได้รับบาตรและจีวรแห่งตถาคตเจ้าสืบมา โดยที่ท่านโพธิธรรมหรือปรมาจารย์ตั๊กม้อ เป็นผู้ที่ได้รับสืบทอดเป็นองค์ที่ 28 และทางคณาจารย์ทั้งหลายแห่งเซนในประเทศจีน ได้ยกย่องให้ท่านเป็น สังฆปรินายก องค์ที่ 1 แห่งนิกายเซนประเทศจีน



การจัดลำดับคณาจารย์ ผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดธรรมเพื่อสืบทอดธรรมอันคือธรรมชาตินี้ ให้อยู่ตลอดสายอย่างถาวรในความเป็นเซน จนกว่าจะสิ้นอายุแห่งบวรพระพุทธศาสนา เมื่อครบ 5,000 ปี นับแต่พระพุทธองค์ได้ได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน จึงมีดังนี้

พระพุทธเจ้า ได้ถ่ายทอดธรรมชาตินี้มาสู่
พระสังฆนายกที่ 1 พระอารยะ มหากัสสปะ
พระสังฆนายกที่ 2 พระอารยะ อานนท์
พระสังฆนายกที่ 3 พระอารยะ สันวสะ
พระสังฆนายกที่ 4 พระอารยะ อุปคุปต
พระสังฆนายกที่ 5 พระอารยะ ธริตกะ

พระสังฆนายกที่ 6 พระอารยะ มิฉกะ
พระสังฆนายกที่ 7 พระอารยะ วสุมิตร
พระสังฆนายกที่ 8 พระอารยะ พุทธนันทิ
พระสังฆนายกที่ 9 พระอารยะ พุทธมิตร
พระสังฆนายกที่ 10 พระอารยะ ปาสวะ

พระสังฆนายกที่ 11 พระอารยะ ปุนยยสัส
พระสังฆนายกที่ 12 พระโพธิสัตว์ อัศวโฆษ
พระสังฆนายกที่ 13 พระอารยะ กปิมละ
พระสังฆนายกที่ 14 พระโพธิสัตว์ นาคารชุน
พระสังฆนายกที่ 15 พระอารยะ คนเทว

พระสังฆนายกที่ 16 พระอารยะ ราหุลตะ
พระสังฆนายกที่ 17 พระอารยะ สังฆนันทิ
พระสังฆนายกที่ 18 พระอารยะ สังฆยสัส
พระสังฆนายกที่ 19 พระอารยะ กุมารตะ
พระสังฆนายกที่ 20 พระอารยะ ขยตะ

พระสังฆนายกที่ 21 พระอารยะ วสุพันธุ
พระสังฆนายกที่ 22 พระอารยะ มนูระ
พระสังฆนายกที่ 23 พระอารยะ อักเลนยสัส
พระสังฆนายกที่ 24 พระอารยะ สินหะ
พระสังฆนายกที่ 25 พระอารยะ วิสอสิต

พระสังฆนายกที่ 26 พระอารยะ ปุนยมิตร
พระสังฆนายกที่ 27 พระอารยะ ปรัชญาตาระ
พระสังฆนายกที่ 28 พระอารยะ โพธิธรรม (พระสังฆนายกองค์ที่ 1 ของจีน ปรมาจารย์ตั๊กม้อ)
พระสังฆนายกที่ 29 พระอาจารย์ เว่ยโห (พระสังฆนายกองค์ที่ 2 ของจีน)
พระสังฆนายกที่ 30 พระอาจารย์ ซังซาน (พระสังฆนายกองค์ที่ 3 ของจีน)

พระสังฆนายกที่ 31 พระอาจารย์ ตูชุน (พระสังฆนายกองค์ที่ 4 ของจีน)
พระสังฆนายกที่ 32 พระอาจารย์ ฮวางยาน (พระสังฆนายกองค์ที่ 5 ของจีน)
พระสังฆนายกที่ 33 พระอาจารย์เว่ยหล่าง (พระสังฆนายกองค์ที่ 6 ของจีน)


>>> : F/B นิกายเซน หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน
29 มกราคม 2527

ฐิตา:

                   

หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร

บทที่ 4 เดินทางสู่การเพาะบ่ม

ด้วยอนาคตังสญาณแห่งปรัชญาตาระเถระ ที่ได้ล่วงรู้ด้วยอำนาจอภิญญาแห่งตนว่า ผืนแผ่นดินแห่งปัลลวะจะลุกเป็นไฟ เพราะการณ์ข้างหน้าจะเกิดเหตุมีศึกสงครามครั้งใหญ่ นับแต่ท่านจะได้ดับขันธ์ล่วงไปแล้ว 67 ปี เมื่อไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงกรรรมวิบากแห่งสรรพสัตว์ ที่ต้องชดใช้ซึ่งกันและกันนี้ได้ เมื่อเกิดอุปสรรคอย่างใหญ่หลวง ในการเผยแผ่ธรรมแห่งองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านมหาปรัชญาตาระเถระจึงได้แนะนำให้ลูกศิษย์ของตน คือ ท่านโพธิธรรม ให้ตระเตรียมการไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อถ่ายทอดธรรมนี้ไปยังผู้ที่สมควร จะได้รับธรรมให้สืบต่อไปในภายภาคหน้า เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ท่านโพธิธรรมจึงวางแผนส่งพระภิกษุสองรูป ผู้ซึ่งบรรลุเป็นพระอรหันต์และแตกฉานในปฏิสัมภิทาญาณ ให้เดินทางไปยังจีนล่วงหน้าก่อน เพื่อดูลาดเลาความเป็นไปในบ้านเมืองจีน


แต่การเดินทางมาถึงของภิกษุสองรูป กลับไม่ได้รับการต้อนรับจากชนชาวจีนแต่อย่างใด อาจเป็นเพราะด้วยการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน แต่การเดินทางเพื่อมาสำรวจล่วงหน้าของภิกษุสองรูปนี้ ก็มิได้เป็นการเสียเวลาเปล่า ภิกษุสองรูปนี้ก็ยังได้ถ่ายทอดธรรมอันแท้จริง ให้แก่ภิกษุชาวจีนรูปหนึ่ง ผู้ซึ่งเป็นอาจารย์มีลูกศิษย์มากมาย และเป็นเจ้าอาวาสวัดที่ภิกษุสองรูปได้เข้าพำนัก ซึ่งเป็นอารามที่อยู่บริเวณเทือกเขาหลู่ซัน ท่านพระอาจารย์รูปนี้มีนามว่า "ฮุ่ย เอวียน" ท่านฮุ่ย เอวียน เป็นพระที่เคร่งครัด ต่อการท่องสวดพระสูตรต่างๆในมหายาน เมื่อภิกษุสองรูปจากปัลลวะได้จาริกเดินทางมาถึงเขาหลู่ซัน และได้เข้าพำนักที่อารามแห่งนี้

 จึงได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับพระอาจารย์ฮุ่ย เอวียน พระอาจารย์ฮุ่ย เอวียน จึงถามภิกษุสองรูปนี้ไปว่า พวกท่านมาเผยแผ่ธรรมที่จีนนี้ได้นำเอาธรรมชนิดไหนเข้ามา แล้วทำไมล่วงมาถึงป่านนี้ชาวจีนจึงยังไม่ศรัทธาพวกท่าน ภิกษุชาวปัลลวะทั้งสองจึงได้โต้ตอบออกไปทันควัน ด้วยภาษามือที่สื่อกันโดยไม่ต้องออกเสียง ด้วยการยื่นมือไปข้างหน้าแล้วดึงมือนั้นกลับมาอย่างรวดเร็ว และภิกษุทั้งสองก็ได้กล่าวว่า ไม่ว่าความเป็นพุทธะที่ท่านอาจารย์อยากจะรู้ มันมีสภาพไม่ต่างกันเลยจากความทุกข์ที่ท่านอาจารย์ยังคงแบกไว้ มันก็มีอาการเกิดขึ้นและดับไปรวดเร็ว เช่นเดียวกับมือของข้าพเจ้าที่ยื่นให้ท่านดู ด้วยการเกิดขึ้นแห่งมัน และชักกลับคืนมา ด้วยการดับไปแห่งมันเช่นกัน


 และสิ่งที่ท่านเห็นอยู่ต่อหน้าด้วยความว่างเปล่าในอากาศ ด้วยความไม่มีอะไรของมันเองอยู่อย่างนั้น นั่นแหละคือความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะ ที่ข้าพเจ้าทั้งสองได้นำมาเผยแผ่ แต่หาคนรับธรรมนี้แทบไม่มีเลยสักคน เมื่อท่านอาจารย์ฮุ่ย เอวียน ได้ฟังได้เห็นดังนั้นแล้ว จึงมีความเข้าใจอย่างแท้จริงว่า ความอยากรู้ในสภาพธรรมที่แท้จริงของตนเองนั้น ที่จริงมันก็คือตัณหาใน "ความอยากรู้" และมันก็คือภาวะทุกข์ที่เกิดขึ้น และมันก็ไม่มีความแตกต่างจากความทุกข์เดิม ที่ตนเองมีก่อนอยู่แล้วและยังแบกมันอยู่ ด้วยภาวะแห่งการอยากแก้ไขทุกข์ของตน ด้วยการอยากรู้ธรรมอันแท้จริง กับภาวะทุกข์ที่ตนมีอยู่เดิม มันก็ล้วนเป็นความทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น

 ท่านจึงได้ตระหนักชัดรู้แจ้งในขณะนั้นเลยว่า แท้จริงธรรมชาติมันย่อมไม่มีอะไรอยู่แล้วโดยตัวมันเอง เหมือนอากาศที่มันว่างเปล่าที่อยู่ต่อหน้าท่าน ปราศจากมือที่ถูกชักกลับ แท้จริงธรรมชาติมันย่อมว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนอยู่แล้วโดยตัวมันเองอยู่อย่างนั้น แท้จริงธรรมชาติมันย่อมคือธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ อยู่แล้วโดยตัวมันเองเช่นกัน เมื่อท่านอาจารย์ฮุ่ย เอวียน ได้รู้แจ้งสว่างในธรรมแล้ว ท่านจึงได้นิมนต์ให้ภิกษุสองรูปชาวปัลลวะ ซึ่งกลายเป็นอาจารย์สอนธรรมท่านไปแล้วภายในพริบตาเดียว ได้พำนักอาศัยอยู่กับท่านที่นี่ และก็เป็นการมาที่มิได้ไปไหนอีกเลย



 ภิกษุสองรูปนี้ได้พำนักอาศัยอยู่ที่นี่ ตราบจนได้ดับขันธ์ทิ้งร่างสรีระไว้กลายเป็นศพ ถูกฝัง ณ เชิงเขาหลู่ซัน หลุมศพของภิกษุทั้งสองรูปนี้ ก็ยังปรากฏหลักฐานมาตราบจนทุกวันนี้ การตายของภิกษุทั้งสอง เป็นการตายเพื่อรอคอยพระอาจารย์ของตน คือท่านโพธิธรรมตั๊กม้อ มารับกลับไปเมืองปัลลวะที่อินเดีย เป็นการอยู่รอคอยถึงร้อยปี ณ หลุมฝังศพนั้น และภิกษุทั้งสองก็ได้เดินทางกลับปัลลวะพร้อมกับท่านโพธิธรรม เมื่อหลังจากที่ท่านโพธิธรรมได้เสียชีวิตลงแล้วศพหายไป

เมื่อภิกษุสองรูปได้เสียชีวิตลง โดยมิได้มีการส่งข่าวกลับมายังเมืองปัลลวะเลย เมื่อกาลเวลาได้ผ่านไปอยู่หลายปี ท่านโพธิธรรมจึงตัดสินใจโดยสารเรือ เพื่อมายังเมืองจีนด้วยตัวท่านเอง โดยครั้งนั้นท่านได้ลงเรือโดยสารมาลำเดียว กับภิกษุที่ชื่อ มหาปัลลิปุรัม (Mahaballipurum) ด้วยการเดินออกมาทางชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย มายังช่องแคบทางหมู่เกาะสุมาตรา (ปลายเกาะประเทศมาเลเซีย) และลัดเลาะไปทางมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อไปขึ้นแผ่นดินจีนทางตอนใต้เมืองกวางโจว โดยท่านใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้น 3 ปี


ก็ในสมัยนั้นประมาณพุทธศตวรรษที่สาม ประเทศจีนถูกแบ่งเป็นจีนสองราชวงศ์ คือราชวงศ์ไว่ และราชวงศ์ซ่ง โดยแบ่งเป็นราชวงศ์ฝ่ายเหนือและราชวงศ์ฝ่ายใต้ และก็ถูกแบ่งกันอย่างนี้มาเรื่อย ท่านโพธิธรรมได้เดินทางมาจีนเมื่อเข้าปลายพุทธศตวรรษที่ห้า คือประมาณปี พ.ศ. 475 ในขณะนั้นพระพุทธศาสนาได้เผยแผ่เข้ามายังจีน ก่อนหน้านั้นนานแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 65 ในพุทธศตวรรษแรก ด้วยการอุปถัมภ์ค้ำชูจากกษัตริย์ ผู้มีใจใฝ่บำรุงพระพุทธศาสนาในยุคนั้น และพระพุทธศาสนาได้ตั้งมั่นหยังรากลึก ลงไปในดินแดนแห่งจีนนี้มาโดยตลอด

 จนกระทั่งจวบถึงวาระแห่งท่านโพธิธรรม ที่ได้นำคำสอนที่แท้จริงมาโปรยธรรมธาตุไว้ เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้สืบทอดศึกษาธรรมอันคือธรรมชาตินี้ ให้คงอยู่สืบต่อไป โดยในขณะนั้น จีนได้มีการก่อสร้างวัดวาอารามอย่างมากมายจนถึงหมื่นวัด ซึ่งเป็นจำนวนที่รวบรวมไว้แล้วทั้งจีนตอนเหนือและจีนตอนใต้ และนักบวชที่เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาจริงๆ ไม่รวมนักบวชลัทธิเต๋าและขงจื้อ มีจำนวนมากกว่าสองล้านรูป เมื่อท่านโพธิธรรมเดินทางมาถึงกวางโจวใหม่ๆ ท่านได้ขึ้นฝั่งที่ท่าเรือหนานไห่ และท่านก็ได้รับการนิมนต์ให้อยู่ที่ศูนย์พระพุทธศาสนา ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของจีน และในโอกาสนี้เองเมื่อได้พำนักอยู่ที่นี่ ท่านโพธิธรรมจึงได้มีเวลาศึกษาเรียนรู้ภาษาจีน จนท่านมีความคล่องแคล่วสามารถสื่อสารภาษาจีนกับชนชาวจีน ได้สะดวกและมีความหมายที่ถูกต้อง

                   

ต่อมาท่านได้ย้ายเข้าไปอยู่เมืองหลวงที่ชื่อว่า เฉียนกัง (Chienkang) ทั้งนี้เป็นกิจอันสำคัญยิ่งที่ท่านได้รับนิมนต์ ให้เข้าไปแสดงธรรมต่อหน้าองค์จักรพรรดิในเวลานั้น แต่ก็ไม่เกิดประสพความสำเร็จแต่อย่างใด เพราะจักรพรรดิหามีความเข้าใจธรรมอันคือธรรมชาติที่แท้จริง ที่ท่านโพธิธรรมได้เทศนาออกไปไม่ ท่านโพธิธรรมจึงเดินทางออกมาจากเมืองหลวง ด้วยไร้ซึ่งความหวัง เพราะถ้าหากองค์จักรพรรดิได้รู้แจ้งตระหนักชัดในธรรมที่ท่านได้เทศนา การเผยแผ่ธรรมในจีนโดยเฉพาะทางจีนตอนใต้ คงเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็ว เพราะอาจได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูจากผู้ที่มีอำนาจปกครอง ซึ่งคือกษัตริย์ในยุคนั้น

ท่านจึงเดินทางลงมาและข้ามแม่น้ำที่เมืองแยงซี และได้เข้าไปพำนักอาศัยอยู่ที่เมืองโลหยาง (Loyang) ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโล และเป็นเมืองหลวงใหม่ที่พึ่งถูกย้ายมา และถูกสถาปนาความเป็นเมืองหลวงขึ้น ด้วยจักรพรรดิ เฉาเวน (Hsiao-wen) และหลังจากนั้นก็มีเหตุการณ์ให้ท่าน ต้องอยู่ใกล้ๆวัดเส้าหลิน และนั่งสมาธิหันหน้าเข้าหากำแพงโดยไม่ไหวติงถึงเก้าปีเต็ม เป็นเวลายาวนานถึงเก้าปีแห่งการรอคอย เพื่อเพาะบ่มเมล็ดพันธุ์พืชแห่งพุทธะเมล็ดหนึ่ง ที่ชื่อ เสินกวง(ฮุ่ยเค่อ)



   หนังสือ "คำสอนเซน
   ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
   ครูสอนเซน: อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
   30 มกราคม 2557
   >>> F/B นิกายเซน หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

ตอบ

Go to full version