คลังธรรมปัญญา > หนังสือธรรมะ

"คำสอนเซน ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"

<< < (7/9) > >>

ฐิตา:



หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร

บทที่ 28 ไม่มีอริยสัจ

ธรรมที่เป็นสภาพในความเป็นมันอันแท้จริงนั้น มันก็คือความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนโดยตัวมันเอง ซึ่งหมายความถึงมันเป็นความว่างเปล่าอยู่อย่างนั้น โดยสภาพตามธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น ซึ่งเป็นไปตามความหมายที่ตถาคตเจ้าได้ทรงตรัสไว้ว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ซึ่งมีความหมายถึง ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ย่อมไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของมันอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว ธรรมทั้งหลายย่อมคือธรรมชาติแห่งความว่างเปล่า โดยสภาพตัวมันเองอยู่อย่างนั้น แต่การอธิบายธรรมให้แก่ปุถุชนผู้มืดบอด เพื่อให้เกิดความเข้าใจในธรรมอันคือธรรมชาตินี้อย่างแท้จริง จึงเป็นการอธิบายเป็นไปในทางซึ่งการหักล้าง กับทิฐิเดิมของผู้ที่มืดบอดที่พวกเขาเหล่านั้นได้ยึดมั่นถือมั่นเอาไว้ ว่าทำไมธรรมซึ่งเป็นทิฐิเหล่านั้นจึงไม่ใช่ธรรมอันแท้จริง

 และเป็นการอธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ที่ตรงต่อสภาพธรรมอันคือธรรมชาติที่แท้จริง การอธิบายจึงเป็นไปในกระบวนการทำความกระจ่างชัดให้เกิดขึ้นว่า อะไรคือปัญหาที่คุณกำลังเผชิญหน้าอยู่ และสาเหตุแห่งปัญหานั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุใด และอะไรคือหนทางแห่งการแก้ไขปัญหานั้น และท้ายที่สุด อะไรคือการแก้ไขปัญหาได้ตรงต่อความเป็นจริงตามธรรมชาติ การอธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างตระหนักชัดแจ้ง ในกระบวนการทั้งหมด "ของความเข้าใจ" เพื่อมุ่งไปสู่ความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างแท้จริงนั้น มันคือความเป็นจริงอันยิ่งใหญ่ในหนทางที่จะพาพวกคุณ ไปสู่เส้นทางธรรมชาติที่แท้จริง ซึ่งมันเป็นเนื้อหาธรรมตามธรรมชาติแห่งความเป็นจริง ที่มันเป็นไปตามสภาพของมันอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว

 ธรรมอันคือเนื้อหาธรรมเพื่อทำความเข้าใจ และเพื่อให้เกิดความตระหนักอย่างชัดแจ้งรู้แจ้งนี้ ตถาคตเจ้าทรงตรัสเรียกว่า "ธรรมอันคืออริยสัจ" ซึ่งเป็นธรรมที่มีเนื้อหาอยู่ 4 อย่าง คือ ธรรมอันคือ ทุกข์ ธรรมอันคือ สมุทัย เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ธรรมอันคือ นิโรธ ความดับไปแห่งธรรมทั้งหลาย อันคือสภาพธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้น ซึ่งหมายถึงการแก้ไขปัญหาซึ่งคือความทุกข์ได้อย่างหมดจด ซึ่งเป็นการแก้ไขได้ด้วยความเป็นจริงที่มันเป็นไป ตามสภาพธรรมนั้นๆเองอยู่แล้วตามธรรมชาติ ธรรมอันคือ มรรค หนทางที่เป็นความพ้นทุกข์ และดำเนินไปสู่ความเป็นเนื้อหาเดียวกัน ของธรรมอันคือธรรมชาติที่แท้จริง แต่ด้วยธรรมอันคืออริยสัจนี้ เป็นธรรมชาติที่จะต้องนำมา "พิจารณา" เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริงและถูกต้อง เพื่อที่จะได้ดำเนินไปในทางนั้น ก็ด้วยการเข้าไปพิจารณาในธรรมเหล่านี้

 ที่ว่าด้วยอะไรเป็นอะไรตามเหตุปัจจัยของธรรมนั้น อันเป็น "เหตุผล" ที่ทำให้เราเชื่อและเข้าใจในเนื้อหานั้น ได้ตรงต่อความเป็นธรรมชาติที่แท้จริง การพิจารณาดังกล่าวมันจึงเป็นการปรุงแต่งขึ้นมาเป็น "จิต" เป็นจิตที่เกิดขึ้นเพราะการเข้าไปพิจารณาธรรมต่างๆเหล่านั้น เป็นจิตที่เกิดขึ้นในความเป็นไปแห่งการแสดงภาพลักษณ์ แห่งความเข้าใจในธรรมอันแท้จริงของตน ขึ้นมาอย่างชัดแจ้งในมโนภาพ ดังนั้นธรรมอริยสัจมันจึงเป็น "ปรากฏการณ์" ในการเกิดขึ้นในความเป็นตัวเป็นตน เป็นอัตตาแห่งธรรมอันคืออริยสัจทุกครั้ง ที่เราเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในการพิจารณาธรรมนี้

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ก็โดยสภาพแห่งธรรมอันคืออริยสัจ ที่เราได้พิจารณาและเกิดความเข้าใจในธรรมดังกล่าว มันจึงเป็นเพียงธรรมที่เกิดจากการปรุงแต่งไปในการพิจารณา มันจึงยังไม่ใช่สภาพธรรมอันคือธรรมชาติอันแท้จริง ซึ่งมันคงมีแต่ความว่างเปล่าเกิดขึ้นอยู่อย่างนั้น เมื่อกล่าวตามสภาพความเป็นจริง ธรรมอันคืออริยสัจที่เกิดขึ้น มันจึงหาใช่ความหมายในความเป็นตัวเป็นตนไม่ ธรรมชาติแห่งธรรมที่แท้จริงมันย่อมมีแต่ความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนของมัน ตามสภาพธรรมชาติของมันเองอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว จึงหามี "ธรรมอันคืออริยสัจ" นี้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงไม่ จึงเสมือนว่า มันไม่เคยมีความปรุงแต่งธรรมอันคืออริยสัจนี้ เกิดขึ้นมาก่อนเลย มันคงมีแต่ธรรมชาติอันแท้จริง คงทำหน้าที่ ใน "ความว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน ของมันอยู่อย่างนั้น"

นี่ก็เป็นเหตุผลเดียวตามความเป็นจริง ที่ปรมาจารย์ตั๊กม้อ ได้ตอบคำถามต่อจักรพรรดิเหลียงบู๊ตี้ ที่ได้ถามปัญหาธรรมต่อท่าน ในคราวที่ท่านได้เดินทางมาสู่แผ่นดินจีนที่เมืองกวางโจวใหม่ๆ และท่านได้รับการนิมนต์เข้าไปยังเมืองหลวง ก็จักรพรรดิเหลียงบู๊ตี้องค์นี้ มีความศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก แต่ท่านก็ได้เอาแต่ทำบุญก่อสร้างวัดวาอาราม โดยมิได้ใส่ใจในการศึกษาพระธรรมอย่างแท้จริง ก็ในคราวนั้นจักรพรรดิเหลียงบู๊ตี้ได้ถามปรมาจารย์ตั๊กม้อว่า ธรรมอันคือ "อริยสัจ" คืออะไร ท่านปรมาจารย์ตั๊กม้อได้ตอบไปว่า "ไม่มี" คำตอบอันเป็นความจริงโดยสภาพแห่งธรรมมันเอง กลับทำให้จักรพรรดิเหลียงบู๊ตี้เกิดความขุ่นเคืองพระทัย ก็ความเป็นจริงโดยสภาพแห่งธรรมอันคือธรรมชาติอันแท้จริงนั้น มันย่อมไม่มีความเป็นตัวเป็นตนอยู่แล้ว ตามธรรมชาตินั้นมันย่อมเป็น ธรรมชาติแห่งความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนอยู่อย่างนั้น

 หามีธรรมใดๆหรือสิ่งใดๆจะเกิดขึ้นในความว่างเปล่าตามธรรมชาตินี้ ก็หาได้มีไม่ เพราะฉะนั้นการที่ปรมาจารย์ตั๊กม้อ ได้ตอบจักรพรรดิเหลียงบู๊ตี้ไปว่า "ธรรมอริยสัจ" นั้น "ไม่มี" จึงเป็นคำตอบที่ถูกต้อง เป็นความถูกต้องตามธรรมชาติว่า จะหาความมีตัวตนในธรรมอริยสัจนี้ไม่ได้แม้แต่น้อยเลย ธรรมอริยสัจนี้มันจึงเป็นความว่างเปล่าตามธรรมชาติ ของมันอยู่อย่างนั้น หาเคยมีมันเกิดขึ้นไม่

   

   หนังสือ "คำสอนเซน
   ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
   ครูสอนเซน: อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
   27 กุมภาพันธ์ 2557
   >>> F/B นิกายเซน หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน

                     

ฐิตา:



หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร

บทที่ 29 เคลื่อนไหวดั่งสายลม

ด้วยการที่เราสามารถทำความเข้าใจ ในความเป็นเนื้อหาแห่งธรรมชาติที่มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว ในความว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน ของมันอยู่อย่างนั้นได้อย่างตระหนักชัดแจ้ง โดยเป็นความเข้าใจอย่างถ้วนถี่ไม่มีความลังเลสงสัยอันใดเหลืออยู่ และสามารถซึมซาบกลมกลืนกลายเป็นเนื้อหาเดียวกัน กับความเป็นธรรมชาตินั้นได้อย่างแนบสนิท ชนิดที่เรียกได้ว่ามันเป็นหนึ่งเดียวในความเป็นธรรมชาติ โดยไม่อาจแยกเราและความเป็นธรรมชาติ ให้มีความแตกต่างออกเป็นสองสิ่งได้เลย ความเป็นเนื้อหาเดียวกันในความเป็นไปตามสภาพธรรมชาตินั้น มันจึงเป็น "ธรรมชาติ" ในความเป็นเช่นนั้นเองของมันอยู่อย่างนั้น อย่างคงที่ในสภาพแห่งธรรมชาตินั้น โดยไม่มีวันที่จะแปรผันไปเป็นอย่างอื่นในความหมายอื่นได้เลย

 การที่เป็นเนื้อหาเดียวกันอยู่อย่างนั้นระหว่างเรากับธรรมชาตินั้น มันจึงเป็นความตั้งมั่นในความเป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้น เป็นความตั้งมั่นที่มีความหมายถึง มันทำให้เราได้กลมกลืน เป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติโดยไม่มีความแตกต่าง ก็ธรรมชาติแห่งการตั้งมั่นอันคือธรรมชาติแห่งความกลมกลืน เป็นเนื้อหาเดียวกันแบบไม่มีความแตกต่าง อันทำให้เรา คือ ธรรมชาติ ธรรมชาติ คือ เรา ชนิดที่เรียกว่าแยกกันไม่ออก เป็นไปในความแนบเนียนอยู่ในความกลมกลืนอยู่อย่างนั้น ก็ด้วยขันธ์ทั้งห้าที่ถูกอุปมาไปแบบนั้นว่า นี่คือ กายเรา อันเป็นไปแห่งธาตุขันธ์ที่เราได้อาศัยอยู่อย่างนี้ และยังมีลมหายใจ ที่ขยันหายใจเข้าหายใจออกอยู่แบบนี้ อันว่านี่คือเรา คือชีวิตเรา และมันยังมีความเคลื่อนไหว สามารถกะพริบตา กระดุกกระดิกไปมาได้ ในท่ามกลางอิริยาบถทั้งสี่ คือ ยืน นั่ง เดิน นอน

เมื่อเรายังต้องมีการไปและการมา ด้วยการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันด้วยขันธ์ธาตุเหล่านี้ ก็ด้วยความเป็นธรรมชาติแห่งความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนของมันอยู่อย่างนั้น มันจึงเป็นธรรมชาติที่มีความสงบนิ่ง สงบตามธรรมชาติของมันที่อยู่ภายในความเป็นไป อันปราศจากความเคลื่อนไหวแห่งภาวะใดๆของมันอยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวไปมา มันก็เป็นเพียงการเคลื่อนไหวไปมาอยู่อย่างนั้น หามีผลหรือส่งผลกระทบอันจะทำให้เป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้ธรรมชาติอันคือสภาพความสงบนิ่งที่แท้จริง ซึ่งปราศจากความเคลื่อนไหวแห่งภาวะใดๆ มันจะเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของมันตามธรรมชาตินั้นไปเป็นอย่างอื่น เพราะความเป็นธรรมชาติมันก็คือ สภาพความเป็นของมัน อยู่อย่างนั้นเองอยู่แล้ว ไม่สามารถมีใครหรือสิ่งใดๆเข้ามาทำ ให้ความเป็นธรรมชาติแห่งสภาพตัวมันเอง เปลี่ยนไปเป็นอื่นๆได้เลย

ด้วยเหตุผลความเป็นจริงเหล่านี้ การที่เป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติแห่งพุทธะ และต้องเคลื่อนไหวไปมาในอิริยาบถต่างๆนี้ มันจึงเป็นการเคลื่อนไหวไปในความสงบอย่างแท้จริง เป็นความสงบ ซึ่งปราศจากการเคลื่อนไหวแห่งภาวะใดๆภายในธรรมชาติ มันจึงเป็นความสงบนิ่งอย่างแท้จริง มันเป็นความสงบนิ่ง แต่เคลื่อนไหวได้ เคลื่อนไหวไปดุจดั่ง "สายลม" ที่พลิ้วไหวและแผ่ซ่าน ด้วยความสงบนิ่งแผ่วเบา ในทั่วทุกหนแห่ง

   

   หนังสือ "คำสอนเซน
   ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
   ครูสอนเซน: อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
   28 กุมภาพันธ์ 2557
   >>> F/B นิกายเซน หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน

                     

ฐิตา:



หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร

บทที่ 30 ธรรมชาติจำลอง

ก็ด้วยที่มันเป็นธรรมชาติ ที่ปราศจากความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนของมันเองอยู่อย่างนั้นตามธรรมชาติของมันเองอยู่แล้ว มันจึงมิใช่เป็นธรรมชาติที่มีความหมายถึง ความเป็นสิ่งสิ่งหนึ่ง เมื่อพวกคุณไม่เข้าใจในความหมายของธรรมชาติ ตามความเป็นจริงโดยสภาพของมันเอง ด้วยอวิชชาความไม่รู้ของพวกคุณเอง อาจพาคุณคิดไปว่า ธรรมชาตินี้มันต้องเป็นสิ่งสิ่งหนึ่งหรือภาวะหนึ่ง ที่มันประกอบไปด้วยคุณสมบัติต่างๆ อันทำให้ธรรมชาตินี้มีแต่ความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนของมันอยู่อย่างนั้น ด้วยความเข้าใจผิดว่า ธรรมชาติมันคือสิ่งสิ่งหนึ่งภาวะหนึ่ง และด้วยความคาดคะเนเข้าใจผิดของคุณเอง

 พวกคุณจึงเอามืออันอยู่ไม่สุขของพวกคุณเอง เข้าไปยุ่งย่ามเข้าไปเป็นส่วนเกิน ในความเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น ด้วยการฆาตกรรมความเป็นจริงตามธรรมชาติ ให้ตายสูญหายสูญสลายไป จากธรรมธาตุแห่งความเข้าใจในความเป็นจริง ที่อาจจะมีอยู่ในความเป็นตัวเป็นตนของพวกคุณเอง พวกคุณได้กระทำตนเป็นฆาตกร ลงมือฆ่าความเป็นจริงของพวกคุณเองด้วยความเข้าใจหลงผิด และพวกคุณก็ได้ฆาตกรรมธรรมชาติ ด้วยวิธีการลงมือผ่ามันออกเป็นส่วนๆ เพื่อศึกษาความเป็นไปในสภาพมัน ตามความเข้าใจผิดของพวกคุณ

 ด้วยที่พวกคุณคิดว่า มันจะต้องมีหลายๆสิ่งอันคือธรรมทั้งหลาย เข้ามาประกอบกันเพื่อเป็นเหตุปัจจัยให้ธรรมชาตินี้มันเกิดขึ้น ก็ด้วยกำลังหรือจำนวนปริมาณแห่งธรรมอันประกอบเข้ากันนี่เอง ที่มันจะต้องมีจำนวนมากพอจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ธรรมชาตินี้ มันเป็นธรรมชาติที่เด่นชัดเจนยิ่งขึ้นจนถึงขนาดที่พวกคุณ มีความพึงพอใจแล้วว่า การเกิดขึ้นแห่งธรรมชาติตามวิธีการที่พวกคุณเข้าใจนี้ มันคือ "ธรรมชาติที่แท้จริง" แต่ด้วยความเป็นจริงตามธรรมชาติ ธรรมชาติมันก็คือธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น มันเป็นธรรมชาติที่เป็นธรรมธาตุแห่งคุณลักษณะ ในความเป็นของมันเองมาอยู่อย่างนั้น "อยู่แล้ว" มันคือความเป็น "อยู่แล้ว" โดยไม่สามารถหาจุดเริ่มต้นและจุดจบแห่งมันได้ และมันก็มิใช่ภาวะที่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ก็เพราะธรรมชาติมันเป็นของมันอยู่แบบนั้น "ในความเป็นธรรมชาติมันเอง" มันจึงมิใช่ภาวะโดยที่ใครจะสามารถ เอาความเป็นตัวตนของตัวเองเข้าไปอยู่ปะปนกับมันได้

เพราะในความเป็นธรรมชาติที่แท้จริงนั้น มันเป็นธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าที่แท้จริง ไม่สามารถมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือภาวะใดภาวะหนึ่ง แทรกตัวเข้าไปอยู่รวมกับธรรมชาตินี้ได้เลย มันจึงไม่มีอะไรกับอะไรทั้งนั้น มันจึงไม่ใช่อะไรกับอะไรทั้งนั้น มันเป็นธรรมชาติของมันแบบสมบูรณ์พร้อมโดยตัวมันเองอยู่แล้ว มันจึงมิใช่เกิดจากสิ่งใดๆเข้ามารวมกัน และเป็นเหตุปัจจัยทำให้ความเป็นธรรมชาตินี้เกิดขึ้นมาได้

เมื่อมันเป็นธรรมชาติแบบนี้ของมันมาเองตั้งแต่ต้น ความเข้าใจผิดของพวกคุณและการปรุงแต่งไป ในการศึกษาพิจารณาเพื่อแยกแยะว่า อะไรเป็นอะไร ตามความเข้าใจผิดของคุณ มันจึงเป็นการจำลองธรรมชาติขึ้นมา มันจึงเป็นเพียงการทำให้ธรรมชาติ ซึ่งมันเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว กลายเป็นธรรมชาติที่เป็นตัวเป็นตนเป็นอัตตาขึ้นมา มันจึงหาใช่ธรรมชาติที่แท้จริงไม่ มันจึงเป็นเพียงจิตที่ปรุงแต่งไป ในความที่จะทำให้ธรรมชาติมันเกิดขึ้น เป็นภาวะตามความต้องการ ซึ่งเป็นอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ของพวกคุณเองแต่เพียงเท่านั้น

   

   หนังสือ "คำสอนเซน
   ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
   ครูสอนเซน: อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
   28 กุมภาพันธ์ 2557
   >>> F/B นิกายเซน หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน

                     

ฐิตา:



หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร

บทที่ 31 ต้นธาตุต้นธรรม

ก็ด้วยธรรมธาตุซึ่งมีลักษณะปรุงแต่งนั้น โดยความหมายแห่งความเป็นสังขตธาตุหรือธรรมธาตุปรุงแต่ง มันคือปรากฏการณ์แห่งภาวะธรรมทั้งหลาย ที่มัน "เกิดขึ้น" และ "ตั้งอยู่" ในความเป็นตัวเป็นตน ก็ด้วยความเป็นจริงในการทำความเข้าใจ เพื่อศึกษาธรรมทั้งหลายเพื่อเป็นไปในความหลุดพ้นนั้น มันอาจเกิดสภาพการปรุงแต่งได้ในสามลักษณะ คือ ลักษณะปรุงแต่งไปด้วยสภาพความเป็นเนื้อหา แห่งการปรุงแต่งตามเหตุปัจจัยแห่งการสั่งสมอนุสัย ซึ่งเป็นการปรุงแต่งออกมาจากใจที่ยังถูกหุ้มไปด้วย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ตามนิสัยสันดานเดิมๆแห่งตนนั้น คือการปรุงแต่งไปในความเป็นทุกข์ ที่ตนยังมีอยู่อย่างเต็มหัวใจอยู่อย่างนั้น



คือ ลักษณะปรุงแต่งไปในการพิจารณาธรรมต่างๆว่า
อะไรเป็นอะไร อะไรคืออะไร
ในกระบวนการ แก้ไขปัญหา ให้กับตนเอง
และลักษณะการปรุงแต่งไป
ในการยึด จับ ฉวย ความหมายในธรรมเหล่านั้น
ซึ่งมันเป็นภาวะธรรมที่ทำให้เราเข้าใจ
ในเหตุปัจจัยแห่งกระบวนการมัน ในการแก้ไขปัญหานั้น
จึงเป็นการ ปรุงแต่งไปในภาวะ ให้เกิดขึ้น


คือ ลักษณะปรุงแต่งไป ในการเข้าไปตรวจสอบวินิจฉัยในภาวะธรรมต่างๆ ซึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจ ในความหมายแห่งธรรมชาติตามความเป็นจริง ว่าแท้จริงธรรมชาติคือความว่างเปล่า แบบเสร็จสรรพอยู่แล้วโดยสภาพมันเองตามธรรมชาติของมัน เมื่อไม่เข้าใจ จึงทำให้นักปฏิบัติทั้งหลายเกิดพฤติกรรมทางจิต เข้าไปตรวจสอบภาวะจิตใจของตนว่า จิตของตนอยู่ในลักษณะไหนแล้วในขั้นตอนแห่งการปฏิบัติ และจะได้ทำการแก้ไขตนเองต่อไป แต่ในความเป็นจริงตามธรรมชาติของมัน มันคือความเป็นของมันอยู่อย่างนั้น ซึ่งมันเป็นเนื้อหาความเป็นจริงที่อยู่นอกเหนือภาวะ แห่งปรากฏการณ์ความใช่หรือไม่ใช่ ความถูกหรือความผิด การตั้งเป้าหมายในการปฏิบัติ การเข้าไปตรวจสอบจิตของตน ซึ่งคิดว่าตรงนั้นคือผลของการปฏิบัติ มันจึงล้วนเป็นการปรุงแต่งขึ้นมาด้วยเหตุและปัจจัยนี้ในลักษณะหนึ่ง

 แท้ที่จริงแล้วด้วยธรรมชาติอันแท้จริง ซึ่งคือธรรมชาติตามความเป็นจริงของมันนั้น มันเป็นธรรมที่เป็นความเป็นจริงถูกต้องโดยเนื้อหาของมัน มาตั้งแต่แรกเริ่ม แรกเริ่มในความเป็นต้นธาตุต้นธรรม ตามสภาพของมันมาแบบนี้อยู่แล้ว ด้วยตัวมันเองสภาพมันเองอยู่อย่างนั้น นี่คือธรรมที่เป็นความจริง และเป็นธรรมชาติที่ดำรงเนื้อหาของมันตามธรรมชาติอยู่แบบนี้เรื่อยมา จึงกล่าวได้ว่าความเป็นเราเองนี่แหละก็คือความเป็นธรรมชาตินั้น เราเองเป็นส่วนหนึ่งในความเป็นธรรมชาตินั้นมาตั้งแต่ต้น กล่าวได้ว่า ทุกสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ ทุกสรรพสิ่งแห่งอนันตจักรวาลอันหาที่สิ้นสุดไม่ได้ ทุกๆสรรพสิ่งแม้แต่ความเป็นอณูธรรมธาตุเล็กๆ ที่ไม่สามารถมองด้วยตาเปล่าได้ ทุกสิ่งทุกอย่างมันล้วนแต่มีความหมาย แห่งความเป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว มันจึงเป็นความจริงที่ว่า ทุกสรรพสิ่งทั้งมวลก็คือความเป็นต้นธาตุต้นธรรม คือความเป็นธรรมชาติที่แท้จริงนั่นเอง เราไม่อาจแยกตัวออกมาจากความเป็นธรรมชาตินี้ได้เลย แม้แต่เพียงขณะหนึ่ง


ตถาคตเจ้าจึงทรงตรัสว่า ให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ยังเป็นผู้มืดบอดด้วยอนุสัยแห่งตน และสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ยังมืดบอดไม่เข้าใจในความเป็นจริง แห่งธรรมชาติที่แท้จริง และยังมีความโง่เขลาที่จะเข้าไปปฏิบัติ เพื่อให้สิ่งที่มันเป็นธรรมชาติโดยตัวมันเองอยู่แล้ว ให้เป็นภาวะธรรมเกิดขึ้น ตามความต้องการตามความไม่เข้าใจแห่งตน ให้สลัดทิ้งซึ่ง "ภาวะ" ธรรมอันคือการปรุงแต่งเหล่านี้ไปเสีย โดยตถาคตทรงตรัสชี้ถึง "ความมีอยู่" ของธรรมชาติอันแท้จริงนี้ ซึ่งมันเป็นธรรมชาติแห่งตัวมันเอง ซึ่งมันเป็นธรรมชาติแบบนี้ของมันมาตั้งแต่ต้น ซึ่งมันเป็นความดั้งเดิมแท้ของมันเองมาก่อนอยู่แล้ว อันคือต้นธาตุต้นธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่มีเนื้อหาตามความเป็นจริงของมัน ตามธรรมชาติอยู่แล้ว และทรงตรัสให้เราทั้งหลาย จงลืมตาตื่นขึ้นต่อความเป็นจริงที่มีอยู่แล้วของธรรมชาตินี้ เพื่อที่จะได้ทำความเข้าใจตระหนักอย่างชัดแจ้ง ในความเป็นธรรมชาตินั้น ของมันที่มีอยู่ก่อนแล้วอยู่อย่างนั้น และกลมกลืนกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาตินั้นได้

   

   หนังสือ "คำสอนเซน
   ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
   ครูสอนเซน: อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
   1 มีนาคม 2557
   >>> F/B นิกายเซน หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน

                     

ฐิตา:



หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร

บทที่ 32 จิตที่ปรุงแต่งไปในความว่างเปล่า

ความว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนนี้ มันเป็นความว่างเปล่าตามธรรมชาติของมันมาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที มันเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น แต่ถ้าพวกคุณไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของธรรมชาติเหล่านี้ และพวกคุณมีความพยายามดิ้นรนจะหลุดออกจากทิฐิเดิมของคุณ แต่พวกคุณกลับไม่เข้าใจทิฐิตามความเป็นจริงแห่งธรรมชาติ อันคือสัมมาทิฐินี้ ด้วยความไม่รู้ต่อความเป็นจริง และด้วย "ความดิ้นรน" ที่โดยเนื้อหามันเอง ก็คือ ตัณหา อุปาทาน ความอยากที่จะเป็นพุทธะขึ้นมาตามที่คุณต้องการ ด้วยความไม่รู้นั้นมันจึงพาให้คุณแสวงหาพุทธะในหนทางอื่นๆ อันเป็นหนทางที่มิใช่ทางธรรมชาติ

 แต่ความพยายามดิ้นรนด้วยวิธีที่พวกคุณเห็นว่ามันน่าจะใช่ และพวกคุณก็ได้ปักใจไปแล้วว่านี่คือหนทางอันคือวิธีที่แท้จริง ที่จะทำให้ความเป็นพุทธะมันเกิดขึ้นตามที่คุณคิดคาดหวัง คุณจึงได้รีบลงมือปฏิบัติ และเรียกมันอย่างสวยหรูว่า "ความเพียรพยายาม" อย่างแรงกล้า ด้วยหัวใจแห่งพุทธะอันจอมปลอมของคุณเอง และพวกคุณก็เฝ้าติดตามผลแห่งการที่คุณได้ปฏิบัติธรรมไป ว่าสิ่งที่คุณลงแรงไปนั้นมันให้ผลกลับมามากน้อยแค่ไหน ก็ด้วยการปฏิบัติธรรมที่คุณเห็นว่า "มันมีสิ่งสิ่งนี้อยู่" และสิ่งที่คุณเห็นว่ามีนั้น "ความมีนั้นมันไม่เที่ยงดับไป" และความดับไปสิ้นไปในแต่ละสิ่งแต่ละอย่างที่คุณทำได้นั้นปฏิบัติได้นั้น มันกลายเป็นความว่างเปล่าขึ้นมาตามที่คุณรู้สึกได้ หรือตามที่คุณคาดการณ์ไป

 ด้วยการที่พวกคุณได้ชั่งความมีความเป็นแห่งมันในใจแล้วว่า คุณได้ปฏิบัติโดยเอาความมีความเป็นแห่งมันออกไปเรื่อยๆ ตามที่คุณได้ทำความเพียรไป และด้วยผลแห่งการปฏิบัติที่พวกคุณคิดว่าใช่ และมันเป็นผลแห่งการปฏิบัติที่แท้จริงที่ทำให้ ความมีตัวมีตนของพวกคุณเบาบางลงไป โดยที่พวกคุณได้ตรึงผลแห่งการปฏิบัติของคุณ ไว้กับความว่างเปล่า ตามที่คุณได้ชั่งมันไว้อยู่ทุกขณะ และคุณก็ภูมิใจในความว่างเปล่านั้น

แต่ความเป็นจริงตามธรรมชาติ ความว่างเปล่าอันแท้จริง มันเกิดจากความเข้าใจในความหมายแห่งธรรมชาติ ว่าแท้ที่จริงธรรมชาติมันคือความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว ความว่างเปล่าที่พวกคุณภาคภูมิใจว่า มันคือการปฏิบัติธรรมของพวกคุณเอง แท้ที่จริงมันคือความว่างเปล่าจากการคาดคะเนของพวกคุณเองเท่านั้น มันเป็นความว่างเปล่าตามจิตนาการของพวกคุณเองแต่เพียงเท่านั้น มันมิใช่ความว่างเปล่าตามธรรมชาติ ตามสภาพที่แท้จริงของมันแต่อย่างใด มันจึงเป็นเพียง "ความว่างเปล่าตามความรู้สึก" มันเป็นเพียงความว่างเปล่าที่เป็นภาวะปรุงแต่งเกิดเป็นจิตขึ้นมา มันเป็นจิตที่ปรุงแต่งไปในความว่างเปล่า มันมิใช่ความว่างเปล่าตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นความว่างเปล่าที่แท้จริง ตามที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้แต่อย่างใดเลย

   

   หนังสือ "คำสอนเซน
   ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
   ครูสอนเซน: อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
   2 มีนาคม 2557
   >>> F/B นิกายเซน หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน

                     

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version