คลังธรรมปัญญา > หนังสือธรรมะ

"คำสอนเซน ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"

<< < (6/9) > >>

ฐิตา:



หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร

บทที่ 23 การเข้าถึง

การถ่ายทอดธรรมอันคือธรรมชาตินี้ มันเป็นเพียงการสื่อด้วยความเข้าใจ ในความเป็นธรรมชาติที่แท้จริงเป็นหลัก การสื่อด้วยภาษาพุทธะนี้หรือไม่ว่าจะด้วยวิธีใดๆ ก็ล้วนแต่มีความหมายไปในทางที่ทำให้เรา สามารถมีความซึมซาบกลมกลืนในความเป็นธรรมชาติ ของมันได้อยู่อย่างนั้นด้วยความแนบเนียนเป็นหนึ่งเดียว ในความเป็นเนื้อหาเดียวกันในธรรมชาตินั้น โดยไม่มีความรู้สึกถึงความแตกต่างและการแบ่งแยกออกเป็นสิ่งๆได้เลย ความเป็นหนึ่งเดียวแห่งทุกสรรพสิ่งในความเป็นธรรมชาตินั้น ก็คือความหมายแห่งการที่ "ธรรมชาติมันก็คงเป็นของมันอยู่อย่างนั้น"

 ซึ่งหมายความว่ามันเป็นของมันแบบนี้มานานแสนนานแล้ว และก็จะเป็นแบบนี้อยู่ตลอดไปตราบที่ไม่มีวันสิ้นสุด การอธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจ และ "ความเข้าใจแล้ว" ในเนื้อหาธรรมชาตินี้ มันเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่นำเราไปสู่ ปากประตูแห่งธรรมชาติเท่านั้น มันเป็นปากประตูที่ยังอยู่ไกลแสนไกลนอกขอบวงพุทธะ ถึงแม้ความเข้าใจดังกล่าวมันจะเป็นเหตุผลให้เรา "เข้าถึง" ความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะนั้นได้ แต่โดยสภาพเนื้อหาแห่ง "การเข้าถึง" ซึ่งเป็นเหตุผลให้เราได้อิงแอบ เพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่ตัวเราเองว่า นี่คือธรรมชาติแห่งพุทธะ ที่เราสามารถทำความเข้าใจและได้พบเจอะเจอมันแล้ว


 สภาพแห่งการเข้าถึงดังกล่าวมันจึงยังเป็นเพียง "ความฝัน" ที่คุณได้นอนหลับตาลง และความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะนั้น มันก็ได้ตามมาหลอกหลอนคุณ ให้คุณฝันถึง "สภาพของมัน" อย่างเป็นตุเป็นตะ ก็ถ้าเมื่อคุณตื่นและลืมตาขึ้น ก็เพียงแค่คุณลืมตาตื่นต่อความเป็นจริง และก็เมื่อคุณได้ก้าวข้ามประตูแห่งความสงสัยนั้น เข้ามาเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติแห่งพุทธะนี้ได้แล้ว ซึ่งมันทำให้คุณไม่มีความแตกต่างอะไรเลย ในระหว่างความเป็นคุณเองกับความเป็นพุทธะนั้น มันจึงเป็นความเหมือนกันแบบถ้วนทั่วทุกอณูธรรมธาตุ แห่งอาณาจักรพุทธะซึ่งมันมีความกว้างใหญ่ ไม่มีที่สิ้นสุดไม่มีประมาณ รวมเขตแดนได้ถึงความเป็นอนันต์แห่งล้านโกฏิจักรวาล

มันเป็นความหนึ่งเดียวกันที่ไม่เคยมีทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต มันเป็นความหนึ่งเดียวกัน "โดยไม่สามารถนำพาตัวเราเองออกไปจากมันได้" มันจึงไม่มีการออก ไม่มีการเข้า และไม่มีการเข้าถึง มันเป็นหนึ่งเดียวของมันอยู่อย่างนั้น

   

   หนังสือ "คำสอนเซน
   ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
   ครูสอนเซน: อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
   19 กุมภาพันธ์ 2557
   >>> F/B นิกายเซน หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน

                     

ฐิตา:



หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร

บทที่ 24 อิสรภาพที่แท้จริง

ด้วยเหตุและปัจจัยที่ทำให้เรา ได้หมั่นประกอบกุศลกรรมมุ่งทำความดีให้กับตนเองและคนอื่นๆ ที่อยู่ร่วมกันในสังคมนั้น โดยตนเองได้ตั้งสัจจะวาจาได้อธิษฐานตั้งมั่นอย่างเด็ดขาดว่า จะเลิกการกระทำที่นำพาซึ่งความเบียดเบียนแก่ตนเองและผู้อื่น ในทุกรูปแบบได้อย่างเด็ดขาดนั้น ก็ด้วยเหตุและปัจจัยนี้ มันก็ทำให้เราได้มีความเป็นอิสรภาพแห่งใจในระดับหนึ่งแล้ว ในความเป็นมนุษย์ที่อยู่ในโลกแห่งความมีความเป็น ที่ต้องการให้ชีวิตของตนเองประสบแต่ความสุขสมหวังในชีวิต

และด้วยเหตุปัจจัย ที่ทำให้เรามีความดำริเห็นชอบที่จะนำพาตนเอง เดินออกมาจากความทุกข์มาสู่ความเป็นจริงตามธรรมชาติ ซึ่งมันเป็นธรรมชาติที่อยู่นอกเหนือความสุขและความทุกข์ทั้งปวง ก็ด้วยเหตุและปัจจัยนี้ ทำให้เราได้มีความเป็นอิสรภาพนำมาสู่ชีวิตตนเองได้ ในระดับหนึ่งแล้วเช่นกัน

และด้วยเหตุปัจจัย ที่ทำให้เราได้มีความเข้าใจตระหนักอย่างชัดแจ้งแล้ว ในเนื้อหาธรรมชาติซึ่งมีแต่ความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนอยู่อย่างนั้น ด้วยเหตุและปัจจัยนี้ ก็ทำให้เราได้มีความเป็นอิสรภาพในสัมมาทิฐินั้น ในระดับหนึ่งแล้วอีกเช่นกัน แต่มันก็ยังไม่ใช่อิสรภาพที่แท้จริง

และการที่ธรรมชาติมันคงทำหน้าที่ของมันอยู่อย่างนั้น ในเนื้อหาความว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน แบบเสร็จสรรพเด็ดขาดโดยตัวมันเอง "อยู่อย่างนั้น" การที่ธรรมชาติมันคงความเป็นธรรมชาติที่แท้จริงอยู่อย่างนั้น โดยที่ธรรมชาติแห่งความเป็นเรา ก็เป็นเนื้อหาเดียวกันไม่มีความแตกต่างใดๆเลย ในความเป็นธรรมชาตินั้น ก็ธรรมชาติมันเป็นของมันเองอยู่แล้ว ก็ธรรมชาติมันเป็น "ความเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว" มันจึงเป็นธรรมชาติของมันเองที่มิได้อาศัยเหตุและปัจจัยใดๆ และก็ด้วยความไม่ต้องมีเหตุและปัจจัยอะไรเกิดขึ้น และธรรมชาติมันก็คงทำหน้าที่ของมันตามธรรมชาติอยู่อย่างนั้น การไม่มีเหตุและปัจจัยซึ่งในความเป็นไปแห่งธรรมชาตินั้น การไม่ต้องอาศัยเหตุปัจจัยใดๆในการทำหน้าที่ของธรรมชาติมันเอง มันจึงเป็นการมีอิสรภาพอย่างแท้จริง มันเป็นอิสรภาพซึ่งมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ

   

   หนังสือ "คำสอนเซน
   ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
   ครูสอนเซน: อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
   21 กุมภาพันธ์ 2557
   >>> F/B นิกายเซน หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน

                     

ฐิตา:



หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร

บทที่ 25 ทางสายกลาง

ทางหรือแนวทาง ที่เป็นความหมายแห่งสภาพทิฐิทั้งหลาย
มันก็เป็นเนื้อหาที่สามารถบ่งบอกถึง ลักษณะความหมายแห่งธรรมชนิดนั้น
ที่เราได้ยึดเหนี่ยวเอามาเป็น "ความเป็นไป" ของตนเอง
ตถาคตเจ้าจึงได้แบ่งทิฐิออกเป็นสองประเภท โดยท่านได้ทรง..
แบ่งแยกทิฐิออก ตาม คุณลักษณะ.. ความเป็น ธรรมธาตุ แห่งทิฐินั้นๆ

ก็โดยทั่วไปแห่งความหมายของมิจฉาทิฐิโดยรวม ตถาคตเจ้าได้ทรงตรัสไว้ว่าเป็นทิฐิหรือความคิดเห็น ที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริงตามธรรมชาติ เป็นทิฐิที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นจนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นต่างๆโดยยึดเข้ามาเป็นความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน ของตนเองอยู่อย่างนั้น ก็ในคืนราตรีแห่งการตรัสรู้ ตถาคตเจ้าท่านทรงได้รู้แจ้งแทงตลอดในธรรมธาตุ แห่งความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมแท้ และด้วยความตระหนักอย่างชัดแจ้งในความจริง ของธรรมชาติแห่งสรรพสิ่งทั้งปวงนี้ ท่านจึงทรงตรัสเรียก "ความเข้าใจอย่างถูกต้อง" นี้ว่า "สัมมาทิฐิ" ซึ่งเป็นทิฐิความเห็นที่ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริงแห่งธรรมชาติ ว่าธรรมชาตินั้นโดยสภาพแห่งมัน มันย่อมมีแต่ความว่างเปล่าไร้ความเป็นตัวเป็นตนของมันอยู่อย่างนั้น

ก็ด้วยความเป็นมิจฉาทิฐิทั้งหลาย มันจึงเป็นความหลงผิดที่เกิดขึ้น เป็นความคิดเห็นที่เข้าใจผิดต่อความเป็นจริงไปต่างๆนานา มันจึงเป็น "ทาง" ที่มีความหลากหลายในการก้าวพลาดไป ในเส้นทางแห่งความหลงผิดนั้น และด้วยความจริงที่ปรากฏตามธรรมชาติว่า หนทางหลากหลายในมิจฉาทิฐิเหล่านี้ ซึ่งล้วนแต่เป็น "ความมีและความเป็นตัวตน" เกิดขึ้น มันมิใช่หนทางอันจะทำให้ท่านทรงพ้นทุกข์ได้ เมื่อท่านได้ค้นพบหนทางที่สว่าง ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริงตามธรรมชาติ ท่านจึงตรัสเรียกหนทางอันคือ อริยมรรค นี้ว่า "ทางสายกลาง" มันเป็น "ทางสายกลาง" ที่จะพาสรรพสัตว์ทั้งหลาย ดำเนินไปบนความนอกเหนือแห่งความมีความเป็นในทุกชนิดทุกรูปแบบ มันจึงเป็นทางสายกลางที่เป็นกลางโดยไม่มีความยุ่งเกี่ยว กับ "ความยุ่งเหยิงแห่งทิฐิที่มีความหลงผิดทั้งหลาย"

 ซึ่งมันเป็นความยุ่งเหยิงในความเกี่ยวพันแบบแนบแน่น ในความเห็นที่เป็นตัวเป็นตนอยู่อย่างนั้นแต่อย่างเดียว เพราะฉะนั้นทางสายกลาง มันจึงมีความเป็นกลาง "โดยสภาพธรรมชาติของมันเอง" เป็นสภาพที่เป็นเนื้อหาเดียวกันตลอดอยู่อย่างนั้น ในความว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนอยู่อย่างนั้น มันมิใช่ความเป็นกลางเพื่อเป็น "ภาวะ" ต่างหาก จากความมีอยู่ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มันมิใช่ความเป็นกลางเพื่อเป็น "ภาวะ" ต่างหาก จากความไม่มีอยู่ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ในความเป็นกลางอย่างแท้จริงตามธรรมชาติแห่งสัมมาทิฐิ มันเป็นกลางที่เป็นความว่างเปล่าปราศจาก "ความมีหรือความไม่มี" ความว่างเปล่าตามธรรมชาตินั้น มันมิได้หมายถึง การยืนยันว่า "ไม่มี" สิ่งใดอยู่ แต่ความว่างเปล่าตามธรรมชาตินั้น มันก็ "ทำหน้าที่" ในความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนของมัน "อยู่อย่างนั้น" มันว่างเปล่าโดยตัวมันเอง มิได้ว่างเปล่าเพราะความมีหรือความไม่มีสิ่งใด มันจึงเป็นเพียงความว่างเปล่าของมัน ตามธรรมชาติอยู่อย่างนั้นเองแต่เพียงเท่านั้น

เพราะฉะนั้น "ความเป็นกลาง" ในทางสายกลาง
มันจึงเป็น "ความเป็นกลาง"
ตามธรรมชาติแห่งสภาพมันอยู่อย่างนั้น แต่ความหมายเดียว

   

   หนังสือ "คำสอนเซน
   ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
   ครูสอนเซน: อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
   23 กุมภาพันธ์ 2557
   >>> F/B นิกายเซน หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน

                     

ฐิตา:



หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร

บทที่ 26 นาข้าวแห่งพุทธโคดม

เมื่อลมหนาวของต้นฤดู ได้พัดผ่านมาทางท้ายหมู่บ้าน ซึ่งบริเวณนั้นมีท้องทุ่งนาแปลงหนึ่ง เป็นนาที่อยู่ติดกับริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชลา ภายในนาข้าวแปลงนั้นมีต้นข้าวที่ท้องแก่รวงใหญ่ ขึ้นเบียดเสียดกันอยู่อย่างระลานตา และที่นั่นมีชาวนาที่ชื่อ "สมณพุทธโคดม" ท่านกำลังทรงใช้เคียวเก็บเกี่ยวข้าวในนาแปลงของตนอยู่ นาข้าวแปลงนี้อยู่ ณ บริเวณหมู่บ้านนิคม "อุรุเวลา" เป็นหมู่บ้านซึ่งมีความสงบเงียบ เป็นสถานที่ที่ร่มรื่นเป็นรมณียสถาน สะดวกด้วยโคจรคามในการเดินทางไปมา มีป่าชัฏเยือกเย็น แม่น้ำใสเย็นจืดสนิท และมีต้นโพธิ์ต้นใหญ่ยืนต้น ตั้งตระหง่านอยู่อย่างเห็นได้อย่างเด่นชัด ภายใต้ควงโพธิ์ต้นนี้ ชาวนาคนนั้นได้ใช้เป็นที่พักอาศัยแห่งตน เพื่อหลบแดดหลบฝน

ต่อมาในเวลาตะวันบ่ายคล้อยของวันนั้น มีพราหมณ์คนหนึ่งเดินผ่านมา และเห็นรวงข้าวในท้องนา จึงได้เอ่ยปากกล่าวชมข้าวในนาของพระองค์ท่าน ว่าพระองค์ท่านเป็นชาวนาที่เยี่ยมยอด มีความดูแลเอาใจใส่เพาะปลูกข้าวในนาได้เป็นอย่างดี พราหมณ์จึงถามต่อพระองค์ท่านว่า มีวิธีดูแลอย่างไร จึงได้ผลผลิตเป็นข้าวรวงทองสีเหลืองงามอร่าม พระพุทธองค์จึงทรงตรัสให้ฟังว่า เหตุที่ข้าวในนาของพระองค์ท่าน ทรงมีความอุดมสมบูรณ์ ข้าวมีรวงใหญ่ เมล็ดข้าวมีความสมบูรณ์ไม่เล็กลีบเรียว เพราะเมื่อ "ฤดูฝนแห่งการได้ตรัสรู้" ที่พึ่งได้ผ่านมาถึง ท่านทรงได้ใช้ศาสตร์แห่งการเป็นกสิกรชาวนา ที่ท่านทรงได้อบรมตนเองมาตลอดระยะเวลานานเป็นอสงไขย ลงมือเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ชื่อ "เมล็ดพันธุ์ข้าวแห่งพุทธะ" ลงในแปลงนาของท่าน โดยท่านทรงกล่าวว่า ในการทำนาเมื่อต้นฤดูฝนที่ผ่านมานั้น ท่านลงมือหว่านไถโดย

"ใช้ศรัทธาของเราเป็นพืช ใช้ความเพียรของเราเป็นฝน ใช้ปัญญาของเราเป็นแอกและไถ ใช้หิริของเราเป็นงอนไถ ใช้ใจของเราเป็นเชือก ใช้สติของเราเป็นผาลและปฏัก ชาวนาอย่างเราคุ้มครองกาย คุ้มครองวาจา สำรวมในอาหารในท้อง ย่อมกระทำการถอนหญ้า คือ การกล่าวให้พลาดด้วยสัจจะ ความสงบเสงี่ยมของเรา เป็นเครื่องปลดเปลื้องกิเลส ความเพียรของเรานำธุระไป เพื่อธุระนำไปถึงแดนเกษมจากโยคะ ไม่หวนกลับมา ย่อมถึงสถานที่ที่บุคคลไปแล้วไม่เศร้าโศก การหว่านและไถนานั้น เราหว่านไถแล้วอย่างนี้ การหว่านและไถนานั้น ย่อมมีผลเป็นอมตะ บุคคลไถนานั่นแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง

   

   หนังสือ "คำสอนเซน
   ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
   ครูสอนเซน: อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
   24 กุมภาพันธ์ 2557
   >>> F/B นิกายเซน หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน

                     

ฐิตา:



หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร

บทที่ 27 พระพุทธเจ้าทั้งหลายมิได้แสดงธรรมอะไรเลย

ธรรมทั้งหลายที่ปรากฏมาในพระไตรปิฎก ถึงแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์นั้น สามารถแบ่งแยกแยะออกเป็นชนิดแห่งธรรมได้สองประเภท คือ ธรรมที่มีคุณลักษณะเป็นสังขตธาตุ ซึ่งคือธรรมธาตุที่มีลักษณะปรุงแต่ง เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปโดยตัวมันเอง และธรรมที่มีคุณลักษณะเป็นอสังขตธาตุ ซึ่งคือธรรมธาตุที่มีลักษณะ ว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนของมันเองอยู่อย่างนั้น ก็ด้วยความที่พระพุทธองค์มาตรัสรู้และประกาศธรรมใน "กลียุค" เหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายในยุคนี้ ล้วนเป็นผู้มืดบอดไร้ซึ่งความมีปัญญาอันแท้จริง จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระพุทธองค์ต้องตรัสธรรมอันเป็นสังขตธาตุ คือ ธรรมว่าด้วยความมีความเป็น ความเป็นตัวเป็นตน ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง

 ถึงแม้ธรรมเหล่านี้จะไม่ใช่ธรรมที่เป็นเหตุให้พ้นจากกองทุกข์ได้ แต่ด้วยการที่พระพุทธองค์ทรงมีความเมตตากรุณา แก่หมู่สัตว์น้อยใหญ่ ผู้ที่ยังต้องจมปลักอยู่ในเหตุปัจจัยแห่งตน และจะต้องไปเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ โดยไม่อาจมีเหตุปัจจัยที่จะหลุดพ้นในยุคที่ พระพุทธองค์กำลังประกาศศาสนาได้เลย พระพุทธองค์จึงจำเป็น ต้องตรัสธรรมอันคือสังขตธาตุไว้ในทุกลักษณะ เพื่อความเหมาะสมแก่บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายที่เข้ามารับธรรมนั้น

พระพุทธองค์ทรงตรัสเรื่อง การกระทำกรรมและการรับผลแห่งกรรม เพื่อให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ยังไม่มีปัญญามากพอ ที่จะเรียนรู้ศึกษาถึงธรรมซึ่งคือความเป็นจริงตามธรรมชาติได้ รับธรรมเหล่านี้ไปพิจารณาเพื่อให้เห็นคุณและโทษ แห่งการที่ตนได้ยึดมั่นถือมั่นและได้กระทำกรรมต่างๆเหล่านั้นออกไป

พระพุทธองค์ท่านทรงตรัสเรื่องการรักษาศีล เพื่อบรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายที่พอจะมีปัญญา แยกแยะถึงเหตุและผลได้พิจารณาถึงสภาพจิตใจของตน และให้ผู้ที่เข้าถึงพระรัตนตรัยเหล่านี้ ได้ปรับปรุงสภาพจิตใจของตนเอง ด้วยศรัทธาที่จะงดเว้นการปรุงแต่งจิตของตน ไปในทางเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ทั้งนี้เพื่อความสงบสุขแห่งใจตน และเพื่อความสงบสุขในสังคมที่ตนเองได้ดำรงชีวิตอยู่

พระพุทธองค์ท่านทรงตรัสเรื่องการเจริญกรรมฐาน ก็เพื่อให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่พอจะมีปัญญาและความเพียรที่จะพัฒนาตนเอง ให้ไปสู่หนทางหลุดพ้นได้อย่างแท้จริงในกาลข้างหน้า ท่านจึงทรงแนะนำบัณฑิตเหล่านี้ ให้รู้จักอุบายเพื่อทำจิตใจของตนให้สงบไม่ซัดส่ายไปในทิศทางอื่น ก็ด้วยความสงบซึ่งเกิดจากการทำกรรมฐานนี้ เป็นภาวะที่ปราศจากสิ่งที่เป็นอุปสรรคของใจ ซึ่งมันเป็นธรรมที่เข้ามาทำให้จิตใจขุ่นมัวไป ในภาวะสับสนต่างๆตามเหตุตามปัจจัยแห่งมัน เมื่อจิตมีความสงบชั่วคราว มันก็จะเป็นบาทฐานที่จะทำให้สามารถพิจารณาธรรมต่างๆ ได้อย่างเข้าใจแจ่มแจ้งมากขึ้นกว่าเดิม

พระพุทธองค์ตรัสเรื่องธรรมอันคือธรรมชาติ ก็เพื่อให้เหล่าบัณฑิตที่มีปัญญามากพอแล้ว และมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้หลุดพ้นในชาตินี้หรือชาติต่อๆไปได้ เข้ามาทำความเข้าใจธรรมที่แท้จริง ซึ่งมันเป็นเนื้อหาของมันอยู่อย่างนั้นตามธรรมชาติ มันเป็นธรรมชาติที่นอกเหนือไปจากเหตุปัจจัย ที่จะทำให้สรรพสัตว์ทั้งหลายต้องทนทุกข์ ไปเวียนว่ายตายเกิดแบบไม่รู้จบสิ้น

ก็ด้วยธรรมต่างๆเหล่านี้ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสมา และถูกรวบรวมไว้ในพระไตรปิฎกถึงแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์นั้น หาใช่ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสขึ้นมาเองก็หาไม่ และเป็นความจริงที่ว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย รวมทั้งพระพุทธองค์ด้วยนั้น "ล้วนมิได้แสดงธรรมอะไรเลย" ท่านเพียงแต่ได้ตรัสสิ่งที่มันเป็นไปตามธรรมชาติ โดยเนื้อหาของมันเองแห่งธรรมชาตินั้นอยู่อย่างนั้น ธรรมบางอย่างก็มีเหตุและปัจจัยด้วยอาศัย "การที่มีสิ่งนี้จึงมีสิ่งนี้อยู่" เช่นนั้นเป็นแดนเกิดแห่งธรรมนั้นๆ ธรรมบางอย่างก็เป็นธรรมที่เป็นสภาพอยู่นอกเหนือเหตุและปัจจัย ด้วยการที่มันเป็นเนื้อหาของมันเองตามธรรมชาติอยู่อย่างนั้น โดยมิต้องอาศัยเหตุและปัจจัยใดๆเป็นแดนเกิดแห่งธรรมนั้น การตรัสธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จึงเป็นเพียงการหยิบยกธรรมซึ่งมีเหตุปัจจัย ให้ท่านได้ตรัสในขณะนั้นขึ้นมากล่าว ตามสภาพแห่งธรรมในขณะนั้น ตามความเป็นจริงตามเหตุตามปัจจัยแห่งมัน

ก็ด้วยความเป็นพุทธวิสัยแห่งความเป็นพระพุทธเจ้า ที่จะต้องมาโปรดบรรดาสรรพสัตว์โดยรอบบารมีแห่งตน ในเส้นทางแห่งการสั่งสมบารมีของความเป็นพุทธะ ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานนับไม่ถ้วนแห่งอสงไขย ตามธรรมธาตุแห่งคุณลักษณะในความเป็น พุทธะ ของแต่ละองค์นั้น การกระทำกุศลกรรมในทุกภพทุกชาตินั้น จึงเป็นไปในลักษณะ เพื่อเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การกระทำดังกล่าวนั้น เป็นผลกรรมเพื่อมาแสดงเป็นกรรม "ตามวาระ" และให้พระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ตรัสถึงกรรมและธรรมนั้น และเนื้อหากรรมทั้งหมดทุกภพทุกชาติที่ผ่านมา มันจะถูกกรองด้วยระบบกรรมวิสัยโดยตัวมันเอง

 เพื่อให้พระพุทธเจ้าองค์นั้นๆได้ตรัสเรื่องกรรมและธรรมต่างๆนั้น ได้ครบทั้งหมดในความเป็นธรรมธาตุแห่งธรรมนั้นๆโดยถ้วนทั่ว เพราะฉะนั้นในรอบบารมีแห่งการที่จะมีพระพุทธเจ้า องค์ใดองค์หนึ่งลงมาตรัสแสดงธรรม เพื่อทำหน้าที่โปรดบรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายในรอบบารมีแห่งตน จึงเป็นการลงมาด้วยบารมีที่เป็นความเต็มพร้อมครบถ้วน แห่งเหตุและปัจจัยในทุกด้าน แห่งเนื้อหาลักษณะกรรมและลักษณะธรรมอย่างลงตัวไม่ขาดเกิน เพราะฉะนั้นเหตุและปัจจัยที่ทำไว้อย่างพร้อมเพรียง จึงเป็นเหตุและปัจจัยในทุกย่างก้าวที่พระพุทธเจ้าแต่ละองค์ ได้ทรงเสด็จดำเนินไปบนเส้นทางที่บริบูรณ์พร้อม เป็นความพร้อมอย่างลงตัวที่จะทำให้พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ได้หยิบยกเหตุปัจจัยในกรรมและธรรมเหล่านี้ขึ้นมาตรัส จนครบถ้วนไม่ขาดตกบกพร่อง แห่งเนื้อหาในการโปรดบรรดาสรรพสัตว์ในรอบของตน เพราะฉะนั้นธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสนั้น มันจึงเป็นเหตุปัจจัยที่พร้อมเพรียงและเรียงหน้ากันเข้ามา เพื่อเป็นเหตุให้พระพุทธองค์ได้ทรงหยิบยกขึ้นมาตรัส จนกว่าจะถึงวาระสุดท้ายที่ทรงเสด็จปรินิพพานจากโลกนี้ไป

ธรรมมันจึงเป็นความเป็นจริงที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีหน้าที่เพียงเข้าไปหยิบธรรมเหล่านี้ ขึ้นมาตรัสสอนด้วยความรอบรู้แห่งตน เพื่อโปรดบรรดาสรรพสัตว์ตามเหตุและปัจจัยนั้นๆแต่เพียงเท่านั้น
   

   หนังสือ "คำสอนเซน
   ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
   ครูสอนเซน: อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
   25 กุมภาพันธ์ 2557
   >>> F/B นิกายเซน หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน

                     

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version